วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ทางเดินใต้ดินจากเพชรบุรีมาราชบุรี

ผมอ่านพบเรื่องนี้จากตอนหนึ่งในหนังสือ "หมอสูนคนดี"  ซึ่งเขียนโดยคุณเอนก  นาวิกมูล เขียนไว้เมื่อ 28 สิงหาคม 2544 และตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2551 โดยเรื่องนี้ หมอสูน หงษ์ทอง ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ของจังหวัดราชบุรี   ฟังมาจากพระอาจารย์ปั่น วัดเขาเหลือ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์อีกทอดหนึ่ง ....เรื่องนี้เป็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ผู้อ่านต้องใช้วิจารณาณเอาเองนะครับ...อาจจะยาวไป..แต่ก็น่าติดตามครับ
  
หมอสูน หงษ์ทอง
ผู้เล่า ซึ่งฟังเรื่องนี้มาจาก
พระอาจารย์ปั่น วัดเขาเหลือ
เรื่องมีอยู่ว่ามีพระสี่รูป ชวนกันไปสำรวจเขาหลวงในเพชรบุรี เพราะถ้ำเขาหลวงนั้นเปรียบประดุจอัญมณีอันงามงด ทั้งปรากฏคำบอกเล่ามาแต่โบราณว่า บางสาขามีของวิเศษเป็นที่ต้องการของผู้คน บางถ้ำก็มีคนพวกหนึ่งอาศัยอยู่ดังเรียกว่า คนเมืองลับแล เคยมีคนเห็นแกลบที่พวกเมืองลับแลทิ้งไว้แต่ไม่เคยพบตัว ส่วนถ้ำใหญ่ที่เรียกว่าถ้ำเขาหลวง เมื่อลงบันไดไปแล้วจะเห็นหินงอก หินย้อยประดับประดาเป็นอัศจรรย์อยู่ทั่วไป

ครั้นลงไปถึงจนพื้นล่าง จะเห็นห้องโถงกว้างใหญ่ แม้วงตระกร้อก็เข้าไปเล่นได้ถึงสองสามวง แหงนมองขึ้นไปข้างบนเห็นปล่องอากาศ มีแสงส่องสว่างลงมาเป็นลำ รอบๆ ถ้ำมีพระพุทธรูปที่พระเจ้าแผ่นดินและคนแต่ก่อนสร้างเอาไว้มากมาย ถ้ำนั้นถึงยามเทศกาลสงกรานต์ ก็มีคนหลั่งไหลกันลงมาไม่ขาด แม้สุนทรภู่มหากวีก็ยังเคยเขียนพรรณนาไว้ในนิราศเมืองเพชรอย่างยืดยาว

กล่าวถึงพระทั้งสี่ หลังจากเที่ยวถ้ำต่างๆ ไปพักใหญ่ก็หลงทาง รู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งลึก ที่สุดก็หาทางกลับไม่ถูก หันไปทางไหนก็ล้วนมีแต่ความมืดมนอนธกาล ต้องเกาะคลำจีวรกันไปเหมือนคนเสียตา

ขณะกำลังเหนื่อยเพลียและเริ่มสับสน พระทั้งสี่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ราดตะโพนดังแว่วมาแต่ไกล พระซึ่งกำลังหมดหวังรู้สึกใจชื้นขึ้นมา ก็พยายามเดินหาต้นเสียง แต่แม้จะตะเกียกตะกายอย่างไรก็หาไม่ถูก สักพักหนึ่งได้ไปพบที่แห่งหนึ่งเข้า มีกำแพงสูงสองชั่วคนล้อมรอบเป็นมณฑล แต่กำแพงช่างอัศจรรย์ประตูทางเข้าสักประตูก็ไม่มีเสียเลย  ต้องเดินวนไปวนมาอยู่อย่างนั้นไม่เป็นอันทำอะไร

ครั้นแล้วพระรูปหนึ่งก็ออกความคิดว่า ตนจะย่อตัวให้พระอีกรูปหนึ่งเหยียบบ่าขึ้นไปชะโงกมอง เผื่อจะเจอมนุษย์มนามาช่วนสักคนก็ยังดี

พระรูปหนึ่งอาสาทำหน้าที่เป็นกล้องสองทาง ได้เหยียบบ่าของเพื่อนและเหนี่ยวขอบกำแพงขึ้นไป ทันใดนั้น เพียงแค่ชะโงกดูแล้วหันกลับมายิ้ม พระเคราะห์ร้ายก็ถูกอะไรไม่ทราบ ดูดดึงร่างหายวับไปยังฝั่งโน้นโดยไม่ทันร้องสั่งอะไรเลย

