วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สืบสานตำนานข้าวแช่มอญ วัดบ้านหม้อ

ตำนานข้าวแช่ 
 แรงบันดาลใจที่ทำให้ข้าพเจ้า เขียนเรื่อง ข้าวแช่ ขึ้นมาในช่วงเวลานี้ ก็เพียงอยากระลึกถึงวัน เวลา...ที่เคยได้ร่วมทำข้าวแช่ กับแม่...เมื่อครั้งท่านยังมีชีวิตอยู่ ภาพความทรงจำทุกขณะ ปรากฎเด่นชัด  และเมื่องานบุญเข้าพรรษาที่ผ่านมา...ท่านพระครูที่วัดยังถามมาว่า ..สงกรานต์ปีหน้าจะมีข้าวแช่ออกมาวัดคนแรกอีกหรือเปล่า เพราะแม่จะนำข้าวแช่ใส่กระจาดหาบ ไปถึงวัดก่อนอรุณรุ่งทุกปี ทำให้ข้าพเจ้าอยากจะส่งความรู้สึกนี้ ไปถึงอีกหลาย ๆคน ที่จะช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวของข้าวแช่ตำรับมอญของบ้านเรา และพาตัวเองกลับไปสู่บรรยากาศ  ที่อบอุ่นนั้นอีกสักครั้ง  
การทำกับข้าวในแต่ละท้อง ถิ่น แต่ละชุมชนก็แตกต่างกันออกไป  ตามสภาพความเป็นอยู่  แต่ก็ยังคงมีกรอบวัฒนธรรมเคร่งครัดในประเพณี  ที่ติดมากับขนบธรรมเนียมของชาวมอญเรา ที่ยึดถือและปฎิบัติสืบต่อกันมาโดยเฉพาะการทำบุญ  ดังมีคำกล่าวที่ว่า.....หน้าร้อน...กินข้าวแช่    หน้าฝน....กินข้าวมัน    หน้าหนาว......กินข้าวหลาม และทุกวันนี้ ก็ยังคงสืบทอดกันต่อมา รุ่นต่อรุ่น

 ข้าพเจ้าต้องขอออกตัวไว้ก่อนเลยว่า สิ่งที่ได้เขียนเรื่องราวเหล่านี้ อาจจะไม่เหมือน หรือแตกต่างกันไป  ผู้รู้ทุกท่านช่วยชี้แนะ ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
จำได้ว่าสำหรับชาวมอญแล้ว เทศกาลสงกรานต์ เป็นเทศกาลที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะถื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามโบราณ และยังถือสืบต่อกันมา การเตรียมงานนับเดือน ทำความสะอาดบ้านเรือน เตรียมเสื้อผ้าใหม่ และอาหารคาวหวานสำหรับทำบุญตักบาตร ซึ่งก็จะอยู่ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ เมษายน ของทุกปี ช่วงเช้าทำบุญตักบาตร  ไหว้พระสวดมนต์ สมาทานศีล ช่วงบ่ายจัดให้มีการสรงน้ำพระพุทธรูป  สรงน้ำพระสงฆ์ และบังสุกุลอัฐฐิปู่ย่าตายาย ปล่อยนก ปล่อยปลา ค้ำโพธิ์ (ถ้าวันสงกรานต์ตรงกับวันเกิดของใคร ต้องไปค้ำโพธิ์) ก็จะเป็นสิริมงคลกับตังเอง เช่นวันสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ที่เกิดวันพุธต้องไปทำพิธีเอาไม้ไปค้ำต้นโพธิ์  เป็นต้น
อาหารมอญ  ที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขนมกะละแม  ทดสอบความอดทน  (บอกก่อนว่า หนุ่มสาว จะรอวันสงกรานต์อย่างใจจดใจจ่อ เพราะหนุ่มสาวจะมีโอกาสใกล้ชิดกันได้ เล่นถูกเนื้อต้องตัวกันได้ ไปมาหาสู่กัน บางบ้านก็ให้หนุ่มช่วยกวนกะละแมเสียเลย ใช้เวลาเป็นวัน ๆ

