วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553

ราชบุรี อดีตบ้านป่า "โยม..มีงาช้างดีดีบ้างไหม"

ในอดีต ป่าของราชบุรีมีอาณาเขตกว้างขวาง ทั้งยังมีความอุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยสัตว์ป่าน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ทว่าวันนี้มันช่างห่างไกลกับคำกล่าวข้างต้นเสียเหลือเกิน อย่างไรก็ดี ข้อความดังกล่าวหาเกินจริงไม่ เพราะประจักษ์พยานยืนยันนั้น ยังคงมีอยู่ให้เห็น นั่นคือ เขาสัตว์นานาชนิดจำนวนมาก ที่แขวนโชว์อยู่ตามศาลาหรือกุฎิวัดต่างๆ ในเมืองราชบุรี

"เขาสัตว์ไปอยู่ตามวัดจำนวนมาก เพราะสมัยก่อนสมภารชอบเล่น ชอบสะสม ตามบ้านก็มีคนเลือกซื้อไปประดับ แต่ไอ้ที่สวยๆ เราจะเลือกไปขายที่วัดก่อน เพราะได้กำไรมากกว่า พระไม่โกงเราเหมือนตามบ้าน" อดีตพ่อค้าของป่าชื่อดังวัย 70 ปี ผู้ไม่ยอมเปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามกล่าวขึ้นในวงสนทนา

ชาวราชบุรีเชื้อสายลาวยวนผู้นี้ เคยเดินเท้าขึ้นไปรับของป่าจากชาวกะเหรี่ยงแถบสวนผึ้งมาขาย จนกระทั่งเก็บหอมรอมริบซื้อรถจี๊บขึ้นไปบรรทุกเสาไม้ลงมาขายอีกต่อหนึ่ง ทั้งยังเคยตะลุยล่าสัตว์ถึงในฝั่งพม่า หรือแม้ในยุคที่ทางราชการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ เขาผู้นี้ก็พลอยถูกหมายหัวไปด้วย ในฐานะเป็ฯผู้คอยหาปืนผาหน้าไม้ไปให้พรานไพรใช้ล่าสัตว์

"ตอนที่ลุงเริ่มไปซื้อของป่าจากกะเหรี่ยง อายุสัก 17-18 ปี มีเจ้าอื่นซื้อขายกันอยู่เยอะแล้ว เราขึ้นล่องคนเดียว เอาพวกผ้า พวกมีด กับเครื่องของญี่ปุ่นสมัยสงครามไปขายในป่า ออกจากบ้านก็ไปนอนตามบ้านคนยวนที่หนองนกกระเรียน รางบัว หนองผาม บ้านกล้วย นาขุนแสน เรื่อยไปจนกระทั่งถึงบ้านกะเหรี่ยง ซื้อของไปเรื่อย..มีหวาย พริก น้ำผึ้ง สีผึ้ง ทุกอย่าง พวกงู กวาง กระทิง กระซู่ เสือ งาช้าง มีนับไม่ถ้วน ซื้อเยอะ พริกขี้หนูกะเหรี่ยงนี้ขายดี แต่ก่อนค้าของเยอะจนตำรวจไม่จับ รู้จักกันหมด"

"ตั้งแต่ออกจากบ้านก็เที่ยวป่าไปเรื่อย แล้วมาอยู่ที่เขาวัง รับซื้อของป่า ไม่ได้เปิดเป็นร้าน แต่รับแล้วเอาไปส่งในตลาดบ้าง ไปส่งนครปฐมกับกรุงเทพฯ บ้าง"

"พวกเขาสัตว์สวยงามที่ได้ ส่วนใหญ่คนราชบุรีจะซื้อไปสะสมกันเอง เดี๋ยวนี้ ลุงยังมีงาช้างเก็บไว้คู่สองคู่ ที่บ้านพวกๆ กันในราชบุรียังมีอยู่อีกเยอะ คู่ใหญ่เดี๋ยวนี้ 650,000 บาท เมื่อ 30 ปี ก่อนคู่ละ 5,000-6,000 บาท พวกของที่ทำยาได้ก็เอาไปส่งที่สมาคมค้าของป่าก๋งบ๊วยที่นครปฐม เขารับจากทุกที่ จากเพชรบุรี ประจวบฯ ระนอง กาญจน์ ทั่วไปหมด แล้งคงเอาไปส่งกรุงเทพฯ หรือเมืองนอกอันนี้ก็ไม่รู้เขา"