พระที่เหลือตกตะลึง ขยี้ตาคิดเหมือนว่าตัวเองฝันไป จะป่ายปีนต่อตัวขึ้นไปด้วยวิธีเดิมก็กลัวถูกดูดหายไปทันทีอีก อย่ากระนั้นเลย จงเอารัดประคดมาผูกกับตัวเองให้แน่นเสียก่อนเถิด จากนั้นให้เพื่อนที่เหลือคอยดึงเอาไว้ เวลาเกิดเป็นอะไรไป อย่างน้อยเพื่อนคงช่วยดึงกลับลงไปได้ทัน

เมื่อตกลงกันแล้ว พระรูปหนึ่งก็เอารัดประคดผูกเอวเหยียบบ่าเพื่อนขึ้นไป พอปีนขึ้นไปยังไม่ทันไร แค่ยิ้งหน่อยหนึ่งก็ทำท่ากระโดดข้ามไปทางฝั่งโน้นอีก พระข้างล่างเห็นท่าไม่ดีรีบดึงสายรัดประคดโดยแรง ทำให้พระรูปนั้นตกลงมากระแทกพิ้นกลายเป็นคนง่อยใบ้ไม่สามารถพูดอะไรได้เลย

พระสองรูปที่เหลือไม่รู้จะทำอย่างไร จะทิ้งเพื่อนเสียก็เป็นห่วงเป็นใย จำต้องยอมออกแรงแบกหามกะร่องกะแร่งกันตามยถากรรม เวลานั้นกี่โมงยามแล้วก็ไม่รู้ได้  เวลาผ่านไปในความมืดมน นอกจากจะขวัญเสียแล้วยังเหนื่อยเพลียมิได้สร่างซา

พระภิกษุเจ้ากรรมคลำทางเรื่อยมาจนถึงตึกหลังหนึ่ง รู้สึกดีใจ หวังจะได้หยุดพักหลับนอนเสียที ก่อนถึงตัวตึกท่านสังเกตุเห็นขึ้แพะหล่นล่วงเป็นเม็ดอยู่เกลื่อนกลาด แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก รีบหย่อนตัวลงเอนกายาพักผ่อนทันที

นอนไปเพียงคู่เดียว ยังไม่ทันหายเหนื่อยก็มีแพะเข้ามาหลายสิบหลายร้อยตัว ดูสับสนอลหม่านแออัดไปหมด ทันใดเจ้าของแพะก็เดินตามเข้ามา พระท่านว่าเจ้าของแพะนั้นร่างสูงใหญ่เหมือนยักษ์ หน้าตาหรือก็อัปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัวเสียนี่กระไร ดวงตาของมันมีเพียงดวงเดียว แต่เคาะห์ดีอยู่หน่อย มันไม่ได้สนใจว่ามีใครแอบแฝงอยู่ในที่ของมันเลย พอเข้ามาแล้ว ก็ปิดประตูนอนหลับไปในบัดดล เสียงกรนของมันดังสะท้านถ้ำ ทำให้พระทั้งสามรู้สึกหนาวจนเย็ยยะเยือกไปทุกขุมขน

ด้วยความกลัวว่าจะถูกกิน พระสามรูปกระซิบกระซาบปรึกษากันว่า เราควรจะหนีให้พ้นตึกนี้ด้วยวิธีไหน และถ้าหากจะจัดการยักษ์ เราจะจัดการมันด้วยวิธีใด เพราะถ้าไม่ลงมือทำเสียก่อน ไม่ช้ามันคงจะฆ่าเราแน่่ ผิดถูกเอาตัวรอดไว้ก่อน ค่อยไปปลงอาบัติเอาภายหลังเถิด

ถ้าเขาหลวง เพชรบุรี
ที่มาของภาพ
http://www.tourdoi.com/webboard2/generate.cgi?
content=0571&board=board_1
เมื่อตกลงใจกันได้แล้ว พระรูปหนึ่งก็เอากรรไกรหนีบหมากที่มีติดย่ามย่องเข้าไปใกล้ยักษ์ หวังทิ่มตายักษ์ให้บอด แต่ยังไม่ทันลงมือ แพะทั้งหลายก็พากันวิ่งขวักไขว่ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ยักษ์พลอยตื่นไปด้วย โชคดีพระเจ้าของกรรไกรพยายามตั้งสติ จ้วงแทงตายักษ์อย่างไม่ยั้งมือ ทำให้ยักษ์ตาบอดร้องโอยโอยด้วยความเจ็บและโมโหโกรธา

