แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มอญ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มอญ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ "ปมาสี่สี่"

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญเรื่อง "ปมาสี่สี่" แปลโดยอาจารย์จวน เครือวิชฌยาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมของชาวมอญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานคติธรรมเรื่องนี้ ความว่า.......

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้าชื่อ "ตัณหังกร" โน้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า "ป่าชัญญวนา" มีภูเขาใหญ่เทือกหนึ่งชื่อว่า "วิชฌุบรรพต" มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า "ทัสสนะสาคร" ในป่าใหญ่แห่งนั้น มีสัตว์ต่างๆ ดังนี้
  • ช้างโขลงใหญ่ จำนวน 500 เชือก ณ ชายป่าแห่งนั้น
  • มีกบฝูงใหญ่  จำนวน 500 ตัว ในแม่น้ำใหญ่ทัสสนะสาคร
  • มีปูฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว แถบเชิงเขาแห่งนั้น
  • มีงูอาศัยอยู่อีก 500 ตัว บนยอดเขาใหญ่วิชฌุบรรพต
  • มีครุฑฝูงใหญ่พักอาศัยอยู่ 500 ตัว มีพระโพธิสัตว์เป็นพญาครุฑปกครองครุฑทั้งหลายฝูงนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง โขลงช้างทั้ง 500 ตัว ได้พากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ปูทั้ง 500 ตัวซึ่งอยู่ในแม่น้ำนั้นก็จับโขลงช้างนั้นกินเสียหมด รอดชีวิตแต่นางพญาช้างเผือกเชือกเดียวซึ่งมีท้องแก่ครบกำหนดวันคลอด ที่ไม่สามารถเดินทางรวมไปกับโขลงได้ คลอดลูกออกมาเชือกหนึ่ง แม่ช้างก็ได้เลี้ยงดูกันต่อมา

เมื่อปู 500 ตัวกินช้างเสียหมดแล้ว ปูฝูงนั้นก็ไม่สามารถหาอาหารอะไรมากินได้อีก จึงพากันขึ้นจากแม่น้ำขึ้นบนฝั่งเพื่อหาอาหารกิน  ฝ่ายกบ 500 ตัวที่อยู่บนฝั่งเห็นปูขึ้นมาจากแม่น้ำ ก็จับกินเป็นอาหารหมดสิ้น  เว้นแต่นางพญาปูตัวหนึ่งไปไม่ไหวท้องแก่ครบกำหนดคลอดจึงรอดชีวิตและคลอดลูกปูออกมาตัวหนึ่ง

เมื่อกบ 500 ตัวกินปูหมดแล้วก็ไม่มีอาหารอื่นในที่แห่งนั้นกินอีก กบจึงพากันไปหาอาหารกินแถบเชิงเขาลูกนั้น งู 500 ตัว เห็นปะเหมาะอาหารมาถึงปาก จึงจับกบฝูงนั้นกินเสียหมด เหลือนางพญากบตัวหนึ่งรอดชีวิตไม่ได้ไปเพราะคลอดลูกกบออกมาตัวหนึ่ง

ครั้นเมื่องูทั้งหลายกินกบหมดแล้ว ก็ไม่มีอาหารที่จะกินต่อไป จึงหากันออกไปหาอาหารกินเชิงภูเขา  ครุฑทั้งฝูงที่อยู่บนยอดเขาแห่งนั้นเห็นงู  จึงโผบินลงมาจับงูกินเสียสิ้น เว้นนางพญางูตัวเดียวออกลูกอยู่ไม่ได้ไป จึงรอดจากความตาย

ภาพจำลองประกอบบทความ

ลูกช้าง ลูกปู  ลูกกบ และลูกงู 
สัตว์ทั้งสี่นี้ ผู้เป็นแม่นางพญาต่างๆ ก็หมั่นพร่ำสอนลูกของตนอยู่เป็นประจำว่า

"ลูกเอย เจ้าอย่าได้ท่องเที่ยวไปในที่ภูมิประเทศนั้นๆ นะลูก เพราะมีศัตรูคอยจ้องปองร้ายจับกิน พวกพ่อแม่พี่น้องและบริวารเราทั้งหลายถูกมันจับกินไปหมดแล้ว  ขอลูกจงอย่าไปเล่น หลีกเร้นไปให้ไกลในแห่งนั้นนะลูก"

ข้อความนี้แม่ก็ไม่เว้นพร่ำสอนลูกตนตลอดเวลา ต่อมามิช้านาน ลูกสัตว์ทั้วสี่ตัวก็เจริญเติบโตขึ้น มีพละกำลังวังชามากกล้าแข็งเต็มตัว ต่างคิดกำเริบเหมือนกันว่า

 "ที่แม่ของเราห้ามเรานั้น เพราะในสถานที่นั้นมีข้าศึกศัตรูของเรา เราจึงอยากพบเห็นศัตรูตัวนั้นแท้ๆ "

จึงฝ่าฝืนคำสั่งสอนของแม่ ขัดใจแม่ออกไปท่องเที่ยวเล่นตามสถานที่แห่งนั้น

ในบรรดาลูกสัตว์ทั้งสี่ มีลูกช้างลงไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ลูกปูฝืนคำสั่งสอนของแม่ขึ้นไปท่องเที่ยวเล่นบนฝั่งแม่น้ำ ลูกกบฝืนคำสั่งสอนของแม่ออกจากใบไม้ กิ่งไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกงูก็เช่นกัน ฝืนคำสั่งสอนของแม่ท่องเที่ยวเลื้อยขึ้นไปบนยอดภูเขา

ลูกช้างที่ท่องเที่ยวเล่นไปในแม่น้ำถูกลูกปูเอาก้ามหนีบเอาเท้าไว้ ด้วยความแข็งแกร่งรีบลากลูกช้างขึ้นบนฝั่งทั้งที่หนีบเท้าอยู่  ครั้นลูกกบเห็นเข้าก็วิ่งไล่ตามลูกปู ลูกปูตกใจกลัวลูกกบ จึงปล่อยลูกช้าง  ลูกงูเห็นลูกกบวิ่งไล่จะจับกิน ลูกกบตกใจกลัวลูกงู  จึงปล่อยลูกปูไป ครุฑที่อยู่บนยอดเขามองลงไปเห็นลูกงู  จึงบินโฉบลงมาเฉี่ยวลูกงูกิน  ลูกงูตกใจกลัวครุฑจึงได้ปล่อยลูกกบวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้

เหตุที่เกิดนี้ เพราะลูกสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ ไม่เชื่อฟังแม่จึงตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ดหลาบ ลำพองใจของลูกสัตว์ทั้งสี่ตัวนั้นเลย

ลูกช้างมันกล่าวว่า "แม่น้ำที่เราลงไปเล่นปูก็หนีบเท้าเรา แต่ปูถูกกบไล่จับกิน เราก็พ้นจากอันตราย ปูคงกลัวกบจะไม่กล้ามาหนีบเท้าเราอีก"

ลูกปูกล่าวในทำนองเดียวกันว่า "ในสถานที่เราท่องเที่ยวไปนั้นมีงู กบคงไม่กล้ามาอีกแล้ว"