ข้าวแช่ หรือ ข้าวสงกรานต์ คนมอญจะเรียกว่า  เปิงด้าจก์ (เปิง แปลว่า ข้าว  ด้าจก์ แปลว่า น้ำ   เมื่อตอนเด็ก ๆ จะได้ยินแต่คำว่า ข้าวน้ำ  จะได้ลองลิ้มชิมรสก็ต่อเมื่อวันสงกรานต์เท่านั้น
ข้าวแช่ เป็นอาหารที่เกี่นวข้องกับพิธีกรรม มีขั้นตอนในการทำพิถีพิถันมาก ใช้เวลาในการจัดเตรียมเป็นเดือน ทั้งน้ำที่จะเป็นน้ำอบ ต้องรอจากฝนกลางแจ้งมาเก็บไว้ (สมัยนี้ใช้น้ำต้มสุกก็ได้) ต้องตำรำข้าวใหม่ ๆ ขี้ผึ้งที่ได้มาจากน้ำผึ้งเดือน    ๕  นำมาเผาบนรำข้าวให้หอม ไว้อบน้ำ (สมัยนี้ใช้เทียนหอมสำเร็จรูป)ปลาแห้ง ต้องเป็นปลาช่อนนา ตัวโต ตากแดดเก็บไว้ เหล่านี้เป็นต้น
การทำข้าวแช่ สืบเนื่องมาจากตำนานสงกรานต์ของมอญ  ข้าพเจ้าเคยได้เห็นตำนานนี้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๑ พี่พาไปเที่ยววัดพระแก้ว ก็เลยไปวัดนี้ด้วย  พี่พูดภาษามอญได้ อ่านภาษามอญได้ ก็รู้ว่าเป็นตำนานของ ข้าวแช่  ความว่า
มีเศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตรธิดา ทำการบวงสรวงต่อเทวดา ฟ้าดิน พระอาทิตย์ พระจันทร์ กาลเวลาล่วงเลยไป ๓ ปี ก็ยังไม่มีบุตร อยู่ต่อมาเป็นวันในคิมหันตฤดูฝน คนทั้งหลายเล่นนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ พระอาทิตย์ก็มาสู่เมษราศี   เป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังโคนต้นไทรใหญ่ริมน้ำอันเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดาทั้งหลาย และได้นำข้าวสารล้างน้ำถึง ๗ ครั้ง แล้วหุงบูชารุกเทวดาประจำพระไทรนั้น
 ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร   และรุกขเทวดาพระไทรนั้นก็เมตตา ให้เทพบุต รคื่อ(ธรรมบาลกุมาร)มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีสมความปรารถนา

ครั้นต่อมา ชาวมอญมีความเชื่อว่า หากได้กระทำพิธีเช่นว่านี้ บูชาต่อเทวดา ในเทศกาลสงกรานต์แล้ว
สามารถตั้งจิตอธิษฐาน ขอสิ่งใดจะได้ดังหวัง  ข้าวแช่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเซ่นไหว้เทวดาด้วย

วิธีการปรุงข้าวแช่   เริ่มจากการทำน้ำอบ  จะใช้น้ำฝน หรือใช้น้ำต้มสุกก็ได้ ใส่ลงในหม้อดิน สำหรับบ้านของข้าพเจ้า มีหม้อดินโบราณ เป็นมรดกตกทอดสมัยปู่ย่ามา นำขันเล็ก ๆแล้วใส่รำข้าวที่เตรียมไว้ จุดขี้ผึ้งที่ปั้นใส่ด้ายแบบไส้เทียนจุดให้ไฟลุก ดอกกระดังงาลนไฟให้หอม นำมาใส่ลงไปในขันด้วย แล้วดับไฟ ปิดฝาหม้อด้วยผ้าขาวบาง อบไว้เช่นนั้น  (ลืมบอกไปว่า น้ำที่นำมาอบนั้น ให้ลอยดอกมะลิให้หอมก่อน ก่อนนำมาอบเทียน) พอมาถึงสมัยนี้ ใช้เที่ยนหอมอบได้เลย


