วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ด่านเจ้าขว้าว สวนผึ้ง ราชบุรี ช่องทางเดินทัพสำคัญของพม่า

คำว่า "ด่านเจ้าขว้าว"  นี้ผู้จัดทำ เพิ่งได้ยินชื่อตอนช่วงที่เริ่มจัดทำ "ราชบุรีศึกษา" นี้เอง ตอนสมัยเรียนประถมหรือมัธยม ไม่มีครูประวัติศาสตร์ท่านใดกล่าวถึงเลย  ด่านเจ้าขว้าว นี้ บางเอกสารเขียนว่า " ด่านเจ้าเขว้า"  อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ บอกว่า ด่านเจ้าขว้าว ตั้งอยู่บริเวณบ้านด่าน  ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นด่านเดียวกันกับด่านประตูสามบาน หรือไม่ 

อาจารย์วุฒิฯ บันทึกต่อไว้ว่า
บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดราชบุรี -กาญจนบุรี มีช่องชายแดน หรือจะเรียกว่าด่าน ที่ผู้คนแต่ครั้งอดีตใช้เดินทางเข้าออก ระหว่าง เมือง ราชบุรี กาญจนบุรี กับ เมืองทวาย ของพม่า ซึ่งด่านชายแดนนี้มีชื่อดังนี้
  1. ด่านช่องเขาหนีบ ช่องทางไปบ้าน ห้วยน้ำขาว พุน้ำร้อน อ.เมือง กาญจนบุรี ช่องทางนี้ใช้เดินทางผ่าน บ้านเมตตา เข้าเมืองทวาย ของพม่า
  2. ช่องด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  3. ด่านหนองไผ่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  4. ด่านลำเภา อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  5. ด่านลำทราย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  6. ด่านโป่งสะแก อ.ด่านมะขามเตี้ย  จ.กาญจนบุรี
  7. ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  8. ด่านเจ้าขว้าว หรือบ้านด่าน หรือ อาจจะเป็นด่านประตูสามบ้าน (ยังไม่ชัดเจน)อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  9. ด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ ปัจจุบันคือ บ้านทุ่งเจดีย์ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้งบริเวณ รร.สินแร่สยาม บ้านผาปกค้างคาว ช่องทางไปบ้านตะโกปิดทอง จ.ราชบุรี
ช่องทางชายแดนหรือด่าน ตั้งแต่ ด่านที่ 1 - 6 เป็นช่องทางที่ พม่าเคยใช้ในสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี ในคราวศึกบางแก้ว เขาช่องพราน เพื่อจะลงมายังราชบุรีในปี พ.ศ.2317 ถัดลงมาจะเป็นด่านที่อยู่ในเขตเมืองราชบุรี คือนับแต่ด่านทับตะโกลงมา ด่านที่สำคัญที่สุดของเมืองราชบุรีก็คือ ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าอยู่ใกล้ราชบุรี และกรุงเทพฯมากที่สุด


ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
ที่มา
http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html
บันทึกการรบไทยกับพม่า ที่เกี่ยวข้องกับด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
  • ปลายปีกุน พ.ศ.2310 พระเจ้าอังวะ กษัตริย์พม่า สั่งให้แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ยกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค ผ่านเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมื่อเดินทางมาถึงค่ายบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รักษาค่ายอยู่  พระเจ้ากรุงธนบรุี ทรงนำกองทัพด้วยตนเองมาช่วยรบกับทัพพม่า ที่นี่ได้สู้รบกับกองทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าสู่ไม่ได้ถอยทัพกลับไปทางด่านเจ้าขว้าว ริมลำน้ำภาชี เพื่อกลับเมืองทวาย
  • พ.ศ.2317 คือ 10 ปีถัดมา รัชสมัยพระเจ้าตากสิน ในคราวศึกบางแก้ว โพธาราม เอกสารพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระทิพพากรวงศ์ ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร บันทึกว่า มีใบบอกแจ้งมาจากชาวด่านว่า มีทัพพม่ามาจากด่านประตูสามบาน พม่าจับชาวด่านไปหลายคน
  • ในปีพ.ศ.2328 ในคราวศึกสงครามเก้าทัพ กองทัพที่ 2 ซึ่งมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ เดินทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ มาตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี โดยมี จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  • พ.ศ.2340 พฤศจิกายน แรม 9 ค่ำ ปีที่ 16 ในรัชกาลที่ 1 ครั้งนั้นชาวด่านได้ไปพบหนังสือที่ พม่าจากเมืองทวายมาแขวนหนังสือไว้ที่ด่านชายแดนเมืองราชบุรี  รัชกาลที่ 1 จึงเกณฑ์ทัพเตรียมรับศึก แต่ไม่มีเหตุการณ์สู้รบ
  • พ.ศ.2364 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ให้พระเจ้าลูกยาเธิกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ และพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโจน์) คุมพล 10,000 คน ไปขัดตาทัพที่ด่านชายแดนราชบุรีซึ่งก็คือด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
  • พ.ศ.2390 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  3 คนจีนเมืองสมุทรสาคร ก่อการจลาจล ถูกทางการปราบปราม ได้ถอยมาที่บ้านโพหัก บางแพ ได้วางแผนที่จะหนีออกไปยังเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว

ที่ด่านเจ้าขว้าวนี้ ส่วนใหญ่ชาวไทยกะเหรี่ยงจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านเจ้าขว้าว ตำแหน่ง "หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) อาจารย์วุฒิฯ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง ยังบันทึกต่อเรื่องความสำคัญของด่านเจ้าขว้าว ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ไว้ว่า

"เมื่อย้อนเวลาหาอดีต นับแต่ปี พ.ศ.2504 สวนผึ้งเวลานั้นยังเป็นป่าดิบ ผมเดินเท้าเปลือย เปล่าจาก สวนผึ้ง ผ่านจอมบึง ไปยังราชบุรี เพื่อเรียนหนังสือ เส้นทางที่ผมเดินต้องผ่านสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า " บ้านด่าน" พอถึงบริเวณนี้ คุณพ่อจะหยุดพักทุกครั้ง ท่านจะหาก้อนหิน ใบไม้ หรือดอกไม้ป่าถ้ามี พาพวกเราไปกราบไหว้สถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นเนินเจดีย์ ในดงต้นตะโก ผมและเพื่อนๆไม่รู้อะไรหรอกครับ ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรเราก็ทำตาม

เราทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ผ่านสถานที่แห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ.2511 -2512 ที่เส้นทางปรับเปลี่ยน ทางลูกรังผ่านคอเขาสน บ้านหนองขาม พุ่งตรงไปยังบ้านชัฎป่าหวาย เข้า อ.สวนผึ้ง"

ที่ตั้งของด่านเจ้าขว้าว บริเวณบ้านด่าน ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เป็นที่ตั้งที่ผู้จัดทำคาดคะเนขึ้นเอง อาจคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งจริง
ที่มาแผนที่ Google
บันทึกเรื่องราวของด่านเจ้าขว้าวนี้ ผู้จัดทำคิดว่ายังมีเรื่องราวอีกมาก หากท่านใดมีความรู้ ขอได้กรุณาบันทึกเพิ่มเติมไว้ได้ที่ท้ายบความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป


*************************************************
ที่มาข้อมูล
  • วุฒิ บุญเลิศ. (2553). บันทึกต่อท้ายบทความ "ด่านประตูสามบาน" : ภาพเก่าเล่าอดีต. [Online]. Available :http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html. [2554 สิงหาคม 22 ].
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2328 การรบที่ทุ่งเขางู แม่ทัพไทยประมาท

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ครองแผ่นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 ทางฝ่ายกรุงอังวะ ประเทศพม่าก็มีพระเจ้าปดุง ขึ้นครองราชสมบัติและได้ทำศึกชนะเมืองใกล้เคียงต่างๆ จำนวนมาก จึงคิดที่จะเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อให้มีเกียรติยศดังพระเจ้าแผ่นดินของพม่าในอดีตที่ผ่านมาในครั้งเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าปดุงจึงจัดกองทัพใหญ่เป็น 9 ทัพ รวมพล 144,000 คน ยกเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์ในปีมะเส็ง พ.ศ.2328

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินทัพ
ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328
กองทัพที่สองของพม่า 
การรบที่ทุ่งเขางูนี้ เกิดจากกองทัพที่ 2 ของพม่า โดยมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ ยกทัพมาจากเมืองทวาย โดยพระยาทวายเป็นกองทัพหน้าถือพล 3,000 คน อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นกองทัพหลวงถือพล 4,000 คน และจิกสิบโบ่ เป็นกองทัพหลังถือพล 3,000 คน รวมทั้งสิ้น 10,000 คน เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้ามาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และลงไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ของพม่าที่เมืองชุมพร

ฝ่ายกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแบ่งกองทัพ เพื่อสู้กับกองทัพพม่าออกเป็น 4 กองทัพ โดยในกองทัพที่ 3 ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยมีหน้าที่หลักคือ
  • คอยรักษาเส้นทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 ของไทย ซึ่งมี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นจอมพลแม่ทัพถือพล 30,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับกองทัพหลักของพระเจ้าปดุงที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ 
  • คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกขึ้นมาจากทางใต้หรือจากเมืองทวาย ผ่านเข้ามาทางด่านบ้องตี้

เดินทัพถึงเมืองราชบุรี
การเดินทางของกองทัพที่ 2 ของ อนอกแฝกคิดวุ่น ที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้ เส้นทางค่อนข้างลำบาก ทุรกันดารมากกว่าทางด่านเจดีย์สามองค์ ช้างม้าและพาหนะเดินยาก จึงเดินทางมาถึงช้าที่สุด มีการตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี ดังนี้
  • พระยาทวาย กองทัพหน้าตั้งค่ายที่ทุ่งทางด้านตะวันตกของเมืองราชบุรี (แถวหนองบัวนอกเทือกเขางู )
  • อนอกแฝกคิดวุ่น แม่ทัพหลวงตั้งอยู่ที่ท้องชาตรี (คือบึงใหญ่ แถว อ.จอมบึง น่าจะเป็น"บึงจอมบึง")
  • จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (ด้านเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี)

