วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พระเจ้าตากล้างแค้น ไทย"ล้อม"พม่าที่บางแก้วราชบุรี

ที่มาของภาพ : http://picdb.thaimisc.com/s/shalawan/2137-1039.jpg
ในแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทำสงครามกับพม่าสิบครั้งด้วยกัน
พ.ศ.2317 เป็นการรบกับพม่าครั้งที่ 8 ที่บางแก้ว (หมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกว่า บ้านนางแก้ว อยู่ในเขต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี)
การรบครั้งนี้ พระเจ้าตากทรงดำเนินกลยุทธ์และยุทธวิธีขั้นตอนต่างๆ ผิดกับการรบทั้งเก้าครั้งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ จะกำหนดวันเวลาที่เอาชนะฝ่ายพม่าได้ แต่พระองค์ไม่ทรงกระทำ พระองค์ทรงต้องการให้ งุยอคงหวุ่น แม่ทัพใหญ่พม่า ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข
ที่สำคัญคือ พระองค์ทรงต้องการให้แม่ทัพใหญ่พม่าออกจากค่ายในฐานะผู้แพ้มาถวายบังคม (พูดอย่างไทยๆ ว่า ให้มากราบตีน-ผู้เขียน) ต่อหน้าพระพักตร์
เพราะเหตุใดพระเจ้าตากจึงพระทัยเย็นผิดวิสัยของยอดนักรบเช่นพระองค์ท่าน
ในกลางปี พ.ศ.2317 พระเจ้าตาก ได้รงจัดกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ โดยดำรัสสั่งให้ เจ้าพระยาจักรี เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพเมืองเหนือยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าพระยาสุรสีห์
เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้ว พระองค์ประทับอยู่ 7 วัน ได้ทรงรับใบบอกเมืองตากขึ้นไปกราบทูลว่า มีกองทัพพม่าตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงรีบลงมาเมืองตากและเสด็จต่อไปยังพระนคร
พอถึงพระนคร ทรงได้ข่าวว่า ข้าศึกยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เมืองกาญจนบุรี ตีทัพพระยายมราชแขกที่ท่าดินแดงแตก จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพในกรุงให้ พระองค์เจ้าจุ้ย ลูกยาเธอ กับ พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก ถือพล 3,000 ทัพหนึ่ง ให้เจ้ารามลักษณ์ หลานเธอ ถือพล 1,000 ทัพหนึ่ง ยกออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี และให้มีตราไปยังหัวเมืองสั่งให้ยกทัพลงมาด้วย
ในขณะนั้น ทรงทราบว่า กองทัพหลวงล่วงมาถึงพระนครแล้ว จึงให้ตำรวจลงเรือเร็วไปคอยบอกกองทัพให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดแวะบ้านโดยเด็ดขาด
ปรากฏว่า พระเทพโยธา แวะเข้าบ้าน จึงตรัสให้เอาตัวพระเทพโยธามา แล้วมัดเข้ากับเสาพระตำหนักแพ ทรงพระแสงดาบตัดศรีษะพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ แล้วเอาศรีษะไปเสียบประจานไว้ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์
อ่านต่อในหัวข้อ ทัพพม่าเย้ยทัพไทยที่บางแก้วราชบุรี

ที่มา : รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. หน้า 3-4.
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์

บทบรรยายการแสดงแสงสีเสียง เรื่อง ตำนานสะพานจุฬาลงกรณ์ อ.เมือง จ.ราชบุรี นี้ ผมได้จัดทำไว้เมื่อกลางปี พ.ศ.2548 เนื่องจาก จังหวัดราชบุรี ดำริจะจัดให้มีการแสดงในช่วงเทศกาลลอยกระทง จนแล้วจนรอด ก็ไม่ได้แสดง..เพราะถึงเวลา ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพจริง...ได้แต่พูดกันไป..เพื่อป้องกันการสูญหาย จึงได้นำมาไว้ใน Blog แห่งนี้ เพื่อว่าจะมีใครนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคต เนื้อความที่เขียนยังไม่ได้มีการประชุมเพื่อปรับแต่ง อาจจะฟังยังไม่รื่นหูมากนัก
บทบรรยายถูกบันทึกไว้ใน จันทรวงศ์.blog โปรดคลิกตามที่อยู่ด้านล่างนี้
http://chantrawong.blogspot.com/2009/08/blog-post_09.html
อ่านต่อ >>

บทบรรยายเรื่อง "เฉลิมพระชนม์ 80 พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลัง"

บทบรรยายเรื่อง "เฉลิมพระชนม์ 80 พรรษาพระภูมี ฉลองราชบุรีศรีราชบัลลัง"ประกอบการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม เมื่อวันที่ 6-7 เม.ย.2550 เวลา 19.00-21.00 น.ณ สวนสาธารณจักรีอนุสรณ์สถาน เชิงเขาแก่นจันทร์ อ.เมือง จ.ราชบุรี ถูกบันทึกไว้ใน จันทรวงศ์.blog โปรดคลิกที่อยู่ด้านล่างนี้ http://chantrawong.blogspot.com/2009/08/blog-post.html
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คำขวัญจังหวัดราชบุรี

“คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง
เมืองโอ่งมังกร วัดขนอนหนังใหญ่
ตื่นใจถ้ำงาม ตลาดน้ำดำเนิน
เพลินค้างคาวร้อยล้าน ย่านยี่สกปลาดี”


Ratchaburi, a town of beautiful ladies of Photharam and Baan Pong,
Dragon-design jars, Nang Yai of Wat Khanon,
Wonderful caves, Damnoensaduak Floating Market,
100-million bats and Yi Sok fish.
คำขวัญจังหวัดราชบุรีนี้เริ่มใช้เมื่อจังหวัดราชบุรีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ ๕ และงานมหกรรมของดีเมืองราชบุรี พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งในด้านความหมายของคำขวัญนั้นสามารถนำมากล่าวได้ดังนี้
คนสวยโพธาราม สันนิษฐานว่าคงมีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ ) ในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากการประพาสไทรโยคทางชลมารคครั้งที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ แล้วได้ประทับพักร้อนบนพลับพลาและเสด็จประพาสตลาดโพธาราม ซึ่งมีราษฎรทั้งชาวไทย จีน มอญ และลาวเฝ้ารับเสด็จด้วยเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสวยงามจึงมีพระราชดำรัสชมว่า “คนโพธารามนี้สวย” หรืออีกนัยหนึ่งหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้อธิบายไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้เสด็จพระราชดำเนินนำกองเสือป่าไปซ้อมรบที่ค่ายหลวงบ้านไร่ อำเภอโพธาราม ได้มีราษฎรชาวโพธารามเฝ้ารับเสด็จถวายการรับใช้อย่างใกล้ชิด จึงมีพระราชดำรัสชมว่า “คนสวยโพธาราม สวยมีน้ำใจดี”
คนงามบ้านโป่ง สันนิษฐานว่า คงมีที่มาจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ในคราวเสด็จพระราชดำเนินกลับจากประพาสไทรโยคทางชลมารคครั้งที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ขณะเสด็จพระราชดำเนินถึงบ้านโป่งมีนายอำเภอนำราษฎรไปเฝ้ารอรับเสด็จเป็นจำนวนมาก เมื่อเสด็จขึ้นฝั่งทรงเห็นราษฎรที่มาเฝ้าแต่งกายเรียบร้อยและหมอบกราบกันอย่างพร้อมเพรียงสวยงาม จึงมีพระราชดำรัสชมว่า “คนบ้านโป่งนี้งาม” ทั้งนี้คำขวัญที่ว่า “คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง” นั้นเป็นคำขวัญที่บ่งบอกถึงจริยธรรมอันดีงามของชาวโพธารามและชาวบ้านโป่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้มีน้ำใจไมตรีอันดีงาม พูดจาไพเราะ และงามพร้อมด้วยกิริยามารยาท อันเป็นความสวยงามที่เป็นอมตะที่ไม่เสื่อมคลายและน่าคบหามากกว่าผู้ที่งามแต่ภายนอก
เมืองโอ่งมังกร มีที่มาจากการที่ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องเคลือบดินเผาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะโอ่งมังกรซึ่งมีประวัติการผลิตที่ยาวนานและเป็นที่รู้จักกันดีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จนได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันไปแล้ว
วัดขนอนหนังใหญ่ มีที่มาจากการที่หนังใหญ่วัดขนอน ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม นับเป็นหนังใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่ามีการสืบทอดกันมายาวนานนับเป็นร้อยปี และมีการอนุรักษ์กันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ตลอดจนเป็นหนังใหญ่ที่หลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่คณะในประเทศไทยที่ยังคงมีการสืบทอดอยู่ในปัจจุบัน
ตื่นใจถ้ำงาม มีที่มาจากการที่ราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีถ้ำในภูเขาหินปูนซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงามเป็นจำนวนมากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย โดยเฉพาะถ้ำเขาบินและถ้ำจอมพลที่มีผู้ชมเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
ตลาดน้ำดำเนิน มีที่มาจากการที่จังหวัดราชบุรีเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีทั่วโลกและกลายเป็นสัญลักษณ์ทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างหนึ่งในปัจจุบัน
เพลินค้างคาวร้อยล้าน มีที่มาจากการที่จังหวัดราชบุรีเป็นที่ตั้งของถ้ำหินปูนที่วัดเขาช่องพราน อำเภอโพธาราม ที่มีค้างคาวอยู่อาศัยเป็นจำนวนหลายล้านตัว ซึ่งในช่วงเย็นของแต่ละวันค้างคาวเหล่านี้จะพากันบินออกหากินอย่างเป็นแถวยาวเป็นระเบียบไม่ขาดสาย และในช่วงเช้ามืดของแต่ละวันก็จะพากันบินกลับเข้าถ้ำอย่างเป็นระเบียบไม่ขาดสาย และในช่วงเช้ามืดของแต่ละวันก็จะพากันบินกลับเข้าถ้ำอย่างเป็นระเบียบเช่นกัน อันเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมได้ยากยิ่ง
ย่านยี่สกปลาดี มีที่มาจากการที่ลำน้ำแม่กลองช่วงที่ไหลผ่านจังหวัดราชบุรีเป็นที่อยู่อาศัยของปลายี่สกซึ่งเป็นปลาที่มีเนื้ออร่อยและหายาก ตลอดจนมีราคาแพงกว่าปลาน้ำจืดชนิดอื่น ๆ ของประเทศไทย

