วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร



วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดหน้าพระธาตุ
เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ถนนเขางู ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี จากเค้ารอยที่ปรากฏที่องค์พระปรางค์และกำแพงแก้วที่มีพระพุทธรูปประทับในซุ้มเรือนแก้วรอบวัด อันเป็นลักษณะตามแบบศิลปะบายนของขอม ทำให้ทราบว่าภายหลังจากเมืองทวารวดีที่คูบัวเริ่มเสื่อมลง ศูนย์กลางชุมชนได้ย้ายมาอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองซึ่งตรงกับช่วงที่ขอมเริ่มขยายอิทธิพลมาถึงราชบุรีและเพชรบุรีพอดี คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๘ และหลังจากสมัยขอมแล้วจึงได้มีการดัดแปลงสถานที่แห่งนี้มาเป็นวัดในพุทธศาสนา ปัจจุบันองค์พระปรางค์มีความสูง 24 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมบริเวณฐานระเบียงมีทางเดินได้รอบ ที่วิหารคตรอบลานพระปรางค์ มีพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดี สมัยลพบุรีและสมัยอยุธยาประดิษฐานอยู่โดยรอบ มีบันไดและช่องคูหาเข้าไปถึงองค์พระปรางค์ได้
อ่านต่อ >>

เมืองโบราณ "คูบัว"


ที่ตั้งเมืองโบราณคูบัว
เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบหลักฐานประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีเป็นจำนวนมาก ลักษณะแผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ขนาดความกว้าง ๘๐๐ เมตร ความยาว ๒,๐๐๐ เมตร บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นเนินดินธรรมชาติอยู่บนลานตะพักชายฝั่งทะเล สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑-๒ เมตรและสูงประมาณ ๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลำน้ำไหลผ่าน ๒ สาย คือ ห้วยคูบัวและห้วยชินสีห์ พื้นที่ทางด้านทิศเหนือของเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทางด้านทิศตะวันตกเป็นเขตเนินเขาและภูเขาสูง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมี “แม่น้ำอ้อม” ไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำอ้อมเป็นทางน้ำสายเก่าของแม่น้ำแม่กลอง ตัวเมืองคูบัวตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำอ้อมประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำแม่กลองประมาณ ๙.๑ กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองเป็นที่ราบลุ่มลาดลงสู่ทะเล โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันในเขตจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ ๒๕ กิโลเมตร
โบราณสถานที่พบในเขตเมืองคูบัว
คูเมืองกำแพงเมือง ในเมืองคูบัวพบว่ามีการก่อสร้างแนวคูเมืองกำแพงเมือง อันประกอบ ด้วยคูน้ำ ๑ ชั้นอยู่ระหว่างคันดิน ๒ ชั้น ขนาดของคูน้ำ มีความ กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๕๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ยกเว้นคูเมืองทางด้านทิศเหนือ ที่ได้มีการดัดแปลงมาจากลำห้วยธรรมชาติ คือ ห้วยคูบัว
ศาสนสถาน ปัจจุบันพบร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานมากกว่า ๖๐ แห่ง โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาทั้งลัทธิเถรวาทและมหายาน มีการตกแต่งส่วนฐานโบราณสถานด้วยประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นเป็นภาพเล่าเรื่องชาดกหรือศาสนนิทาน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นอิฐขนาดใหญ่ ความกว้าง ๑๗-๑๘ เซนติเมตร ความยาว ๓๔–๓๕ เซนติเมตร และความหนา ๘–๑๐ เซนติเมตร ดินเหนียวที่ใช้เผามีส่วนผสมของแกลบข้าวซึ่งมีเมล็ดใหญ่ โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐ พบเพียงสองแห่งที่มีการใช้ศิลาแลงเป็นฐานราก คือ โบราณสถานหมายเลข ๑๘ และโบราณสถานหมายเลข ๓๑
โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในเขตเมืองคูบัว
ประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาที่ใช้ประดับอาคารโบราณสถาน เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดาหรือบุคคลชั้นสูง บุคคลสามัญ อมนุษย์ จำพวกยักษ์ ครุฑ และสัตว์ต่างๆ เศษภาชนะดินเผา แวดินเผา ตะคัน ตะเกียงดินเผาที่ประทับลวดลาย ลูกกระสุน เบี้ยดินเผา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับและอาวุธต่างๆที่ทำจากหิน แก้ว โลหะ เช่น ตุ้มหู แหวน กำไล ลูกปัด หินบด เป็นต้น โบราณวัตถุเหล่านี้มีรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นหลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในเขตเมืองคูบัวและบริเวณใกล้เคียง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองคูบัวเจริญอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๖
การเดินทาง จากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กม.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สะพานจุฬาลงกรณ์ กับ ประวัติศาสตร์ที่สาปสูญ


ปัจจุบันสะพานจุฬาลงกรณ์ เป็นสะพานรถไฟ ทอดข้ามลำน้ำแม่กลอง ควบคู่กับสะพานธนะรัตน์อันเป็นสะพานสำหรับรถยนต์ เชื่อมตัวเมืองราชบุรี ผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง สู่ถนนเพชรเกษม ที่จะออกสู่กรุงเทพฯ หรือล่องใต้ต่อไป... หลายคนคงรับรู้เรื่องราวของสะพานจุฬาลงกรณ์เพียงเท่านี้ แต่จะมีสักกี่คนที่รับรู้ว่า ใต้สะพานแห่งนั้น มีหัวรถจักรไอน้ำ นอนสงบนิ่งอยู่ใต้ลำน้ำแม่กลอง สงบนิ่งอยู่กับบางเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป แต่เดิม การคมนาคมขนส่งจากนครหลวง คือ กรุงเทพฯ ลงสู่ภาคใต้เป็นไปอย่างยากลำบากมาก จนล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีกิจการรถไฟ เฉพาะสำหรับสายใต้ได้เชื่อมถนนรถ ไฟ จากสถานีรถไฟบางกอกน้อยไปถึงสถานีรถไฟเพชรบุรี ทรงโปรดให้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองสำหรับทั้ง รถยนต์ และรถไฟ และทรงเสด็จเปิด พร้อมพระราชทานนาม "สะพานจุฬาลงกรณ์" เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ จากนั้นเป็นต้นมา การคมนาคมขนส่ง จากกรุงเทพฯ มาราชบุรี สู่ภาคใต้จึงสะดวกมากยิ่ง ๆ ขึ้น
เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ แถบเอเชียก็เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา.....เช้าวันที่ ๘ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นอันเป็นฝ่ายอักษะ ได้ยกพลขึ้นบกที่ฝั่งทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อใช้ไทยเป็นทางผ่าน เข้ายึดประเทศพม่า ซึ่งขณะนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ฝ่ายสัมพันธมิตร ศัตรูของตน กองทหารไทยแม้มีกำลังอ่อนด้อยกว่าทั้งจำนวนกำลังพลและปืนไฟ แต่ก็ได้ต่อสู้อย่างเต็มกำลัง ทหารไทยยิงข้าศึก จนกระสุนปืนหมด ต้องติดดาบปลายปืน ออกตลุมบอน เกิดวีรกรรมอาจหาญ ดังวีรกรรมของ "จ่าดำ" ซึ่งปัจจุบันมีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ที่ค่ายวชิราวุธ กองบัญชา การกองทัพภาคที่ ๔ จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ด้วยความอ่อนด้อยกว่าในทุกด้าน ท้ายที่สุดกองทัพญี่ปุ่นก็สามารถ เคลื่อนพลจากนครศรีธรรมราช ผ่านสุราษฎร์ธานี - ชุมพร - ประจวบคีรีขันธ์ - เพชรบุรี - ราชบุรี สู่กาญจนบุรี ซึ่งที่กาญจนบุรี กองทัพญี่ปุ่นต้องเกณฑ์เชลยศึกมาสร้างสะพาน เพื่อยกพลทางรถไฟเข้าสู่พม่า เกิดตำนาน "สะพานข้ามแม่น้ำแคว" มีเชลยศึกล้มตาย เพราะการณ์นี้เป็นจำนวนมาก
มีคำถามที่ชวนให้ค้นหากันมากว่า ที่กาญจนบุรีไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำแควเพื่อเข้าสู่พม่า ญี่ปุ่นต้องสร้างสะพาน ข้ามแม่น้ำแคว และฝ่ายสัมพันธมิตรก็ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดสะพาน แต่ที่ราชบุรี เส้นทางที่ญี่ปุ่นผ่านเข้าสู่กาญจนบุรี มีแม่น้ำแม่กลองขวางกั้น และมีสะพานจุฬาลงกรณ์อยู่แล้ว ญี่ปุ่นซึ่งเคลื่อนพลส่วนใหญ่ด้วยรถไฟ จะเคลื่อนผ่านราชบุรีไปได้อย่างไร ถ้าไม่ผ่านสะพานจุฬาลงกรณ์ ? คำถามนี้ชวนให้สงสัยมากขึ้น เมื่อมีผู้ค้นพบหัวรถจักรไอน้ำนอนสงบนิ่งอยู่ใต้ผืนน้ำแม่กลอง ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ หัวรถจักรนี้เกี่ยวข้องอะไรหรือไม่กับสงครามมหาเอเชียบูรพา ถ้าเกี่ยวข้อง หัวรถจักรไอน้ำนี้ เป็นของฝ่ายใด สัมพันธมิตรหรืออักษะ และถ้าเกี่ยวข้องกับสงครามมหาเอเชียบูรพาจริง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะกระผม้หัวรถจักรนี้ขึ้นมาให้เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยว มารำลึกถึงมหาสงครามครั้งนั้นที่ราชบุรีกันบ้าง นอกเหนือจากที่ กาญจนบุรีแล้ว

แต่พื่อคลี่คลายเรื่องนี้ ม.ร.ว.กำลูนเทพ เทวกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีในสมัยนั้น (พ.ศ.๒๕๓๕) ได้มีหนังสือที่ รบ ๐๐๑๕.๑/๒๑๒๗๖ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ ถึงเจ้ากรมการทหารช่าง ขอความร่วมมือในการกระผม้หัวรถจักรไอน้ำ แต่เนื่องจากขาดงบประมาณ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี ได้เสนอเรื่องการกระผม้หัวรถจักรไอน้ำต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ ประกอบด้วยพลโทวิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธาน โดยมีกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการได้ประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ณ กองบัญชาการกรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ ๑ ผลการประชุม คือ ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการที่จะนำหัวรถจักรขึ้นมา แต่ต้องศึกษาถึงผลได้ผลเสียกับงบประมาณที่ต้องใช้ และประการสำคัญ จะมีปัญหาต่อสะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัตน์ที่สร้างขึ้นภายหลังนี้หรือไม่ ?
.....ถึงวันนี้ สะพานจุฬาลงกรณ์ ก็ยังคงรับใช้คนราชบุรี คนภาคใต้ และคนทั่วไปที่นิยมเดินทาง โดยรถไฟ สะพานจุฬาลงกรณ์ยังคงทอดตัวข้ามลำน้ำ เหมือนเมื่อ ๑๐๓ ปีก่อน หากแต่ใต้สะพานแห่งนี้ ใต้พลิ้วคลื่นแห่งลำแม่กลอง หัวรถจักรไอน้ำยังคงนอนสงบนิ่ง เก็บงำความลับแห่งอดีตกาล..... เป็นบาง เศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์........ที่ขาดหายไป.......

