วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2302 เสียเมืองราชบุรี

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2554 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า "ขุนรองปลัดชู" มาฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดย  บริษัท บีบี พิคเจอร์ จำกัด เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากพงศาวดารในช่วงปี  พ.ศ.2302 ในสงครามการรบระหว่างไทยกับพม่าครั้งที่ 22   เหตุการณ์ของขุนรองปลัดชูนี้ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนกระทั่ง เมืองราชบุรีของเราได้เสียให้แก่พม่าอยู่เป็นเวลาหลายวัน  โดยเรื่องราวสงครามครั้งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในหลายแห่ง ผู้จัดทำได้พยายามรวบรวมสรุปได้พอสังเขป ดังนี้     


เมื่อสมเด็จพระพระบรมราชาที่ 3 (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์)  ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ทันถึงปี ก็มีศึกพม่ามาติดพระนคร ซึ่งแต่เดิมพม่าและไทยยังคงเป็นไมตรีกันอยู่ แต่ด้วยเหตุที่ไทยไม่ให้ความร่วมมือในการจับขุนนางมอญที่พาพวกไปปล้นทรัพย์เมืองสิเรียมของพม่าแล้วหนีไปทางอินเดีย แต่เรือถูกพายุหลงทางมาทางมะริด พม่าขอให้ไทยช่วยจับส่งพม่า แต่ไทยกลับทำเฉย เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญากษัตริย์ของพม่าทรงขัดเคืองไทยยิ่งนัก

ปีพุทธศักราช 2302 พระเจ้าอลองพญา มีรับสั่งให้มังระ ราชบุตรคนที่ 2 และมังฆ้องนรธา ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองทวายซึ่งแข็งเมืองอยู่ แล้วจึงเดินทัพเลยต่อมาเข้าตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีของไทย โดยอ้างว่าไทยทำให้เสียไมตรีโดยไม่ยอมจับผู้ร้ายขุนนางมอญส่งให้

การตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีเป็นไปโดยง่ายได้ ยังความประหลาดใจให้พระเจ้าอลองพญาว่า "เหตุใดทัพไทยจึงอ่อนแอนัก" และคิดกำเริบว่ายกทัพมาแล้วก็ลองเข้าตีกรุงศรีอยุธยาด้วยเลย  จึงสั่งให้จัดทัพที่ตะนาวศรี แล้วเดินทัพผ่านลงมาทางด่านสิงขร เข้าตีลงมาเรื่อยๆ

ในตอนที่กรุงศรีอยุธยา ได้รับทราบข่าวจากพระยาตะนาวศรี ว่ามีศึกพม่ามาประชิดเมือง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีรับสั่งให้จัดกองทัพไปรักษาเมืองมะริด ดังนี้

ทัพหลัก
  • พระยาราชรองเมือง ตำแหน่งว่าที่พระยายมราช เป็นแม่ทัพถือพล 3,000 คน
  • พระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้า
  • พระยาราชบุรี เป็นยกกระบัตร 
  • พระยาสมุทรสงคราม เป็นเกียกกาย
  • พระธนบุรี กับพระนนทบุรี เป็นกองหลัง
ทัพหนุน : พระยารัตนธิเบศ ตำแหน่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวัง คุมกองทัพจำนวน 2,000 คน เป็นกองหนุน โดยมีขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญเป็น ผู้ทรงวิทยาอาคม มีชื่อเสียงเลื่องลือในการรบ และคงกระพันชาตรี เข้ามารับอาสาพร้อมกับไพร่ 400 คน ขอไปรบกับพม่า  ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นกองอาทมาต (หน่วยรบพิเศษ) ร่วมทัพมากับพระยารัตนาธิเบศ

ทัพของพระยายมราช เข้าปะทะกับทัพของพม่าที่เมืองแก่งตุม (ปลายแม่น้ำตะนาวศรี) ด้วยกำลังที่น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยร่นไม่เป็นขบวน พระยารัตนาธิเบศตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ เมืองกุยบุรี แจ้งว่าทัพพม่ายกพลมาเป็นจำนวนมาก อาจต้านทานไว้ไม่ไหว จึงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่พล และเร่งอพยพผู้คนหลบหนีพม่า และหวังรวบรวมผู้คนเพื่อไปตั้งมั่นรับพม่าที่ชานพระนคร

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู
ที่วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย
อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