"เมื่อก่อนเคยเอางาช้างใส่จี๊บเล็กไปขายกรุงเทพฯ แถวๆ โอเดียน ไปติดต่อก่อนว่าที่ไหนต้องการอะไร ถ้าร้านเครื่องยาก็ต้องการเอ็นกวาง ลูกกระวาน ดีหมี ดีงู..สารพัด ร้านที่ลุงไปส่งงาช้าง เขาขายเขากวางอ่อน พอไปถามราคาเขาก็จดมาให้ ถึงได้รู้ว่าเราค้าขายกับคนราชบุรีแล้วถูกกดราคาเยอะ ตอนหลังเลยเข้ามาส่งเอง ส่งงาช้างอยู่หลายปี ได้เป็นร้อยคู่ แหล่งส่งที่อื่นก็มีก็มีร้านค้ายาแถวจักรวรรดิ นอกระซู่นี่ ร้านต้องการกันมาก แต่หายาก ได้ราคาดี เขาเอามาเข้าเครื่องยา"

แม้การฆ่าสัตว์ป่าจำนวนมากและการบุกรุกป่าไม้ จะทำให้เกิดการผลักดันกฏหมายคุ้มครองสัตว์ป่าเมื่อ พ.ศ.2503 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2504 แต่ผลกำไรที่มาได้ง่ายๆ จากของป่า และความสนุกสนานจากการไล่ล่า ยังคงดึงดูดใจพรานไพรทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ให้ลักลอบเข้าปฏิบัติการอยู่เนืองๆ ซ้ำร้ายพวกเจ้าใหญ่นายโตที่รู้ตัวบทกฏหมายเป็นอย่างดี ก็ยังอุตส่าห์ดั้นด้นไปแสวงหาความตื่นเต้นจากไพรกว้าง และมีเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอีกไม่น้อยที่อาศัยการค้าของป่าเป็นช่องทางทำมาหากิน มีทั้งที่เป็นห่อค้าเสียเอง และที่เป็นเหลือบริ้นคอยหักผลกำไรของพ่อค้าโดยแลกกับการเอาหู้ไปนาอชเอาตาไปไร่

"พ่อค้าของป่าอย่างลุงไม่รวยหรอก หากินกันไป สนุกดี บางเที่ยวได้เนื้อเก้ง เนื้อกวางสักสองเล่มเกวียนก็บรรทุกมาขาย กะเหรี่ยงตากไว้ให้เสร็จ มัดเป็นมัดๆ ไว้ แต่ไม่ค่อยเค็ม เพราะไม่ค่อยมีเกลือ เราเอาใส่กระสอบมาขายตามบ้าน ตามตลาดอีกที แต่ก่อนลุงเคยแนะนำให้กะเหรี่ยงตั้งร้านค้า เขาก็จ้างรถลุงลงมาขายของที่ตลาด แล้วรับของจากตลาดขึ้นไป เช่น พวกน้ำปลา รวยกันไปเยอะ แถวบ้านคา บ้านบ่อ ทุ่งแฝก เขารับซื้อของป่าด้วย เอาไว้ให้ลุงขายอีกต่อนึง บางทีพวกเจ้านายในตลาดบ้าง จากกรุงเทพฯ พวกทหาร ตำรวจ คนมีสตางค์ ก็มาจ้างพวกลุงไปนอนป่ายิงสัตว์ ช่วยหาบของให้เขา ลุงเลยได้รู้จักคนเยอะ หาปืนหาอะไรก็ง่าย พอได้ปืนดีๆ มา ลุงก็ไปจ้างพวกกะเหรี่ยงให้พาเข้าไปในแหล่งสัตว์ ทั้งฝั่งไทยฝั่งพม่า มีทั้งเก้ง กวาง เสือ กระทิง ช้าง ฮู้..เยอะ"

