วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 1

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ศูนย์เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ในหมู่ชาวมอญลุ่มน้ำแม่กลองและบ้านม่วง

บริเวณริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ใต้วัดนครชุมน์ลงมาเล็กน้อย มีเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูงในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม เพราะถูกทิ้งร้าง ท่ามกลางไม้หญ้าขึ้นรกเต็มพื้นที่ประมาณ 4 ไร่เศษ ผู้เฒ่าผู้แก่ฝั่งบ้านนครชุมน์ และฝั่งบ้านม่วงต่างรู้จักและมีความทรงจำที่ดีกับสถานที่นี้ ต่างเรียกขานกันว่า "บ้านครูเผ่" บ้าง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" บ้าง

สถานที่แห่งนี้เคยเป็นศูนย์เผยแพร่ศาสนาคริสต์ (นิกายโปรเตสแตนท์ของคณะเชิชเชส ออฟไครสต์) ในหมู่ชาวมอญลุ่มแม่น้ำแม่กลองบริเวณบ้านโป่งถึงโพธาราม ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนปลายจนถึงสมันสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวประมาณ พ.ศ.2480 เศษ)

แต่คณะธรรมฑูตคณะเชิชเชส ออฟไครสต์ ต้องประสบกับความผิดหวัง กิจการเผยแพร่คริสต์ศาสนาในหมู่ชาวมอญได้ผลน้อยมาก อย่างไรก็ตาม คณะธรรมฑูตและบุคลากรของคริสเตียนที่บ้านฝรั่ง ได้นำระบบการรักษาพยาบาลแผนใหม่ และการศึกษามาให้ชุมชนมอญ โดยเฉพาะชุมชนชาวมอญบ้านนครชุมน์และบ้านม่วง

แหม่มคลาร์ก และคุณหมอคลาร์ก 2 ใน 3 ท่านแรก
ที่บุกเบิกตั้ง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" นครชุมน์
"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ชาวบ้านเรียกเพราะมีฝรั่ง 2-3 คน มาเริ่มโครงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์และสร้างบ้านอยู่กันก่อน จึงเรียกว่าบ้านฝรั่ง ในบริเวณนั้นเป็นดงตาลจึงเรียกเพื่อบ่งสถานที่ชัดๆ

"บ้านครูเผ่" คือบ้านของผู้ประกาศศาสนาคนสุดท้ายที่มีบทบาทในการเผยแพร่ศาสนาและการรักษาแผนใหม่ ครูเผ่มีบ้านอีกหลังหนึ่งอยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นเรือนร้างหลังเดียวที่เหลืออยู่ให้เห็น

แค่เอกสารของคริสเตียนจะเรียกว่า "บ้านนครชุมน์"  "บ้านมิชชั่นนารี ชาติอังกฤษ" "สถานประกาศ บ้านนครชุมน์" 

คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ (Churches of Chirst) แห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ได้พยายามเผนแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ไปยังอาฟริกาและเอเชีย และในกลางพุทธศตวรรษที่ 25 (ตรงกับสมัยกรุงเทพฯ ราวรัชกาลที่ 5) ได้ตั้งสถานีประกาศศาสนาที่เมืองเย ของพม่าตอนใต้ เน้นการเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวมอญโดยเฉพาะ โดยมีธรรมฑูตแกนนำที่สำคัญ 2 ท่าน คือ ศาสนาจารย์ ดร.รอเบิร์ท ฮาลิเดย์ กับครอบครัว และศาสนาจารย์แอลเฟรด อี ฮัดสัน

ต่อมาคณะธรรมฑูต คณะนี้ ทราบว่ามีชาวมอญในประเทศไทย โดยเฉพาะที่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ตั้งแต่บ้านโป่งถึงโพธารามนี้ จึงมีนโยบายเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหมู่ชาวมอญในประเทศไทยบริเวณนี้ด้วย

