วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ครูเผ่ แห่งบ้านฝรั่งดงตาล

ในปี พ.ศ.2453 ที่ศาสนาจารย์ฮาลิเดย์ เดินทางมาถึงเมืองไทยนั้น มีคริสเตียนชาวพม่าคือ "หม่องเผ่" และครอบครัว ได้เดินทางมาด้วย หมองเผ่เริ่มงานเผยแพร่ศาสนาในหมู่่ช่าวมอญที่ตำบลสำเภาล่ม จังหวัดอยุธยา ก่อน แล้วจึงย้ายมาประจำอยู่ที่ตำบลนครชุมน์

ข้อมูลเกี่ยวกับหม่องเผ่นั้น ไม่ค่อยปรากฏในงานเขียนของคริสตจักร แต่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านนครชุมน์และชาวบ้านม่วงเป็นอย่างดี เพราะท่านอยู่นาน มีบทบาททั้งเป็นผู้ประกาศศาสนาและหมอรักษาพยาบาลแผนใหม่ และคุณมาลัย ชุมศรี เคยร่วมงานกับท่านที่บ้านนครชุมน์

"หมองเผ่" หริอ "ครูเผ่" แห่งบ้านฝรั่ง ดงตาล

"หม่องเผ่" เป็นคริสเตียนลูกครึ่งมอญ-พม่า เผ่ ภาษาพม่า แปลว่า วัด

ภาษามอญ เรียกว่า "กู่เว่" แปลว่า  ไร่นา

ทางการมักเรียกท่านว่า "โกแวร์"

ครูเผ่ ถ่ายรูปกับครอบครัวที่บ้านนครชุมน์
หน้าสถานประกาศศาสนาบ้านฝรั่ง ดงตาล
ขวาสุดคือ ครูเผ่ ผู้อยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน
ท่านเป็นคนใจดี มีลักษณะอ้วน ท้วมๆ ผิวขาว พูดจาเพราะ เคยเรียนเป็นผู้ช่วยแพทย์จากพม่า จะเดินไปตามหมู่บ้านทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งนครชุมน์และฝั่งบ้านม่วง รักษาคนเจ็บป่วยแบบแผนใหม่ บางทีก็อยู่ให้การรักษาพยาบาลคนไข้มากที่บ้านฝรั่ง ดงตาล บางครั้งก็ถูกตามไปรักษาคนป่วย ท่านพูดจาให้กำลังใจคนไข้เก่ง เก็บค่ารักษาพยาบาลไม่แพง ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินก็ไม่เก็บ

ชาวบ้านนิยมรักษากับท่าน ในขณะเดียวกันก็นิยมรักษาแบบแผนโบราณด้วย หมอชาวบ้านที่เป็นหมอยาสมุนไพร หมอใช้เวทมนต์คาถา หมอนวด และหมอผี

ถ้าผู้ป่วยรายใดป่วยมาก ท่านจะส่งโรงพยาบาลนครปฐมของคุณหมอคลาร์ก

ท่านมิได้เป็นครูสอนหนังสือเลย แต่ชาวบ้านชอบเรียกท่านว่า "ครู" ไม่ค่อยเก่งภาษาไทย พูดภาษาพม่า มอญ และไทยได้ แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

ครูเผ่ ย้ายมาบ้านฝรั่ง ดงตาล เมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่ตอนปี พ.ศ.2475 คุณมาลัย ชุมศรี อายุ 20 ปี จบการศึกษาวิชาผดุงครรภ์ของโรงเรียนมิชชั่นจากนครปฐม ได้กลับมาช่วยในกิจการ "โรงเรียนดงตาล" และร่วมงานกับครูเผ่ อยู่ 2 ปี

คุณมาลัย และคุณทองสุก ผู้เป็นพี่สาว (เป็นหลานของออกเปอร์ ยังโดด คริสเตียนคนแรกของบ้านนครชุมน์และบ้านม่วง) ได้นับถือศาสนาคริสต์ตอนอายุได้ 15 ปี (ราว พ.ศ.2470) สาเหตุเพราะคุณปู่สนับสนุนให้หลานสาวทั้งสองไปเรียนโรงเรียนคริสต์ที่นครปฐม เพราะเห็นว่าโรงเรียนประชาบาลที่วัดม่วง ซึ่งเพิ่งตั้งใหม่ไม่นานนั้น มีเด็กเยอะ ครู 1 คน สอนเด็ก 120 คนจะรู้หนังสือช้า จึงไปเรียนที่นครปฐม และสนใจในคริสตศาสนา จึงหันมานับถือมั้งสองพี่น้อง ทั้งๆ ที่พ่อไม่ได้นับถือ

"โรงเรียนดงตาล" นี้อยู่ในบริเวณเนื้อที่ของสถานประกาศบ้านนครชุมน์ เปิดสอนประถม 1-4 ไม่จำเป็นต้องเป็นคริสเตียน สอนวิชาเลข ภาษาไทย วาดเขียน และศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจากบ้านม่วงมาเรียน (ลูกชาวบ้านน้อย มักเป็นลูกชาวจีนที่อยู่ใต้วัดม่วง) รองลงมาเป็นเด้กบ้านหัวหิน บ้านหม้อ เด็กบ้านนครชุมน์มีน้อยมาก ในช่วง พ.ศ.2475-76 ประถม 1-4 มีนักเรียน 80 คน

แสดงว่าชาวบ้านระยะหลังให้ความสนใจเรียนกับสถานประกาศนี้มากกว่าสมัยคุณหมอคลาร์ก เวลาสอบ นักเรียนโรงเรียนดงตาลจะต้องมาสอบสมทบที่วัดม่วง ตามคำสั่งหรือระเบียบของอำเภอ

กิจการของบ้านฝรั่ง ดงตาล ในระยะที่คุณมาลัย ชุมศรี มาสอนหนังสือนี้ มีทั้งด้านเผยแพร่ศาสนา ให้การรักษพยาบาลแผนใหม่ และให้การศึกษา

สองหน้าที่แรกเป็นภาระหน้าที่ของครูเผ่ ส่วนการศึกษามักจ้างครูไทยสอน

คุณมาลัย เล่าถึงเรือนหรือบ้าน ในสถานประกาศนครชุมน์นี้ มี 3 หลัง ในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ

หลังที่ 1 เป็นโรงเตี้ยๆ ชั้นเดียว ทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจากเป็นเรือนยาว ใช้เป็นโรงเรียนดงตาล
หลังที่ 2 เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น สวยงาม หลังคามุงกระเบื้องเรียกว่า "บ้านมิชชั่น" ชั้นบนเป็นห้องพักของมิชชั่นและห้องพักครู ชั้นล่างมีห้องพัก ห้องพยาบาล และห้องสวด
หลังที่ 3 เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง เป็นบ้านพักของครูเผ่


ปัจจุบันเหลือบ้านพักครูเผ่หลังเดียวในลักษณะรกร้าง

บ้านฝรั่ง ดงตาล นี้เคยจะถูกปล้นใน พ.ศ.2475 เพราะนึกว่าร่ำรวยมาก ผู้ที่จะมาปล้นคือ "เสือธง" เป็นหนุ่มรูปหล่อ อายุประมาณ 30 ปี ก่อนที่จะเข้าปล้นได้ประกาศก่อน และได้ "เข้าพิธี" นอกรั้ว แต่พิธีล่ม จึงไม่ได้ดำเนินการปล้น

ภายหลังเสือธงไปปล้นที่อื่น ถูกยิงที่น่องบาดเจ็บมาให้ครูเผ่ทำแผลให้หลายครั้ง

ชาวมอญทั้งสองฝั่งหันมานับถือศาสนาคริสต์น้อยมาก ดังจะเห็นว่า นอกจาก ออกเปอร์ ยังโดด (เกิดประมาณ พ.ศ.2400) ที่เข้ารีตเป็นรายแรกแล้ว ต่อมาก็มีกำนันเชาวน์ เจิมประไพ (เพราะได้ภรรยาคริสเตียน ซึ่งเป็นน้องสาวศาสนาจารย์จากอยุธยามาสอนที่ดงตาลนี้) และหญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งชื่อ "รน" 

รุ่นลูกหลานก็มี คุณมาลัยและคุณทองสุก หลาน(ปู่) ออกเปอร์ ยังโดด และลูกกำนันเชาวน์

"ชาวมอญเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดมาก ใครจะอธิบายอย่างไรก็รับฟัง แต่ไม่เอาด้วย" คุณมาลัย ชุมศรีกล่าว

เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขึ้นที่อำเภอบ้านโป่ง บ้านโป่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ ผู้คนต่างหลบภัยทางอากาศ กิจการเผยแพร่ศาสนาและบ้านฝรั่ง ดงตาล คงจะยุติ และถูกทิ้งร้างไป เพราะคุณหมอและแหม่มคลาร์กแห่งคริสตจักรนครปฐมถูกกักตัวไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ.2484 ในฐานะอยู่ฝ่ายพันธมิตร เมื่อสงครามยุติท่านได้รับการปล่อยตัวกลับมาดำเนินงานของท่านที่นครปฐมดังเดิม แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดไปฟื้นฟูบ้านฝรั่ง ดงตาล อีกเลย

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" "หมอคลาร์ก" แหม่มคลาร์ก" โดยเฉพาะ "ครูเผ่" จึงอยู่ในความทรงจำที่ดีของชาวบ้านนครชุมน์และชาวบ้านม่วงจวบจนทุกวันนี้


แหม่มคลาร์ก และคุณหมอคลาร์ก สองในสามท่านแรก
ที่บุกเบิกตั้ง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" บ้านนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

อ่านเพิ่มเติม
บ้านฝรั่ง ดงตาล ตอนที่ 1
บ้านฝรั่ง ดงตาล ตอนที่ 2

ที่มา :
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 101-106) 
อ่านต่อ >>

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 2

ต่อจากบ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 1

บทบาทสามปีแรกของ คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ที่ "บ้านฝรั่ง ดงตาล"

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2449 รวมเป็นเวลา 3 ปีเศษ ธรรมฑูตทั้งสองของคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ที่นครชุมน์ปฏิบัติงานอยู่นั้น ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเพราะ

1.ชาวบ้าน (ชาวมอญ) ยังคงนับถือผีและพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ยากยิ่งที่จะหันมานับถือศาสนาคริสต์ เพราะปรากฏมีคริสตสมาชิกเพียง 5 คน เป็นชาวกะเหรี่ยง 2 คน ชาวพม่า 1 คน(จากพม่า) คนไทย 1 คน และ "ชาวพื้นเมือง" (คงหมายถึงชาวมอญ-ผู้เขียน) ซึ่งเคยบวชเรียนมาแล้ว 1 คน ชื่อ "ออกบู"