ลูกกบกล่าวว่า "ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น มีครูฑอยู่ งูหรือจะกล้ามาอีก"

ลูกงูกล่าวว่า " ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น ครุฑหรือจะมาได้ทุกๆ วัน"

เมื่อเป็นอย่างว่า สถานที่นั้นก็ไปได้เสมอ ลูกสัตว์ทั้งสี่ลำพองใจจึงไปสถานที่นั้นๆ อีก ครั้นลูกช้างไปถึงแม่น้ำ ก็มีความเกรงกลัวจึงเพียงแต่เอางวงแกว่งน้ำเล่นก่อน ในขณะนั้นเองลูกปูก็หนีบได้งวงลูกช้างลากจูงขึ้นไปบนฝั่ง ลูกปูก็กินลูกช้างเสียเป็นอาหารบนฝั่งนั้น เมื่อลูกช้างเข้าไปในท้อง เกิดหนักท้อง หนักตัว ลูกปูวิ่งไปได้ไม่รวดเร็ว ลูกกบเห็นลูกปูเข้าก็กระโดดมาจับลูกปูกิน  ทั้งช้างทั้งปูเข้าไปอยู่ในท้อง ลูกกบตัวหนักมากกระโดดไม่ไหว ฝ่ายลูกงูเห็นลูกกบก็จับลูกกบกินเสียอีกต่อหนึ่งอีก เมื่อทั้งช้าง ปู กบ เข้าไปอยู่ในท้องลูกงู  มีน้ำหนักมากเหลือกำลังที่จะเลื้อยต่อไปได้ ครุฑเห็นโอกาสเหมาะโฉบเฉี่ยวเอาไปกินเสียทั้งหมดเลย

จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งสี่ มีความโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจ  ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่จึงตกเป็นอาหารของครุฑ 

บุคคลใดในโลกนี้
บิดามารดาก่อทุกข์ยากเสียหายให้บุตรธิดานั้น ไม่มี
ปู่ ย่า ตา ยาย สร้างความทุกข์ลำบากเสียหายให้แก่ลูกหลานเหลนนั้น ไม่มี
พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ให้ความทุกเข็ญแก่ศิษยานุศิษย์ ไม่มี
กัลยาณมิตรหรือบัณฑิตที่แนะนำสั่งสอนเราให้ได้ดี คิดที่จะให้ทุกข์ยากและความเสียหายก็ไม่มี
มีแต่เจตนาที่มุ่งหวังให้เรามีความสุขความเจริญเท่านั้น

บุคคลใดก็ตามผู้เป็นบุตรธิดา ฝ่าฝืนจิตใจหรือไมเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา
ลูกหลานเหลนฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของปู่ ย่า ตา ยาย
ลูกศิษย์ฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระอุปชฌาย์ อาจารย์
มิตรสหายไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของกัลยาณมิตรหรือบัณฑิต
บุคคลเหล่านี้มีแต่จะได้รับความทุกข์ยากเสียหายแน่แท้

ดังตัวอย่างสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ก็ถึงตายในที่สุด
บิดามารดา ท่านสั่งสอนอย่างไรไม่ควรฝ่าฝืนหรือต่อต้านละเมิดคำสั่งสอนของท่าน
เราปฏิบัติตามแล้วไซร้ ความสุขสราญสดใส เราจะได้รับอย่างแน่แท้


*******************************************  
ที่มา
จวน  เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

..คือ มอญแห่งบ้านม่วง

สัมผัสกลิ่นอายอารยธรรมมอญ
แห่งชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ดูที่ตั้งและพิกัด)

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  อาหารมอญเลิศรส
สดสวยเส้นสาย  ลายผ้ามอญทอมือ  เลื่อระบือรำหงส์
พระมุเตาสถูปสถิตคง  สดับธรรมคำสวดมอญ

ดูภาพอื่นๆ
ใครคนที่พลัดถิ่น กลับมิสิ้นชาติดำรง
ในบรรดามนุษยชาติพันธุ์เก่าแก่ ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "มอญ" จะดูอาภัพกว่าใครเพื่อน  "เขมร" ยังมีถิ่นฐานบ้านช่องเป็นของตัวเอง แต่ "มอญ" สิ้นแผ่นดิน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ กระจัดกระจายย้ายแยกกันไปอาศัยบ้านอื่นเมืองเขา

"เมืองมอญ" ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต กลับกลายมาเป็นความปวดร้าวในปัจจุบัน เหลือเพียงสำนึกใน "ความเป็นมอญ" เท่านั้นที่ซึมซ่านอยู่ในสายเลือด "คนพลัดถิ่น"


เทือกเถาเหล่ากอคง ยังสืบสายหลายร้อยปี
ประวัติชั่วไม่ถึงครึ่งศตวรรษ บอกเล่าถึงคลื่นมอญอพยพระลอกแล้วระลอกเล่า เข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และระตนโกสินทร์ รวมไม้น้อยกว่า 9 ครั้ง เป็นการหนีภัยพม่าที่ขยายอำนาจรุกลงทางใต้ จนในที่สุดมอญก็สิ้นแผ่นดิน

ในความทรงจำอันปวดร้าวของมอญ บันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2082 กรุงหงสาวดีถูกพม่าตีแตก สองปีต่อมา เมาะตะมะก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน  เป็นอันสิ้นสุดความรุ่งเรืองของมอญยุคหงสาวดี  เหตุการณ์นี้เองที่ก่อให้เกิดคลื่นมอญอพยพระลอกแรกชนิดแบบเทครัว ทั้งชนชั้นสูงและสามัญชน สู่กรุงศรีอยุธยา และเส้นทางอพยพสายสำคัญนั้นก็คือ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์

ระลอกต่อมา เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระนเรศวรเสโจไปช่วยพม่าปราบกบฏเมืองอังวะ  แล้วนำไปสู่การประกาศแยกแผ่นดินกับพม่า เมื่อ พ.ศ.2127 เพราะพม่าคิดไม่ซื่อ  วางแผนร้ายหมายกำจัดพระองค์  ผู้เปิดโปงแผนการร้ายของพม่า คือ พระมหาเถรคันฉ่อง สงฆ์มอญนิกายมหายาน กับอีกสองพญามอญ คือ พญาเกียรติ พญาราม

ในการยกทัพกลับคราวนั้น  นอกจากพาครัวไทยสมัยพม่ากวาดต้อนไปแล้วคราวเสียกรุง พ.ศ.2112 กลับมาด้วยแล้ว  ยังทรงชักชวนพระมหาเถรคันฉ่อง พญาเกียรติ  พญาราม พร่อมครัวมอญอีกมาก ให้เข้ามาอยู่ด้วยกันที่กรุงศรีฯ โดยโปรดยกทัพกลับทางใต้ ผ่านหัวเมืองมอญ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์


คือมอญแห่งบ้านม่วง  ริมฝั่งน้ำแม่กลองนี้
มอญบ้านม่วงเองก็เชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกตนติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง เข้ามตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่ครั้งกรุงศรี  รัชสมัยพระนเรศวร  และเพื่อรำลึกถึงบ้านเก่าที่จากมา  จึงเรียกบ้านใหม่ด้วยชื่อเก่า "บ้านม่วง" เช่นเดียวกับชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า "วัดม่วง" ภาษามอญว่า "เพลียเกริก"