อ่านต่อ >>

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก

ตลาดน้ำดำเนินสะดวกหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ตลาดน้ำคลองลัดพลี มีมานานกว่า 100 ปีเศษมาแล้ว ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการ อำเภอไปทางทิศตะวันออก 400 เมตรตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตั้งอยู่ที่คลองดำเนินสะดวกเหมาะที่จะไปเที่ยว ชมในเวลาเช้า เนื่องจากแดดไม่ร้อนและมีเรือขายสินค้าเป็นจำนวนมาก คลองดำเนินสะดวกเป็นคลองที่เชื่อม แม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลอง เริ่มตั้งแต่ประตูน้ำบางยาง แม่น้ำท่าจีน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก แม่น้ำแม่กลอง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงครามทำให้ประชาชนในจังหวัด ราชบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงครามติดต่อถึงกันโดยสะดวกขึ้น ตลอดสองฝั่งคลองดำเนินสะดวก ที่มีความยาว 32 กิโลเมตรนี้ มีคลองซอย คลองเล็ก คลองน้อย แยกออกไปประมาณ 200 คลองเช่น คลอง สี่หมื่น คลองทองหลาง คลองโพธิ์หัก คลองขุน-พิทักษ์ คลองศรีราษฎร์ คลองลัดราชบุรี คลองฮกเกี้ยน ฯลฯ

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกในฐานะแหล่งท่องเที่ยวครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 ในภาพของตลาดลอยน้ำที่คราคร่ำไปด้วยเรือพายลำย่อม บรรทุกสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ พ่อค้าแม่ค้าสวมเสื้อผ้าโทนสีเข้มแบบชาวสวน ใส่หมวกงอบใบลาน พายเรือเร่ขายแลกเปลี่ยนสินค้าในยามที่เส้นทางคมนาคมทางน้ำเป็นหัวใจหลัก ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเริ่มค้าขายตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงช่วงประมาณ 12.00 น. ส่วนตลาดน้ำวัดปราสาทสิทธิ์ซึ่งเป็นตลาดน้ำที่ยังคงวิถีชีวิตเดิม ๆ อยู่มากจะเริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ และจะวายตั้งแต่ก่อน 08.00 น.
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โอ่งลายมังกร (ตอนที่ 2 : ที่มา)


จากหนังสือราชบุรีของสำนักพิมพ์สารคดี เขาได้เอกสารข้อมูลมาว่า คนที่เข้ามาบุกเบิกอุตสาหกรรมโอ่งที่ว่านี้ชื่อนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง จากอำเภอแต้จิ๋ว ซึ่งสนใจงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็ก และเคยเป็นนายช่างอยู่ที่เมืองจีน เดินทางมาไทยตอนอายุ 23 ปี แล้วมาทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาเฮ็งเส็ง เชิงสะพานซังฮี้ ถนนสามเสน ทำงานดังกล่าวได้ปีเศษ ระหว่างนั้นในปี พ.ศ.2476 เดินทางมาจังหวัดราชบุรี ไปเดินลุยท้องนาและพบว่าดินที่จังหวัดนี้เหมาะที่จะทำเครื่องปั้นดินเผามาก เพราะเนื้อดินดี สีสวย ทนไฟ จึงลาออกจากโรงงานที่กรุงเทพฯ มาเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเถ้าเซ่งหลีที่จังหวัดราชบุรี แต่กิจการล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน เพราะต้องเจอกับเรื่องใหม่ ทั้งเรื่องปั้นดินและเรื่องบริหารโรงงาน ซึ่งดูจะไม่เป็นใจให้สักอย่าง ทำให้หุ้นส่วนบางคนถอนตัวออกไปก่อน แต่แล้วภาวะเป็นใจก็มาถึง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่สินค้านำเข้าจากเมืองจีนต้องหยุดชะงักไป เครื่องเคลือบประเภทโอ่งจึงขาดแคลน ตอนนี้แหละที่โรงงานของนายจือเหม็งเริ่มหาทางผลิตสินค้าได้ลงตัว จึงเข้ามาป้อนความต้องการของตลาดตรงนี้ได้เต็มๆ โดยเฉพาะไห ได้รับใบสั่งสินค้ามากมายจากโรงงานน้ำปลาและโรงเหล้า ขณะเดียวกันบรรดาโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในไทยเริ่มปรับความชำนาญและความเข้าใจใช้ดิน หลายโรงงานจึงหันมาผลิตโอ่ง เพื่อทดแทนโอ่งเคลือบลายมังกรและโอ่งเคลือบสีเขียวของจีน โดยทำเป็นโอ่งเคลือบยังไม่เขียนลาย ระหว่างนี้นายจือเหม็งกับสหาย ชื่อนายซ่งฮง ซึ่งร่วมกิจการกันตั้งแต่แรกจึงแยกจากหุ้นส่วนอื่นๆ มาตั้งโรงงานใหม่ชื่อเถ้าแซไถ่ ผลิตโอ่งเคลือบเขียนลาย โดยติดต่อซื้อดินขาวจากจีนมาเขียนลาย ลูกค้าจึงแห่มาซื้อของที่โรงงานนี้ ส่วนโรงงานอื่นๆ ที่ยังไม่มีดินขาวพยายามขวนขวายหากันยกใหญ่ ภายหลังพบว่าดินขาวที่บ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรงตามสเป๊ก จึงสั่งซื้อเข้ามาเป็นวัสดุ และสำคัญที่ทำให้โอ่งลายมังกรบูมขึ้นมา ขณะที่โอ่งลายมังกรจากราชบุรีขึ้นชื่อว่าคงทนด้วยเนื้อที่แกร่ง น้ำไม่รั่วซึม ไม่เกิดตะไคร่ ทำความสะอาดง่าย ขึ้นชื่อลือชามานับแต่นั้น

อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประวัติ การปกครองและอาณาเขต




ประวัติ การปกครองและอาณาเขต
ประวัติ

ราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางค่อนไปทางทิศตะวันตกของประเทศ เชื่อกันว่าเป็นเมืองเก่าแก่ มาแต่โบราณ ไม่มีเรื่องราวที่เป็นหลักฐานแน่นอนว่าสร้างมาในสมัยใด แต่ได้หลักฐานทางโบราณวัตถุและ โบราณสถานที่มีอยู่ ซึ่งพอจะเชื่อถือได้ว่า ราชบุรีเป็นเมือง ๆ หนึ่งในแคว้นสุวรรณภูมิ มีนครปฐมเป็นมหา- นครซึ่งเรียกว่า "ทวาราวดี" ซึ่งเป็นของชนชาติละว้า ในสมัยก่อนศตวรรษที่ 5 จากตำนานทางพุทธศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 218 พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งประเทศอินเดียได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และได้เผยแพร่ พุทธศาสนามาสู่แคว้นสุวรรณภูมิโดยสมณฑูต มีพระโสณะและพระอุตระเป็นหัวหน้าคณะมา โดยใช้ นครปฐมเป็นเมืองหลักในการเผยแพร่พุทธศาสนา ราชบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในแคว้นสุวรรณภูมิหรือทวาราวดี ตามการสันนิษฐาน ก็คงจะเป็นหัวเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมากแห่งหนึ่ง ตัวเมืองราชบุรีได้มีการย้ายที่ตั้งเมืองมา หลายสมัย จนกระทั่งครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ.2440 ได้ย้ายเมืองมาตั้งยังที่เป็นศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน
หน่วยการปกครองการปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ 104 ตำบล 935 หมู่บ้าน
อำเภอเมืองราชบุรี
อำเภอจอมบึง
อำเภอสวนผึ้ง
อำเภอดำเนินสะดวก
อำเภอบ้านโป่ง
อำเภอบางแพ
อำเภอโพธาราม
อำเภอปากท่อ
อำเภอวัดเพลง
กิ่งอำเภอบ้านคา
อาณาเขตจังหวัดราชบุรีมีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 5,169 ตารางกิโลเมตร
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดกาญจนบุรี ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดเพชรบุรี ทิศตะวันตก ติดต่อประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ประวัติอำเภอต่างๆ ใน จ.ราชบุรี

อำเภอเมือง
อำเภอเมืองเรืองราชบุรี เดิมเป็นที่ตั้งเมืองเรียกว่า " เมืองราชบุรี " มีฐานะเป็น มณฑลราชบุรี อันเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร " ทวาราวดี " ของชนชาติลาว เล่ากันว่า เมืองราชบุรีนี้ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านไร่ (เดิมชื่อตำบลอู่เรือ ) อำเภอเมืองราชบุรี ในปัจจุบัน ต่อมาเมืองราชบุรี ได้ร้างไปประมาณ 300 - 400 ปี ภายหลังพระเจ้าอู่ทอง ได้สร้างเมืองราชบุรีขึ้นใหม่ทีวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของศาลากลางจังหวัดหลังเก่า ฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2360 ( ร.ศ. 36 ) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าให้ย้ายเมืองราชบุรี มาตั้งอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลอง คือที่ตั้งจังหวัดทหารบกราชบุรี ครั้นปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116 ) ได้เริ่มจัดระเบียบการปกครองท้องที่ ในครั้งนั้น ได้แบ่งการปกครองท้องที่ออกเป็น 5 อำเภอ เฉพาะอำเภอเมืองราชบุรี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม ในครั้งนั้น จึงเรียกว่า " แขวง" ต่อมา พ.ศ. 2441 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลธรรมเสนมาตั้งที่ถนนอัมรินทร์ ตำบลหน้าเมือง มีพระแสนท้องฟ้า ( ป๋อง ยมคุปต์ ) เป็นนายอำเภอ ครั้นต่อมาบริเวณที่ที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นศูนย์การค้า จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี ไปปลูกสร้างใหม่ณ บริเวณที่มีโครงการจัดตั้ง เป็นศูนย์ราชการปัจจุบัน

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอโพธารามและอำเภอบางแพ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวัดเพลงและอำเภอปากท่อ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอดำเนินสะดวกจังหวัดราชบุรี และอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอปากท่อ

พื้นที่ อำเภอเมืองราชบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 454.239 ตารางกิโลเมตร
อำเภอบางแพ
ที่ได้ชื่อว่า " บางแพ " ได้ความว่า เมื่อสมัยก่อนท้องที่อำเภอนี้เป็นที่ลุ่มจดชายทะเลเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยน้อย ถึงฤดูน้ำจะมีผู้คนพากันขึ้นไปตัดไม้ทางป่า ผูกเป็นแพล่องลงมาตามลำน้ำไป ขายทางชายทะเล การเดินทางจะต้องนำแพไม้มาจอดพัก ค้างแรมที่บ้านบางแพนี้ เมื่อมีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยน้อย จึงพากันเรียกที่แห่งนี้ว่า " บางแพ " เมื่อได้ตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นที่ตำบลบางแพจึงได้ชื่อว่า "อำเภอบางแพ" ตามสถานที่ตั้ง อำเภอบางแพตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2457 โดยแบ่งตำบลต่างๆ ของ อำเภอบ้านโป่ง อำเภอโพธาราม และอำเภอดำเนินสะดวก รวม 17 ตำบล จัดเป็นตำบลขึ้นใหม่แล้วยกฐานะเป็นอำเภอ ในปี พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาอยู่ที่บริเวณวัดหัวโพ ตำบลหัวโพ อาศัยศาลาการเปรียญซึ่งเป็น ศาลาดิน เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอชั่วคราว และได้เปลี่ยนเป็น " อำเภอหัวโพ " ครั้นในปี พ.ศ. 2461 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากตำบลหัวโพมาตั้งที่บ้านหมู่ที่ 5 ตำบลบางแพ อยู่ฝั่งตะวันออกของลำคลองบางแพ ณ ที่ดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเป็น " อำเภอบางแพ"


อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลสระกระเที่ยม ตำบลบางแขม อำเภอเมืองนครปฐม
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านไร่ ตำบลบัวงาน อำเภอดำเนินสะดวก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และอำเภอเมืองบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มทั่วไป ไม่มีป่าและเขา สภาพทั่วไปอากาศโปร่งเย็น มีความชุ่มชื่นพอสมควร ลำน้ำสำคัญที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร คือ ลำคลองบางแพ เริ่มต้นจาก ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ผ่านอำเภอบางแพ ในท้องที่ตำบลวังเย็น และในท้องที่ตำบลบางแพ เนื่องจากอำเภอ นี้เป็นที่ราบลุ่ม ทรัพยากรธรรมชาติจึงมีปลาและสัตว์น้ำตามแม่น้ำลำคลอง

