วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จารึก 3 แห่งที่พบในราชบุรี

ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่าจารึกที่พบในราชบุรีมี 3 จารึกเป็นภาษา "ปัลลวะ" ทั้งนั้น โดยมีรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละจารึก ดังนี้

จารึกถ้ำฤาษีเขางูราชบุรี
เป็นอักษร "ปัลลวะ" จารึกเอาไว้ราวปีพุทธศตวรรษ 12  ภาษาสันสกฤต  มี 1 บรรทัด จารึกบนศิลา (หิน) อยู่ใต้ฐานพระพุทธรูป ในถ้ำฤๅษีเขางู วัดเขางู ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ขนาดกว้าง 47 ซม. สูง 26 ซม. ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง 


จารึกถ้ำฤาษีเขางูราชบุรี
เขางู ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดราชบุรีห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร เมื่อขึ้นเขาไปได้ครึ่งทางก็จะพบถ้ำซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำฤๅษี” บริเวณปากถ้ำมีพระพุทธรูปใหญ่จำหลักอยู่บนหน้าผาเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท มีความสูงราว 2.50 เมตร พระหัตถ์ขวาแสดงปางปฐมเทศนา พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลา ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกอักษร 12 ตัว ลักษณะรูปอักษรเหมือนรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11–12 

ที่เขางูนี้ พันตรี เดอ ลาช็องกีแอร์ ได้เคยสำรวจและพรรณนารายละเอียดตีพิมพ์ลงในวารสาร Bulletin de la Commission Archéologique de l’Indochine (BCAI) เมื่อ ค.ศ. 1912 หน้า 117 แต่ท่านไม่ได้สังเกตเห็นว่า ใต้ฐานของพระพุทธรูปมีตัวอักษรปัลลวะจารึกอยู่

ต่อมาในคราวที่มีการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ แลเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย” ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านจารึกหลักนี้ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 แต่ท่านไม่ได้แปลและอธิบาย มีแต่เพียงคำอ่านเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2504  จึงมีการชำระ โดยเพิ่มเติมคำแปลและคำอธิบายเพื่อตีพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ใน “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้”

ต่อมา กองหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์หนังสือชุด จารึกในประเทศไทย ขึ้นในปี พ.ศ. 2529  ในครั้งนี้ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ทำการอ่านและอธิบายคำในจารึกหลักนี้ใหม่อีกครั้ง  แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการอ่านของนายชะเอม แก้วคล้าย ประมาณ 10 ปี คือ ในปีพุทธศักราช 2519 ได้มีคนมาลักลอบจารึกข้อความต่อเติมคำจารึกเดิมนั้นด้วยอักษรไทยปัจจุบัน แต่ประดิษฐ์ให้พิสดาร แปลงเส้นและตัวอักษรให้ดูแปลกเหมือนเป็นจารึกโบราณ คือเพิ่มคำว่า “ชื่อ” ที่หน้าอักษรจารึกของเก่าและเพิ่มคำว่า “พุทธพัสสา 44” เป็นบรรทัดที่ 2 ต่อจากอักษรจารึกของเดิม ทำให้จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี เปลี่ยนสภาพไป

เนื้อหาโดยสังเขป  เป็นจารึกที่อาจเป็นการบอกชื่อของผู้สร้างพระพุทธรูป ในที่นี้คือ ฤษีสมาธิคุปตะ หรือ พระศรีสมาธิคุปตะ ว่าเป็น ผู้บริสุทธิ์ ด้วยการทำบุญ

การกำหนดอายุ กำหนดตามรูปแบบอักษรปัลลวะ คือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12  นอกจากนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “วิสามัญนามข้างปลายว่า “คุปฺตะ” เช่น “สมาธิคุปฺตะ” นี้ เคยใช้กันในสมัยราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองในประเทศอินเดียเป็นอันมาก ภายหลังในสมัยตรงกับสมัยขอมมีอำนาจในประเทศนี้ นามเหล่านั้นไม่ใคร่ได้ใช้เลย ถ้าฉะนั้นแล้วพระพุทธรูปที่สลักบนฝาผนังถ้ำฤๅษี คงจะเป็นฝีมือครั้งกรุงทวารวดี คือตรงกับสมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9 - 13) ในประเทศอินเดีย หรือ ภายหลังราชวงศ์คุปตะไม่สู้นานนัก”

