วันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี_ตอน 3

วีดีโอสัมภาษณ์ นายพิชัย เลาหชวลิต อายุ 81 ปี
เกี่ยวกับ "บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี ตอน 3"
เมื่อประมาณเดือน มกราคม 2550
ออกอากาศทางรายการสะพายกล้องท่องเที่ยวสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีท้องถิ่นราชบุรี HCTV ช่อง 7
ติดต่อสนับสนุนรายการ 0-3231-0262
ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=GbNqBIMUzPs
เจ้าของ : s463368
อ่านต่อ >>

บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี_ตอน 2

วีดีโอสัมภาษณ์ นายพิชัย เลาหชวลิต อายุ 81 ปีเกี่ยวกับ
"บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี ตอน 2"
เมื่อประมาณเดือน มกราคม 2550

ออกอากาศทางรายการสะพายกล้องท่องเที่ยวสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีท้องถิ่นราชบุรี HCTV ช่อง 7
ติดต่อสนับสนุนรายการ 0-3231-0262
ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=8Usc9v4ljAk
เจ้าของ : s463368
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี_ตอน 1

วีดีโอสัมภาษณ์ นายพิชัย เลาหชวลิต อายุ 81 ปี
เกี่ยวกับ "บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี ตอน 1"
เมื่อประมาณเดือน มกราคม 2550
ออกอากาศทางรายการสะพายกล้องท่องเที่ยว
สถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวีท้องถิ่นราชบุรี HCTV ช่อง 7
ติดต่อสนับสนุนรายการ 0-3231-0262

ที่มา : http://www.youtube.com/watch?v=o8WFMeaMttI
เจ้าของ : s463368
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ความพินาศของราชบุรี-สะพานจุฬาลงกรณ์จม

ต่อจาก ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 2

ในคราวทิ้งระเบิดสะพานจุฬาลงกรณ์ครั้งที่ 3 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ นับว่าเป็นครั้งสุดท้าย ส่งผลให้สะพานจุฬาลงกรณ์ หัก และสะพานบางส่วนจมไปในน้ำ ไม่สามารถใช้งานได้ ในวันที่ 11 ก.พ.2488 นายสละ จันทรวงศ์ ได้บันทึกไว้ดังนี้

ความพินาศครั้งที่ 3 - 11 กุมภาพันธ์ 2488 อวสานของสะพานจุฬาลงกรณ์สัมพันธมิตรมีชัยในพะม่า ในการศึกที่เทือกเขาพะโคแห่งเดียว พันธมิตรจับชะเลยได้ 800 คน ภายใน 10 วัน วิญญาณบูชิโดกำลังดับชีพลงในพะม่า ทหารญี่ปุ่นพยายามตีฝ่าออกจากที่ล้อมของทหารอังกฤษในแถบลุ่มแม่น้ำสโตง

ที่จังหวัดราชบุรี ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะถูกตัดทางคมนาคมเสีย แต่ด้วยความทรหดอดทน และความจำเป็นทำให้ญี่ปุ่นดำเนินการลำเลียงติดต่อได้ผลดี ดังนั้นสัมพันธมิตรจึงต้องมาระเบิดสายคมนาคมแทบทุกวัน

