วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คำขวัญอำเภอและตำบลใน จ.ราชบุรี

จังหวัด
"คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่ ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี"


1.อำเภอเมือง
-


2.อำเภอดำเนินสะดวก
"เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์  เสด็จประพาสต้น ร.5  เลื่องลือชาองุ่นหวาน ชาวบ้านน้ำใจงาม ล้นหลามผัก  ผลไม้รายได้หลัก เรารักตลาดน้ำดำเนิน"

3.อำเภอโพธาราม
1."คนสวยโพธาราม แหล่งฟาร์มสุกร หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนล้ำเลิศ ถิ่นกำเนิดโคนม ชมค้างคาวร้อยล้าน"
2."คนสวยโพธาราม งดงามน้ำใจ ค่ายหลวงบ้านไร่ หนังใหญ่วัดขนอน ที่นอนนุ่มชั้นนำ ถ้ำค้างคาวร้อยล้าน งามตุ๊กตาน่าพิศ จิตกรรมฝาผนัง"
(ไม่แน่ใจว่าใช้คำขวัญไหน)

4.อำเภอวัดเพลง
"ถิ่นเพลงปรบไก่ แควอ้อมใสไหลผ่าน ย่านผลไม้รสดี มากมีขนมโบราณ นมัสการเจ้าพ่อหลักหิน งามศิลป์โบสถ์ร้อยปี"

5.อำเภอสวนผึ้ง
"สาวกะเหรี่ยงเคียงถิ่นตะนาวศรี ลำภาชีแก่งส้มแมวแนวหินผา ธารน้ำร้อนบ่อคลึงตรึงติดตรา น้ำผึ้งป่าหวานซึ้งติดตรึงใจ"

6.อำเภอจอมบึง
"ถิ่นคนดี มีอริยธรรม การศึกษาราชภัฎนำ งามล้ำถ้ำจอมพล"

7.อำเภอบ้านคา
"สับปะรดหวานฉ่ำ งามล้ำตะนาวศรี มากมีแร่ธาตุ กราบอัฐิหลวงปู่เทสก์ แดนนิเวศน์เชิงคิรี ถิ่นคนดีชายแดน"

8.อ.บ้านโป่ง
"เมืองคนงาม สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ย่านการค้าอุตสาหกรรม"

9.อ.บางแพ
"เป็ดพะโล้ระบือนาม กุ้งก้ามกรามชื่อนิยม อีกโคนมพันธุ์ดี ประเพณีไทยทรงดำ แหล่งเพาะชำไม้ออก สินค้าออกเห็ดนานาพันธุ์"

10.อ.ปากท่อ
"เพลงเขมรปากท่อ เหล่ากอไทยทรงดำ วัฒนธรรมกะเหรี่ยง เสียงน้ำตกไทยประจัน แหล่งพันธ์ไม้ผล ถิ่คนน้ำใจงาม มากฟาร์มสุกร พระนอนเขาถ้ำทะลุ"

คำขวัญอื่นๆ
อ.โพธาราม
  • ตำบลคลองตาคต "ค่ายหลวงลือนาม จิตรกรรมฝาผนัง ของขลังพระเกจิ ทรงศิริรามัญ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ตำนานพระยามอญ"
  • เทศบาลตำบลบ้านสิงห์ "วัฒนธรรมลาวเวียง กุนเชียงเลื่องชื่อ ล่ำลือตุ๊กตา ศูนย์การค้าเกษตรกรรม"
  • ตำบลบ้านฆ้อง "ที่นอนนุ่ม ตุ๊กตาน่ารัก โรงหมูสะอาด กุนเชียงหมูเลิศรส งามล้ำศิลปลาวเวียง"
  • ตำบลเจ็ดเสมียน "ถิ่นไชโป๊วหวาน โจษขานเค้กมะพร้าวอ่อน สุดยอดมะขามเทศมัน สีสันงานประเพณีแห่ดอกไม้"
  • บ้านบ่อมะกรูด ตำบลบ้านฆ้อง "วิถีลาวเวียง พอเพียงเศรษฐกิจ เกษตรปลอดสารพิษ รักสิทธิ์จิตประชาธิปไตย"
อ.จอมบึง
  • อบต.เบิกไพร "ศาลเจ้าแม่ศักดิ์สิทธิ์ เพริศพิศถ้ำงามเขาคันหอก บ่งบอกเป็นตำบลนำร่อง ที่ไม่เกี่ยวข้องยาเสพติด แหล่งผลิตชาเขียวใบหม่อน ลือกระช่อนไก่ชนพันธุ์ดี มากมีวัฒนธรรม เลิศล้ำการพัฒนา รู้คุณค่าผู้สูงอายุ"
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตำนานของดีโพธาราม ไชโป๊วหวาน ถั่วงอก และน้ำปลา

เมื่อแรกมาเยือนโพธารามแล้ว ถามหาของฝาก หลายล้วนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ของดีโพธารามที่ขึ้นชื่อลือชาจนกลายเป็นสินค้าออกส่งไปขายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปนั้น มีอยู่สามอย่าง คือ ไชโป๊วหวาน ถั่วงอก และน้ำปลา ซึ่งล้วนมีกำเนิดมาจากชาวจีนที่พำนักอยู่ในโพธารามทั้งสิ้น

ไชโป๊วหวานของ ต.เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม รสดี กินอร่อย มีวางขายอยู่ตามห้างร้านทั่วไป ไม่ต้องลำบากมาถึงที่นี่  แต่ไหนๆ เมื่อมาถึงถิ่นแล้วจะผ่านเลยไปก็ใช่ที่ เราจึงยกขบวนเข้าไปถึงแหล่งผลิตกันเลยที่เดียว