จารึกเขาปุมยะคิรี
เป็นอักษร "หลังปัลลวะ" ราวพุทธศตวรรษ 13 - 14  ภาษา สันสกฤต  มี 1 บรรทัด จารึกบนศิลา (หิน) เป็นส่วนหนึ่งของธรรมจักร  ขนาด กว้าง 18 ซม. ยาว 33.3 ซม. หนา 7 ซม. พบที่ ใกล้วัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม (เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกับ วัดโขลงสุวรรณคีรี) ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ไม่ทราบใครพบ ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

จารึกเขาปุมยะคิรี
พบที่ใกล้วัดโขลงสุวรรณคิรี
ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยูที่ใด

หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาไว้เฉพาะสำเนาจารึก ตัวหลักจารึกนั้นยังสืบไม่ได้ว่าปัจจุบันอยู่ที่ใด  จารึกนี้กล่าวระบุว่า "ภูเขาแห่งนี้ชื่อปุมยะคีรี"  ไม่ทราบใครเป็นคนจารึก กำหนดอายุจากรูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14

จารึกเยธมฺมาฯ ๘ (ราชบุรี)
อักษรที่มีในจารึก ปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษ 12  ภาษาบาลี มี 2 บรรทัด จารึกบนศิลาสีเขียว ของพระพุทธรูปยืน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์  ขนาดสูง 196 ซม. พบเมื่อ พุทธศักราช 2497  บริเวณวัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ผู้พบ พระธรรมเสนานี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้จารึก  ปัจจุบันอยู่ที่ พระอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี



ประวัติ ศิลาจารึกหลักนี้ จารึกอักษรอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ด้านหลัง) ของพระพุทธรูปยืนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ซึ่งทำด้วยศิลาสีเขียว ศิลปะแบบทวารวดี พระธรรมเสนานีเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี พบที่วัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และได้นำมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2497 ต่อในปี พ.ศ.2508 ได้มีการอ่านและนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 โดยใช้ชื่อว่า หลักที่ 31 จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา วัดมหาธาตุ ราชบุรี และ ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการอ่านและแปลอีกครั้งโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย

เนื้อหาโดยสังเขป คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า

“สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”

การกำหนดอายุ ตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ได้ให้ความเห็นว่า รูปอักษรของจารึกนี้ เหมือนกันกับศิลาจารึกเยธมฺมาฯ บนแผ่นอิฐ (สพ. 4) ฉะนั้นจึงประมาณอายุให้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12

***************************

ที่มาข้อมูล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร(องค์การมหาชน) . (2554).ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. [Online]. Available :http://www2.sac.or.th/databases/jaruk/th/main.php. [2554 กุมภาพันธุ์ 16 ].

อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ตำนานศาลเจ้าแม่เบิกไพร บ้านโป่ง

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2554 ผมได้ไปธุระที่วัดปากบาง ต.ลูกแก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา ขากลับเลยลองขับรถเรื่อยๆ บนถนนเล็กๆ อันคดเคี้ยว เลียบริมแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา ผ่านหมู่บ้านและวัดหลายแห่ง จนมาถึงราชบุรี  ในช่วงเข้าเขต อ.บ้านโป่ง ผมได้ผ่าน ศาลเจ้าแม่เบิกไพร ซึ่งเป็นศาลที่เก่าแก่มาก เป็นที่เคารพสักการะของชาวราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะชาวเรือ มาแต่อดีต และขึ้นชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เลยตั้งใจจะกลับมาค้นหาเรื่องราวและตำนานของศาลเจ้าแม่เบิกไพร ตามที่มีบันทึกเอาไว้ในหนังสือหรือเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งพออ่านแล้ว อาจจะมีความไม่สอดคล้องหรือขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา ...ลองอ่านดูนะครับ...