พระสามรูปรีบเปิดประตูหนีออกมา แต่สืบเนื่องจากพระรูปหนึ่งตกกำแพงพิการมาแต่ทีแรก การหนีจึงค่อนข้างทุลักทุเล ทำให้ยักษ์ตามทัน และคว้าเอาตัวพระพิการไปได้ในเวลาไม่นาน

พระที่เหลือวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงจนแทบขาดใจตาย ในถ้ำจะมีทางออกทางไหนบ้างไม่เป็นอันได้พิเคราะห์ดู วันเวลาผ่านไปอีกนานเท่าไรไม่มีใครทราบ เพราะไม่รู้จะนับอย่างไร ได้แต่นอนพักบ้าง คลำทางกันมาบ้าง กระเซอะกระเซิงมาเรื่อยๆ จนกระทั่งพบบ่อน้ำเข้าบ่อหนึ่ง น้ำในบ่อใสแจ๋วน่ากินเป็นกำลัง ด้วยความกระหายสุดขีด พระรูปหนึ่งตรงไปที่ขอบบ่อ เอามือทั้งสองวักน้ำดื่มเข้าไปทันที

เท่านั้นเอง...พระคุณเจ้าก็ค่อยๆ เปลี่ยนรูป จากเนื้อตัวที่มีอ่อนมีแข็งอย่างมนุษย์ ก็กลับกลายเป็นก้อนหินไปอย่างเสือช้างบ่างชะนีทั้งหลายที่ยืนนิ่งอยู่เรียงราย

พระรูปสุดท้ายก็ตกใจ ฝืนจุ่มนิ้วลงไปเพื่อพิสูจน์ดู  พบว่าน้ำในบ่อเย็นเฉียบ ส่งกระแสแปลบเข้าไปถึงหัวใจ และไม่ช้านิ้วของท่านก็เป็นหินไปต่อหน้าต่อตา

บัดนี้ท่านจึงรู้ว่ามรณะใกล้มาถึงแล้ว สัตว์ต่างๆ รวมทั้งเพื่อนของท่านที่กลายเป็นหินไปที่แท้ก็เพราะสัมผัสกับน้ำมฤตยูเข้าไปนี่เอง เมื่อเห็นว่าอยู่ที่นั่นไม่ปลอดภัยเสียแล้ว ท่านก็รับโซซัดโซเซต่อไปทันที

ได้วนเวียนในถ้ำอยู่นานจนจวนเจียนจะหมดแรง ชั่วขณะหนึ่งหูของท่านก็แว่วได้ยินเสียงหมูร้องดังมาจากข้างบน นี่แสดงว่าผู้คนและสัตว์เลี้ยงคงจะอยู่บนหัวของเราแล้วซี พระผู้โดดเดี่ยวคิดในใจ บางทีถ้าแข็งใจเดินไปอีกนิดอาจได้ขึ้นไปสู่ผิวโลก พบหมู่บ้านเข้าสักแห่งหนึ่งก็ได้

วัดศรีชมพูราษฎร์ศรัทธาธรรม ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี
ที่มาของภาพ :
http://hererb.blogspot.com/2009/06/blog-post_08.html
เหมือนลมพัดมาต้องตัววูบหนึ่ง เหมือนหลับฝันพลันเรื่องเปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่ง พระผู้รอดชีวิตเล่าว่า อยู่ๆ ก็มีชายคนหนึ่งมาพบเข้าและนิมนต์ไปสวดมนต์ในงานโกนจุกลูกชาย ได้พักนอนที่งานคืนหนึ่ง ทำพิธีกันเสร็จเรียบร้อยเขาก็พามาส่ง ณ ที่แห่งหนึ่ง จากนั้นคนๆ นั้นก็หายตัวไป

ผ่านไปอีกพักใหญ่ จึงรู้สึกตัวใหม่ว่าร่างกายได้สัมผัสลมเย็น พระจากเพชรบุรีค่อยๆ สำรวจตัวเอง แล้วรู้สึกว่าตนยังมีลมหายใจ บัดนี้รอบข้างที่เคยมีแต่ความมืดและความอ้างว้างวังเวง กลายเป็นปากถ้ำแห่งหนึ่งที่มองออกไปแลเห็นไม้ไร่และบ้านเรือน