จากการสัมภาษณ์คุณมาลัย ชุมศรี (ปัจจุบันอายุ 80 ปี) เป็นชาวบ้านม่วง ที่เป็นคริสเตียนเคยไปเรียนนครปฐม จบพยาบาลผดุงครรภ์ของคริสตจักรนครปฐม มีแหม่มคลาร์กเป็นอาจารย์ และเคยกลับมาสอนที่โรงเรียนในบ้านฝรั่ง ดงตาล นี้ ท่านเล่าว่า "คุณปู่ท่านชื่อ "ออกเปอร์ ยังโดด" เดิมเป็นชาวนครชุมน์ แล้วย้ายไปอยู่ที่บ้านม่วง เดิมนับถือศาสนาพุทธ และได้สนิทสนมกับ "ฝรั่ง" ที่มาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในระนะแรก (ฝรั่ง คงหมายถึง ศาสนาจารย์ฮัดสันและคุณหมอ-ผู้เขียน) จึงหันมานับถือศาสนาคริสต์ ฉะนั้น "ออกบู" คือ "ออกเปอร์ ยังโดด"

และออกเปอร์ ยังโดด คือ "คริสเตียนชาวมอญคนแรกของนครชุมน์และบ้านม่วง"

นับว่าการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวมอญแถบนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ คุณหมอจึงหันมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวบ้านนครปฐมแทน จึงย้ายฐานมานครปฐม ซึ่งประสบผลสำเร็จมากกว่า

2.บ้านฝรั่ง ดงตาล อยู่ในทำเลค่อนข้างกันดาร อยู่ไกลชุมชนอื่นๆ การคมนาคมในสมัยนั้นก็ไม่สะดวกเท่าที่ควร

3.ด้านการศึกษา ชาวมอญมักให้ลูกชายเรียนหนังสือในวัด ลูกหญิงไม่ยอมเรียนหนังสือจึงไม่ค่อยมีใครไปเรียนนัก

ด้านเดียวที่ประสบผลสำเร็จ คือ ด้านการรักษาพยาบาลและสาธารณสุขแบบใหม่ ที่ชาวบ้านได้รับและเริ่มตระหนัก ชาวบ้านจึงมีความรู้สึกและทรงจำที่ดีกับบ้านฝรั่ง ดงตาล มาจนทุกวันนี้


บ้านฝรั่งดงตาล (ร้าง)

บ้านฝรั่ง ดงตาล ในฐานะสถานประเทศย่อย
(มิถุนายน 2449-สงครามโลกครั้งที่ 2)


ความทรงจำของชาวบ้านนครชุมน์และบ้านม่วงต่างเล่าว่า เมื่อคุณหมอและแหม่มคลาร์กย้ายไปแล้ว นานๆ จะมีฝรั่ง 2-3 คนมาสวด ร้องเพลง  คริสตสมาชิกของบ้านฝรั่งดงตาล คงจะช่วยดูแลและดำเนินภารกิจสถานประเทศนี้ได้บ้าง ทางคริสตจักรนครปฐมจะส่งศาสนาจารย์หรือผู้ประกาศมาเยี่ยมหรือสวดบ้าง

ในระหว่าง พ.ศ.2453-2465 (รวม 12 ปี) ศาสนาจารย์รอเบิรท์ ฮาลิเดย์ และครอบครัว จากสำนักคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ที่เมืองเย ในพม่า ได้เดินทางมาร่วมงานกับคุณหมอและแหม่มคลาร์กที่คริสตจักรนครปฐม โดยมุ่งเน้นเดินทางไปเผยแผ่ศาสนาและช่วยเหลือชาวมอญตามหมู่บ้านที่กระจัดกระจายอยู่ตามแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา เรือลำน้อย ชื่อ แสงอรุณ (Day Spring) ที่มีผู้อุทิศให้และนำมาจากอังกฤษ

ศาสนาจารย์ฮาลิเดย์ก็คงเป็น "ฝรั่ง" คนหนึ่งที่เคยไปสำนักประกาศบ้านนครชุมน์ ริมแม่น้ำแม่กลอง ท่านเห็นว่า ชาวมอญที่มีรกรากตามแม่น้ำต่างๆ ในประเทศไทยนั้นมีจำนวนมาก ล้วนเป็นประชาชนชาวไทยโดยกำเนิดอย่างสมบูรณ์

แสดงให้เห็นว่า การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวมอญนั้น คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ได้พยายามอยู่ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ศาสนาจารย์ฮาลิเดย์จึงเดินทางกลับพม่า หลังจากใช้เวลาในเมืองไทยถึง 12 ปี ศาสนาจารย์ฮาลิเดย์เป็นผู้มีความรู้ เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์มอญและภาษามอญโบราณมาก ท่านได้เขียนหนังสือและแต่งปทานานุกรมภาษามอญ-ภาษาอังกฤษ ที่ใช้กับประเทศพม่าจนทุกวันนี้

ที่มา :
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 101-106)
อ่านต่อ >>

บ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 1

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ศูนย์เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในหมู่ชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลองและบ้านม่วง

บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ใต้วัดนครชุมน์ลงมาเล็กน้อย มีเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม เพราะถูกทิ้งร้าง ท่ามกลางไม้หญ้าขึ้นรกเต็มพื้นที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ผู้เฒ่าผู้แก่ฝั่งบ้านนครชุมน์ และฝั่งบ้านม่วงต่างรู้จักและมีความทรงจำที่ดีกับสถานที่นี้ ต่างเรียกขานกันว่า "บ้านครูเผ่" บ้าง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" บ้าง

สถานที่แห่งนี้เคยเป็นศูนย์เผยแพร่ศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนท์ของคณะเชิชเชส ออฟไครสต์) ในหมู่ชาวมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลองบริเวณบ้านโป่งถึงโพธาราม ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนปลายจนถึงสมันสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวประมาณ พ.ศ.2480 เศษ)

แต่คณะธรรมฑูตคณะเชิชเชส ออฟไครสต์ ต้องประสบกับความผิดหวัง กิจการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในหมู่ชาวมอญได้ผลน้อยมาก อย่างไรก็ตาม คณะธรรมฑูตและบุคลากรของคริสเตียนที่บ้านฝรั่ง ได้นำระบบการรักษาพยาบาลแผนใหม่ และการศึกษามาให้ชุมชนมอญ โดยเฉพาะชุมชนชาวมอญบ้านนครชุมน์และบ้านม่วง

แหม่มคลาร์ก และคุณหมอคลาร์ก 2 ใน 3 ท่านแรก
ที่บุกเบิกตั้ง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" นครชุมน์
"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ชาวบ้านเรียกเพราะมีฝรั่ง 2-3 คน มาเริ่มโครงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และสร้างบ้านอยู่กันก่อน จึงเรียกว่าบ้านฝรั่ง ในบริเวณนั้นเป็นดงตาลจึงเรียกเพื่อบ่งสถานที่ชัดๆ

"บ้านครูเผ่" คือบ้านของผู้ประกาศศาสนาคนสุดท้ายที่มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาและการรักษาแผนใหม่ ครูเผ่มีบ้านอีกหลังหนึ่งอยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรือนร้างหลังเดียวที่เหลืออยู่ให้เห็น

แค่เอกสารของคริสเตียนจะเรียกว่า "บ้านนครชุมน์"  "บ้านมิชชั่นนารี ชาติอังกฤษ" "สถานประกาศ บ้านนครชุมน์" 

คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ (Churches of Chirst) แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ได้พยายามเผนแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ไปยังอาฟริกาและเอเชีย และในกลางพุทธศตวรรษที่ 25 (ตรงกับสมัยกรุงเทพฯ ราวรัชกาลที่ 5) ได้ตั้งสถานีประกาศศาสนาที่เมืองเย ของพม่าตอนใต้ เน้นการเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวมอญโดยเฉพาะ โดยมีธรรมฑูตแกนนำที่สำคัญ 2 ท่าน คือ ศาสนาจารย์ ดร.รอเบิร์ท ฮาลิเดย์ กับครอบครัว และศาสนาจารย์แอลเฟรด อี ฮัดสัน

ต่อมาคณะธรรมฑูต คณะนี้ ทราบว่ามีชาวมอญในประเทศไทย โดยเฉพาะที่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธารามนี้ จึงมีนโยบายเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวมอญในประเทศไทยบริเวณนี้ด้วย

ศาสนาจารย์ แอลเฟรด อี ฮัดสัน ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภารกิจนี้

นายฮัดสัน ได้ออกเดินทางจากเมืองเย ประเทศพม่าตอนใต้ บุกป่าฝ่าดง ข้ามแม่น้ำ เดินทางเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แล้วอาศัยซุงขุดเป็นเรือล่องแควน้อยลงมาถึงปากแพรก ต่อเรือโดยสารลงมาตามลำน้ำแม่กลอง มาถึง ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งมีหมู่บ้านมอญทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2446

ที่ ต.นครชุมน์ ริมแม่น้ำแม่กลองนี้ นายฮัดสัน ซึ่งพูดภาษามอญได้ ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านด้วยดี จึงได้หาที่ดินแปลงหนึ่งริมแม่น้ำ อยู่ใต้วัดนครชุมน์ ปลูกกระท่อมหลังหนึ่ง (หลังคามุงจาก ฝาไม้ไผ่ และปูพื้นด้วยฝาง) ใช้เป็นห้องพักและห้องพยาบาล ห้องคนไข้ ในส่วนให้บริการชาวบ้าน นอกเหนือจากการเผยแพร่ศาสนาซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ นี้

เพราะฉะนั้น บ้านนครชุมน์ จึงเป็นจุดแรกในประเทศไทยที่คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ใช้เป็นที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์

กระท่อมหลังแรกนี้ จึงเรียกว่า "First Mission House"

ศาสนาจารย์ฮัดสัน พบว่าบริเวณตำบลนี้มีชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากทั้งสองฝั่ง

หลังจากศาสนาจารย์ฮัดสันเดินทางมาได้ 4 เดือน ก็มีคณะะรรมฑูตอีกคนหนึ่งที่สำคัญ คือ ศาสนาจารย์เปอร์ซี คลาร์ก (Percy Clark) หรือ "คุณหมอคลาร์ก" (เรียนจบหลักสูตรธรรมศึกษาอบรมช่างไม้การตีพิมพ์ และจบวิชาแพทย์ที่วิทยาลัยลีฟวิงสโตน ในนครลอนดอน) เดินทางมาสมทบช่วยเหลือในกิจการการเผยแพร่ศาสนา และถึงบ้านนครชุมน์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2446 (ขณะนั้น ท่านมีอายุได้เพียง 24 ปี)