ที่ตั้งศาลเจ้าแม่เบิกไพร อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ภาพจาก Google Map

เจ้าแม่เบิกไพรเป็นบุตรีของชาวประมง
คุณมโน  กลีบทอง ได้สัมภาษณ์นางกิมเต็ง แซ่ตั๊น (นางละออง ศรีคำ) อายุ 72 ปี ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่เบิกไพร ไว้เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2541 ซึ่งนางกิมเต็งฯ ได้เล่าประวัติเจ้าแม่เบิกไพรไว้ว่า

"ท่านเป็นบุตรีของชาวประมง มีพี่ชายหนึ่งคน ระหว่างที่ท่านอยู่ในครรภ์มารดา มารดาของท่านรับประทานแต่อาหารเจ และเมื่อเจ้าแม่คลอดจากครรภ์มารดา เจ้าแม่ก็รับประทานแต่อาหารเจจนตลอดชีวิตของท่าน เหตุที่ท่านเป็นที่นับถือของคนเดินเรือ เนื่องมาจากวันหนึ่งบิดาและพี่ชายของท่าน ออกหาปลาด้วยเรือคนละลำ เกิดพายุใหญ่ทำให้เรือของบิดาและพี่ชายโดนพายุเกือบจะอับปาง ท่านได้ตั้งจิตช่วยเหลือด้วยการใช้ปากคาบเรือของบิดาและใช้มือสองข้างจับเรือของพี่ชาย

ขณะนั้นมารดาและพี่สะใภ้มาพบเข้าและไม่รู้ว่าเจ้าแม่กำลังตั้งจิต จึงร้องเรียก เจ้าแม่ขานรับคำ เรือของบิดาท่านจึงหลุดออกจากปากจมลงทะเล ท่านเสียใจมากที่ช่วยบิดาไว้ไม่ได้ จึงตั้งใจจะช่วยคนเดินเรือทุกคนให้เดินเรือด้วยความปลอดภัย จากนั้นท่านจึงเดินลงทะเลหายไป ตั้งแต่นั้นมาชาวเรือที่บูชาเจ้าแม่จะเดินเรือด้วยความปลอดภัย"

ผงธูปของเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อ
ในเว็บไซต์ห้องสมุดออนไลน์ MyfirstInfo ได้เขียนประวัติของศาลเจ้าแม่เบิกไพรไว้เมื่อ 26 พ.ย.2550 ดังนี้

"ในราวปี พ.ศ.2317 นายเม่งตะ แซ่ตั้น พ่อค้าชาวจีนได้เดินทางโดยทางเรือเข้ามาค้าขายที่เมืองราชบุรี หรือที่เรียกว่าเมืองคูบัวในสมัยนั้น นายเม่งตะฯ เป็นผู้ที่มีความเคารพศรัทธาต่อเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อ จึงได้นำผงธูปที่ไหว้เจ้าแม่ติดตัวมาด้วยจากประเทศจีน เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจระหว่างการเดินทาง และเมื่อเดินทางมาถึงที่บ้านโป่งก็ได้สร้างศาลเล็กๆ ขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมทั้งได้นำผงธูปที่ติดตัวมานั้นประดิษฐานไว้ ต่อมาศาลแห่งนั้นก็ได้รับความเคารพจากชาวจีนในบ้านโป่งต่อมา และได้ขนานนามศาลเจ้าแห่งนั้นไว้ว่า "ศาลเจ้าแม่เบิกไพร" เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเรือ เชื่อว่าจะคุ้มครองให้ปลอดภัย และเบิกทางให้ไปถึงจุดหมายด้วยดี"

ความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อและบุตรีของชาวประมง
จากตำนานทั้ง 2 เรื่องทำให้ผมลองสืบค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าแม่เทียงโหวเซี้ยบ้อและบุตรีของชาวประมง ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร จึงไปพบเรื่องราวที่โพสต์เอาไว้ในเว็บบอร์ด หัวข้อ เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม ในเว็บไซต์ Phuketvegetarian.com เขียนเอาไว้น่าสนใจ ดังนี้

คุณศิษย์เหล่าเอี๊ย โพสต์ว่า "เจ้าแม่ทับทิม หรือเทพยุดาตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง ที่ชาวไหหลำให้ความเคารพบูชา ท่านเป็นเทพยดาแห่งความเมตตา ส่วนเจ้าแม่เทียงเซียงเซี่ยบ้อ หรือเทียนโหวเซี่ยบ้อ ไหหลำเรียกเทียงโหวเต๋งหม้าย เต๋งหม้ายก้อคือ เซี่ยบ้อ เป็นเจ้าแม่ทางน้ำ แต่จริงๆ ถ้าแปลตามชื่อเจ้าแม่ทับทิมน่าจะดูแลรักษาทางน้ำมากกว่า...."

คุณศิษย์อาม่า โพสต์ว่า "หม่าโจ้ว  จุ้ยบ๊วยเนี้ยว  เทียนโหวเซี่ยบ้อ  หม่าจ๋อโป๋  เจ้าแม่โต๊ะโม๊ะ  เจ้าแม่เบิกไพร  เจ้าแม่เขาสามมุข  ชื่อทั้งหมดนี้เป็นชื่อเรียกของอาม่า (เจ้าแม่ทับทิม)  ทั้งหมดครับ  การเรียกชื่อในแต่ละท้องที่นั้นไม่เหมือนกัน  จึงทำให้มีหลากหลายชื่อ...."

คุณศิษย์ซือจุง โพสต์ว่า "เจ้าแม่ทับทิมมีทั้งหมด 4 องค์นะครับ (เท่าที่พบเห็นในประเทศไทย) เรียงลำดับดังนี้คือ
  1. เทียนโหวเซี้ยบ้อหรือหม่าโจ้ว (เจ้าแม่ทับทิมเดือน 3 ) เช่น เจ้าแม่โต๊ะโมะ จ.นราธิวาส เจ้าแม่ม่าผ่อ จ.ยะลา เจ้าแม่เบิกไพร จ.ราชบุรี
  2. จุ้ยบ่วยเสี่ยเนี้ยหรือตุ้ยบ้วยเต๋งเหนี่ยง เป็นเจ้าแม่ทับทิมเดือน 10 ที่ชาวไหหลำให้ความเคารพนับถือมาก ตามประวัติที่แกะจากขอนไม้ลอยน้ำแล้วนำมาแกะสลักเป้นองค์เจ้าแม่
  3. ไท้ฮั้วเสี่ยเนี้ยหรือไท้หว่าโผ่ (เจ้าแม่ทับทิมเดือน 6) เป็นเจ้าแม่ที่มีประวัติลึกลับคล้ายๆกับจุ้ยบ่วยเนี้ยคือไม่มีชีวิตเป็นตัวเป็นตนจริง ซึ่งที่ตลาดน้อย ริมคลองผดุงเกษมจะมีศาลของไท้ฮั้วโผ่อยู่
  4. เจี่ยสุ้นเสี่ยเนี้ยหรือเจ้าแม่ทับทิมเดือน 2 ซึ่งศาลท่านที่พบเห็นแถวย่านบางโพ ซึ่งมีประวัติคล้ายๆ ท้าวสุรนารี (ย่าโม) หรือคุณหญิงมุก ของชาวภูเก็ต เป็นวีระสตรีผู้กล้า มีประวัติจารึกอยู่ที่ไหหลำ ประเทศจีน"
ส่วนในหนังสือ 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ ได้เขียนไว้ว่า "....ในการขึ้นล่องค้าขายทางเรือของชาวจีน เมื่อผ่านคุ้งน้ำสำคัญๆ ก็ได้นำวัฒนธรรม ความเชื่อตามประเพณีบอกเล่า ได้สร้างศาลที่พวกตนนับถือมาตั้งแต่อยู่เมืองจีน เช่น ชาวไหหลำนิยมสร้างศาลเจ้าแม่ชุ่ยเว่ยเหนียง หรือเจ้าแม่ชายน้ำ ที่คนไทยรู้จักในชื่อของเจ้าแม่ทับทิม ที่ตำบลท่าผา อ.บ้านโป่ง ขณะที่ชาวแต้จิ๋ว ได้สร้างศาลทับศาลดั้งเดิมของคนพื้นเมืองมาก่อนที่คนไทยเรียกว่า ศาลเจ้าแม่เบิกไพร อ.บ้านโป่ง.....

