วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

..คือ มอญแห่งบ้านม่วง

สัมผัสกลิ่นอายอารยธรรมมอญ
แห่งชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี (ดูที่ตั้งและพิกัด)

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน  อาหารมอญเลิศรส
สดสวยเส้นสาย  ลายผ้ามอญทอมือ  เลื่อระบือรำหงส์
พระมุเตาสถูปสถิตคง  สดับธรรมคำสวดมอญ

ดูภาพอื่นๆ
ใครคนที่พลัดถิ่น กลับมิสิ้นชาติดำรง
ในบรรดามนุษยชาติพันธุ์เก่าแก่ ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "มอญ" จะดูอาภัพกว่าใครเพื่อน  "เขมร" ยังมีถิ่นฐานบ้านช่องเป็นของตัวเอง แต่ "มอญ" สิ้นแผ่นดิน ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ กระจัดกระจายย้ายแยกกันไปอาศัยบ้านอื่นเมืองเขา

"เมืองมอญ" ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต กลับกลายมาเป็นความปวดร้าวในปัจจุบัน เหลือเพียงสำนึกใน "ความเป็นมอญ" เท่านั้นที่ซึมซ่านอยู่ในสายเลือด "คนพลัดถิ่น"


เทือกเถาเหล่ากอคง ยังสืบสายหลายร้อยปี
ประวัติชั่วไม่ถึงครึ่งศตวรรษ บอกเล่าถึงคลื่นมอญอพยพระลอกแล้วระลอกเล่า เข้าสู่กรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และระตนโกสินทร์ รวมไม้น้อยกว่า 9 ครั้ง เป็นการหนีภัยพม่าที่ขยายอำนาจรุกลงทางใต้ จนในที่สุดมอญก็สิ้นแผ่นดิน

ในความทรงจำอันปวดร้าวของมอญ บันทึกเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ.2082 กรุงหงสาวดีถูกพม่าตีแตก สองปีต่อมา เมาะตะมะก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน  เป็นอันสิ้นสุดความรุ่งเรืองของมอญยุคหงสาวดี  เหตุการณ์นี้เองที่ก่อให้เกิดคลื่นมอญอพยพระลอกแรกชนิดแบบเทครัว ทั้งชนชั้นสูงและสามัญชน สู่กรุงศรีอยุธยา และเส้นทางอพยพสายสำคัญนั้นก็คือ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์

ระลอกต่อมา เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระนเรศวรเสโจไปช่วยพม่าปราบกบฏเมืองอังวะ  แล้วนำไปสู่การประกาศแยกแผ่นดินกับพม่า เมื่อ พ.ศ.2127 เพราะพม่าคิดไม่ซื่อ  วางแผนร้ายหมายกำจัดพระองค์  ผู้เปิดโปงแผนการร้ายของพม่า คือ พระมหาเถรคันฉ่อง สงฆ์มอญนิกายมหายาน กับอีกสองพญามอญ คือ พญาเกียรติ พญาราม

ในการยกทัพกลับคราวนั้น  นอกจากพาครัวไทยสมัยพม่ากวาดต้อนไปแล้วคราวเสียกรุง พ.ศ.2112 กลับมาด้วยแล้ว  ยังทรงชักชวนพระมหาเถรคันฉ่อง พญาเกียรติ  พญาราม พร่อมครัวมอญอีกมาก ให้เข้ามาอยู่ด้วยกันที่กรุงศรีฯ โดยโปรดยกทัพกลับทางใต้ ผ่านหัวเมืองมอญ เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์


คือมอญแห่งบ้านม่วง  ริมฝั่งน้ำแม่กลองนี้
มอญบ้านม่วงเองก็เชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกตนติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง เข้ามตั้งถิ่นฐานอยู่ริมน้ำแม่กลอง ตั้งแต่ครั้งกรุงศรี  รัชสมัยพระนเรศวร  และเพื่อรำลึกถึงบ้านเก่าที่จากมา  จึงเรียกบ้านใหม่ด้วยชื่อเก่า "บ้านม่วง" เช่นเดียวกับชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า "วัดม่วง" ภาษามอญว่า "เพลียเกริก"

มอญบ้านม่วงใช้เวลา 30 กว่าปีในการบุกเบิกที่ทางทำมาหากิน ก่อสร้างชุมชนและวัดวาอาราม  คัมภีร์ใบลานเก่าที่สุดของวัดม่วง จารเมื่อศักราช 1,000 ตรงกับ พ.ศ.2181 ชุมชนบ้านม่วงจึงมีอายุเก่าแก่ถึง 373 ปี


เลือดมอญยังล้นปรี่   ย้อนรอยชาติอารยชน
ยังมีการอพยพเข้ามสมทบอีกหลายระลอก และเวลาร่วม 400 ปี ช่างเนิ่นนานนักในการยืนหยัดเหนียวแน่นอยู่กับ "ความเป็นมอญ" และนั่นก็เป็นรากฐานอันดีในการก่อเกิด พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และศุนย์มอญศึกษา  เพื่อที่จะพัฒนาชุมชนมอญแห่งนี้ให้เป็นคลังความรู้มอญ  เพื่อย้อนรอยชาติอารยชน  ผู้ซึ่งนานมาแล้วมีบทบาทสูงเด่นอยู่ในอาณาจักรเก่าแก่ นามว่า "ทวารวดี"

ทวารวดี มีศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาคกลาง และแผ่อิทธิพลไปทั่วประเทศไทย ช้ามไปถึงกัมพูชาและลาว โดยมีวัฒนธรรมมอญโดดเด่นเป็นสง่า.....

