วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดูลิเกไปวัดคงคา ได้วิชาไปวัดป่า(ไผ่) ฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ

ผมได้ไปอ่านบทความของ กุศล เอี่ยมอรุณ เรื่องเงาชีวิตในภาพเขียน ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือราชบุรี เกี่ยวกับวัดไทรอารีรักษ์  เมื่อ พ.ศ.2541 มีอยู่ตอนหนึ่งได้เขียนเกี่ยวกับคำขวัญที่ว่า "..ถ้าดูลิเกให้ไปวัดคงคา ได้วิชาไปวัดป่า(ไผ่) ฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ.." เห็นว่าเป็นเรื่องราวที่น่านำมาบันทึกไว้ให้ทราบกัน แต่ภาพประกอบค่อนข้างหายากมาก ค้นหาในอินเตอร์เน็ตก็ไม่ค่อยมี คงต่อรอไปถ่ายเองแล้วนำมาโพสต์ภายหลัง ลองอ่านดูนะครับ

"....คนมอญถือว่า งานตายเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะศพพระศพเจ้า..."


วัดไทรอารีรักษ์ ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำแม่กลอง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นวัดของศูนย์กลางชาวมอญอีกวัดหนึ่ง วัดนี้มีภาพเขียนที่หอระฆังบริเวณกุฏิเจ้าอาวาส ภาพบางส่วนลบเลือนมาก ส่วนที่พระอุโบสถมีภาพที่ผนังด้านในทั้งสี่ด้าน กับที่มุขสกัดด้านนอกริมแม่น้ำแม่กลอง เขียนเป็นเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า พุทธประวัติ และพระอริยสงฆ์ ในรายละเอียดของภาพสะท้อนให้เห็นชีวิตสังคม วัฒนธรรม ของกลุ่มชนชาวมอญในอดีต ที่ผนังด้านในตรงข้ามกับพระประธานมีอักษรมอญจารึกถอดความได้ว่า อุปฎฐากกลอง (นามสกุล วารีชล) เป็นผู้จ้างช่างมาเขียนภาพเมื่อ ศก 1126 หรือประมาณ พ.ศ.2450 ซึ่งอยู่ในรัชกาลพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภาพนี้เป็นภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน มีการอัญเชิญพระบรมศพใส่พระโกศเพื่ออัญเชิญขึ้นพระเมรุมาศ ช่างเขียนมิได้วาดภาพเป็นโกศทรงสูงอย่างที่ใช้ในพระบรมศพกษัตริย์หรือเจ้านายดังที่เคยเขียนกัน แต่กลับเขียนเป็นโลงศพอย่างมอญที่เรียกว่า "ลุ้ง" ซึ่งใช้บรรจุศพพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ เช่น เจ้าอาวาส ที่ศาลาเก้าห้องของวัดคงคารามก็ยังมี "ลุ้ง" เก็บรักษาอยู่ พระภิกษุที่เก็บรักษาบอกว่าเคยใช้ในงานศพเจ้าอาวาสวัดมอญแถบลุ่มน้ำแม่กลองในสมัยก่อน

คุณตาจวน เครือวิชฌยาจารย์ เล่าเกี่ยวกับเรื่องงานตายของชาวมอญว่า "โลงที่นิยมใส่ศพพระ ก็คือโลงที่มีลักษณะสอบล่างผายบน คนมอญระดับชาวบ้านเรียกว่า "โลงยอดดอกผักบุ้ง" ที่เราเห็นที่เมืองปทุมธานีนั้น เป็นดอกบานข้างบนนั้น ทำเป็นยอกปราสาทอย่างเจดีย์ชเวดากอง สนนราคาใบหนึ่งเกือบ 4 หมื่นบาท โลงอย่างนี้ใช้แต่เฉพาะพระเท่านั้น ที่ชาวบ้านชาวมอญทั่วไปเขาไม่ใช้ เพราะเกรงว่าจะเป็นการแข่งบารมีกับพระ เขาจึงไม่ทำกัน ใครทำเขาก็เรียกว่า โลกวัชชะ คือ โลกจะติเตียน บัญญัติห้ามไว้นั้นไม่มี แต่ปากจากสังคมมนุษย์ห้ามไว้นี่สิเรื่องใหญ่"