ที่มา : วิกิพีเดีย
ครั้งนั้น ขุนรองปลัดชู ได้อาสาขอต้านทานทัพพม่าด้วยกำลังพลเพียงสี่ร้อยนาย เพื่อยันทัพข้าศึกและเปิดทางให้รี้พลได้หลบหนี พระยารัตนาธิเบศ จึงได้แบ่งไพร่ให้อีกห้าร้อยนายไปช่วยกองกำลังของขุนรองปลัดชู ในการต่อต้านทัพพม่า

ณ  ชายหาดหว้าขาวชายทะเล (บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อย) เวลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูพร้อมกับเหล่าทหาร ตั้งท่ารอทัพพม่าอยู่ด้วยจิตใจห้าวหาญ เมื่อเห็นกองทัพพม่าก็กรูกันออกโจมตีทัพหน้าของพม่ารบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอนกัน แทงพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก และตัวขุนรองปลัดชูท่านถือดาบสองมือ วิ่งเข้าท่ามกลางข้าศึก ฟันพม่าล้มตายก่ายกองดั่งขอนไม้

ด้วยกำลังพลเก้าร้อยต่อทัพพม่านับหมื่นที่ยัดเยียดหนุนเนื่องกันเข้ามาต่อรบได้รบกันอยู่ตั้งแต่เข้าจนถึงเวลาเที่ยง ขุนรองปลัดชูไม่คิดถอยหนี ต่อสู้ทัพพม่าจนเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลัง ถูกกองทัพพม่าใช้พลทัพช้างขับช้างเข้าเหยียบจนล้มตาย ต่างพากันถอยร่นลงทะเล จนจมน้ำทะเลตายเสียสิ้น กองทัพพม่าจึงมีชัยชนะ (ในบันทึกของพม่าในกาลต่อมากล่าวว่า การตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ได้มีการต่อสู้กองทัพของกรุงศรีอยุธยา ที่ช่องเขาแคบๆ ริมทะเลอย่างประจัญบาน ดุเดือด ก่อนเข้าเมืองกุย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี)

พระยารัตนาธิเบศจึงได้เร่งเลิกทัพหนีมากับทัพพระยายมราช กลับมาถึงพระนครขึ้นเฝ้ากราบทูลว่า ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย

ฝ่ายทัพพม่าเมื่อมีชัยชนะเหนือกองทหารเก้าร้อยคน ก็เหนื่อยอ่อนหยุดทัพพักผ่อน ก่อนเดินทัพเข้าเมืองกุย เมืองปราณ เมืองชะอำ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี โดยไม่มีหัวเมืองใดลุกขึ้นสู้รบกับทัพพม่าเลย 

พระเจ้าอลองพญา ทราบข่าวว่ากองทัพไทยรบพุ่งอ่อนแอ จึงคิดจัดทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยจัดเตรียมทัพที่เมืองตะนาวศรี ให้มังระ ราชบุตรเป็นทัพหน้า พระเจ้าอลองพญาเป็นทัพหลวง ยกเข้ามาทางด่านสิงขร

เสียเมืองราชบุรี
ทางด้านเมืองกาญจนบุรี ทราบข่าวว่าทัพพม่าจะยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทางหนึ่ง จึงแจ้งข่าวไปยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้จัดเกณฑ์กองทัพ ดังนี้
  • พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพ ถือพล 10,000 คน ยกไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี
  • พระยาพระคลัง คุมกองทัพ 10,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี
ต่อมาเมืองกำแพงเพชรก็แจ้งข่าวอีกว่า พม่าจะยกทัพมาทางด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้ เจ้าพระยาอภัยราชา เป็นแม่ทัพยกไปคอยตั้งรับทัพพม่าที่ด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง

เมื่อกองทัพของมังฆ้องนรธา เดินทางมาถึงเมืองราชบุรี ได้สู้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนฝ่ายพม่าเกือบจะแตกพ่ายแพ้อยู่แล้ว กองทัพมังระ ยกตามมาทันจึงเข้าช่วยและระดมตีกองทัพไทยที่เมืองราชบุรีจนแตกหนีพ่ายแพ้

พระเจ้าอลองพญาหยุดรวบรวมพลอยู่ที่เมืองราชบุรี 4 วัน
จึงเดินทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่า "เสียเมืองราชบุรีแก่ข้าศึกแล้ว" ก็เกิดโกลาหล สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เกรงจะเกิดจลาจล จึงรับสั่งให้เชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร  พระอนุชาให้ลาผนวช แล้วมอบราชการทั้งปวงให้ทรงบัญชาการแทนพระองค์