ทันใดนั้นมีเสียงเคาะเกาะดังเป็นสัญญาณมาจากเรือนจำ แว่วในโสตสำนึกว่ากำลังเป็นเวลา 6 โมงเย็น ปรากฏว่าท่านมาโผล่เอาที่เมืองราชบุรี และใกล้ๆ ปากถ้ำนั้น คือ วัดที่มีชื่อว่าวัดสีชมพู....(น่าจะหมายถึงวัดศรีชมพูราษฎร์ศรัทธาธรรม ในปัจจุบัน)

พอออกจากปากถ้ำ ก็ได้พบพระทั้งหลาย ต่างมารุมล้อมสอบถามกันด้วยความสนใจ พระรูปนี้เดินใต้ดินจากเพชรบุรีมาโผล่เอาที่ราชบุรีซึ่งไกลกันตั้ง 60 กว่ากิโลเมตรได้อย่างไร ฟังเรื่องที่เล่ามาแล้ว ก็พิสดารจนไม่น่าจะเป็นจริงได้เลย

พระจากเพชรบุรียืนยันจนอ่อนใจ ทันใดนั้นท่านก็นึกอะไรขึ้นมาได้อย่างหนึ่ง มีสิ่งหนึ่งอาจช่วยพิสูจน์เรื่องที่เล่ามามาเป็นความจริงได้ นั่นคือ นิ้วที่เคยจุ่มลงไปในบ่อมฤตยูนั่นเอง ท่านยกนิ้วที่กลายเป็นหินขึ้นมาให้ทุกคนดู นิ้วนั้นแข็งราวกับหิน ถึงจะเอาไฟตะเกียงมาลนก็ไม่มีความรู้สึกใดๆ ทว่าพอเอานิ้วลนไฟแล้วเอามานาบคนอื่นๆ ต่างพากันปวดแสบปวดร้อนไปหมด เหมือนโดนไฟนาบจริงๆ พระใต้ดินเอานิ้วมาเคาะหัวเด็กๆ ก็เจ็บ ต่างรู้สึกอัศจรรย์ใจกันทุกคน

ฝ่ายพระสูน (หมอสูน) เมื่อได้ฟังเรื่องราวของอาจารย์ปั่นจบแล้ว ภายหลังเมื่อมีโอกาสก็ไปหาพระเพชรบุรีรูปนั้น พระสูนว่าพระเพชรบุรีเอานิ้วมาให้จับดู ได้จับแล้วรู้สึกว่าแข็งเหมือนหินน่าประหลาดใจจริงๆ เมื่อเวลาผ่านไป นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ก็เอามาเล่าให้ลูกหลานและคนอื่นๆ ฟัง

ที่มา
เอนก นาวิกมูล. (2551). หมอสูน คนดี. กรุงเทพฯ : แสงดาว. (หน้า 133-137)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

ตามหาเมืองลับแลที่ราชบุรี

ภาพประกอบบทความ : การแต่งกายของชาวลับเเลในอดีต
เป็นภาพที่ถ่ายไว้ปลายสมัยรัชกาลที่ 5
สันนิษฐานว่าจะเป็นฝีพระหัตถ์ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ภาพนี้ค้นพบในหอสมุดเเห่งชาติ
ที่มาของภาพ :
 http://www.utdhome.com/board/redirect.php?fid=7&tid=1449&goto=nextnewset
บทความเรื่อง "ตามหาเมืองลับแลที่ราชบุรี" นี้ เป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อๆ กันมา ซึ่งผู้จัดทำได้พยายามค้นหาและนำมาบันทึกรวบรวมไว้ เพื่อจะได้มองเห็นในภาพรวมว่า ในจังหวัดราชบุรีของเรามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองลับแล อยู่ในพื้นที่ใดบ้าง  เผื่อบางทีอาจจะสามารถเชื่อมโยง กับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และถิ่นที่อยู่ของชนชาติพันธ์ต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดราชบุรีเมื่อครั้งในอดีตกาลที่ผ่านมาก็ได้  ลองอ่านดูนะครับ.....