"คนมอญถือว่าเรื่องตายเป็นเรื่องสำคัญ โดนเฉพาะศพพระศพเจ้าถือว่าเป็นเรื่องพิเศษกว่าศพชาวบ้านทั่วไป พระผู้ใหญ่มีลูกศิษย์ลูกหามาก ลูกศิษย์ก็อยากที่จะจัดงานศพหลวงพ่อที่ตนเองเคารพนับถือนั้นให้ยิ่งใหญ่ที่สุด หรือถ้าเพื่อนบ้านเสียชีวิตก็ต้องบอกต่อกันไป เพื่อร่วมพิจารณาว่าศพนี้ตายอย่างไร ตายดี คือ เจ็บไข้ได้ป่วย ตายตามอายุขัย..แก่ชราตาย หรือ ตายไม่ดี อย่างเป็นมะเร็งเน่าเฟะ ตายโหง เช่น ถูกยิงตาย ตกน้ำตาย กินยาตาย ผูกคอตาย หรือเกิดอุบัติเหตุต่างๆ พวกนี้คนมอญเราถือจริงๆ จะไม่ทิ้งไว้ข้ามคืน ต้องรับทำโลงไปฝังเก็บก่อน หรือไม่ก็เก็บเข้าโกดังยังไม่เผาไม่ทำบุญอะไรทั้งนั้น อย่างมากแค่นิมนต์พระสี่รูปไปสวด บางศพนั้นก็เก็บไว้ประมาณหนึ่งเดือนจึงทำบุญ ถ้ารอให้ครบปีได้ถือว่าเป็นเรื่องบริบูรณ์ จะสวดอย่างไร มีมหรสพอย่างไรก็ดี เสนียดจัญไรจะไม่พัวพันกับวงศ์ตระกูล  ถ้าไม่ทำเช่นนั้น การตายลักษณะนี้จะวนเวียนเข้ามาหาคนในครอบครัวอีก ในคัมภีร์มอญ บอกไว้เลยว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้จะได้รับความเสียหายเจ็ดชั้นหรือเจ็ดชั่วโคตร"

..ถ้าดูลิเกให้ไปวัดคงคา ได้วิชาไปวัดป่า (ไผ่) ฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ...

ภาพเขียนนี้ เป็นภาพหลังจากที่องค์พระสัมสัมพุทธเจ้าเสด็จสู่ปรินิพพานแล้ว มีการตั้งเมรุมาศถวายพระเพลิงและมีมหรสพฉลองพระเมรุมาศ เมื่อหลายสิบปีก่อนนี้ ครั้งหนึ่งที่วัดม่วง (บน) ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เคยมีงานเมรุศพหลวงพ่อเข็มหรือหลวงปู่เข็ม

หลวงปู่เข็มมีชีวิตอยู่ช่วงรัชกาลที่ 5-7 ท่านเป็นพระวิปัสสนาที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามว่า พระครูไชยคีรีศรีสวัสดิ์ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดม่วง (บน) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี กระทั่งท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2476 ว่ากันว่า ใครมีเหรียญหลวงปู่ตอนนี้ ให้เช่ากัน 2-3 แสนบาท

เมื่อสมัยคุณตาจวน เครือวิชฌยาจารย์ เป็นเด็ก ได้เคยเห็นงานฉลองเมรุของหลวงปู่เข็ม ซึ่งจัดขึ้นที่วัดม่วง (บน) "ตอนงานศพหลวงพ่อนั้น เขาเตรียมงานกันถึงปีกว่า ทำกันเป็นเมรุสูงใหญ่ ซึ่งในสมัยก่อนนั้น บริเวณที่จะก่อสร้างเมรุมีต้นยางนาขึ้นเป็นดง ต้องตัดต้นยางออก ลักษณะสัดส่วนของเมรุนั้น ผมว่าพอๆ กับเมรุอย่างที่สนามหลวง แต่ไม่สวยวิจิตรพิสดารเท่า เวลาเผาก็เผาเสร็จกันในวันนั้น ตอนนั้นผมจำได้ว่า โรงเรียนที่ลูกหลานชาวบ้านม่วงเรียนกันนั้น เป็นเงินทองที่เหลือจากชาวบ้านมาทำบุญกันในคราวนั้น อาคารหลังเดิมของโรงเรียนพังไปแล้ว ที่เห็นอยู่นี้เป็นอาคารหลังใหม่"