มอญบ้านม่วงใช้เวลา 30 กว่าปีในการบุกเบิกที่ทางทำมาหากิน ก่อสร้างชุมชนและวัดวาอาราม  คัมภีร์ใบลานเก่าที่สุดของวัดม่วง จารเมื่อศักราช 1,000 ตรงกับ พ.ศ.2181 ชุมชนบ้านม่วงจึงมีอายุเก่าแก่ถึง 373 ปี


เลือดมอญยังล้นปรี่   ย้อนรอยชาติอารยชน
ยังมีการอพยพเข้ามสมทบอีกหลายระลอก และเวลาร่วม 400 ปี ช่างเนิ่นนานนักในการยืนหยัดเหนียวแน่นอยู่กับ "ความเป็นมอญ" และนั่นก็เป็นรากฐานอันดีในการก่อเกิด พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และศุนย์มอญศึกษา  เพื่อที่จะพัฒนาชุมชนมอญแห่งนี้ให้เป็นคลังความรู้มอญ  เพื่อย้อนรอยชาติอารยชน  ผู้ซึ่งนานมาแล้วมีบทบาทสูงเด่นอยู่ในอาณาจักรเก่าแก่ นามว่า "ทวารวดี"

ทวารวดี มีศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาคกลาง และแผ่อิทธิพลไปทั่วประเทศไทย ช้ามไปถึงกัมพูชาและลาว โดยมีวัฒนธรรมมอญโดดเด่นเป็นสง่า.....

*****************************

อ่านเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล
  • แผ่นพับประชาสัมพันธ์ชุมชนมอญบ้านม่วง ได้รับแจกจ่ายเมื่อ 17 เม.ย.2554

อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

มอญอพยพ 9 ระลอก

คนมอญสังกัดรัฐมอญในประเทศพม่า เดินทางไปมาหาสู่ไทย แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทยเป็นปกติสามัญอยู่แล้วตั้งแต่โบราณกาล แต่การอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยครั้งใหญ่ๆ ทยอยเป็นระลอกๆ มี 9 คราว คือ สมัยกรุงศรีอยุธยา  6 คราว สมัยกรุงธนบุรี 1 คราว และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  2 คราว ดังนี้


คราวแรก
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตีเมืองหงสาวดีแตกในปี พ.ศ.2081 และตีเมืองเมาะตะมะแตกในปี พ.ศ.2084 ชนชั้นสูงและชาวมอญต่างอพยพเข้าสู่ประเทศไทย 2 เส้นทางคือ
  1. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากหัวเมืองมอญทางใต้ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ และเดินทางกลับลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่สอง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเพื่อช่วยพระเจ้านันทบุเรงปราบกบฏเมืองอังวะ แล้วทรงประกาศอิสระภาพจากพม่าในปี พ.ศ.2127 และทรงเกลี้ยกล่อมชาวมอญที่สวามิภักดิ์ให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สาม
ราชวงศ์ตองอูปกครองมอญอย่างทารุณ และในปี พ.ศ.2138 พวกยะไข่เข้ามาตีทำลายเมืองหงสาวดีจนร้าง เกิดการอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สี่
เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งอังวะมาทำพิธีราชาภิเษกที่เมืองหงสาวดีในปี พ.ศ.2156 มอญไม่พอใจจึงก่อการกบฏ แต่ถูกพม่าปราบปรามอย่างหนัก เกิดการอพยพเข้าสู่ไทยจากเมืองหงสาวดี ผ่านเมาะลำเลิง ด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี



คราวที่ห้า
มอญที่เมืองเมาะตะมะก่อการกบฏอีกครั้งในราวปี พ.ศ.2204-2205 แต่ถูกพม่าปราบได้จึงพากันอพยพหนีเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี อีกส่วนหนึ่ง เดินทางต่อมาราชบุรี กรุงศรีอยุธยา และไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองปทุมธานี



คราวที่หก
ปลายราชวงศ์ตองอู มอญตั้งอาณาจักรได้และสามารถตีกรุงอังวะแตก  แต่ครั้งพระเจ้าอลองพญาสถาปนาราชวงศ์ใหม่ และในปี พ.ศ.2300 สามารถตีหงสาวดีได้ มอญถูกปราบอย่างรุนแรง จึงอพยพหนีเข้าสู่ไทย 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ และขึ้นเหนือไปตั้งหลักแหล่งยังเมืองเชียงใหม่
  2. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ แล้วลงใต้มายังเมืองตาก และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
  3. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ไปยังเมืองทวายและไปตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่เจ็ด
ปี พ.ศ.2316 เกิดกบฎมอญในย่างกุ้ง  พม่าจึงเผาเมืองย่างกุ้ง มอญพากันอพยพหนีเข้ามาจำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองเชียงใหม่ และลงใต้มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองตาก และลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา 
  3. จากเมืองหงสาวดี มาตั้งหลักแหล่งที่ด่านเจดีย์สามองค์


คราวที่แปด
ปี พ.ศ.2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จตีและยึดเมืองทวายได้ แต่ไม่สามารถรักษาได้ ต้องถอยกลับเข้าสู่ไทย และได้นำมามอญจากเมืองทวายเข้ามาด้วย โดยผ่านทางเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพฯ


คราวที่เก้า
ปี พ.ศ.2357 เกิดกบฎที่เมาะตะมะ  ถูกพม่าปราบอย่างรุนแรง เกิดการอพยพหนีเข้าไทยระลอกใหญ่ จำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี
  2. จากเมืองอุทัยธานี ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
  3. จากเมืองตาก ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
การอพยพของมอญทั้ง 9 คราว ทำให้มอญกลายเป็นประชากรส่วนสำคัญของประเทศไทยมาจนทุกวันนี้

ดูเพิ่มเติม

ที่มาข้อมูล
ศูนย์มอญศึกษา. (2550). นำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 38-39)
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศาลต้นโพธิ์ของชาวบ้านม่วง

ชุมชนบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และหมู่บ้านใกล้เคียง  เป็นชุมชนมอญ จากการบอกเล่าเชื่อกันว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากประเทศพม่าในสมัยอยุธยาราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เชื้อสายมอญนิกายมหายาน เข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง ให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่าว่า "บ้านม่วง" และได้ตั้งวัดประจำหมู่บ้านว่า "วัดม่วง"

ชาวมอญบ้านม่วงนอกจากจะนับถือผีบรรพบุรษของแต่ละครอบครัวหรือตระกูลแล้ว ยังมีผีอื่นที่ชาวบ้านม่วงนับถือร่วมกัน คือ

1.ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนา เป็นต้นโพธิ์เดิมที่ชาวบ้านม่วงนับถือมานานและจะร่วมทำพิธีเซ่นไหว้ในเดือน 6 ของทุกปี และปีใดฝนฟ้าไม่ค่อยตก ชาวบ้านม่วงจะทำพิธี "แคะขนมครก แห่นางแมวขอฝน" กันที่นี่