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้เตรียมการป้องกันพระนคร โดยโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนา เป็นแม่ทัพ และให้พระยายมราช, พระยารัตนธิเบศ และพระยาราชรังสรรค์ เป็นนายกองคุมพล 20,000 คนออกไปตั้งรับทัพพม่าที่เขตต่อเมืองสุพรรณบุรี

ทัพพม่าและทัพเจ้าพระยามหาเสนา ปะทะกันที่ริมลำน้ำจักรราชในเขตบ้านทุ่งนาตาลาน (เขตต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองสุพรรณบุรี)  แต่ทัพพม่ามีกำลังมากกว่า กองทัพไทยต้องแตกหนีพ่ายไป เจ้าพระยามหาเสนาถูกอาวุธตายในที่รบ พระยายมราชถูกอาวุธบาดเจ็บและกลับไปตายในกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าก็เคลื่อนทัพยกเข้าติดพระนคร

หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน อาสาพาพวกจีนจำนวน 2,000 คน ออกตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น แต่ถูกพม่าตีแตกกลับมา พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และยิงด้วยปืนน้อยปืนใหญ่ ฝ่ายไทยเพียงตั้งรับอยู่ในพระนคร

ปรากฏว่า พระเจ้าอลองพญา ทรงบัญชาการรบและจุดปืนใหญ่เอง เผอิญปืนใหญ่แตกถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัสประชวรหนัก กองทัพพม่าจึงต้องเลิกทัพกลับไปทางด่านแม่ละเมา ในวันขึ้น 2 ค่ำเดือนหก พ.ศ.2303

แต่พระเจ้าอลองพญาได้สิ้นพระชนม์ในเขตแดนเมืองตาก

*************************************************

ที่มาข้อมูล  :
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 241-244) (ดูภาพหนังสือ)
  • _______. (2550). ย้อนรอยสองราชธานี - กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา. ไม่ทราบที่พิมพ์. (หน้า 155-156)
  • ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล .(2551).องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย: วีรกรรมขุนรองปลัดชู. [Online]. Available :http://www.aownoi.go.th/webpage/slogan.php?sg=5. [2554 กรกฎาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ "ปมาสี่สี่"

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญเรื่อง "ปมาสี่สี่" แปลโดยอาจารย์จวน เครือวิชฌยาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมของชาวมอญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานคติธรรมเรื่องนี้ ความว่า.......

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้าชื่อ "ตัณหังกร" โน้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า "ป่าชัญญวนา" มีภูเขาใหญ่เทือกหนึ่งชื่อว่า "วิชฌุบรรพต" มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า "ทัสสนะสาคร" ในป่าใหญ่แห่งนั้น มีสัตว์ต่างๆ ดังนี้
  • ช้างโขลงใหญ่ จำนวน 500 เชือก ณ ชายป่าแห่งนั้น
  • มีกบฝูงใหญ่  จำนวน 500 ตัว ในแม่น้ำใหญ่ทัสสนะสาคร
  • มีปูฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว แถบเชิงเขาแห่งนั้น
  • มีงูอาศัยอยู่อีก 500 ตัว บนยอดเขาใหญ่วิชฌุบรรพต
  • มีครุฑฝูงใหญ่พักอาศัยอยู่ 500 ตัว มีพระโพธิสัตว์เป็นพญาครุฑปกครองครุฑทั้งหลายฝูงนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง โขลงช้างทั้ง 500 ตัว ได้พากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ปูทั้ง 500 ตัวซึ่งอยู่ในแม่น้ำนั้นก็จับโขลงช้างนั้นกินเสียหมด รอดชีวิตแต่นางพญาช้างเผือกเชือกเดียวซึ่งมีท้องแก่ครบกำหนดวันคลอด ที่ไม่สามารถเดินทางรวมไปกับโขลงได้ คลอดลูกออกมาเชือกหนึ่ง แม่ช้างก็ได้เลี้ยงดูกันต่อมา