แม่ทัพไทยประมาท
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช ซึ่งเป็นแม่ทัพรักษาเมืองราชบุรีอยู่ มีความประมาท ไม่ได้จัดกองลาดตระเวนออกไปสืบข่าวข้าศึก จึงไม่ทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 3 ค่าย  จนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หลังจากมีชัยชนะทัพพม่าที่ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี จึงมีรับสั่งให้ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพลงมาทางบก จึงทราบว่ามีกองทัพพม่าตั้งค่ายอยู่ที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าต้านทานกำลังไม่ไหวจึงแตกพ่าย ทั้งกองทัพหน้าและกองทัพหลวง ฝ่ายไทยจับเชลยพม่าและเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า พาหนะได้เป็นจำนวนมาก ส่วนทัพพม่าที่เหลือหนีกลับประเทศพม่ากลับออกไปทางเมืองทวาย หลังจากนั้นกองทัพของพระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร ก็เดินทางต่อไปช่วยทางเมืองชุมพรต่อไป

ประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสอง
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวงมาถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช  มีความประมาทเลินเล่อ จึงมีพระราชบัณฑูรลงพระราชอาญาแม่ทัพทั้งสอง จำขังไว้ที่ค่ายทหารเมืองราชบุรี และขอพระราชทานประหารชีวิตเข้าไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ 

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงเห็นว่าแม่ทัพทั้งสองเคยมีความดีความชอบมาก่อน จึงมีสาสน์ตอบขอชีวิตไว้ แต่โปรดให้ลงพระราชอาญาทำโทษตามกฏพระอัยการศึก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงพระราชอาญาให้โกนศีรษะแม่ทัพทั้งสอง เป็นสามแฉก แล้วแห่ประจานรอบค่าย ถอดเสียซึ่งฐานันดรศักดิ์ ส่วนนายทัพนายกองที่เหลือให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบยทั้งสิ้น


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. (หน้า 35-43)
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 266-272)
อ่านต่อ >>

พ.ศ.2308 มังมหานรธายึดเมืองราชบุรี ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก

หลังจากที่เสียเมืองราชบุรีในปี พ.ศ.2302 โดยพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์แห่งพม่า ตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 4 วันก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ต้องเลิกทัพกลับไปก่อนเนื่องจากพระเจ้าอลองพญา ถูกสะเก็ดปืนใหญ่แตกบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับพม่าที่เขตแดนจังหวัดตาก (ดูรายละเอียด)

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.mono2u.com/review/content/siyama/
หลังจากพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ามังระได้เสวยราชเป็นกษัตริย์แห่งพม่าต่อมา และได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งต้องเสียเอกราชให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปีกุน พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นสงครามครั้งที่ 24 ถือเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของการรบระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า

พระเจ้ามังระเห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีกำลังอ่อนแอ จึงได้จัดกองทัพให้แยกย้ายกันเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทั้งทางเหนือและทางตะวันตก โดยมี เมขะระโบ เป็นแม่ทัพคุมพล 5,000 คน ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทางถึงเมืองกาญจนบุรี ได้สู้รบกับกองทัพของ พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจ ซึ่งมีจำนวนพลเพียง 3,000 คน ตั้งรักษาเมืองอยู่ กองทัพพระพิเรนทรเทพ มีกำลังน้อยกว่าจึงแตกหนีพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า

กองทัพพม่า ยกทัพติดตามเข้ามาตามลำน้ำราชบุรี (ลำน้ำแม่กลอง) มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแก ตำบลโคกกะออม และดงรังหนองขาว (อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบัน) ในช่วงเวลานั้นบรรดาหัวเมืองต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาไม่มีกำลังทหารรักษาอยู่ เพราะถูกเกณฑ์เข้าไปรักษาพระนครเสียหมด กองทัพพม่าจึงเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองต่างๆ ได้โดยง่ายดาย

กองทัพที่ถูกเกณฑ์ให้มารบกับพม่าที่เมืองราชบุรีนั้น จัดเกณฑ์มาจากหัวเมืองทางปักษ์ใต้ โดยจัดเป็นกองทัพเรือ 1 กองทัพ และกองทัพบก 1 กองทัพ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นแม่ทัพ
  • กองทัพบก ยกมาถึงตำบลตำหรุ เขตอำเภอเมืองราชบุรี (น่าจะเป็น ต.ตำหรุ ใน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี -ผู้จัดทำ)
  • กองทัพเรือ ยกมาถึงตำบลบางกุ้ง เขตอำเภอบางคณฑี จ.สมุทรสงคราม 
ทั้งสองกองทัพถูกทัพพม่าตีแตกพ่ายไปทั้งหมด และพม่าก็ยกทัพไล่ติดตาม เที่ยวปล้นสดมภ์ทรัพย์สมบัติ แล้วก็กลับมาปักหลักยังเมืองราชบุรี  กองทัพหน้าของพม่าที่เข้ามาเที่ยวปล้นสะดมภ์ทรัพย์และก่อกวนในพระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ณ เวลานั้น  มีเพียง 2 กองทัพเท่านั้น คือ ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี 1 กองทัพจำนวนพล 5,000 คน และตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์อีก 1 กองทัพจำนวนพลประมาณ 5,000 คน รวมพลเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความปั่นป่วนภายในพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้พม่ากำเริบได้ใจ พม่าจึงส่งกองทัพใหญ่เข้ามาสมทบ ทั้งทางเหนือและทางตะวันตกอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้


เมืองราชบุรี ถูกยึดก่อนเสียกรุงศรีฯ
ในเดือน 12 ปีระกา พ.ศ.2308 มังมหานรธา ก็ยกกองทัพมีจำนวนพล 30,000 คนจากเมืองทวายมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองราชบุรี แล้วจัดเมขะระโบ คุมกองทัพเรือยกไปทางแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน เพื่อเข้าตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี ขึ้นไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา

ส่วนตัวมังมหานรธา คุมกองทัพบกยกไปทางเมืองสุพรรณบุรี ตรงไปยังกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน เพื่อไปสมทบกับกองทัพใหญ่ของพม่าที่ยกมาแต่ทิศเหนือ การสงครามในครั้งนี้ใช้เวลาเป็นแรมปี กองทัพพม่าตีหัวเมืองทางภาคใต้ได้เกือบทั้งหมด และล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่กว่า 1 ปี จนกระทั้งสามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้เมื่อ วันอังคาร เดือนห้า ขึ้น 9 ค่ำปีกุน พ.ศ.2310


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 245-247)
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2302 เสียเมืองราชบุรี

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2554 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า "ขุนรองปลัดชู" มาฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดย  บริษัท บีบี พิคเจอร์ จำกัด เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากพงศาวดารในช่วงปี  พ.ศ.2302 ในสงครามการรบระหว่างไทยกับพม่าครั้งที่ 22   เหตุการณ์ของขุนรองปลัดชูนี้ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนกระทั่ง เมืองราชบุรีของเราได้เสียให้แก่พม่าอยู่เป็นเวลาหลายวัน  โดยเรื่องราวสงครามครั้งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในหลายแห่ง ผู้จัดทำได้พยายามรวบรวมสรุปได้พอสังเขป ดังนี้     


เมื่อสมเด็จพระพระบรมราชาที่ 3 (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์)  ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ทันถึงปี ก็มีศึกพม่ามาติดพระนคร ซึ่งแต่เดิมพม่าและไทยยังคงเป็นไมตรีกันอยู่ แต่ด้วยเหตุที่ไทยไม่ให้ความร่วมมือในการจับขุนนางมอญที่พาพวกไปปล้นทรัพย์เมืองสิเรียมของพม่าแล้วหนีไปทางอินเดีย แต่เรือถูกพายุหลงทางมาทางมะริด พม่าขอให้ไทยช่วยจับส่งพม่า แต่ไทยกลับทำเฉย เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญากษัตริย์ของพม่าทรงขัดเคืองไทยยิ่งนัก

ปีพุทธศักราช 2302 พระเจ้าอลองพญา มีรับสั่งให้มังระ ราชบุตรคนที่ 2 และมังฆ้องนรธา ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองทวายซึ่งแข็งเมืองอยู่ แล้วจึงเดินทัพเลยต่อมาเข้าตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีของไทย โดยอ้างว่าไทยทำให้เสียไมตรีโดยไม่ยอมจับผู้ร้ายขุนนางมอญส่งให้

การตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีเป็นไปโดยง่ายได้ ยังความประหลาดใจให้พระเจ้าอลองพญาว่า "เหตุใดทัพไทยจึงอ่อนแอนัก" และคิดกำเริบว่ายกทัพมาแล้วก็ลองเข้าตีกรุงศรีอยุธยาด้วยเลย  จึงสั่งให้จัดทัพที่ตะนาวศรี แล้วเดินทัพผ่านลงมาทางด่านสิงขร เข้าตีลงมาเรื่อยๆ

ในตอนที่กรุงศรีอยุธยา ได้รับทราบข่าวจากพระยาตะนาวศรี ว่ามีศึกพม่ามาประชิดเมือง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีรับสั่งให้จัดกองทัพไปรักษาเมืองมะริด ดังนี้

ทัพหลัก
  • พระยาราชรองเมือง ตำแหน่งว่าที่พระยายมราช เป็นแม่ทัพถือพล 3,000 คน
  • พระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้า
  • พระยาราชบุรี เป็นยกกระบัตร 
  • พระยาสมุทรสงคราม เป็นเกียกกาย
  • พระธนบุรี กับพระนนทบุรี เป็นกองหลัง
ทัพหนุน : พระยารัตนธิเบศ ตำแหน่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวัง คุมกองทัพจำนวน 2,000 คน เป็นกองหนุน โดยมีขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญเป็น ผู้ทรงวิทยาอาคม มีชื่อเสียงเลื่องลือในการรบ และคงกระพันชาตรี เข้ามารับอาสาพร้อมกับไพร่ 400 คน ขอไปรบกับพม่า  ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นกองอาทมาต (หน่วยรบพิเศษ) ร่วมทัพมากับพระยารัตนาธิเบศ

