วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

มอญอพยพ 9 ระลอก

คนมอญสังกัดรัฐมอญในประเทศพม่า เดินทางไปมาหาสู่ไทย แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทยเป็นปกติสามัญอยู่แล้วตั้งแต่โบราณกาล แต่การอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยครั้งใหญ่ๆ ทยอยเป็นระลอกๆ มี 9 คราว คือ สมัยกรุงศรีอยุธยา  6 คราว สมัยกรุงธนบุรี 1 คราว และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  2 คราว ดังนี้


คราวแรก
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตีเมืองหงสาวดีแตกในปี พ.ศ.2081 และตีเมืองเมาะตะมะแตกในปี พ.ศ.2084 ชนชั้นสูงและชาวมอญต่างอพยพเข้าสู่ประเทศไทย 2 เส้นทางคือ
  1. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากหัวเมืองมอญทางใต้ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ และเดินทางกลับลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่สอง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเพื่อช่วยพระเจ้านันทบุเรงปราบกบฏเมืองอังวะ แล้วทรงประกาศอิสระภาพจากพม่าในปี พ.ศ.2127 และทรงเกลี้ยกล่อมชาวมอญที่สวามิภักดิ์ให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สาม
ราชวงศ์ตองอูปกครองมอญอย่างทารุณ และในปี พ.ศ.2138 พวกยะไข่เข้ามาตีทำลายเมืองหงสาวดีจนร้าง เกิดการอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สี่
เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งอังวะมาทำพิธีราชาภิเษกที่เมืองหงสาวดีในปี พ.ศ.2156 มอญไม่พอใจจึงก่อการกบฏ แต่ถูกพม่าปราบปรามอย่างหนัก เกิดการอพยพเข้าสู่ไทยจากเมืองหงสาวดี ผ่านเมาะลำเลิง ด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี



คราวที่ห้า
มอญที่เมืองเมาะตะมะก่อการกบฏอีกครั้งในราวปี พ.ศ.2204-2205 แต่ถูกพม่าปราบได้จึงพากันอพยพหนีเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี อีกส่วนหนึ่ง เดินทางต่อมาราชบุรี กรุงศรีอยุธยา และไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองปทุมธานี



คราวที่หก
ปลายราชวงศ์ตองอู มอญตั้งอาณาจักรได้และสามารถตีกรุงอังวะแตก  แต่ครั้งพระเจ้าอลองพญาสถาปนาราชวงศ์ใหม่ และในปี พ.ศ.2300 สามารถตีหงสาวดีได้ มอญถูกปราบอย่างรุนแรง จึงอพยพหนีเข้าสู่ไทย 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ และขึ้นเหนือไปตั้งหลักแหล่งยังเมืองเชียงใหม่
  2. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ แล้วลงใต้มายังเมืองตาก และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
  3. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ไปยังเมืองทวายและไปตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่เจ็ด
ปี พ.ศ.2316 เกิดกบฎมอญในย่างกุ้ง  พม่าจึงเผาเมืองย่างกุ้ง มอญพากันอพยพหนีเข้ามาจำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองเชียงใหม่ และลงใต้มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองตาก และลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา 
  3. จากเมืองหงสาวดี มาตั้งหลักแหล่งที่ด่านเจดีย์สามองค์


คราวที่แปด
ปี พ.ศ.2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จตีและยึดเมืองทวายได้ แต่ไม่สามารถรักษาได้ ต้องถอยกลับเข้าสู่ไทย และได้นำมามอญจากเมืองทวายเข้ามาด้วย โดยผ่านทางเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพฯ


คราวที่เก้า
ปี พ.ศ.2357 เกิดกบฎที่เมาะตะมะ  ถูกพม่าปราบอย่างรุนแรง เกิดการอพยพหนีเข้าไทยระลอกใหญ่ จำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี
  2. จากเมืองอุทัยธานี ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
  3. จากเมืองตาก ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
การอพยพของมอญทั้ง 9 คราว ทำให้มอญกลายเป็นประชากรส่วนสำคัญของประเทศไทยมาจนทุกวันนี้

ดูเพิ่มเติม

ที่มาข้อมูล
ศูนย์มอญศึกษา. (2550). นำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 38-39)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น