เมื่อปู 500 ตัวกินช้างเสียหมดแล้ว ปูฝูงนั้นก็ไม่สามารถหาอาหารอะไรมากินได้อีก จึงพากันขึ้นจากแม่น้ำขึ้นบนฝั่งเพื่อหาอาหารกิน  ฝ่ายกบ 500 ตัวที่อยู่บนฝั่งเห็นปูขึ้นมาจากแม่น้ำ ก็จับกินเป็นอาหารหมดสิ้น  เว้นแต่นางพญาปูตัวหนึ่งไปไม่ไหวท้องแก่ครบกำหนดคลอดจึงรอดชีวิตและคลอดลูกปูออกมาตัวหนึ่ง

เมื่อกบ 500 ตัวกินปูหมดแล้วก็ไม่มีอาหารอื่นในที่แห่งนั้นกินอีก กบจึงพากันไปหาอาหารกินแถบเชิงเขาลูกนั้น งู 500 ตัว เห็นปะเหมาะอาหารมาถึงปาก จึงจับกบฝูงนั้นกินเสียหมด เหลือนางพญากบตัวหนึ่งรอดชีวิตไม่ได้ไปเพราะคลอดลูกกบออกมาตัวหนึ่ง

ครั้นเมื่องูทั้งหลายกินกบหมดแล้ว ก็ไม่มีอาหารที่จะกินต่อไป จึงหากันออกไปหาอาหารกินเชิงภูเขา  ครุฑทั้งฝูงที่อยู่บนยอดเขาแห่งนั้นเห็นงู  จึงโผบินลงมาจับงูกินเสียสิ้น เว้นนางพญางูตัวเดียวออกลูกอยู่ไม่ได้ไป จึงรอดจากความตาย

ภาพจำลองประกอบบทความ

ลูกช้าง ลูกปู  ลูกกบ และลูกงู 
สัตว์ทั้งสี่นี้ ผู้เป็นแม่นางพญาต่างๆ ก็หมั่นพร่ำสอนลูกของตนอยู่เป็นประจำว่า

"ลูกเอย เจ้าอย่าได้ท่องเที่ยวไปในที่ภูมิประเทศนั้นๆ นะลูก เพราะมีศัตรูคอยจ้องปองร้ายจับกิน พวกพ่อแม่พี่น้องและบริวารเราทั้งหลายถูกมันจับกินไปหมดแล้ว  ขอลูกจงอย่าไปเล่น หลีกเร้นไปให้ไกลในแห่งนั้นนะลูก"

ข้อความนี้แม่ก็ไม่เว้นพร่ำสอนลูกตนตลอดเวลา ต่อมามิช้านาน ลูกสัตว์ทั้วสี่ตัวก็เจริญเติบโตขึ้น มีพละกำลังวังชามากกล้าแข็งเต็มตัว ต่างคิดกำเริบเหมือนกันว่า

 "ที่แม่ของเราห้ามเรานั้น เพราะในสถานที่นั้นมีข้าศึกศัตรูของเรา เราจึงอยากพบเห็นศัตรูตัวนั้นแท้ๆ "

จึงฝ่าฝืนคำสั่งสอนของแม่ ขัดใจแม่ออกไปท่องเที่ยวเล่นตามสถานที่แห่งนั้น

ในบรรดาลูกสัตว์ทั้งสี่ มีลูกช้างลงไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ลูกปูฝืนคำสั่งสอนของแม่ขึ้นไปท่องเที่ยวเล่นบนฝั่งแม่น้ำ ลูกกบฝืนคำสั่งสอนของแม่ออกจากใบไม้ กิ่งไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกงูก็เช่นกัน ฝืนคำสั่งสอนของแม่ท่องเที่ยวเลื้อยขึ้นไปบนยอดภูเขา

ลูกช้างที่ท่องเที่ยวเล่นไปในแม่น้ำถูกลูกปูเอาก้ามหนีบเอาเท้าไว้ ด้วยความแข็งแกร่งรีบลากลูกช้างขึ้นบนฝั่งทั้งที่หนีบเท้าอยู่  ครั้นลูกกบเห็นเข้าก็วิ่งไล่ตามลูกปู ลูกปูตกใจกลัวลูกกบ จึงปล่อยลูกช้าง  ลูกงูเห็นลูกกบวิ่งไล่จะจับกิน ลูกกบตกใจกลัวลูกงู  จึงปล่อยลูกปูไป ครุฑที่อยู่บนยอดเขามองลงไปเห็นลูกงู  จึงบินโฉบลงมาเฉี่ยวลูกงูกิน  ลูกงูตกใจกลัวครุฑจึงได้ปล่อยลูกกบวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้