ศาสนาจารย์ แอลเฟรด อี ฮัดสัน ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภารกิจนี้

นายฮัดสัน ได้ออกเดินทางจากเมืองเย ประเทศพม่าตอนใต้ บุกป่าฝ่าดง ข้ามแม่น้ำ เดินทางเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี แล้วอาศัยซุงขุดเป็นเรือล่องแควน้อยลงมาถึงปากแพรก ต่อเรือโดยสารลงมาตามลำน้ำแม่กลอง มาถึง ต.นครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งมีหมู่บ้านมอญทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2446

ที่ ต.นครชุมน์ ริมแม่น้ำแม่กลองนี้ นายฮัดสัน ซึ่งพูดภาษามอญได้ ได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านด้วยดี จึงได้หาที่ดินแปลงหนึ่งริมแม่น้ำ อยู่ใต้วัดนครชุมน์ ปลูกกระท่อมหลังหนึ่ง (หลังคามุงจาก ฝาไม้ไผ่ และปูพื้นด้วยฝาง) ใช้เป็นห้องพักและห้องพยาบาล ห้องคนไข้ ในส่วนให้บริการชาวบ้าน นอกเหนือจากการเผยแพร่ศาสนาซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ นี้

เพราะฉะนั้น บ้านนครชุมน์ จึงเป็นจุดแรกในประเทศไทยที่คณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ใช้เป็นที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์

กระท่อมหลังแรกนี้ จึงเรียกว่า "First Mission House"

ศาสนาจารย์ฮัดสัน พบว่าบริเวณตำบลนี้มีชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากทั้งสองฝั่ง

หลังจากศาสนาจารย์ฮัดสันเดินทางมาได้ 4 เดือน ก็มีคณะะรรมฑูตอีกคนหนึ่งที่สำคัญ คือ ศาสนาจารย์เปอร์ซี คลาร์ก (Percy Clark) หรือ "คุณหมอคลาร์ก" (เรียนจบหลักสูตรธรรมศึกษาอบรมช่างไม้การตีพิมพ์ และจบวิชาแพทย์ที่วิทยาลัยลีฟวิงสโตน ในนครลอนดอน) เดินทางมาสมทบช่วยเหลือในกิจการการเผยแพร่ศาสนา และถึงบ้านนครชุมน์ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2446 (ขณะนั้น ท่านมีอายุได้เพียง 24 ปี)

ก่อนหน้านี้ คุณหมอได้เคยทำงานกับคณะเชิชเชส ออฟ ไครสต์ ในเมืองเย พม่า มาก่อนหลายเดือน จึงได้ฝึกภาษามอญเป็นอย่างดี คุณหมอเดินทางเรือเข้ากรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้นจึงเดินทางด้วยรถไฟบรรทุกหินและฟืน วิ่งได้ช้ามาก กว่าจะถึงบ้านนครชุมน์ก็ค่ำพอดี สมัยนั้นบ้านนครชุมน์ไม่มีตลาดหรือร้านขายของเลย เครื่องอุปโภคบริโภค ต้องนำไปจากกรุงเทพฯ เป็นระยะๆ

ในวันที่ท่านไปถึง เกิดการยิงกันในบ้านม่วง มีผู้คนจำนวนหนึ่งบาดเจ็บมาให้ท่านรักษา และมีคนไข้ตาย 1 คน

ศาสนาจารย์ฮัดสันและคุณหมอคลาร์ก ได้ร่วมกันทำงานเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวมอญทั้งสองฝั่งแม่กลอง และให้บริการชาวบ้านในการรักษาพยาบาล ต่อมาท่านทั้งสองได้สร้าง เรือนไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง เพื่อให้พอสำหรับแบ่งส่วนเป็นที่นมัสการ ห้องยา สำหรับการรักษาพยาบาลชาวบ้านที่เจ็บป่วย และเปิดเป็นห้องเรียนให้ลูกหลานชาวมอญได้ศึกษาเล่าเรียน

