คำว่า "ด่านเจ้าขว้าว" นี้ผู้จัดทำ เพิ่งได้ยินชื่อตอนช่วงที่เริ่มจัดทำ "ราชบุรีศึกษา" นี้เอง ตอนสมัยเรียนประถมหรือมัธยม ไม่มีครูประวัติศาสตร์ท่านใดกล่าวถึงเลย ด่านเจ้าขว้าว นี้ บางเอกสารเขียนว่า " ด่านเจ้าเขว้า" อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ บอกว่า ด่านเจ้าขว้าว ตั้งอยู่บริเวณบ้านด่าน ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นด่านเดียวกันกับด่านประตูสามบาน หรือไม่
อาจารย์วุฒิฯ บันทึกต่อไว้ว่า
บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดราชบุรี -กาญจนบุรี มีช่องชายแดน หรือจะเรียกว่าด่าน ที่ผู้คนแต่ครั้งอดีตใช้เดินทางเข้าออก ระหว่าง เมือง ราชบุรี กาญจนบุรี กับ เมืองทวาย ของพม่า ซึ่งด่านชายแดนนี้มีชื่อดังนี้
- ด่านช่องเขาหนีบ ช่องทางไปบ้าน ห้วยน้ำขาว พุน้ำร้อน อ.เมือง กาญจนบุรี ช่องทางนี้ใช้เดินทางผ่าน บ้านเมตตา เข้าเมืองทวาย ของพม่า
- ช่องด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
- ด่านหนองไผ่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
- ด่านลำเภา อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
- ด่านลำทราย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
- ด่านโป่งสะแก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
- ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
- ด่านเจ้าขว้าว หรือบ้านด่าน หรือ อาจจะเป็นด่านประตูสามบ้าน (ยังไม่ชัดเจน)อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
- ด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ ปัจจุบันคือ บ้านทุ่งเจดีย์ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้งบริเวณ รร.สินแร่สยาม บ้านผาปกค้างคาว ช่องทางไปบ้านตะโกปิดทอง จ.ราชบุรี
ช่องทางชายแดนหรือด่าน ตั้งแต่ ด่านที่ 1 - 6 เป็นช่องทางที่ พม่าเคยใช้ในสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี ในคราวศึกบางแก้ว เขาช่องพราน เพื่อจะลงมายังราชบุรีในปี พ.ศ.2317 ถัดลงมาจะเป็นด่านที่อยู่ในเขตเมืองราชบุรี คือนับแต่ด่านทับตะโกลงมา ด่านที่สำคัญที่สุดของเมืองราชบุรีก็คือ ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าอยู่ใกล้ราชบุรี และกรุงเทพฯมากที่สุด
บันทึกการรบไทยกับพม่า ที่เกี่ยวข้องกับด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
![]() |
ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน ที่มา http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html |
- ปลายปีกุน พ.ศ.2310 พระเจ้าอังวะ กษัตริย์พม่า สั่งให้แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ยกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค ผ่านเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมื่อเดินทางมาถึงค่ายบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รักษาค่ายอยู่ พระเจ้ากรุงธนบรุี ทรงนำกองทัพด้วยตนเองมาช่วยรบกับทัพพม่า ที่นี่ได้สู้รบกับกองทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าสู่ไม่ได้ถอยทัพกลับไปทางด่านเจ้าขว้าว ริมลำน้ำภาชี เพื่อกลับเมืองทวาย
- พ.ศ.2317 คือ 10 ปีถัดมา รัชสมัยพระเจ้าตากสิน ในคราวศึกบางแก้ว โพธาราม เอกสารพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระทิพพากรวงศ์ ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร บันทึกว่า มีใบบอกแจ้งมาจากชาวด่านว่า มีทัพพม่ามาจากด่านประตูสามบาน พม่าจับชาวด่านไปหลายคน
- ในปีพ.ศ.2328 ในคราวศึกสงครามเก้าทัพ กองทัพที่ 2 ซึ่งมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ เดินทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ มาตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี โดยมี จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