"ตอนนั้นผมอายุประมาณแปดเก้าขวบ ฟังจากผู้ใหญ่เล่ากันว่า บรรดาลูกศิษย์ลูกหาตกลงกันว่า ถ้ามีลูกศิษย์ลูกหาเป็นเจ้าภาพสวดก็สามารถไว้ต่อไปได้เรื่อย เมื่อต้องตั้งสวดนานาอย่างนี้ เป็นผลให้มีเวลาเตรียมงานเมรุ งานฉลองศพหลวงพ่อมากขึ้น แต่ละบ้านแต่ละวัดก็แบ่งหน้าที่จัดการกันไปตามถนัด บ้านนี้วัดนั้นรับผิดชอบโรงครัว โรงทาน ใครจะมากินกาแฟน้ำร้อนมีคนจัดการหมด อย่างเช่น วัดคงคาฯ ช่วยแกงมัสมั่น วัดตาลทำแกงส้ม วัดใหญ่นครชุมน์ทำขนมหม้อแกง วัดเขาช่องพรานรับทำสังขยา เป็นต้น งานหลวงพ่อเข็มเดิมกะว่าสามวัน ก็ยืดออกไปถึง 11 วัน"

คำกล่าวที่ว่า "ถ้าอยากดูลิเกให้ไปวัดคงคา อยากได้วิชาไปวัดป่า(ไผ่) อยากฟังเทศน์ไปวัดบ้านหม้อ" นั้น หมายถึงเมื่อก่อนนั้น พระที่วัดป่าไผ่ ได้ชื่อว่าเป็นพระเก่งพระธรรมไตรปิฏก อย่างพระมหาเป้อ พระจากวัดต่างๆ บริเวณนี้ต่างเป็นลูกศิษย์ลูกหาท่านทั้งสิ้น มหาศรเป็นอาจารย์ของผมเมื่อครั้งที่ีผมบวชเรียน ก็เป็นลูกศิษย์ท่าน เมื่อพระที่วัดนี้เก่ง พระจากวัดต่างๆ จึงต้องพากันมาร่ำเรียนที่นี่ เช่น วัดบ้านหม้อ วัดใหญ่นครชุมน์ วัดโพธิ์ วัดม่วง(บน) เป็นต้น วัดป่าไผ่ดังมากจนได้ชื่อว่า "วัดเล็กแต่พระดัง" รองลงไปคือวัดบ้านหม้อ เมื่อผมยังเป็นเด็ก รอบวัดป่าไผ่นั้นถือว่ามีแต่คนเก่ง เป็นนักธรรมรู้เรื่องศาสนามากกันทีเดียว ผิดกับที่วัดคงคาฯ มีลิเกบ่อย เพราะสมัยก่อนวัดคงคาฯ มีพระผู้ใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์หลายรูป เมื่อมรณภาพก็มีงานฉลองเมรุ ส่วนหลวงปู่เข็ม ท่านเป็นอุปัชฌาย์วัดม่วง (บน) ท่านจึงยิ่งใหญ่สำหรับชาวบ้านร้านถิ่นแถบนี้ ผู้คนเลยมาร่วมงานมากมาย"

"หนังกลางแปลงตอนนั้นเป็นหนังญี่ปุ่นขาวดำ ไม่มีเสียงพากย์เสียงพูดอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน มีแต่เสียงแตรวงประกอบ เล่นกันสดๆ เป็นครั้งแรกที่มีหนังมาฉายบ้านเราเป็นมหรสพที่เสียค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือ คืนหนึ่งประมาณ 30 บาท ตอนนั้นเงินเดือนข้าราชการยศร้อยเอกประมาณ 25 บาท นายอำเภอ 60 บาทเท่านั้น"