ก่อนหน้านี้ คุณหมอได้เคยทำงานกับคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ในเมืองเย พม่า มาก่อนหลายเดือน จึงได้ฝึกภาษามอญเป็นอย่างดี คุณหมอเดินทางเรือเข้ากรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางด้วยรถไฟบรรทุกหินและฟืน วิ่งได้ช้ามาก กว่าจะถึงบ้านนครชุมน์ก็ค่ำพอดี สมัยนั้นบ้านนครชุมน์ไม่มีตลาดหรือร้านขายของเลย เครื่องอุปโภคบริโภค ต้องนำไปจากกรุงเทพฯ เป็นระยะๆ

ในวันที่ท่านไปถึง เกิดการยิงกันในบ้านม่วง มีผู้คนจำนวนหนึ่งบาดเจ็บมาให้ท่านรักษา และมีคนไข้ตาย 1 คน

ศาสนาจารย์ฮัดสันและคุณหมอคลาร์ก ได้ร่วมกันทำงานเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวมอญทั้งสองฝั่งแม่กลอง และให้บริการชาวบ้านในการรักษาพยาบาล ต่อมาท่านทั้งสองได้สร้าง เรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง เพื่อให้พอสำหรับแบ่งส่วนเป็นที่นมัสการ ห้องยา สำหรับการรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บป่วย และเปิดเป็นห้องเรียนให้ลูกหลานชาวมอญได้ศึกษาเล่าเรียน

ในขณะนั้น ยังไม่มีพระราชบัญญํติว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ เด็กๆ จะได้รับการชักชวนเข้ามาเรียน โดยจัดให้มีครูไทยมาสอนให้อ่าน ให้เขียน และทำเลข นักเรียนมีน้อยมากระยะแรก ต่อมามีวัยรุ่นมาเรียนเยอะ เพราะนึกว่าถ้าเรียนหนังสือแล้วจะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร แต่พอรู้ความจริงก็ไม่ค่อนมาเรียน

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ท่ามกลางไม้รก
ต่อมาในราว พ.ศ.2447 เกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วหมู่บ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คุณหมอต้องช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยและกับผู้ช่วย ต้องขึ้นๆ ล่องๆ ตามลำน้ำ ออกแนะนำประกาศให้ชาวบ้านต้มน้ำดื่ม ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ควรใช้ส้วมที่มิดชิด นับว่าท่านมีส่วนช่วยเหลือชุมชนอย่างมาก และใหพื้นฐานความรู้ทางสาธารณสุขที่ดีก้าวหน้าแก่ชาวชนบท

หลายเดือนต่อมามีโรคฝีดาษระบาดขึ้น ชาวบ้านล้มตายจำนวนมาก เพราะปรากฏมีผู้ป่วยโรคนี้แทบทุกหลังคาเรือน คุณหมอได้นำวัคซีนมาระดมปลูกฝีป้องกันให้กับชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2448 ศาสนาจารย์ฮัดสัน มีสุขภาพไม่ดีนัก จึงเดินทางกลับอังกฤษไป ท่านเป็นผู้บุกเบิกคนแรกและทำงานที่นครชุมน์ได้ประมาณ 2 ปีเศษ เหลือแต่คุณหมอแต่เพียงลำพัง

คุณหมอพบว่า ชาวมอญที่นี่เริ่มพูดภาษาไทยกันบ้างแล้ว จึงหัดพูดภาษาไทยด้วย

อย่างไรก็ตามในต้นปี พ.ศ.2449 คุณหมอได้กำลังสำคัญมาสนับสนุนและช่วยเหลืองานของท่านตลอดชีวิต คือ คุณแมรี่ เดนลีย์ (เรียนจบวิชาดนตรี พยาบาลและผดุงครรภ์) คู่รักซึ่งเดินทางมาจากประเทศอังกฤษ มาแต่งงานกันที่สิงคโปร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2448 คุณหมอจึงได้พาภรรยาเดินทางมาประเทศไทยและไปถึงตำบลนครชุมน์ในเดือนมกราคม พ.ศ.2449 ชาวบ้านมักเรียกขานว่า "แหม่มคลาร์ก"

"คุณหมอคลาร์ก" และ "แหม่มคลาร์ก" ได้ร่วมกันทำงานที่บ้านนครชุมน์อีกประมาณ 5 เดือน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2449 ท่านทั้งสองก็ย้ายไปนครปฐมและเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกก่อตั้งคริสตจักรนครปฐมให้เกิดขึ้นเติบโต และเป็นปึกแผ่นจนทุกวันนี้  ท่ามกลางคริสเตียนชาวจีนเป็นส่วนใหญ่

ถึงกระนั้นคุณหมอและแหม่ม ก็ยังไปเยี่ยมเยียนที่บ้านนครชุมน์เป็นระยะ และบ้านนครชุมน์ก็กลายเป็นสถานประกาศย่อยของคริสตจักรนครปฐม มาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกทิ้งร้างไป

อ่านต่อ บ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 2

ที่มา :
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 101-106)
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศาลต้นโพธิ์ของชาวบ้านม่วง

ชุมชนบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และหมู่บ้านใกล้เคียง  เป็นชุมชนมอญ จากการบอกเล่าเชื่อกันว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากประเทศพม่าในสมัยอยุธยาราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เชื้อสายมอญนิกายมหายาน เข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง ให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่าว่า "บ้านม่วง" และได้ตั้งวัดประจำหมู่บ้านว่า "วัดม่วง"

ชาวมอญบ้านม่วงนอกจากจะนับถือผีบรรพบุรษของแต่ละครอบครัวหรือตระกูลแล้ว ยังมีผีอื่นที่ชาวบ้านม่วงนับถือร่วมกัน คือ

1.ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนา เป็นต้นโพธิ์เดิมที่ชาวบ้านม่วงนับถือมานานและจะร่วมทำพิธีเซ่นไหว้ในเดือน 6 ของทุกปี และปีใดฝนฟ้าไม่ค่อยตก ชาวบ้านม่วงจะทำพิธี "แคะขนมครก แห่นางแมวขอฝน" กันที่นี่

"..นางแมวเอ๋ย ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์รดก้นนางแมว..น้ำแห้ง ให้ฝนตกหน่อย..." ชาวบ้านประมาณ 20-30 คนที่ร่วมขบวนแห่นางแมวจะร้องขอฝน ซึ่งสมัยก่อนที่จะมีเขื่อนวชิราลงกรณ์จะทำบ่อย ปัจจุบันไม่ค่อยมีประเพณีแห่นางแมวขอฝน นานๆ ครั้งและมิได้ทำการแคะขนมครกประกอบพิธีกันที่ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนานี้อีกแล้ว เพราะต้นโพธิ์นี้ถูกตัดไปเมื่อ 10 ปีเศษ เนื่องจากเป็นจุดผ่านและตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ชาวบ้านจึงย้ายไปไหว้ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน และไปแคะขนมครกกันที่วัดม่วงแทน

ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน
2.ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าพ่อเจินและงิ่ม" หรือ "ศาลเจ้าพ่อช้างพัน" ที่ต้นโพธิ์กลางหมู่บ้านนี้มีเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ เจ้าพ่อช้างพัน เจ้าพ่อกาหลง และเจ้าพ่อคลุกคลี (ชอบกินฝิ่น) ปัจจุบันมีการเซ่นไหว้ปีละ 2 หน คือ ในเดือน 4 และเดือน 6

ศาลต้นโพธิ์ในวัดม่วง ที่ชาวบ้านนับถือ
3.ศาลต้นโพธิ์ในวัด เรียกว่า "ศาลอาหน๊วก" หรือศาลหลวงตาหรือศาลหลวงปู่ ศาลนี้เมื่อมีงานและกิจกรรมใดๆ ในวัด จะต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวหรือขอนุญาตทุกครั้ง หรือบอกบนก็ได้


ที่มา : ข้อมูลและภาพ
สุภาภรณ์  จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม.  มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 93-98)
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สืบสานตำนานข้าวแช่มอญ วัดบ้านหม้อ

ตำนานข้าวแช่ 
 แรงบันดาลใจที่ทำให้ข้าพเจ้า เขียนเรื่อง ข้าวแช่ ขึ้นมาในช่วงเวลานี้ ก็เพียงอยากระลึกถึงวัน เวลา...ที่เคยได้ร่วมทำข้าวแช่ กับแม่...เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ภาพความทรงจำทุกขณะ ปรากฎเด่นชัด  และเมื่องานบุญเข้าพรรษาที่ผ่านมา...ท่านพระครูที่วัดยังถามมาว่า ..สงกรานต์ปีหน้าจะมีข้าวแช่ออกมาวัดคนแรกอีกหรือเปล่า เพราะแม่จะนำข้าวแช่ใส่กระจาดหาบ ไปถึงวัดก่อนอรุณรุ่งทุกปี ทำให้ข้าพเจ้าอยากจะส่งความรู้สึกนี้ ไปถึงอีกหลาย ๆคน ที่จะช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของข้าวแช่ตำรับมอญของบ้านเรา และพาตัวเองกลับไปสู่บรรยากาศ  ที่อบอุ่นนั้นอีกสักครั้ง  
การทำกับข้าวในแต่ละท้อง ถิ่น แต่ละชุมชนก็แตกต่างกันออกไป  ตามสภาพความเป็นอยู่  แต่ก็ยังคงมีกรอบวัฒนธรรมเคร่งครัดในประเพณี  ที่ติดมากับขนบธรรมเนียมของชาวมอญเรา ที่ยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมาโดยเฉพาะการทำบุญ  ดังมีคำกล่าวที่ว่า.....หน้าร้อน...กินข้าวแช่    หน้าฝน....กินข้าวมัน    หน้าหนาว......กินข้าวหลาม และทุกวันนี้ ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมา รุ่นต่อรุ่น