ที่มา: มรดกดีเด่นราชบุรี http://www.paktho.ac.th/ratchaburi/ratchaburi1/index.html
หากท่านใดต้องการเพิ่มเติมข้อมูล สามารถเพิ่มได้ที่ความคิดเห็นท้ายบทความนี้
อ่านต่อ >>

ตราประจำจังหวัดราชบุรี

สัญลักษณ์: - เป็นรูปพระแสงขรรค์ชัยศรี ประดิษฐานอยู่บนบันไดแก้ว และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานทองขอบตราเป็นลายกระหนก
ความหมาย: - หมายถึง เครื่องแสดงถึงความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน(ตราประจำจังหวัดราชบุรีในปัจจุบันมีลักษณะมีลักษณะดวงตราเป็นวงกลม มีสัญลักษณ์รูปเครื่องราชกุธภัณฑ์สองอย่าง คือพระแสงขรรค์ชัยศรีบนพระที่และฉลองพระบาทคู่บนพานทอง ในอดีต ตราประจำของราชบุรีใช้สัญลักษณ์ภูเขาล้อมรอบด้วยงูใหญ่ ซึ่งมีความหมายถึง“เขางู” อันเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และรู้จักอย่างแพร่หลาย ต่อมาเห็นว่าสัญลักษณ์เขางูสื่อความหมายไปทาง โบราณสถานมากกว่าความหมายเกี่ยวกับราชบุรีอย่างแท้จริง และตราสัญลักษณ์นี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ประทานตราให้กองเสือป่ามณฑลราชบุรีที่เขางู จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ตราปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เป็นต้นมา )
อักษรย่อจังหวัด: รบ.
เพิ่มเติม.
ตราจังหวัดราชบุรี แต่เดิมเป็นอาร์ม (Arm) วงกลม ใช้สัญญลักษณ์รูปน้ำหลากทุ่ง มีภูเขาเป็นฉากหลัง ล้อมรอบด้วยงูใหญ่ ส่วนของท้องฟ้าเหนือภูเขานั้นมีตราครุฑซึ่งใช้เป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำกับด้วยข้อความว่า "จังหวัดราชบุรี" ที่ตอนล่างภายในกรอบอาร์ม หมายความถึง "เขางู" อันเป็นสถานที่สำคัญและรู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในหมู่ชาวราชบุรีเองและชาวจังหวัดใกล้เคียง
ตราดังกล่าวเริ่มปรากฏใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2500 สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นคราวเดียวกับที่กระทรวงศึกษาธิการได้ฟื้นฟูกิจการลูกเสือแห่งชาติโยขอความร่วมมือให้แต่ละจังหวัดกำหนดตราสัญลักษณ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับติดผ้าพันคอ แสดงภูมิลำเนาของกองลูกเสือซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนั้นๆ
จังหวัดราชบุรีได้ใช้สัญลักษณ์ "เขางู" เป็นตราประจำจังหวัดตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2509 จึงเห็นว่า "เขางู" นั้น สื่อความหมายไปในแง่ของโบราณสถาน มิได้หมายความเกี่ยวพันกับชื่อของจังหวัด "ราชบุรี" (บาลี, ราช+ปุร หมายถึง เมืองแห่งพระราชา) แต่ประการใด จึงเป็นการสมควรที่จะได้กำหนดสัญลักษณ์ประจำจังหวัดแทนตราเดิมที่ใช้อยู่ โดยได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปยังกรมการปกครองของให้กรมศิลปากรพิจารณาออกแบบให้ต่อไป
สำหรับดวงตราใหม่นั้น ทางกรมศิลปากรได้มอบหมายให้งานศิลปประยุกต์ กองหัตถศิลป (ปัจจุบันเป็ยสถาบันศิลปกรรม) โดยนายพินิจ สุวรรณบุณย์ เป็นผู้คิดค้นออกแบบ ลักษณะของดวงตราเป็นอาร์มวงกลมใช้สัญลักษณ์รูปเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ 2 สิ่ง คือ พระแสงขรรชัยศรีประดิษฐานอยู่บนบันไดแก้ว และฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานรอง ขอบอาร์มเป็นลายชื่อกนก ประกอบพื้นช่องไฟใช้สีตามเหมาะสมสวยงามด้านศิลป ทั้งนี้ได้แนวความคิดมาจากหลักฐาน "รูปฉลองพระบาทคู่ประดิษฐานอยู่บนพานรอง" ที่ปรากฏบนผืนธง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้แก่กองเสื้อป่ามณฑลราชบุรี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467 ซึ่งปัจจุบันธงข้างต้นเก็ยรักษาไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
จังหวัดราชบุรีโดยสภาจังหวัดได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ เป็นตราประจำจังหวัดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2509 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบันนี้

ที่มา :
-มโน กลีบทอง. (2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์. หน้า 208
อ่านต่อ >>