"ร้านที่เขาวังเลิกไปได้ 20-30 ปีแล้วมั้ง แต่ของป่าก็ยังรับซื้ออยู่ ใครได้อะไรที่ไหนมาก็ตาม เดี๋ยวนี้ใครพอหาอะไรได้ก็ยังเอาไว้ให้ เขตป่าแต่ก่อนมาถึงแถวจอมบึง เขาสามง่าม ป่าไม้ทั้งนั้น มีหมูป่า เลียงผา กระต่ายป่าเยอะแยะ พอทำไม้ สัตว์ชักเบา ป่าหมดมันก็ร่นเข้าไปๆ เดี๋ยวนี้เขตพม่าก็ไม่ค่อยมีแล้ว ไปเอากันมาจากอินเดียโน่น พวกกะเหรี่ยงอิสระฝั่งโน้น ไปหามาแล้วเข้าทางราชบุรีนี่แหละ มันเป็นป่า หลบตำรวจง่ายหน่อย ถ้าเข้าทางเพชรบุรีมันลำบาก เพราะเป็น้ำ ทางเมืองกาญจน์ก็ปัญหาเยอะ เขาเอาไปส่งตามที่ต่างๆ อย่างร้านที่นครปฐม ลูกๆ ก็ยังทำกันอยู่ หน้าร้านขายผัก ขายอะไรไป ข้างหลังร้านก็รู้ๆ กัน"

"ค้าของป่ามันก็มีขัดใจกันบ้าง สมัยลุงมีพ่อค้าอยู่ 10 กว่าคน ขาใครขามัน บางทีมีแย่งกันบ้าง มาแย่งหนักนี่ทีหลัง ตอนเอารถเข้าไปซื้อเสาซื้อไม้ ตอนนั้นไม้เยอะ ตัดไปเหอะ...จะยิงกันตาย เพราะเราไปซื้อของขามัน มันก็เคือง อย่างบางทีเราเอาของมาขายตามบ้านตามตลาด มันโกงกันบ้างเป็นธรรมดา ลุงเลยเอาไปขายตามวัดดีกว่า ขายเสาเอาไปสร้างกุฎิศาลา เขาสัตว์ก็ขายดี ได้ราคาดีกว่า..พระไม่โกงเรา สมภารชอบถามว่า โยม..มีงาช้างดีดีบ้างไหม"


ที่มาของข้อมูล :
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 46-47)

ที่มาของภาพ :(ภาพจำลอง ไม่ใช่ภาพจริงประกอบบทความ)
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

นักล่ายี่สกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง


ในบรรดาปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ปลาที่หายาก มีราคาสูง และเนื้ออร่อยรสดีเลิศ เป็นที่ต้องการในหมู่นักชิมทั้งหลาย ก็คือ ปลายี่สก ซึ่งคนในลุ่มน้ำต่างๆ มักเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น คนในแถบแม่น้ำโขง เรียกว่า ปลาเอิน หรือปลาเอินคางมุม ที่แม่น้ำน่านเรียกว่า ปลาชะเอิน ส่วนในเขตแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง เรียกว่า ปลายี่สกทอง เนื่องจากเกล็ดลำตัวของมันมีสีเหลืองทองนั่นเอง