 ข้าพเจ้าต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า สิ่งที่ได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้ อาจจะไม่เหมือน หรือแตกต่างกันไป  ผู้รู้ทุกท่านช่วยชี้แนะ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
จำได้ว่าสำหรับชาวมอญแล้ว เทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามโบราณ และยังถือสืบต่อกันมา การเตรียมงานนับเดือน ทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเสื้อผ้าใหม่ และอาหารคาวหวานสำหรับทำบุญตักบาตร ซึ่งก็จะอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ เมษายน ของทุกปี ช่วงเช้าทำบุญตักบาตร  ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ช่วงบ่ายจัดให้มีการสรงน้ำพระพุทธรูป  สรงน้ำพระสงฆ์ และบังสุกุลอัฐฐิปู่ย่าตายาย ปล่อยนก ปล่อยปลา ค้ำโพธิ์ (ถ้าวันสงกรานต์ตรงกับวันเกิดของใคร ต้องไปค้ำโพธิ์) ก็จะเป็นสิริมงคลกับตังเอง เช่นวันสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ที่เกิดวันพุธต้องไปทำพิธีเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์  เป็นต้น
อาหารมอญ  ที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขนมกะละแม  ทดสอบความอดทน  (บอกก่อนว่า หนุ่มสาว จะรอวันสงกรานต์อย่างใจจดใจจ่อ เพราะหนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดกันได้ เล่นถูกเนื้อต้องตัวกันได้ ไปมาหาสู่กัน บางบ้านก็ให้หนุ่มช่วยกวนกะละแมเสียเลย ใช้เวลาเป็นวัน ๆ

ข้าวแช่ หรือ ข้าวสงกรานต์ คนมอญจะเรียกว่า  เปิงด้าจก์ (เปิง แปลว่า ข้าว  ด้าจก์ แปลว่า น้ำ   เมื่อตอนเด็ก ๆ จะได้ยินแต่คำว่า ข้าวน้ำ  จะได้ลองลิ้มชิมรสก็ต่อเมื่อวันสงกรานต์เท่านั้น
ข้าวแช่ เป็นอาหารที่เกี่นวข้องกับพิธีกรรม มีขั้นตอนในการทำพิถีพิถันมาก ใช้เวลาในการจัดเตรียมเป็นเดือน ทั้งน้ำที่จะเป็นน้ำอบ ต้องรอจากฝนกลางแจ้งมาเก็บไว้ (สมัยนี้ใช้น้ำต้มสุกก็ได้) ต้องตำรำข้าวใหม่ ๆ ขี้ผึ้งที่ได้มาจากน้ำผึ้งเดือน    ๕  นำมาเผาบนรำข้าวให้หอม ไว้อบน้ำ (สมัยนี้ใช้เทียนหอมสำเร็จรูป)ปลาแห้ง ต้องเป็นปลาช่อนนา ตัวโต ตากแดดเก็บไว้ เหล่านี้เป็นต้น
การทำข้าวแช่ สืบเนื่องมาจากตำนานสงกรานต์ของมอญ  ข้าพเจ้าเคยได้เห็นตำนานนี้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พี่พาไปเที่ยววัดพระแก้ว ก็เลยไปวัดนี้ด้วย  พี่พูดภาษามอญได้ อ่านภาษามอญได้ ก็รู้ว่าเป็นตำนานของ ข้าวแช่  ความว่า
มีเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรธิดา ทำการบวงสรวงต่อเทวดา ฟ้าดิน พระอาทิตย์ พระจันทร์ กาลเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี ก็ยังไม่มีบุตร อยู่ต่อมาเป็นวันในคิมหันตฤดูฝน คนทั้งหลายเล่นนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ พระอาทิตย์ก็มาสู่เมษราศี   เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังโคนต้นไทรใหญ่ริมน้ำอันเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดาทั้งหลาย และได้นำข้าวสารล้างน้ำถึง ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชารุกเทวดาประจำพระไทรนั้น
 ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร   และรุกขเทวดาพระไทรนั้นก็เมตตา ให้เทพบุต รคื่อ(ธรรมบาลกุมาร)มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีสมความปรารถนา

ครั้นต่อมา ชาวมอญมีความเชื่อว่า หากได้กระทำพิธีเช่นว่านี้ บูชาต่อเทวดา ในเทศกาลสงกรานต์แล้ว
สามารถตั้งจิตอธิษฐาน ขอสิ่งใดจะได้ดังหวัง  ข้าวแช่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเซ่นไหว้เทวดาด้วย

วิธีการปรุงข้าวแช่   เริ่มจากการทำน้ำอบ  จะใช้น้ำฝน หรือใช้น้ำต้มสุกก็ได้ ใส่ลงในหม้อดิน สำหรับบ้านของข้าพเจ้า มีหม้อดินโบราณ เป็นมรดกตกทอดสมัยปู่ย่ามา นำขันเล็ก ๆแล้วใส่รำข้าวที่เตรียมไว้ จุดขี้ผึ้งที่ปั้นใส่ด้ายแบบไส้เทียนจุดให้ไฟลุก ดอกกระดังงาลนไฟให้หอม นำมาใส่ลงไปในขันด้วย แล้วดับไฟ ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวบาง อบไว้เช่นนั้น  (ลืมบอกไปว่า น้ำที่นำมาอบนั้น ให้ลอยดอกมะลิให้หอมก่อน ก่อนนำมาอบเทียน) พอมาถึงสมัยนี้ ใช้เที่ยนหอมอบได้เลย


หม้อดินสำหรับใช้อบน้ำข้าวแช่มอญ      
อาหารที่นำมารับประทาน ที่แม่เคยทำเป็นประจำทุกปี ก็จะมีประมาณ ๗-๘ อย่าง บางชุมชนก็จะมากน้อยแตกต่างกันออกไป จะใช้เวลาเตรียมอาหารข้าวแช่ก่อนวันสงกรานต์ ๑ วัน คือบ่ายวันที่ ๑๒  จะมีปลาแห้งป่น หมูหวาน (บางนจะใช้เนื้อวัว ) หอยแมลงภู่ผัดหวานผักกาดผัดไข่ (หัวไชโป้) ยำมะม่วง ยำขนุน กระเทียมดอง ก๋วยเตี๋ยวผัด ไข่เค็ม


การหุงข้าว  เริ่มตั้งแต่คัดข้าวสารเมล็ดสวย จำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ สีข้าวเอง ตำข้าวเอง โดยใช้ครกไม้ ที่ใช้ตนไม้ทั้งต้นมา ขุดเป็นครก สีข้าวเป็นสีโบราณที่พ่อทำขึ้นเอง เสียดายที่พังไปหมดแล้ว  สีข้าวเปลือกแล้ว จะได้ข้าวกล้อง ก็นำข้าวกล้องมาตำ ใช้สากลุมพุก (ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือเปล่า) ตำ ๒ คนผลัดกันขึ้นลง นับไปเลย ลงสากคนละ ๒๐๐ ที ข้าวก็จะขาวเป็นข้าวสารที่นำมาหุงได้ แม่ก็จะเลือกข้าวเม็ดสวย ไม่หัก จะใช้กระด้งฝัดเอารำออก จะได้รำละเอียด (ไปอบน้ำ) รำหยาบไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ได้ปลายข้าวไว้ทำขนมจีน แม่จะให้ใช้กระด้ง กระทายข้าว การกระทาย เป็นการคัดเลือกข้าวเม็ดสวยออกจากข้าวที่หัก  จากนั้นก็นำมาซาวน้ำ ประมาณ ๗ ครั้ง ให้สะอาด ในการหุงข้าวนั้นต้องตั้งเตาไฟในที่โล่ง และต้องอยู่นอกชายคาบ้าน การหุงเป็นการหุงแบบเช็ดน้ำ ต้องหมั่นคอยคนให้สุก ไม่เป็นไต ยกลงจากเตา นำไปล้างน้ำสะอาดหลายครั้ง  เพื่อเอายางข้าวออกแล้วนำไปใส่ในกระบุง โดยเอาผ้าขาวบางรองอีกที เป็นอันเสร็จขั้นตอนการหุงข้าว  (บางที่แม่ก็จะใส่ใบเตยลงไปในหม้อข้าวด้วย เพื่อความหอม)

ขั้นตอนการทำกับข้าว  อันดับแรกปลาแห้งป่น บอกเลยว่าทำยากที่สุด  ต้องนำปลาที่ตากแห้งไว้มาย่างไฟอ่อน ๆ พอสุก แล้วเอามาแกะเอาแต่เนื้อ แม่ใช้ครกตำเลย ให้เนื้อปลาฟู
หัวกะทิตั้งไฟให้เดือด ต้องหมั่นคนไม่ให้แตกมัน ตำกระเทียมที่แกะเอาแต่เนื้อ พริกไทยเล็กน้อย บางบ้านก็ไม่ใส่พริกไทย  ก็แล้วแต่ความชอบ  แต่บ้านเราใส่ด้วย เพราะเราเป็นคนตำเองแม่บอกว่าดับกลิ่นคาวปลา  นำส่วนประกอบทั้งหมดลงผัดในกระทะ โดยใช้ไฟอ่อน   ผัดไปเรื่อย ๆจนเนื้อปลาจับกับกะทิ ก็ใส้น้ำตาบปี้บ ชิมรสหวานนำ เค็มตามมา ความเค็มไม่ต้องใส่เกลือก็ได้ เพราะปลามีความเค็มในตัวอยู่แล้ว เมื่อได้รสชาดตามต้องการ  นำลงจากเตาพักไว้
ให้เย็น โรยหน้าด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย ตามด้วยพริกแห้ง (พริกเม็ดใหญ่ตากแห้ง เอาเม็ดออกซอยละเอียด ไว้โรยหน้ากับข้าว เพิ่มสีสรรความสวย  ก็เป็นอันเสร็จไป ๑ อย่างแล้ว ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน
  ๒.เนื้อเค็ม (หมูหวาน) บางท้องถิ่นใช้เนื้อวัว แต่บ้านเราที่วัดบ้านหม้อนี้ ใช้เนื้อหมู วิธีทำก็คล้าย ๆกับปลา คือเอาเนื้อหมูมาทำหมูเค็ม ตากแดดเก็บไว้ก่อน จากนั้น เอามาย่างไฟพอสุก
ฉีกฝอย ที่บ้านเราก็ใช่ครกตำเช่นเดิม เนื้อจะฟูไม่แข็ง  วิธีการทำก็เหมือนกับปลาทุกอย่าง