เมืองลับแลเขาวังสะดึง
ในพื้นที่ ต. เขาแร้ง อ. เมือง จ. ราชบุรี เดิมที่เขาวังสะดึงด้านทิศตะวันออกจะมีปากถ้ำ ซึ่งในปัจจุบันจะมีหินแผ่นใหญ่ปิดปากถ้ำซ้อนกันอยู่ ไม่สามารถเข้าไปภายในถ้ำได้

ณ ถ้ำแห่งนี้มีประวัติเล่ากันต่อ ๆ กันมาว่า เป็นที่พักอาศัยของชาวเมืองลับแล ซึ่งชาวเมืองลับแลจะมีรูปร่างสันทัดคล้ายกับคนไทยโดยทั่วไป การแต่งตัวก็เหมือนกับคนไทยโดยทั่วไป แต่มีภาษาพูดที่แตกต่างจากคนไทย

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.oknation.net/blog/Kati1789/2008/03/11/entry-1
ภายในถ้ำในวันดีคืนดีจะมีเสียงดนตรีไทยประเภทวงปี่พาทย์ดังแผ่ว ๆ มาจากในถ้ำ แต่ไม่สามารถหาแหล่งที่มาของเสียงได้ จากเมืองลับแลนี้ชาวเมืองลับแลจะเป็นกลุ่มคนที่มีความซื่อสัตย์ ขยันทำมาหากิน ซื่อตรง รักเดียวใจเดียว ไม่ลักเล็กขโมยน้อยอยู่กันเป็นกลุ่ม จะพบเห็นคนเมืองลับแลได้ก็ต่อเมื่อเวลาใกล้ค่ำ ชาวลับแลจะออกมาอาบน้ำในสระน้ำด้านหน้าของเขาวังสะดึง เรียกชื่อสระนี้ว่า “สระพัง”  หรือบางครั้งชาวลับแลจะลงมาจากเขามาจับจ่ายชื้อเสบียงอาหารที่บริเวณตลาดนัดเชิงเขาในฤดูน้ำหลาก

ภายในถ้ำของชาวเมืองลับแลจะมีข้าวของเครื่องใช้ครบทุกอย่าง โดยเฉพาะพวกถ้วยชาม เครื่องใช้ในครัวเรือน เมื่อชาวไทยในเขตพื้นที่ใกล้เคียงมีงานมงคลต่าง ๆ มักจะมาเอาถ้วยชามภายในถ้ำไปใช้ เมื่อเสร็จงานแล้วก็จะนำกลับมาส่งคืน

จากความซื่อสัตย์ของคนเมืองลับแลนี้เองมักจะถูกเอาเปรียบจากคนในพื้นที่ใกล้เคียงจนมีเรื่องเล่ากันว่า ชาวไทยได้เข้าไปยืมถ้วยชามจากชาวลับแลมาใช้แล้วมักไม่ส่งคืนจนชาวเมืองลับแลเกิดความเบื่อหน่าย การถูกเอารัดเอาเปรียบจึงได้ปิดปากถ้ำไม่ออกมาติดต่อกับคนภายนอกอีกเลย

เรื่องเล่าอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีชายไทยเกิดหลงป่าขึ้นไปบนเขาวังสะดึงแล้วเกิดไปพบกับหญิงสาวชาวเมืองลับแล และต่างก็ตกหลุมรักซึ่งกันและกันจึงอยู่กินกันฉันสามีภรรยาภายในถ้ำลับแลจนเกิดพยานรักขึ้น 1 คน  โดยสามีจะมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรอยู่ภายในถ้ำ อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่สามีเลี้ยงบุตรอยู่นั้นภรรยาก็ออกหาของป่า บุตรเกิดร้องไห้งอแงแล้วสามีมักโกหกว่า "อย่าร้องเดี่ยวแม่มา"  จึงทำให้ภรรยาที่เป็นชาวลับแลจับได้ว่าเป็นคนโกหก ชาวเมืองลับแลจึงขับไล่ออกจากถ้ำ

โดยภรรยาก็ได้ให้ห่อขมิ้นห่อใหญ่กับสามีนำติดตัวมาด้วย หลังออกจากถ้ำมาแล้วนึกโกรธภรรยาและคนเมืองลับแลประกอบกับความรำคาญในความหนักของห่อขมิ้นจึงแก้ห่อขมิ้นทิ้งเสีย  นำติดตัวมาเพียงชิ้นเดียว เมื่อกลับถึงบ้านชิ้นขมิ้นกลับกลายเป็นทองคำ

เมื่อย้อนหลังกลับไปหาขมิ้นที่ตนทิ้งไปก็หาไม่พบ ในอดีตที่ผ่านมาที่บริเวณเขาวังสะดึง มักจะมีสิ่งลี้ลับหลายอย่างที่ไม่สามารถสืบค้นหาความจริงได้ จนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่สิ่งที่ทำให้คนในพื้นที่โดยรอบเขาวังสะดึงเชื่อเรื่องเมืองลับแลก็คือ หลักฐานลูกปัดโบราณที่มีอยู่โดยรอบบริเวณเชิงเขาวังสะดึง ยิ่งในช่วงฤดูฝนเกิดการชะล้างของน้ำฝนจะพบเห็นได้ง่าย จะไหลมารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ มักจะมีผู้คนจากต่างจังหวัดที่ทราบข่าวมาขุดดินบริเวณเชิงเขามาร่อนหาลูกปัดกันจำนวนมาก