"..นางแมวเอ๋ย ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์รดก้นนางแมว..น้ำแห้ง ให้ฝนตกหน่อย..." ชาวบ้านประมาณ 20-30 คนที่ร่วมขบวนแห่นางแมวจะร้องขอฝน ซึ่งสมัยก่อนที่จะมีเขื่อนวชิราลงกรณ์จะทำบ่อย ปัจจุบันไม่ค่อยมีประเพณีแห่นางแมวขอฝน นานๆ ครั้งและมิได้ทำการแคะขนมครกประกอบพิธีกันที่ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนานี้อีกแล้ว เพราะต้นโพธิ์นี้ถูกตัดไปเมื่อ 10 ปีเศษ เนื่องจากเป็นจุดผ่านและตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ชาวบ้านจึงย้ายไปไหว้ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน และไปแคะขนมครกกันที่วัดม่วงแทน

ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน
2.ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าพ่อเจินและงิ่ม" หรือ "ศาลเจ้าพ่อช้างพัน" ที่ต้นโพธิ์กลางหมู่บ้านนี้มีเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ เจ้าพ่อช้างพัน เจ้าพ่อกาหลง และเจ้าพ่อคลุกคลี (ชอบกินฝิ่น) ปัจจุบันมีการเซ่นไหว้ปีละ 2 หน คือ ในเดือน 4 และเดือน 6

ศาลต้นโพธิ์ในวัดม่วง ที่ชาวบ้านนับถือ
3.ศาลต้นโพธิ์ในวัด เรียกว่า "ศาลอาหน๊วก" หรือศาลหลวงตาหรือศาลหลวงปู่ ศาลนี้เมื่อมีงานและกิจกรรมใดๆ ในวัด จะต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวหรือขอนุญาตทุกครั้ง หรือบอกบนก็ได้


ที่มา : ข้อมูลและภาพ
สุภาภรณ์  จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม.  มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 93-98)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สืบสานตำนานข้าวแช่มอญ วัดบ้านหม้อ

ตำนานข้าวแช่ 
 แรงบันดาลใจที่ทำให้ข้าพเจ้า เขียนเรื่อง ข้าวแช่ ขึ้นมาในช่วงเวลานี้ ก็เพียงอยากระลึกถึงวัน เวลา...ที่เคยได้ร่วมทำข้าวแช่ กับแม่...เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ภาพความทรงจำทุกขณะ ปรากฎเด่นชัด  และเมื่องานบุญเข้าพรรษาที่ผ่านมา...ท่านพระครูที่วัดยังถามมาว่า ..สงกรานต์ปีหน้าจะมีข้าวแช่ออกมาวัดคนแรกอีกหรือเปล่า เพราะแม่จะนำข้าวแช่ใส่กระจาดหาบ ไปถึงวัดก่อนอรุณรุ่งทุกปี ทำให้ข้าพเจ้าอยากจะส่งความรู้สึกนี้ ไปถึงอีกหลาย ๆคน ที่จะช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของข้าวแช่ตำรับมอญของบ้านเรา และพาตัวเองกลับไปสู่บรรยากาศ  ที่อบอุ่นนั้นอีกสักครั้ง  
การทำกับข้าวในแต่ละท้อง ถิ่น แต่ละชุมชนก็แตกต่างกันออกไป  ตามสภาพความเป็นอยู่  แต่ก็ยังคงมีกรอบวัฒนธรรมเคร่งครัดในประเพณี  ที่ติดมากับขนบธรรมเนียมของชาวมอญเรา ที่ยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมาโดยเฉพาะการทำบุญ  ดังมีคำกล่าวที่ว่า.....หน้าร้อน...กินข้าวแช่    หน้าฝน....กินข้าวมัน    หน้าหนาว......กินข้าวหลาม และทุกวันนี้ ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมา รุ่นต่อรุ่น

 ข้าพเจ้าต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า สิ่งที่ได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้ อาจจะไม่เหมือน หรือแตกต่างกันไป  ผู้รู้ทุกท่านช่วยชี้แนะ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
จำได้ว่าสำหรับชาวมอญแล้ว เทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามโบราณ และยังถือสืบต่อกันมา การเตรียมงานนับเดือน ทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเสื้อผ้าใหม่ และอาหารคาวหวานสำหรับทำบุญตักบาตร ซึ่งก็จะอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ เมษายน ของทุกปี ช่วงเช้าทำบุญตักบาตร  ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ช่วงบ่ายจัดให้มีการสรงน้ำพระพุทธรูป  สรงน้ำพระสงฆ์ และบังสุกุลอัฐฐิปู่ย่าตายาย ปล่อยนก ปล่อยปลา ค้ำโพธิ์ (ถ้าวันสงกรานต์ตรงกับวันเกิดของใคร ต้องไปค้ำโพธิ์) ก็จะเป็นสิริมงคลกับตังเอง เช่นวันสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ที่เกิดวันพุธต้องไปทำพิธีเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์  เป็นต้น
อาหารมอญ  ที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขนมกะละแม  ทดสอบความอดทน  (บอกก่อนว่า หนุ่มสาว จะรอวันสงกรานต์อย่างใจจดใจจ่อ เพราะหนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดกันได้ เล่นถูกเนื้อต้องตัวกันได้ ไปมาหาสู่กัน บางบ้านก็ให้หนุ่มช่วยกวนกะละแมเสียเลย ใช้เวลาเป็นวัน ๆ

ข้าวแช่ หรือ ข้าวสงกรานต์ คนมอญจะเรียกว่า  เปิงด้าจก์ (เปิง แปลว่า ข้าว  ด้าจก์ แปลว่า น้ำ   เมื่อตอนเด็ก ๆ จะได้ยินแต่คำว่า ข้าวน้ำ  จะได้ลองลิ้มชิมรสก็ต่อเมื่อวันสงกรานต์เท่านั้น
ข้าวแช่ เป็นอาหารที่เกี่นวข้องกับพิธีกรรม มีขั้นตอนในการทำพิถีพิถันมาก ใช้เวลาในการจัดเตรียมเป็นเดือน ทั้งน้ำที่จะเป็นน้ำอบ ต้องรอจากฝนกลางแจ้งมาเก็บไว้ (สมัยนี้ใช้น้ำต้มสุกก็ได้) ต้องตำรำข้าวใหม่ ๆ ขี้ผึ้งที่ได้มาจากน้ำผึ้งเดือน    ๕  นำมาเผาบนรำข้าวให้หอม ไว้อบน้ำ (สมัยนี้ใช้เทียนหอมสำเร็จรูป)ปลาแห้ง ต้องเป็นปลาช่อนนา ตัวโต ตากแดดเก็บไว้ เหล่านี้เป็นต้น
การทำข้าวแช่ สืบเนื่องมาจากตำนานสงกรานต์ของมอญ  ข้าพเจ้าเคยได้เห็นตำนานนี้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พี่พาไปเที่ยววัดพระแก้ว ก็เลยไปวัดนี้ด้วย  พี่พูดภาษามอญได้ อ่านภาษามอญได้ ก็รู้ว่าเป็นตำนานของ ข้าวแช่  ความว่า
มีเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรธิดา ทำการบวงสรวงต่อเทวดา ฟ้าดิน พระอาทิตย์ พระจันทร์ กาลเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี ก็ยังไม่มีบุตร อยู่ต่อมาเป็นวันในคิมหันตฤดูฝน คนทั้งหลายเล่นนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ พระอาทิตย์ก็มาสู่เมษราศี   เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังโคนต้นไทรใหญ่ริมน้ำอันเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดาทั้งหลาย และได้นำข้าวสารล้างน้ำถึง ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชารุกเทวดาประจำพระไทรนั้น
 ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร   และรุกขเทวดาพระไทรนั้นก็เมตตา ให้เทพบุต รคื่อ(ธรรมบาลกุมาร)มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีสมความปรารถนา

ครั้นต่อมา ชาวมอญมีความเชื่อว่า หากได้กระทำพิธีเช่นว่านี้ บูชาต่อเทวดา ในเทศกาลสงกรานต์แล้ว
สามารถตั้งจิตอธิษฐาน ขอสิ่งใดจะได้ดังหวัง  ข้าวแช่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเซ่นไหว้เทวดาด้วย

วิธีการปรุงข้าวแช่   เริ่มจากการทำน้ำอบ  จะใช้น้ำฝน หรือใช้น้ำต้มสุกก็ได้ ใส่ลงในหม้อดิน สำหรับบ้านของข้าพเจ้า มีหม้อดินโบราณ เป็นมรดกตกทอดสมัยปู่ย่ามา นำขันเล็ก ๆแล้วใส่รำข้าวที่เตรียมไว้ จุดขี้ผึ้งที่ปั้นใส่ด้ายแบบไส้เทียนจุดให้ไฟลุก ดอกกระดังงาลนไฟให้หอม นำมาใส่ลงไปในขันด้วย แล้วดับไฟ ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวบาง อบไว้เช่นนั้น  (ลืมบอกไปว่า น้ำที่นำมาอบนั้น ให้ลอยดอกมะลิให้หอมก่อน ก่อนนำมาอบเทียน) พอมาถึงสมัยนี้ ใช้เที่ยนหอมอบได้เลย


หม้อดินสำหรับใช้อบน้ำข้าวแช่มอญ      
อาหารที่นำมารับประทาน ที่แม่เคยทำเป็นประจำทุกปี ก็จะมีประมาณ ๗-๘ อย่าง บางชุมชนก็จะมากน้อยแตกต่างกันออกไป จะใช้เวลาเตรียมอาหารข้าวแช่ก่อนวันสงกรานต์ ๑ วัน คือบ่ายวันที่ ๑๒  จะมีปลาแห้งป่น หมูหวาน (บางนจะใช้เนื้อวัว ) หอยแมลงภู่ผัดหวานผักกาดผัดไข่ (หัวไชโป้) ยำมะม่วง ยำขนุน กระเทียมดอง ก๋วยเตี๋ยวผัด ไข่เค็ม


การหุงข้าว  เริ่มตั้งแต่คัดข้าวสารเมล็ดสวย จำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ สีข้าวเอง ตำข้าวเอง โดยใช้ครกไม้ ที่ใช้ตนไม้ทั้งต้นมา ขุดเป็นครก สีข้าวเป็นสีโบราณที่พ่อทำขึ้นเอง เสียดายที่พังไปหมดแล้ว  สีข้าวเปลือกแล้ว จะได้ข้าวกล้อง ก็นำข้าวกล้องมาตำ ใช้สากลุมพุก (ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือเปล่า) ตำ ๒ คนผลัดกันขึ้นลง นับไปเลย ลงสากคนละ ๒๐๐ ที ข้าวก็จะขาวเป็นข้าวสารที่นำมาหุงได้ แม่ก็จะเลือกข้าวเม็ดสวย ไม่หัก จะใช้กระด้งฝัดเอารำออก จะได้รำละเอียด (ไปอบน้ำ) รำหยาบไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ได้ปลายข้าวไว้ทำขนมจีน แม่จะให้ใช้กระด้ง กระทายข้าว การกระทาย เป็นการคัดเลือกข้าวเม็ดสวยออกจากข้าวที่หัก  จากนั้นก็นำมาซาวน้ำ ประมาณ ๗ ครั้ง ให้สะอาด ในการหุงข้าวนั้นต้องตั้งเตาไฟในที่โล่ง และต้องอยู่นอกชายคาบ้าน การหุงเป็นการหุงแบบเช็ดน้ำ ต้องหมั่นคอยคนให้สุก ไม่เป็นไต ยกลงจากเตา นำไปล้างน้ำสะอาดหลายครั้ง  เพื่อเอายางข้าวออกแล้วนำไปใส่ในกระบุง โดยเอาผ้าขาวบางรองอีกที เป็นอันเสร็จขั้นตอนการหุงข้าว  (บางที่แม่ก็จะใส่ใบเตยลงไปในหม้อข้าวด้วย เพื่อความหอม)

ขั้นตอนการทำกับข้าว  อันดับแรกปลาแห้งป่น บอกเลยว่าทำยากที่สุด  ต้องนำปลาที่ตากแห้งไว้มาย่างไฟอ่อน ๆ พอสุก แล้วเอามาแกะเอาแต่เนื้อ แม่ใช้ครกตำเลย ให้เนื้อปลาฟู
หัวกะทิตั้งไฟให้เดือด ต้องหมั่นคนไม่ให้แตกมัน ตำกระเทียมที่แกะเอาแต่เนื้อ พริกไทยเล็กน้อย บางบ้านก็ไม่ใส่พริกไทย  ก็แล้วแต่ความชอบ  แต่บ้านเราใส่ด้วย เพราะเราเป็นคนตำเองแม่บอกว่าดับกลิ่นคาวปลา  นำส่วนประกอบทั้งหมดลงผัดในกระทะ โดยใช้ไฟอ่อน   ผัดไปเรื่อย ๆจนเนื้อปลาจับกับกะทิ ก็ใส้น้ำตาบปี้บ ชิมรสหวานนำ เค็มตามมา ความเค็มไม่ต้องใส่เกลือก็ได้ เพราะปลามีความเค็มในตัวอยู่แล้ว เมื่อได้รสชาดตามต้องการ  นำลงจากเตาพักไว้
ให้เย็น โรยหน้าด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย ตามด้วยพริกแห้ง (พริกเม็ดใหญ่ตากแห้ง เอาเม็ดออกซอยละเอียด ไว้โรยหน้ากับข้าว เพิ่มสีสรรความสวย  ก็เป็นอันเสร็จไป ๑ อย่างแล้ว ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน
  ๒.เนื้อเค็ม (หมูหวาน) บางท้องถิ่นใช้เนื้อวัว แต่บ้านเราที่วัดบ้านหม้อนี้ ใช้เนื้อหมู วิธีทำก็คล้าย ๆกับปลา คือเอาเนื้อหมูมาทำหมูเค็ม ตากแดดเก็บไว้ก่อน จากนั้น เอามาย่างไฟพอสุก
ฉีกฝอย ที่บ้านเราก็ใช่ครกตำเช่นเดิม เนื้อจะฟูไม่แข็ง  วิธีการทำก็เหมือนกับปลาทุกอย่าง