ปลายี่สกเป็นปลาเผ่าพันธุ์เชื้อสายเดียวกับ ปลาตะเพียน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus julllieni หน้าตารูปร่างเหมือนปลากะโห้ แต่ลำตัวค่อนข้างกลมและยาวเพรียวกว่า อีกทั้งหัวและเกล็ดก็เล็กกว่าด้วย สีสันของเกล็ดลำตัวเป็นสีเหลืองทองสวย มีลายดำทอดยาวตามลำตัวจากหัวถึงโคนหางเจ็ดแถบ บริเวณหัวจะมีสีเหลืองแกมเขียว เยื่อม่านตาเป็นสีแดงเรื่อๆ ครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง ซึ่งมีก้านครีบเก้าอัน และครีบก้นซึ่งมีก้านครีบห้าอันนั้น มีเส้นสีชมพูแทรกอยู่บนพื้นครีบสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก ส่วนปากหนาและมีหนวดสั้นๆ หนึ่งคู่ที่ขากรรไกรบน
ปลายี่สกชอบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำที่พื้นท้องน้ำเป็นกรวดทราย มีห้วยหรือวังน้ำที่น้ำลึก และใสสะอาด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พบปลายี่สกทองในลำน้ำแม่กลอง ในหน้าแล้งมันจะพำนักอาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำในเขตแควน้อย แควใหญ่ พอถึงฤดูฝนเมื่อน้ำไหลหลาก ก็จะว่ายตามกระแสน้ำลงมาหากินในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อใดน้ำเหนือเริ่มลดลง ปลายี่สกจึงจะทยอยกลับคืนสู่ต้นน้ำ ซึ่งชาวงระยะนี้เอง ที่ชาวประมงในเขต จ.ราชบุรี ตั้งแต่เขตบ้านโป่ง จนถึง อ.เมือง เคยออกล่าปลายี่สกกันตลอดทั้งลำน้ำ และในจำนวนนักล่าเหล่านั้น เฮียเต็ม กิจประเสริฐ นักล่าจากบ้านโป่ง วัย 57 ปี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การล่าปลายี่สก ซึ่งบัดนี้เหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น

"พอน้ำมา มันมากับน้ำ กระทบน้ำเค็มปั๊บย้อนกลับเลย มันจะวิ่งกลับเป็นทางของมัน ไม่สะเปะสะปะ เราต้องควานหาทางมันให้เจอ ลงเบ็ดขวางลำน้ำ ดักทางไว้ วันนี้ไม่ติดก็รีบหาทางใหม่ไปเรื่อย ปลามันจะเปลี่ยนทิศทางเดินทุกปี อย่างปียี้กินริม ปีหน้าอาจเลื่อนมากลาง ถ้าเราจับทางเดินได้ ปลาตัวอื่นในฝูงก็จะเดินร่องนี้"

"...ปลามาเป็นชุด แต่ละฝูงเดินตามทางไม่เหมือนกัน ฝูงหนึ่งอาจมีสองสามตัว แต่บ้างครั้งก็ได้ตัวเดียว ผมใช้เบ็ดราวจับ บางคนใช้แห แต่กินมันยาก อย่างคนตัวเมืองราชบุรีคนหนึ่งเขาใช้แหทอด ถูกปลามันดึงตกน้ำตายเลย ปลามันแรง ทอดแล้วไม่ระวัง สายแหพันมือเอาไม่ออก"

"ผมใช้ข้าวเป็นเหยื่อ เอาปลายข้าวเหนียวกับข้าวเจ้ามาหุง เช็ดน้ำเสร็จขึ้นมาดง เอาลูกตาลสุกมายีเนื้อคลุกเคล้าลงไปในข้าว จะหอมเลย จนบางครั้งผมทำอยู่ แม้..ยังอยากกินเลย แต่เขาไม่ให้ดมนะ..ถือเคล็ด จากนั้นก็ใส่สีผลมอาหารลงไปให้เหลืองสวยเหมือนผลไม้ แล้วใส่ครกตำ ข้าวต้องหุงแบบสุกๆ ดิบๆ หน่อย ตอนที่โขลกบางคนก็ใส่งาหรือใส่กล้วย ยิ่งโขลกยิ่งหอม เพราะงามันแตก แล้วจึงปั้นหุ้มเป็นเหยื่อ เวลาลงน้ำไม่หลุดหานหรอก มีข้าวเหนียวช่วยจับเป็นก้อน สมัยก่อนถ้ามาถามเรื่องเหยื่อ ผมไม่บอกหรอกนะ ของอย่างนี้มันเป็นความลับของคนหาปลา สูตรของใครก็สูตรของมัน"