คนในพื้นที่รอบเขาวังสะดึงได้อธิฐานไว้ว่าขอให้หาลูกปัดตามพื้นดินให้ได้มาก ๆ พอที่จะจำหน่ายเพื่อปลูกสร้างบ้านได้สักหลังก็ได้สมดังคำอธิฐานมาแล้ว ลักษณะของลูกปัดที่พบเห็นจะมีหลายขนาดด้วยกันโดยมีขนาดเล็กสุดเท่าหัวไม้ขีดจนถึงขนาดใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย มีหลากสีมีรูตรงกลางทุกเม็ด มีความใสคล้ายกับทำจากพลาสติกแต่เมื่อนำมาเผาไฟจะไม่ละลาย ยังคงมีสีและสภาพดังเดิม

จากตำนานเรื่องเมืองลับแลจะเห็นได้ว่า คนเมืองลับแลเป็นคนมีนิสัยรักสงบ มีความซื่อสัตย์ ขยันในการทำมาหากิน จึงทำให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ควรที่คนทั่วไปน่าจะนำมาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต

เมืองลับแลที่เขางู
จากคำบอกเล่าของคุณณรงค์ คุ้มจิตร์ เล่าว่า "เขางูมีตำนานเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า เขางูเป็นเมืองลับแล เล่ากันว่า ที่ถ้ำแห่งนี้สามารถทะลุผ่านไปยังเมืองลับแลซึ่งมีผู้คนชาวลับแลอาศัยอยู่ แต่ไม่มีผู้ใดสามารถมองเห็นคนพวกนี้ได้ วันดีคืนดีจะมีเสียงปี่พาทย์ดังออกมา

ในสมัยก่อนเมื่อชาวบ้านจะทำบุญเลี้ยงพระ จะไปอธิษฐานขอยืมถ้วยชามรามไหจากคนลับแล ก็จะมีถ้วยชามจัดวางไว้ตามที่ขอยืม ต่อมามีคนขอยืมแล้วไม่นำไปคืน ทำให้คนลับแลไม่ให้ยืมอีกต่อไป ปากถ้ำที่เข้าไปสู่เมืองลับแลจึงปิด ตอนเด็กๆ ได้เคยไป วิ่งเล่นแถวนั้น แล้วมีปู่ ย่า ตา ยาย ชี้ให้ดูประตูปากถ้ำ ซึ่งต่อมาได้ทำกำแพงกั้นไว้ และเมื่อจังหวัดจะมาบูรณะ รถไถจึงไถมาดินมาไว้บริเวณปากถ้ำโดยไม่ทราบที่มา ทำให้ปากถ้ำที่เป็นเสมือนกำแพงสู่ตำนานที่เล่าขานกันมานั้นก็หายไป และนี่คงเป็นที่มาของชื่อถ้ำฝาโถ ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณของเทือกหินเขางู"

เมืองลับแลที่เขากลางตลาดจอมบึง
อาจารย์ สุรินทร์ เหลือลมัย ที่ปรึกษาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ได้เล่าเกี่ยวกับเมืองลับแล ไว้ใน "ตำนานจอมบึง" ตอนหนึ่งว่า

เขากลางตลาดจอมบึง
ที่มาของภาพ
http://www.chombung.com/modules.php?name
=Content&pa=showpage&pid=7
"...จอมบึงยังมีนิทานท้องถิ่นอีกเรื่องหนึ่ง คือ “ถ้ำถ้วยโถโอชามของชาวลับแล

ผู้สูงอายุต่างเล่าต่อๆ กันมาด้วยถ้อยคำธรรมดา ทำนองมุขปาฐะ คือจากปากต่อปาก ไม่ทราบว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร มักจะอ้างว่าเป็นของเก่า ฟังจากผู้เล่าที่เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง  ทุกครั้งมักเล่าเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้