24 น.ของวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เป็นยามดึกสงัด ทุกสิ่งทุกอย่างเงียบสงัด สงบอยู่ในความมืด บ้านเรือนที่เคยได้ถูกบอมบ์ ก็เหลือแต่เสาปักโดเด่อยู่ท่ามกลางรัตติกาล ต้นไม้ที่แห้งเหี่ยวก็ไหวโยกเมื่อยามลมพัด เสียงใบไม้เท่านั้นที่ดังเกลียวกราว เมื่อลมพัด เสียงที่ดังแว่วมานั้นเป็นเสียงลมตามธรรมชาติเท่านั้น แม้แต่สุนัขสักตัวเดียวก็หายาก ท้องฟ้าระยิบระยับไปด้วยแสงดวงดาวดาษเต็มท้องฟ้า เป็นเวลาข้างแรม ความมืดมัว ไม่ปรากฏว่าจะมีแสงตระเกียงสักดวงเดียว ทิ้งไว้แต่เสาไฟฟ้าที่สูงเด่นปราศจากสายไฟ แม้แต่หลอดสักดวงเดียวก็หายาก ถ้าเราทำเข็มตกในขณะนั้น เสียงนั้นจะสเทือนเลื่อนลั่นคล้ายกับเสียงบอมบ์
เครื่องบินทิ้งระเบิดทางไกล B.24 จำนวน 5 เครื่อง เข้ามาทำการโจมตีตอนกลางคืน พร้อมด้วยพลุร่มจำนวนมาก รายการการโจมตีครั้งนี้ หวังตัดการลำเลียงของญี่ปุ่น จำนวนลูกระเบิดที่ทิ้งจึงแม่นยำกว่าครั้งก่อน พลุร่มนับจำนวนได้เกือบ 80 ดวง ความสว่างเท่ากับ แสนๆ ล้านร้อยแรงเทียนไฟฟ้า นักบินยิงกราดด้วยปืนกลเครื่องบินลงในค่ายพักญี่ปุ่น การระเบิดซ้ำๆ ซากๆ ทำให้บ้านเรือนผืนแผ่นดินวินาศตามๆ กันไป
สะพานจม-12 กุมภาพันธ์ 2488เช้าตรู่ 06.30 น.ของวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ลูกระเบิดขนาดหนัก ซึ่งนักบินทิ้งลงมาเมื่อคืนนี้ ถึงเวลาระเบิดซึ่งตกอยู่ใจกลางสะพาน เสียงระเบิดกลบควันระเบิด สะเก็ดระเบิดเหวี่ยงไปพร้อมกลับเศษสะพาน เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอสงบเสียงระเบิด ก็พลันเสียงลั่นของสะพานตอนต้นฝั่งเมือง ค่อยๆ เอนลงๆ ดังค่อยๆ จนแรงๆ ปะทะกับน้ำดังสนั่นหวั่นไหว น้ำแตกกระจายเป็นลูกคลื่น นั่นคือกาลและเวลาอวสานของสะพาน
ที่มา :
สละ จันทรวงศ์. (2470-2490). บันทึกส่วนตัว. เขียนด้วยลายมือ.
บทความที่เกี่ยวข้อง
-พิสูจน์ทราบหัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์
-ความพยายามในการกู้หัวรถจักร ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์
อ่านต่อ >>

ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 2

ต่อจาก ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 1

นายสละ จันทรวงศ์ ยังได้บันทึกเรื่องราวการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ครั้งที่ 2 ไว้ดังนี้

ความพินาศครั้งที่ 2-30 มกราคม 2488วันคืนแห่งความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นเร่งรัดเข้า กองทัพญี่ปุ่นถอยมาตั้งมั่นในดินแดนไทย ญี่ปุ่นพักเก็บเสบียงอาหารไว้ที่ราชบุรี กองพันทหารหน่วยหนึ่งของญี่ปุ่นมาตั้งค่ายประจำอยู่ที่ราชบุรี ทั้งการลำเลียงขนส่งก็ยังปกติอยู่ ถึงแม้ว่าสัมพันธมิตรมาระเบิดสะพานแล้ว แต่ญี่ปุ่นก็ยังสามารถซ่อมใช้การได้ สัมพันธมิตรเลือกวันและเวลาเหมาะคืนวันที่ 30 นี้ ญี่ปุ่นได้เตรียมขนอาวุธจะส่งไปทางใต้ มีลูกระเบิดมือ ลูกระเบิดยิง อาวุธปืนสั้น ปืนยาว ลูกกระสุน นับจำนวนมหึมา จอดคอยกำหนดเวลาเคลื่อนขบวน

คืนนี้เป็นคืนเดือนหงาย พระจันทร์แจ่มฟ้า มองเห็นได้ตลอด เวลาที่เครื่องบินเข้าทำการ เป็นเวลา 23 น. B.24 จำนวน 6 เครื่อง เข้าโจมตีด้วยลูกระเบิดเพลิง และระเบิดชนิดกำหนดเวลา

สิ่งเสียหายปรากฏว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ สะพานชำรุดลงอีกกว่าเก่า ร.ร.ช่างเย็บ พัสดุเก็บของถูกเพลิงเผาผลาญ แสงเพลิงโชติช่วงจับท้องฟ้า เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว สถิติการทิ้งครั้งนี้ ไม่แพ้คราวก่อน แต่ครั้งนี้ใช้ลูกระเบิดชนิด 500 ก.ก.หลายลูก ความเสียหายพอๆ กับครั้งก่อน