"วางเบ็ดแต่ละครั้ง อาจถึงสี่ตัว วันหนึ่งกู้สองหน เอาเรืออกไป ที่หัวเรือเราต้องมีเชือกอีกเส้นหนึ่งผูกไว้ ถ้ารู้ว่าได้ปลาใหญ่ เอาเส้นที่เรือผูกต่อกับเส้นเบ็ด มัดให้แน่นเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเผลอๆ เราต้องปล่อยให้เรือแล่นกับมันแล้วจึงสาวเข้ามา ..สาวทีแรกๆ มันจะตามาเรื่อยๆ แต่หนักเหมือนกับติดกองสวะ พอใกล้ถึงเรือ มันซัดน้ำกระจุยเลย ถ้าเราปล่อยไม่ทัน ถูกมันซัดตกน้ำ พี่ชายผมเคยถูกมันซัด เบ็ดติดของกางเกง ต้องถอดกางเกงออกไม่งั้นตาย เพราะมันจะลากเราไป"

"การสาวถ้ามันดึง เราต้องรีบปล่อย จนมันหมดแรงจึงสาวใหม่ คือต้องรู้จังหวะ มันดึงเราปล่อย มันหยุดเราสาว เย่อกันไปอย่างนี้จนมันสิ้นแรง หากเราสาวหัวมันพ้นน้ำเมื่อไหร่ มันไม่รอดแล้ว แต่ถ้าหัวมันมุดน้ำ ไปถึงไหนถึงกัน...แรงมันอยู่ที่หัว เราต้องรู้นิสัยปลาว่ามันจะยื้อนานแค่ไหน เคยเย่ออยู่ราวครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงก็มี ปลาที่จับได้ไม่ค่อยเจอว่ามันมีไข่เท่าไร สมัยก่อนทางนี้ ยี่สกชุมกว่าทางเมืองกาญจน์ เพราะมันล่องลงมาหาอาหาร เดี๋ยวนี้มันลงมาไม้ได้ ติดเขื่อนหมด"

"เมื่อก่อนช่วงหน้าตลาด จากศาลาประชมคมถึงห้องสมุด มีคนจับปลายี่สกอยู่ห้าหกคน มีแหล่งวางเบ็ดของใครของมัน ทั้งซอยเนียนทองคำเป็นแหล่งชุมนุมคนหาปลา เย็นๆ ก็มานั่งคุยกันก่อนลงเรือกู้เบ็ด ปลายี่สกมันชอบขึ้นกลางคืน โดยเฉพาะคืนเดือนหงาย ปลาว่ายขึ้นเรื่อยๆ จับได้มาก พอจับได้มีคนมาหาซื้อแล้วไม่ต้องส่งขาย เพราะแต่ก่อนมันไม่มีร้านอาหาร ชาวบ้านจะกินก็มาซื้อตอนเช้าๆ เขามาซักผ้าที่แม่น้ำกันเห็นปลาผูกอยู่ที่แพ ก็ถามว่าปลาใครวะ..ซื้อกันไป ยี่สกเมื่อก่อนโลละ 7-8 บาท เดี๋ยวนี้โลละ 200 กว่าบาทแล้ว"
"ยี่สกถือว่าเป็นเจ้าแห่งปลาเกล็ด ไม่มีคาว เนื้อเหลืออร่อยเหนียวแน่น รสหอมหวาน กลิ่นเหมือนเผือก หนังหนากรุบกรอบ โดยเฉพาะเกล็ด เอาไปทอดแล้วเหมือนข้าวเกรียบเลย ที่สำคัญก้างไม่มาก เพราะตัวใหญ่ คนบ้านโป่งชอบนำไปผัด ต้มยำ ต้มส้ม บ้างก็เอาไปเจี๋ยนไปทอด ปรุงได้หลายอย่าง เดียวนี้ที่ขายๆ กันมันเป็นยี่สกเทศ เป็นปลาที่ถูกปล่อย เนื้ออร่อยสู้กันไม่ได้ ยี่สกทองเลี้ยงไม่ได้หรอก ตอนนี้ในแม่กลองหาไม่ได้ มีจับได้แต่ทางกาญจน์โน่น"
ที่มาของข้อมูล
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 56-57)
อ่านต่อ >>