เหตุที่เกิดนี้ เพราะลูกสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ ไม่เชื่อฟังแม่จึงตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ดหลาบ ลำพองใจของลูกสัตว์ทั้งสี่ตัวนั้นเลย

ลูกช้างมันกล่าวว่า "แม่น้ำที่เราลงไปเล่นปูก็หนีบเท้าเรา แต่ปูถูกกบไล่จับกิน เราก็พ้นจากอันตราย ปูคงกลัวกบจะไม่กล้ามาหนีบเท้าเราอีก"

ลูกปูกล่าวในทำนองเดียวกันว่า "ในสถานที่เราท่องเที่ยวไปนั้นมีงู กบคงไม่กล้ามาอีกแล้ว"

ลูกกบกล่าวว่า "ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น มีครูฑอยู่ งูหรือจะกล้ามาอีก"

ลูกงูกล่าวว่า " ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น ครุฑหรือจะมาได้ทุกๆ วัน"

เมื่อเป็นอย่างว่า สถานที่นั้นก็ไปได้เสมอ ลูกสัตว์ทั้งสี่ลำพองใจจึงไปสถานที่นั้นๆ อีก ครั้นลูกช้างไปถึงแม่น้ำ ก็มีความเกรงกลัวจึงเพียงแต่เอางวงแกว่งน้ำเล่นก่อน ในขณะนั้นเองลูกปูก็หนีบได้งวงลูกช้างลากจูงขึ้นไปบนฝั่ง ลูกปูก็กินลูกช้างเสียเป็นอาหารบนฝั่งนั้น เมื่อลูกช้างเข้าไปในท้อง เกิดหนักท้อง หนักตัว ลูกปูวิ่งไปได้ไม่รวดเร็ว ลูกกบเห็นลูกปูเข้าก็กระโดดมาจับลูกปูกิน  ทั้งช้างทั้งปูเข้าไปอยู่ในท้อง ลูกกบตัวหนักมากกระโดดไม่ไหว ฝ่ายลูกงูเห็นลูกกบก็จับลูกกบกินเสียอีกต่อหนึ่งอีก เมื่อทั้งช้าง ปู กบ เข้าไปอยู่ในท้องลูกงู  มีน้ำหนักมากเหลือกำลังที่จะเลื้อยต่อไปได้ ครุฑเห็นโอกาสเหมาะโฉบเฉี่ยวเอาไปกินเสียทั้งหมดเลย

จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งสี่ มีความโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจ  ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่จึงตกเป็นอาหารของครุฑ 

บุคคลใดในโลกนี้
บิดามารดาก่อทุกข์ยากเสียหายให้บุตรธิดานั้น ไม่มี
ปู่ ย่า ตา ยาย สร้างความทุกข์ลำบากเสียหายให้แก่ลูกหลานเหลนนั้น ไม่มี
พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ให้ความทุกเข็ญแก่ศิษยานุศิษย์ ไม่มี
กัลยาณมิตรหรือบัณฑิตที่แนะนำสั่งสอนเราให้ได้ดี คิดที่จะให้ทุกข์ยากและความเสียหายก็ไม่มี
มีแต่เจตนาที่มุ่งหวังให้เรามีความสุขความเจริญเท่านั้น

บุคคลใดก็ตามผู้เป็นบุตรธิดา ฝ่าฝืนจิตใจหรือไมเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา
ลูกหลานเหลนฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของปู่ ย่า ตา ยาย
ลูกศิษย์ฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระอุปชฌาย์ อาจารย์
มิตรสหายไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของกัลยาณมิตรหรือบัณฑิต
บุคคลเหล่านี้มีแต่จะได้รับความทุกข์ยากเสียหายแน่แท้

ดังตัวอย่างสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ก็ถึงตายในที่สุด
บิดามารดา ท่านสั่งสอนอย่างไรไม่ควรฝ่าฝืนหรือต่อต้านละเมิดคำสั่งสอนของท่าน
เราปฏิบัติตามแล้วไซร้ ความสุขสราญสดใส เราจะได้รับอย่างแน่แท้


*******************************************  
ที่มา
จวน  เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

นิทานชาวกะเหรี่ยง "หนั่งแว่น"

นิทานเรื่อง "หนั่งแว่น" นี้ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนลูกหลาน ในบทความนี้เป็นการเล่าโดย นางไก่ ทึงลึง อายุ 67 ปี (เมื่อ พ.ศ.2543) บ้านอยู่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบรุี  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานเรื่องนี้ ความว่า.......