พื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 182 ตารางกิโลเมตร
อำเภอบ้านโป่ง
ตามจดหมายเหตุราชบุรี อำเภอบ้านโป่ง เดิมตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าผา เรียกว่าอำเภอท่าผา ต่อมารัฐบาลได้สร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้นและเห็นว่าถ้าหาก อำเภออยู่ที่ท่าผาแล้วการคมนาคมก็ไม่สู้สะดวก จึงให้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ตำบลบ้านโป่ง เรียกว่า อำเภอบ้านโป่งสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้ บริเวณที่ตั้งอำเภอบ้านโป่งนี้ เดิมเป็นป่าโปร่งสัตว์ชอบมาอาศัย และกินดินโป่งเป็นอาหาร (ดินโป่งเป็นดินชนิดหนึ่งที่มีรสเค็ม) โดยเฉพาะสัตว์จำพวกเลียงผาชอบมาก ตามตำนานเก่าแก่เล่าว่าคำ " บ้านโป่ง" เดิมทีเดียวเรียกว่า "บ้านทับโป่ง " ซึ่งเล่ากันว่ามีกระท่อมหรือบ้าน (ทับ) อยู่ข้างดินโป่ง แต่ชาวบ้านนิยมเรียก "บ้านโป่ง" เพราะสะดวกและสั้นดีและต่อมาทางราชการก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอบ้านโป่งตามไปด้วย อำเภอบ้านโป่ง เคยโอนไปอยู่กับจังหวัดกาญจนบุรีมาครั้งหนึ่งระหว่างสงครามมหาอาเซียบูรพา เมื่อ พ.ศ. 2484 และโอนกลับมาจังหวัดราชบุรีตามเดิม เมื่อพ.ศ. 2489 ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบ้านโป่ง ตั้งอยู่ที่ถนนทรงพล ตำบลบ้านโป่ง (ในเขตเทศบาลเมืองบ้านโป่ง) มีระยะทางห่างจากจังหวัด 42 กิโลเมตร มีทางหลวงแผ่นดิน ผ่าน 2 สาย ชื่อ ทางหลวงแผ่นดินสาย 4 ( เพชรเกษม) และมีทางรถไฟผ่าน 3 สาย คือ ทางรถไฟสายใต้ ทางรถไฟสายหนองปลาดุก - สุพรรณบุรี และทางรถไฟสายหนองปลาดุก - กาญจนบุรี แม่น้ำสำคัญผ่าน 1 สาย ชื่อ แม่น้ำแม่กลอง
พื้นที่ 390 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าม่วง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
เป็นที่ราบลุ่มโดยทั่วไปเป็นที่ทำนา ทำสวน ทำไร่ มีป่าและภูเขาในตำบลเขาขลุง ลำน้ำที่สำคัญ ลำน้ำที่เป็นประโยชน์ในด้านการเกษตร การคมนาคมและการบริโภค คือ แม่น้ำแม่กลอง เริ่มต้นจากแควใหญ่แควน้อย มาบรรจบกันที่ตัวจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่อำเภอบ้านโป่งที่ตำบลลาดบัวขาว ตำบลท่าผา ตำบลเบิกไพร ตำบลบ้านโป่ง ตำบลปากแรต ตำบลคุ้งพยอม ตำบลสวนกล้วย ตำบลนครชุมน์ และตำบลบ้านม่วง มีระยะประมาณ 20 กิโลเมตร
อำเภอดำเนินสะดวก
ประวัติอำเภอดำเนินสะดวกเริ่มขึ้นก่อน พ.ศ. 2400 พื้นที่มีสภาพเป็นที่ราบลุ่มมีป่าดงไผ่และต้นเสือหมอบ เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะท่วมพื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอสภาพท้องที่สมัยไม่มีลำคลองมากมายเช่นในปัจจุบัน ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเนื้อที่ดินในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ดินราบลุ่มมีอาณาบริเวณหลายหมื่นไร่ หากให้ขุด คลองขึ้นโดยผ่านพื้นที่ทั้งสองอำเภอก็จะเกิดประโยชน์มากมาย แก่ราษฎรที่จะเข้ามาจับจองที่ดินประกอบการเกษตร ลำคลองนี้จะเป็นเส้นทางลำเลี่ยงสินค้าเข้าสู่ตัวเมืองหลวงได้สะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพ กับจังหวัดราชบุรี การขุดคลองเริ่มต้นจากจุดริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลบางยาง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเส้นตรง ผ่านตำบลโคกไผ่ ( ปัจจุบันคือตำบลดอนไผ่) และขุดผ่านเข้ามาในเขตอำเภอปากคลองแพงพวย ( อำเภอดำเนินสะดวกเดิม) จนถึงแม่น้ำแม่กลองที่ปากคลองบางนกแขวก คลองนี้ได้ทำการขุดสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2410 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร. 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธีเปิดใช้คลองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2411 อำเภอดำเนินสะดวก ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดราชบุรีถึง พ.ศ.2455 ทางราชการจึงได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่ตำบลรางยาวฝั่งตะวันออก เหตุที่ย้ายที่ว่าการอำเภอ เนื่องจากสถานที่เดิมคับแคบไม่เหมาะแก่การขยายสถานที่ราชการอำเภอดำเนินสะดวก เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดราชบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวจังหวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลดำเนินสะดวก มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 198.97 ตารางกิโลเมตร

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
อำเภอจอมบึงท้องที่จอมบึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเป็นเส้นทางผ่านเวลาทัพพม่าจะยกมาตีไทย พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสจอมบึงกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชนีนาถ พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จไปชมบึงใหญ่ โดยเสด็จไปทางสายเก่าบ้านวังมะเดื่อ เจ้าหน้าที่ได้เปิดป่าพงหญ้าเป็นถนนไปสู่บึง พระองค์ทรงโปรดปรานในความงามของบึงมากทรงพระดำรัสช้าๆ ว่า "นี้หรือบึง สวยงามดี ต่อไปจะเจริญต่อไปนี้ให้เรียกว่า จอมบึง" ชาวบ้านจึงเรียกบึงใหญ่ว่าจอมบึงมาจนทุกวันนี้ การเสด็จประพาสจอมบึงครั้งนี้ พระพุทธเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำริว่าท้องที่จอมบึงเป็นที่ราบ ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่นแต่กันดาร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจอมบึง พ.ศ. 2501 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอจบึงเป็นอำเภอจอมบึง อำเภอจอมบึงเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 9 อำเภอของจังหวัดราชบุรี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยทางหลวงแผ่นดินสายราชบุรี - จอมบึง อำเภอจอมบึงมีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของจังหวัด คือ มีพื้นที่ทั้งสิ้น 816 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี อำเภอท่าม่วงและอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
ที่ราบลุ่มทุ่งนาและหนองน้ำ พบอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตำบลปากช่อง ใจกลางของตำบลจอมบึง ตอนใต้ของตำบลเพิกไพร ตอนเหนือ ของตำบลรางบัวและทางตอนกลางด้านทิศตะวันออกของตำบลด่านทับตะโก พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ปลูกข้าว พื้นที่เป็นที่ดินทรายและดินลูกรัง พบในด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือและทิศตะวันตกของตำบลปากช่อง ด้านเหนือและด้านตะวันออกของตำบลจอมบึง ตามแนวกลางจากด้านทิศตะวันออกโค้งไปถึงด้านตะวันตกของตำบลรางบัว พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ดินร่วนปนทรายและดินดำ พบในด้านทิศใต้ของตำบลปากช่อง สองฝั่งลำน้ำภาชีในตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ปลูกอ้อย พืชไร่ และพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น จะปลูกพืชผักสวนครัวและพืชไร่มากที่สุดในอำเภอพื่นที่ภูเขา พบมากในตอนใต้ของตำบลรางบัว ด้านทิศตะวันตกของตำบลด่านทับตะโกและตำบลแก้มอ้น ตามแนวเส้นแบ่งเขตตำบลและอำเภอ และยังพบภูเขาขนาดเล็กอยู่ในทุกพื้นที่ของตำบลอื่นๆ ด้วย พื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นป่าไม้
อำเภอปากท่อ
ประวัติมีว่า พื้นที่ทั่วๆ ไปของอำเภอนี้ราบส่วนมาก และมีพื้นที่แห่งหนึ่งเป็นที่ต่ำกว่าที่อื่น พื้นที่แห่งนั้นเรียกว่า " หนองทะเล" ในฤดูฝนน้ำฝนจากตำบลต่างๆ จะไหลมารวมกันที่หนองทะเลเพียงแห่งเดียว และทางทิศตะวันออกของหนองทะเลเป็นที่ต่ำกว่าทุกทิศน้ำที่ไหลมารวมกันอยู่นั้น จะไหลไปทางไหนไม่ได้ มีช่องทางน้ำไหลได้เพียงทางเดียวเวลาน้ำไหลออกจากหนองทะเลจะเชี่ยวมาก คล้ายน้ำไหลออกจากท่อเลยทำให้ราษฎรขนานนามพื้นที่หนองทะเลใหม่ว่า " ปากท่อ" ซึ่งเป็นตำบลและที่ตั้งที่ว่าการอำเภออยู่มาจนถึงปัจจุบัน ตำบลปากท่อ เดิมขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองราชบุรี ต่อมาเมื่อ ร.ศ. 118 ได้ตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นแห่งหนึ่ง คือ ที่ว่าการอำเภอท่านัด-วัดประดู่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลจอมประทัด ตำบลปากท่อจึงได้โอนไปขึ้นกับอำเภอท่านัดวัดประดู่ แต่การไปมาติดต่อของราษฎรไม่สะดวก เพราะที่ว่าการอำเภอดังกล่าว ตั้งอยู่ริมคลอง ไม่มีถนน จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ตำบลวัดเพลง เรียกว่า ที่ว่าการอำเภอแม่น้ำอ้อมจนเมื่อง พ.ศ. 2460 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอแม่น้ำอ้อม มาตั้งที่ตำบลปากท่อ