หม้อดินสำหรับใช้อบน้ำข้าวแช่มอญ      
อาหารที่นำมารับประทาน ที่แม่เคยทำเป็นประจำทุกปี ก็จะมีประมาณ ๗-๘ อย่าง บางชุมชนก็จะมากน้อยแตกต่างกันออกไป จะใช้เวลาเตรียมอาหารข้าวแช่ก่อนวันสงกรานต์ ๑ วัน คือบ่ายวันที่ ๑๒  จะมีปลาแห้งป่น หมูหวาน (บางนจะใช้เนื้อวัว ) หอยแมลงภู่ผัดหวานผักกาดผัดไข่ (หัวไชโป้) ยำมะม่วง ยำขนุน กระเทียมดอง ก๋วยเตี๋ยวผัด ไข่เค็ม


การหุงข้าว  เริ่มตั้งแต่คัดข้าวสารเมล็ดสวย จำได้ว่า เมื่อก่อนนี้ สีข้าวเอง ตำข้าวเอง โดยใช้ครกไม้ ที่ใช้ตนไม้ทั้งต้นมา ขุดเป็นครก สีข้าวเป็นสีโบราณที่พ่อทำขึ้นเอง เสียดายที่พังไปหมดแล้ว  สีข้าวเปลือกแล้ว จะได้ข้าวกล้อง ก็นำข้าวกล้องมาตำ ใช้สากลุมพุก (ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือเปล่า) ตำ ๒ คนผลัดกันขึ้นลง นับไปเลย ลงสากคนละ ๒๐๐ ที ข้าวก็จะขาวเป็นข้าวสารที่นำมาหุงได้ แม่ก็จะเลือกข้าวเม็ดสวย ไม่หัก จะใช้กระด้งฝัดเอารำออก จะได้รำละเอียด (ไปอบน้ำ) รำหยาบไว้เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด ได้ปลายข้าวไว้ทำขนมจีน แม่จะให้ใช้กระด้ง กระทายข้าว การกระทาย เป็นการคัดเลือกข้าวเม็ดสวยออกจากข้าวที่หัก  จากนั้นก็นำมาซาวน้ำ ประมาณ ๗ ครั้ง ให้สะอาด ในการหุงข้าวนั้นต้องตั้งเตาไฟในที่โล่ง และต้องอยู่นอกชายคาบ้าน การหุงเป็นการหุงแบบเช็ดน้ำ ต้องหมั่นคอยคนให้สุก ไม่เป็นไต ยกลงจากเตา นำไปล้างน้ำสะอาดหลายครั้ง  เพื่อเอายางข้าวออกแล้วนำไปใส่ในกระบุง โดยเอาผ้าขาวบางรองอีกที เป็นอันเสร็จขั้นตอนการหุงข้าว  (บางที่แม่ก็จะใส่ใบเตยลงไปในหม้อข้าวด้วย เพื่อความหอม)

ขั้นตอนการทำกับข้าว  อันดับแรกปลาแห้งป่น บอกเลยว่าทำยากที่สุด  ต้องนำปลาที่ตากแห้งไว้มาย่างไฟอ่อน ๆ พอสุก แล้วเอามาแกะเอาแต่เนื้อ แม่ใช้ครกตำเลย ให้เนื้อปลาฟู
หัวกะทิตั้งไฟให้เดือด ต้องหมั่นคนไม่ให้แตกมัน ตำกระเทียมที่แกะเอาแต่เนื้อ พริกไทยเล็กน้อย บางบ้านก็ไม่ใส่พริกไทย  ก็แล้วแต่ความชอบ  แต่บ้านเราใส่ด้วย เพราะเราเป็นคนตำเองแม่บอกว่าดับกลิ่นคาวปลา  นำส่วนประกอบทั้งหมดลงผัดในกระทะ โดยใช้ไฟอ่อน   ผัดไปเรื่อย ๆจนเนื้อปลาจับกับกะทิ ก็ใส้น้ำตาบปี้บ ชิมรสหวานนำ เค็มตามมา ความเค็มไม่ต้องใส่เกลือก็ได้ เพราะปลามีความเค็มในตัวอยู่แล้ว เมื่อได้รสชาดตามต้องการ  นำลงจากเตาพักไว้
ให้เย็น โรยหน้าด้วยใบมะกรูดหั่นฝอย ตามด้วยพริกแห้ง (พริกเม็ดใหญ่ตากแห้ง เอาเม็ดออกซอยละเอียด ไว้โรยหน้ากับข้าว เพิ่มสีสรรความสวย  ก็เป็นอันเสร็จไป ๑ อย่างแล้ว ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน
  ๒.เนื้อเค็ม (หมูหวาน) บางท้องถิ่นใช้เนื้อวัว แต่บ้านเราที่วัดบ้านหม้อนี้ ใช้เนื้อหมู วิธีทำก็คล้าย ๆกับปลา คือเอาเนื้อหมูมาทำหมูเค็ม ตากแดดเก็บไว้ก่อน จากนั้น เอามาย่างไฟพอสุก
ฉีกฝอย ที่บ้านเราก็ใช่ครกตำเช่นเดิม เนื้อจะฟูไม่แข็ง  วิธีการทำก็เหมือนกับปลาทุกอย่าง