จากข้อมูลที่ค้นหามา ผมก็ยังค่อนข้างสับสนอยู่พอสมควร แต่พอจะสรุปได้ว่า เจ้าแม่เบิกไพร เจ้าแม่เทียนโหวเซี่ยบ้อ และเจ้าแม่ทับทิม น่าจะเป็นองค์เดียวกัน และมีความเกี่ยวข้องกับทางน้ำ (การประมงและการเดินเรือ) จริง (เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ใครมีข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ กรุณาเพิ่มเติมไว้ได้ที่ท้ายบทความนี้) 

บันทึกศาลเจ้าแม่เบิกไพร ในสมุดราชบุรี พ.ศ.2468
"เจ้าแม่องค์นี้ เป็นที่เลื่องลือในความศักดิ์สิทธิ์แพร่หลายไปถึงต่างจังหวัดที่ใกล้เคียง ศาลเจ้าแม่ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาลำน้ำแม่กลอง ณ ตำบลเบิกไพร ท้องที่อำเภอบ้านโป่ง อยู่เยื้องตลาดบ้านโป่งลงมาทางใต้ระยะทางประมาณ 40 เส้น

ภาพศาลเจ้าแม่เบิกไพร ในสมุดราชบุรี พ.ศ.2468
เจ้าแม่องค์นี้ได้มีปรากฏมาแต่กาลนานก่อนตั้งที่ว่าการอำเภอและตลาดบ้านโป่ง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาอย่างใด เมื่อครั้งไร ศาลของเจ้าแม่โดยเหตุที่ตั้งอยู่ริมน้ำและตรงท้องคุ้งตลิ่งพัง จึงได้มีการขยับเลื่อนหนีน้ำประมาณ 2 ครั้งแล้ว ในบัดนี้ลักษณะรูปศาลคงเป็นเช่นเรือนฝากระดาน 2 หลังแฝด หลังคามุงสังกะสี พื้นกระดานขนาดกว้างยาว 4 วา 2 ศอก สี่เหลี่ยม ความเป็นอยู่ภายในเหมือนอย่างศาลเจ้า

รูปเจ้าแม่ในบัดนี้ เป็นรูปพระจีนทรงเครื่องปิดทองนั่งอยู่บนฐานสูงประมาณ 1 ฟุต และมีรูปสาวกอีก 2 องค์ ความจริงเจ้าแม่ควรจะเป็นเทพารักษ์อย่างไทยๆ แต่ที่กลายเป็นไปอย่างจีนและศาลก็เป็นศาลเจ้าไปเช่นนี้ เพราะเหตุด้วยคนจีนเป็นผู้ปกครองดูแลศาลและความนิยมนับถือก็อยู่ในหมู่ชาวจีนเป็นส่วนมากด้วย

แต่อย่างไรก็ดีเกือบจะกล่าวได้ว่า เจ้าแม่องค์นี้ราษฎรมีความนิยมนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าเทพารักษ์องค์อื่นๆ ในจังหวัดราชบุรี ตามปกติมีผู้ไปเซ่นไหว้ทุกวัน วันละหลายๆ พวก บ้างไปบนบานศาลกล่าว บ้านก็ไปเสี่ยงทายขอใบเซียมซี  ด้วยปรากฏว่าใบเสี่ยงทายมีความศักดิ์สิทธิ์แน่นอนมาก บรรดาชาวเรือแทบทุกลำที่ขึ้นล่องผ่านหน้าศาล ต้องทำการเซ่นไหว้มีจุดธูปเทียนเผากระดาษเงิน ทอง และจุดประทัด นับว่าในวันหนึ่งๆ ที่ศาลนี้จะไม่ขาดเสียงประทัดเลย