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
ที่ราบลุ่ม ได้แก่พื้นที่ตำบลวัดยางงาม ตำบลวันดาว มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก มีลำคลองเชื่อมหลายสาย เช่นคลองวัดประดู่ คลองปากท่อ
ที่ราบตอนกลาง ได้แก่พื้นที่ตำบลบ่อกระดาน ตำบลป่าไก่ ตำบลปากท่อ พื้นที่เป็นนาอาศัยน้ำฝน และจากคลองพระราชทานที่ขุดขนานกับทางรถไฟสายใต้ และคลองแสวงจันทร์รำลึก
ที่ราบสูง ได้แก่ตำบลหนองกระทุ่ม ตำบลดอนทราย ตำบลวังมะนาว ตำบลทุ่งหลวง ตำบลอ่างหิน ซึ่งบางแห่งเป็นที่ราบ บางแห่งเป็นเขามีการทำนา ทำไร่ตามสภาพ
ที่ป่าและเขา ได้แก่ตำบลยางหัก ที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและเขามีที่ราบน้อยมากประชาชนที่อาศัยอยู่ในตำบลนี้ ส่วนใหญ่ เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และมีราษฎรจากท้องถิ่นอื่นเข้าไปหักร้างถางป่า จับจองที่ทำกินอยู่มาก
อำเภอวัดเพลงอำเภอวัดเพลง ปัจจุบันอยู่ฝั่งขวาของลำแม่น้ำ แควอ้อม ซึ่งเป็นสายน้ำแยกแม่น้ำแม่กลองที่ตำบลบ้านไร่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี และไปบรรจบกับแม่น้ำแม่กลองอีกที่ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา อำเภอวัดเพลง มีประวัติความเป็นมาดังนี้ เมื่อตั้งขึ้นครั้งแรกชื่ออำเภอวัดประดู่ เพราะสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอครั้งแรก อยู่ริมคลองวัดประดู่ บริเวณหน้าวัดประดู่ อ้อมตำบลจอมประทัดขณะนี้ การปกครอง การไปติดต่อกับจ้งหวัดราชบุรี ซึ่งในฤดูแล้งน้ำลดมากก็เป็นอุปสรรคในการเดินทาง จึงอนุญาตกระทรวงมหาดไทยย้ายอำเภอแม่น้ำปตั้งใหม่ ณ ตำบลปากท่อ ริมสถานีรถไฟ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอปากท่อ เมื่ออำเภอแม่น้ำอ้อมได้ถูกโอนไปตั้งเป็น อำเภอปากท่อ แล้ว ทางราชการคงให้สถานีตำรวจภูธร
อยู่ตามเดิมมิได้ย้ายไปด้วย เพราะเกรงว่าเหตุการณ์โจรผู้ร้ายจะกำเริบขึ้นและทางราชการก็เห็นสมควรให้ตั้งกิ่งอำเภอขึ้นแทน โดยตั้งชื่อว่ากิ่งอำเภอวัดเพลง มีอาณาเขต 3 ตำบล คือ ตำบลวัดเพลง ตำบลเกาะศาลพระ ตำบลจอมประทัด และได้ยกฐานะเป็นอำเภอวัดเพลง เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2516 อำเภอวัดเพลง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดราชบุรี มีอาณาเขตตามแม่น้ำแควอ้อมฝั่งขวา อำเภอวัดเพลง มีเนื้อที่ 40 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านไร่ อำเภอเมืองราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางคนที่ จังหวัดสมุทรสงคราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมือง อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพท้องที่เป็นที่ราบลุ่ม ที่ดอนมีเล็กน้อยอยู่ทางด้านทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี มีนายอำเภอคนแรก คือ พระสุนทรบริรักษ์
อำเภอโพธาราม
ตำบลโพธาราม เล่ากันว่า เมื่อสมัยก่อนประชาชนเรียกว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " การที่ได้รับนามว่า "บ้านโพธิ์ตาดำ " เพราะมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่เป็นหมู่ และใกล้หมู่ต้นโพธิ์บ้านของนายดำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีตั้งอยู่ด้วยเลยเรียกกันติดปากว่า " บ้านโพธิ์ตาดำ " โดยสำเนียงของชาวจีนมักเรียกถิ่นนี้ว่า " พอไจ่ล้ำ" และชาวมอญเรียกว่า " โพธาราม " ต่อมาเมื่อสมัยจังหวัดราชบุรียังมีฐานะการปกครองแบบมณฑล พระภักดีดินแดน ( พลอย วงศาโรจน์) ปลัดมณฑลราชบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงเขตและนามตำบลโดยเห็นว่าถิ่นนี้ มีต้นโพธิ์ และมีวัด (อาราม) ทางราชการจึงตั้งนามว่า " ตำบลโพธาราม " โพธาราม เดิมตั้งอยู่ที่ปากคลองบางโตนด ตำบลบางโตนด ฝั่งตะวันตก แม่น้ำแม่กลอง เรียกชื่อว่า แขวง ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน ต่อมา พ.ศ. 2436 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากปากคลองบางโตนด มาตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฟากตะวันออกเยื้องกับวัดเฉลิมอาสน์ ที่ตำบลโพธาราม ต่อมาได้ย้ายที่ว่าการอำเภอจากริมฝั่งแม่น้ำมาอยู่ที่บริเวณที่ตั้งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2495 ที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ ตั้งอยู่ถนนหน้าอำเภอ ตำบลโพธาราม ในเขตเทศบาลเมืองโพธาราม อยู่ห่างจากสถานีรถไฟโพธาราม ประมาณ 400 เมตร ห่างจากทาง หลวงแผ่นดินสายเพชรเกษม (สายเก่า) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร พื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 394 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมื่องราชบุรี และอำเภอดำเนินสะดวก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอำเภอเมืองนครปฐม
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ
ด้านทิศตะวันออกและตอนกลางของพื้นที่อำเภอ เป็นที่ราบลุ่ม พื้นที่ด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่ราบ สูงมีภูเขาและเนินเขาอยู่ทั่วไปพื้นที่ที่เป็นเนินเขา ประมาณ 6.60 ตารางกิโลเมตร มีป่าไม้เบญจพรรณอยู่บ้างประปราย ลำน้ำทีสำคัญ มีแม่น้ำแม่กลองไหลผ่าน ต้นน้ำอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี ไหลผ่านท้องที่อำเภอโพธาราม ในตำบลชำแระ สร้อยฟ้า คลองตาคต โพธาราม ท่าชุมพล บางโตนด คลองข่อย และเจ็ดเสมียนผ่านอำเภอเมืองราชบุรี ลงสู่ทะเลที่จังหวัดสมุทรสงคราม
อำเภอสวนผึ้งอำเภอสวนผึ้งเดิมเป็นตำบลสวนผึ้งขึ้นอยู่กับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้อนุมัติให้ตั้งกิ่งอำเภอสวนผึ้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2517 เปิดทำการบริการประชาชน เมื่อวันที่ 15 พฤศิกายน 2517 มีเขตการปกครอง 5 ตำบล คือ ตำบลสวนผึ้ง ตำบลป่าหวาย ตำบลบ้านบึง ตำบลท่าเคย และตำบลบ้านคา สภาพท้องถิ่นทุรกันดาร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ มีภูเขาสลับซับซ้อนอยู่ทั่วไป ระยะทางจกาอำเภอจอมบึง 30 ก.ม. ห่างจากตัวจังหวัดราชบุรี 60 กิโลเมตร และได้ประกาศตั้งเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 อำเภอสวนผึ้ง ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลสวนผึ้ง ริมฝั่งซ้ายของลำน้ำภาชีอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอจอมบึงและจังหวัดราชบุรี มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,145 ตารางกิโลเมตร

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอเมืองกาญจนบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า

ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอสวนผึ้ง มีสภาพเป็นที่ป่าและภูเขา มีที่ราบตามไหล่เขาและที่ราบตอนกลางของพื้นที่ใช้สำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์บ้างเล็กน้อย
อำเภอบ้านคา
อำเภอบ้านคา เดิมอยู่ในเขตปกครองของอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี แต่เนื่องจากอำเภอสวนผึ้งมีอาณาเขตกว้างขวางและประชากรมาก ท้องที่บางตำบล อยู่ห่างไกลตัวอำเภอ ทำให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎรได้ไม่ทั่วถึง และสภาพท้องที่โดยทั่วๆ ไปมีแนวโน้มว่าจะมีความเจริญขยายตัวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กระทรวงมหาดไทยจึงได้แบ่งท้องที่อำเภอสวนผึ้งตั้งเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า "กิ่งอำเภอบ้านคา" ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นต้นมา และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นเป็นอำเภอ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีเขตการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ตำบล คือ ตำบลบ้านคา ตำบลบ้านบึง และตำบลหนองพันจันทร์ มีหมู่บ้านรวม 34 หมู่บ้าน

ที่ตั้งและอาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอจอมบึงและอำเภอปากท่อ
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหนองหญ้าปล้อง (จังหวัดเพชรบุรี)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตตะนาวศรี (สหภาพพม่า)

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
1. ภูเขาต่างๆ และเทือกเขาตะนาวศรี
2. น้ำตกซับเตย และน้ำตกห้วยสวนพลู
3. ป่าไม้ด้านทิศใต้และตะวันออกของกิ่งอำเภอ
4. ลำห้วยท่าเคย, มะหาด, พุบอน, กระชาย, หนองน้ำขุ่น และลำห้วยสาขาต่างๆ ที่เกิดจากเทือกเขาตะนาวศรี
5. บ่อน้ำพุร้อนที่บ้านน้ำพุร้อน หมู่ที่ 4 ต.บ้านบึง
6. แร่ธาตุต่างๆ เช่น เฟลสปาร์ เป็นต้น


ลักษณะภูมิอากาศ
โดยทั่วไป ฤดูหนาวอากาศหนาวถึงหนาวจัด ฤดูร้อนอากาศเย็นสบาย

พื้นที่ มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 1,026 ตารางกิโลเมตร
ที่มา : ประวัติอำเภอต่างๆ. (2552). จังหวัดราชบุรี. [ Online]. Available: http://www.ratchaburi.go.th/data/muang.files/muang.htm. [2552, พฤศิจกายน 8].
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โอ่งลายมังกร (ตอนที่ 1 : ประวัติ)


ประเทศไทยผลิตโอ่งมังกรครั้งแรกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จังหวัดราชบุรีเป็นแห่งแรกเป็นการผลิตเลียนแบบโอ่งมังกรที่นำเข้าจากประเทศจีน (โอ่งกักเก็บน้ำชั้นดี นิยมนำเข้าจากประเทศจีนแทบทั้งสิ้น) ในภาวะสงครามสินค้าจากต่างประเทศไม่สามารถนำเข้ามาค้าขายได้จึงต้องผลิตขึ้นมาทดแทน