 ๓.หอยแมลงภู่ เช่นกัน ก็นำหอยแมลงภู่ตากแห้ง เลือกที่ตัวใหญ่ เพราะเวลาผัดแล้วจะหด นำมาล้างให้สะอาด เอาใยออกให้หมด มาลวกน้ำร้อนดับกลิ่นคาวเสียก่อน บีบน้ำให้แห้ง การผัดก็เหมือนกับปลาและหมู  ข้อระวังในการผัดหอย ต้องค่อย ๆผัด หรือกลับ ถ้าผัดแรง หอยจะแหลกไม่เป็นตัว ไม่สวยในการจัดสำรับอาหาร
๔.หัวไชโป้ผัดไข่  คราวนี้ไม่ใช้กระเทียม ใช้หอมแดงแทน เวลาปอก ก็ร้องไห้ไปด้วย แม่บอกว่าถ้าออกเรือนไปจะแพ้แม่สามี  วิธีแก้ให้ใช้ก้านไม้ขีดเหน็บหู น้ำตาจะไม่ไหล  หัวไชโป้ก็ที่เจ็ดเสมียนเท่านั้น เลือกเอาหัวใหญ่ มาหั่นซอยตามแนวขวางบาง ๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาด
ตั้งหัวกะทิให้เดือดใส่หอมแดงซอยลงไป ใส่หัวไชโป้ลงในหม้อ เคี่ยวไฟอ่อนไปเรื่อย ๆจนกะทิ
จวนแห้งใส่น้ำตาลลงไป หวานนำกลมกล่อม โรยหอมแดงอีกครั้ง   เกือบลืมต้องใส่ไข่ด้วย โดยตอกไข่ตีให้ละเอียดราดลงบนหัวไชโป้ในหม้อ รอไข่สุก คนให้เข้ากัน เป็นอันใช้ได้
๕.ยำขนุน รายการนี้จะขาดไม่ได้เลย ในสำรับข้าวแช่ของชาวเรา เพราะถือกันว่าเป็นอาหารมงคล คงเป็นเพราะชื่อด้วยกระมัง  มีคนหนุนนำ จำได้ว่าแม่ให้เอาพริกหอมเม็ดใหญ่  (พริกแห้ง) หอม กระเทียม เผาไฟ เรียกว่าพริกเผา หอมเผา  แล้วนำขนุนดิบที่ไม่แก่ มาฝานเป็นแว่น
ปอกเปลือกออก นำไปต้มให้สุก แล้วนำมาฉีก พักไว้ก่อน เอามะพร้าวที่ขูดเตรียมไว้ มาคั่วให้หอม ระวังอย่าให้ไหม้  ส้มโอที่แกะเอาไว้ พร้อมทั้งกุ้งแห้งคั่วสุก เครื่องปรุงพร้อมแล้ว ก็ลงมือยำเลย เอาพริกเผา หอมเผา มาโขลกพอหยาบ ใส่ในขนุนที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลเคี่ยวเติมความเปรี้ยวด้วยส้มโอ กลมกล่อมแล้ว ใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง
เพียงเท่านี้ ยำขนุนก็ขึ้นสำรับได้แล้ว
๖.ยำมะม่วง วิธีทำก็คล้ายกัน ถ้ามะม่วงเปรี้ยวก็บีบ หรือใช้เกลือคั้นเอาความเปรี้ยวออกก่อน
๗.กระเทียมดอ เวลาจะกินกับข้าวแช่ ก็แกะออกเป็นกลีบเล็ก ๆ จัดใส่ถ้วยในสำรับ
๘.ก๋วยเตี๋ยวผัด เส้นหมี่ผัด ชาวบ้านเราถือเป็นสิ่งดี เพราะเป็นเส้น เป็นสิ่งที่ยาวไกล เป็นมงคล
    และอาจจะมี ไข่เค็มยำ  ก็อยู่ในเมนูด้วยเช่นกัน
   เสร็จสรรพกับข้าว คราวนี้ต้องนำไปที่ใดบ้าง  มาดูการเดินทางของข้าวแช่กันเลย

อันดับแรก ต้องนำข้าวแช่ไปเช่นบวงสรวงเทพยดา ฟ้าดิน นางสงกรานต์ โดยทุกบ้านจะสร้างบ้านสงกรานต์ เราเรียกกันว่า ฮ๊อยซังกรานต์ เป็นศาลเพียงตา สร้างชั่วคราวอย่างง่าย ๆ บริเวณลานโล่งหน้าบ้าน มักสร้างด้วยไม้ไผ่ อยู่ในระดับสายตา ความกว้างประมาณ ๑ ศอก สำหรับวางถาดอาหารได้  พ่อจะใช้ผ้าขาวปูรองพื้น ผูกผ้าสี ตกแต่งด้วยดอกไม้ ก็จะเป็นดอกสงกรานต์  (ดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูณ)
เราเรียกว่า ปะกาวซังกรานต และจะมีคำกล่าวถวายข้าวว่า อุกาสะ ๓ ครั้ง โต เทวโส ตันนัง กุสสังมยเคตัง เอหิ ตาน อาคัจฉันติ นิมันติปริภุญณโส เป็นอันเสร็จพิธีต้อนรับเทพีสงกรานต์ในปีนั้น

อันดับที่ ๒ นำไปให้ผีบ้านผีเรือน คือผีปู่ย่า ตายาย ที่เสาผีประจำบ้าน  ส่วนใหญ่คือเสาเอก  บ้านมอญจะมีห้อง สำหรับเก็บของ  โดยมีกระบุงใส่ต้นขาไก่ดำในกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ ๙ กระบอก หีบบรรจุเสื้อผ้า แหวนพลอยสีแดง และหม้อดินใส่น้ำไว้ ภายในห้อง จะให้ลูกชายเป็นคนนำไปให้                                                

 อันดับที่ ๓ นำออกไปวัดเพื่อทำบุญถวายพระแต่เช้าตรู่  และใส่ปิ่นโตไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือใกล้ชิด  และเลี้ยงคนที่มาเยี่ยมเยือนในเทศกาลสงกรานต์   ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งก่อน พ่อเคยให้นำปิ่นโตบรรจุข้าวแช่ไปถวายพระที่ วัดคงคารามด้วย พ่อบอกว่าบรรพบุรุษอยู่ที่นั่น คงหมายถึงพระยามอญทั้ง ๗ ที่มีเจดีย์อยู่รอบ ๆ อุโบสถที่วัดนี้ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้เขียนจากความทรงจำของข้าพเจ้าเอง ส่วนรูปภาพนำมาจากสงกรานต์ชาวมอญนครชุมน์
ต้องขอขอบคุณรูปสวย ๆ ที่ท่านลงไว้ให้ จึงขออนุญาตนำมาใช้อ้างอิง  ภาพอื่น ๆ เป็นภาพที่บ้านของข้าพเจ้าเอง   และยินดีที่รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้เป็นอย่างยิ่ง
อ่านต่อ >>

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จำนวนประชากร จ.ราชบุรี ณ กันยายน 2552

ข้อมูล : ที่ทำการปกครองจังหวัดราชบุรี  ณ เดือน กันยายน พ.ศ.2552

ประชากรทั้งจังหวัด : ชาย 407,522 คน หญิง 426,676 คน รวม 834,198 คน บ้าน 261,549 ครัวเรือน

ประชากรแยกรายอำเภอ (จากมากไปหาน้อย)
  1. อำเภอเมืองราชบุรี : ชาย 95,863 คน หญิง 98,074 คน รวม 193,937 คน บ้าน 63,720 ครัวเรือน
  2. อำเภอบ้านโป่ง : ชาย 81,183 คน หญิง 87,683 คน รวม 168,866 คน บ้าน 55,446 ครัวเรือน
  3. อำเภอโพธาราม : ชาย 64,568 คน หญิง 69,317 คน รวม 133,885 คน บ้าน 41,452 ครัวเรือน
  4. อำเภอดำเนินสะดวก : ชาย 45,749 คน หญิง 49,593 คน รวม 95,342 คน บ้าน 24,934 ครัวเรือน
  5. อำเภอปากท่อ : ชาย 31,764 คน หญิง 33,045 คน รวม 64,809 คน บ้าน 19,384 ครัวเรือน
  6. อำเภอจอมบึง : ชาย 29,604 คน หญิง 30,128 คน รวม 59,732 คน บ้าน 18,122 ครัวเรือน
  7. อำเภอบางแพ : ชาย 21,492 คน หญิง 23,049 คน รวม 44,541 คน บ้าน 13,707 ครัวเรือน
  8. อำเภอสวนผึ้ง : ชาย 19,397 คน หญิง 18,160 คน รวม 37,557 คน บ้าน 13,583 ครัวเรือน
  9. อำเภอบ้านคา : ชาย 12,091 คน หญิง 11,370 คน รวม 23,461 คน บ้าน 7,773 ครัวเรือน
  10. อำเภอวัดเพลง : ชาย 5,811 คน หญิง 6,257 คน รวม 12,068 คน บ้าน 3,428 ครัวเรือน

**************************************
ดู จำนวนประชากร จ.ราชบุรี ใหม่เดือนธันวาคม 2553
อ่านต่อ >>

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศรีศัมพูกปัฏฏนะ เมืองเก่าราชบุรีที่หายสาบสูญ

หลายท่านอาจเคยได้ยินที่หน่วยราชการได้พยายามหยิบเอาคำว่า "เมืองชยราชบุรี" ออกมาประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นว่าราชบุรีเป็นเมืองเก่าโบราณ ทำให้หลายคนลืม "เมืองศัมพูกปัฏฏนะ"  ไปเลยทีเดียว เมืองนี้ก็เป็นเมืองเก่าเช่นเดียวกันและปัจจุบันก็ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ จ.ราชบุรีด้วย ผมได้อ่านพบในหนังสือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรีและจังหวัดราชบุรี ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 เลยพยายามไปค้นหามาจาก Google  ค้นไปค้นมานานพอสมควร จึงได้ไปพบ Blog ชื่อวรนัย http://www.oknation.net/blog/voranai  ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ  โพสต์โดยคุณศุภศรุต เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2552 พร้อมมีภาพประกอบที่หาชมได้ยาก เลยคัดลอกมาเขียนไว้ในนี้ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่คนราชบุรีต่อไป ลองอ่านดูนะครับ

“ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ
"จารึก" หลักหนึ่งพบในปราสาทร้าง ที่ตั้งอยู่สุดขอบบารายตะวันออก (East Baray) ในเขตเมืองพระนครหลวง เป็นจารึกสำคัญที่หลงรอดจากการ “ทำลาย”มาในแต่ละยุคสมัย

ปราสาทร้างหลังนั้นมีชื่อภาษาเขมรว่า “ปราสาทตอว์ (Parsat Tor)” หรือ “ปราสาทราชสีห์” เนื่องจากคำว่า “ตอว์” หรือ “ตาว” ในภาษาเขมรแปลว่า “สิงโต” ครับ

ปราสาทตอว์ เป็นปราสาทร้าง ในรูปแบบของอโรคยศาล (Arogaya-sala ,Hospital Chapel) หรือ โรงพยาบาลแห่งพระพุทธเจ้า กายสีน้ำเงิน พระนามว่า “ไภษัชยไวฑูรยประภาสุคต” แห่งนิกายพุทธศาสนา “วัชรยานบายน”

ชื่อปราสาทมากมายในประเทศกัมพูชาหรือในประเทศไทยก็ตาม ต่างก็ไม่พ้นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ จากประสบการณ์ ความจำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ หรือความประทับใจของผู้คนที่ “ย้าย” ชุมชนเข้ามาครอบครองเหล่าพื้นที่ใกล้ปราสาทที่สาบสูญและสิ้นมนตราแห่ง “อำนาจ” ของเหล่าอาณาจักรโบราณเหล่านั้น

เช่นเดียวกับปราสาทตอว์ คงเพราะปราสาทตั้งอยู่ในที่รกร้าง ป่ารกชัฏเข้าปกคลุม รูปสลักสิงโตคู่ตรงทางเข้าคงเป็นที่มาของชื่อปราสาทแน่ ๆ
ถึงจะไม่ใช่เหตุผลนี้ ก็ใกล้เคียงล่ะครับ !!!