 ๓.หอยแมลงภู่ เช่นกัน ก็นำหอยแมลงภู่ตากแห้ง เลือกที่ตัวใหญ่ เพราะเวลาผัดแล้วจะหด นำมาล้างให้สะอาด เอาใยออกให้หมด มาลวกน้ำร้อนดับกลิ่นคาวเสียก่อน บีบน้ำให้แห้ง การผัดก็เหมือนกับปลาและหมู  ข้อระวังในการผัดหอย ต้องค่อย ๆผัด หรือกลับ ถ้าผัดแรง หอยจะแหลกไม่เป็นตัว ไม่สวยในการจัดสำรับอาหาร
๔.หัวไชโป้ผัดไข่  คราวนี้ไม่ใช้กระเทียม ใช้หอมแดงแทน เวลาปอก ก็ร้องไห้ไปด้วย แม่บอกว่าถ้าออกเรือนไปจะแพ้แม่สามี  วิธีแก้ให้ใช้ก้านไม้ขีดเหน็บหู น้ำตาจะไม่ไหล  หัวไชโป้ก็ที่เจ็ดเสมียนเท่านั้น เลือกเอาหัวใหญ่ มาหั่นซอยตามแนวขวางบาง ๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาด
ตั้งหัวกะทิให้เดือดใส่หอมแดงซอยลงไป ใส่หัวไชโป้ลงในหม้อ เคี่ยวไฟอ่อนไปเรื่อย ๆจนกะทิ
จวนแห้งใส่น้ำตาลลงไป หวานนำกลมกล่อม โรยหอมแดงอีกครั้ง   เกือบลืมต้องใส่ไข่ด้วย โดยตอกไข่ตีให้ละเอียดราดลงบนหัวไชโป้ในหม้อ รอไข่สุก คนให้เข้ากัน เป็นอันใช้ได้
๕.ยำขนุน รายการนี้จะขาดไม่ได้เลย ในสำรับข้าวแช่ของชาวเรา เพราะถือกันว่าเป็นอาหารมงคล คงเป็นเพราะชื่อด้วยกระมัง  มีคนหนุนนำ จำได้ว่าแม่ให้เอาพริกหอมเม็ดใหญ่  (พริกแห้ง) หอม กระเทียม เผาไฟ เรียกว่าพริกเผา หอมเผา  แล้วนำขนุนดิบที่ไม่แก่ มาฝานเป็นแว่น
ปอกเปลือกออก นำไปต้มให้สุก แล้วนำมาฉีก พักไว้ก่อน เอามะพร้าวที่ขูดเตรียมไว้ มาคั่วให้หอม ระวังอย่าให้ไหม้  ส้มโอที่แกะเอาไว้ พร้อมทั้งกุ้งแห้งคั่วสุก เครื่องปรุงพร้อมแล้ว ก็ลงมือยำเลย เอาพริกเผา หอมเผา มาโขลกพอหยาบ ใส่ในขนุนที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลเคี่ยวเติมความเปรี้ยวด้วยส้มโอ กลมกล่อมแล้ว ใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง
เพียงเท่านี้ ยำขนุนก็ขึ้นสำรับได้แล้ว
๖.ยำมะม่วง วิธีทำก็คล้ายกัน ถ้ามะม่วงเปรี้ยวก็บีบ หรือใช้เกลือคั้นเอาความเปรี้ยวออกก่อน
๗.กระเทียมดอ เวลาจะกินกับข้าวแช่ ก็แกะออกเป็นกลีบเล็ก ๆ จัดใส่ถ้วยในสำรับ
๘.ก๋วยเตี๋ยวผัด เส้นหมี่ผัด ชาวบ้านเราถือเป็นสิ่งดี เพราะเป็นเส้น เป็นสิ่งที่ยาวไกล เป็นมงคล
    และอาจจะมี ไข่เค็มยำ  ก็อยู่ในเมนูด้วยเช่นกัน
   เสร็จสรรพกับข้าว คราวนี้ต้องนำไปที่ใดบ้าง  มาดูการเดินทางของข้าวแช่กันเลย

อันดับแรก ต้องนำข้าวแช่ไปเช่นบวงสรวงเทพยดา ฟ้าดิน นางสงกรานต์ โดยทุกบ้านจะสร้างบ้านสงกรานต์ เราเรียกกันว่า ฮ๊อยซังกรานต์ เป็นศาลเพียงตา สร้างชั่วคราวอย่างง่าย ๆ บริเวณลานโล่งหน้าบ้าน มักสร้างด้วยไม้ไผ่ อยู่ในระดับสายตา ความกว้างประมาณ ๑ ศอก สำหรับวางถาดอาหารได้  พ่อจะใช้ผ้าขาวปูรองพื้น ผูกผ้าสี ตกแต่งด้วยดอกไม้ ก็จะเป็นดอกสงกรานต์  (ดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูณ)
เราเรียกว่า ปะกาวซังกรานต และจะมีคำกล่าวถวายข้าวว่า อุกาสะ ๓ ครั้ง โต เทวโส ตันนัง กุสสังมยเคตัง เอหิ ตาน อาคัจฉันติ นิมันติปริภุญณโส เป็นอันเสร็จพิธีต้อนรับเทพีสงกรานต์ในปีนั้น

อันดับที่ ๒ นำไปให้ผีบ้านผีเรือน คือผีปู่ย่า ตายาย ที่เสาผีประจำบ้าน  ส่วนใหญ่คือเสาเอก  บ้านมอญจะมีห้อง สำหรับเก็บของ  โดยมีกระบุงใส่ต้นขาไก่ดำในกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ ๙ กระบอก หีบบรรจุเสื้อผ้า แหวนพลอยสีแดง และหม้อดินใส่น้ำไว้ ภายในห้อง จะให้ลูกชายเป็นคนนำไปให้                                                

 อันดับที่ ๓ นำออกไปวัดเพื่อทำบุญถวายพระแต่เช้าตรู่  และใส่ปิ่นโตไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือใกล้ชิด  และเลี้ยงคนที่มาเยี่ยมเยือนในเทศกาลสงกรานต์   ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งก่อน พ่อเคยให้นำปิ่นโตบรรจุข้าวแช่ไปถวายพระที่ วัดคงคารามด้วย พ่อบอกว่าบรรพบุรุษอยู่ที่นั่น คงหมายถึงพระยามอญทั้ง ๗ ที่มีเจดีย์อยู่รอบ ๆ อุโบสถที่วัดนี้ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้เขียนจากความทรงจำของข้าพเจ้าเอง ส่วนรูปภาพนำมาจากสงกรานต์ชาวมอญนครชุมน์
ต้องขอขอบคุณรูปสวย ๆ ที่ท่านลงไว้ให้ จึงขออนุญาตนำมาใช้อ้างอิง  ภาพอื่น ๆ เป็นภาพที่บ้านของข้าพเจ้าเอง   และยินดีที่รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้เป็นอย่างยิ่ง
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผ้าสไบคู่กายสาวมอญ