โอ่งมังกร จัดเป็นผลิตภัณฑ์ในประเภท สโตนแวร์ (Stoneware) ที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีจะต้องเป็นโอ่งผลิตที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งโอ่งในสมัยแรกเป็นโอ่งไม่มีการติดลวดลายใดๆ เรียกว่าโอ่งเลี่ยน ต่อมามีการคิดแกะลวดลายดอกติดที่พิมพ์ไม้ ตีที่บ่ารอบๆโอ่ง ให้มีลายนูนขึ้นมาคล้ายไหในปัจจุบัน
ต่อมามีการนำเข้าดินขาวจากเมืองจีน เพื่อมาทดลองติดเป็นลายมังกร เลียนแบบโอ่งมังกรของจีน ปรากฏว่าได้ผลดี จึงผลิตโอ่งมังกรขายสักระยะหนึ่ง การนำเข้าของวัตถุดิบจากจีนเกิดมีปัญหาในการขนส่งมีราคาแพงขึ้นและไม่สะดวกในการขนส่งมาจังหวัดราชบุรี ผู้ผลิตจึงเริ่มมองหาแหล่งดินขาวภายในประเทศทดแทน โดยทดลองนำดินจากจังหวัดชลบุรี ระยอง มาติดลวดลายแทนดินขาวจากประเทศจีน ซึ่งประสบความสำเร็จสามารถใช้ทดแทนดินขาวจากประเทศจีนได้ ถือเป็นการหมดยุคการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ
กระบวนการผลิตโอ่งมังกรจะเริ่มจากการซื้อดินเก็บมากองไว้โรงงาน (stock) ในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน โดยมีพ่อค้าคนกลางไปสำรวจหาแหล่งดิน ในเขตอำเภอเมืองราชบุรี และอำเภอโพธาราม แล้วเปิดหน้าดินนำดินข้างล่างขึ้นมาเสนอขาย ในราคาประมาณคันรถสิบล้อละ 1,000 บาท/8 คิว โดยจะบริการขึ้นกองให้เสร็จเรียบร้อย จะต้องกองดินทิ้งไว้ข้ามปีให้น้ำฝนชะล้างสารบางชนิดที่อยู่ในเนื้อดินให้ลดลง
ดินปั้นโอ่งใช้ดินเหนียว ซึ่งต้องนำมาหมักไว้ในบ่อหมักดินประมาณ 2 คืนเพื่อให้ดินอ่อนตัว แล้วใช้พลั่วซอยให้ดินมีขนาดเล็กให้น้ำซึมได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้ดินอิ่มน้ำทั่วทั้งก้อน หลังจากนั้นจะนำดินขึ้นมาจากบ่อหมักแล้วนำมาเข้าเครื่องนวดใส่ทรายละเอียดผสมในอัตราส่วนประมาณ 5 -10 เปอร์เซ็นต์ เครื่องนวดจะนวดดินเหนียวกับทรายให้คลุกเคล้าเข้าด้วยกันจนดูเหมือนเป็นเนื้อเดียวกัน ดินเหนียวที่ได้ตอนนี้จะไม่เหลวเกินไปหรือแข็งเกินไป เหมาะที่จะนำไปปั้นเป็นภาชนะและเครื่องใช้ต่างๆ
ดินผสมที่นวดออกมาจากเครื่องนวดจะกองเป็นดินกองใหญ่ เวลาใช้จะนำดินไปเข้าเครื่องรีดดินออกมาเป็นแท่ง ก่อนใช้เครื่องมือตัดดิน เรียกกันว่า โถ่งเก็ง เป็นเหล็กเส้นกลมนำมาโค้งเป็นรูปตัวยู ปลายเหล็กเส้นรูปตัวยูจะขึงลวดไว้จนตึงเส้นลวดนี้ใช้เป็นเครื่องมือตัดดินออกมาเป็นท่อนๆ เท่ากับจำนวนที่ต้องการใช้เครื่องมือสำคัญในการขึ้นรูปคือ แป้นหมุนซึ่งเป็นแผ่นเหล็กกลมมีแกนกลาง หมุนได้รอบตัว ด้วยเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้าแบ่งการปั้นออกเป็น 3 ประเภทคือ ของเล็กจะเป็นงานที่ขึ้นปั้นครั้งเดียวจบเป็นชิ้นงาน ของใหญ่ที่มีขนาดบรรจุ 2 ปี้บ ขึ้นไป (บรรจุน้ำประมาณ 40 ลิตร) จะปั้น 2 ตอน ต้องรอให้ท่อนล่างแข็งตัว (ดินหมาด) พอที่จะรองรับการปั้นต่อเสริมอีกช่วงได้ ส่วนโอ่งซึ่งถือเป็นชิ้นงานที่ใหญ่ที่สุดจะปั้นเป็น 3 ตอน ในการปั้นโอ่งจะต้องใช้คน 3 คน คือ คนเตรียมดิน ช่างปั้นและผู้ช่วยแต่ละคนจะทำงานประสานกัน คือ คนเตรียมดินจะตัดดินที่นวดแล้ว นำมาตัดแบ่งเป็นก้อนให้พอเหมาะกับการปั้นภาชนะนั้นๆเช่น ปั้นโอ่ง คนเตรียมดินแบ่งดินสำหรับขึ้นก้นโอ่งด้วยการนวดดินปั้นให้เป็นรูปกลม แล้วกดให้แบนนำไปวางบนแป้นหมุนกดให้บานออกอีกครั้งให้หนาประมาณข้อนิ้วจากนั้นจะรีดให้เรียบแผ่กว้างตามที่ต้องการ แล้วจึงประคองดินด้านข้างรีดให้สูงและแต่งให้เรียบ การเชื่อมต่อผนังโอ่งจะใช้ดินที่นวดเป็นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 นิ้ว ยาว 45 เซนติเมตร โดยกดดินเส้นให้บรรจบกับผนังโอ่งที่เรียกว่า "การยิ" ให้รอบ แล้วจึงเริ่มประคองดินก่อเป็นผนังพร้อมรีดให้มีความหนาไม่เกิน 1 นิ้ว สูงประมาณ 1 ฟุต จากนั้นก็จะรีดให้บานออกด้วยสันมือประกอบกับใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำช่วยรีดให้บานออกตามขนาดที่วางไว้พร้อมตกแต่งข้างนอกให้เรียบ จะได้โอ่งที่มีเฉพาะผนังกับก้นโอ่งเท่านั้น ยังไม่มีขอบหรือปากโอ่ง ผู้ช่วยจะต้องยกตัวโอ่งลงจากแป้นหมุน ถ้าเป็นโอ่งขนาดเล็กจะยกคนเดียว โอ่งขนาดใหญ่ต้องช่วยกันยกกับคนเตรียมดินแล้วนำไปผึ่งไว้รอให้แห้ง
ก่อนการขึ้นส่วนที่สอง จะต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า หินดุกับไม่ตี ให้ส่วนที่หนึ่งบางเพื่อประกบกับส่วนที่สองได้ ช่างปั้นจะต่อให้ได้ขนาดสูงและบานกว้างตามที่ต้องการ นำไปผึ่งให้หมาด ประมาณ 1-2 วัน การต่อปากโอ่งเมื่อยกขึ้นวางบนแป้นแล้วช่างปั้นขึ้นปากโอ่งจะใช้ดินที่คนเตรียมดินทำเป็นเส้นไว้แล้ว มาวางวนรอบผนังโอ่งใช้เท้าถีบแป้นให้หมุน มือทั้งสองข้างบีบดินให้ติดกับผนังโอ่งและปั้นแต่งให้เป็นปากโอ่ง พอจวนจะได้ที่ใช้ฟองน้ำชุบน้ำปาดวนรอบปากโอ่ง อีกเที่ยวหนึ่ง ปากโอ่งจะเรียบสวย จากนั้นก็ยกโอ่งไปผึ่งลมไว้ที่ลานวิธียกโอ่งขนาดเล็กลงจากแป้นนั้น สำหรับงานปั้นคนเดียวต้องใช้เส้นลวดตัดก้นโอ่งที่ติดอยู่กับแป้นก่อนตัวโอ่งที่ปั้นได้ขณะนี้เนื้อดินยังอ่อนไม่แข็งตัว ดังนั้นเมื่อยกขึ้นจากแป้น รูปทรงของโอ่งอาจจะเบี้ยวทำให้เสียทรงได้ ผู้ช่วยช่างปั้นโอ่งจึงต้องใช้ห่วงไม้สองห่วงมาช่วยบังคับรูปทรงคือ จะวางห่วงอันเล็กไว้ที่ก้นโอ่งด้านในและใส่ห่วงอันใหญ่ไว้ที่ปากโอ่ง เมื่อยกหรือย้ายตัวโอ่งลงจากแป้นก้นโอ่งและปากโอ่งจะยังคงสภาพเดิม ส่วนกลางโอ่งอาจเบี้ยวบิดไปบ้าง แต่จะทำการตกแต่งให้คืนสภาพเดิมได้ง่ายและคอโอ่งนี้ ไม่มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยแต่เรียกเป็นภาษาจีนว่า โคว ซึ่งก็แปลว่า ห่วง นั่นเอง
ก่อนการเขียนลายโอ่งจะต้องมีคนตบแต่งผิวโอ่งให้เรียบ และแต่งรูปทรงของโอ่งให้ดีไม่บิดเบี้ยว วิธีแต่งผิวโอ่งจะใช้เครื่องมือ 2 ชนิด คือ ฮวยหลุบ กับ ไม้ตี ซึ่งเป็นไม้แบน ฮวยหลุบ เป็นคำในภาษจีนหมายถึง เครื่องมือชนิดหนึ่งทำด้วยดินเผา ลักษณะเป็นรูปกลมมน เหมือนลูกประคบมีที่จับอยู่กลางลูก เวลาตีโอ่งคนตีจะจับตรงที่จับฮวยหลุบใช้รองผิวโอ่งด้านใน ส่วนด้านนอกโอ่งใช้ไม้ตีแต่งผิวโอ่งจนทั่วทั้งโอ่ง เมื่อเห็นว่าดีแล้ว จึงจะเขียนลายลงบนโอ่งการเขียนลายลงบนโอ่ง จะมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนการเขียนลายเซรามิกส์ประเภทอื่น วัสดุที่ใช้เขียนลายบนโอ่งจะเป็นดินเหนียวผสมกับดินขาวนวดจนเนื้อดินนิ่ม เนื้อดินจะต้องร่อนพิเศษให้มีเนื้อละเอียดมากเท่าที่จะทำได้ เรียกว่า ดินติดดอก ดินติดดอกเป็นดินสำหรับติดลายบนโอ่ง (จะขับให้เคลือบออกสีเหลือง ในขณะที่พื้นเดิมจะเป็นสีน้ำตาล) เมื่อโอ่งแต่งผิวเรียบร้อยแล้ว จะถูกนำมาวางบนแท่นหมุนอีกครั้ง แท่นนี้จะหมุนด้วยมือ ช่างติดลายจะใช้ดินติดดอกปั้นเป็นเส้นเล็กๆ ป้ายติดไปที่โอ่งสามตอนเพื่อเป็นการแบ่งโอ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงปากโอ่ง (บ่า) ตัวโอ่ง (ไหล่) และเชิงล่างของโอ่ง (ขา) แต่ละช่วงติดลายไม่เหมือนกัน (สมัยก่อนติดลาย 2 ช่วงคือ ปากโอ่ง และตัวโอ่ง ส่วนช่วงขาบางครั้งติดเป็นลายกนก ลายเครือวัลย์ ลายไขว้ เป็นต้น)ช่วงปากโอ่ง นิยมติดลายดอกไม้หรือลาย เครือเถา เพื่อความสะดวกรวดเร็วและความเป็นระเบียบสวยงาม การติดลายช่วงนี้จะมีแบบฉลุแผ่นพลาสติกใสเป็นลายที่ต้องการเอาไว้เวลาติดลาย ช่างจะนำเอาแบบฉลุมาทาบลงบนผิวโอ่ง แล้วนำดินติดดอกกดปาดลงบนแบบฉลุพอยกแบบออกดินติดดอกจะไปติดบนผิวโอ่งเป็นลวดลายตามแบบนั้นๆ ตัวโอ่ง นิยมเขียนเป็นรูปมังกรในลักษณะต่างๆ เช่น ตัวมังกรตัวเดียว (ปัจจุบันนิยมทำ) มังกรคาบแก้ว มังกรสองตัวเกี่ยวกัน มังกรสองตัววิ่งไล่กัน (สมัยแรกนิยมทำ) ช่างจะอาศัยความชำนาญในการติดลาย ไม่มีการร่างเป็นรูปก่อน โดยป้ายดินจากส่วนหัวเรื่อยมายังส่วนอก ท้อง และลากหางขดยาวไปตามจินตนาการเติมรายละเอียดในส่วนหัว เมื่อได้ตัวมังกรแล้วจะใช้เหล็กแหลมวาดลวดลายเป็นหน้า จมูก ฟัน ลิ้น เขา ใช้หวีหัก แต่งเป็นขนคอใช้เหล็กที่งอเป็นรูปเล็บมือประมาณ 4-5 ซี่สักให้เป็นเกล็ดมังกร ส่วนหางจะใช้ดินป้ายให้ยาวคล้ายไม้กวาด พร้อมเติมเมฆ และพระอาทิตย์ตามจินตนาการของผู้ติดลายการเขียนหรือเรียกให้ถูกว่าติดลายมังกรนี้ถือเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะโอ่งจะสวยสะดุดตามากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับลาย ช่างบางคนมีความสามารถพิเศษ สามารถปั้นหัวมังกรติดตัวมังกรซึ่งเป็นภาพมิติเดียวแล้วทำให้ดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น (ปัจจุบันมีฉลุแผ่นพลาสติกใสเป็นลายมังกรออกจำหน่าย สร้างความสะดวกให้กับเจ้าของโรงงานเป็นอันมาก) ช่วงเชิงด้านล่างโอ่งช่างจะติดลายวิธีเดียวกับช่วงปากโอ่งแต่ลายช่วงนี้จะเป็นแบบง่ายๆ