ทัพของพระยายมราช เข้าปะทะกับทัพของพม่าที่เมืองแก่งตุม (ปลายแม่น้ำตะนาวศรี) ด้วยกำลังที่น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยร่นไม่เป็นขบวน พระยารัตนาธิเบศตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ เมืองกุยบุรี แจ้งว่าทัพพม่ายกพลมาเป็นจำนวนมาก อาจต้านทานไว้ไม่ไหว จึงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่พล และเร่งอพยพผู้คนหลบหนีพม่า และหวังรวบรวมผู้คนเพื่อไปตั้งมั่นรับพม่าที่ชานพระนคร

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู
ที่วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย
อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

ที่มา : วิกิพีเดีย
ครั้งนั้น ขุนรองปลัดชู ได้อาสาขอต้านทานทัพพม่าด้วยกำลังพลเพียงสี่ร้อยนาย เพื่อยันทัพข้าศึกและเปิดทางให้รี้พลได้หลบหนี พระยารัตนาธิเบศ จึงได้แบ่งไพร่ให้อีกห้าร้อยนายไปช่วยกองกำลังของขุนรองปลัดชู ในการต่อต้านทัพพม่า

ณ  ชายหาดหว้าขาวชายทะเล (บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อย) เวลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูพร้อมกับเหล่าทหาร ตั้งท่ารอทัพพม่าอยู่ด้วยจิตใจห้าวหาญ เมื่อเห็นกองทัพพม่าก็กรูกันออกโจมตีทัพหน้าของพม่ารบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอนกัน แทงพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก และตัวขุนรองปลัดชูท่านถือดาบสองมือ วิ่งเข้าท่ามกลางข้าศึก ฟันพม่าล้มตายก่ายกองดั่งขอนไม้

ด้วยกำลังพลเก้าร้อยต่อทัพพม่านับหมื่นที่ยัดเยียดหนุนเนื่องกันเข้ามาต่อรบได้รบกันอยู่ตั้งแต่เข้าจนถึงเวลาเที่ยง ขุนรองปลัดชูไม่คิดถอยหนี ต่อสู้ทัพพม่าจนเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลัง ถูกกองทัพพม่าใช้พลทัพช้างขับช้างเข้าเหยียบจนล้มตาย ต่างพากันถอยร่นลงทะเล จนจมน้ำทะเลตายเสียสิ้น กองทัพพม่าจึงมีชัยชนะ (ในบันทึกของพม่าในกาลต่อมากล่าวว่า การตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ได้มีการต่อสู้กองทัพของกรุงศรีอยุธยา ที่ช่องเขาแคบๆ ริมทะเลอย่างประจัญบาน ดุเดือด ก่อนเข้าเมืองกุย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี)

พระยารัตนาธิเบศจึงได้เร่งเลิกทัพหนีมากับทัพพระยายมราช กลับมาถึงพระนครขึ้นเฝ้ากราบทูลว่า ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย

ฝ่ายทัพพม่าเมื่อมีชัยชนะเหนือกองทหารเก้าร้อยคน ก็เหนื่อยอ่อนหยุดทัพพักผ่อน ก่อนเดินทัพเข้าเมืองกุย เมืองปราณ เมืองชะอำ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี โดยไม่มีหัวเมืองใดลุกขึ้นสู้รบกับทัพพม่าเลย 

พระเจ้าอลองพญา ทราบข่าวว่ากองทัพไทยรบพุ่งอ่อนแอ จึงคิดจัดทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยจัดเตรียมทัพที่เมืองตะนาวศรี ให้มังระ ราชบุตรเป็นทัพหน้า พระเจ้าอลองพญาเป็นทัพหลวง ยกเข้ามาทางด่านสิงขร

เสียเมืองราชบุรี
ทางด้านเมืองกาญจนบุรี ทราบข่าวว่าทัพพม่าจะยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทางหนึ่ง จึงแจ้งข่าวไปยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้จัดเกณฑ์กองทัพ ดังนี้
  • พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพ ถือพล 10,000 คน ยกไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี
  • พระยาพระคลัง คุมกองทัพ 10,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี
ต่อมาเมืองกำแพงเพชรก็แจ้งข่าวอีกว่า พม่าจะยกทัพมาทางด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้ เจ้าพระยาอภัยราชา เป็นแม่ทัพยกไปคอยตั้งรับทัพพม่าที่ด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง

เมื่อกองทัพของมังฆ้องนรธา เดินทางมาถึงเมืองราชบุรี ได้สู้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนฝ่ายพม่าเกือบจะแตกพ่ายแพ้อยู่แล้ว กองทัพมังระ ยกตามมาทันจึงเข้าช่วยและระดมตีกองทัพไทยที่เมืองราชบุรีจนแตกหนีพ่ายแพ้

พระเจ้าอลองพญาหยุดรวบรวมพลอยู่ที่เมืองราชบุรี 4 วัน
จึงเดินทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่า "เสียเมืองราชบุรีแก่ข้าศึกแล้ว" ก็เกิดโกลาหล สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เกรงจะเกิดจลาจล จึงรับสั่งให้เชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร  พระอนุชาให้ลาผนวช แล้วมอบราชการทั้งปวงให้ทรงบัญชาการแทนพระองค์

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้เตรียมการป้องกันพระนคร โดยโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนา เป็นแม่ทัพ และให้พระยายมราช, พระยารัตนธิเบศ และพระยาราชรังสรรค์ เป็นนายกองคุมพล 20,000 คนออกไปตั้งรับทัพพม่าที่เขตต่อเมืองสุพรรณบุรี

ทัพพม่าและทัพเจ้าพระยามหาเสนา ปะทะกันที่ริมลำน้ำจักรราชในเขตบ้านทุ่งนาตาลาน (เขตต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองสุพรรณบุรี)  แต่ทัพพม่ามีกำลังมากกว่า กองทัพไทยต้องแตกหนีพ่ายไป เจ้าพระยามหาเสนาถูกอาวุธตายในที่รบ พระยายมราชถูกอาวุธบาดเจ็บและกลับไปตายในกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าก็เคลื่อนทัพยกเข้าติดพระนคร

หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน อาสาพาพวกจีนจำนวน 2,000 คน ออกตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น แต่ถูกพม่าตีแตกกลับมา พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และยิงด้วยปืนน้อยปืนใหญ่ ฝ่ายไทยเพียงตั้งรับอยู่ในพระนคร

ปรากฏว่า พระเจ้าอลองพญา ทรงบัญชาการรบและจุดปืนใหญ่เอง เผอิญปืนใหญ่แตกถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัสประชวรหนัก กองทัพพม่าจึงต้องเลิกทัพกลับไปทางด่านแม่ละเมา ในวันขึ้น 2 ค่ำเดือนหก พ.ศ.2303

แต่พระเจ้าอลองพญาได้สิ้นพระชนม์ในเขตแดนเมืองตาก

*************************************************

ที่มาข้อมูล  :
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 241-244) (ดูภาพหนังสือ)
  • _______. (2550). ย้อนรอยสองราชธานี - กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา. ไม่ทราบที่พิมพ์. (หน้า 155-156)
  • ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล .(2551).องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย: วีรกรรมขุนรองปลัดชู. [Online]. Available :http://www.aownoi.go.th/webpage/slogan.php?sg=5. [2554 กรกฎาคม 11 ].
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ "ปมาสี่สี่"

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญเรื่อง "ปมาสี่สี่" แปลโดยอาจารย์จวน เครือวิชฌยาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมของชาวมอญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานคติธรรมเรื่องนี้ ความว่า.......

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้าชื่อ "ตัณหังกร" โน้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า "ป่าชัญญวนา" มีภูเขาใหญ่เทือกหนึ่งชื่อว่า "วิชฌุบรรพต" มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า "ทัสสนะสาคร" ในป่าใหญ่แห่งนั้น มีสัตว์ต่างๆ ดังนี้
  • ช้างโขลงใหญ่ จำนวน 500 เชือก ณ ชายป่าแห่งนั้น
  • มีกบฝูงใหญ่  จำนวน 500 ตัว ในแม่น้ำใหญ่ทัสสนะสาคร
  • มีปูฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว แถบเชิงเขาแห่งนั้น
  • มีงูอาศัยอยู่อีก 500 ตัว บนยอดเขาใหญ่วิชฌุบรรพต
  • มีครุฑฝูงใหญ่พักอาศัยอยู่ 500 ตัว มีพระโพธิสัตว์เป็นพญาครุฑปกครองครุฑทั้งหลายฝูงนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง โขลงช้างทั้ง 500 ตัว ได้พากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ปูทั้ง 500 ตัวซึ่งอยู่ในแม่น้ำนั้นก็จับโขลงช้างนั้นกินเสียหมด รอดชีวิตแต่นางพญาช้างเผือกเชือกเดียวซึ่งมีท้องแก่ครบกำหนดวันคลอด ที่ไม่สามารถเดินทางรวมไปกับโขลงได้ คลอดลูกออกมาเชือกหนึ่ง แม่ช้างก็ได้เลี้ยงดูกันต่อมา

เมื่อปู 500 ตัวกินช้างเสียหมดแล้ว ปูฝูงนั้นก็ไม่สามารถหาอาหารอะไรมากินได้อีก จึงพากันขึ้นจากแม่น้ำขึ้นบนฝั่งเพื่อหาอาหารกิน  ฝ่ายกบ 500 ตัวที่อยู่บนฝั่งเห็นปูขึ้นมาจากแม่น้ำ ก็จับกินเป็นอาหารหมดสิ้น  เว้นแต่นางพญาปูตัวหนึ่งไปไม่ไหวท้องแก่ครบกำหนดคลอดจึงรอดชีวิตและคลอดลูกปูออกมาตัวหนึ่ง

เมื่อกบ 500 ตัวกินปูหมดแล้วก็ไม่มีอาหารอื่นในที่แห่งนั้นกินอีก กบจึงพากันไปหาอาหารกินแถบเชิงเขาลูกนั้น งู 500 ตัว เห็นปะเหมาะอาหารมาถึงปาก จึงจับกบฝูงนั้นกินเสียหมด เหลือนางพญากบตัวหนึ่งรอดชีวิตไม่ได้ไปเพราะคลอดลูกกบออกมาตัวหนึ่ง