ไชโป๊วหวาน เจ้าเก่าแก่ของที่นี่ใช้ชื่อว่า "ไชโป๊วหวานแม่ฮวย" ซึ่งเป็นเจ้าตำรับพลิกแพลงเอาไชโป๊วดองเค็มแบบดั้งเดิม ที่คนแถวนี้ส่งปากคลองตลาดสมัยเมื่อ 20 กว่าปีก่อน มาทดลองดองหวาน จนกระทั่งติดตลาดและติดใจนักชิมทั้งหลาย มีทั้งแบบหัวใหญ่ แบบชิ้น แบบฝอย แบบแว่น แล้วแต่จะชอบแบบไหน ที่สำคัญคือ ด้านหลังห่อพลาสติกสวยสดสีเขียวสลับสีส้มนั้น ยังพิมพ์วิธีปรุงเอาไว้ให้ลูกค้าอีกด้วย

"แต่ก่อนแม่ทำดองเปรี้ยวด้วย ทำหลายอย่าง...แล้วแต่ฤดู แม่ทำหัวไชโป๊วปีละหน ตอนหลังราคาถูก เลยคิดดองหวาน แม่ทำกรอบประณีต สะอาด แรกๆ ทำในบ้านมี 20 กว่าโอ่ง ทำไปทำมาก็ขยายใหญ่ได้สัก 20 ปี เห็นจะได้ ลูกผู้หญิงสองคนจึงมาสานต่อ" พี่ติ๋ว ลูกสาวแม่ฮวยถ่ายทอดประวัติให้เราแทนแม่ซึ่งชรามากแล้ว พร้อมกับพาเดินทะลุไปด้านหลังร้าน

หัวไชโป๊วเค็มกองเท่าภูเขาเลากาที่เห็นอยู่ตรงหน้า เล่นเอาตะลึงไปชั่วขณะ คนงานหญิงที่ทราบภายหลังว่า ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านแถวนี้ ซึ่งมาหาลำไพ่พิเศษ กำลังสาละวนอยู่กับการฝาน ซอย สับ หัวไชโป๊วสีน้ำตาลกันอย่างขะมักเขม้น

"ไชโป๊วดองหวานเอาแบบดองเค็มมาทำ แต่ต้องทำให้เค็มกว่าปกติ ไม่งั้นมันจะเหนียว ไม่กรอบ ขั้นตอนการทำนั้น เรารับหัวไชเท้าสดมาจากบ้านโคกหม้อ บ้านกล้วย คลองยายคลัง ซึ่งเดิมเขาก็ปลูกกันอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เราออกทุนให้เขา จึงติดต่อกันเป็นประจำ พื้นที่ปลูกแถวนี้เป็นลูกไร่ของเราหมด ที่นี่ดินดี เป็นดินทรายระบบ และมีน้ำค้างมาก หัวไชเท้าจึงมีคุณภาพดี ถ้าใช้ผักที่อื่นอย่างนครสวรรค์ เมืองกาญจน์ ผักมันจะยุบง่าย เราก็ไม่เอา เว้นแต่ปีไหนผักน้อยก็ต้องอาศัยบ้าง"

"ได้ผักมาแล้วเทเกลือใส่ ไม่ต้องปอกเปลือก เช้าขึ้นก็ใส่เกลืออีก หมักไว้สองสามวัน แล้วใส่เกลือเพิ่มให้เยอะขึ้นก่อนถ่ายเก็บเข้าที่ พอจะใช้ก็ขนเอามาคัดขนาด แยกเป็นใหญ่ เล็ก จิ๋ว และอย่างไม่สวยซึ่งจะเอาเข้าเครื่องสับส่งโรงทำตั้งฉ่าย ที่เหลือเราต้องใช้มือทำหมด ตั้งแต่คัดเกรด ฝ้าหรือฝ่อก็ไม่เอา ถ้าทำอย่างหวานเอาหัวไชโป๊วที่เค็มออกมาล้างให้หมด แล้วแช่น้ำตาลทรายขาวล้วน ขัณทสกรกับสีนี่ไม่ใส่เลย ความกรอบอยู่ที่ผักธรรมชาติ อายุการรับประทานราวสามเดือน ถ้าเกินไปจะไม่อร่อย ผักจะนิ่ม หลังจากนั้นก็มีคนทำตาม ตอนนี้เราทำส่งอเมริกาด้วย"

เคล็ดลับความอร่อยจากการเลือกสรรแต่ของดีมีคุณภาพ ทำให้ชื่อเสียงไชโป๊วหวานแม่ฮวยขจรขจายไปไกล จนกระทั่งลูกสาวแม่ฮวยกระซิบกับเราว่า "...หม่อมถนัดศรีเขายังเคยมาชิม เอาไปออกทีวีด้วยนะ"

หากใครสงสัยเรื่องความสะอาด ฝาชีหลากสีครอบฝาโอ่งดองหวานที่เรียงรายอยู่คงเป็นเครื่องรับประกันความสะอาดของไชโป๊วที่นี่ และยิ่งเราเตร่เข้าไปใกล้ตัวแมลงที่บินเวียนอยู่ตรงบริเวณที่ใช้บรรจุถุง ก็พบว่า มันเป็นแมลงหวี่ตัวใหญ่ที่ชอบตอมขนมหวาน ห่าใช่เจ้าหัวเขียวที่นึกเอาไว้ในใจไม่