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา :
http://board.postjung.com/
m/532269.html
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งนามว่า "หนั่งแว่น" ซึ่งเป็นคนขยัน  วันหนึ่งเขาขึ้นไปตัดต้นไม้ที่มีตีนเขาแล้วจุดไฟ  เขาคิดจะทำไร่ จึงได้เอาข้าวโพดไปปลูก และเมื่อข้าวโพดออกลูก เสือสมิงจึงกินหมด  หนั่งแว่นจึงโกรธมาก ได้เอากับดักมาดักเสือสมิง เมื่อดักเสร็จแล้วก็กลับบ้านไป  

เมื่อเสือสมิงมากินข้าวโพด ไม่ทันมองลงพื้นจึงโดนกับดักของหนั่งแว่น และเสือสมิงโกรธมากจึงถามต้นไม้ว่า "ใครเอากับดักมาวางดักตน" ต้นไม้จึงบอกว่า "คนที่มาดักกับดักนี้ชื่อหนั่งแว่น" เสือสมิงอาฆาตหนั่งแว่นมากจึงบอกพรรคพวกว่าตนจะคอยกินหนั่งแว่นตรงที่นี่ละ

วันต่อมา ขณะที่หนั่งแว่นเดินลงบันไดไปนั้น ได้จามออกมาระหว่างก้าวลงบันได ซึ่งโบราณถือว่า "จามขณะลงบันไดให้หยุดการเดินทางสามวันเพราะจะเกิดเรื่องร้าย" หนั่งแว่นจึงต้องอยู่บ้านสามวัน วันสุดท้ายเขาก็ไม่ถือจึงคิดจะไปที่ไร่ ขณะที่ก้าวลงบันไดนั้นยังจามอยู่ เขาก็เลยไปไม่สนใจคำถือแล้ว

เมื่อมาถึงไร่ หนั่งแว่นก็ได้ยินเสียงเสือสมิงหาวดัง ฮ้าว...และพูดขึ้นว่า เฝ้าหนั่งแว่นมาเจ็ดคืนแล้วนะแต่ไม่เห็นเขามาเลย เราควรกลับได้แล้วนะ หนั่งแว่นเมื่อได้ยินเสียงเสือสมิง และเห็นตัวเสือสมิงก็กลัวจึงรีบวิ่งกลับบ้าน พอถึงบ้านก็พูดกับตัวเองว่า "ถ้าเราไปไร่เร็วกว่านี้เราคงโดนเสือสมิงกินแน่ๆ เลย"

หลังจากนั้นหนั่งแว่นก็ไม่ไปที่ไร่ข้าวโพดอีกเพราะกลัวเสือสมิง แล้วเขาก็ไปทำไร่ที่อื่น เขาดำเนินชีวิตไปด้วยความสุขหลังจากไปทำไร่ที่อื่น


**********************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 162). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานชาวโพหัก "ช้อนกะลา"

นิทานเรื่อง "ช้อนกะลา" นี้ เป็นวรรณกรรมของชาวโพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนลูกหลาน ในบทความนี้เป็นการเล่าโดย นางสมเกลี้ยง พงษ์กลัด ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานเรื่องนี้ ความว่า.......


ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.sri.cmu.ac.th/
~postharvest/4/4_3_5.htm
มีชายหนุ่มสองคน ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาก
โดยที่คนหนึ่งมีฐานะร่ำรวย แต่คนหนึ่งฐานะยากจน
และด้วยความจน...ชายหนุ่มจึงนำภรรยาของตนไปจำนำไว้กับเพื่อนที่รวยกว่า

วันหนึ่งหนุ่มเศรษฐี ได้เชื้อเชิญหนุ่มที่จนมาทานข้าวด้วย
โดยเอาช้อนทำจากกะลามาให้เพื่อนใช้
จึงทำให้เขารู้สึกน้อยใจในโชคชะตา
จึงเก็บเอาช้อนกะลามาไว้ที่บ้าน

เมื่อทุกครั้งที่เขามองเห็นช้อนนี้
เขาจึงอดทนทำงานอย่างขยันขันแข็งจนร่ำรวยต่อไปในที่สุด
จนได้ภรรยาของเขากลับคืนมา......