ในขณะนั้น ยังไม่มีพระราชบัญญํติว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ เด็กๆ จะได้รับการชักชวนเข้ามาเรียน โดยจัดให้มีครูไทยมาสอนให้อ่าน ให้เขียน และทำเลข นักเรียนมีน้อยมากระยะแรก ต่อมามีวัยรุ่นมาเรียนเยอะ เพราะนึกว่าถ้าเรียนหนังสือแล้วจะไม่ถูกเกณฑ์ทหาร แต่พอรู้ความจริงก็ไม่ค่อนมาเรียน

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" ท่ามกลางไม้รก
ต่อมาในราว พ.ศ.2447 เกิดอหิวาตกโรคระบาดทั่วหมู่บ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง คุณหมอต้องช่วยรักษาพยาบาลคนป่วยและกับผู้ช่วย ต้องขึ้นๆ ล่องๆ ตามลำน้ำ ออกแนะนำประกาศให้ชาวบ้านต้มน้ำดื่ม ให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ควรใช้ส้วมที่มิดชิด นับว่าท่านมีส่วนช่วยเหลือชุมชนอย่างมาก และใหพื้นฐานความรู้ทางสาธารณสุขที่ดีก้าวหน้าแก่ชาวชนบท

หลายเดือนต่อมามีโรคฝีดาษระบาดขึ้น ชาวบ้านล้มตายจำนวนมาก เพราะปรากฏมีผู้ป่วยโรคนี้แทบทุกหลังคาเรือน คุณหมอได้นำวัคซีนมาระดมปลูกฝีป้องกันให้กับชาวบ้าน

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2448 ศาสนาจารย์ฮัดสัน มีสุขภาพไม่ดีนัก จึงเดินทางกลับอังกฤษไป ท่านเป็นผู้บุกเบิกคนแรกและทำงานที่นครชุมน์ได้ประมาณ 2 ปีเศษ เหลือแต่คุณหมอแต่เพียงลำพัง

คุณหมอพบว่า ชาวมอญที่นี่เริ่มพูดภาษาไทยกันบ้างแล้ว จึงหัดพูดภาษาไทยด้วย

อย่างไรก็ตามในต้นปี พ.ศ.2449 คุณหมอได้กำลังสำคัญมาสนับสนุนและช่วยเหลืองานของท่านตลอดชีวิต คือ คุณแมรี่ เดนลีย์ (เรียนจบวิชาดนตรี พยาบาลและผดุงครรภ์) คู่รักซึ่งเดินทางมาจากประเทศอังกฤษ มาแต่งงานกันที่สิงคโปร์ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2448 คุณหมอจึงได้พาภรรยาเดินทางมาประเทศไทยและไปถึงตำบลนครชุมน์ในเดือนมกราคม พ.ศ.2449 ชาวบ้านมักเรียกขานว่า "แหม่มคลาร์ก"

"คุณหมอคลาร์ก" และ "แหม่มคลาร์ก" ได้ร่วมกันทำงานที่บ้านนครชุมน์อีกประมาณ 5 เดือน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2449 ท่านทั้งสองก็ย้ายไปนครปฐมและเป็นบุคคลสำคัญในการบุกเบิกก่อตั้งคริสตจักรนครปฐมให้เกิดขึ้นเติบโต และเป็นปึกแผ่นจนทุกวันนี้  ท่ามกลางคริสเตียนชาวจีนเป็นส่วนใหญ่

ถึงกระนั้นคุณหมอและแหม่ม ก็ยังไปเยี่ยมเยียนที่บ้านนครชุมน์เป็นระยะ และบ้านนครชุมน์ก็กลายเป็นสถานประกาศย่อยของคริสตจักรนครปฐม มาจนถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกทิ้งร้างไป

อ่านต่อ บ้านฝรั่งดงตาล ตอนที่ 2

ที่มา :
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 101-106)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น