วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จากนัดน้ำถึงนัดบก...และวันเวลาสิ้นสุดของตลาดน้ำ

ผมได้ไปอ่านเรื่องนี้ใน สารคดีพิเศษ "ราชบุรี" ซึ่งคุณสุดารา สุจฉายา  เขียนเป็นคอลัมน์ย่อยไว้เมื่อปี 2541 ในเรื่อง "ตะวันยอแสงที่คลองดำเนิน" ผมคิดว่าท่านเขียนเล่าเรื่องได้ดีมาก อ่านแล้วจะเข้าใจคำว่าตลาดน้ำได้ดียิ่งขึ้น และยังแสดงถึงความเป็นห่วงตลาดน้ำในอนาคตอีกด้วย ลองฟังเรื่องราวของท่านดูนะครับ

จากนัดน้ำถึงนัดบก...และวันเวลาสิ้นสุดของตลาดน้ำ
"ตลาดน้ำ" เป็นสถานที่ที่พ่อค้าแม่ขายชาวคลองจะนำสิ่งต่างๆ ที่ตนมีหรือผลิต มาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันด้วยทางเรือ โดยตกลงนัดหมายวันเวลาทำการค้าขาย ณ จุดใดจุดหนึ่งร่วมกัน ชีวิตชาวคลองดำเนินสะดวกก็มีลักษณะเหมือนชาวคลองอื่นๆ เช่นนี้ จนกระทั่งธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัวเข้าสู่คลองดำเนินสะดวก วิถีการซื้อขายแบบดั้งเดิมของตลาดน้ำดำเนินสะดวกก็แปรเปลี่ยนไปเพื่อสนองต่อการท่องเที่ยว

"นัด" ที่เกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายในถิ่นนั้นๆ ก็กลายมาเป็น "นัด" ตามวันเวลาที่นักท่องเที่ยวจะสะดวกมาชม โดยมีการซื้อขายของคนในท้องถิ่นเป็นปัจจัยประกอบหนึ่งเท่านั้น

ในอดีตนอกจากจะมี "นัด" หรือที่คนปัจจุบันเรียกว่าตลาดน้ำ ในคลองใหญ่แล้ว ตามคลองเล็กคลองน้อยสายต่างๆ ที่ตัดซอยออกมาและมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น ก็มีตลาดน้ำเกิดกระจายเป็นกลุ่มๆ เช่น นัดปากคลองก่อไผ่  นัดคลองศรีสุราษฎร์หรือนัดหลักหก นัดคลองโพหักหรือนัดคลองบัวงามหรือนัดหลักห้า แต่ที่ถือเป็นนัดใหญ่ มีเรือพายซื้อขายกันหนาแน่นก็คือ
  • นัดศาลาแดง บริเวณปากคลองลัดราชบุรี หรือที่สำเนียงคนจีนดำเนินออก "ลัดพลี" ไปจนถึงปากคลองทองหลาง
  • นัดปากคลอง บริเวณปากคลองบางนกแขวกใกล้ออกแม่น้ำแม่กลอง แถบหน้าวัดเจริญสุขารามวรวิหาร
ตลาดน้ำดำเนินสะดวกในอดีต
เจ้าของภาพ : ณรงค์ชัย อิมราพร
นัดศาลาแดง หรือนัดศาลาห้าห้องหรือนัดหลักแปด ก็คือนัดเดียวกันที่คนดำเนินเรียกกันว่า "นัดใน" เนื่องจากบริเวณนัดตั้งอยู่ในคลองดำเนินสะดวก ขณะที่นัดปากคลองตั้งอยู่ด้านนอกคลอง จึงเรียก "นัดนอก"  ส่วนที่เรียกว่านัดศาลาแดง ศาลาห้าห้องและนัดหลักแปดนั้น ก็เพราะคลองลัดพลีและคลองทองหลางอยู่ในเขตหลักแปด และบริเวณที่มีการค้าขายหนาแน่นในลำคลองนั้นก็อยู่ตรงจุดที่ตั้ง "ศาลาห้าห้อง" ซึ่งมุงกระเบื้องสีแดง บางครั้งชาวบ้านจึงเรียกว่าศาลาแดง ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นสมัยเริ่มขุดคลอง โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ปลูกไว้ให้เป็นที่พักของคนเดินทาง และต่อมาได้กลายเป็นที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวกช่วงระยะหนึ่ง

จากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ชาวดำเนินหลายท่าน เล่าตรงกันว่า เดิมทีตลาดน้ำแบบตลาดนัดมีกระจายอยู่ในเขตอัมพวาและบางคนทีก่อนแล้ว เมื่อคลองดำเนินเปิดเป็นเส้นทางสัญจรติดต่อกับพื้นที่ต่างๆ แล้ว พ่อค้าแม่ขายจึงเริ่มเข้ามา "นัด" ในคลอง โดยเริ่มจุดแรกจากบริเวณปากคลองบางนกแขวกซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่อยู่ก่อน จากนั้นมีคนกระจายเข้าไปตั้งบ้านเรือนหนาแน่นในคลอง "นัด" ก็ขยับลึกเรื่อยไปตามลำคลอง เช่น ในคลองใหญ่หน้าวัดโชติฯ แล้วมาบริเวณปากคลองก่อไผ่ เขยิบลึกต่อเข้าไปจนใกล้ศูนย์กลางของชุมชนที่มีตลาดบกตั้งอยู่ริใมฝังคลอง คือ ตลาดหน้าโรงวิก(โรงภาพยนตร์) ปากคลองทองหลาง และตลาดโรงยา(โรงยาฝิ่น) ปากคลองลัดพลี

แป๊ะติวไถ่ แซ่อึ้ง วัย 84 ปี ผู้เดินทางมาจากไหหลำตั้งแต่เด็ก ได้บอกเล่าสภาพนัดศาลาแดงตามที่ได้เห็นมาตลอดระยะเวลา 70 กว่าปี ตั้งแต่มาตั้งหลักปักฐานที่ดำเนินสะดวก

"ตอนที่ก๋งมาอยู่ใหม่ๆ บริเวณปากคลองลัดพลีมีบ้านเรือนเต็มไปหมด คนอาศัยอยู่เยอะแล้ว พวกริมคลองทำการค้าขาย ลึกเข้าไปด้านในทำสวน ตรงศาลาห้าห้องเป็นย่านการค้า..คึกคัก มีทั้งโรงยา โรงผู้หญิง (ซ่อง) พวกแจวเรือจ้าง แขกโกยดิน ขุดดิน ชอบมาเที่ยวมาสูบ สมัยก่อนมีทางเกวียนมาถึงศาลาห้าห้องนะ พวกท้องนาขนข้าวใส่เกวียนมาขาย จากท่าราบ หัวโพ ..แรกๆ ไม่ได้มีตลาดทุกวันเหมือนเดี๋ยวนี้ เขานัดกันวัน 2 ค่ำ 7 ค่ำ และ 12 ค่ำ ทั้งขึ้นแรม หลังนัดนอกวัน (นัดนอกมีวัน 1 ค่ำ 6 ค่ำ และ 11 ค่ำ) มาขายกันตั้งแต่โมงไปถึงบ่ายๆ เย็นๆ "

"นัดใหญ่ เรือเยอะ เต็มไปทั้งคลองใหญ่ แล้วยังกระจายเข้ามาในคลองลัดพลีและคลองทองหลางด้วย แต่ก่อนไม่มีเรือเครื่อง มีแต่เรือพาย ชาวสวนจะบรรทุกพืชผักใส่เรือสำปั้น เรือมาดมาขาย ถ้าเป็นเรือดำเนินก็เป็นพวกพริก หอม กระเทียม ผักกาดขาว ผักกาดเขียว มะระ มะเขือ ถั่วค้าง ถั่วคุด แตงโม แตงกวา แตงท่อน..โอ๊ย เยอะแยะ ถ้าหน้ามะม่วงก็มีอกร่อง  ทองดำ เขียวไข่กา หนังกลางวัน กาละแม การะเกด...หลายพันธุ์เลย สมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว เรือพวกสวนดง แถวอัมพวา บางน้อย ก็มีมะพร้าว น้ำตาลหม้อ น้ำตาลปี๊บ ยาจืด ส่วนเรือแม่กลองเป็นพวกของทะเล กะปิ ปูเค็ม กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ปลาทูนึ่ง ถ้าเป็นเรือท้องนาสังเกตง่าย เขาไม่ใช้เรืออย่างเรา เป็นเรือมาดกระสวย... หัวแหลมท้ายแหลม เพราะเขาท่อเรือแหวกต้นข้าวตามนามา ถ้าใช้เรืออย่างเราข้าวหักหมด พวกนี้เวลามาเขาถ่อแจวกัน พอใกล้นัดก็เปลี่ยนเป็นพายเข้ามา พวกท้องนาก็โพหัก บางแพ แล้วก็โซ่งทางโคกฝรั่ง โคกมดตะนอย แต่งตัวแปลกกว่าเขา เกล้ามวย นุ่งผ้าลายๆ เอาข้าวกับจาวตาลมาขาย จาวตาลผูกขายเป็นมัดๆ เรือจากที่ไกลๆ ก็มี อย่างเรือเพชรบุรี ทางบ้านแหลม บางตะบูน เอากล้วยไข่มาขาย ทางโพธารามเป็นพวกถั่วงาของไร่ของป่า ส่วนทางกรุงเทพฯ นครปฐม เป็นเรือผ้าเอามาส่งให้ตามร้าน เรือจากสุพรรณฯ ไม่มี มีแต่พ่อค้าดำเนินไปซื้อข้าวจากสุพรรณฯ มาขาย ไม่ก็เอาส้มเขียวหวาน หมาก จากบางมดมา..."