รายงานจำนวนลูกระเบิด
  • สะพานรถไฟ 5 ลูก
  • โรงสูบน้ำ 4 ลูก
  • ทางรถไฟสายไปค่าย 4 ลูก
  • ข้างโรงไฟฟ้า 3 ลูก
  • ผิดที่หมายลงที่สระบัว 3 ลูก
  • รวมทั้งลูกระเบิดเพลิง
ลูกระเบิดเที่ยงคืนวันที่ 31 มกราคม 2488 ลูกระเบิดชนิด 500 ก.ก. ตกอยู่ในน้ำริมทางรถไฟ ข้างตู้อาวุธของญี่ปุ่น ได้ระเบิดขึ้นดังสนั่นหวั่นไหว ลูกนี้ที่ล้างผลาญบ้านเรือนราษฎรตลอดทรัพย์สิน บรรดาสัตว์ ให้พินาศลง ทำความพินาศสู่อาวุธญี่ปุ่น รถไฟทั้งขบวนพังละเอียด ลูกระเบิด ลูกกระสุน เมื่อถูกแรงกระเทือน ความร้อนก็แตกซ้อนขึ้นต่อๆ ไป รวมเวลาที่กระสุนและลูกระเบิดระเบิดถึง 4.00 น. ของวันใหม่ ตู้รถพังลงมาอยู่ในคลอง ตกรางบ้าง ไฟไหม้ ถูกสะเก็ดปุไปทั้งคันรถ รวมความเสียหายนับล้าน
รุ่งขึ้นวันที่ 1 ข้าพเจ้ามาราชบุรี ยังพบเหตุการณ์ยืนดูความพินาศของรถ ความย่อยยับของโรงไฟฟ้า กำแพงเรือนจำพังราบลงแถบหนึ่ง บ้านเรือนประตู หน้าต่าง เพดาน พังลงมากองอยู่ข้างทาง วันนั้นกรมช่างแสงส่งคนมาแกะชนวนลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอีก 2 ลูก เป็นชนิดเดียวกับที่ระเบิดเที่ยงคืน คือลูกละ 500 ก.ก. ซึ่งคาดว่าไม่ช้ากว่า 15 นาที ก็จะระเบิด ดีที่ถอดชนวนเสียก่อน มิฉะนั้นถ้าระเบิดขึ้น สะพานรถก็จะลอยไปทั้งสะพาน เมืองราชบุรีคงหายไปในสายตา ราชบุรีเดี๋ยวนั้น มีแต่ทหารชาวญี่ปุ่นมากมาย ร้านขายของมีเพียงสองสามร้าน เงียบเชียบ แม้แต่ใบไม้ตกก็ยังได้ยินกังวาฬ วันนั้นข้าพเจ้าต้องระวังแทบแย่ เพราะกลัวอำนาจการระเบิด และลูกปืนกลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำมาป้อนญี่ปุ่น
ร.ร.ปิดร.ร.ได้รับความเสียหายทำการสอนไม่ได้ ต้องอพยพไปเรียนที่อื่น น้องๆ ข้าพเจ้าต้องขอใบอพยพที่ครูใหญ่ประจำอยู่วัดเหนือวน เดินทางไปตั้งวันหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ข้าพเจ้าก็ให้ศึกษาธิการผู้ช่วยเซ็นใบอพยพ แล้วกลับดำเนิน นำน้องๆ ไปฝากที่ ร.ร.สายธรรมจันทร์
ที่มา :
สละ จันทรวงศ์. (2470-2490). บันทึกส่วนตัว. เขียนด้วยลายมือ.
อ่านต่อ >>

ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 1

ผู้เขียน ได้ไปค้นพบบันทึกส่วนตัวของ นายสละ จันทรวงศ์ ซึ่งเป็นบิดาของผู้เขียนเอง เขียนบันทึกไว้ด้วยลายมือที่สวยงามมาก ท่านได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับบรรยากาศของราชบุรีตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2470-2490 ไว้อย่างหลากหลาย ในตอนหนึ่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี พ.ศ.2488 นายสละฯ ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ ของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อตัดเส้นทางถอยของกองทัพญี่ปุ่น ไว้ได้ค่อนข้างละเอียด อ่านแล้วพอที่จินตนาการเหตุการณ์ตามไปได้ ผู้เขียนจึงขออนุญาตคัดลอกมาเขียนไว้ในบทความนี้เพื่อเป็นวิทยาทานแด่คนรุ่นหลังสืบไป โดยคำสะกดบางคำอาจผิดไปจากปัจจุบันบ้าง แต่ผู้เขียนยังคงดำรงไว้ไม่ได้แก้ไขแต่อย่างใด บันทึกในช่วงเวลาดังกล่าว มีดังนี้

ความพินาศของราชบุรี-ระเบิดสะพานครั้งที่ 1
“ น้ำหนักทัพฟ้าของอังกฤษ อเมริกาเริ่มระดมกำลังโจมตีตัดสายลำเลียงของทางรถไฟสายร่างกุ้ง มันดะเลย์ ถนนสายพะม่าจีน และตัวเมืองร่างกุ้ง เป็นครั้งแรก จากนั้นทัพบกก็เริ่มคืบคลานมา แนวต้านทานของญี่ปุ่นถูกทะลวงอย่างดุเดือด แผนการขั้นที่ 2 เป็นที่พึงพอใจ ญี่ปุ่นถอยกรูดอย่างไม่เป็นส่ำ ลำเลียงพลเข้าสู่เขตไทยมาก ทัพฟ้าออกโจมตีทิ้งระเบิดตัดทางรถไฟสายไทยพะม่า และการขนส่งทางเรือของญี่ปุ่นทันที”