ตัวอย่างผ้าสไบของสาวมอญ
 เมื่อมีงานบุญ ไม่ว่าจะเป็นวันพระ หรือเทศกาลทำบุญใหญ่ ๆ แม่ของข้าพเจ้ามักจะนำผ้าสไบมาให้ห่มไปวัดเสมอ ก็จะสังเกตุว่า เอาไปทำอะไร ผ้าสไบก็ไม่เหมือนของคนทั่วไป สีสรรสดใส ปักด้วยมือ ซึ่งสาวชาวมอญจะใช้เวลานานมาก ในการปักแต่ละผืน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปักเอง เป็นของพี่สาว เวลากราบพระก็จะใช้ชายของผ้าข้างหนึ่งมารองแล้วกราบลงไปบนผ้า เมื่องานบุญมาถึง เช่น บุญสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวมอญก็ว่าได้ สาว ๆ ก็จะนำผ้าสไบที่ปักมาห่มทับเสื้ออีกที ลวดลายที่ปักก็เป็นเอกลักษณ์ของมอญ เป้นการพาดแบบสไบเฉียง

การแต่งกายของมอญ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งแดง ตราหมากรุก เป็นเอกลักษณ์ของหนุ่มมอญเลยทีเดียว โสร่งจะต้องเป็นผ้าต่อด้วยลายขาวตรงกลาง ถึงจะเป็นของแท้ หาซื้อค่อนข้างยาก บ้านข้าพเจ้าเมื่อคราวเลี้ยงผีก็จะเปลี่ยนผ้าให้ปู่ ต้องไปซื้อที่สังขละบุรี แถววัดหลวงพ่ออุตตะมะโน่น ชายชาวมอญก็จะพาดสไบด้วยเช่นกัน

ผ้าสไบจึงเป็นของติดกายของชาวมอญทั้งหญิงและชาย แต่จะห่ม หรือพาด ก็จะขึ้นอยู่กับงานแต่ละงาน งานบุญก็จะพาดไหล่ เถ้าป็นงานรื่นเริง ก็จะพาดสไบแล้วเอาชายผ้าทั้ง 2 ชายไปไว้ด้านหลัง

ส่วนผู้หญิงจะเกล้ามวยสูง ใส่ผ้าถุงกรอมเท้า ผ้าถุงก็จะทอเอง สีสรรสดใสเช่นกัน เสื้อจะเป็นผ้าลูกไม้ หรือผ้าสีสด และจะใส่ผ้าสีตัดกัน ถ้าเป็นงานรื่นเริง ผู้หญิงจะพาดสไบแบบลอยชาย

ที่วัดคงคาราม ยังมีการทอผ้าแบบของชาวมอญ ที่บ้านของ คุณกามเทพ มิ่งสำแดง ซึ่งเป็นทายาทของมอญรุ่นที่ 6 จากการสอบถามได้ความว่า มีการสอนทอผ้านุ่ง ปักผ้าสไบ และการสืบสานตำนานผ้าทอของชาวมอญ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยังคงรักษาสืบสานลายผ้าดั้งเดิมเอาไว้ และข้าพเจ้าก็ยังมีความภูมิใจในการอนุรักษ์ผ้าทอของชาวบ้านที่วัดคงคาราม และได้มีโอกาสร่วมงานอำเภอยิ้ม ของอำเภอโพธาราม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ยังชื่นชมท่านนายก อบต. ตำบลคลองตาคต ท่านสังวาลย์ แย้มเกตุ ที่ยังเห็นความสำคัญของกลุ่มชนคนมอญในท้องที่ของท่าน และจะไม่กล่าวถึงก็คงจะไม่ได้ ท่านอาจารย์โสภณ นิไชยโยคคนสำคัญที่ทำให้การเล่าขานเรื่องเล่าของชาวมอญ ของข้าพเจ้าได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถ้าท่านได้อ่านบทความบทนี้ และอยากจะสัมผัสกลิ่นไอของชาวมอญให้มากว่านี้ ก็ขอเชิญไปเที่ยวชมงานที่วัดโพธิ์โสภารามที่อำเภอบ้านโป่ง ในวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 เป็นงานของชาวมอญที่มาพบกันส่วนรายละเอียด ไม่ทราบแน่ชัดเหมือนกัน แต่คิดว่าไปแน่ ๆ เพราะต้องการที่จะรู้ชาติกำเนิดของตัวเอง และรู้ว่าพี่น้องของเราเขาอยู่กันที่ไหนบ้าง เป็นอย่างไร มันยากลำบากที่จะค้นคว้าเอง เพราะตอนนี้ทั้งพ่อและแม่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษให้ฟัง น้ำเสียงของพ่อที่เล่าเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนมอญ พ่อบอกว่า มอญสิ้นแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ
ขอขอบคุณท่านที่ได้กรุณาให้ภาพไว้เป็นที่ระลึก

อ.โสภณ นิไชยโยค และพี่สาว
และเผยแพร่การแต่งกายที่สวยงาม ของชาวมอญ
วัดคงคาราม ท่านสังวาลย์ แย้มเกตุ นายก อบต.
ตำบลตลองตาคต ท่านอาจารย์โสภณ นิไชยโยค
และคุณกามเทพ มิ่งสำแดง ที่ได้นำผ้าสไบมาให้
รวมถึงรูปหงส์ที่ติดผ้าสไบด้วย

ของหอมไม่ทิ้งความหอม
มอญเราไม่ทิ้งบรรพบุรุษ


ภาพ นายกสังวาลย์ แย้มเกตุ นายกอบต.คลองตาคต     ในวันงานอำเภอยิ้มของ อ.โพธาราม ร่วมกับพี่ป้า น้า อา ชาวมอญของวัดคงคาราม เมื่อ 22 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา
 
ขอขอบคุณที่ให้ถ่ายภาพมา ข้อความบางตอนอาจจะไม่ชัดเจน ต้องขออภัยท่านผู้รู้ และยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าท่านจะแนะนำลูกหลานคนนี้ ที่ต้องการเพียงแค่จะสืบสานมรดกของบรรพบุรุษ ให้ยังคงอยู่ บอกเล่าเรื่องราวของ ชาติกำเนิดด้วยความภาคภูมิใจต่อไป
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เรื่องราวของชาวมอญโพธาราม





