วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เรื่องราวของชาวมอญโพธาราม





การที่ข้าพเจ้าบอกเล่าเรื่องราวของชาวมอญ ขึ้นมานี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นหน้าที่ไม่ใช่งาน เป็นหน้าที่ของคนที่มีเชื้อสายมอญ ที่พึงควรกระทำ บทความต่าง ๆนี้ ข้าพเจ้าบอกเล่าในฐานะที่เป็นผู้สืบทอดเชื้อสายของบรรพบุรุษ โดยอาศัยจากคำบอกเล่าของคนมอญเก่า ๆ จากบิดาของข้าพเจ้าเอง ประเพณีวัฒนธรรมของชาวมอญเคร่งครัด มีระเบียบแบบแผนในการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยกรอบวัฒนธรรม ซึ่งตัวข้าพเจ้าเองได้อยู่ในกรอบนี้เช่นกัน
ก่อนจะพบเรื่องราวของชาวมอญ ชาติมอญนั้นอยู่ทางด้านตะวันตกของดินแดนสุวรรณภูมิ อยู่ใกล้กับประเทศอินเดียมากที่สุด ชาติมอญรับเอาอารยธรรมและศาสนาของอินเดียมาก่อนใคร เมืองพะโค หรือกรุงหงสาวดีที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราชท่ 1116 จึงเปรียบเสมือนประตูและสะพาน สำหรับถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรม รวมทั้งพุทธศาสนา มาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิในปัจจุบัน
ชาวมอญไม่ไช่คนผิวดำแบบชาวอินเดีย แต่มีผิวค่อนข้างคล้ำ จมูกสั้น ใบหน้ากว้างและแบน อุปนิสัยอ่อนโยนและไว้ใจคนง่าย เป็นคนรักศิลปะ แต่ชอบอยู่เฉย ๆ รักสันโดษ ไม่เบียดเบียน ทำงานแต่เวลาจำเป็น
ชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลอง ตามคำบอกเล่าของมอญรุ่นเก่า เล่าว่า ปลายกรุงศรีอยุธยา ต่อกรุงธนบุรีต้นสมัยรัตนโกสินทร์ชาวมอญได้อพยพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ สืบเนื่องมาจากหัวหน้าชาวมอญที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ทราบข่าวว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีกู้เอกราชได้แล้ว จึงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร โดยติดต่อผ่านมายังเจ้าพระยารามัญวงศ์ ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเจ้านายเมืองมอญเมืองเมาะลำเลิงที่เหลืออยู่ ๗ คน ให้เป็นนายด่านป้องกันพม่า ๗ เมือง

เมืองด่านทั้ง ๗ คือ ไทรโยค ท่าขนุน ท่ากระดาน ท่าตะกั่ว ลุ่มสุ่ม สิงห์ และทองผาภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีทั้งสิ้น) มอญเรียกเจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ว่า เจี๊ยะเดิงฮ่ะเป๊าะ เจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นญาติกัน
ต่อมาชาวมอญญาติเจ้าเมืองทั้ง ๗ นี้ ทราบว่าญาติของตนได้เป็นเจ้าเมือง จึงได้อพยพตามเข้ามาอีก บางพวกก็อพยพไปอยู่ปากเกร็ด นนทบุรี ชาวมอญปากเกร็ดจึงมีการติดต่อพวกมอญลุ่มน้ำแม่กลองมาตลอด เพิ่งจะมาเลิกติดต่อกัน สมัยยุบเลิกคณะสงฆ์รามัญนิกายสมัยรัชกาลที่ ๖ นี้เอง พวกที่อยู่ไทรโยคเป็นพวกลำบาก เพราะที่ราบสำหรับการเพาะปลูกมีน้อย ส่วนมากเป็นป่าเขา จึงไม่มีที่ทำกิน หัวหน้ามอญท้ง ๗ เห็นความลำบากของญาติพี่น้อง จึงได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาเจ้าพระยารามัญวงศ์ และเจ้าพระยามหาโยธา เจ้าพระยาทั้ง ๒ จึงได้นำเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมทูลขอพระราชทานที่ทำมาหากิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระยามอญทั้ง ๗ เลือกที่ทำมาหากินเอาเอง โดยพระราชทานท้องตรามาให้ด้วย พระยามอญทั้ง ๗ จึงได้พาพรรคพวก ญาติพี่น้องล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง ก็เห็นว่า พื้นที่เหมาะแก่การเพาะปลูก และมีคนอาศัยอยู่น้อย คือตั้งแต่เขตอำเภอบ้านโป่ง ถึง อำเภอโพธาราม ซึ่งในสมัยนั้นอำเภอทั้ง ๒ ยังไม่ได้เกิดขึ้น ส่วนพระยามอญทั้ง ๗ นั้น ก็ได้มา
ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หมู่บ้านวัดคงคา (ปัจจุบันคือวัดคงคาราม ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม) ส่วนบรรดาญาติก็ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ ๒ ฝั่งแม่นำแม่กลอง ชาวมอญนั้นนับถือพุทธศาสนาอย่างศรัทธามาแต่เดิมแล้ว เมื่อมีที่ทำกินแล้ว ก็ต้องการที่ประกอบพิธีทางศาสนา พระยามอญทั้ง ๗ จึงได้ประชุมชาวมอญที่อพยพทั้งหมดโดยใช้วัดคงคารามเป็นศูนย์กลาง ซึ่งชาวมอญเรียกว่า เกี้ยโต้ หรือวัดกลาง จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคงคาราม

ศูนย์รวมใจของชาวมอญ ลุ่มน้ำแม่กลอง เจดีย์ทรงมอญทั้ง ๗ องค์ รอบ ๆพระอุโบสถวัดคงคาราม ซึ่งเป็นตัวแทนของพระยามอญทั้ง ๗ นับว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวมอญในโพธารามและละแวกใกล้เคียงก็ว่าได้
เจดีย์ทรงมอญมีชื่อดังนี้

พระนิโครธาภิโยค เจ้าเมืองไทรโยค ต้นตะกูล นามสกุล นิไชยโยค พระไทรโยค มะมม
พระชินษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าตะกั่ว ต้นตระกูล นามสกุล ชินอักษร
พระปัณษณติษฐบดี เจ้าเมืองท่าขนุน ต้นตระกูล นามสกุล หลักคงคา
พระพลติษฐบดี เจ้าเมืองท่ากระดาน ต้นตระกูล นามสกุล ตุลานนท์
พระนินษณติษฐบดี เจ้าเมืองลุ่มสุ่ม ต้นตระกูล นามสกุล นิลบดี / หลวงพันเทา
พระเสลภูมิบดี เจ้าเมืองทองผาภูมิ ต้นตระกูล นามสกุล เสลานนท์ / เสลาคุณ
พระสมิงสิงคิบุรินทร์ เจ้าเมืองเมืองสิงห์ ต้นตระกูล ธำรงโชติ

เดิมที ที่ตั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองนี้เ ป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวลาวเวียงจันทร์ ที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยครั้งสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี พระยามอญได้นำท้องตรามาให้ดูว่า พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดินเหล่านี้ให้แก่ชาวมอญแล้ว ชาวลาวจึงถอยร่นออกไปอยู่บริเวณ วัดโบสถ์ วัดบ้านเลือก วัดบ้านสิงห์ วัดบ้านฆ้อง
วัดคงคาราม จึงเป็นวัดมอญวัดแรกของชาวไทรามัญ
วัดมอญรุ่นที่ 2 คือวัดใหญ่นครชุมน์ ในอำเภอบ้านโป่ง วัดนี้ยังคงอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมของชาวมอญไว้ให้
ชนรุ่นหลังได้ศึกษา น่าสนใจมาก

วัดมอญรุ่ที่ 3 คือวัดป่าไผ่ วัดไทรอารีรักษ์ วัดเกาะ วัดบ้านหม้อ วัดโชค
(วัดตาผา วัดตาลปากลัด วัดหัวหิน วัดมาขาม วัดม่วงล่าง (พิพิธภัณฑ์ชาวมอญ) และ
โพธิ์โสภาราม ซึ่งวัดนี้จะมีงานของชาวมอญ ในวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 )
วัดมอญรุ่นที่ 4 คือวัดหนองกลางดง วัดชำแระ วัดหุบมะกล่ำ วัดดอนกระเบื้อง และวัดเขาช่องพราน วัดนี้มีค้างคาวร้อยล้าน และยังเป็นวัดต้นตระกูล ปัณยารชุน อันเป็นเชื้อสายพระยามอญทั้ง 7 เหมือนกัน

คำบอกเล่าเหล่านี้ อาจจะไม่ตรงบ้าง ก็ขอคำแนะนำจากผู้รู้ เพราะข้าพเจ้าเป็นเชื้อสายชาวมอญรุ่นที่ 7 แล้วแต่ก็ยังอยากรู้ที่มาของตัวเอง และขอขอบคุณท่านที่แนะนำ



7 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ01 มีนาคม, 2555 22:42

    ทำไมคนอำเภอดอนใหญ่ถึงใช้นามสกุล ธำรงโชติ กันครับ และใครเป็นต้นตระกูลใหญ่ครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ21 มิถุนายน, 2555 16:38

    ต.ดอนใหญ่ครับไม่ใช่อ.ดอนใหญ่ ต้นตระกูลธำที่ดอนใหญ่มาจากสองพี่น้อง
    1.ทวดต้อย(ขุ่นกระจ่างดอนใหญ่)
    2.ทวดบัว
    พี่น้องอีกบางส่วนยังอยู่ที่วัดไทร โพธารามไม่อพยพมาทุ่งใหญ่ทั้งหมด(สมัยก่อนไม่เรียกดอนใหญ่)
    สองทวดแตกกอแตกแขนงกลายเป็นตระกูลใหญ่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

    ตอบลบ
  3. ผมนามสกุลบุตรหมื่น อายุ56ไม่รู้จัดอยู่ในรุ่นไหนครับ พ่อ ปู่ย่า ลุงเป็นมอญวัดเกาะ เด็กๆไปวัดเกาะทีไรต้องไปกราบหลวงปู่ที่วัดคงคาทุกทีที่พ่อพาไป

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. วัดคงคารามเป็นวัดศูนย์กลางของชาวมอญที่น่าจะมาจากเมืองไจย์ปอลอ แล้วหนีพม่ามาจนถึงเมาะตะมะ เมาะลำเลิง(เมาะลำไย)เข้ามาทางกาญจนบุรี แยกย้ายกันอยู่และหาที่ทำมาหากินตามลุ่มน้ำแม่กลองค่ะ

      ลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ28 พฤษภาคม, 2560 15:17

    พ่อใช้นามสกุลชินอักษรบ้านพ่ออยู่โพธาราม แต่แม่กะพ่อเลิกกัน แม่เรยให้เรามาใช้นามสกุลแม่

    ตอบลบ
  5. ชินอักษรเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองท่าตะกั่วค่ะ (ชิน- ชินะ_ ตะกั่ว) ปู่เราก็มาจากท่าตะกั่วค่ะ

    ตอบลบ
  6. ไม่ระบุชื่อ20 มิถุนายน, 2565 16:24

    แล้วเห็นว่ามี ปรักมานนท์ ด้วยไม่ใช่หรอคะ ไม่ใช่ใช่ไหมคะ

    ตอบลบ