*****************************

อ่านเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล
  • แผ่นพับประชาสัมพันธ์ชุมชนมอญบ้านม่วง ได้รับแจกจ่ายเมื่อ 17 เม.ย.2554

อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

มอญอพยพ 9 ระลอก

คนมอญสังกัดรัฐมอญในประเทศพม่า เดินทางไปมาหาสู่ไทย แล้วเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งในดินแดนประเทศไทยเป็นปกติสามัญอยู่แล้วตั้งแต่โบราณกาล แต่การอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยครั้งใหญ่ๆ ทยอยเป็นระลอกๆ มี 9 คราว คือ สมัยกรุงศรีอยุธยา  6 คราว สมัยกรุงธนบุรี 1 คราว และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  2 คราว ดังนี้


คราวแรก
เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ตีเมืองหงสาวดีแตกในปี พ.ศ.2081 และตีเมืองเมาะตะมะแตกในปี พ.ศ.2084 ชนชั้นสูงและชาวมอญต่างอพยพเข้าสู่ประเทศไทย 2 เส้นทางคือ
  1. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากหัวเมืองมอญทางใต้ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ และเดินทางกลับลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่สอง
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปพม่าเพื่อช่วยพระเจ้านันทบุเรงปราบกบฏเมืองอังวะ แล้วทรงประกาศอิสระภาพจากพม่าในปี พ.ศ.2127 และทรงเกลี้ยกล่อมชาวมอญที่สวามิภักดิ์ให้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สาม
ราชวงศ์ตองอูปกครองมอญอย่างทารุณ และในปี พ.ศ.2138 พวกยะไข่เข้ามาตีทำลายเมืองหงสาวดีจนร้าง เกิดการอพยพหนีเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มุ่งสู่กรุงศรีอยุธยา



คราวที่สี่
เมื่อพระเจ้าสุทโธธรรมราชาแห่งอังวะมาทำพิธีราชาภิเษกที่เมืองหงสาวดีในปี พ.ศ.2156 มอญไม่พอใจจึงก่อการกบฏ แต่ถูกพม่าปราบปรามอย่างหนัก เกิดการอพยพเข้าสู่ไทยจากเมืองหงสาวดี ผ่านเมาะลำเลิง ด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี



คราวที่ห้า
มอญที่เมืองเมาะตะมะก่อการกบฏอีกครั้งในราวปี พ.ศ.2204-2205 แต่ถูกพม่าปราบได้จึงพากันอพยพหนีเข้ามาจากด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนหนึ่งมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี อีกส่วนหนึ่ง เดินทางต่อมาราชบุรี กรุงศรีอยุธยา และไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองปทุมธานี



คราวที่หก
ปลายราชวงศ์ตองอู มอญตั้งอาณาจักรได้และสามารถตีกรุงอังวะแตก  แต่ครั้งพระเจ้าอลองพญาสถาปนาราชวงศ์ใหม่ และในปี พ.ศ.2300 สามารถตีหงสาวดีได้ มอญถูกปราบอย่างรุนแรง จึงอพยพหนีเข้าสู่ไทย 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ และขึ้นเหนือไปตั้งหลักแหล่งยังเมืองเชียงใหม่
  2. จากเมืองหงสาวดี มายังเมืองเมาะตะมะ ขึ้นเหนือผ่านเมืองเชียงใหม่ แล้วลงใต้มายังเมืองตาก และมาตั้งหลักแหล่งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา
  3. จากเมืองเมาะตะมะ ลงใต้ไปยังเมืองทวายและไปตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา


คราวที่เจ็ด
ปี พ.ศ.2316 เกิดกบฎมอญในย่างกุ้ง  พม่าจึงเผาเมืองย่างกุ้ง มอญพากันอพยพหนีเข้ามาจำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองเชียงใหม่ และลงใต้มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา
  2. จากเมืองหงสาวดีไปยังเมืองตาก และลงมาตั้งหลักแหล่งที่กรุงศรีอยุธยา 
  3. จากเมืองหงสาวดี มาตั้งหลักแหล่งที่ด่านเจดีย์สามองค์


คราวที่แปด
ปี พ.ศ.2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จตีและยึดเมืองทวายได้ แต่ไม่สามารถรักษาได้ ต้องถอยกลับเข้าสู่ไทย และได้นำมามอญจากเมืองทวายเข้ามาด้วย โดยผ่านทางเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพฯ


คราวที่เก้า
ปี พ.ศ.2357 เกิดกบฎที่เมาะตะมะ  ถูกพม่าปราบอย่างรุนแรง เกิดการอพยพหนีเข้าไทยระลอกใหญ่ จำนวน 3 เส้นทาง คือ
  1. จากด่านเจดีย์สามองค์ มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองกาญจนบุรี
  2. จากเมืองอุทัยธานี ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
  3. จากเมืองตาก ผ่านไปยังเมืองปทุมธานี มาตั้งหลักแหล่งที่เมืองนนทบุรี
การอพยพของมอญทั้ง 9 คราว ทำให้มอญกลายเป็นประชากรส่วนสำคัญของประเทศไทยมาจนทุกวันนี้

ดูเพิ่มเติม

ที่มาข้อมูล
ศูนย์มอญศึกษา. (2550). นำชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม. (หน้า 38-39)
อ่านต่อ >>