ราตีแห่งความพินาศ-14 มกราคม 2488ในตอนกลางคืนของวันที่ 14 มกราคม ซึ่งเป็นคืนนัดหมายการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ ที่จังหวัดราชบุรี เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักมาโจมตีทำลายสะพาน และศูนย์กลางของทางรถไฟที่เป็นกุญแจมือสำคัญ
เมื่อ 22.40 นาฬิกา ของราตรีอันมืดมัว ท้องฟ้าประดับประดาด้วยหมู่ดาว เมฆหมอกกระจ่าง ปราศจากแสงเดือน ข้างแรม ขณะนี้เป็นยามที่บุคคลส่วนมากหลับนอนกัน ความเงียบสงัดได้ยินแต่เสียงจิ้งหรีด เสียงเรไรร้องเท่านั้น

สัญญาณมหาภัยสัญญาณบอกเหตุอันตรายดังกังวานไปตามสายลม ปลุกให้ชาวราชบุรีตื่นด้วยความตกใจ คล้ายกับเสียงเทวทูตประลัย เมื่อเสียงสัญญาณดังหายไปตามสายลม ไม่ทันถึง 10 นาที พลันได้ยินเสียงกระหึ่มของยานฟ้าเครื่องหนึ่งบินใกล้เข้ามาๆ จนผ่านตัวจังหวัด เลยไปทางทิศตะวันออก เราพยายามแหงนดู แต่มองหาไม่เห็น เมื่อเครื่องบินผ่านไป เราก็อุ่นใจอีก แต่หาหมดอันตรายไม่ ต้องคอยระวังอยู่ทุกวินาที เมื่อรอเวลาที่ผ่านไป ยังไม่ทันจะถึงครึ่งชั่วโมง เสียงคางของเครื่องบินแว่วมากระทบหูเราอีก เราตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ เสียงนั้นดังหนักเข้ามา เข้าใจว่าเป็นเครื่องบินลำที่ผ่านไปทีแรก ตามทางที่ได้ยินเสียง คงบินจับลำน้ำแม่กลองมา พอถึงตัวจังหวัดก็เลี้ยวเป็นวงกลม จุดหมายอยู่ที่สะพาน แล้ววัตถุอย่างหนึ่ง 3 ชิ้น ก็หลุดมาจากใต้ปีก สิ่งนั้นคือ

พลุไฟชูชีพเป็นเครื่องช่วยในการโจมตีอย่างดี มีร่มผูกติดกับพลุไฟ ทำเป็นกระป๋องมีฝาครอบ พลุไฟนี้ ติดได้เองกลางอากาศ เนื่องจากใช้แก้สทางวิทยาศาสตร์ พลุไฟนี้สามารถลอยอยู่ได้ 15 นาที ความสว่างเท่ากับไฟฟ้าขนาดแสนแรงเทียน พลุร่ม 3 ดวง ลอยอยู่กลางหาว สว่างดังกลางวัน ทุกคนอกสั่นขวัญหาย ไม่คลาดหมายว่าจะถูกการโจมตีเลย ดังนั้นทุกคนไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง พากันร้องไห้เซ็งแซ่ ต่างคว้าเข้าของที่จำเป็น จูงลูกจูงหลาน วิ่งหนีกระจัดกระจาย ไปคนละทิศละทาง ทุกคนหวังวิ่งหนีเอาตัวรอดเท่านั้น สภาพของชาวราชบุรีขณะนี้น่าอนาถใจ ยิ่งวิ่งหนีดู เหมือนดูพลุร่มได้กระหน่ำลงมาหนักเข้า ทิศเหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก เต็มไปด้วยพลุร่ม ลอยขาวและแดงไปด้วยแสงไฟ สว่างไสวยิ่งกว่ากลางวัน สามารถเห็นทางได้สะดวก เสียงเครื่องบินได้ฟังสะท้านสะเทื้อนอารมณ์ เตี้ยจนปีกแทบละยอดไม้