เมฆดำที่เริ่มก่อเค้าบังแดดบ่าย ทำให้เรารีบลาจากเพื่อไปตามหาแหล่งผลิตน้ำปลา ที่ว่ากันว่าทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และส่งขายไปทั่วประเทศกันนับสิบเจ้าใกล้ๆ กับตลาดโพธาราม ก่อนจากมาเราหันไปมองตึกใหญ่ซึ่งเป็นทั้งที่อาศัยและโชว์สินค้า พร้อมกับแว่วเสียงคำพูดของลูกสาวแม่ฮวยว่า "ที่ได้มาทั้งหมดนี่ ก็เพราะไชโป๊วทั้งนั้นแหละ"

ฝนเม็ดหนากระหน่ำหนักลงมาแทบจะในทันทีที่ก้าวเข้าไปในโรงเรือนขนาดใหญ่ กลิ่นแปลกๆ ที่ลอยอวลขึ้นมาจากบ่อหมักหลายสิบบ่อ โชยมาเตะจมูก จนต้อวรีบควักผ้าเช็ดหน้ามาอุดกันวุ่นวาย ช่วยเร่งฝีเท้าของเราให้เข้าไปยังส่วนสำนักงาน

แทบไม่น่าเชื่อว่า เจ้าน้ำสีคล้ำในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่มีขี้เกลือจับเขลอะอยู่ตรงขอบนั้น จะกลายมาเป็นน้ำปลารสดีสีน้ำตาลใสใช้ปรุงแต่งรสอาหารได้ คุณอดุลย์ ศิรประภาพงศ์ เจ้้าของโรงงานลิ้มเซ่งเฮง อธิบายให้เราฟังว่า บ่อที่เห็นอยู่นั้นผ่านการหมักมานานเกือบได้ที่ แต่กว่าจะได้น้ำปลารสดีออกมาบรรจุขวดขาย ต้องอาศัยเวลาตั้งแต่ปีครึ่งถึงสองปีเลยทีเดียว

"สมัยก๋ง มาจากเมืองจีน ยังไม่มีโรงน้ำปลา ก็มาเป็นลูกจ้างเขาทำโรงสีบ้าง ทำสวนบ้าง ตอนหลังเห็นมีปลาเยอะก็เริ่มทำ ปลาที่ใช้เป็นปลาสอย ปลาซิว ปลาน้ำผึ้ง ปลาตะเพียนก็ใช้ได้ แต่เอาตัวเล็กต้องไม่เกิน 2 นิ้ว ถ้าปลาตัวใหญ่มักแล้วไม่ย่อย"

"ก๋งทำแค่เล็กๆ ใช้ไหใช้โอ่ง มารุ่นเตี่ยถึงขยายเป็นบ่อหมัก แต่ก่อนชาวบ้านเขาจับปลามาขาย พอหน้าน้ำหลาก ปลามันเข้าไปวางไข่ตามทุ่งนา พอน้ำลด ปลาก็จะกลับ ก็ดักจับได้ทีละเป็นหมื่นๆ โล ตอนหลังปลาไม่มี เพราะเขาทำเขื่อน ไม่มีน้ำท่วม ตามทุ่งนาก็มียาฆ่าแมลงด้วย ปริมาณปลาเลยลด เดี๋ยวนี้โรงงานในโพธารามใช้ปลาทะเลทั้งหมด ถูกกว่ากันเยอะ วิธีหมักก็เหมือนกัน ใช้ปลาหนึ่งส่วน เกลือสองส่วน..ผมว่าปลาน้ำจืดทำน้ำปลาอร่อยกว่า เพราะไขมันสูงกว่า รสชาติดีกว่า"

"แต่ก่อนทำน้ำปลาแบบไม่ได้ปรุงแต่งอะไร รุ่นก๋งหมักได้แล้วก็กรองขายเลย ใส่ไหส่งขายจังหวัดใกล้ๆ ไหนี่ก็สั่งมาจากโรงโอ่งที่ราชบุรี พอรุ่นเตี่ยขยายไปส่งทางเหนือ ทางอีสาน ที่นี่คนจีนแต้จิ๋วเป็นคนทำ สมัยก๋งทำกันอยู่สี่ห้าโรง รุ่นเตี่ยขยายเป็น 10 กว่าโรง แต่ตอนนี้ย้ายไปเยอะเหลือแค่ห้าหกโรง เพราะลูกหลานหันไปประกอบอาชีพอื่น ถ้าทำก็ต้องมียี่ห้อของตัวเอง หาตลาดส่งด้วย ส่วนใหญ่ส่งภาคเหนือกับภาคอีสาน เพราะทางใต้เขามีทำกันอยู่"

เคล็ดลับความอร่อยของน้ำปลาโพธารามในอดีต คงเป็นเพราะการเลือกใช้ปลาน้ำจืดและคัดเอาแต่หัวปลา ซึ่งถือว่าเป็นสุดยอดของน้ำปลาแท้ออกส่งขายให้ลูกค้านั่นเอง น้ำปลาของที่นี่ขายดิบขายดีมีชื่อเสียงไปทั่ว แต่น่าเสียดายทุกวันนี้ โรงน้ำปลาในโพธารามทุกแห่งต้องหันมาใช้ปลากะตักจากทะเลมาหมักแทน เพราะมีปริมาณมากและหาได้ง่าย แถมยังมีราคาถูกกว่าพวกปลาซิวปลาสร้อย