“วันดีคืนดี ชาวบ้านจะได้ยินเสียงมโหรีพิณพาทย์ลาดตะโพนดังแว่วมาจากเพิงผาหน้าถ้ำ อันเป็นดินแดนลี้ลับของเขากลางตลาด  ที่นั่นเป็นเขตแดนของชาวเมืองลับแล  สมัยก่อนนานมาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานเลี้ยงในหมู่บ้าน จะไปขอยืมถ้วยโถโอชามจากชาวเมืองลับแล โดยครั้งแรกจะบนบานไว้ก่อนว่าต้องการยืมของอะไรบ้าง  รุ่งขึ้นก็จะมีสิ่งของที่ขอยืมวางไว้ให้พร้อม  ชาวบ้านใช้งานเสร็จเมื่อไรก็ทำความสะอาด แล้วนำส่งคืนที่เดิมภายในถ้ำ ทุกรายจะปฏิบัติเช่นนี้เสมอ

แต่แล้วมีรายหนึ่งเล่นไม่ซื่อ เกิดความละโมบโลภมาก อยากได้บางสิ่งไว้ใช้ตลอดไป จึงส่งของคืนไม่ครบจำนวน ชาวลับแลไม่พอใจ ถือว่าทำผิดกติกาอย่างแรง ตั้งแต่นั้นมา แม้ชาวบ้านจะบนบานสักเท่าไร ก็ไม่มีสิ่งของออกมาวางไว้ให้ยืมอีก ปากถ้ำก็เลื่อนลงมาปิดสนิท เหลือเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน”

นิทานเรื่องนี้เคยแพร่หลายอยู่ในหลายอำเภอของเมืองราชบุรี ตลอดจนจังหวัดอื่นๆ ด้วย เค้าโครงเรื่องหลวมๆ เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหารายละเอียดที่ต้องการสื่อความหมายได้ง่าย จึงถ่ายทอดจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้

อ.สุรินทร์ ยังเขียนต่อถึงการเล่าขานเกี่ยวกับตำนานเมืองลับแลในราชบุรี ว่ามีอีกหลายแห่ง อาทิ

เขาน้อยเทียมสวรรค์
ที่มาของภาพ
http://www.blogger.com/goog_2055091394
2009_01_01_archive.html
เมืองลับแลที่เขาน้อยเทียมสวรรค์
"ที่หมู่บ้านเขาน้อยเทียมสวรรค์ เดิมก็ว่ามีถ้ำอยู่ใต้ฐานเจดีย์ ชาวลับแลทำให้หินงอกปิดปากถ้ำ ทางวัดกลัวเจดีย์จะทรุดลงมาจึงปิดปากถ้ำเสียเลย"

เมืองลับแลที่หินกอง
"ที่หมู่บ้านเขาหินกอง บนยอดเขาที่วัดหินกองมีร่องรอยหินแตกยุบตัวลงไป ก็ว่าเป็นการปิดปากถ้ำของชาวลับแล"

เมืองลับแลที่เขาแง่ม
"และที่หมู่บ้านเขาแง่มก็ว่ามีถ้ำของชาวลับแลเหมือนกัน"

อ.สุรินทร์ ให้ความเห็นในตอนท้ายเกี่ยวกับเมืองลับแลนี้ว่า เจ้าของนิทานที่เล่าเกี่ยวกับเมืองลับแลที่เชิงเขาวังสะดึง เขาหินกอง  เป็นคนไทยเชื้อสายลาวเวียงจันทน์  ที่เขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นลาวยวน แต่ที่เขากลางตลาดเป็นลาวเวียงและลาวโซ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ที่ไหนมีนิทานเรื่องนี้ สามารถทายได้เลยว่าผู้คนกลุ่มนั้นหรือชุมชนนั้นมีเชื้อสายไทย - ลาว

เมืองลับแลที่วัดป่าโป่งกระทิง
"วันหนึ่งเวลาบ่ายจัด ๆ ข้าพเจ้าเดินเที่ยวมองดูวิวทิวทัศน์ไปเรื่อย ๆ คนเดียว ผ่านไปตามทางเดินชายป่า มีต้นไม้ใหญ่คล้าย ๆ ต้นยูคาลิปตัสปลูกอยู่แถวเดียวริมทางเดิน สายตาเหลือบไปเห็นหลุมกว้างหลังต้นไม้ มีเสียงคนดังก้องอยู่ภายในหลุมนั้น จึงเดินเข้าไปดู เห็นเป็นบันใดเป็นขั้น ๆ แน่ใจว่าเป็นทางเดินลงไปข้างล่าง มันเป็นเวลาว่างของข้าพเจ้าพอดีเห็นว่ามีเวลาเหลือจึงเดินลงไปตามขั้นบันใดนั้นประมาณไม่เกิน 10 ขั้นก็ถึงพื้นดิน