การที่ข้าพเจ้าบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอญ ขึ้นมานี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นหน้าที่ไม่ใช่งาน เป็นหน้าที่ของคนที่มีเชื้อสายมอญ ที่พึงควรกระทำ บทความต่าง ๆนี้ ข้าพเจ้าบอกเล่าในฐานะที่เป็นผู้สืบทอดเชื้อสายของบรรพบุรุษ โดยอาศัยจากคำบอกเล่าของคนมอญเก่า ๆ จากบิดาของข้าพเจ้าเอง ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญเคร่งครัด มีระเบียบแบบแผนในการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยกรอบวัฒนธรรม ซึ่งตัวข้าพเจ้าเองได้อยู่ในกรอบนี้เช่นกัน
ก่อนจะพบเรื่องราวของชาวมอญ ชาติมอญนั้นอยู่ทางด้านตะวันตกของดินแดนสุวรรณภูมิ อยู่ใกล้กับประเทศอินเดียมากที่สุด ชาติมอญรับเอาอารยธรรมและศาสนาของอินเดียมาก่อนใคร เมืองพะโค หรือกรุงหงสาวดีที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราชท่ 1116 จึงเปรียบเสมือนประตูและสะพาน สำหรับถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรม รวมทั้งพุทธศาสนา มาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
ชาวมอญไม่ไช่คนผิวดำแบบชาวอินเดีย แต่มีผิวค่อนข้างคล้ำ จมูกสั้น ใบหน้ากว้างและแบน อุปนิสัยอ่อนโยนและไว้ใจคนง่าย เป็นคนรักศิลปะ แต่ชอบอยู่เฉย ๆ รักสันโดษ ไม่เบียดเบียน ทำงานแต่เวลาจำเป็น
ชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง ตามคำบอกเล่าของมอญรุ่นเก่า เล่าว่า ปลายกรุงศรีอยุธยา ต่อกรุงธนบุรีต้นสมัยรัตนโกสินทร์ชาวมอญได้อพยพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ สืบเนื่องมาจากหัวหน้าชาวมอญที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ทราบข่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกู้เอกราชได้แล้ว จึงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยติดต่อผ่านมายังเจ้าพระยารามัญวงศ์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้านายเมืองมอญเมืองเมาะลำเลิงที่เหลืออยู่ ๗ คน ให้เป็นนายด่านป้องกันพม่า ๗ เมือง

เมืองด่านทั้ง ๗ คือ ไทรโยค ท่าขนุน ท่ากระดาน ท่าตะกั่ว ลุ่มสุ่ม สิงห์ และทองผาภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีทั้งสิ้น) มอญเรียกเจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ว่า เจี๊ยะเดิงฮ่ะเป๊าะ เจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นญาติกัน
ต่อมาชาวมอญญาติเจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ ทราบว่าญาติของตนได้เป็นเจ้าเมือง จึงได้อพยพตามเข้ามาอีก บางพวกก็อพยพไปอยู่ปากเกร็ด นนทบุรี ชาวมอญปากเกร็ดจึงมีการติดต่อพวกมอญลุ่มน้ำแม่กลองมาตลอด เพิ่งจะมาเลิกติดต่อกัน สมัยยุบเลิกคณะสงฆ์รามัญนิกายสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พวกที่อยู่ไทรโยคเป็นพวกลำบาก เพราะที่ราบสำหรับการเพาะปลูกมีน้อย ส่วนมากเป็นป่าเขา จึงไม่มีที่ทำกิน หัวหน้ามอญท้ง ๗ เห็นความลำบากของญาติพี่น้อง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาเจ้าพระยารามัญวงศ์ และเจ้าพระยามหาโยธา เจ้าพระยาทั้ง ๒ จึงได้นำเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานที่ทำมาหากิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยามอญทั้ง ๗ เลือกที่ทำมาหากินเอาเอง โดยพระราชทานท้องตรามาให้ด้วย พระยามอญทั้ง ๗ จึงได้พาพรรคพวก ญาติพี่น้องล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง ก็เห็นว่า พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และมีคนอาศัยอยู่น้อย คือตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่ง ถึง อำเภอโพธาราม ซึ่งในสมัยนั้นอำเภอทั้ง ๒ ยังไม่ได้เกิดขึ้น ส่วนพระยามอญทั้ง ๗ นั้น ก็ได้มา
ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านวัดคงคา (ปัจจุบันคือวัดคงคาราม ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม) ส่วนบรรดาญาติก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ๒ ฝั่งแม่นำแม่กลอง ชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างศรัทธามาแต่เดิมแล้ว เมื่อมีที่ทำกินแล้ว ก็ต้องการที่ประกอบพิธีทางศาสนา พระยามอญทั้ง ๗ จึงได้ประชุมชาวมอญที่อพยพทั้งหมดโดยใช้วัดคงคารามเป็นศูนย์กลาง ซึ่งชาวมอญเรียกว่า เกี้ยโต้ หรือวัดกลาง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคงคาราม

ศูนย์รวมใจของชาวมอญ ลุ่มน้ำแม่กลอง เจดีย์ทรงมอญทั้ง ๗ องค์ รอบ ๆพระอุโบสถวัดคงคาราม ซึ่งเป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง ๗ นับว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวมอญในโพธารามและละแวกใกล้เคียงก็ว่าได้
เจดีย์ทรงมอญมีชื่อดังนี้

พระนิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค ต้นตะกูล นามสกุล นิไชยโยค พระไทรโยค มะมม
พระชินษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าตะกั่ว ต้นตระกูล นามสกุล ชินอักษร
พระปัณษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าขนุน ต้นตระกูล นามสกุล หลักคงคา
พระพลติษฐบดี เจ้าเมืองท่ากระดาน ต้นตระกูล นามสกุล ตุลานนท์
พระนินษณติษฐบดี เจ้าเมืองลุ่มสุ่ม ต้นตระกูล นามสกุล นิลบดี / หลวงพันเทา
พระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ ต้นตระกูล นามสกุล เสลานนท์ / เสลาคุณ
พระสมิงสิงคิบุรินทร์ เจ้าเมืองเมืองสิงห์ ต้นตระกูล ธำรงโชติ

เดิมที ที่ตั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองนี้เ ป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวลาวเวียงจันทร์ ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยครั้งสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี พระยามอญได้นำท้องตรามาให้ดูว่า พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินเหล่านี้ให้แก่ชาวมอญแล้ว ชาวลาวจึงถอยร่นออกไปอยู่บริเวณ วัดโบสถ์ วัดบ้านเลือก วัดบ้านสิงห์ วัดบ้านฆ้อง
วัดคงคาราม จึงเป็นวัดมอญวัดแรกของชาวไทรามัญ
วัดมอญรุ่นที่ 2 คือวัดใหญ่นครชุมน์ ในอำเภอบ้านโป่ง วัดนี้ยังคงอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญไว้ให้
ชนรุ่นหลังได้ศึกษา น่าสนใจมาก

วัดมอญรุ่ที่ 3 คือวัดป่าไผ่ วัดไทรอารีรักษ์ วัดเกาะ วัดบ้านหม้อ วัดโชค
(วัดตาผา วัดตาลปากลัด วัดหัวหิน วัดมาขาม วัดม่วงล่าง (พิพิธภัณฑ์ชาวมอญ) และ
โพธิ์โสภาราม ซึ่งวัดนี้จะมีงานของชาวมอญ ในวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 )
วัดมอญรุ่นที่ 4 คือวัดหนองกลางดง วัดชำแระ วัดหุบมะกล่ำ วัดดอนกระเบื้อง และวัดเขาช่องพราน วัดนี้มีค้างคาวร้อยล้าน และยังเป็นวัดต้นตระกูล ปัณยารชุน อันเป็นเชื้อสายพระยามอญทั้ง 7 เหมือนกัน

คำบอกเล่าเหล่านี้ อาจจะไม่ตรงบ้าง ก็ขอคำแนะนำจากผู้รู้ เพราะข้าพเจ้าเป็นเชื้อสายชาวมอญรุ่นที่ 7 แล้วแต่ก็ยังอยากรู้ที่มาของตัวเอง และขอขอบคุณท่านที่แนะนำ



อ่านต่อ >>