ข้าพเจ้าหนีไปพร้อมกับมารดา มีของติดมือหลายอย่าง วิ่งจากบ้านไปทางถนนอัมรินทร์ เลี้ยวเข้าถนนก้อนทอง ออกถนนไกรเพชร ตอนนี้เองเครื่องบินลำหนึ่งบินมาในระยะต่ำที่สุด จนเสียงแสบแก้วหู เสียงปืนกลประจำเครื่องบินดังแหวกอากาศไม่ขาดระยะ ข้าพเจ้าฉุดมารดาหมอบข้างทาง พอเครื่องบินผ่านไปแล้ว ก็ลุกขึ้นวิ่งต่อไปอีก เลี้ยวเข้าถนนราษฎรยินดี เสียงเครื่องบินผ่านศีรษะอยู่ไม่ขาดระยะ ถึงถนนราษฎรยินดี ได้ยินเสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว ซ้อนกันสองครั้ง นั่นเป็นสัญญาณของการบอมบ์ลูกแรกและต่อไป

ข้าพเจ้าบุกโคลนตัดทุ่งนาไปทางถนนคฑาธร ข้ามถนนคฑาธรไปถึงทุ่งนา หลัง ร.ร.ราชโบริกา และตั้งพักอยู่ที่นี่เอง ข้าพเจ้าแหงนดูเครื่องบิน ลูกระเบิดจากใต้ท้องหล่นเป็นสาย เห็นได้ถนัดถัดถี่ พลุร่มลอยอยู่เหนือศีรษะเรา เราหวั่นในอำนาจของลูกระเบิด การโจมตีดำเนินไปอย่างรุนแรง พลุเพิ่มจำนวนมากขึ้น ปีกของเครื่องบินเฉียดต้นสนไปทีเดียว แล้วลูกเหล็กก็หล่นลงเป็นระยะๆ รายการการโจมตี เป็นไปอย่างปราศจากการขัดขวาง 1 ชั่วโมงเต็ม การโจมตีก็ยุติ B.24 จำนวน 5-6 เครื่อง ก็เดินทางบ่ายหน้าไปฐานทัพทางทิศตะวันตก การโจมตีก็สงบ สัญญาหมดอันตรายก็ดังขึ้น

ทุกคนหวังใจว่าหมดอันตราย ด้วยความเป็นห่วงบ้าน และสิ่งของทุกคนจึงอยากกลับเข้าเมือง แต่อำนาจระเบิดชนิดกำหนดเวลา เมื่อถึงเวลาก็ระเบิดขึ้นสนั่นหวั่นไหว พาบ้านเรือนสูญหายไปพร้อมกับการระเบิด เดี๋ยวนี้ทุกคนทราบดีว่าอันตรายคุกคามชีวิต ทุกคนที่หวังกลับบ้าน ต้องกลับใจหันกลับทุ่งนา ลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้นอีก เสียงแตกของระเบิดดังยิ่งกว่าฟ้าผ่า น่าขนพองสยองกลัว เสียงแตกหักของสิ่งก่อสร้างบ้านเรือนไม่ขาดระยะ นานๆ ก็ได้ยินเสียงระเบิดทีหนึ่ง เราเข้าบ้านไม่ได้ คืนนั้นเรานอนพักที่ทุ่งนา ทั้งหนาวก็หนาว พอจะหลับตาเสียงระเบิดก็ระเบิดขึ้นทีหนึ่ง เสียงกราวของอำนาจของลูกระเบิดดังจับใจ เรานอนฟังเสียงระเบิดตลอดเวลาจนพระอาทิตย์ขึ้น แสงเงินแสงทองจับท้องฟ้า เรารีบกระวีกระวาดลุกขึ้น พร้อมกับถูกต้อนรับด้วยเสียงระเบิดอีกลูกหนึ่ง เราเห็นคนเต็มทุ่งนาไปหมด เรายังไม่หวังและไม่กล้าเข้าบ้าน เราเดินตัดมาทางถนนเขาวังซึ่งเวลานั้นเรามีเพียง 3 คน ชาวราชบุรีปรากฏว่ามารวมกันที่นี่มาก เสียงระเบิดดังตลอดเวลา เราเดินทางไปถึงสนามบิน พักอยู่ที่นี่บ้านคนรู้จัก ข้าพเจ้าอยากเข้าเมือง จึงชวนนิกร ชุติชูเดช มาด้วย เราตัดทุ่งนามาทางโรงพยาบาล ขณะนี้เสียงลูกระเบิดดังกลบประสาท ข้าพเจ้าอ้อมหลังสถานีตัดเข้า ร.ร.เบญจม แต่เข้าเมืองไม่ได้ต้องกลับทางเก่า ขณะที่ผ่านมาลูกระเบิดระเบิดทางวิกสวนบุรีสุขไม่ขาดระยะ คืนนั้นเราพักแรมที่สนามบิน เรานอนไม่หลับเลย หนาวก็หนาว เสียงระเบิดก็มาปลุกประสาท