 ๓.หอยแมลงภู่ เช่นกัน ก็นำหอยแมลงภู่ตากแห้ง เลือกที่ตัวใหญ่ เพราะเวลาผัดแล้วจะหด นำมาล้างให้สะอาด เอาใยออกให้หมด มาลวกน้ำร้อนดับกลิ่นคาวเสียก่อน บีบน้ำให้แห้ง การผัดก็เหมือนกับปลาและหมู  ข้อระวังในการผัดหอย ต้องค่อย ๆผัด หรือกลับ ถ้าผัดแรง หอยจะแหลกไม่เป็นตัว ไม่สวยในการจัดสำรับอาหาร
๔.หัวไชโป้ผัดไข่  คราวนี้ไม่ใช้กระเทียม ใช้หอมแดงแทน เวลาปอก ก็ร้องไห้ไปด้วย แม่บอกว่าถ้าออกเรือนไปจะแพ้แม่สามี  วิธีแก้ให้ใช้ก้านไม้ขีดเหน็บหู น้ำตาจะไม่ไหล  หัวไชโป้ก็ที่เจ็ดเสมียนเท่านั้น เลือกเอาหัวใหญ่ มาหั่นซอยตามแนวขวางบาง ๆ แล้วล้างน้ำให้สะอาด
ตั้งหัวกะทิให้เดือดใส่หอมแดงซอยลงไป ใส่หัวไชโป้ลงในหม้อ เคี่ยวไฟอ่อนไปเรื่อย ๆจนกะทิ
จวนแห้งใส่น้ำตาลลงไป หวานนำกลมกล่อม โรยหอมแดงอีกครั้ง   เกือบลืมต้องใส่ไข่ด้วย โดยตอกไข่ตีให้ละเอียดราดลงบนหัวไชโป้ในหม้อ รอไข่สุก คนให้เข้ากัน เป็นอันใช้ได้
๕.ยำขนุน รายการนี้จะขาดไม่ได้เลย ในสำรับข้าวแช่ของชาวเรา เพราะถือกันว่าเป็นอาหารมงคล คงเป็นเพราะชื่อด้วยกระมัง  มีคนหนุนนำ จำได้ว่าแม่ให้เอาพริกหอมเม็ดใหญ่  (พริกแห้ง) หอม กระเทียม เผาไฟ เรียกว่าพริกเผา หอมเผา  แล้วนำขนุนดิบที่ไม่แก่ มาฝานเป็นแว่น
ปอกเปลือกออก นำไปต้มให้สุก แล้วนำมาฉีก พักไว้ก่อน เอามะพร้าวที่ขูดเตรียมไว้ มาคั่วให้หอม ระวังอย่าให้ไหม้  ส้มโอที่แกะเอาไว้ พร้อมทั้งกุ้งแห้งคั่วสุก เครื่องปรุงพร้อมแล้ว ก็ลงมือยำเลย เอาพริกเผา หอมเผา มาโขลกพอหยาบ ใส่ในขนุนที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลเคี่ยวเติมความเปรี้ยวด้วยส้มโอ กลมกล่อมแล้ว ใส่มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง
เพียงเท่านี้ ยำขนุนก็ขึ้นสำรับได้แล้ว
๖.ยำมะม่วง วิธีทำก็คล้ายกัน ถ้ามะม่วงเปรี้ยวก็บีบ หรือใช้เกลือคั้นเอาความเปรี้ยวออกก่อน
๗.กระเทียมดอ เวลาจะกินกับข้าวแช่ ก็แกะออกเป็นกลีบเล็ก ๆ จัดใส่ถ้วยในสำรับ
๘.ก๋วยเตี๋ยวผัด เส้นหมี่ผัด ชาวบ้านเราถือเป็นสิ่งดี เพราะเป็นเส้น เป็นสิ่งที่ยาวไกล เป็นมงคล
    และอาจจะมี ไข่เค็มยำ  ก็อยู่ในเมนูด้วยเช่นกัน
   เสร็จสรรพกับข้าว คราวนี้ต้องนำไปที่ใดบ้าง  มาดูการเดินทางของข้าวแช่กันเลย