"ลูกศิษย์ลูกหาแต่ละวัดนั้นก็พยายามหามหรสพมาร่วมงาน วัดขนอนเอาหนังใหญ่มา วัดนั้นเอาละครมา วัดนี้หาหนังมาฉาย บางวัดก็หาหนังตะลุงมา ในราชบุรีมีหนะงตะลุงด้วย เขาเล่นประมาณสองยาม ตีหนึ่ง ตื่นขึ้นมายังเห็นไอ้แก้วไอ้เปีย (ตัวละคร) ทะเลาะกันอยู่อย่างนั้น เด็กอย่างพวกเราจะพูดติดปากกันเลยว่า ดูหนังใหญ่ต้องวัดขนอน ตอนนั้นไม่มีไฟฟ้า ต้องระดมชาวบ้านช่วยกันหากะลามาสุมไฟกองพะเนินเลย คนดูก็ดูกันไป ที่หลับก็หลับกันไป ระหว่างนี้มีการตุดดอกไม้เพลิงต่างๆ วัดไหนมีฝีมือทำอะไรได้ ก็ขันอาสาทำกันมาจุดฉลองเล่น วัดใหญ่นครชุมน์เขาเก่งไฟเพนียงก็ทำมา ไฟผึ้งนั้นผมจำไม่ได้วัดอะไรทำมา มีไม้สานเป็นรังผึ้งทำแขวนอยู่บนต้นไม้ และที่ต้นไม้เขาประดิษฐ์เป็นคนกะเหรี่ยงเกาะอยู่ นัยว่าเป็นกระเหรียงกำลังตีผึ้ง เวลาจุดแสดงก็จะแตกระเบิดเป็นลูกไฟเหมือนผึ้งบินออกจากรัง รูปกะเหรี่ยงนั้นก็จะแกว่งไปมาเหมือนกะเหรี่ยงตีผึ้งโหนต้นไม้เป็นที่สนุกสนานกัน มีบางวัดทำอ้ายตื้อวิ่งไล่คนดูหนีกันอลหม่าน ส่วนเรื่องกายกรรมนั้นผมไม่ทันเห็น มหรสพมีตั้งแต่คืนแรกที่ตั้งศพจนกระทั่งวันสุดท้าย เมื่อเผาเสร็จเรียบร้อยแล้วก็นำธาตุของหลวงพ่อมาตั้ง เรียกว่าสุมธาตุ"

..วันพรุ่งนี้อาจไม่เหลือแม้เงา...

ก่อนจบขอปิดท้ายด้วยภาพเขียนบนไม้คอสองที่หัวเสาศาลาดินวัดไทรอารีรักษ์ บริเวณตลาดโพธาราม ปัจจุบันศาลาดินหลังนี้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว เพื่อสร้างตึกคอนกรีตขึ้นแทนที่ ไม้คอสองกว่า 10 แผ่น จึงถูกปลดลงวางทิ้งขวางไร้คนเหลียวแลอยู่ในบริเวณวัด จนกระทั่งพระวสันต์ ซึ่งมาบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ไปเห็นเข้า รู้สึกเสียดายในคุณค่างานศิลปกรรมของภาพเขียนที่ปรากฏบนแผ่นกระดานนั้น จึงนำมาทำความสะอาดปัดฝุ่นดินที่ติดเกรอะกรัง พร้อมเอาพลาสติกห่อหุ้มแต่ละแผ่นภาพไว้เพื่อป้องกันการขีดข่วนและสีกระเทาะหลุดออก ทว่าความหวังดีของท่าน กลับทำให้ภาพเขียนแต่ละแผ่นเกิดความชื้น มีไอน้ำเชื้อราจับจนตัวภาพบางส่วนลบเลือนไป นับเป็นการสูญเสียสมบัติโบราณวัตถุสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของชุมชนลุ่มน้ำแม่กลอง..