ปัจจุบันโรงงานน้ำปลาแต่ละแห่งไม่ได้ผลิตน้ำปลาเกรดดีอย่างเดียวเหมือนในอดีต หากติดฉลากหลากหลายยี่ห้อ เพื่อสนองตามความต้องการของตลาดและฐานะของผู้บริโภค ขวดที่ติดฉลากว่า น้ำปลาแท้ คือ น้ำปลาชั้นหนึ่ง กรองเอาหัวน้ำปลามาบรรจุขวด รองลงมาคือน้ำปลาผสม ซึ่งมีราคาย่อมเยากว่า เพราะเอาหัวน้ำปลามาเจือน้ำเปล่าเพื่อลดความเข้มข้น แล้วปรุงแต่งรสให้ใกล้เคียงกับน้ำปลาแท้ สุดท้ายที่ราคาถูกกว่าใคร คือ น้ำเกลือปรุงแต่งรส เติมสีสันให้คล้ายของจริง ไม่มีวางขายตามห้าง แต่มักไปโผล่อยู่ตามร้านค้าต่างจังหวัด และเมื่อถามถึงน้ำปลาเทียมที่ได้ยินข่าวลือมาว่าใช้น้ำกระดูกสัตว์ใส่สีหลอกขายนั้น คำตอบที่ได้รับทำเอาโล่งอกไปได้มากทีเดียว

"น้ำปลาคือเลือดกับเนื้อปลาที่ย่อยสลาย ที่ว่าผสมกระดูกสัตว์รับรองได้ว่าไม่มีแน่นอน เพราะไม่มีเลือดไม่มีเนื้อ อย่างมากที่ทำกันอยู่ก็คือ น้ำเกลือผสมสี แต่ก็ไม่ทำกันเท่าไหร่ เพราะทำแล้วไม่คุ้มทุน ค่าแรงอะไรก็ต้องเสียเท่าน้ำปลาดี สู้ทำน้ำปลาดีไปเลยดีกว่า"

คนซื้อน้ำปลาจะดูสีไม่รู้หรอก ต้องดมกลิ่น กลิ่นมันฟ้อง รสก็พิสูจน์ได้ น้ำปลากับน้ำเกลือรสไม่เหมือนกัน ความหอมต่างกัน น้ำปลาแท้ถ้าเก็บไว้ในขวดนานๆ สีไม่เปลี่ยน เว้นแต่เปิดขวดใช้แล้วเขย่า อากาศจะเข้าไปทำปฏิกิริยาให้สีน้ำปลาเข้มขึ้น แต่ไม่เสีย"

เถ้าแก่กล่าวทิ้งทายก่อนจะหันหลังไปหยิบขวดน้ำปลาหลากยี่ห้อที่ล้วนผลิตจากโรงงานแห่งนี้มาให้เราดู

ภาพของชายหนุ่มร่างกำยำจำนวนนับสิบที่ยืนแช่น้ำก้มหน้าก้มตาแกวางตะแกรงร่อนบางสิ่งอยู่ริมฝั่งแม่กลองตรงหน้าเขื่อน ตลาดเมืองโพธารามในยามโพล้เพล้ สร้างความสงสัยให้คนต่างถิ่นอย่างเราไม่น้อย ต่อเมื่อเดินเข้าไปใกล้แล้ว นั่นแหละจึงหายข้องใจ เพราะกิจกรรมที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้น คือ มหกรรมการล้างถั่วงอกจำนวนนับพันกิโลกรัมเพื่อเตรียมส่งไปขายในกรุงเทพฯ ให้ทันตอนเช้ามืด ภาพถั่งงอกลำต้นยาวขาวสะอาดที่บรรจุเรียบร้อยในถุงพลาสติกใบใหญ่ รอการขนถ่ายขึ้นรถ ดูจะแตกต่างจากที่เคยได้ยินมาว่า เอกลักษณ์ของถั่วงอกโพธารามนั้นต้องมีลำต้นอวบสั้น ต่างจากที่อื่นจนเห็นได้ชัด เมื่อสอบถามความเป็นมาเป็นไป ก็ได้รับคำยืนยันว่า ที่เห็นอยู่นี้เป็นถั่วงอกเมดอินโพธาราม หาใช่ถั่วงอกจากที่อื่นเอามาล้างย้อมแมวขายไม่ แต่เป็นเพราะเหตุใดหน้าตาถึงเปลี่ยนไปเช่นนี้

คุณยายเฮงเลี้ยง  แซ่อึ้ง เจ้าถั่วงอกเก่าแก่ของโพธารามขยายความให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้น ถั่วงอกโพธารามมีลำต้นอวบอ้วนอย่างที่เขาร่ำลือ และไม่ได้เพาะในปี๊บอย่างที่เห็น แต่ลงไปเพาะตามหาดทรายริมน้ำแม่กลองในยามที่น้ำลดระดับลง ยิ่งในฤดูแล้ง ราวเดือนธันวามคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี น้ำจะแห้งจนเกิดเป็นหาดทรายกว้างบริเวณหน้าเมือง ถึงขนาดสามารถลงไปจัดงานประจำปีที่เรียกว่า "งานหาดทรายโพธาราม" กันกลางหาดได้เลยทีเดียว