ครั้นเมื่องูทั้งหลายกินกบหมดแล้ว ก็ไม่มีอาหารที่จะกินต่อไป จึงหากันออกไปหาอาหารกินเชิงภูเขา  ครุฑทั้งฝูงที่อยู่บนยอดเขาแห่งนั้นเห็นงู  จึงโผบินลงมาจับงูกินเสียสิ้น เว้นนางพญางูตัวเดียวออกลูกอยู่ไม่ได้ไป จึงรอดจากความตาย

ภาพจำลองประกอบบทความ

ลูกช้าง ลูกปู  ลูกกบ และลูกงู 
สัตว์ทั้งสี่นี้ ผู้เป็นแม่นางพญาต่างๆ ก็หมั่นพร่ำสอนลูกของตนอยู่เป็นประจำว่า

"ลูกเอย เจ้าอย่าได้ท่องเที่ยวไปในที่ภูมิประเทศนั้นๆ นะลูก เพราะมีศัตรูคอยจ้องปองร้ายจับกิน พวกพ่อแม่พี่น้องและบริวารเราทั้งหลายถูกมันจับกินไปหมดแล้ว  ขอลูกจงอย่าไปเล่น หลีกเร้นไปให้ไกลในแห่งนั้นนะลูก"

ข้อความนี้แม่ก็ไม่เว้นพร่ำสอนลูกตนตลอดเวลา ต่อมามิช้านาน ลูกสัตว์ทั้วสี่ตัวก็เจริญเติบโตขึ้น มีพละกำลังวังชามากกล้าแข็งเต็มตัว ต่างคิดกำเริบเหมือนกันว่า

 "ที่แม่ของเราห้ามเรานั้น เพราะในสถานที่นั้นมีข้าศึกศัตรูของเรา เราจึงอยากพบเห็นศัตรูตัวนั้นแท้ๆ "

จึงฝ่าฝืนคำสั่งสอนของแม่ ขัดใจแม่ออกไปท่องเที่ยวเล่นตามสถานที่แห่งนั้น

ในบรรดาลูกสัตว์ทั้งสี่ มีลูกช้างลงไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ลูกปูฝืนคำสั่งสอนของแม่ขึ้นไปท่องเที่ยวเล่นบนฝั่งแม่น้ำ ลูกกบฝืนคำสั่งสอนของแม่ออกจากใบไม้ กิ่งไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกงูก็เช่นกัน ฝืนคำสั่งสอนของแม่ท่องเที่ยวเลื้อยขึ้นไปบนยอดภูเขา

ลูกช้างที่ท่องเที่ยวเล่นไปในแม่น้ำถูกลูกปูเอาก้ามหนีบเอาเท้าไว้ ด้วยความแข็งแกร่งรีบลากลูกช้างขึ้นบนฝั่งทั้งที่หนีบเท้าอยู่  ครั้นลูกกบเห็นเข้าก็วิ่งไล่ตามลูกปู ลูกปูตกใจกลัวลูกกบ จึงปล่อยลูกช้าง  ลูกงูเห็นลูกกบวิ่งไล่จะจับกิน ลูกกบตกใจกลัวลูกงู  จึงปล่อยลูกปูไป ครุฑที่อยู่บนยอดเขามองลงไปเห็นลูกงู  จึงบินโฉบลงมาเฉี่ยวลูกงูกิน  ลูกงูตกใจกลัวครุฑจึงได้ปล่อยลูกกบวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้

เหตุที่เกิดนี้ เพราะลูกสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ ไม่เชื่อฟังแม่จึงตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ดหลาบ ลำพองใจของลูกสัตว์ทั้งสี่ตัวนั้นเลย

ลูกช้างมันกล่าวว่า "แม่น้ำที่เราลงไปเล่นปูก็หนีบเท้าเรา แต่ปูถูกกบไล่จับกิน เราก็พ้นจากอันตราย ปูคงกลัวกบจะไม่กล้ามาหนีบเท้าเราอีก"

ลูกปูกล่าวในทำนองเดียวกันว่า "ในสถานที่เราท่องเที่ยวไปนั้นมีงู กบคงไม่กล้ามาอีกแล้ว"

ลูกกบกล่าวว่า "ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น มีครูฑอยู่ งูหรือจะกล้ามาอีก"

ลูกงูกล่าวว่า " ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น ครุฑหรือจะมาได้ทุกๆ วัน"

เมื่อเป็นอย่างว่า สถานที่นั้นก็ไปได้เสมอ ลูกสัตว์ทั้งสี่ลำพองใจจึงไปสถานที่นั้นๆ อีก ครั้นลูกช้างไปถึงแม่น้ำ ก็มีความเกรงกลัวจึงเพียงแต่เอางวงแกว่งน้ำเล่นก่อน ในขณะนั้นเองลูกปูก็หนีบได้งวงลูกช้างลากจูงขึ้นไปบนฝั่ง ลูกปูก็กินลูกช้างเสียเป็นอาหารบนฝั่งนั้น เมื่อลูกช้างเข้าไปในท้อง เกิดหนักท้อง หนักตัว ลูกปูวิ่งไปได้ไม่รวดเร็ว ลูกกบเห็นลูกปูเข้าก็กระโดดมาจับลูกปูกิน  ทั้งช้างทั้งปูเข้าไปอยู่ในท้อง ลูกกบตัวหนักมากกระโดดไม่ไหว ฝ่ายลูกงูเห็นลูกกบก็จับลูกกบกินเสียอีกต่อหนึ่งอีก เมื่อทั้งช้าง ปู กบ เข้าไปอยู่ในท้องลูกงู  มีน้ำหนักมากเหลือกำลังที่จะเลื้อยต่อไปได้ ครุฑเห็นโอกาสเหมาะโฉบเฉี่ยวเอาไปกินเสียทั้งหมดเลย

จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งสี่ มีความโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจ  ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่จึงตกเป็นอาหารของครุฑ 

บุคคลใดในโลกนี้
บิดามารดาก่อทุกข์ยากเสียหายให้บุตรธิดานั้น ไม่มี
ปู่ ย่า ตา ยาย สร้างความทุกข์ลำบากเสียหายให้แก่ลูกหลานเหลนนั้น ไม่มี
พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ให้ความทุกเข็ญแก่ศิษยานุศิษย์ ไม่มี
กัลยาณมิตรหรือบัณฑิตที่แนะนำสั่งสอนเราให้ได้ดี คิดที่จะให้ทุกข์ยากและความเสียหายก็ไม่มี
มีแต่เจตนาที่มุ่งหวังให้เรามีความสุขความเจริญเท่านั้น

บุคคลใดก็ตามผู้เป็นบุตรธิดา ฝ่าฝืนจิตใจหรือไมเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา
ลูกหลานเหลนฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของปู่ ย่า ตา ยาย
ลูกศิษย์ฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระอุปชฌาย์ อาจารย์
มิตรสหายไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของกัลยาณมิตรหรือบัณฑิต
บุคคลเหล่านี้มีแต่จะได้รับความทุกข์ยากเสียหายแน่แท้

ดังตัวอย่างสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ก็ถึงตายในที่สุด
บิดามารดา ท่านสั่งสอนอย่างไรไม่ควรฝ่าฝืนหรือต่อต้านละเมิดคำสั่งสอนของท่าน
เราปฏิบัติตามแล้วไซร้ ความสุขสราญสดใส เราจะได้รับอย่างแน่แท้


*******************************************  
ที่มา
จวน  เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

นิทานชาวกะเหรี่ยง "หนั่งแว่น"

นิทานเรื่อง "หนั่งแว่น" นี้ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนลูกหลาน ในบทความนี้เป็นการเล่าโดย นางไก่ ทึงลึง อายุ 67 ปี (เมื่อ พ.ศ.2543) บ้านอยู่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบรุี  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานเรื่องนี้ ความว่า.......

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา :
http://board.postjung.com/
m/532269.html
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งนามว่า "หนั่งแว่น" ซึ่งเป็นคนขยัน  วันหนึ่งเขาขึ้นไปตัดต้นไม้ที่มีตีนเขาแล้วจุดไฟ  เขาคิดจะทำไร่ จึงได้เอาข้าวโพดไปปลูก และเมื่อข้าวโพดออกลูก เสือสมิงจึงกินหมด  หนั่งแว่นจึงโกรธมาก ได้เอากับดักมาดักเสือสมิง เมื่อดักเสร็จแล้วก็กลับบ้านไป  

เมื่อเสือสมิงมากินข้าวโพด ไม่ทันมองลงพื้นจึงโดนกับดักของหนั่งแว่น และเสือสมิงโกรธมากจึงถามต้นไม้ว่า "ใครเอากับดักมาวางดักตน" ต้นไม้จึงบอกว่า "คนที่มาดักกับดักนี้ชื่อหนั่งแว่น" เสือสมิงอาฆาตหนั่งแว่นมากจึงบอกพรรคพวกว่าตนจะคอยกินหนั่งแว่นตรงที่นี่ละ

วันต่อมา ขณะที่หนั่งแว่นเดินลงบันไดไปนั้น ได้จามออกมาระหว่างก้าวลงบันได ซึ่งโบราณถือว่า "จามขณะลงบันไดให้หยุดการเดินทางสามวันเพราะจะเกิดเรื่องร้าย" หนั่งแว่นจึงต้องอยู่บ้านสามวัน วันสุดท้ายเขาก็ไม่ถือจึงคิดจะไปที่ไร่ ขณะที่ก้าวลงบันไดนั้นยังจามอยู่ เขาก็เลยไปไม่สนใจคำถือแล้ว

เมื่อมาถึงไร่ หนั่งแว่นก็ได้ยินเสียงเสือสมิงหาวดัง ฮ้าว...และพูดขึ้นว่า เฝ้าหนั่งแว่นมาเจ็ดคืนแล้วนะแต่ไม่เห็นเขามาเลย เราควรกลับได้แล้วนะ หนั่งแว่นเมื่อได้ยินเสียงเสือสมิง และเห็นตัวเสือสมิงก็กลัวจึงรีบวิ่งกลับบ้าน พอถึงบ้านก็พูดกับตัวเองว่า "ถ้าเราไปไร่เร็วกว่านี้เราคงโดนเสือสมิงกินแน่ๆ เลย"

หลังจากนั้นหนั่งแว่นก็ไม่ไปที่ไร่ข้าวโพดอีกเพราะกลัวเสือสมิง แล้วเขาก็ไปทำไร่ที่อื่น เขาดำเนินชีวิตไปด้วยความสุขหลังจากไปทำไร่ที่อื่น


**********************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 162). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานชาวโพหัก "ช้อนกะลา"

นิทานเรื่อง "ช้อนกะลา" นี้ เป็นวรรณกรรมของชาวโพหัก อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนลูกหลาน ในบทความนี้เป็นการเล่าโดย นางสมเกลี้ยง พงษ์กลัด ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานเรื่องนี้ ความว่า.......


ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.sri.cmu.ac.th/
~postharvest/4/4_3_5.htm
มีชายหนุ่มสองคน ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทกันมาก
โดยที่คนหนึ่งมีฐานะร่ำรวย แต่คนหนึ่งฐานะยากจน
และด้วยความจน...ชายหนุ่มจึงนำภรรยาของตนไปจำนำไว้กับเพื่อนที่รวยกว่า

วันหนึ่งหนุ่มเศรษฐี ได้เชื้อเชิญหนุ่มที่จนมาทานข้าวด้วย
โดยเอาช้อนทำจากกะลามาให้เพื่อนใช้
จึงทำให้เขารู้สึกน้อยใจในโชคชะตา
จึงเก็บเอาช้อนกะลามาไว้ที่บ้าน

เมื่อทุกครั้งที่เขามองเห็นช้อนนี้
เขาจึงอดทนทำงานอย่างขยันขันแข็งจนร่ำรวยต่อไปในที่สุด
จนได้ภรรยาของเขากลับคืนมา......

***************************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 162). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในราชบุรี

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดราชบุรีนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
  2. กลุ่มนิทาน - วรรณกรรมศาสนา
  3. กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์

กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
พบในกลุ่มชนเกือบทั้งหมดคือ ลาวเวียง ไทยโพหัก  เขมรลาวเวียง ไทยวน  กะเหรี่ยง ในเนื้อเรื่องของนิทานจะเป็นเรื่องเล่าขำขันบ้าง   เรื่องประเภทสองแง่สองง่ามบ้าง เพื่อให้ผู้เล่าและผู้ฟังได้สนุกสนานร่วมกัน  นิทานพื้นบ้านเหล่านี้มักจะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไปบ้าง 

ส่วนปริศนาคำทายมักจะฟังดูหยาบคาย หรือชวนให้คิดว่าคำตอบหยาบคาย เป็นประเภทคำถามสองแง่สองง่าม เช่น "อะไรเอ่ย  จั๊ก  กะดอย มีหมอย 2 เส้น"  คำตอบคือ "ด้ายเย็บผ้า" คำทายฟังดูหยาบคายแต่คำตอบกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำหยาบคายแต่อย่างใด 

กลุ่มนิทานปริศนาคำทายนี้มักจะเล่าหรือทายกันในเวลาหลังอาหารเย็น เป็นการผ่อนคลายและสนุกสนาร่วมกัน

กลุ่มนิทาน-วรรณกรรมศาสนา
พบในกลุ่มชาวบ้านโพหัก  มอญ และลาวโซ่ง โดยเฉพาะมอญนั้น จะไม่พบนิทานประเภทสนุกสนานเฮฮาหรือสองแง่สองง่าม จะมีแต่นิทานอิงธรรมะหรือนิทานที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีพุทธศาสนา ในการเล่าเรื่องวรรณศาสนา ผู้เล่ามักเป็นผู้ที่มีการศึกษาและมักเล่าให้ฟังในเวลาที่มีการชุมนุมกันหลังอาหารเย็น

เรื่องที่เล่าคือเรื่องนิทานในพระไตรปิฎกที่มีการดัดแปลงให้เป็นภาษาที่ฟังง่ายแต่อิงหัวข้อธรรมมะ   ซึ่งเป็นการสอนให้กับผู้ฟังไปในตัว มีการตัดตอน ย่อเรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย เพราะนิทานในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดมาก เนื้อเรื่องจึงยาว และเข้าใจยาก ฉะนั้นจึงมีการดัดแปลงกันนิดหน่อยเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกสนาน

กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์
พบในกลุ่มชนบ้านโพหัก เป็นตำนานเล่าเรื่องของหมู่บ้านว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด ใครเป็นผู้นำให้มีการสร้างบ้านแปลงเมืองในสถานที่นี้  ตำนานประเภทนี้มักจะไม่มีการบันทึก เพียงแต่เป็นการเล่าปากต่อปาก

ส่วนนิทานอิงประวัติศาสตร์พบในกลุ่มชาวจีน นิทานประเภทนี้ได้แก่เรื่อง สามก๊ก  เลียดก๊ก ไซอิ๋ว ฯลฯ กลุ่มคนจีนเกือบทั้งหมดจะทราบรายละเอียดเป็นอย่างดี เพราะต้องเรียนเรื่องเหล่านี้ผ่านมาตั้งแต่เด็ก หรือถ้าไม่เรียนคนสูงอายุก็มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอ  วรรณกรรมประเภทนี้ได้ถูกบันทึกไว้  จึงไม่พบว่าคลาดเคลื่อนหรือเลือนหายไปมากนัก  จะเป็นก็แต่การดัดแปลงเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาเข้มข้นยิ่งขึ้นเท่านั้น

สรุปในภาพรวม
วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี จะมีลักษณะที่คล้ายกันโดยโครงเรื่อง  แต่รายละเอียดอาจจะผิดแผกไปบ้าง โดยเฉพาะประเภทนิทานพื้นบ้าน และปริศนาคำทาย  เพราะไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนวรรณกรรมศาสนาและนิทานอิงประวัติศาสตร์ มักจะไม่คลาดเคลื่อนเพราะได้รับการบันทึก  เพียงแต่อาจจะมีการตัดทอนย่อเรื่องบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งส่วนสำคัญของเรื่อง เช่นหัวข้อธรรมมะ เป็นต้น


******************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 160-161). (ดูภาพหนังสือ)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

คำให้การของศรีวิชัย ทรงสุวรรณ คนต้นแบบเลิกเหล้าตลอดชีวิต

หลายท่านอาจจะได้ยินชื่อของอาจารย์ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ มาบ้างแล้ว และหลายท่านก็อาจจะไม่เคยได้ยิน ท่านเป็นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของ จ.ราชบุรี ที่น่าศึกษา   ประวัติของท่านหาค่อนข้างยากมาก เพราะท่านค่อนข้างถ่อมตน ไม่เคยอวดภูมิรู้แก่ผู้ใด 

เรื่องราวหลายเรื่องที่น่าสนใจซึ่งเกิดกับชีวิตของท่าน ท่านมักจะเขียนออกมาในรูปของบทความและเรื่องเล่า  หลังจากที่ผมมีโอกาสได้พบท่าน ตอนเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ด้วยกัน ระหว่างปี พ.ศ.2551-2554 ผมตั้งใจจะศึกษาเรื่องราวและผลงานของท่านที่มีอยู่ ออกมาเผยแพร่เพื่อให้หลายๆ คนได้เอาเยี่ยงเอาอย่างมาดำเนินชีวิตต่อไป 

ผมพยายามค้นข้อมูลจากท่านในหลายๆ ทาง เผอิญไปพบ เรื่อง "คำให้การของคนเคยดื่มเหล้า" ซึ่งปรากฏในเว็บไซต์ stopdrink.com  เป็นบทความที่ท่านเล่าให้ฟัง ผมคิดว่าน่าสนใจมากครับเพราะเรื่องราวบางเรื่องเกิดขึ้นในจังหวัดราชบุรีของเราเอง  จึงได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในราชบุรีศึกษานี้อีกช่องทางหนึ่ง

ที่มาของภาพ
http://www.stopdrink.com/index.php?
modules=news&type=5&id=1889

ซ้ายสุด : คุณศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ
ท่านให้การไว้ดังนี้
ยายเคยเล่าให้ฟังว่าเมื่อใดที่ผมคลานเข้าไปในวงเหล้าที่มีพ่อกับแม่และวงศาคณาญาติรวมวงนั่งดื่มเหล้ากันอยู่ ไม่พ่อก็แม่จะใช้นิ้วของท่านจุ่มลงไปในแก้วเหล้า นำเหล้าซึ่งติดอยู่ปลายนิ้วมากวาดที่ลิ้นของผม ทำให้ลิ้นของผมได้สัมผัสกับแอลกอฮอล์ตั้งแต่ผมยังจำความไม่ได้

บรรพบุรุษทั้งฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ (ยกเว้นยาย) ดื่มเหล้ากันทุกคน เคยถามท่านเหล่านั้นว่าดื่มเหล้าแล้วได้ประโยชน์อะไรที่ได้รับคำตอบว่า ดื่มเพื่อให้หายเมื่อย ดื่มแล้วกินข้าวอร่อย ดื่มแล้วนอนหลับสบาย ดื่มแล้วช่วยดับความทุกข์ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง ดื่มแล้วมีเพื่อนมาก ส่วนน้องชายของพ่อตอบว่าดื่มแล้วทำให้อารมณ์เบิกบาน

เมื่อใครก็บอกว่าดื่มเหล้าแล้วดีมีประโยชน์ผมจึงเริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 14 ปี เป็นการดื่มหลังจากเลิกงานแบกหามดื่มพอตึง ๆ หน้าก็กินข้าวและเข้านอน จริงอย่างที่ผู้ใหญ่เขาพูดกันดื่มเหล้าแล้วหายเมื่อย นอนหลับสบาย

แต่ที่ผู้ใหญ่ไม่เคยบอกผมก็คือ ดื่มเหล้าแล้วเงินที่ได้มาจากการแบกหามจะหมดไปกับค่าเหล้าและค่ากับแกล้ม ตื่นนอนตอนเช้าจะรู้สึกมึนศีรษะและอ่อนเพลียจนแทบไม่อยากลุกจากที่นอน