อันดับแรก ต้องนำข้าวแช่ไปเช่นบวงสรวงเทพยดา ฟ้าดิน นางสงกรานต์ โดยทุกบ้านจะสร้างบ้านสงกรานต์ เราเรียกกันว่า ฮ๊อยซังกรานต์ เป็นศาลเพียงตา สร้างชั่วคราวอย่างง่าย ๆ บริเวณลานโล่งหน้าบ้าน มักสร้างด้วยไม้ไผ่ อยู่ในระดับสายตา ความกว้างประมาณ ๑ ศอก สำหรับวางถาดอาหารได้  พ่อจะใช้ผ้าขาวปูรองพื้น ผูกผ้าสี ตกแต่งด้วยดอกไม้ ก็จะเป็นดอกสงกรานต์  (ดอกราชพฤกษ์ หรือดอกคูณ)
เราเรียกว่า ปะกาวซังกรานต และจะมีคำกล่าวถวายข้าวว่า อุกาสะ ๓ ครั้ง โต เทวโส ตันนัง กุสสังมยเคตัง เอหิ ตาน อาคัจฉันติ นิมันติปริภุญณโส เป็นอันเสร็จพิธีต้อนรับเทพีสงกรานต์ในปีนั้น

อันดับที่ ๒ นำไปให้ผีบ้านผีเรือน คือผีปู่ย่า ตายาย ที่เสาผีประจำบ้าน  ส่วนใหญ่คือเสาเอก  บ้านมอญจะมีห้อง สำหรับเก็บของ  โดยมีกระบุงใส่ต้นขาไก่ดำในกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ ๙ กระบอก หีบบรรจุเสื้อผ้า แหวนพลอยสีแดง และหม้อดินใส่น้ำไว้ ภายในห้อง จะให้ลูกชายเป็นคนนำไปให้                                                

 อันดับที่ ๓ นำออกไปวัดเพื่อทำบุญถวายพระแต่เช้าตรู่  และใส่ปิ่นโตไปให้ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือใกล้ชิด  และเลี้ยงคนที่มาเยี่ยมเยือนในเทศกาลสงกรานต์   ยังจำได้ว่า เมื่อครั้งก่อน พ่อเคยให้นำปิ่นโตบรรจุข้าวแช่ไปถวายพระที่ วัดคงคารามด้วย พ่อบอกว่าบรรพบุรุษอยู่ที่นั่น คงหมายถึงพระยามอญทั้ง ๗ ที่มีเจดีย์อยู่รอบ ๆ อุโบสถที่วัดนี้ด้วย

ข้อมูลเหล่านี้เขียนจากความทรงจำของข้าพเจ้าเอง ส่วนรูปภาพนำมาจากสงกรานต์ชาวมอญนครชุมน์
ต้องขอขอบคุณรูปสวย ๆ ที่ท่านลงไว้ให้ จึงขออนุญาตนำมาใช้อ้างอิง  ภาพอื่น ๆ เป็นภาพที่บ้านของข้าพเจ้าเอง   และยินดีที่รับคำแนะนำจากท่านผู้รู้เป็นอย่างยิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น