"แต่ไม่ได้ลงไปเพาะถั่วงอกกันกลางหาดหรอกนะ ทำอยู่ตรงชายๆ เดี๋ยวเขามาเหยียบหมด...ถั่วงอกมีชื่อของที่นี่คือ ถั่วงอกทราย เวลาเพาะต้องขุดหลุมทรายแล้วเหยียบให้มันแน่นๆ ถ้าขุดตรงที่สูงก็ต้องให้ลึก คือให้มีน้ำอยู่ใต้ทรายเพื่อให้รากดูดได้ กรรมวิธีเพาะนั้นต้องแช่ถั่วล้างน้ำให้เกลี้ยง นำไปหวายแล้วกลบทรายให้มิด เหยียบให้แน่น ถั่วมันดันไม่ขึ้นก็อ้วนสั้น เพราะทรายมันมีน้ำหนัก ทำปี๊บใสชี้เถ้าแกลบเพาะมันแห้ง ไม่มน้ำหนัก อ้วนสู้หาดทรายไม่ได้"

"สมัยก่อนที่หาดมีแต่หลุม เพาะถั่วงอกกันเยอะ หลุมใครหลุมมัน รู้กัน เพราะลักษณะหลุมไม่เหมือนกัน ถั่วงอกขุดขึ้นมาก็ไม่เหมือนกัน ของยายทำหลุมสี่เหลี่ยมใหญ่เป็นเมตร ได้เป็น 100 กิโล เพาะทุกวัน ถึงเวลาก็ไปขุดดูว่าต้องรดน้ำหรือเปล่า สามวันก็ขุดขึ้นมาล้างขายได้ เราใช้สามหลุม ขุดสลับกันไปทุกวัน เช้าขุดหลุม เย็นก็ไปเพาะ แต่ต้องไม่ใช่หลุมเดิม ขุดเอาใหม่ ถ้าจะกลับไปใช้หลุมเก่าต้องให้ผ่านไปเดือนนึงเพื่อให้เชื้อมันหมดก่อน ถ้าเพาะซ้ำมันจะเน่า เพราะมันมีเศษถั่วงอกค้างอยู่ก้นหลุม"

"แต่ก่อนทำกันเจ็ดแปดเจ้า ขายในตลาดนี่แหละ แต่ก็ส่งกรุงเทพฯ ด้วย เดี่ญวนี้ที่ล้างกันอยู่ริมน้ำเป็นเจ้าใหม่ๆ ทำส่งเป็นพันๆ กิโล ทำกันมา 10 กว่าปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างมาก่อนแล้วออกไปทำเอง ถั่วงอกเพาะปี๊บดีสู้เพาะในหาดไม่ได้ แต่ถั่วงอกโพธารามก็ดีกว่าที่อื่น ส่วนใหญ่ส่งขายกรุงเทพฯ บางทีเขาก็มารับกันถึงที่ ตรงที่ล้างกันนั่นแหละ"

"เดี๋ยวนี้ ถั่วงอกหวานกรอบ เพราะแช่สารส้มก่อนเป็นน้ำสุดท้าย แช่มากก็ไม่ได้ มันจะฝาด แต่สมัยยายทำหาดทรายล้างแล้วส่งเลย ไม่ต้องแช่ รสดีกว่ากันเยอะ หวานกรอบอร่อยจริงๆ เดี๋ยวนี้ ต้องเพาะถั่วงอกให้ยาว ไม่งั้นทุนไม่คืน เพราะขี้เถ้าแกลบก็ต้องซื้อจากโรงสีแถวสุพรรณฯ สมัยก่อนเขาให้เลยฟรีๆ แล้วไหนจะค่าน้ำค่าไฟอีก ถั่วเขียวกิโลละ 20 บาท ลูกจ้างล้างคืนหนึ่งตั้ง 150 บาท ต้องใช้หลายคน ของยายคืนนึง 30-40 ปี๊บ ปี๊บนึงล้างแแล้วได้ถั่วงอก 10 กิโล ใช้ถั่วดิบ 2 กิโลมาเพาะ"

คุณยายบ่นให้ฟังถึงความยากลำบากของการเพาะถั่วงอก เมื่อต้องย้ายจากหาดทรายมาเพาะกันในโรงเรือน แถมยังสำทับอีกว่า ถ้าใครเพาะถั่วงอกขายก็ต้องดูแลประคบประหงมอย่างดียิ่งกว่าลูกเลยทีเดียว เพราะต้องคอยเฝ้าดูไม่ให้ถั่วงอกขาดน้ำ ส่วนเคล็ดลับที่ทำให้ถั่วงอกมีสีขาวนั้น คุณยายบอกว่าอยู่ที่การเลือกซื้อถั่วเขียว

"ต้องเลือกที่เป็นเปลือกเขียว ถ้าเปลือกแดงถั่วงอกจะออกมาแดง แต่ถั่วเดี๋ยวนี้เอามาเพาะยาก เขาเร่งปุ๋ย เร่งยา เราจึงต้องใส่ยาเร่งให้งอกด้วย ไม่งั้นไม่ยาว ไม่อ้วน ขายไม่ออก"

พอเราย้อนถามถึงถั่วงอกหาดทรายว่า จะพอหาซื้อกลับไปกินได้จากที่ไหน คุณยายหัวเราะร่วนพร้อมกับกล่าวว่า "เลิกทำมาตั้งแต่ปี 20 โน่นแหละ จะเอาหาดที่ไหนทำ ทรายมันหมด เขาดูดเอาไปขายจนไม่เหลือหาดให้เพาะถั่วงอกแล้ว" 

ที่มาข้อมูล
-สุดารา สุจฉายา. (2541). ของดีโพธาราม. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 292-295)

ที่มาของภาพ
-http://www.oocities.com/thailanding/rachaburi/04.jpg
-http://i287.photobucket.com/albums/ll150/momo7301/my%20toys/meeting/023.jpg
-http://i174.photobucket.com/albums/w117/Freedom_on_my_way/06-09_10_2550%20Hat%20yai%20-%20Padang%20besar/P1030969-01.jpg
-http://gotoknow.org/file/pentiva_38/tua14.JPG
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน

หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน


ประวัติความเป็นมา
ตลาดริมทางรถไฟที่เคยเจริญรุ่งเรือง ในอดีตเคยเป็นอำเภอมาก่อน เรียกว่า "อำเภอเจ็ดเสมียน" ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม เมื่อปี พ.ศ.2438

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประพาสต้นที่ตลาดเก่าแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2431 เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงเสด็จประพาสไทรโยค พระองค์ทรงตรัสว่า "วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้า จอดอาศัยอยู่ที่นี่มาก บ้านเจ็ดเสมียน นี้เป็นที่ชอบของนักเลงกลอน พอใจจะหยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ"

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อคราวศึกเก้าทัพ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องเรือรบพม่าที่ท่าดินแดง พระองค์ทรงแต่งกลอนนิราศ เมื่อกองทัพของพระองค์เสด็จมาถึงตำบลเจ็ดเสมียน มีใจความว่า

ถึงท่าราบที่ทาบทรวงถวิล   ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน
ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน   จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา
ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย  มารายทุกข์ทีทุกข์คะนึงหา
จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา  พอทิวาเยื้องจะสายันห์

ตลาดเจ็ดเสมียน แต่เดิมมีต้นจามจุรีใหญ่สองต้นอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นหมุดหมายของตลาดเล็กๆ ให้พ่อค้าแม่ค้าทางบกเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำ มีเรือนแถวชั้นเดียวหลังคามุงจาก พอเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว  พอบ้านเมืองพัฒนาขึ้นก็โค่นต้นจามจุรีลง ปลูกห้องแถวไม้สองชั้นขึ้นมา ตัวตลาดสดขยับจากริมแม่น้ำเข้ามาใกล้ทางรถไฟมากขึ้น เรือนแถวชั้นเดียวก็ถูกรื้อร้างไป ตลาดใหม่นี้เป็นที่ซื้อขายของคนทั่วสองฝั่ง

ช่วงหนึ่งตลาดเจ็ดเสมียน เคยมีตลาดนัดทุกห้าวัน โดยนับตามข้างขึ้นข้างแรม สมัยต่อมา ตลาดเจ็ดเสมียนเริ่มแผ่วลง แต่ตลาดนัดโบราณ ทุก 3 ค่ำ 8 ค่ำ 13 ค่ำ เป็นตลาดนัดตอนเช้าก็ยังคงมีอยู่ จนถึงปัจจุบัน  หลังจากที่ตลาดเจ็ดเสมียนเงียบเหงาลง ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน สวนศิลป์บ้านดิน (ภัทราวดีเธียเตอร์) ได้ร่วมกันทำตลาดเก่าแห่งนี้ ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี มานพ มีจำรัส (ครูนาย) เป็นผู้จุดประกาย และครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) ได้ร่วมกับชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน จัดงาน All About Arts (สืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน

ตำนานเจ็ดเสมียน
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า กองทัพทำลายปราสาทราชวังกำแพงเมืองทั้งชั้นนอกชั้นใน เผาทำลายบ้านเรือนราษฎร ฆ่าฟันลูกเด็กเล็กแดง ผู้หญิง พระภิกษุ สามเณร นำทรัพย์สินเงินทอง และกวาดต้อนผู้คนไปยังกรุงอังวะ พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) ตีฝ่าวงล้อมพม่ามาได้ ต้องการรวบรวมไพร่พล มีชาวบ้านจำนวนมากอาสามารับใช้ จนทหารที่เป็นเสมียนไม่เพียงพอ พระองค์ต้องการให้รับสมัครทหารให้ทันพบค่ำโดยเป็นเคร็ดของศาสตร์โบราณ จึงประกาศให้ผู้รู้หนังสือมาช่วย มีชายไทย 7 คน สมัครเข้ามาเป็นเสมียน ทำให้การรับสมัครชายไทยไปเป็นทหารเสร็จสิ้นก่อนพลบค่ำ พระองค์ประทับใจมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านเจ็ดเสมียน"


ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม : เรื่องราวเก่าๆ ของชาวเจ็ดเสมียน
ที่มา
ข้อมูล :
-ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน และสวนศิลป์บ้านดิน. (2553). หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน. เอกสารประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายเมื่อ 8 มิถุนายน 2553.

ภาพ :
-http://www.moohin.com/picpost/003/b/0901291233226819.jpg
-http://www.chetsamian.org/photo/galleries/oldpicture/chetsamian_351.jpg

-http://byfiles.storage.live.com/y1p7fnl_d3nPg4yH6nz38HkEWVOnEQFCgVm4A0_y3YxBinzGjS0389rrlqPeVPklbGn
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี กับมหาผ่องฯ ตอน 1

บรรยากาศสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราชบุรี
สัมภาษณ์ : มหาผ่อง ผลิตตธมฺโม
เจ้าอาวาสวัดเกาะนัมมทา
อายุ 80 ปี
เมื่อ ตุลาคม 2548
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ที่นี่..สถานีหนองปลาดุก