รับจ้างเขาหาบหิน ดิน ทราย และทำงานก่อสร้างอยู่ได้ระยะหนึ่ง ร่างกายก็สู้กับงานหนักไม่ไหว ข้อเท้าอักเสบเดินไม่สะดวก บ่าทั้งสองข้างระบบ บวม และแตกเป็นแผล เมื่อรักษาอาการต่าง ๆ หายเป็นปกติจึงทิ้งงานแบกหาม ไปทำงานที่วิกหนัง ญาติพี่น้องหลายคนออกมาคัดค้านต่างคนต่างบอกผมว่า ที่โรงหนังมีแต่พวกกุ๊ย พวกนักเลง

ผมไม่สนใจคำพูดคัดค้านเหล่านั้น ใจคิดแต่เพียงว่างานอะไรก็ได้ทำแล้วได้เงินผมทำทั้งนั้น ยกเว้นงานทุจริตผิดกฎหมาย ทำงานผิดกฎหมายแม้จะรวยได้ดีก็จริง แต่สุดท้ายคนทำจะต้องติดคุกติดตะรางหรือไม่ก็ถูกฆ่าตัดตอน

คนทำงานโรงหนังมีทั้งกลุ่มที่ดื่มเหล้าและไม่ดื่มเหล้า
คนไม่ดื่มเหล้าทุกคนล้วนเป็นผู้อาวุโส คนดื่มมีแต่วัยรุ่น

นวัยเดียวกับผมจะนัดกันไปตั้งวงดื่มเหล้าบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองหน้าหอนาฬิกา
ห้าโมงเย็นเป็นเวลาตั้งวง หกโมงเย็นหยุดดื่มแล้วเดินตามกันเป็นขบวนเพื่อไปทำงานที่โรงหนัง

เถ้าแก่โรงหนังพูดสำทับเอาไว้ว่า "ถ้าคนทำงานโรงหนังคนไหนปล่อยให้ใครก็ตามเดินเข้าดูหนังฟรีจะต้องถูกหักเงินเดือนเท่ากับราคาตั๋วทุกครั้งไป"  ผมจึงไม่ยอมให้ใครเดินเข้าดูหนังฟรี

ทำงานได้เจ็ดวันก็มีเรื่อง นักเลงรุ่นไหนก็ไม่รู้เดินส่ายร่างจะเข้าดูหนังฟรี  เมื่อผมขัดขวางเขาก็ผลักอกผมจนร่างผมเซถลา ดีกรีของเหล้าที่ซึมอยู่ในกระแสเลือดบวกกับความไม่ยอมคนที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้ผมประเคนหมัด เท้า เข่า ศอกใส่นักเลงคนนั้นจนเพื่อน ๆ ต้องช่วยกันห้ามคู่กรณีไปแจ้งความนำข้อหาทำร้ายร่างกายมายัดเยียดให้ผม เพื่อน ๆ บอกนายร้อยเวรว่าผมถูกทำร้ายก่อน สุดท้ายตำรวจก็สั่งปรับเป็นเงินคนละเท่า ๆ กันทั้งสองคนนับเป็นการขึ้นโรงพักครั้งแรกในชีวิต นักเลงในยุคนั้นมีทั้งนักเลงแท้และนักเลงเทียม

นักเลงแท้ คือ คนที่นิยมสู้กันแบบตัวต่อตัว ก่อนจะสู้กันจะต้องถามคู่ต่อสู้ก่อนว่าจะสู้กันด้วยหมัด เท้า เข่า ศอกหรือจะสู้กันด้วยอาวุธ อาวุธที่นำมาใช้สู้กันก็มีสนับมือ ไม้คมแผก มีดพก

นักเลงเทียม คือพวกที่นิยมทำร้ายคู่ต่อสู้แบบลับหลังหรือที่นักเลงเรียกกันว่า “ลอบกัด” หรือใช้วิธีรุมสกรัมคู่ต่อสู้หรือที่นักเลงเรียกกันว่า”หมาหมู่”

ครั้งหนึ่งผมถูกคนแปดคนรุมทำร้ายผมแบบหนึ่งต่อหนึ่งแปด หลังการต่อสู้ปรากฏว่าใบหน้าของผมยับเยิน คิ้วแตก ริมฝีปากฉีก ดั้งจมูกหัก ผิวหนังที่กลางหลังถูกดาบฟันเป็นแผลยาวหมอต้องเย็บถึง 42 เข็ม

ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ผมไม่รู้สึกเจ็บแผลแต่รู้สึกเจ็บแค้น
เป็นความแค้นที่ทำให้ผมตามเอาคืนจนครบทั้งแปดคน

ทำงานโรงหนังได้ระยะหนึ่งเห็นผู้สูงอายุท่านหนึ่งมาทำหน้าที่เขียนภาพเหมือนและอักษรประดิษฐ์อยู่ที่โรงหนังผมอยากจะเขียนภาพบ้างจึงฝากตัวขอเป็นศิษย์ ซึ่งครูก็สอนให้ ครูไม่นิยมทำงานในตอนกลางวันชอบเขียนภาพในตอนกลางคืน ครูจะเริ่มเขียนภาพตั้งแต่สองทุ่ม เขียนเรื่อยไปจนถึงตีหนึ่งตีสองจึงจะหยุดเขียน

ก่อนเขียนภาพครูจะต้องดื่มเหล้าถ้าไม่ดื่มมือครูจะสั่น สั่นจนไม่สามารถจับพู่กันเขียนภาพได้ ดื่มเหล้าแล้วมือไม่สั่น ครูจึงใช้ให้ผมเดินไปซื้อเหล้า คอยรินเหล้าให้ครู ครูดื่มไปหนึ่งเป๊ก ผมก็หนึ่งเป๊ก ครูไม่เมาหรอกครับเพราะชั่วโมงการดื่มเหล้าครูมีมากกว่าผม แต่ผมแค่สองสามเป๊กก็ทำท่าจะเมาแล้วจึงดื่มให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้เพราะอยากได้ความรู้ที่ครูสอน

พอผมเขียนภาพเหมือนได้ครูก็บอกกับเถ้าแก่ว่าครูไปทำงานที่อื่น โรงหนังนี้มีคนเขียนภาพเหมือนได้แล้ว ก่อนวันที่ครูจะอำลา ผมเลี้ยงส่งครูด้วยการนั่งดื่มเหล้ากับครูทั้งคืนฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ผมไม่รู้ที่ต่ำที่สูงทำตัวเสมอครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

ครั้งหนึ่งผมไปช่วยงานอุปสมบทเพื่อนในหมู่บ้านนั่งดื่มเหล้ากับนักดื่มในหมู่บ้านจนเมาและหลับคาวงเหล้า ผู้ประสงค์ร้ายหามร่างของผมไปนอนแผ่อยู่ในโรงครัว ผู้หญิงที่มาช่วยหั่นมะเขือ ปอกหอม ทุบกระเทียม ขูดมะพร้าวหั่นผัก ตำน้ำพริก คงจะซุบซิบนินทาผมว่า “เมาแล้วนอนเหมือนหมา” หรือว่านินทามากกว่านั้น เพราะเมื่อผมลืมตามองพวกเขาก็ได้ยินเสียงแว่วมาเข้าหูว่า “ไอ้ขี้เหล้าตื่นแล้ว” ทำให้ผมรีบพยุงตัวลุกขึ้นยืนแล้วพาร่างเดินไปให้พ้นจากโรงครัว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ผมนอนที่ไหนก็ได้ เสียบุคลิกภาพ ขาดความหน้าเชื่อถือ ทั้งยังถูกประณามว่าไอ้ขี้เมา ไอ้ขี้เหล้า

ทำงานอยู่โรงหนังได้หกปีมีเรื่องกับคนเบ่ง เดินเข้าดูหนังฟรีนับครั้งไม่ถ้วน ขึ้นและลงโรงพักจนตำรวจเอือมระอา พันตำรวจเอกพร้อม สุขมาก ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นเพื่อนกับพ่อบอกกับพ่อว่า ถ้ายังให้ผมทำงานอยู่ที่โรงหนังมีหวังผมจะถูกรุมตีตาย จึงอยากให้พ่อจัดงานอุปสมบทผม พ่อเห็นดีด้วย ผมจึงได้อุปสมบทที่วัดเทพอาวาส

ระหว่างอุปสมบทพระมหาสมโภช สะคารโว เจ้าอาวาสวัดเทพอาวาส มีเมตตาผมมากกว่าพระรูปอื่น สังเกตได้จากทุกเย็น เมื่อพระทุกรูปลงโบสถ์พร้อมกันเสร็จภารกิจในโบสถ์พระรูปอื่นจะกลับกุฏิแต่ผมต้องนั่งฟังหลวงพ่ออบรมเรื่องการปรับอารมณ์ตนเองให้มีความอดทน อดกลั้น ให้ใช้สติก่อนที่จะทำการใด ๆ อบรมวันละ 1 ชั่วโมงทุกวันนครบสี่เดือน อยู่ในผ้าเหลืองได้สี่เดือนกว่า ๆ ก็ลาสิกขาบท แล้วกลับมาทำงานที่โรงหนังต่อ ทำงานอยู่ที่โรงหนังได้เดือนกว่า ๆ ก็เกิดความขัดแย้งกับวงศาคณาญาติของเถ้าแก่ ผมเลยอำลาโรงหนัง ไม่มีงานทำอยู่สิบห้าวัน

มีผู้มาติดต่อให้ไปทำงานที่โรงหนังในจังหวัดสมุทรสาครหนึ่งราย และที่จังหวัดสมุทรสงครามอีกหนึ่งราย ขณะที่กำลังเลือกว่าจะไปทำที่จังหวัดใดดี ก็มีผู้มาแนะนำให้ไปสมัครขับรถยนต์ที่หน่วยงานราชการ ด้วยเห็นว่าผมขับรถยนต์ได้ ผมจึงเลือกที่จะไปสมัครขับรถยนต์ ขอกราบขอบพระคุณนายแพทย์ดิลก ทิวทอง ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 ที่มีเมตตาผมรับผมเข้าทำงาน ช่วยให้ผมพ้นจากคำว่า “กุ๊ยหน้าวิก” มีงานมั่นคงทำ แต่ก็ยังดื่มเหล้าเพราะเพื่อนร่วมงานหลายคนดื่ม แต่การดื่มครั้งนั้นผมดื่มแบบมีสติจึงไม่เมาแบบที่ผ่าน ๆ มา นั่งดื่มกับผองเพื่อนประมาณชั่วโมงกว่า ๆ ก็ขอตัวกลับบ้าน ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวันเพื่อไม่ให้เสียเพื่อน