***************************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 162). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในราชบุรี

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดราชบุรีนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
  2. กลุ่มนิทาน - วรรณกรรมศาสนา
  3. กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์

กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
พบในกลุ่มชนเกือบทั้งหมดคือ ลาวเวียง ไทยโพหัก  เขมรลาวเวียง ไทยวน  กะเหรี่ยง ในเนื้อเรื่องของนิทานจะเป็นเรื่องเล่าขำขันบ้าง   เรื่องประเภทสองแง่สองง่ามบ้าง เพื่อให้ผู้เล่าและผู้ฟังได้สนุกสนานร่วมกัน  นิทานพื้นบ้านเหล่านี้มักจะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไปบ้าง 

ส่วนปริศนาคำทายมักจะฟังดูหยาบคาย หรือชวนให้คิดว่าคำตอบหยาบคาย เป็นประเภทคำถามสองแง่สองง่าม เช่น "อะไรเอ่ย  จั๊ก  กะดอย มีหมอย 2 เส้น"  คำตอบคือ "ด้ายเย็บผ้า" คำทายฟังดูหยาบคายแต่คำตอบกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำหยาบคายแต่อย่างใด 

กลุ่มนิทานปริศนาคำทายนี้มักจะเล่าหรือทายกันในเวลาหลังอาหารเย็น เป็นการผ่อนคลายและสนุกสนาร่วมกัน

กลุ่มนิทาน-วรรณกรรมศาสนา
พบในกลุ่มชาวบ้านโพหัก  มอญ และลาวโซ่ง โดยเฉพาะมอญนั้น จะไม่พบนิทานประเภทสนุกสนานเฮฮาหรือสองแง่สองง่าม จะมีแต่นิทานอิงธรรมะหรือนิทานที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีพุทธศาสนา ในการเล่าเรื่องวรรณศาสนา ผู้เล่ามักเป็นผู้ที่มีการศึกษาและมักเล่าให้ฟังในเวลาที่มีการชุมนุมกันหลังอาหารเย็น

เรื่องที่เล่าคือเรื่องนิทานในพระไตรปิฎกที่มีการดัดแปลงให้เป็นภาษาที่ฟังง่ายแต่อิงหัวข้อธรรมมะ   ซึ่งเป็นการสอนให้กับผู้ฟังไปในตัว มีการตัดตอน ย่อเรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย เพราะนิทานในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดมาก เนื้อเรื่องจึงยาว และเข้าใจยาก ฉะนั้นจึงมีการดัดแปลงกันนิดหน่อยเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกสนาน

กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์
พบในกลุ่มชนบ้านโพหัก เป็นตำนานเล่าเรื่องของหมู่บ้านว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด ใครเป็นผู้นำให้มีการสร้างบ้านแปลงเมืองในสถานที่นี้  ตำนานประเภทนี้มักจะไม่มีการบันทึก เพียงแต่เป็นการเล่าปากต่อปาก

ส่วนนิทานอิงประวัติศาสตร์พบในกลุ่มชาวจีน นิทานประเภทนี้ได้แก่เรื่อง สามก๊ก  เลียดก๊ก ไซอิ๋ว ฯลฯ กลุ่มคนจีนเกือบทั้งหมดจะทราบรายละเอียดเป็นอย่างดี เพราะต้องเรียนเรื่องเหล่านี้ผ่านมาตั้งแต่เด็ก หรือถ้าไม่เรียนคนสูงอายุก็มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอ  วรรณกรรมประเภทนี้ได้ถูกบันทึกไว้  จึงไม่พบว่าคลาดเคลื่อนหรือเลือนหายไปมากนัก  จะเป็นก็แต่การดัดแปลงเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาเข้มข้นยิ่งขึ้นเท่านั้น

สรุปในภาพรวม
วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี จะมีลักษณะที่คล้ายกันโดยโครงเรื่อง  แต่รายละเอียดอาจจะผิดแผกไปบ้าง โดยเฉพาะประเภทนิทานพื้นบ้าน และปริศนาคำทาย  เพราะไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนวรรณกรรมศาสนาและนิทานอิงประวัติศาสตร์ มักจะไม่คลาดเคลื่อนเพราะได้รับการบันทึก  เพียงแต่อาจจะมีการตัดทอนย่อเรื่องบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งส่วนสำคัญของเรื่อง เช่นหัวข้อธรรมมะ เป็นต้น


******************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 160-161). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>