หากใครเคยอ่านนวนิยายชื่อดังเรื่อง คู่กรรม ของทมยันตี ที่หยิบยกเอาเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา มาเป็นฉากในการดำเนินเรื่อง แต่ยังกังขากับพฤติกรรมของสองตัวละครชูโรง คือตาผลกับตาบัว ที่ลอบเข้าไปขโมยของในค่ายทหารญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ ว่าเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ เชิญพิสูจน์เรื่องราวที่คล้ายคลึงกันนี้ได้จากปากคำของลุงนิตย์ ศรีประเสริฐ หนึ่งในผู้ร่วมสถานการณ์จริง ซึ่งคลุกคลีอยู่กับค่ายทหารญี่ปุ่นที่หนองปลาดุก มาตั้งแต่การเริ่มสำรวจทางเพื่อเตรียมสร้างค่าย จนถึงวันสุดท้ายของการสิ้นสุดสงคราม

"ทีแรกพวกญี่ปุ่น นั่งรถมากับพวกเจ้านายในอำเภอ มาถึงก็สำรวจที่ทางแถวๆ นี้ หลังจากนั้นไม่นานก็ขนข้าวของมาสร้างค่ายที่นี้...ที่ดินตรงบ้านผมนี่ แต่ก่อนเป็นโรงครัว ตอนนั้นผมอายุสัก 17-18 ปี เขารับสมัครคนไปขุดดินทำทางก่อนวางราง ก็ไปทำกัน มีทั้งคนที่นี่ และมาจากที่อื่นๆ บ้าง นครปฐมก็มี เงินมันดี ได้วันละ 50 สตางค์ ก็ดีใจแล้ว ช่วงนั้นน้ำท่วมด้วย ทำอะไรได้เงินก็เอาไว้ก่อน อยู่ๆ ไปก็จับให้เราไปเรียนหนังสือญี่ปุ่น..เรียนกันหลายคน แล้วเปลี่ยนมาเป็นล่ามให้มันแทน ผมรู้จักคนเยอะ ในค่ายนี่รู้จักกันหมดแหละ พวกเชลยที่รอดไป ตอนหลังยังกลับมาที่นี่บ่อยๆ นี่ไง รูปนี้ถ่ายหน้าบ้านผม" ลุงนิตย์เล่าพลางหยิบรูปที่ถ่ายคู่กับฝรั่งร่างสูงใหญ่มาให้ดู

หากย้อนหลังกลับไปในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2485 หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า เป็นวันที่หน่วยทหารซากาโมแห่งกองพลทหารรถไฟที่ 9 ของกองทัพญี่ปุ่น ได้ลงมือปักหลักหินบอกเลขกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือที่รู้จักกันดีในนามทางรถไฟสายมรณะ ลง ณ สถานีหนองปลาดุก ในเขตอำเภอบ้านโป่ง

แต่ก่อนหน้านั้นในราวสองเดือน ชาวหนองปลาดุกต่างมีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะร่างเตี้ยที่เข้ามาตัดฟันต้นไม้ต้นไร่ในสวนของตนเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะมีค่ายพักและค่ายกักกันแล้ว ยังมีโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่ขนมาเตรียมไว้ใช้เป็นพาหนะลำเลียงเหล่าทหารและยุทธภัณฑ์ไปยังพม่า

เหตุที่เลือกหนองปลาดุกเป็นจุดเริ่มต้นทางรถไฟนั้น เนื่องจากเส้นทางระหว่างสถานีหนองปลาดุกไปยังสถานีบ้านโป่ง ถือว่าเป็นจุดเลี้ยวของรถไฟที่มุ่งหน้าลงใต้ หากสร้างทางรถไฟแยกจากจุดนี้ ไปทางจังหวัดกาญจนบุรี ตัดข้ามแม่น้ำแควน้อย ข้ามชายแดนไทย-พม่าไปสู่สถานีทันบิวซายัต ในเมืองมะละแหม่ง ได้สำเร็จก็จะสามารถเชื่อมเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศได้

ยิ่งในขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกรที่เคยมีชัยชนะทุกสมรภูมิ เริ่มตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เพราะเรือลำเลียงในมหาสมุทรอินเดียถูกโจมตีอย่างหนัก จนไม่สามารถส่งกำลังไปบำรุงกองทัพที่ตรึงไว้ตามแนวชายแดนพม่า-อินเดียได้อย่างสะดวก จำเป็นต้องหาเส้นทางลำเลียงสายใหม่ให้ได้เร็วที่สุด

ทางรถไฟสายไทย-พม่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะมีระยะทางสั้นที่สุด คือในราว 400 กิโลเมตร ซึ่งหากอยู่ในภาวะปกติคงต้องใช้เวลาสร้างถึงแปดปี แต่ทางฝ่ายญี่ปุ่นคำนวณแล้วว่า หากระดมแรงงานอย่างเต็มที่ คงสร้างเสร็จในเวลาเพียงปีเศษเท่านั้น

ตลอดระยะเวลาที่มีการสร้างทางรถไฟ ทางกองทัพญี่ปุ่นต้องประสบปัญหานานัปการ บางปัญหาแก้ไขได้ บางปัญหาก็น่าหนักใจ แต่คงไม่มีปัญหาใดสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าได้กับยุทธภัณฑ์ชิ้นใหญ่น้อยในค่ายหายไปเป็นประจำ เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของจารชนที่ลอบเข้ามาบ่อนทำลายกองทัพ แต่เกิดจากฝีมือคนไทยและเชลยศึกในค่ายนั่นเอง

"ทำงานให้ญี่ปุ่นมั่ง ลักของมันออกมาขายมั่ง บางคนก็เอากะหรี่มาล่อ ไปเช่ามาจากนครปฐมสัก 15 บาทเห็นจะได้ แล้วเอาเข้าไนค่าย พวกญี่ปุ่นเห็นก็ชอบนะสิ ไม่ได้เจอมานานนี่ พอไอ้พวกนี้อยู่ข้างใน คนไทยข้างนอกก็ย่องมาลักยางรถ เอาไม้มาทำเป็นคานสอดแล้วห้ามไปทิ้งในคูก่อน ตอนหลังก็มาทยอยเอา พอยางหาย นายมันก็เล่นงานไอ้พวกลูกน้อง ทีนี้จะเอาผู้หญิงไปล่ออีกไม่ได้แล้ว"