ขับรถยนต์พาพยาบาลไปทำงานในชนบทอยู่สามปี ผมก็มีความรักกับผู้หญิงที่มีศักดิ์ศรีเหนือกว่าผม เป็นความรักที่ถูกขัดขวางจากผู้บังคับบัญชาของฝ่ายหญิงและเพื่อนของฝ่ายหญิงบางคน ความรักของผมงอกงามได้ปีกว่า ฝ่ายหญิงก็ได้ทุนไปศึกษาต่อที่กรุงเทพมหานคร เป็นการพลัดพรากกันอย่างมีเหตุมีผล เพราะหลังเธอจบการศึกษาเธอก็ขอย้ายไปทำงานที่บ้านเกิดของเธอ “อย่าถามเลยครับว่าผมเสียใจมากไหม” เสียใจก็ต้องดื่มเหล้า นักดื่มหลายคนพูดได้อย่างนั้น ผมจึงดื่มเพื่อให้ลืมเธอ ดื่มจนครองสติไม่ได้ บ้านไม่กลับ อาศัยรถบัสของศูนย์อนามัยแม่และเด็กเป็นที่หลับนอน เกิดภาวะเบื่ออาหาร เครียด เกิดอาการปวดท้อง หมอบอกผมว่ากระเพาะอาหารของผมมีแผล ช่วงนั้นเลยต้องกินยารักษาแผลในกระเพาะอาหารแทนข้าว

ที่มาของภาพ
http://culture.mcru.ac.th/inter0416.html
เจ้าอาวาสวัดเทพอาวาส ทราบว่าผมกำลังจะเสียคนท่านจึงมารับผมไปนอนพักที่วัด ท่านนำธรรมะของพระพุทธเจ้า ว่าด้วยเรื่องการพลัดพรากจากของที่ตนรักตนชอบใจมาปรับอารมณ์จนผมสงบและมีสติ นอนพักอยู่ที่วัดอยู่หลายคืน หลวงพ่อเห็นว่าผมหยุดดื่มเหล้าได้แล้วจึงบอกให้กลับไปนอนบ้าน

ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ผสมกับความผิดหวังในความรักทำให้รูปร่างของผมผอมจนเพื่อนร่วมงานพูดกันว่า “รูปร่างมีแต่หนังหุ้มกระดูก” หยิบภาพถ่ายในครั้งนั้นขึ้นมาดูครั้งใด ใจก็คิดว่ามันเป็นอย่างที่เพื่อนพูดจริง ๆ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดศูนย์อนามัยแม่และเด็กเขต 7 จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 21 เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2512 วันนั้นผมอยากเห็นทั้งสองพระองค์เป็นอย่างยิ่ง แต่หัวหน้างานธุรการออกคำสั่งให้ผมและพนักงานขับรถยนต์ทุกคนอยู่ที่โรงรถ ทำให้ผมเสียใจมาก อยากพบแต่ไม่ได้พบ

ปีต่อมาทั้งสองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้ากฐินต้นพระราชทานให้กับวัดเขาวัง พระอารามหลวง ในวันที่ 18 เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2514 ผมจึงให้เพื่อนที่มีร้านจำหน่ายดอกไม้ทำมาลัยกรให้ผม 2 พวง ผมนำมาลัยกรไปทูลถวายขณะที่ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ เยี่ยมประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาประทับยืนอยู่ตรงหน้า ผมทูลถวายมาลัยกร พระองค์รับมาลัยแล้วมีพระเมตตาสอบถามความเป็นอยู่และหน้าที่การงานของผม ที่ผมจำได้และไม่ยอมให้ลืม คือประโยคที่พระองค์ถามว่า

“มีการศึกษาระดับไหน”
ผมกราบบังคมทูลไปว่า “ประถมปีที่สี่พะย่ะค่ะ”

“ปีนี้อายุเท่าไหร่แล้ว”
ผมกราบบังคมทูลไปว่า “ยี่สิบเจ็ดปีพะย่ะค่ะ”

“จงหาทางศึกษาต่อหน้าที่การงานจะได้ก้าวหน้ามากกว่านี้”
ผมรีบรับสั่งในขณะที่น้ำตาเต็มสองเบ้าตา

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จมาประทับอยู่ตรงหน้า ผมทูลถวายมาลัยกร ทรงรับมาลัยไปจากพาน มีพระเมตตารับสั่งกับผมว่า

“พระเจ้าอยู่หัวทรงพอพระทัยถึงได้รับสั่งด้วยเป็นเวลานาน
พยายามพัฒนาตนเองตามรับสั่งนะ”
คราวนี้น้ำตาผมพรั่งพรู กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่เพราะความตื้นตันใจและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ วันนั้นเป็นวันที่ผมอิ่มเอิบใจ ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้รับเสด็จทั้งสองพระองค์แบบใกล้ชิด พระสุรเสียงที่นุ่มนวล แผ่วเบา บ่งบอกถึงความเมตตายังอยู่ในความทรงจำของผมจนกว่าผมจะหมดลมหายใจ

ผมรับรับสั่งแล้วนำมาปฏิบัติโดยเข้าเรียนในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ที่โรงเรียนผู้ใหญ่วัดเขาวัง (แสงช่วงสุวนิช) เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ขณะที่ผมมีอายุ 27 ปี และเรียนจนสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ.3)

นายแพทย์ดิลก ทิวทอง อนุญาตให้ผมไปสอบแข่งขันชิงทุนพนักงานอนามัยที่ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานอนามัย ภาคกลาง จังหวัดชลบุรี ผมสอบได้และเข้าศึกษาจนจบหลักสูตร เมื่อเรียนจบหลักสูตร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ก็เปลี่ยนตำแหน่งให้ จากลูกจ้างประจำเปลี่ยนมาเป็นข้าราชการ

ผมได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในปีพุทธศักราช 2521 ขณะที่ผมมีอายุ 32 ปี ต่อมานายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยแม่และเด็กคนที่ 3 สนับสนุนให้ผมไปสอบแข่งขันเพื่อศึกษาต่อที่คณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สอบครั้งแรกในปีแรกสอบไม่ได้ สอบครั้งที่สองในปีที่สองสอบได้ จึงได้ศึกษาจนจบหลักสูตร

วันที่ผมสำเร็จการศึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรให้ พระองค์รับสั่งให้ผมไปหาทางศึกษาต่อเพื่อความก้าวหน้าของตนและหน้าที่การงาน ขณะที่ผมมีอายุ 27 ปี ยื่นพระหัตถ์พระราชทานปริญญาสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ขณะที่ผมมีอายุ 52 ปี เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแล้วพระพุทธเจ้าข้า

จากวันที่ผมได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาจนถึงวันนี้ผมจะระมัดระวังความประพฤติและอารมณ์ของตนเองเป็นอย่างมาก เพราะวันนี้ผมไม่ใช่กุ๊ยหน้าวิกหนังเหมือนเมื่อวันก่อน

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กับผมตัดญาติขาดมิตรกันโดยสิ้นเชิงเพราะมันไม่ใช่ความจำเป็นในการดำรงชีวิต จากการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แบบขาดสติที่ผ่าน ๆ มาทำให้ผมรู้ว่า รายได้ที่ได้มาจากการแบกหาม อาบเหงื่อต่างน้ำ ล้วนหมดไปกับค่าเหล้าและค่ากับแกล้ม สุขภาพทรุดโทรม ร่างกายขาดสารอาหาร โรคหลายโรครุมเร้า มีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ดุด่า ทุบตี ไปจนถึงการทำลายชีวิตกันและกัน จิตใจหึกเหิม ขาดสติ และประมาท ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ พิการ และตาย

สุดท้ายพ่อกับแม่ของผมก็เสียชีวิต เพราะแผลในกระเพาะอาหารและตับแข็ง
ยังจะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์กันต่อไปอีกหรือครับ

****************************************************
ที่มา :
ศรีวิชัย ทรงสุววรณ.(2554). ศรีวิชัย ทรงสุวรรณ คนต้นแบบเลิกเหล้าตลอดชีวิต. [Online]. Available :http://www.stopdrink.com/index.php?modules=news&type=5&id=1889. [2554 มิถุนายน 28 ].
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เขาเขียว โพธาราม..ต้นตำนานนางกวัก

เรื่องประวัติเขาเขียว ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นี้ ผู้จัดทำไปอ่านพบในหนังสือที่ระลึกการประชุมวิชาการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย (อ.ก.ท.)  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวจัดทำแจกจ่ายในการประชุมภาคกลางครั้งที่ 25  ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี (เรียกกันทั่วไปว่าเกษตรเขาเขียว) เมื่อวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 2546

บทความนี้เขียนโดย คุณคำรณ  แพงไพรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ประธานเขต 18 ภูมิภาคที่ 6 ไลออนส์สากล ภาค 310 ดี นายกสโมสรไลออนส์โพธาราม  ท่านได้ศึกษาประวัติของเขาเขียวด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ ท่านประสบความมหัศจรรย์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเขาเขียวด้วยตนเองถึง 3 ครั้ง และอีกประการหนึ่งเกิดจากท่านผู้ใหญ่ 2 คนซึ่งเป็นผู้อาวุโสทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ และยศฐาบรรดาศักดิ์ ได้ขอร้องให้ศึกษา เพราะเชื่อว่า เขาเขียวคือต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์ไทย คนไทยมิได้อพยพมาจากแหล่งอื่นแต่อยู่ที่นี่ ...ที่เขาเขียวนี้เอง



คุณคำรณฯ เขียนเรื่องราวของเขาเขียว เอาไว้ พอสรุปได้ดังนี้.....