กำหนดเวลาที่ราษฎรไปไหว้กันมากก็คือระหว่างใกล้ตรุษจีน ตลอดไปจนหมดตรุษจีนแล้ว ซึ่งราษฎรตามจังหวัดใกล้เคียงหลายจังหวัด ได้พากันมาเป็นจำนวนมากทุกๆ วัน....

.....การจะไปยังศาลนี้ เป็นความสะดวกทั้งทางบกและทางเรือ ในทางบกนั้นเมื่อลงรถไฟที่สถานีบ้านโป่งแล้วเดินผ่านตลาดไปยังริมแม่น้ำ และเดินต่อไปข้างใต้อีกไม่ช้าก็จะถึงท่าเรือจ้าง แล้วลงเรือข้ามฟาก ซึ่งมีประจำคอยรับผู้โดยสารอยู่เสมอ  ส่วนทางเรือนั้น ในลำน้ำแม่กลอง มีเรือเมล์คอยรับส่งคนโดยสารขึ้นล่องอยู่ตลอดลำน้ำ และทุกๆ วัน ฉนั้นเมื่อจะโดยสารจากที่ใดไปก็ได้เสมอ......"

พุทธรูป 5 องค์ ปางต่างๆ กัน
รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ สักการะศาลถึง 2 ครั้ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้เคยเสด็จมาสักการะศาลเจ้าแม่เบิกไพรแห่งนี้ด้วยเช่นกัน โดยครั้งแรกปี พ.ศ.2420 พระองค์ได้เสด็จประพาสทางชลมารคผ่านแม่น้ำแม่กลองเมืองราชบุรี เพื่อเสด็จไปยังเมืองกาญจนบุรี  ในตอนขากลับพระองค์ ก็ได้ขึ้นไปสักการะที่ศาลเจ้านั้นด้วย ต่อมาครั้งที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 พ.ศ.2431 คราวเสด็จกลับจากประพาสไทรโยคเช่นกัน

นอกจากนั้นแล้ว ภายในศาลเจ้าแห่งนี้ก็ยังมีพระพุทธรูป 5 องค์ ปางต่างๆ กัน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงนำมาประดิษฐานไว้ เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาทอดกฐินที่อำเภอบ้านโป่งนี้ด้วย จึงถือว่าศาลเจ้าแม่เบิกไพรนี้มีความสำคัญ และเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนโดยเสมอมา

การบูชาศาลเจ้าแม่ฯ สำหรับชาวเรือ
การบูชาเจ้าแม่เมื่อเดินเรือผ่านศาล คนเรือจะไหว้ด้วยมะพร้าว กล้วยน้ำว้าสุก และจุดประทัด จากนั้นจะวิดน้ำจากหน้าศาลเจ้าเข้าเรือ 3 ครั้งเพื่อเป็นน้ำมนต์

********************************************

ที่มาข้อมูลและภาพ
  • มโน กลีบทอง.(2544). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี และจังหวัดราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์. (หน้า 138-139)
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2550). สืบสาน 3 วัฒนธรรม "111 ปีบ้านโป่ง".ห้องสมุดออนไลน์. [Online]. Available :https://news.myfirstinfo.com/viewnews.asp?newsID=1241560&keyword=. [2554 กุมภาพันธุ์ 11 ].
  • Phuketvegetarian.com. (2550). เจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม. Available :http://www.phuketvegetarian.com/borad/data/2/0505-1.html. [2554 กุมภาพันธุ์ 11 ].
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 168-169)
  • ศรีวิชัย  ทรงสุวรรณ. (2547). ไทยจีน : 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 40)
อ่านต่อ >>