เข้าเมือง 16 มกราคม 2488เช้าวันนี้ ลูกระเบิดคงจะลดจำนวนลงไปมาก ไม่ค่อยมีเสียง เราเข้าเมืองในตอน 7.00 น. เงียบเหลือที่จะเงียบ เศษดินหิน เหล็ก กระเบื้อง เกลื่อนเต็มถนนไปหมด เราเดินดูด้วยความสลดใจในสภาพของราชบุรี เป็นครั้งแรกที่เราได้พบเห็น บ้านของเราหลังคาไม่มี ฝาพังทลาย เศษไม้เศษดินตกอยู่ ดูวังเวงใจที่สุด เราได้เดินตรวจดูความเสียหายจนตลอด ป้อมทั้งสองของสะพานพังชำรุดไป ส่วนโค้งของสะพานเอียงกระเท่เล่ จะจมแหล่มมิจมแหล่ ใช้เดินรถไม่ได้ ส่วนหนึ่งของท่าเรือแดงหายไป ห้องแถวริมน้ำถูกอย่างจังหายไปพร้อมกับเสียงระเบิด อีกลูกหนึ่งตกกลางถนนเป็นหลุมใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ฟิต ถนนขาด อีกแห่งหนึ่งตึกริมทางรถไฟ ถูกระเบิดสะพานข้ามคลองหายไป บ้านยกหานไปทั้งหลัง ห้องแถวถนนรถไฟ พังราบเหลือแต่เศษปูน วิกสวนบุรีสุข ปรากฏว่ามีแต่หลุมระเบิด ที่ถนนวรเดช ตกริมถนน ถนนขาด ไปยกต้นมะขามทั้งต้นลงไปสู่แม่น้ำ ทับไปบนเรือเกลือจมลงทันที อีกสองลูกตรงในวิกพังพินาศไปหมด เหลือที่จะสร้างต่อไป อีกแห่งหนึ่งที่ถนนคฑาธร บ้านเรือนสูญหายไปทันที

สถานที่ถูกระเบิด
  • สะพานรถไฟ 5 ลูก
  • ริมทางรถไฟตั้งแต่สถานีจดแม่น้ำ 11 ลูก
  • ตกที่วิกและริมถนน 3 ลูก
  • ถนนวรเดช 4 ลูก
  • บริเวณวิกสวนบุรีสุข 6 ลูก
  • ในน้ำเท่าที่ระเบิดและยังไม่ระเบิด 4 ลูก
  • บริเวณฝั่งทหาร 3 ลูก
  • พลุร่มใช้ในการโจมตีรวม 37 ดวง
การเสียหายไม่สามารถจะคิดได้ถูกต้อง
เราเดินตรวจดูหลุมระเบิด และบ้านเรือนที่พังทับถมลงมากองอยู่ตามถนน เสียงล่วงหล่นของเศษดินเศษไม้ดังอยู่ไม่ขาด เมื่อกระทบกับแรงคน เราเศร้าใจในสภาพของเมืองร้างมาก เราดูด้วยความรันทดในใจ หลุมระเบิด เศษลูกระเบิด ยังติดตาเราไปจนวันตาย ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมหนีเอาตัวรอด เราสดับแต่เสียงหวาดกลัวของคนเท่านั้น เรายืนดูหลุมระเบิดที่ตกกลางถนน ลึกเหลือประมาณ เศษไม้เศษหินตกอยู่แทบเท้าเรา เรายังเอาเท้าปัดฝุ่นที่ริมหลุมระเบิด ซึ่งหนาตั้งครึ่งฟุต เราทนดูอยู่ไม่ไหว เมื่อบ้านเมืองเรามีอาการเป็นดังนี้
อพยพจากถิ่นเราหวาดภัยมาก ทั้งบ้านเรือนก็สู่สภาพน่าสังเวช เราจึงตัดสินใจจากราชบุรีไปสู่ถิ่นที่ปลอดภัย เรานำสิ่งของที่จำเป็นเท่านั้นติดตัวไป ส่วนของที่ไม่จำเป็นยังเก็บไว้ที่บ้านเดิม เราเริ่มเดินทางเมื่อบ่าย 3 โมงเย็น เราถึงดำเนินสะดวกเมื่อ ๑๙.๐๐ น.และพักอยู่บ้านป้า คืนนั้นเราถูกถามด้วยข้อความที่เราถูกลูกบอมบ์”
ที่มา :
สละ จันทรวงศ์. (2470-2490). บันทึกส่วนตัว. เขียนด้วยลายมือ.
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้บ้านโป่งครั้งเดียว


"รถดับเพลิงจากกรุงเทพฯ รุดระงับเหตุตลาดบ้านโป่งทั้งตลาดวอด" (หนังสือพิมพ์ยวันพิมพ์ไทย : 10 กันยายน 2497)