สมัยเมื่อ 4,000 ปีเศษ เขาเขียวเป็นดินแดนที่ติดชายทะเล
เมื่อน้ำทะเลขึ้นก็จะโอบล้อมเขาเขียว เมื่อน้ำทะเลลงก็สามารถเดินทางติดต่อกับแผ่นดินใหญ่ได้โดยการเดินเท้า เขาเขียวเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหารแมกไม้นานาพรรณ ท้องทะเลสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำที่เป็นอาหาร เขาเขียวมีถ้ำปรากฏอยู่มากมายใช้เป็นที่หลบซ่อนศัตรูและเก็บรักษาสมบัติต่างๆ  น้ำทะเลเปรียบเสมือนปราการสำคัญทางธรรมชาติที่ช่วยปกป้องผืนแผ่นดินเขาเขียวจากภยันตรายภายนอก เขาเขียวในสมัยนั้นจึงมีผู้คนอาศัยกันอยู่คับคั่ง  มีอารยะธรรมที่รุ่งเรืองตามกาลสมัย ผู้คนสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณโดยรอบเขาเขียว ตามที่ราบลุ่มและตามชายหาด

องค์อินอธิราช
ในกาลครั้งนั้นได้มีบุรุษ 3 คน เดินทางมาถึงเขาเขียว ทั้ง 3  คนเป็นพี่น้องร่วมสาบานกัน คนพี่ซึ่งน้องๆ ยอมรับว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงกว่าคนอื่น ได้เข้าปกครองเขาเขียว และตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่เขาเขียวแห่งนี้ชื่อว่า "เมืองวังแก้ว" และเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองทรงพระนามว่า "องค์อินอธิราช" 

ส่วนคนกลาง (ไม่ทราบพระนามจริง)ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสมือนพระมหาอุปราชของเมืองวังแก้ว ปกครองเขาเขียวอีกยอดหนึ่งถัดไป (เขาเขียวมีภูเขาหลายลูก)  คนกลางนี้ต่อมาก็คือ "ปู่เจ้าเขาเขียว" นั่นเอง

ส่วนคนน้อง (ไม่ทราบพระนามเช่นกัน) ไม่ฝักใฝ่ทางโลก แต่ฝักใฝ่ทางธรรม ได้ออกผนวชเป็นพราหมณ์ฤาษีบำเพ็ญศีลภาวนาอยู่ ณ เขาเขียวอีกยอดหนึ่ง และเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการทั้งปวงให้แก่ราชวงศ์และพลเมืองของเมืองวังแก้ว

การปกครองในสมัยนั้นเป็นแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พลเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือทหารทำหน้าที่คุ้มครองป้องกันเมือง และพลเมืองมีหน้าที่เป็นคณะปุโรหิต และทำหน้าที่อื่นตามแต่เจ้าเมืองจะมอบหมาย  องค์อินอธิราชเป็นกษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยเปี่ยวด้วยความอ่อนโยนและเมตตาธรรม ดังนั้นราษฎรของเมืองวังแก้วจึงอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง  ในการว่าราชการ พระองค์ฯ ได้ตกแต่งถ้ำเป็นท้องพระโรงสำหรับว่าราชการ และเก็บพระคลังมหาสมบัติไว้ในถ้ำ รวมทั้งเป็นที่ประทับส่วนพระองค์และราชวงศ์ องค์อินอธิราชมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียว พระนามว่า "องค์หญิงอุมาเทวี"

ปู่เจ้าเขาเขียว ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์
เมื่อองค์อินอธิราชมีพระชนมายุได้ 50 พรรษาเศษ และองค์หญิงอุมาเทวี มีพระชันษา 16 พรรษา ปู่เจ้าเขาเขียว ได้กระทำปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แทน เป็นอันว่าสิ้นสุดราชวงศ์องค์อินอธิราช และสิ้นสุดเมืองวังแก้ว พร้อมถ้ำที่ประทับทั้งปวงของเมืองวังแก้วได้ถูกปิดตายตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เมืองมินต์
ปู่เจ้าเขาเขียวได้ตั้งนามเมืองของพระองค์ใหม่ว่า "เมืองมินต์" พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ครองเมือง  การปกครองเมืองของพระองค์ก็ได้ใช้ถ้ำเป็นท้องพระโรงว่าราชการ เก็บพระคลังมหาสมบัติ และเป็นที่ประทับของพระองค์และราชวงศ์ คล้ายคลึงกับที่องค์อินอธิราชได้ปฏิบัติมา แต่เป็นคนละสถานที่กัน

ปู่เจ้าเขาเขียวเป็นกษัตริย์ที่มีน้ำพระทัยแตกต่างจากองค์อินอธิราช กล่าวคือพระองค์มีพระทัยดุ เหี้ยมหาญ เด็ดขาด เป็นที่คร้ามเกรงของอริราชศัตรู ปู่เจ้าเขาเขียวมีพระมเหสี 4 องค์ มีพระราชโอรสหลายพระองค์ แต่ทรงมีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวนามว่า

"องค์หญิงกวักศิรินภา"
ทรงพระศิริโฉมงดงามมาก มีเสน่ห์ทำให้เกิดความรักความเมตตาแก่ผู้ที่ได้พบเห็น กิตติศัพท์ความงดงามขององค์หญิงกวักศิรินภาเป็นที่เลื่องลือไปยังทั่วแคว้นแดนไกล แต่องค์หญิงกวักศิรินภา ต้องมาสิ้นพระชนม์ด้วยอุบัติเหตุเมื่อพระชันษาเพียง 15 พรรษา แต่กระนั้นก็ตามนามของ "นางกวัก" ก็ยังเป็นสัญญลักษณ์ของความมีเสน่ห์เมตตามหานิยม มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ 

ที่มาของภาพ
http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1835104
สละราชสมบัติถือศีลภาวนา
เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวมีพระชนม์ย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย ได้มีน้ำพระทัยใฝ่ทางธรรมมะมากขึ้น  จนพระองค์ได้สละราชสมบัติถือศีลภาวนา และผนวชเป็นพราหมณ์ฤาษีจนเสด็จสวรรคต ในส่วนของเมืองมินต์ เมื่อปู่เจ้าเขาเขียวได้สละราชสมบัติแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดได้สืบราชสมบัติแทน โอรสและพระราชวงศ์ส่วนหนึ่งได้อพยพเข้าสู่ผืนแผ่นดินใหญ่สร้างบ้านสร้างเมืองขึ้นใหม่ ยังคงมีพลเมืองของเมืองมินต์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่มิได้อพยพไปไหน เป็นอันสิ้นสุดความรุ่งเรือของเมืองมินต์
ในช่วงต่อมาอีกไม่นานนัก เขาเขียวก็ประสบเคราะห์กรรม ได้เกิดวาตภัย อุทกภัย โหมกระหน่ำทำลายเขาเขียว จนบ้านเรือนพังพินาศ พลเมืองล้มตายลงหมดสิ้น เขาเขียวกลายเป็นป่าเขาที่รกชัฎ เต็มไปด้วยสิงสาราราสัตว์ เป็นสถานที่รกร้างไร้ผู้คน เป็นสถานที่สงบเหมาะสำหรับบำเพ็ญเพียรของฤาษีชีไพรเท่านั้น

บทสรุป
จากอดีตที่เคยรุ่งเรืองของเขาเขียว ที่ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนพลเมืองมากมาย มีความเกี่ยวพันและวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน แก่งแย่งแข่งดี อาฆาตพยาบาท เสียงกู่ก้อง ร้องตะโกน เสียงร่ำไห้จากสงคราม ความพลัดพราก เศร้าโศก ความรัก ความอาลัย พร้อมทั้งแรงอธิษฐานและคำสาบาน ทุกอย่างต้องจบลงที่นี่ โศกนาฎกรรมเกิดขึ้นหลายหนหลายครั้งจนเขาเขียวกลายเป็นที่รกร้างไร้ผู้คน

ดวงจิต ดวงวิญญาณนับร้อยนับพันดวง ยังผูกพันและหวงแหนอยู่กับเขาเขียว ยังคงเฝ้าวนเวียนปกปักรักษาเขาเขียวซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยอันอบอุ่นของเขาในอดีต สถานที่ที่เคยมีบุคคลที่เขารักยิ่ง องค์อินอธิราช ปู้เจ้าเขาเขียว เคยปกครองคุ้มครองดูแล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นต้นกำเนิดแห่งความลี้ลับ  ความศักดิ์สิทธิ์ ความมหัศจรรย์ของเขาเขียวจนตราบเท่าทุกวันนี้

เขาเขียวยังมีอดีตและประวัติศาสตร์ที่รอการพิสูจน์อยู่  สักวันหนึ่งเมื่อเราได้ค้นพบหลักฐานแห่งอารยะธรรมของเขาเขียวแล้ว ก็จะเป็นเครื่องยืนยันอย่างแท้จริงว่า คนไทยไม่ได้อพยพมาจากที่ีใด คนไทยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ดั้งเดิม และดินแดนเขาเขียวแห่งนี้แหละคือต้นประวัติศาสตร์ชาติไทย 

ราชาแห่งวังแก้ว        องค์อิน
ราชันย์คู่เมืองมินต์    ปู่เจ้า
เคยครองผืนแผ่นดิน    นามเขา  เขียวเฮย
สองพระองค์ท่านเฝ้า    ปกป้องรักษา

เวลาลุล่วงพ้น     นานนัก
ถึงสองเมืองนี่จัก   ล่มแล้ว
หากแต่คำทายทัก   ยังคง  อยู่เฮย
เมืองมินต์อีกวังแก้ว   จักฟื้นคืนคง

เชิญองค์  ปู่เจ้า เขาเขียว
ธิดา  องค์เดียว  ชื่อก้อง
องค์อิน  อธิราช  เรืองรอง
คุ้มครอง  พลิกคืน  ฟื้นเมือง

*******************************************

ที่มา
คำรณ  แพงไพรี. (2546). ประวัติเขาเขียว อ.โพธาราม จ.ราชบุรี : การประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภาคกลางครั้งที่ 25. สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 1 : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี. (หน้า 43-45)
อ่านต่อ >>