โอ่งมังกรของจังหวัดราชบุรีในยุคแรก จะใช้ช่างชาวจีนที่เดินทางมารับจ้างเป็นช่างปั้น ในประเทศไทยทำลวดลายต่างๆเหมือนโอ่งมังกรที่ทำในประเทศจีนแทบทั้งหมด ต่อมาเมื่อช่างจีนล้มหายตายจากกันไป จึงเหลือแต่ช่างไทยซึ่งได้พลิกแพลงเปลี่ยนรูปทรงมังกรแบบเมืองจีน โดยเพิ่มลวดลายมาทางไทยบ้าง ตอนหลังเนื่องจากภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจและผลิตจำนวนมากช่างผลิตไม่ทัน ลวดลายต่างๆ จึงเพี้ยนไปจากของเดิม ลักษณะของมังกรจึงไม่สมดุล หน้าตาและเกล็ดไม่ครบอย่างแบบเดิม ขามังกรของจังหวัดราชบุรี ส่วนใหญ่จะนิยมทำแค่ 4 เล็บ (มังกรห้าเล็บหมายถึงมังกรกษัตริย์) มีอยู่ระยะหนึ่งได้มีการทดลองเขียนลายไทยแทนลายมังกรแต่ไม่ได้รับความนิยมจากท้องตลาดจึงเลิกไปในที่สุด
เมื่อติดลายลงบนตัวโอ่งเรียบร้อยแล้ว จะนำโอ่งมาเคลือบ ซึ่งน้ำเคลือบที่ใช้จะเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำโคลนผสมกับขี้เถ้า(โดยทั่วไปจะใช้ขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาโอ่งภายในโรงงานแต่ทั้งนี้เถ้าที่ได้จากกระดูกสัตว์นำมาทำน้ำเคลือบจะให้สีสดสวยกว่าเถ้าจากพืช) เถ้าที่จะนำมาผสมน้ำโคลนจะต้องร่อนให้ละเอียดที่สุด (น้ำเคลือบที่ดีจะเกิดจากน้ำโคลนและเถ้าที่ละเอียด)การเคลือบโอ่งจะนำโอ่งวางหงายในกระทะใบบัวใช้น้ำเคลือบราดให้ทั่วด้าน ในโอ่งจากนั้นจึงช่วยกันยกโอ่งคว่ำลงในกระทะตักน้ำเคลือบมาราดรดผิวนอกจนทั่ว จึงช่วยกันยกโอ่งขึ้นนำไปวางหงายผึ่งลมไว้ น้ำเคลือบที่เหลืออยู่ในกระทะใบบัวก็ตักเทใส่รวมกับน้ำเคลือบที่เตรียมไว้ นำโอ่งใบใหม่มาวางบนกระทะอีก แล้วก็ทำการเคลือบตามกรรมวิธีเดิม น้ำเคลือบนอกจากจะให้สีสันและความมัน เมื่อเผาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ยังช่วยสมานรอยและรูระหว่างเนื้อดินเมื่อนำโอ่งไปใส่น้ำจะไม่ซึมออกมานอกโอ่งผึ่งให้แห้ง ประมาณ 80-90% ก่อนลำเอียงเข้าเตา
การเผาโอ่งนับเป็นกรรมวิธีขั้นสุดท้ายของการทำโอ่งมังกร เตาเผาโอ่งเป็นเตาขนาดใหญ่เรียกว่า เตามังกรก่อด้วยอิฐมีผนังและหลังคาเป็นรูปยาวคล้ายลำตัวเครื่องบินโดยสาร ข้างเตาด้านหนึ่งจะเจาะเป็นช่องประตู เพื่อใช้เป็นทางนำโอ่งหรือภาชนะดินเข้าบรรจุ หรือออกจากเตาด้านนอก ข้างเตาอีกข้างหนึ่งจะก่ออิฐเรียบไปตลอด ด้านบนของเตาจะเจาะรูไว้เป็นระยะๆ เพื่อใช้ใส่ฟืนเป็นเชื้อเพลิงในการเผา รูที่เจาะไว้นี้เรียกว่า ตา จะมีตาอยู่ข้างเตาทั้งสองด้าน เตามังกรหนึ่งๆจะมีช่องประตูและตามากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของเตา เช่น เตาที่มี 4 ช่องประตูจะทำตาไว้ข้างเตา 70 ตาปลายด้านหนึ่งของเตามังกร จะใช้เป็นหัวเตาสำหรับก่อไฟ ส่วนปลายอีกด้านเป็นท้ายเตาใช้เป็นปล่องสำหรับระบายควันออกจากเตาเมื่อจะเผาโอ่งหรือภาชนะดินอื่นๆ นั้น จะต้องเปิดประตูเตานำโอ่งและภาชนะที่จะเผาเข้าไปเรียงในเตาจนเต็ม โดยเรียงของชิ้นใหญ่ไว้ตรงห้องข้างท้าย และเรียงของชิ้นเล็กไว้บริเวณห้องข้างหัว เนื่องจากพื้นที่แคบและเตี้ย จากนั้นปิดประตูทางเข้าออกและช่องใส่ไฟด้วยอิฐชนิดเดียวกับที่ใช้ก่อเตา จะเปิดตรงด้านหัวเตาเพื่อเริ่มการสุมหัวคือจุดไฟเพื่ออบให้ภายในเตามีความร้อนสะสมเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10 ชั่วโมง ในการสะสมความร้อนให้ได้ 1,150-1,200 องศาเซลเซียส แล้วจึงเริ่มเดินเตาคือ เปิดช่องใส่ฟืนทางด้านหลังเตาเริ่มจากห้องหัว (พื้นที่เล็กแคบเตี้ย) ใส่เชื้อไฟตามตามที่อยู่รอบๆ จนถึงท้ายเตา ถือเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการเผาจึงปิดทุกช่องของเตา และทิ้งไว้ประมาณ 10-12 ชั่วโมง เริ่มทยอยระบายความร้อนในเตาด้วยวิธีการเปิดตา จนความร้อนลดไประดับหนึ่ง จึงแง้มช่องประตูให้ความเย็นเข้าทางประตูและความร้อนออกทางตาและปล่องใช้เวลาประมาณ 8-10 ชั่วโมง ก่อนเปิดประตูออกทั้งหมด เมื่ออุณหภูมิอยู่ในระดับที่คนทนได้
จะช่วยกันลำเลียงชิ้นงานที่เผาออกหมดทั้งเตา พร้อมทำความสะอาดและซ่อมแซมภายในเตา ถือเป็นการจบกระบวนการก่อนที่จะเริ่มการเผาครั้งต่อไปผลิตภัณฑ์ที่ลำเลียงออกมาต้องนำมาคัดแยกเกรดเป็นเกรดเอที่มีความสมบูรณ์ เกรดบีมีตำหนิ และเกรดซีที่มีตำหนิมากที่สุด นำมาซ่อมแซมจัดจำหน่ายในราคาที่ลดหลั่นกันไปในกรณีที่ชิ้นงานชำรุดมากจะนำไปทุบทำลายใช้ถมที่ต่อไปโอ่งมังกรที่ติดตลาดจะมีขนาดตั้งแต่บรรจุน้ำ 1 ปี๊บ 2 ปี๊บ 4 ปี๊บ 6 ปี๊บ 8 ปี๊บ และ 10 ปี๊บ
ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาราชบุรี นอกจากโอ่งมังกรแล้วยังมีประเภทของเล็ก ได้แก่ ไห นิยมใช้หมักดองผัก ผลไม้ หมักน้ำปลามีอยู่สมัยหนึ่งใช้ในการใส่น้ำส้มสายชู บ่มเหล้า (แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร) มี 3 ขนาด ได้แก่ ไหแจ๋ว (จะมีขนาดเล็กรูปทรงคล้ายกะป๊อกล๊อกเล็ก ปากแคบก้นสอบ) ไหจิ๋ว ไหจู๋ ไหกลาง ไหใหญ่ (บรรจุน้ำประมาณ 38 ขวด)กะป๊อกล็อก (โอ่งมังกรขนาดเล็ก) ทรงป้อมไม่สูงมากนักนิยมใช้บรรจุเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น พริกแห้ง กระเทียม เกลือ ดองหน่อไม้ ดองปลาร้า ทำน้ำปลา เพาะถั่วงอกมี 3 ขนาดได้แก่ กะป๊อกล็อกเล็ก (1-2 ลิตร) กะป๊อกล็อกกลางกะป๊อกล็อกใหญ่ (1/2 ปี๊บ) โอ่งหนึ่งปี๊บ โอ่ง 2 ปี๊บ โอ่ง 4 ปี๊บ โอ่ง 6 ปี๊บ โอ่ง 8 ปี๊บ และมีรุ่นพิเศษคือโอ่ง 10 ปี๊บและ 12 ปี๊บ ซึ่งปัจจุบันจะไม่นิยมทำเพราะใช้แป้นหมุนในการขึ้นรูปทำได้ยาก ไม่เหมือนแต่ก่อนที่ใช้ดินขดขึ้นไปที่ละขั้นทำให้ไม่มีปัญหาในการขึ้นรูป อ่างน้ำข้าว มีด้วยกัน 4 ขนาด ได้แก่ สี่เอ๊ย ซาเอ๊ย ยี่เอ๊ย ตั่วเอ๊ย (ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรเพราะมีผลิตภัณฑ์พลาสติกเข้ามาแทนที่)กระถางต้นไม้-ดอกไม้ ได้แก่ กระถางไม้จิ๋ว กระถางไม้เล็ก กระถางไม้กลาง กระถางไม้ใหญ่กระถางมังกร ได้แก่ กระถางมังกรปี๊บ กระถางมังกร 2 ปี๊บ กระถางมังกร 4 ปี๊บ อ่างบัวเริ่มผลิตไม่นาน สมัยก่อนจะใช้โอ่งในการปลูกบัว เรียกว่า โอ่งบัว เป็นโอ่งใบใหญ่ปากกว้างก้นสอบ น้ำหนักมากผลิตให้ได้ดียากมาก (ไม่ได้รับความนิยมในการผลิต) จึงหันมาใช้โอ่งซีอิ๊วซึ่งมีลักษณะช่วงปาก (ตุ้น) กลม และขอบปากมีเหลี่ยมนิดหน่อยไม่มีลวดลายปลูกบัวแทน ก่อนพัฒนารูปทรงจนกลายเป็นอ่างบัวในปัจจุบัน
ในระยะหลังผู้ผลิตเครื่องเคลือบดินเผาราชบุรีหันมาผลิตกระถางแดงจำพวกเทอราคอตต้ามากขึ้น เนื่องจากมีอยู่ระยะหนึ่งเกิดน้ำท่วม ที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งแหล่งผลิตกระถางแดงแห่งใหญ่ของประเทศช่วงนั้น ผู้ค้าจึงได้หันมาสั่งกระถางแดงจากจังหวัดราชบุรีแทน (ฟื้นตัวจากน้ำท่วมผู้ผลิตในอำเภอปากเกร็ด หันแนวผลิตเครื่องประดับผลิตภัณฑ์ตกแต่งสวนส่งออก ส่วนกระถางแดงหันไปผลิตที่สิงห์บุรี อ่างทอง และสุโขทัยแทน เนื่องจากต้นทุนการผลิตถูก สำหรับชาวราชบุรียังคงมีการผลิตอยู่เช่นเดิม แต่ก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาแล้วจำหน่ายได้น้อยจนสินค้าล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำกว่าแต่ก่อนมากทุกโรงกำลังประสบกับปัญหาการแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง แต่รายรับต่ำเกิดภาวะขาดทุนแทบทุกเดือน จนบางโรงงานต้องปิดกิจการไปแล้ว ในอนาคตอาจจะเหลือแต่เพียงชื่อและตำนานในอดีตของเมืองราชบุรีโอ่งมังกร
อ่านต่อ >>