ภาพเขียนทั้งสามนี้ ดำเนินเรื่องพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเวยพระชาติเป็นพระมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี ในภาพแสดงถึงหมู่เรือนอาศัยของพระมโหสถ ซึ่งเป็นลูกเศรษฐีในเมืองมิถิลา ครั้งหนึ่งได้สร้างศาลาให้เพื่อนๆ เล่นโดยไม่ต้องหนีฝน และในศาลานั้นยังสร้างห้องวินิจฉัยคดีความให้ชาวบ้านที่พากันมาขอให้พระมโหสถตัดสิน กิตติศัพท์ความรอบรู้เฉลียวฉลาดของพระมโหสถเป็นที่ร่ำลือล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าวิเทหะราช กษัตริย์แห่งมิถิลานคร จึงเบิกตัวพระมโหสถเข้าเฝ้าและในที่สุดก็ได้รับตัวมาเป็นราชบุตรของพระองค์

ภาพเขียนดังกล่าวสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นประมาณรัชกาลพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยธงบนยอดเสาในภาพปรากฏวาดเหมือน "ธงจอมเกล้า" อันเป็นตราประจำรัชกาลของพระองค์ แม้ในภาพจะเขียนรายละเอียดไม่ชัดเจนนัก แต่พอจับเค้าได้ว่าเป็นรูปพระมหามงกุฎ ขนาบข้างด้วยฉัตรทั้งซ้ายและขวา ผิดกันก็แต่สีเท่านั้น คือ ธงของพระองค์นั้นนอกจากจะมีพระราชลัญจกรดังกล่าวกลางผืนธงแล้ว สีพื้นธงก็เป็นสีน้ำเงิน มีขอบเป็นสีแดง

นอกจากนี้ยังมีจุดสังเกตุที่หอนาฬิกา ซึ่งตัวหอที่อยู่ใกล้กันนั้นน่าจะเป็นหอกลอง ด้วยหอทั้งสองสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 4 อีกทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารตึกฝรั้งอย่างตะวันตก ถ้าสังเกตุให้ดีจะมีตัวอักษรคล้านภาษาอังกฤษปรากฏบนหน้าบัน ซึ่งช่างยุคนั้นพยายามเขียนเลียนแบบตัวหนังสือของฝรั่ง ลักษณะการเขียนภาพเช่นนี้มักพบในจิตรกรรมตามวัดต่างๆ ที่เขียนขึ้นในยุคสมัยเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ความพยายามในการเก็บรักษาภาพของพระวสันต์จะกลายเป็นการทำลายภาพเขียนให้เสียหาย แต่ความตั้งใจที่มุ่งรักษามรดกแห่งภูมิปัญญาของคนลุ่มน้ำแม่กลอง ก็เป็นสิ่งอันควรสรรเสริญ ด้วยการกระทำเช่นนี้ บางครั้งอาจต้องเผชิญกับความไม่พึงพอใจของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่คอยจ้องขโมยโบราณวัตถุไปจากวัด 

ปัจจุบันทางวัดซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน แต่ก็เหลือเพียงชื่อตำนานให้เล่าขาน ด้วยไม่มีประจักษ์พยานของโบราณวัตถุสถานใดๆ ให้เห็นร่องรอยของวิถีวัฒนธรรมที่บ่งบอกชีวิตชุมชนรอบวัดอีกต่อไป ชะตากรรมเช่นนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับวัดไทรอารีรักษ์เท่านั้น หากแต่อีกหลายวัดแถบลุ่มน้ำแม่กลองก็กำลังประสบสภาพดังกล่าวเช่นกัน

แล้ววันพรุ่งนี้อาจไม่เหลือแม้เงา...

ที่มา :
กุศล เอี่ยมอรุณ. (2541). เงาชีวิตในภาพเขียน : วัดไทรอารีรักษ์. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 365-371)


ข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดคงคาราม

ภาพถ่ายวัดบ้านหม้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น