- พ.ศ.2340 พฤศจิกายน แรม 9 ค่ำ ปีที่ 16 ในรัชกาลที่ 1 ครั้งนั้นชาวด่านได้ไปพบหนังสือที่ พม่าจากเมืองทวายมาแขวนหนังสือไว้ที่ด่านชายแดนเมืองราชบุรี รัชกาลที่ 1 จึงเกณฑ์ทัพเตรียมรับศึก แต่ไม่มีเหตุการณ์สู้รบ
- พ.ศ.2364 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ให้พระเจ้าลูกยาเธิกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ และพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโจน์) คุมพล 10,000 คน ไปขัดตาทัพที่ด่านชายแดนราชบุรีซึ่งก็คือด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
- พ.ศ.2390 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 คนจีนเมืองสมุทรสาคร ก่อการจลาจล ถูกทางการปราบปราม ได้ถอยมาที่บ้านโพหัก บางแพ ได้วางแผนที่จะหนีออกไปยังเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว
ที่ด่านเจ้าขว้าวนี้ ส่วนใหญ่ชาวไทยกะเหรี่ยงจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านเจ้าขว้าว ตำแหน่ง "หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) อาจารย์วุฒิฯ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง ยังบันทึกต่อเรื่องความสำคัญของด่านเจ้าขว้าว ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ไว้ว่า
"เมื่อย้อนเวลาหาอดีต นับแต่ปี พ.ศ.2504 สวนผึ้งเวลานั้นยังเป็นป่าดิบ ผมเดินเท้าเปลือย เปล่าจาก สวนผึ้ง ผ่านจอมบึง ไปยังราชบุรี เพื่อเรียนหนังสือ เส้นทางที่ผมเดินต้องผ่านสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า " บ้านด่าน" พอถึงบริเวณนี้ คุณพ่อจะหยุดพักทุกครั้ง ท่านจะหาก้อนหิน ใบไม้ หรือดอกไม้ป่าถ้ามี พาพวกเราไปกราบไหว้สถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นเนินเจดีย์ ในดงต้นตะโก ผมและเพื่อนๆไม่รู้อะไรหรอกครับ ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรเราก็ทำตาม
เราทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ผ่านสถานที่แห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ.2511 -2512 ที่เส้นทางปรับเปลี่ยน ทางลูกรังผ่านคอเขาสน บ้านหนองขาม พุ่งตรงไปยังบ้านชัฎป่าหวาย เข้า อ.สวนผึ้ง"
"เมื่อย้อนเวลาหาอดีต นับแต่ปี พ.ศ.2504 สวนผึ้งเวลานั้นยังเป็นป่าดิบ ผมเดินเท้าเปลือย เปล่าจาก สวนผึ้ง ผ่านจอมบึง ไปยังราชบุรี เพื่อเรียนหนังสือ เส้นทางที่ผมเดินต้องผ่านสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า " บ้านด่าน" พอถึงบริเวณนี้ คุณพ่อจะหยุดพักทุกครั้ง ท่านจะหาก้อนหิน ใบไม้ หรือดอกไม้ป่าถ้ามี พาพวกเราไปกราบไหว้สถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นเนินเจดีย์ ในดงต้นตะโก ผมและเพื่อนๆไม่รู้อะไรหรอกครับ ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรเราก็ทำตาม
เราทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ผ่านสถานที่แห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ.2511 -2512 ที่เส้นทางปรับเปลี่ยน ทางลูกรังผ่านคอเขาสน บ้านหนองขาม พุ่งตรงไปยังบ้านชัฎป่าหวาย เข้า อ.สวนผึ้ง"
![]() |
ที่ตั้งของด่านเจ้าขว้าว บริเวณบ้านด่าน ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เป็นที่ตั้งที่ผู้จัดทำคาดคะเนขึ้นเอง อาจคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งจริง ที่มาแผนที่ Google |
บันทึกเรื่องราวของด่านเจ้าขว้าวนี้ ผู้จัดทำคิดว่ายังมีเรื่องราวอีกมาก หากท่านใดมีความรู้ ขอได้กรุณาบันทึกเพิ่มเติมไว้ได้ที่ท้ายบความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
*************************************************
ที่มาข้อมูล
- วุฒิ บุญเลิศ. (2553). บันทึกต่อท้ายบทความ "ด่านประตูสามบาน" : ภาพเก่าเล่าอดีต. [Online]. Available :http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html. [2554 สิงหาคม 22 ].
- สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
- วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
- มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น