"บางทีพวกเชลยฝรั่งก็แอบเอาตะปูใส่กระป๋องชามา ทำเป็นจะไปให้เพื่อนกิน แล้วแอบเอามาขายคนไทย...ประจำเลยเรื่องลักของ ไทยมั่ง ฝรั่งมั่ง บางทีมันเอาเสื้อผ้ามาแลกกล้วย แลกของกินเรา ที่มีอยู่กินกันไม่อิ่มหรอก มีอยู่ครั้งฝรั่งคนหนึ่งเอากางเกงมาขาย คนไทยก็เอาแบงก์ครึ่งใบพับแล้วส่งให้ ตอนแลกของกันมันต้องรีบๆ ทำ ชักช้าไม่ได้ เดี๋ยวญี่ปุ่นเห็นเอาตาย ตอนหลังฝรั่งนี่มันแค้นนะสิ มันเอาขี้ห่อใบตองมาอย่างดีเลยนะ ใส่กระป๋องมานี่แหละ น้ำหนักก็ได้พอๆ กับตะปู เอาไปขายตายันที่เอาแบงก์ให้ครึ่งเดียวนั่นแหละ พอแกเปิดไปเจอแต่ขี้ เขาเลยล้อกัน...ตายันซื้อขี้-ตายันซื้อขี้ ไอ้คู่นี้ตอนหลังเจอกันไม่ได้เลย"

"ญี่ปุ่นไม่ทันคนไทยหรอก เหลี่ยมไม่ทัน ญี่ปุ่นนั่งเฝ้ายามอยู่ บางทีก็หลับ คนไทยย่องเข้าไปเนี่ยไม่รู้เรื่องหรอก ตอนไหนมันเปลี่ยนยามเราก็รู้ เล่นเดินชักแถวร้องเย้วๆ มาแต่ไกล ได้ยินเสียงเราก็เผ่น บางทีเข้าไปซ่อนกันในค่าย เอาถังน้ำมันครอบไว้ พอปลอดคนก็ออกจากถัง ฮู้ย..วิธีการแอบมันมีหลายอย่าง ไปซ่อนบนต้นไม้ก็มี อย่างบางทีพวกที่ทำงานในค่ายจะเอาแป๊บออกมาขาย เตรียมขนเอามาวางใกล้รั้วไว้ก่อน พอดึกๆ แอบมาลากไป อย่างโรงเรือนในค่ายนี่มันปลูกติดดิน ไม่มีพื้น เราก็ขุดจากข้างนอกเข้ามา เอาของที่มันเก็บไว้ พวกลวด พวกทองแดง...อะไรเอามา ขายได้ทั้งนั้น ของใหญ่อย่างน้ำมันกลิ้งไปทั้งถังนี้แหละ ไท้งไว้ในคูน้ำก่อน แล้วแอบมาเอาทีหลัง"

ลุงนิตย์ เล่าด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน พร้อมออกท่าออกทาง แน่นอนว่า ภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะผลพวงจากสงครามนั้น ทำให้ชาวบ้านต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสำคัญในการอยู่รอด แต่หากใครสักคนเกิดเพลี่ยงพล้ำจนถูกจับได้เว่า อะไรจะเกิดขึ้น...ในเมื่อทหารญี่ปุ่นนั้น ขึ้นชื่อหนักหนาในเรื่องความเข้มงวด

"กับคนไทย มันไม่ทำรุนแรง มันเล่นแปลกๆ เอาให้จำมากกว่าไปลักของมัน บางทีก็ให้ยืนกลางแดดเป็นกระต่ายขาเดียว ให้หิ้วถังน้ำด้วย ถ้าขาหย่อยเมื่อไหร่ก็ถูกฟาด แต่ที่เล่นเอาแย่ตอนที่มีคนเมาเข้าไปทำเสียงดังในค่าย มันจับกรอกน้ำสบู่เสียเลย"


ภาพความทรงจำครั้งอดีตกลายเป็นตำนานที่ถ่ายทอดสู่กันฟังอย่างไม่รู้จบ แต่ภาพโรงเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจากนับสิบหลังที่เคยเรียงรายอยู่ริมทางรถไฟถูกรื้อถอนทำลายไปจนหมดสิ้นแล้ว ทุกวันนี้หนองปลาดุก มีชื่อปรากฏอยู่บนตารางเดินรถไฟสายใต้ในฐานะ "ชุมทางหนองปลาดุก" รถไฟที่เคลื่อนผ่านมาจะแยกเป็นสามสาย สายแรกมุ่งสู่ภาคใต้ สายที่ 2 คือ ทางรถไฟสายมรณะ ที่ปัจจุบันไปสิ้นสุดที่สถานีน้ำตกของจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนอีกสายบ่ายหน้าไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี

อาคารไม้รูปทรงเดียวกันกับอาคารสถานีทั่วไปของการรถไฟฯ ตั้งอยู่อย่างงโดดเดี่ยว
เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ได้จารึกลง ณ ที่นี่..สถานีหนองปลาดุก

ที่มาข้อมูล
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 74-75)
ภาพ : สุชาต จันทรวงศ์
อ่านต่อ >>