“จารึก” หลักสี่เหลี่ยมแบบหลักศิลาจารึก(เจ้า)ปัญหาของกรุงสุโขทัย หรือหลักกิโลเมตรเมืองไทย กล่าวถึงเรื่องราวแห่ง “ชัยชนะ” ของ “พระบรมโพธิสัตว์ชัยวรมัน - พระราชาผู้ปรารถนาความดีและประโยชน์อย่างยิ่งแก่มวลสัตว์โลก” ที่มีเหนือดินแดนตะวันตก

มันเป็นหลักฐาน “สงคราม” และชัยชนะของพระองค์เหนือเหล่า “พระราชาตะวันตก” บนแผ่นดินสุวรรณภูมิ !!!

อาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากพระนครหลวงได้ขยายออกไปทางทิศตะวันตก และได้ปราบปราม ครอบครองหัวเมืองดั่งเดิมตามลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ มาจนถึงลุ่มน้ำแม่กลอง หัวเมืองที่ยังเป็นวัฒนธรรมแบบ "ทวารวดี"

สอดรับกับหลักฐานจาก “จารึกปราสาทพระขรรค์” ในเมืองพระนครหลวง ที่กล่าวถึงการสร้าง “วิษัยนคร”(จังหวัด)  ขึ้นใหม่ 5 – 6 แห่ง ภายหลังชัยชนะของพระองค์ “อาณานิคม” ใหม่ของมหาอาณาจักรกัมพุเทศเกิดขึ้นแล้วที่ปลายทิศอัสดง !!!

“วิษัยนคร” ที่ถูกสถาปนานครขึ้นใหม่ 6 แห่ง มีนามเมืองตามจารึกว่า
  • เมืองศรีชัยวัชรปุระ (เพชรบุรี)
  • เมืองศรีชัยราชปุระ(ราชบุรี)
  • เมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์)
  • เมืองสุวรรณปุระ (เนินทางพระ- สุพรรณ ?)
  • เมืองสุพรรณภูมิปุระ (อโยธยา ?)
  • และเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ (สระโกสินารายณ์)
แต่ทว่า ชัยชนะของพระองค์ก็ไม่ได้ยั่งยืนนัก ปราสาทและบ้านเมืองทั้งหลายได้เสื่อมสลายลงในเวลาไม่ถึงศตวรรษ !!!



ศรีศัมพูกปัฏฏนะ คือ เมืองโบราณโกสินารายณ์
“ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” หรือชื่อใหม่ว่า ”เมืองโบราณโกสินารายณ์” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตามถนนสายบ้านโป่ง – กาญจนบุรี ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ครับ



จากภาพทางอากาศก่อนปี 2502 ทำให้เราได้เห็น “ผังเมือง” ของวิษัยนคร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” อย่างชัดเจน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างเกือบเท่ากับความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

ใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของ "จอมปราสาท" ปราสาทหินขนาดย่อม ซึ่งดูจากร่องรอยของหินทรายที่กระจัดกระจายอยู่โดยรอบ ที่ใช้เป็นวัสดสำหรับกรอบประตู หน้าต่าง ตามแบบแผนการก่อสร้างปราสาท "สุคตาลัย" (สถานบูชาพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ พระอวโลกิเตศวร ประจำโรงพยาบาล "อโรคยศาล" ในยุคนั้น

วิษัยนคร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” มีสระน้ำอยู่ภายในตัวเมืองรวม 4 ทิศ เรียกกันตามความนิยมในยุคหลังว่า สระนาค สระจรเข้ สระมังกร และสระแก้ว ซึ่งก็แทนความหมายของมหาสมุทรทั้ง 4 ที่รายล้อม "เขาพระสุเมรุ" ที่สถิตแห่งพระพุทธเจ้าสูงสุดบนสรวงสวรรค์

หลังจากครอบครองดินแดนตะวันตก และสถาปนาวิษัยขึ้น 6 แห่ง เมืองขนาดย่อม “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” จึงได้ถูกสร้างขึ้นตามเส้นทางน้ำแม่กลอง เพื่อการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่าง “เมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์)” เมืองหลักของอาณานิคมนี้ กับ เมืองลวปุระ (ลพบุรี) และสุพรรณภูมิปุระ (อยุธยา) หัวเมืองใหญ่ของอาณาจักร

“สงคราม” ที่ไม่มีรายละเอียด... การเข้ายึดครองแผ่นดินลุ่มน้ำแม่กลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คงไม่ได้ทำได้อย่างง่ายนัก จากหลักฐานที่เราพบ ทั้งที่ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ”(โกสินารายณ์) และเมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์) คือ การค้นพบ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี" ทั้งสองแห่งครับ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี” เป็นรูปเคารพสำคัญของลัทธิ "โลเกศวร" ซึ่งแตกออกมาจากศาสนาพุทธนิกาย “วัชรยานตันตระ” ซึ่งเป็นคติที่นิยมเฉพาะในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เท่านั้นครับ เขาถือพระโลกเกศวรเปล่งรัศมีว่า "พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย" 

รูปสลัก “เปล่งรัศมี” อันแสดงถึงอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ จะพบเฉพาะในบ้านเมืองหรือ “เขต (Areas)” ที่มีความขัดแย้งหรือสงครามที่รุนแรง

ช่นเดียวกับที่ดินแดน “ตะวันตก” แห่งนี้ !!!

เมื่อสิ้นอำนาจแห่งองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 วิษัยนครแห่งนี้ก็ยากแก่การป้องกันตัว “สงครามครั้งใหญ่” คงกลับมาเยือนอีกหลายครั้ง ทั้งเหตุการกระด้างกระเดื่องแยกตัวไม่ขึ้นกับกษัตริย์เมืองพระนครพระองค์ใหม่โดยเหล่ากมรเตงชคต (ผู้ปกครอง)เดิม

หรือจากเหตุการ "แย่งชิงอำนาจ" ในอาณานิคม รวมทั้งประเด็นการตามทำลายล้าง “สัญลักษณ์” และ“อำนาจ” อาณาจักรแห่งพระพุทธเจ้าโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ผู้ “ชิงชัง” ระบบ “ศาสนจักร”เดิม

และที่คงลืมไม่ได้ก็คือ “เหล่าพระราชาตะวันตก” อาจหวนคืนกลับมา ทวงแผ่นดินแม่กลองกลับคืนไป !!!

คร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” จึงปรากฏร่องรอยของความขัดแย้ง รูปเคารพ “เปล่งรัศมี” ที่สลักไว้ปรามเหล่าผู้คนในอาณาจักรให้เกรงกลัวและภักดี ก็ถูกทุบทำลายอย่างย่อยยับ

“ปราสาทแห่งพระพุทธเจ้า” ก็มีร่องรอยถูกทำลายให้พังทลายลง ดั่งเพื่อถมทับอำนาจเก่าให้สาบสูญจมธรณีไป ......ตลอดกาล !!!

ซากเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ-จอมปราสาทกลายเป็นศาลพระภูมิประจำโรงงาน
ซากเมืองโบราณ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” ได้กลายมาเป็น เมืองโกสินารายณ์ มีการพัฒนามาโดยตลอด จากเมืองที่ถูกคลุมด้วยป่ารกกลายมาเป็นเมืองตามเส้นทางแห่งความเจริญ คลองชลประทานตัดผ่านเมือง กองหินที่เคยเป็นปราสาทถูกรื้อเอาหิน “ศิลาแลง” ไปใช้ประโยชน์ สระน้ำทั้งสี่ตื้นเขินและถูกไถถม คงเหลือแต่ สระโกสินารายณ์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองเดิม แนวกำแพงเมืองทางทิศเหนือ กลายมาเป็นคันคลองที่มีถนนอยู่ด้านบน เมื่อมีการพัฒนาและขุดลอก”สระโกสินารยณ์”

หลัง ปี 2519 เครือซิเมนต์ไทยได้เข้าดำเนินกิจการธุรกิจกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นที่ตั้งของ "จอมปราสาท" จัดสร้างเป็นโรงงานขนาดใหญ่ชื่อว่า “โรงงานสยามคราฟท์” ในเครือบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) จอมปราสาทจึงกลายไปเป็นเนินดินทำหน้าที่เป็นศาลพระภูมิประจำโรงงาน สระโกสินารายณ์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลท่าผา ก็ได้ดำเนินการพัฒนาปรับเปลี่ยน "โบราณสถาน" ที่เหลืออยู่ ให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน

หากท่านต้องการเข้าไปเยี่ยมเยือน นครตะวันตกที่สาบสูญ อย่าง “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” ที่สระโกสินารายณ์ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของโรงงาน เข้าไปเยี่ยมชมเนิน "จอมปราสาท" ได้เลยนะครับ วันนี้ กรมศิลปากรกับภาคธุรกิจเข้าได้เจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หุหุ


เมื่ออำนาจและเวลาผันผ่านไป
คงทิ้งไว้แต่เศษซากแห่งศักดิ์ศรี
เศษละออง กองทับ ใต้ปัฐพี
ฝังความดี ความร้าย ให้จดจำ"

คลิกดูภาพเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูลและภาพ :
ศุภศรุต. (2552).วรนัย : “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ . [Online]. Available : http://www.oknation.net/blog/voranai/2009/08/13/entry-1. [2553.สิงหาคม 4].
อ่านต่อ >>

วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จากนัดน้ำถึงนัดบก...และวันเวลาสิ้นสุดของตลาดน้ำ

ผมได้ไปอ่านเรื่องนี้ใน สารคดีพิเศษ "ราชบุรี" ซึ่งคุณสุดารา สุจฉายา  เขียนเป็นคอลัมน์ย่อยไว้เมื่อปี 2541 ในเรื่อง "ตะวันยอแสงที่คลองดำเนิน" ผมคิดว่าท่านเขียนเล่าเรื่องได้ดีมาก อ่านแล้วจะเข้าใจคำว่าตลาดน้ำได้ดียิ่งขึ้น และยังแสดงถึงความเป็นห่วงตลาดน้ำในอนาคตอีกด้วย ลองฟังเรื่องราวของท่านดูนะครับ