"โศกนาฎกรรมใหญ่ยิ่งรอบสัปดานี้ ได้แก่พระเพลิงผลาญตลาดบ้านโป่งราพพณาสูร ประมาณค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท" (หนังสือพิมพ์รายวันสารเสรี : 11 กันยายน 2497)

"เสด็จประพาสต้นเยี่ยมราษฎรที่ประสพเพลิงไหม้อำเภอบ้านโป่ง" (หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง : 15 กันยายน 2497)

ไฟไหม้บ้านโป่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2497 นับเป็นไฟไหม้ใหญ่ครั้งที่ 2 หลังจากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาเมื่อ 19 ปีก่อน หนังสือพิมพ์พาดหัวเป็นข่าวใหญ่เกือบทุกฉบับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเยียมให้กำลังใจราษฎร จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องรุดมาบัญชาการยังที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เหตุการณ์ครั้งนั้น นับเป็นตำนานความวิปโยคของคนบ้านโป่งที่เล่าขานกันไม่จบสิ้น

คุณยายบ้วย แซ่โง้ว ปัจจุบันอายุกว่า 70 ปี หนึ่งในผู้สูญเสียทรัพย์สินไปกับกองเพลิง ได้เล่าเหตุการย้อนหลังเมื่อ 40 ปีมาแล้วได้อย่างละเอียด ประหนึ่งว่า เรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

"รถดับเพลิงทั้งจากกรุงเทพฯ และนครปฐม ต้องเรียกมาช่วยกัน ไหม้ตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็น 12 ซอย สี่ถนน เริ่มตั้งแต่ปากซอย 6 ซึ่งเวลานี้เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ ไหม้ทั้งตลาดล่างและตลาดบน วอดวายทั้งเมือง บ้านต้นเพลิงเป็นร้านขายของโชวห่วยทั้งปลีกและส่ง มีนม เนย ไม้ขีดไฟ ฯลฯ ส่งไปขายเหมืองปิล็อกที่เมืองกาญจน์แล้วขาดทุน หรืออย่างไรไม่ทราบ ก็เลยวางเพลิง เขาลือกันว่าวางเพลิงครั้งหนึ่งแล้วในตอนกลางคืนก่อนวันเกิดเหตุ แต่มีคนเห็นก่อนจึงดับทัน ฉันนั้นไม่รู้ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือวางเพลิงกันแน่"

"คุณเอ๋ย หนีกันจ้าละหวั่นสุดชีวิต ขวัญหนีดีฝ่อ ฉันกำลังลูกอ่อน อายุขวบเดียว ลูกอีกสี่คนไปโรงเรียนหมด ใจก็เป็นห่วงลูก ครูเขาก็ไม่ยอมให้ออกมา...ต่างคนต่างเอาตัวรอด ญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงเทพฯ รู้ข่าวรีบรุดมาบ้านโป่งช่วยกันขนของ คล้อยหลังมาแป๊บเดียว หันไปอีกที ไฟไหม้บ้านเมื่อไหร่ไม่รู้ ทั้งที่บ้านเราก็อยู่กันคนละฝั่งกับบ้านที่ไฟไหม้ คิดดูว่าเร็วขนาดไหน ลมแรงพัดสังกะสีมุงหลังคาบ้านหมุนติ้วขึ้นกลางอากาศ ฉันคว้ากระสอบได้ จับเสื้อผ้ายัดใส่...จะใส่กระเป๋าหรือถุงก็กลัวไม่จุ กลัวจะไม่มีเสื้อผ้าให้ลูกใส่ ตอนนั้นฐานะไม่ค่อยดี ขณะที่เราขนของวิ่งไปกองริมแม่น้ำแม่กลอง ขโมยมันฉวยโอกาสขนลงเรือพายหนีไป โอ้ เวรกรรมของฉัน"

"มีอาแป๊ะคนหนึ่ง บ้านแกขายผ้าห่มผ้าขนหนู เสื้อผ้าดีๆ ทั้งนั้น เป็นร้านใหญ่สองห้องอยู่ติดกับบ้านต้นเพลิง แกเป็นประธานโรงเจ มีหน้าที่เก็บเงินทองรายได้ของโรงเจไว้เป็นจำนวนมาก ก็ไปกับไฟหมด แกไม่ยอมหนีออกมา ยอมให้ไฟคลอกตาย แกว่าหมดแล้ว..ไม่มีอะไรเหลือแล้ว อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ตอนหลังเพื่อนบ้านต้องไปอุ้มออกมา"

