วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์ จ.ราชบุรีและบริบทการเปลี่ยนแปลง (ล่าสุด 17 ก.ย.2552)

สถานการณ์จังหวัดราชบุรี

ด้านเศรษฐกิจ
จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจส่วนรวมในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และนครปฐม) โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29 ของผลิตภัณฑ์กลุ่มจังหวัด และมีมูลค่า GPP คิดเป็นลำดับที่ 14 ของประเทศ จังหวัดราชบุรี มีอัตราการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 – 2551 เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี เศรษฐกิจจังหวัดราชบุรีพึ่งพิงสาขาการผลิตที่สำคัญคือ สาขาอุตสากรรรม มีสัดส่วนการผลิต ร้อยละ 29.07 และสาขาการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 16.28 ในขณะที่สาขาการผลิตรองลงมาเช่น สาขาพลังงาน และที่อยู่อาศัย 16.88 และ 10.48 ตามลำดับ

สาขาการเกษตร จังหวัดราชบุรี มีการการขยายตัวการผลิตด้านเกษตร ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 – 2551 เฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี โดยเฉพาะในปี 2551 จังหวัดราชบุรีมีมูลค่าการผลิตในภาคเกษตร จำนวน 17,640 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดราชบุรี มีศักยภาพที่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เช่น มีพื้นที่การเพาะปลูกพืชผักผลไม้ กระจายไปทุกอำเภอ จำนวน 1,027,340 ไร่ สามารถผลิตพืชผัก ผลไม้ ประมาณ 2,218,641 ตันต่อปี เนื่องจากมีระบบการชลประทานที่ดี มีตลาดกลางสินค้าเกษตร ถึง 2 แห่งในการระบายสินค้าไปทั้งภาคกลาง ภาคใต้ และและภาคอื่นๆ ในด้านการปศุสัตว์ มีการผลิตสุกรได้มากที่สุดของประเทศประมาณ 1,313,000 ตัว มูลค่า 3,940 ล้านบาท ในส่วนการประมง จังหวัดราชบุรีมีศักยภาพในการผลิตกุ้งก้ามกราม จำนวน 10,021.74 ตัน และกุ้งขาว จำนวน 6,035.17 ตัน

การอุตสาหกรรม เป็นสาขาการผลิตที่สำคัญของจังหวัด มีมูลค่าการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นสาขาการผลิตที่มีมูลค่าสูงสุดของจังหวัด ในปี 2551 จังหวัดราชบุรี มีโรงงานทั้งสิ้น1,322 โรงงาน เงินลงทุน 86,262 ล้านบาท มีมูลค่าการผลิต จำนวน 31,503 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.07 ของมูลค่าการผลิตทั้งหมด พื้นที่การผลิตส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอบ้านโป่ง อำเภอเมืองฯ และอำเภอโพธาราม มีการประเภทอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร( 177 โรงงาน) อุตสาหกรรมโลหะ(157 โรงงาน) อุตสาหกรรมขนส่ง(144 โรงงาน) อุตสาหกรรมการเกษตร (101 โรงงาน) และอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ( 100 โรงงาน) และ อุตสาหกรรมสิ่งทอ(62 โรงงาน) จังหวัดราชบุรีมีโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล จำนวน 166 แห่ง

ในส่วนของสาขาการค้า จังหวัดราชบุรีมีมูลค่าการค้าส่ง ค้าปลีก จำนวน 11,359 ล้านบาท เป็นภาคการผลิตที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดราชบุรี รองลงมาจากสาขาอุตสาหกรรม และสาขาการเกษตร

ด้านการท่องเที่ยว ในปี 2551 จังหวัดราชบุรีรายได้จากการท่องเที่ยว จำนวน 1,153.49 ล้านบาท มีผู้มาเยี่ยมเยือน จำนวน 1,115,221 คน โดยลดลงจากปี 2550 คิดเป็นร้อยละ 4.42

ด้านสังคม
ปัจจุบันจังหวัดราชบุรี มีประชากรทั้งสิ้น จำนวน 841,614 คน (ครัวเรือน 261,143 ครัวเรือน) มีอัตราการเพิ่มของประชากรปี 2550-2552 คิดเป็น ร้อยละ 0.30 , 0.53 และ 0.69 ตามลำดับ โครงสร้างประชากรในปี 2552 (สิงหาคม 2552) มีสัดส่วนประชากรวัยเด็ก ร้อยละ 19.04 เยาวชน ร้อยละ 15.91 ประชากรวัยทำงาน ร้อยละ 50.16 และผู้สูงอายุ ร้อยละ 11.45