โรงพักเพื่อประชาชน


ประวัติสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี
สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี หลังเดิมได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2450 จะเป็นวันใดเดือนใด ไม่ทราบแน่นอน เดิมเป็นที่ตั้งของเรือนจำกลางราชบุรี มีกำแพงล้อมรอบ แต่กำแพงต่ำไม่เหมาะที่จะเป็นที่ควบคุมนักโทษ ดังจะทราบได้จากกำแพงที่ยังคงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน ทางแผนกเรือนจำจึงได้ย้ายไปสร้างขึ้นใหม่ ทางทิศ ตะวันออกเฉียงใต้ ทางราชการจึงเห็นว่าเป็นที่ที่มีอาณาเขต กว้างขวางเหมาะสม จึงได้ย้ายมาจัดสร้างเป็น สถานีตำรวจ ภูธรอำเภอเมืองราชบุรีขึ้น โดยมี พ.ต.ต.ขุนเสนานนท์ ผู้บังคับการฯ และขุนสรการบัญชี รองผู้บังคับการฯ ในขณะนั้น เป็นผู้ควบคุมดำเนินการจัดสร้าง

สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี อำเภอเมืองราชบุรี หลังปัจจุบันทำการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2514 โดยใช้งบประมาณ ในการก่อสร้างอาคารที่ทำการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีและอาคาร ที่ทำการสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองราชบุรี ในวงเงิน 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท) และได้เปิดดำเนินการ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2515 จนถึงปัจจุบัน
อ่านต่อ >>

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความเป็นมาข้าวห่อ

ความเป็นมา
บ้านโป่งกระทิงบน ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านบึง อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี เดิมชื่อบ้านกะเหรี่ยงว่า “บ้านกุ่ยโน่” ต่อมามีการติดต่อกับชาวไทยมากขึ้น จึงเรียกชื่อเป็นภาษาไทยว่า “บ้านบนเขา” เมื่อทางการ ได้เข้ามาพัฒนาโดย นพค. และ กรป.กลาง ได้พบเห็นกระทิงมากินดินโป่งอยู่บ่อย ๆ จึงเรียกว่า “โป่งกระทิง” แต่เนื่องจากมี 2 หมู่บ้านติดต่อกัน จึงเรียนกว่า “บ้านทิ่ยโท” ซึ่งเข้าถึงกันก่อนเรียกว่า “โป่งกระทิงล่าง” และเรียกอีกหมู่บ้านบนเขาว่า “โป่งกระทิงบน” ปัจจุบันบ้านโป่งกระทิงบนยังมีประชากรชาวกะเหรี่ยงหรือชาวไทยตะนาวศรีเกือบ 50% และยังรักษาประเพณีที่ร่วมใจกันสืบทอดของชาวกะเหรี่ยงในเขต ราชบุรี – เพชรบุรี คือ เทศกาลเดือนเก้า อั้งหมี่ถ่อง หรือ ประเพณีกินข้าวห่อ ซึ่งเป็นการรวมญาติมาพบปะสร้างสรรค์มีการทำพิธีเรียกขวัญ เพื่อเป็นสิริมงคลกับทุกคน


พิธียกเสาหงส์เสาหงส์ ชาวกะเหรี่ยงพุทธในสมัยก่อนมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาแต่หาโอกาสเข้าศึกษาบทเรียนได้ยาก เพราะเป็นชาวป่า ชาวดงไม่เหมือนคนไทยหรือคนมอญที่มีความเจริญรุ่งเรืองในศาสนา ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า “หงส์” เป็นนกแห่งสวรรค์สามารถเป็นสื่อนำความดี และนำความดีที่ชาวกะเหรี่ยงทำไปบอกกล่าวให้พระพุทธเจ้าได้รับทราบ เพื่อจะได้นำพระธรรมคำสอนที่บริสุทธ์ มาให้ชาวกะเหรี่ยงได้ศึกษาและปฏิบัติต่อไป ด้วยการยึดหลักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะสูงสุด จะมีเจดีย์หรือเสาหลักบ้านเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และมีเสาหงส์เคียงคู่เพื่อใช้ทำพิธีประกอบในวันสำคัญทางศาสนา

อั้งหมี่ถ่อวง ประเพณีกินข้าวห่อ
กะเหรี่ยงโปหรือกะเหรี่ยงโพลง หรือชาวไทยตะนาวศรี เป็นกลุ่มที่อาศัยตามแนวชาวแดนด้านตะวันตกของจังหวัดราชบุรี – เพชรบุรี จังหวัดราชบุรีจะอยู่ในเขตอำเภอสวนผึ้ง ปากท่อ บ้านคา เป็นกลุ่มที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มมายาวนาน
ประเพณีกินข้าวห่อ หรืออั้งหมี่ถ่อง เกิดจากความเชื่อเกี่ยวกับขวัญประจำตัวของคนกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกคนมีขวัญประจำของคนกะเหรี่ยงเชื่อว่าทุกคนมีขวัญประจำตัวเป็นสิริมงคลแก่ตัว หากใครที่ขวัญหายไม่อยู่กับตัว อาจทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ ดังนั้นแต่ละปีชาวกะเหรี่ยงจึงมีประเพณีเรียกขวัญผูกข้อมือกินข้าวห่อขึ้น
ประเพณีกินข้าวห่อจะจัดในเดือน 9 ของทุกปี แต่ละหมู่บ้านจะจัดขึ้นไม่ตรงกันทำให้ญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงสามารถไปมาหาสู่ร่วมกิจกรรมกันได้ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่า เดือน 9 หรือ “หล่าคอก” เป็นเดือนที่ไม่ดี เพราะบรรดาวิญญาณชั่วจะกิน “ขวัญ” ของคนที่เร่ร่อนไม่อยู่กับเนื้อกับตัวทำให้เจ้าของขวัญเจ็บป่วยได้
ก่อนถึงวันงาน 3 วัน ชาวกะเหรี่ยงจะต้องเตรียมอุปกรณ์ เช่น ใบผาก ใบตอง และข้าวเหนียวและเริ่มห่อข้าวเหนียวห่อด้วยใบผากหรือใบตองแล้ว แช่น้ำทิ้งไว้ ในวันสุกดิบจะมีการต้มข้าวทั้งหมดให้เสร็จ พร้อมทั้งเคี่ยวน้ำกะทิและเตรียมอุปกรณ์เซ่นไหว้ในตอนหัวค่ำของวันนี้ จะมีการยิงปืน จุดประทัด เคาะแม่บันได้ ให้เกิดเสียงดังเพื่อเป็นขวัญที่อยู่ไกล ๆ ได้รับรู้และจะได้เดินทางกลับมาในคืนนี้ประตูหน้าต่างของทุกบ้านจะเปิดเอาไว้ เพื่อให้ขวัญที่เดินทางกลับมาเข้าบ้านได้
ก่อนรุ่งอรุณของวันใหม่จะมีการยิงปืน จุดประทัด เคาะแม่บันไดอีกครั้งเพื่อเรียกขวัญที่อยู่ไกลบ้านยังเดินทางมาไม่ถึงให้รีบมา จากนั้นผู้เฒ่าประจำบ้านจำนำเครื่องรับขวัญที่ประกอบด้วย ข้าวห่อครูหรือข้าวห่อพวง กล้วยน้ำว้า อ้อย ยอยดาวเรือง เทียน สร้อยเงิน กำไรเงินและด้ายแดง มาทำพิธีเรียกขวัญ โดยจะไล่ผู้อาวุโสสูงสุด และรองไปตามลำดับในครอบครัว ซึ่งช่วงนี้ลูกหลานที่ไปอยู่ที่อื่นจะได้รู้จักกันว่าใครคือ พี่ ป้า น้า อา หรือน้อง ทำให้เกิดความรักความเกรงใจและความสามัคคีในกลุ่ม
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นในจังหวัด


การจัดองค์กรบริหารราชการส่วนภูมิภาค มี หน่วยงานราชการที่อยู่ในความควบคุมดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด ประกอบด้วย
ส่วนราชการในระดับจังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ หน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ประจำจังหวัด จำนวน 30 หน่วยงาน และหน่วยราชการบริหารส่วนกลาง จำนวน 66 หน่วยงาน
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
เทศบาลเมือง 3 แห่ง
ได้แก่
  1. เทศบาลเมืองราชบุรี (ต.หน้าเมือง)
  2. เทศบาลเมืองบ้านโป่ง (ต.บ้านโป่ง)
  3. เทศบาลเมืองโพธาราม (ต.โพธาราม)
เทศบาลตำบล 30 แห่ง แยกเป็น
อำเภอเมืองราชบุรี 4 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลหลักเมือง (ต.โคกหม้อ, ต.พงสวาย)
  2. เทศบาลตำบลเขางู (ต.เจดีย์หักบางส่วน,ต.เกาะพลับพลาบางส่วน)
  3. เทศบาลตำบลหลุมดิน (ต.หลุมดิน)
  4. เทศบาลตำบลห้วยชินสีห์ (ต.อ่างทอง)
อำเภอบ้านโป่ง 5 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลท่าผา (ต.ท่าผา,ต.ปากแรตบางส่วน)
  2. เทศบาลตำบลกระจับ (ต.หนองอ้อบางส่วน,.ดอนกระเบื้องบางส่วน)
  3. เทศบาลตำบลห้วยกระบอก (ต.กรับใหญ่บางส่วน)
  4. เทศบาลตำบลกรับใหญ่ (ต.กรับใหญ่)
  5. เทศบาลตำบลเบิกไพร (ต.เบิกไพร)
อำเภอโพธาราม 6 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลบ้านเลือก
  2. เทศบาลตำบลหนองโพ
  3. เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน
  4. เทศบาลตำบลเขาขวาง
  5. เทศบาลตำบลบ้านสิงห์
  6. เทศบาลตำบลบ้านฆ้อง
อำเภอดำเนินสะดวก 5 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลดำเนินสะดวก (ต.ดำเนินสะดวก,ต.ศรีสุราษฎร์บางส่วน,ต.สี่หมื่นบางส่วน,ต.ท่านัดบางส่วน,ต.ตาหลวงบางส่วน)
  2. เทศบาลตำบล ศรีดอนไผ่ (ต.ประสาทสิทธิ์บางส่วน,ต.ศรีสุราษฎร์บางส่วน,ต.ดอนไผ่บางส่วน)
  3. เทศบาลตำบลบ้านไร่ (ต.บ้านไร่)
  4. เทศบาลตำบลบัวงาม (ต.บัวงาม)
  5. เทศบาลตำบลประสาทสิทธิ์ (ต.ประสาทสิทธิ์)
อำเภอปากท่อ 2 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลปากท่อ (ต.ปากท่อบางส่วน)
  2. เทศบาลตำบลทุ่งหลวง (ต.ทุ่งหลวง)
อำเภอจอมบึง 2 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลจอมบึง (ต.จอมบึงบางส่วน)
  2. เทศบาลตำบลด่านทับตะโก (ต.ด้านทับตะโกบางส่วน)
อำเภอบางแพ 2 ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลบางแพ (ต.วังเย็น,ต.บางแพ)
  2. เทศบาลตำบลโพหัก (ต.โพหัก)
อำเภอวัดเพลง 1 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลวัดเพลง (ต.วัดเพลงบางส่วน,ต.เกาะศาลพระบางส่วน)
อำเภอสวนผึ้ง 2 แห่ง ประกอบด้วย
  1. เทศบาลตำบลสวนผึ้ง (ต.สวนผึ้งบางส่วน)
  2. เทศบาลตำบลชัฏป่าหวาย (ต.ชัฎป่าหวายบางส่วน,ต.ท่าเคยบางส่วน)
องค์การบริหารส่วนตำบล 78 แห่ง ได้แก่
อำเภอเมืองราชบุรี 17 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.เจดีย์หัก
  2. อบต.ดอนตะโก
  3. อบต.คูบัว
  4. อบต.บ้านไร่
  5. อบต.บางป่า
  6. อบต.คุ้งกระถิน
  7. อบต.คุ้งน้ำวน
  8. อบต.น้ำพุ
  9. อบต.หินกอง
  10. อบต.สามเรือน
  11. อบต.หนองกลางนา
  12. อบต.ดอนแร่
  13. อบต.ห้วยไผ่
  14. อบต.เขาแร้ง
  15. อบต.ท่าราบ
  16. อบต.พิกุลทอง
  17. อบต.เกาะพลับพลา
อำเภอบ้านโป่ง 11 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.สวนกล้วย
  2. อบต.หนองปลาหมอ
  3. อบต.คุ้งพะยอม
  4. อบต.เขาขลุง
  5. อบต.ดอนกระเบื้อง
  6. อบต.หนองกบ
  7. อบต.นครชุมน์
  8. อบต.บ้านม่วง
  9. อบต.ลาดบัวขาว
  10. อบต.หนองอ้อ
  11. อบต.ปากแรต
อำเภอโพธาราม 12 ประกอบด้วย
  1. อบต.หนองกวาง
  2. อบต.เตาปูน
  3. อบต.ท่าชุมพล
  4. อบต.บางโตนด
  5. อบต.หนองโพ
  6. อบต.ชำแระ
  7. อบต.คลองตาคต
  8. อบต.คลองข่อย
  9. อบต. สร้อยฟ้า
  10. อบต.เขาชะงุ้ม
  11. อบต.ธรรมเสน
  12. อบต.ดอนกระเบื้อง
อำเภอดำเนินสะดวก 8 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.ดอนกรวย
  2. อบต.ดอนคลัง
  3. อบต.ดอนไผ่
  4. อบต.ขุนพิทักษ์
  5. อบต.ท่านัด
  6. อบต.ตาหลวง
  7. อบต.แพงพวย
  8. อบต.สี่หมื่น
อำเภอปากท่อ 10 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.หนองกระทุ่ม
  2. อบต.ดอน ทราย
  3. อบต.ปากท่อ (รวมกับ ต.วันดาว)
  4. อบต.ป่าไก่
  5. อบต.อ่างหิน
  6. อบต.วังมะนาว
  7. อบต.วัดยางงาม
  8. อบต.บ่อกระดาน
  9. อบต.ยางหัก
  10. อบต.ห้วยยางโทน
อำเภอจอมบึง 6 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.รางบัว
  2. อบต.ปากช่อง
  3. อบต.ด่านทับตะโก
  4. อบต.เบิกไพร
  5. อบต.จอมบึง
  6. อบต.แก้มอ้น
อำเภอบางแพ 4 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.วัดแก้ว
  2. อบต.หัวโพ
  3. อบต.ดอนใหญ่
  4. อบต. ดอนคา
อำเภอวัดเพลง 3 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.เกาะศาลพระ
  2. อบต.วัดเพลง
  3. อบต.จอมประทัด
อำเภอสวนผึ้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.สวนผึ้ง
  2. อบต.ป่าหวาย
  3. อบต.ท่าเคย
  4. อบต. ตะนาวศรี
อำเภอบ้านคา 3 แห่ง ประกอบด้วย
  1. อบต.บ้านคา
  2. อบต.บ้านบึง
  3. อบต.หนองพันจันทร์
ที่มา : http://www.ratchaburi.go.th/data/storyofratchaburi.pdf
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ 18 เม.ย.2553 จากเอกสารประกอบการบรรยายสรุปขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี
อ่านต่อ >>