จากนัดน้ำถึงนัดบก...และวันเวลาสิ้นสุดของตลาดน้ำ
"ตลาดน้ำ" เป็นสถานที่ที่พ่อค้าแม่ขายชาวคลองจะนำสิ่งต่างๆ ที่ตนมีหรือผลิต มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันด้วยทางเรือ โดยตกลงนัดหมายวันเวลาทำการค้าขาย ณ จุดใดจุดหนึ่งร่วมกัน ชีวิตชาวคลองดำเนินสะดวกก็มีลักษณะเหมือนชาวคลองอื่นๆ เช่นนี้ จนกระทั่งธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวเข้าสู่คลองดำเนินสะดวก วิถีการซื้อขายแบบดั้งเดิมของตลาดน้ำดำเนินสะดวกก็แปรเปลี่ยนไปเพื่อสนองต่อการท่องเที่ยว

"นัด" ที่เกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในถิ่นนั้นๆ ก็กลายมาเป็น "นัด" ตามวันเวลาที่นักท่องเที่ยวจะสะดวกมาชม โดยมีการซื้อขายของคนในท้องถิ่นเป็นปัจจัยประกอบหนึ่งเท่านั้น

ในอดีตนอกจากจะมี "นัด" หรือที่คนปัจจุบันเรียกว่าตลาดน้ำ ในคลองใหญ่แล้ว ตามคลองเล็กคลองน้อยสายต่างๆ ที่ตัดซอยออกมาและมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น ก็มีตลาดน้ำเกิดกระจายเป็นกลุ่มๆ เช่น นัดปากคลองก่อไผ่  นัดคลองศรีสุราษฎร์หรือนัดหลักหก นัดคลองโพหักหรือนัดคลองบัวงามหรือนัดหลักห้า แต่ที่ถือเป็นนัดใหญ่ มีเรือพายซื้อขายกันหนาแน่นก็คือ
  • นัดศาลาแดง บริเวณปากคลองลัดราชบุรี หรือที่สำเนียงคนจีนดำเนินออก "ลัดพลี" ไปจนถึงปากคลองทองหลาง
  • นัดปากคลอง บริเวณปากคลองบางนกแขวกใกล้ออกแม่น้ำแม่กลอง แถบหน้าวัดเจริญสุขารามวรวิหาร
ตลาดน้ำดำเนินสะดวกในอดีต
เจ้าของภาพ : ณรงค์ชัย อิมราพร
นัดศาลาแดง หรือนัดศาลาห้าห้องหรือนัดหลักแปด ก็คือนัดเดียวกันที่คนดำเนินเรียกกันว่า "นัดใน" เนื่องจากบริเวณนัดตั้งอยู่ในคลองดำเนินสะดวก ขณะที่นัดปากคลองตั้งอยู่ด้านนอกคลอง จึงเรียก "นัดนอก"  ส่วนที่เรียกว่านัดศาลาแดง ศาลาห้าห้องและนัดหลักแปดนั้น ก็เพราะคลองลัดพลีและคลองทองหลางอยู่ในเขตหลักแปด และบริเวณที่มีการค้าขายหนาแน่นในลำคลองนั้นก็อยู่ตรงจุดที่ตั้ง "ศาลาห้าห้อง" ซึ่งมุงกระเบื้องสีแดง บางครั้งชาวบ้านจึงเรียกว่าศาลาแดง ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นสมัยเริ่มขุดคลอง โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ปลูกไว้ให้เป็นที่พักของคนเดินทาง และต่อมาได้กลายเป็นที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวกช่วงระยะหนึ่ง

จากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวดำเนินหลายท่าน เล่าตรงกันว่า เดิมทีตลาดน้ำแบบตลาดนัดมีกระจายอยู่ในเขตอัมพวาและบางคนทีก่อนแล้ว เมื่อคลองดำเนินเปิดเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ แล้ว พ่อค้าแม่ขายจึงเริ่มเข้ามา "นัด" ในคลอง โดยเริ่มจุดแรกจากบริเวณปากคลองบางนกแขวกซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่อยู่ก่อน จากนั้นมีคนกระจายเข้าไปตั้งบ้านเรือนหนาแน่นในคลอง "นัด" ก็ขยับลึกเรื่อยไปตามลำคลอง เช่น ในคลองใหญ่หน้าวัดโชติฯ แล้วมาบริเวณปากคลองก่อไผ่ เขยิบลึกต่อเข้าไปจนใกล้ศูนย์กลางของชุมชนที่มีตลาดบกตั้งอยู่ริใมฝังคลอง คือ ตลาดหน้าโรงวิก(โรงภาพยนตร์) ปากคลองทองหลาง และตลาดโรงยา(โรงยาฝิ่น) ปากคลองลัดพลี

แป๊ะติวไถ่ แซ่อึ้ง วัย 84 ปี ผู้เดินทางมาจากไหหลำตั้งแต่เด็ก ได้บอกเล่าสภาพนัดศาลาแดงตามที่ได้เห็นมาตลอดระยะเวลา 70 กว่าปี ตั้งแต่มาตั้งหลักปักฐานที่ดำเนินสะดวก

"ตอนที่ก๋งมาอยู่ใหม่ๆ บริเวณปากคลองลัดพลีมีบ้านเรือนเต็มไปหมด คนอาศัยอยู่เยอะแล้ว พวกริมคลองทำการค้าขาย ลึกเข้าไปด้านในทำสวน ตรงศาลาห้าห้องเป็นย่านการค้า..คึกคัก มีทั้งโรงยา โรงผู้หญิง (ซ่อง) พวกแจวเรือจ้าง แขกโกยดิน ขุดดิน ชอบมาเที่ยวมาสูบ สมัยก่อนมีทางเกวียนมาถึงศาลาห้าห้องนะ พวกท้องนาขนข้าวใส่เกวียนมาขาย จากท่าราบ หัวโพ ..แรกๆ ไม่ได้มีตลาดทุกวันเหมือนเดี๋ยวนี้ เขานัดกันวัน 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ทั้งขึ้นแรม หลังนัดนอกวัน (นัดนอกมีวัน 1 ค่ำ 6 ค่ำ และ 11 ค่ำ) มาขายกันตั้งแต่โมงไปถึงบ่ายๆ เย็นๆ "

"นัดใหญ่ เรือเยอะ เต็มไปทั้งคลองใหญ่ แล้วยังกระจายเข้ามาในคลองลัดพลีและคลองทองหลางด้วย แต่ก่อนไม่มีเรือเครื่อง มีแต่เรือพาย ชาวสวนจะบรรทุกพืชผักใส่เรือสำปั้น เรือมาดมาขาย ถ้าเป็นเรือดำเนินก็เป็นพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาดขาว ผักกาดเขียว มะระ มะเขือ ถั่วค้าง ถั่วคุด แตงโม แตงกวา แตงท่อน..โอ๊ย เยอะแยะ ถ้าหน้ามะม่วงก็มีอกร่อง  ทองดำ เขียวไข่กา หนังกลางวัน กาละแม การะเกด...หลายพันธุ์เลย สมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว เรือพวกสวนดง แถวอัมพวา บางน้อย ก็มีมะพร้าว น้ำตาลหม้อ น้ำตาลปี๊บ ยาจืด ส่วนเรือแม่กลองเป็นพวกของทะเล กะปิ ปูเค็ม กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาทูนึ่ง ถ้าเป็นเรือท้องนาสังเกตง่าย เขาไม่ใช้เรืออย่างเรา เป็นเรือมาดกระสวย... หัวแหลมท้ายแหลม เพราะเขาท่อเรือแหวกต้นข้าวตามนามา ถ้าใช้เรืออย่างเราข้าวหักหมด พวกนี้เวลามาเขาถ่อแจวกัน พอใกล้นัดก็เปลี่ยนเป็นพายเข้ามา พวกท้องนาก็โพหัก บางแพ แล้วก็โซ่งทางโคกฝรั่ง โคกมดตะนอย แต่งตัวแปลกกว่าเขา เกล้ามวย นุ่งผ้าลายๆ เอาข้าวกับจาวตาลมาขาย จาวตาลผูกขายเป็นมัดๆ เรือจากที่ไกลๆ ก็มี อย่างเรือเพชรบุรี ทางบ้านแหลม บางตะบูน เอากล้วยไข่มาขาย ทางโพธารามเป็นพวกถั่วงาของไร่ของป่า ส่วนทางกรุงเทพฯ นครปฐม เป็นเรือผ้าเอามาส่งให้ตามร้าน เรือจากสุพรรณฯ ไม่มี มีแต่พ่อค้าดำเนินไปซื้อข้าวจากสุพรรณฯ มาขาย ไม่ก็เอาส้มเขียวหวาน หมาก จากบางมดมา..."

เมื่อขอให้เปรียบเทียบความคึกคักทางการค้าระหว่างนัดในกับนัดนอก แป๊ะติวไถ่ส่ายกหัวปฏิเสธ เนื่องด้วยไม่เคยไปค้าถึงนัดนอก ฉันจึงต้องเก็บข้อสงสัยนี้ไว้ จนในที่สุดก็ได้รับความกระจ่างจากเฮียวัน จรูญศรีโชติ เจ้าของสวนมะพร้าว มะปราง บริเวณปากคลองกอไผ่ ผู้ซึ่งเคยเอาของสวนไปขายที่นัดทั้งสองแห่ง และยังเคยโยงเรือมะมะม่วงขึ้นมาขายที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

"นัดในนัดนอกมีของขายพอๆ กัน แต่นัดในมีภาษีกว่า เพราะคนมาได้จากหลายทิศทาง ทั้งจากแม่กลอง บัวงาม โพหัก หรือทางท้องนาแถบบ้านไร่ แพงพวย ต่อบ้านสิงห์ บ้านฆ้อง สามเรือน โคกอ้อย หนองอ้อ ก็มาทางคลองลัดพลี แต่นัดนอกส่วนใหญ่เป็นพวกสมุทรสงคราม แควอ้อม และนัดในยังเลิกตลาดช้ากว่า ร้านรวงก็มีมาก อีกทั้งคนดำเนินทำสวนเตียน ขายได้เงินเร็วกว่าพวกทางปากคลองที่ทำสวนตรง มีสินค้าไม่กี่อย่าง รายได้ก็ไม่แน่นอน"