ความสัมพันธ์และความอบอุ่นของครอบครัว ยังไม่ผ่านเกณฑ์ครอบครัวอบอุ่น จปฐ.ปี2552 มีครอบครัวที่ตกเกณฑ์ดังกล่าว จำนวน 33 ครัวเรือน สำหรับ อัตราการหย่าร้างในปี 2551 จำนวน 1.26 คู่ต่อพันครัวเรือน ซึ่งลดลงจากปี 2550 (1.44 คู่ต่อ พันครัวเรือน) สำหรับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จังหวัดราชบุรี ในปี 2549 มีคดีเกิดทั้งสิ้น 2,762 คดี ปี 2550 จำนวน 2,638 คดี

ในส่วนศิลปะ วัฒนธรรม จังหวัดราชบุรี มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ประชาชนประกอบด้วยเชื้อสาย 8 ชนเผ่า มีการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม มาจนถึงรุ่นปัจจุบัน จึงเป็นต้นทุนทางสังคมที่จะเชื่อโยงไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ

ส่วนด้านสุขภาพ จังหวัดราชบุรียังมีปัญหาการป่วยด้วยโรค สำคัญ อยู่ใน 3 ลำดับแรก ต่อประชากร 100,000 คน คือ โรคมะเร็ง คิดเป็นร้อยละ 86.8 รองลงมาเป็นอุบัติเหตุ คิดเป็นรอยละ 62.2 และโรคหัวใจ คิดเป็น ร้อยละ 44.8

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปัญหาที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี คือพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ส่วนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม คือปัญหาขยะ และมลพิษทางน้ำ จากข้อมูลการศึกษามลพิษทางน้ำของจังหวัดราชบุรี  แหล่งที่เกิดมลพิษที่สำคัญคือ น้ำเสียจากชุมชน และฟาร์มการเกษตร รองลงมาเป็นน้ำเสียที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม


บริบทการเปลี่ยนแปลง
จังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดที่ มีรายได้จากสาขาการผลิตที่สำคัญของจังหวัด คือ สาขาเกษตร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการค้าปลีกค้าส่ง การผลิตดังกล่าวต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายใน ที่สำคัญคือ

ด้านเศรษฐกิจ
ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ
สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว นานาประเทศหันกลับมาให้ความสำคัญด้านปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศ เพื่อที่จะกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จากรายงานสถาบันด้านเศรษฐกิจโลก ในปี 2553 เศรษฐกิจ โลกมีแนวโน้มอาจจะปรับตัวดีขึ้นในภาพรวมซึ่งอาจจะใช้เวลาในการฟื้นตัว

แม้ว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในภาวการณ์ชะลอตัวดังกล่าว แต่สถานการณ์ของอุปสงค์และอุปทานอาหารของโลกมีการเปลี่ยนแปลง อันเนื่องมาจากความต้องการด้านพลังงานทดแทนและการเกิดภัยธรรมชาติ ความต้องการด้านอาหารของโลกและประเทศในอาเซียนเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยและปลอดสารพิษ ซึ่งการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหารจะต้องปรับตัวกับมาตรการด้านต่างๆของประเทศคู่ค้า

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 มีแนวโน้มเริ่มเข้าสู่ระดับที่ถือได้ว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น เนื่องมาจากภาพโดยรวมของภาคการค้าของโลก ซึ่งจะช่วยหนุนให้ทิศทางของภาคการส่งออกของไทย จะมีการขยายตัวได้มากขึ้น นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงปัจจัยบวกจากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วง
ปี 2552 – 2553 ตามแผนปฏิบัติการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่จะเริ่มมีการใช้จ่ายได้ตั้งแต่ในช่วงปลายปี2552 ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี2553 ขยายตัวมากขึ้น

นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ ที่จะสร้างการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและมั่นคง เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยส่งเสริมการผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ส่งเสริมเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร ในส่วนพัฒนาศักยภาพสินค้าปศุสัตว์ ดำเนินการปรับปรุงและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เศรษฐกิจสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจพัฒนาการผลิตทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

สถานการณ์ผู้บริโภคด้านอาหาร เนื่องจากการเกิดวิกฤตด้านความปลอดภัยอาหารติดต่อกัน ในช่วง 4 – 5 ปีที่ผ่านมา ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะ เป็นโรควัวบ้าที่พบว่าสามารถถ่ายทอดจากเนื้อสัตว์สู่คน การระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก การเกิดภาวะเจ็บป่วยเนื่องจากเชื้อที่พบในอาหาร การค้นพบสารเคมี
ตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในอาหารคน และอาหารสัตว์ สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของสังคมเมือง คือ ระดับการกระจายข้อมูล ข่าวสารสามารถกระทำได้ดี ประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงโอกาสในการศึกษามีผลให้ผู้บริโภคเกิดภาวะวิตกกังวล เกิดความห่วงใยดูแลสุขภาพของผู้บริโภค กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้ออาหาร ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคต้องการอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง หรืออาหารอินทรีย์

ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยของสถาบันอาหาร วิเคราะห์จากปัญหาความไม่ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าจากประเทศจีน ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะแสดงจุดยืนเป็นผู้นำ
ด้านอาหารความปลอดภัย ซึ่งสถาบันอาหาร ตั้งเป้าผลักดันด้านความปลอดภัยอาหารให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐฯ และเอกชน เพื่อก้าวเข้าสู่เป้าหมายในปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โรงงานผลิตอาหารต้องผ่านรับรองมาตรฐานการผลิตในระดับสากลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของโรงงานทั้งหมด รวมถึงสินค้าอาหารของไทยต้องมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนในระดับสากล ในการเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ ในขณะที่มาตรฐานอาหารภายในประเทศต้องทัดเทียมกับมาตรฐานสากล

ศักยภาพและโอกาสของจังหวัดราชบุรี
สาขาเกษตร จังหวัดราชบุรี มีศักยภาพการผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะพืชผัก และสุกร เนื่องจากจังหวัดราชบุรี มีตลาดกลางสินค้าพืช ผัก ผลไม้ ถึง 2 แห่ง สามารถระบายสินค้าเกษตรไปสู่ผู้บริโภคได้ตลอดทั้งปี จึงเป็นช่องทางการตลาดที่สำคัญยิ่งในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ในส่วนการพัฒนาคุณภาพการผลิต ได้มีการร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน ในการผลิตพืช ผักปลอดสารพิษ โดยการพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจสอบสารตกค้าง ซึ่งตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง และภาคเอกชน ซึ่งเป็นตลาดกลาง ได้เข้าสนับสนุน เกษตรกรปลูกพืชผักปลอกสารพิษ นอกจากนี้ จังหวัดราชบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน177 โรงงาน และ อุตสาหกรรมการเกษตร จำนวน101 โรงงาน ซึ่งเป็นแหล่งแปรรูปสินค้าเกษตร และสินค้าอาหารโดยมีตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับกระแสความต้องการอาหารปลอดภัยจะเป็นช่องทางที่สำคัญในการพัฒนาสินค้าเกษตรปลอดภัยของจังหวัดราชบุรี

ในส่วนการผลิตเนื้อสัตว์ จังหวัดราชบุรีมีศักยภาพการผลิตสุกรมากที่สุดของประเทศและมีการตรวจสอบสารปนเปื้อนในเนื้อสัตว์และรับรองมาตรฐานผู้ประกอบการจำหน่ายเนื้อสัตว์อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การผลิตสาขาเกษตรของจังหวัดราชบุรียังมีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของจังหวัดราชบุรี ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพการผลิต ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจึงเป็นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะต้องพัฒนาต่อไป

สาขาการท่องเที่ยว จังหวัดราชบุรีมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญคือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และวิถีชีวิตชุมชน แต่พิจารณารายได้จากการท่องเที่ยวจังหวัดราชบุรี มีรายได้ในปี 2550 จำนวน 1,206 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 1,153 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 1.11 ของ ซึ่งนับว่ายังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าผลิตภัณฑ์จังหวัด และจังหวัดในกลุ่มเดียวกัน แต่จากการที่จังหวัดราชบุรีมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่ดี จึงสามารถที่จะยกระดับรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยว เพิ่มจุดเด่นที่น่าสนในต่อนักท่องเที่ยว และเพิ่มกิจกรรมในการดึงดูดดกท่องเที่ยวให้มากขึ้น

สาขาอุตสาหกรรม จังหวัดราชบุรีมีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งสิ้น 1,322 โรงงานและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตเกษตรจึงเป็นศักยภาพที่สำคัญของจังหวัดราชบุรี ที่ภาคการผลิตสามารถเป็นวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปในพื้นที่ จึงเป็นแนวทางที่เชื่อมโยงกันระหว่างการผลิตของเกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมผู้แปรรูป โดยจังหวัดราชบุรีจะเป็นฝ่ายประสารงานและสนับสนุน อย่างไรก็ตามในส่วนของมาตรฐานของโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี มีโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากล จำนวน 166 แห่ง ซึ่งจังหวัดราชบุรีจะต้อง สนับสนุนและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนากระบวนการผลิตเข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น

ด้านสังคม
ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบ
นโยบาย เสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีของคนในชาติของรัฐบาล เร่งเสริมสร้างจิตสำนึกความรักชาติและความสามัคคีของคนในชาติ โดยใช้วัฒนธรรม ประเพณี และกีฬาเป็นสื่อในการเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคี

ศักยภาพและโอกาสของจังหวัดราชบุรี
ความยากจนและความสัมพันธ์ของครอบครัว ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมของจังหวัดราชบุรียังมีปัญหาเรื่องการตกเกณฑ์ จปฐ.ของครัวเรือนที่มีรายได้ตำกว่า 23,000 บาทเฉลี่ยต่อคน/ปี จำนวน 164 ครัวเรือน ประชาชนในเขตชนบทมีหนี้สินเฉลี่ย 4,416 บาท/ครัวเรือน/ปี โดยประชาชนในอำเภอวัดเพลงมีหนี้สินมากที่สุด เรื่องความสัมพันธ์ในระดับครองครัวซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมเข้มแข็งยังเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนที่ยังขาดภูมิคุ้มกันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง เช่น ความอบอุ่นในครอบครัวของประชากรจังหวัดราชบุรี ยังไม่ผ่านเกณฑ์ครอบครัวอบอุ่น (ข้อมูล จปฐ.ปี2552) โดยครอบครัวที่ตกเกณฑ์ดังกล่าว จำนวน 33 ครัวเรือน สำหรับ อัตราการหย่าร้างในปี 2551 จำนวน 1.26 คู่ต่อพันครัวเรือน ซึ่งลดลง จากปี 2550 เพียงเล็กน้อย (1.44 คู่ต่อ พันครัวเรือน)

ด้านประเพณีวัฒนธรรม จังหวัดราชบุรีมีจุดเด่นในด้านศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม ตลอดจนความสัมพันธ์ด้านชนเผ่า ซึ่งประกอบด้วยเชื้อสาย 8 ชนเผ่า อยู่ในระดับที่ดีมีความหลากหลายศิลปวัฒนธรรม จึงเป็นทุนทางสังคมที่จะส่งเสริมการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการสร้างความสมานฉันท์ของประชาชน

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารกับภายนอกอันเนื่องมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทำให้สภาพสังคมในจังหวัดได้รับผลกระทบ จากกระแสการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความแตกแยกทางความคิดจากภายนอก ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ความคิดเห็นทางการเมืองที่นำไปสู่การแบ่งกลุ่มฝ่าย การเลียนแบบวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม การบังคับใช้กฎหมายจึงเป็นปัจจัยที่จะต้องเร่งรัดแก้ไขต่อไป

ความเข้มแข็งของชุมชน จังหวัดราชบุรี มีหมู่บ้าน จำนวน 975 หมู่บ้าน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านมีแผนพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนแล้ว มีความสามารถพึ่งตนเองได้จำนวนหนึ่ง เนื่องมีผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มเข็งของชุมชน โดยการที่จังหวัดได้ส่งเสริมการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเองของหมู่บ้าน/ชุมชน แต่การพัฒนาดังกล่าวยังต้องใช้ระยะเวลา หมู่บ้าน/ชุมชน อีกจำนวนหนึ่งที่จังหวัดจะต้องสนับสนุนการพัฒนาตนเองโดยใช้แผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมแก่ประชาชนในพื้นที่เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและให้สามารถพึ่งตนเองได้ต่อไป

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จังหวัดราชบุรี มีการพึ่งพิง สาขาการผลิตที่สำคัญ สาขาอุตสาหกรรม ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของประชากร ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกเพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ

ปัญหาคุณภาพทางน้ำ แม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำหลักของจังหวัดราชบุรี มีการใช้ประโยชน์เพื่อการผลิต ตลอดจนการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลอง คุณภาพน้ำหลายสถานีตรวจคุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หรือค่อนข้างเสื่อมโทรม จัดอยู่ในคุณภาพน้ำแหล่งน้ำประเภทที่ 4 คือ ไม่เหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์ เพื่อการอุปโภค บริโภค

สำหรับปัญหาขยะมูลฝอย เมื่อเปรียบเทียบอัตราการผลิตขยะมูลฝอยในพื้นที่เขตเทศบาล จังหวัดราชบุรี ปี 2548 และ ปี 2552 พบว่า อัตราการผลิตขยะมูลฝอยกิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปี 2552 ลดน้อยลงจากปี 2548 เล็กน้อย แต่เมื่อแยกอัตราการผลิตขยะมูลฝอยในพื้นที่เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล พบว่า อัตราการผลิตขยะมูลฝอยต่อคนต่อวัน ในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2548 ในขณะที่อัตราการผลิตขยะมูลฝอยในพื้นที่เทศบาลตำบลมีอัตราลดน้อยลง

ที่มา :
สำนักงานจังหวัดราชบุรี. (2552). แผนพัฒนาจังหวัดราชบุรี พ.ศ.2553-2556. ราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์. (หน้า 9-13)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น