สภาพทางการเมืองการปกครอง

จังหวัดราชบุรี แบ่งการปกครองเป็น 10 อำเภอ 104 ตำบล 25 เทศบาล และ 971 หมู่บ้าน

1.อ.เมืองราชบุรี พื้นที่ 418.481 ตร.กม. 22 ตำบล 187 หมู่บ้าน เทศบาล 4 แห่ง
2.อ.จอมบึง พื้นที่ 864.855 ตร.กม. 6 ตำบล 89 หมู่บ้าน เทศบาล 2 แห่ง
3.อ.สวนผึ้ง พื้นที่ 903.262 ตร.กม. 4 ตำบล 37 หมู่บ้าน เทศบาล 2 แห่ง
4.อ.ดำเนินสะดวก พื้นที่ 184.744 ตร.กม. 13 ตำบล 105 หมู่บ้าน เทศบาล 2 แห่ง
5.อ.บ้านโป่ง พื้นที่ 292.865 ตร.กม. 15 ตำบล 182 หมู่บ้าน เทศบาล 5 แห่ง
6.อ.บางแพ พื้นที่ 141.235 ตร.กม. 7 ตำบล 45 หมู่บ้าน เทศบาล 2 แห่ง
7.อ.โพธาราม พื้นที่ 392.096 ตร.กม. 19 ตำบล 156 หมู่บ้าน เทศบาล 6 แห่ง
8.อ.ปากท่อ พื้นที่ 774.646 ตร.กม. 12 ตำบล 85 หมู่บ้าน เทศบาล 1 แห่ง
9.อ.วัดเพลง พื้นที่ 40.873 ตร.กม. 3 ตำบล 28 หมู่บ้าน เทศบาล 1 แห่ง
10.อ.บ้านคา พื้นที่ 906.326 ตร.กม. 3 ตำบล 37 หมู่บ้าย เทศบาล 0 แห่ง

  • อำเภอเมืองราชบุรี ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 22 ตำบล ดังนี้ หน้าเมือง เจดีย์หัก ดอน ตะโก หนองกลางนา ห้วยไผ่ คุ้งน้ำวน คุ้งกระถิน อ่างทอง โคกหม้อ สามเรือน พิกุลทอง น้ำพุ ดอน แร่ หินกอง เขาแร้ง เกาะพลับพลา หลุมดิน บางป่า พงสวาย คูบัว ท่าราบ บ้านไร่
  • อำเภอจอมบึง ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 6 ตำบล ดังนี้ จอมบึง ปากช่อง เบิกไพร ด่านทับ ตะโก แก้มอ้น รางบัง
  • อำเภอสวนผึ้ง ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 4 ตำบล ดังนี้ สวนผึ้ง ป่าหวาย บ้านบึง ท่าเคย ตะนาวศรี
  • อำเภอดำเนินสะดวก ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 13 ตำบล ดังนี้ ดำเนินสะดวก ประสาท สิทธ์ ศรีสุราษฎร์ ตาหลวง ดอนกรวย ดอนคลัง บัวงาม บ้านไร่ แพงพวย สี่หมื่น ท่านัด ขุนพิทักษ์ ดอนไผ่
  • อำเภอบ้านโป่ง ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 15 ตำบล ดังนี้ บ้านโป่ง ท่าผา กรับใหญ่ ปาก แรต หนองกบ หนองอ้อ ดอนกระเบื้อง สวนกล้วย นครชุมน์ บ้านม่วง คุ้มพยอม หนองปลาหมอ เขาขลุง เบิกไพร ลาดบัวขาว
  • อำเภอบางแพ ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 7 ตำบล ดังนี้ บางแพ วังเย็น หัวโพ วัดแก้ว ดอน ใหญ่ ดอนคา โพหัก
  • อำเภอโพธาราม ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 19 ตำบล ดังนี้ โพธาราม ดอนกระเบื้อง หนอง โพ บ้านเลือก คลองตาคต บ้านฆ้อง บ้านสิงห์ ดอนทราย เจ็ดเสมียน คลองข่อย ชำแระ สร้อยฟ้า ท่า ชุมพล บางโตนด เตาปูน นางแก้ว ธรรมเสน เขาชะงุ้ม หนองกวาง
  • อำเภอปากท่อ ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 12 ตำบล ดังนี้ ทุ่งหลวง วังมะนาว ดอนทราย หนองกระทุ่ม ปากท่อ ป่าไก่ วัดยางงาม อ่างหิน บ่อกระดาน ยางหัก วันดาว ห้วยยางโทน
  • อำเภอวัดเพลง ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 3 ตำบล ดังนี้ เกาะศาลพระ จอมประทัด วัด เพลง
  • อำเภอบ้านคา ประกอบด้วยตำบลทั้งหมด 3 ตำบล ดังนี้ บ้านคา บ้านบึง หนองพันจันทร์
ที่มา :
-ที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรี (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2549) อ้างถึงใน :
http://www.ratchaburi.go.th/data/storyofratchaburi.pdf
-ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด เมื่อ 18 เม.ย.2553 จากเอกสารบรรยายสรุปขององค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบึรี
อ่านต่อ >>

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ต้นไม้ประจำจังหวัดราชบุรี




ชื่อทั่วไป : ต้นโมกมัน บางครั้งอาจเรียกว่า "โมกน้อย" หรือ "มูกน้อย" และ "มูกมัน"
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Wrightia tometosa Roem.& Schuly

ชื่อสามัญ : Ivory, Darabela วงศ์ APOCYNACEAE หรือ วงศ์ลั่นทม

ถิ่นกำเนิด : เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ป่าเบญจพรรณ และป่าโปร่งทั่วไป


ประเภท : ไม้ยืนต้น
รูปร่างลักษณะ
  • ต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูงประมาณ 8-20 เมตร ต้นปลายตรง เปลือกขาวหรือเท่าอ่อนนิ่ม
ใบ ใบเดี่ยวออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ ปลายใบแหลมเรียวโคนใบสอบ มีขนนุ่มทั้งสองด้าน มีมากด้านท้องใบ ยาว 7-18 ซม.

  • ดอก ดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีขาวอมเหลือง จนถึงม่วงแกมเหลืองหรือม่วงแดง เมื่อแก่เต็มที่ดอกบานเกสรเพศมี 5อัน ออกดอกระหว่างเดือน มกราคม ถึง มีนาคม
  • ล ผลเป็นฝัก ยาว 9-35 ซม. มีร่องระหว่างกลางตามยาวของฝัก เมื่อแก่จะแตกตามแนวร่อง ผิวฝักแข็งขรุขระผลแก่ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเมล็ด เมล็ดรูปรี ปลายข้างหนึ่งมีขนสีขาวเป็นพู่ปลิวไปตามลมได้ไกล
  • การขยายพันธ์ : เพาะเมล็ด ใช้รากหรือกิ่งปักชำ ตอนกิ่ง

    สภาพที่เหมาะสม : ดินทุกชนิด กลางแจ้ง ทนแสงแดดจัด พบในป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไปตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร

    ประโยชน์ :

    • เนื้อ ไม้สีขาวนวลถึงขาวอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียดมากเหนียว ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องเล่นสำหรับเด็กเครื่องเขียน ตะเกียบ ไม้บุผนังห้อง
    • เปลือกต้น รักษาโรคไต รักษาธาตุให้ปกติ ทำให้ประจำเดือนปกติ แก้พิษ แมลงสัตว์กัดต่อย ฆ่าเชื้อรำมะนาด คุดทะราด ยางจากต้น แก้บิดมูกเลือด
    • ใบ ขับน้ำเหลือง แก้ท้องมาน ดอกเป็นยาระบาย กระพี้แก้ดีพิการ เนื้อไม้สีขาวนวลถึงขาวอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียดเหนียว ใช้แกะสลัก
    • ดอก เป็นยาระบาย
    อ่านต่อ >>

    ดอกไม้ประจำ...จังหวัดราชบุรี




    ชื่อดอกไม้ : ดอกกัลปพฤกษ์ หรือ บางทีเรียกว่า"เปลือกกวม" หรือ "กานล์"
    ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia bakerina วงศ์ CAESAL PINOIDDEAE หรือวงศ์ย่อยราชพฤกษ์
    ชื่อสามัญ : Pink Cassia, Pink Shower, Wishing Tree

    ลักษณะทั่วไป : กัลปพฤกษ์เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5–15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดกลมหรือรูปร่ม แผ่กว้าง ใบประกอบขนนก ใบย่อย 5–8 คู่ ใบรูปไข่แกมขอบขนาน หรือแกมใบหอก โคนใบเบี้ยว ใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ออกดอกเป็นช่อพร้อมใบอ่อนตามกิ่ง มี 5 กลีบ สีชมพู แล้วซีดจนเป็นสีขาวเมื่อใกล้โรย ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์–เมษายน ผลเป็นฝักกลมยาวมีขนนุ่ม สีเทา เมล็ด จำนวนมาก

    การขยายพันธุ์ : เพาะเมล็ด

    สภาพที่เหมาะสม : เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ทนแล้งได้ดี

    ถิ่นกำเนิด : ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม
    อ่านต่อ >>