มีผู้คนมากมาย เล่นกีฬาออกกำลังกาย การเล่นต่าง ๆ บางคนก็เดินไปทำธุระ บางคนก็เดินไปจับจ่ายสิ่งของ บรรยากาศร่มเย็นไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนข้างบนเลย และก็ไม่หนาวนัก ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส เยือกเย็นสดชื่น ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่นั่นด้วย ทุกคนให้ความเป็นกันเองไม่ถือตัวหรือมีอาการเย่อหยิ่งให้เห็นเลย ถามอะไรเขาก็ตอบให้เข้าใจหมด ถามถึงร้านขายอาหารว่าอยู่ทางไหน เขาก็ชี้มือบอกด้วยความเต็มใจยิ้มแย้มน่ารักและนำไปส่งจนถึงร้าน

ข้าพเจ้าเดินไปหาร้านอาหาร มีทั้งอาหารคาวหวาน ผลหมากรากไม้มากมาย ครั้นพบของที่อยากรับประทานก็เดินเข้าไปจะซื้อแต่คลำหาสตางค์ในกระเป๋าไม่พบ จึงต้องเสียเวลาเดินกลับขึ้นไปข้างบนอีกเที่ยวหนึ่ง ใช้เวลานานพอสมควรไปถึงรถที่จอดอยู่ห่าง ๆ ได้สตางค์แล้วก็เดินกลับไป ลงตามบันใดไปที่เดิมหวังจะซื้อของอร่อยมารับประทานให้สมอยาก

พลันได้ยินเสียงผู้หญิงคนหนึ่งพูดด้วยเสียงดังว่า ประตูจะปิดแล้วให้รีบกลับ ทันใดนั้นก็มีคนหลายคนเดินนำหน้าข้าพเจ้าขึ้นไปตามบันใดทางขึ้น ข้าพเจ้าก็รีบเดินตามเขาไป พอถึงบันใดขั้นบนสุดคนเหล่านั้นวกกลับลงไปอีก และดันหลังให้ข้าพเจ้าขึ้นไปแต่ผู้เดียว พอขึ้นพ้นออกมาแล้วประตูก็ปิดลงทันที

ข้าพเจ้าเดินออกไปที่ทางเดินหน้าต้นไม้ที่เดิมแล้วเหลียวหลังไปมอง ไม่มีร่องรอยทางลงหรือประตูอะไรทั้งนั้น เป็นพื้นดินราบเรียบแถมยังมีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมเสียด้วย ไม่ติดใจอะไรได้แต่เดินกลับมา

จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายเดือนจนบัดนี้เดือน พฤษภาคม 2553 ภาพวิวตรงนั้นยังติดตาอยู่ จึงนำมานึกทบทวนว่าตัวเราก็ไปเที่ยวพักผ่อนและเที่ยวธุดงค์มาหลายแห่ง จำได้ว่าสถานที่แบบนั้นอยู่ใกล้วัดป่าลัน เชียงราย หรือวัดป่าโป่งกระทิง ราชบุรีกันแน่นะ แล้วเมืองที่เราลงไปคือเมืองอะไร พลันนึกได้ว่า อ๋อ น่าจะเป็นเมืองลับแลหรือเมืองบังบดนั่นเอง เพราะจนถึงเวลานี้จะไปหาอีกก็ไม่พบ มิน่าเล่า ชาวเมืองเขาจึงไล่เราให้รีบออกจากเมืองเพราะเขาจะปิดประตู และที่สำคัญเราไม่ใช่คนเมืองนั้น เขาอนุญาตให้เราเข้าไปเพราะเราเองเป็นคนมีสัจจะ ไม่พูดโกหกใครและไม่โกหกตัวเอง

ข้าพเจ้านำเรื่องนี้มาเล่าเป็นอุทธาหรว่าถ้าผู้ใดมีศีลมีสัจ ก็จะได้พบอะไรดี ๆ แปลก ๆ" ผู้เล่า  สมุท

หากท่านผู้อ่านท่านใดมีเรื่องเล่าหรือตำนานเกี่ยวกับเมืองลับแลในราชบุรี แล้วช่วยเพิ่มข้อมูลไว้ท้ายบทความนี้ด้วยนะครับ เผื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มาค้นคว้าหาความรู้ต่อไปในภายภาคหน้า

ที่มาข้อมูล :
อ่านต่อ >>