"ในหลวงกับพระราชินี ท่านเสด็จกลับจากหัวหินด้วยรถไฟ ท่านรู้ข่าวก็เสด็จลงเยี่ยมประชาชน ต่อมาอีกไม่กี่วัน ท่านก็มาแจกของ จำได้ว่าวันนั้นค่ำแล้ว ชาวจีนไหหลำอยู่ท่าเรือเมล์ เข้าไปกอดขาท่าน ร้องไห้พร่ำพรรณนาว่าไม่มีที่พึ่งแล้ว ในหลวงพระราชทานเงิน เขาว่าให้เป็นพัน ตอนนั้นมูลนิธิต่างๆ ก็เอาเงินเอาของมาบริจาค เพื่อนบ้านแถบที่เขาไม่โดนไฟไหม้ก็หุงข้าวปลามาให้กิน แต่มันกินไม่ลงหรอก เพราะใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คิดอย่างเดียวว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนดี ที่เราเคยอยู่ก็เช่าเขาอยู่ เจ้าของเดิมเขาก็ดี อุตส่าห์เอาสังกะสีมาทำเพิงให้อยู่ชั่วคราวไปก่อน ต่างคนต่างสร้างไม่กี่วันก็เสร็จ ไอ้ซากตอเสาไหม้ไฟก็ยังไม่ดับดี...ยังไหม้อยู่อย่างนั้น หลายวันกว่าจะดับสนิท บ้านที่ขายข้าวสาร ไฟยังไหม้ข้าวสารอยู่เลย ข้าวสารนี่ดับยากนะ เป็นสิบวันกว่าจะมอดดับหมด บางคนก็เข้าไปรื้อข้าวของเงินทอง หวังว่าจะหลงเหลืออยู่ในกองเพลิงบ้าง ความเป็นอยู่แย่ ข้าวของก็ขายไม่ดี จะซื้อของหวานของเค็ม ก็ไม่มีแหล่งจะให้ซื้อ เพราะไฟไหม้หมด..กว่าจะฟื้นตัวได้เป็นปี ไหม้หมดทุกที่ เหลือแค่ตรงสถานีรถไฟเท่านั้น"

"ที่เราดูหนังเห็นคนตื่นไฟแบกโอ่งแบกตู้หนี เหมือนกับในหนังยังไงยังงั้น บางคนแบกโอ่งออกมา โถนึกย้อนกลับไป ขำก็ขำ สมเพชก็สมเพช ที่บ้านยังมีโอ่งเหลือจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ไฟไหม้บูดเบี้ยวเก็บไว้เป็นที่ระลึก"

เหตุการณ์ไฟไหม้บ้านโป่งครั้งใหญ่คราวนั้น จากการรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ระบุว่าเกิดจากการลอบวางเพลิง โดยเกิดขึ้นที่ห้องชั้นบนของบริษัทฮั่วเส็ง ติดต่อกับร้านเต๊กเซ้ง เพลิงได้เผาพลาญตัวเมืองบ้านโป่งกว่า 150,000 ตารางเมตร ส่วนมากเป็นที่ดินแลละบ้านเรือนของหลวงสิทธิเทพการ ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดบน และนางทองคำ วงศาโรจน์ ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดล่าง ต่างก็เป็นตระกูลเก่าและเศรษฐีที่ดินแห่งบ้านโป่ง เหตุการณ์คราวนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองราย สูญหายห้าคน และสูยเสียทรัพย์สินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินมหาศาล เมื่อเทียบกับข้าครองชีพย้อนหลังไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

จากเมืองที่มีแต่อาคารบ้านเรือน ทำด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้อง ทั้งชั้นเดียวและสองชั้น บางบ้านตัวบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะหลังคาจาก บ้านตึกยังไม่ค่อยมีให้เห็น ปัจจุบันกลับกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม คือเป็นตึกสองชั้น ไม่เน้นการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นอยางที่เคยเป็นมา จะมีก็แต่เพียงเส้นแนวตั้งและแนวนอนตามขอบหน้าต่างและกัสาดของอาคาร นับเป็นอาคารสมัยใหม่ในยุคนั้น

คนบ้านโป่งบางคนกล่าวว่า เมืองบ้านโป่งก่อนไฟไหม้มีตอกซอกซอยแยกย่อยคดเคี้ยว แต่พอหลังเหตุการณ์ มีซอยมีถนนตัดแบ่งแยกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากระทั่งทุกวันนี้ ด้วยมีเจ้าของที่ดินรายใหญ่เพียงสองคนเท่านั้น การปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่สมัยนายกเทศมนตรีกิจ ทรัพย์เย็น จึงเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยสะดวก

ไฟไหม้ครั้งใหญ่คราวนั้น จึงนำทั้งความสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงมาสู่บ้านโป่ง


สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม
-ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่ง 1
-ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่ง 2-http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=31&action=view
ที่มาข้อมูล :
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 432-433)
อ่านต่อ >>