วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศาลต้นโพธิ์ของชาวบ้านม่วง

ชุมชนบ้านม่วง ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และหมู่บ้านใกล้เคียง  เป็นชุมชนมอญ จากการบอกเล่าเชื่อกันว่าบรรพบุรุษรุ่นแรกอพยพมาจากประเทศพม่าในสมัยอยุธยาราวรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวร (พ.ศ.2133-2148) โดยติดตามพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระสงฆ์เชื้อสายมอญนิกายมหายาน เข้ามาตั้งถิ่นฐานริมแม่น้ำแม่กลอง ให้ชื่อหมู่บ้านเหมือนบ้านเดิมในพม่าว่า "บ้านม่วง" และได้ตั้งวัดประจำหมู่บ้านว่า "วัดม่วง"

ชาวมอญบ้านม่วงนอกจากจะนับถือผีบรรพบุรษของแต่ละครอบครัวหรือตระกูลแล้ว ยังมีผีอื่นที่ชาวบ้านม่วงนับถือร่วมกัน คือ

1.ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนา เป็นต้นโพธิ์เดิมที่ชาวบ้านม่วงนับถือมานานและจะร่วมทำพิธีเซ่นไหว้ในเดือน 6 ของทุกปี และปีใดฝนฟ้าไม่ค่อยตก ชาวบ้านม่วงจะทำพิธี "แคะขนมครก แห่นางแมวขอฝน" กันที่นี่

"..นางแมวเอ๋ย ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์รดก้นนางแมว..น้ำแห้ง ให้ฝนตกหน่อย..." ชาวบ้านประมาณ 20-30 คนที่ร่วมขบวนแห่นางแมวจะร้องขอฝน ซึ่งสมัยก่อนที่จะมีเขื่อนวชิราลงกรณ์จะทำบ่อย ปัจจุบันไม่ค่อยมีประเพณีแห่นางแมวขอฝน นานๆ ครั้งและมิได้ทำการแคะขนมครกประกอบพิธีกันที่ศาลต้นโพธิ์กลางทุ่งนานี้อีกแล้ว เพราะต้นโพธิ์นี้ถูกตัดไปเมื่อ 10 ปีเศษ เนื่องจากเป็นจุดผ่านและตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ชาวบ้านจึงย้ายไปไหว้ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน และไปแคะขนมครกกันที่วัดม่วงแทน

ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน
2.ศาลต้นโพธิ์กลางหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่า "เจ้าพ่อเจินและงิ่ม" หรือ "ศาลเจ้าพ่อช้างพัน" ที่ต้นโพธิ์กลางหมู่บ้านนี้มีเจ้าพ่อ 3 องค์ คือ เจ้าพ่อช้างพัน เจ้าพ่อกาหลง และเจ้าพ่อคลุกคลี (ชอบกินฝิ่น) ปัจจุบันมีการเซ่นไหว้ปีละ 2 หน คือ ในเดือน 4 และเดือน 6

ศาลต้นโพธิ์ในวัดม่วง ที่ชาวบ้านนับถือ
3.ศาลต้นโพธิ์ในวัด เรียกว่า "ศาลอาหน๊วก" หรือศาลหลวงตาหรือศาลหลวงปู่ ศาลนี้เมื่อมีงานและกิจกรรมใดๆ ในวัด จะต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวหรือขอนุญาตทุกครั้ง หรือบอกบนก็ได้


ที่มา : ข้อมูลและภาพ
สุภาภรณ์  จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม.  มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 93-98)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น