เมื่อขอให้เปรียบเทียบความคึกคักทางการค้าระหว่างนัดในกับนัดนอก แป๊ะติวไถ่ส่ายกหัวปฏิเสธ เนื่องด้วยไม่เคยไปค้าถึงนัดนอก ฉันจึงต้องเก็บข้อสงสัยนี้ไว้ จนในที่สุดก็ได้รับความกระจ่างจากเฮียวัน จรูญศรีโชติ เจ้าของสวนมะพร้าว มะปราง บริเวณปากคลองกอไผ่ ผู้ซึ่งเคยเอาของสวนไปขายที่นัดทั้งสองแห่ง และยังเคยโยงเรือมะมะม่วงขึ้นมาขายที่กรุงเทพฯ อีกด้วย

"นัดในนัดนอกมีของขายพอๆ กัน แต่นัดในมีภาษีกว่า เพราะคนมาได้จากหลายทิศทาง ทั้งจากแม่กลอง บัวงาม โพหัก หรือทางท้องนาแถบบ้านไร่ แพงพวย ต่อบ้านสิงห์ บ้านฆ้อง สามเรือน โคกอ้อย หนองอ้อ ก็มาทางคลองลัดพลี แต่นัดนอกส่วนใหญ่เป็นพวกสมุทรสงคราม แควอ้อม และนัดในยังเลิกตลาดช้ากว่า ร้านรวงก็มีมาก อีกทั้งคนดำเนินทำสวนเตียน ขายได้เงินเร็วกว่าพวกทางปากคลองที่ทำสวนตรง มีสินค้าไม่กี่อย่าง รายได้ก็ไม่แน่นอน"

"ชาวร้านส่วนมากขายของโชวห่วยหรือไม่ก็ขายเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับการทำสวน อย่างร้านนำยา ร้านขายจอบ คราด ขนาด ไม้รวก และอื่นๆ อีกจิปาถะ ส่วนพืชผักผลไม้ เขาซื้อขายกันที่นัด หรือไม่ก็ไปเหมาจากสวน บรรทุกไปขายกรุงเทพฯ อย่างผมพอถึงหน้ามะม่วง นอกจากจะบรรทุกของส่วนตัวเองแล้ว ก็ไปซื้อเหมาจากสวนคนอื่นด้วย ใส่เรือมาดใหญ่โยงไปขายกรุงเทพฯ ใครๆ ก็รอซื้อมะม่วงบางช้าง มีชื่อมากโดยเฉพาะอกร่อง...หวานสนิท"

"สมัยก่อนวันหนึ่งๆ มีเรือบรรทุกผัก พริก หอม กระเทียม โยงกันไปออกประตูน้ำกันเป็นแถวๆ เรือโยงลำหนึ่งมีเรือพ่วงไม่ต่ำกว่า 10 ลำ พอถึงประตูน้ำเรือออกันแน่น ทั้งเรือผัก เรือทราย จอดรอเจ้าหน้าที่เขาเปิดประตู ..เรือจะโยงจากคลองดำเนินไปออกประตูน้ำบางยางเข้ามาแม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูน้ำอ่างทองไปกระทุ่มแบน เข้าคลองภาษีเจริญ เรือบางลำจะแยกพวงไปขายตลาดน้ำบางแค ไม่ก็ตลาดน้ำวัดไทร แต่พวกที่ยังไม่แตกขบวนก็จะออกประตูน้ำภาษีเจริญ เข้าคลองบางหลวง แล้วพวกเรือผักจะแยกไปปากคลองตลาด อย่างเรือมะม่วงจะไปจอดที่ท่าน้ำวัดกัลยาณ์ รอพ่อค้าแม่ค้ามาตกลงซื้อขายกับเรา ถ้าต่อรองเสร็จเรียบร้อย ก็จะพายเรือเอาไปส่งให้ที่สี่แยกมหานาคหรือเทเวศน์ ซึ่งมีล้ง (โกดัง) ขึ้นของเรียงรายเป็นแถว  พวกเรือพริก หอม กระเทียม ออกจากภาษีเจริญก็ไปขึ้นของแถวทรงวาด ท่าน้ำราชวงศ์ เดี๋ยวนี้ไม่มีเรือขึ้นร่องแล้ว เขาบรรทุกทางรถกันหมดมันสะดวกกว่า แต่ก่อนมีเรือโชวห่วยจากท่าน้ำวัดสามปลื้มบรรทุกของจากกรุงเทพฯ ไปส่งตามร้านในคลองอาทิตย์ละหลายๆ ลำ ตอนนี้ยังมีอยู่ปล่าวไม่ทราบนะ"