"ชาวร้านส่วนมากขายของโชวห่วยหรือไม่ก็ขายเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการทำสวน อย่างร้านนำยา ร้านขายจอบ คราด ขนาด ไม้รวก และอื่นๆ อีกจิปาถะ ส่วนพืชผักผลไม้ เขาซื้อขายกันที่นัด หรือไม่ก็ไปเหมาจากสวน บรรทุกไปขายกรุงเทพฯ อย่างผมพอถึงหน้ามะม่วง นอกจากจะบรรทุกของส่วนตัวเองแล้ว ก็ไปซื้อเหมาจากสวนคนอื่นด้วย ใส่เรือมาดใหญ่โยงไปขายกรุงเทพฯ ใครๆ ก็รอซื้อมะม่วงบางช้าง มีชื่อมากโดยเฉพาะอกร่อง...หวานสนิท"

"สมัยก่อนวันหนึ่งๆ มีเรือบรรทุกผัก พริก หอม กระเทียม โยงกันไปออกประตูน้ำกันเป็นแถวๆ เรือโยงลำหนึ่งมีเรือพ่วงไม่ต่ำกว่า 10 ลำ พอถึงประตูน้ำเรือออกันแน่น ทั้งเรือผัก เรือทราย จอดรอเจ้าหน้าที่เขาเปิดประตู ..เรือจะโยงจากคลองดำเนินไปออกประตูน้ำบางยางเข้ามาแม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูน้ำอ่างทองไปกระทุ่มแบน เข้าคลองภาษีเจริญ เรือบางลำจะแยกพวงไปขายตลาดน้ำบางแค ไม่ก็ตลาดน้ำวัดไทร แต่พวกที่ยังไม่แตกขบวนก็จะออกประตูน้ำภาษีเจริญ เข้าคลองบางหลวง แล้วพวกเรือผักจะแยกไปปากคลองตลาด อย่างเรือมะม่วงจะไปจอดที่ท่าน้ำวัดกัลยาณ์ รอพ่อค้าแม่ค้ามาตกลงซื้อขายกับเรา ถ้าต่อรองเสร็จเรียบร้อย ก็จะพายเรือเอาไปส่งให้ที่สี่แยกมหานาคหรือเทเวศน์ ซึ่งมีล้ง (โกดัง) ขึ้นของเรียงรายเป็นแถว  พวกเรือพริก หอม กระเทียม ออกจากภาษีเจริญก็ไปขึ้นของแถวทรงวาด ท่าน้ำราชวงศ์ เดี๋ยวนี้ไม่มีเรือขึ้นร่องแล้ว เขาบรรทุกทางรถกันหมดมันสะดวกกว่า แต่ก่อนมีเรือโชวห่วยจากท่าน้ำวัดสามปลื้มบรรทุกของจากกรุงเทพฯ ไปส่งตามร้านในคลองอาทิตย์ละหลายๆ ลำ ตอนนี้ยังมีอยู่ปล่าวไม่ทราบนะ"

ปัจจุบันเรือบรรทุกของโชวห่วยส่งตามร้านค้าในคลองดำเนินยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเขตหลักห้า แต่ก็น้อยเที่ยวกว่าเดิมมาก เหลือเพียงเดือนละครั้งหรือสองครั้ง  อย่างไรก็ตามสภาพของชุมชนหลักห้า ขณะนี้สามารถทำให้ฉันสามารถวาดภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดำเนินสะดวกในอดีตได้ง่ายขึ้น ที่นี่ยังคงมีร้านค้าเปิดดำเนินกิจการตลอดสองฝั่งคลอง ไม่ว่าจะเป็นร้านโชวห่วยที่มีอยู่คับคั่ง ร้านขายน้ำยาเคมีเกษตร  ร้านขายน้ำมันเรือ ร้านอาหาร ร้านยาสมุนไพร คลินิกหมด ฯลฯ และยังมีตลาดน้ำที่ชาวสวนและพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกัน แม้ว่าจะซบเซากว่าเก่ามาก เห็นมีเรือพายขายอยู่ในลำคลองไม่กี่สิบลำ แต่ตลาดน้ำหลักห้าก็ดูมีเสน่ห์ด้วยยรรยากาศค้าขายแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างชาวสวนกับชาวสวน และชาวสวนกับชาวร้าน พืชผักผลไม้ที่ชาวสวนบรรทุกเรือมาขายก็สามารถนำมาวางบนทางเดินหน้าร้านได้โดยไม่ยาก เงินทองค่าที่เป็นตารางนิ้ว ตารางเมตรอาจไม่ต้องจ่ายหากบอกกล่าวเจ้าของร้านสักนิด เพราะตลาดน้ำแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันทางธุรกิจแก่งแย่งลูกค้า หรือยื้้อยุดฉุดกระชากนักท่องเที่ยวให้เข้าร้านหรือลงเรือในท่าของตน เหมือนกับตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน (คลองต้นเข็ม) ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นตลาดน้ำเพื่อสนองตอบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเดียวไปแล้ว ผลิตผลที่นำมาจำหน่ายไม่เพียงแค่ผลิตได้ในท้องถิ่น หากยังนำมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ และมีปริมาณมากกว่าพืชผักท้องถิ่นเสียด้วยซ้ำ แม้ข้าวของที่ระลึกก็มาจากทุกจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคเหนือและกรุงเทพฯ ซ้ำยังมีราคาสูง คนในท้องถิ่นจึงไม่ค่อยได้เข้าไปเที่ยวจับจ่าย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มากับบริษัททัวร์

ตลาดน้ำดำเนินสะดวกติดตลาดทุกวันโดยเริ่มตั้งแต่  08:00-12:00 น. ตกบ่ายภายในลำคลองต้นเข็มก็จะเงียบเหงา เหลือเพียงพ่อค้าแม่ขายที่มาตกลงซื้อขายส่งผักผลไม้ตามท่าผลไม้ อย่างท่าพจวรรณ หรือท่าเจริญสุโข ที่สร้างเป็นโกดังเก็บพืชผักให้ผู้ค้าเช่าพื้นที่่

"ตลาดน้ำดำเนินมีผลต่อความเจริญของคนดำเนินน้อยมาก  สมัยที่อยู่ปากคลองลัดพลีชาวบ้านยังมาจับจ่ายซื้อของกัน ต่อมาก็มาเน้นขายให้กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมันเป็นธุรกิจที่ประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่คน มุ่งขายของที่ระลึกมากกว่า ไม่ได้สนใจตลาดน้ำ...คนดำเนินที่พอจะได้ประโยชน์บ้างก็เห็นจะเป็นพวกเรือพายรับส่งนักท่องเที่ยว เดิมพวกนี้เป็นชาวสวน แล้วหันมารับจ้างพายเรือ ได้ค่าจ้างจากเจ้าของเรือไม่เท่าไร ส่วนเจ้าของเรือต้องเสียค่าท่า ค่าไกด์ ค่าโชเฟอร์ เหลือเงินไม่มากนัก ต้องคอยออกมาโบกรถหาลูกค้าด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีทัวร์ประจำ พวกที่มีบริษัททัวร์มาลงก็สบายหน่อย..."

"พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ในตลาดน้ำเป็นคนดำเนิน แต่ไม่ใช่ชาวสวน มักเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางรับซื้อแล้วมาขายต่ออีกที ถ้ามาที่นี่ตอนตีห้าหกโมง จะได้เห็นชาวสวนพายเอาพืชผักมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้ พอซื้อขายเสร็จก็กลับไปทำสวนกัน คนดำเนินไม่มาจับจ่ายในตลาดน้ำหรอก ส่วนใหญ่จะไปซื้อกันที่ตลาดท่ารถมากกว่า..สะดวก ไปเวลาไหนก็ได้ แล้วเดี๋ยวนี้มี "นัด" (บก) แทบทุกแห่ง อย่างนัดตาปลิวที่หลักห้า พอตั้งขึ้นมา นัดน้ำคลองโพหักเงียบเลย ลองไปดูซิ"

ชาวคลองต้นเข็มผู้ไม่ต้องการบอกนาม ระบายความรู้สึกที่มีต่อสภาพตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน ซึ่งเขาเห็นว่ามีแต่ผลประโยชน์และกำลังรอวันตายไปจากชีวิตชาวดำเนินสะดวก ภาพสะพานครึ่งท่อนที่ไม่อาจเชื่อมสองฝั่งคลอง ภาพคุณตาแก่ๆ ที่สวมเสื้อผ้าแบบชาวสวนออกมายืนข้างถนนทำตัวแข็งคล้ายหุ่นยนต์ แล้วใช้มือหนึ่งโบกกวักเรียกรถที่ผ่านไปมาให้สังเกตภาพคัดเอาต์ เชิญชวนไปลงเรือเที่ยวตลาดน้ำ และเสียงทะเลาะวิวาทของแม่ค้าที่แย่งเอาสินค้าลงวางบนทางเท้าริมคลอง เป็นเสมือนประจักษ์พยานยืนยันคำพูดของชายนิรนามผู้นั้นให้มีน้ำหนัดมากยิ่งขึ้น...

เช้าตรู่วันเสาร์....ภายใต้ร่มไม้บริเวณลานโล่งข้างโบสถ์วัดปราสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) เนืองแน่นด้วยผู้คนที่มาเดินจับจ่ายซื้อของในวัน "นัด" รถเครื่อง และรถยนต์จอดกันเรียงรายยาวตลอดฝั่งถนน เช่นเดียวกับในลำคลองเล็กๆ ข้างโบสถ์ก็คับคั่งไปด้วยเรือพาย เรือเครื่อง ที่นำพาชาวบ้านในลำคลองแถบหลักห้า หลักหก จนถึงหลัดเจ็ด มาหาซื้อผักผลไม้สดๆ จากทั้งชาวสวนดำเนินและสวนอัมพวา บางคนที กุ้ง หอย ปู ปลาสดใหม่ จากพ่อค้ามหาชัย ปลาทูนึ่ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ปลาเค็ม จากแม่กลอง ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม กระทะ หม้อไห ถ้วยโถโอชาม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่แขวนกวัดไกวบนราวหลากสีสัน หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องประดับกระจุกกระจิก

ด้วยบรรยากาศที่ใครใคร่นำสินค้ามาค้าค้า ตามวันเวลาที่นัดหมายกันเช่นนี้ ทำให้ฉันอดรู้สึกไม่ได้ว่า นี่คือภาพจำลองของ "นัดน้ำ" ที่ถูกย้ายขึ้นมาบนบกนั่นเอง 

ข้อมูล : สุดารา สุจฉายา. (2541). ตะวันยอแสงที่คลองดำเนิน. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 179-185)
ภาพกลาง : http://school.obec.go.th/ssb/thai-viet-boat.html
ภาพ : http://gotoknow.org/blog/jubchai/166801
อ่านต่อ >>