ปัจจุบันเรือบรรทุกของโชวห่วยส่งตามร้านค้าในคลองดำเนินยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในเขตหลักห้า แต่ก็น้อยเที่ยวกว่าเดิมมาก เหลือเพียงเดือนละครั้งหรือสองครั้ง  อย่างไรก็ตามสภาพของชุมชนหลักห้า ขณะนี้สามารถทำให้ฉันสามารถวาดภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวดำเนินสะดวกในอดีตได้ง่ายขึ้น ที่นี่ยังคงมีร้านค้าเปิดดำเนินกิจการตลอดสองฝั่งคลอง ไม่ว่าจะเป็นร้านโชวห่วยที่มีอยู่คับคั่ง ร้านขายน้ำยาเคมีเกษตร  ร้านขายน้ำมันเรือ ร้านอาหาร ร้านยาสมุนไพร คลินิกหมด ฯลฯ และยังมีตลาดน้ำที่ชาวสวนและพ่อค้าแม่ค้ามาขายของกัน แม้ว่าจะซบเซากว่าเก่ามาก เห็นมีเรือพายขายอยู่ในลำคลองไม่กี่สิบลำ แต่ตลาดน้ำหลักห้าก็ดูมีเสน่ห์ด้วยยรรยากาศค้าขายแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยระหว่างชาวสวนกับชาวสวน และชาวสวนกับชาวร้าน พืชผักผลไม้ที่ชาวสวนบรรทุกเรือมาขายก็สามารถนำมาวางบนทางเดินหน้าร้านได้โดยไม่ยาก เงินทองค่าที่เป็นตารางนิ้ว ตารางเมตรอาจไม่ต้องจ่ายหากบอกกล่าวเจ้าของร้านสักนิด เพราะตลาดน้ำแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องแข่งขันทางธุรกิจแก่งแย่งลูกค้า หรือยื้้อยุดฉุดกระชากนักท่องเที่ยวให้เข้าร้านหรือลงเรือในท่าของตน เหมือนกับตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน (คลองต้นเข็ม) ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นตลาดน้ำเพื่อสนองตอบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างเดียวไปแล้ว ผลิตผลที่นำมาจำหน่ายไม่เพียงแค่ผลิตได้ในท้องถิ่น หากยังนำมาจากทั่วทุกภาคของประเทศ และมีปริมาณมากกว่าพืชผักท้องถิ่นเสียด้วยซ้ำ แม้ข้าวของที่ระลึกก็มาจากทุกจังหวัด โดยเฉพาะจากภาคเหนือและกรุงเทพฯ ซ้ำยังมีราคาสูง คนในท้องถิ่นจึงไม่ค่อยได้เข้าไปเที่ยวจับจ่าย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มากับบริษัททัวร์

ตลาดน้ำดำเนินสะดวกติดตลาดทุกวันโดยเริ่มตั้งแต่  08:00-12:00 น. ตกบ่ายภายในลำคลองต้นเข็มก็จะเงียบเหงา เหลือเพียงพ่อค้าแม่ขายที่มาตกลงซื้อขายส่งผักผลไม้ตามท่าผลไม้ อย่างท่าพจวรรณ หรือท่าเจริญสุโข ที่สร้างเป็นโกดังเก็บพืชผักให้ผู้ค้าเช่าพื้นที่่

"ตลาดน้ำดำเนินมีผลต่อความเจริญของคนดำเนินน้อยมาก  สมัยที่อยู่ปากคลองลัดพลีชาวบ้านยังมาจับจ่ายซื้อของกัน ต่อมาก็มาเน้นขายให้กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมันเป็นธุรกิจที่ประโยชน์ตกอยู่กับคนไม่กี่คน มุ่งขายของที่ระลึกมากกว่า ไม่ได้สนใจตลาดน้ำ...คนดำเนินที่พอจะได้ประโยชน์บ้างก็เห็นจะเป็นพวกเรือพายรับส่งนักท่องเที่ยว เดิมพวกนี้เป็นชาวสวน แล้วหันมารับจ้างพายเรือ ได้ค่าจ้างจากเจ้าของเรือไม่เท่าไร ส่วนเจ้าของเรือต้องเสียค่าท่า ค่าไกด์ ค่าโชเฟอร์ เหลือเงินไม่มากนัก ต้องคอยออกมาโบกรถหาลูกค้าด้วยซ้ำ ถ้าไม่มีทัวร์ประจำ พวกที่มีบริษัททัวร์มาลงก็สบายหน่อย..."

"พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ในตลาดน้ำเป็นคนดำเนิน แต่ไม่ใช่ชาวสวน มักเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางรับซื้อแล้วมาขายต่ออีกที ถ้ามาที่นี่ตอนตีห้าหกโมง จะได้เห็นชาวสวนพายเอาพืชผักมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าพวกนี้ พอซื้อขายเสร็จก็กลับไปทำสวนกัน คนดำเนินไม่มาจับจ่ายในตลาดน้ำหรอก ส่วนใหญ่จะไปซื้อกันที่ตลาดท่ารถมากกว่า..สะดวก ไปเวลาไหนก็ได้ แล้วเดี๋ยวนี้มี "นัด" (บก) แทบทุกแห่ง อย่างนัดตาปลิวที่หลักห้า พอตั้งขึ้นมา นัดน้ำคลองโพหักเงียบเลย ลองไปดูซิ"

ชาวคลองต้นเข็มผู้ไม่ต้องการบอกนาม ระบายความรู้สึกที่มีต่อสภาพตลาดน้ำดำเนินสะดวกในปัจจุบัน ซึ่งเขาเห็นว่ามีแต่ผลประโยชน์และกำลังรอวันตายไปจากชีวิตชาวดำเนินสะดวก ภาพสะพานครึ่งท่อนที่ไม่อาจเชื่อมสองฝั่งคลอง ภาพคุณตาแก่ๆ ที่สวมเสื้อผ้าแบบชาวสวนออกมายืนข้างถนนทำตัวแข็งคล้ายหุ่นยนต์ แล้วใช้มือหนึ่งโบกกวักเรียกรถที่ผ่านไปมาให้สังเกตภาพคัดเอาต์ เชิญชวนไปลงเรือเที่ยวตลาดน้ำ และเสียงทะเลาะวิวาทของแม่ค้าที่แย่งเอาสินค้าลงวางบนทางเท้าริมคลอง เป็นเสมือนประจักษ์พยานยืนยันคำพูดของชายนิรนามผู้นั้นให้มีน้ำหนัดมากยิ่งขึ้น...

เช้าตรู่วันเสาร์....ภายใต้ร่มไม้บริเวณลานโล่งข้างโบสถ์วัดปราสาทสิทธิ์ (วัดหลักห้า) เนืองแน่นด้วยผู้คนที่มาเดินจับจ่ายซื้อของในวัน "นัด" รถเครื่อง และรถยนต์จอดกันเรียงรายยาวตลอดฝั่งถนน เช่นเดียวกับในลำคลองเล็กๆ ข้างโบสถ์ก็คับคั่งไปด้วยเรือพาย เรือเครื่อง ที่นำพาชาวบ้านในลำคลองแถบหลักห้า หลักหก จนถึงหลัดเจ็ด มาหาซื้อผักผลไม้สดๆ จากทั้งชาวสวนดำเนินและสวนอัมพวา บางคนที กุ้ง หอย ปู ปลาสดใหม่ จากพ่อค้ามหาชัย ปลาทูนึ่ง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ปลาเค็ม จากแม่กลอง ข้าวสาร พริกแห้ง หอม กระเทียม กระทะ หม้อไห ถ้วยโถโอชาม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่แขวนกวัดไกวบนราวหลากสีสัน หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องประดับกระจุกกระจิก

ด้วยบรรยากาศที่ใครใคร่นำสินค้ามาค้าค้า ตามวันเวลาที่นัดหมายกันเช่นนี้ ทำให้ฉันอดรู้สึกไม่ได้ว่า นี่คือภาพจำลองของ "นัดน้ำ" ที่ถูกย้ายขึ้นมาบนบกนั่นเอง 

ข้อมูล : สุดารา สุจฉายา. (2541). ตะวันยอแสงที่คลองดำเนิน. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 179-185)
ภาพกลาง : http://school.obec.go.th/ssb/thai-viet-boat.html
ภาพ : http://gotoknow.org/blog/jubchai/166801

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น