วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ครูเผ่ แห่งบ้านฝรั่งดงตาล

ในปี พ.ศ.2453 ที่ศาสนาจารย์ฮาลิเดย์ เดินทางมาถึงเมืองไทยนั้น มีคริสเตียนชาวพม่าคือ "หม่องเผ่" และครอบครัว ได้เดินทางมาด้วย หมองเผ่เริ่มงานเผยแพร่ศาสนาในหมู่่ช่าวมอญที่ตำบลสำเภาล่ม จังหวัดอยุธยา ก่อน แล้วจึงย้ายมาประจำอยู่ที่ตำบลนครชุมน์

ข้อมูลเกี่ยวกับหม่องเผ่นั้น ไม่ค่อยปรากฏในงานเขียนของคริสตจักร แต่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านนครชุมน์และชาวบ้านม่วงเป็นอย่างดี เพราะท่านอยู่นาน มีบทบาททั้งเป็นผู้ประกาศศาสนาและหมอรักษาพยาบาลแผนใหม่ และคุณมาลัย ชุมศรี เคยร่วมงานกับท่านที่บ้านนครชุมน์

"หมองเผ่" หริอ "ครูเผ่" แห่งบ้านฝรั่ง ดงตาล

"หม่องเผ่" เป็นคริสเตียนลูกครึ่งมอญ-พม่า เผ่ ภาษาพม่า แปลว่า วัด

ภาษามอญ เรียกว่า "กู่เว่" แปลว่า  ไร่นา

ทางการมักเรียกท่านว่า "โกแวร์"

ครูเผ่ ถ่ายรูปกับครอบครัวที่บ้านนครชุมน์
หน้าสถานประกาศศาสนาบ้านฝรั่ง ดงตาล
ขวาสุดคือ ครูเผ่ ผู้อยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน
ท่านเป็นคนใจดี มีลักษณะอ้วน ท้วมๆ ผิวขาว พูดจาเพราะ เคยเรียนเป็นผู้ช่วยแพทย์จากพม่า จะเดินไปตามหมู่บ้านทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งนครชุมน์และฝั่งบ้านม่วง รักษาคนเจ็บป่วยแบบแผนใหม่ บางทีก็อยู่ให้การรักษาพยาบาลคนไข้มากที่บ้านฝรั่ง ดงตาล บางครั้งก็ถูกตามไปรักษาคนป่วย ท่านพูดจาให้กำลังใจคนไข้เก่ง เก็บค่ารักษาพยาบาลไม่แพง ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินก็ไม่เก็บ

ชาวบ้านนิยมรักษากับท่าน ในขณะเดียวกันก็นิยมรักษาแบบแผนโบราณด้วย หมอชาวบ้านที่เป็นหมอยาสมุนไพร หมอใช้เวทมนต์คาถา หมอนวด และหมอผี

ถ้าผู้ป่วยรายใดป่วยมาก ท่านจะส่งโรงพยาบาลนครปฐมของคุณหมอคลาร์ก

ท่านมิได้เป็นครูสอนหนังสือเลย แต่ชาวบ้านชอบเรียกท่านว่า "ครู" ไม่ค่อยเก่งภาษาไทย พูดภาษาพม่า มอญ และไทยได้ แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

ครูเผ่ ย้ายมาบ้านฝรั่ง ดงตาล เมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่ตอนปี พ.ศ.2475 คุณมาลัย ชุมศรี อายุ 20 ปี จบการศึกษาวิชาผดุงครรภ์ของโรงเรียนมิชชั่นจากนครปฐม ได้กลับมาช่วยในกิจการ "โรงเรียนดงตาล" และร่วมงานกับครูเผ่ อยู่ 2 ปี

คุณมาลัย และคุณทองสุก ผู้เป็นพี่สาว (เป็นหลานของออกเปอร์ ยังโดด คริสเตียนคนแรกของบ้านนครชุมน์และบ้านม่วง) ได้นับถือศาสนาคริสต์ตอนอายุได้ 15 ปี (ราว พ.ศ.2470) สาเหตุเพราะคุณปู่สนับสนุนให้หลานสาวทั้งสองไปเรียนโรงเรียนคริสต์ที่นครปฐม เพราะเห็นว่าโรงเรียนประชาบาลที่วัดม่วง ซึ่งเพิ่งตั้งใหม่ไม่นานนั้น มีเด็กเยอะ ครู 1 คน สอนเด็ก 120 คนจะรู้หนังสือช้า จึงไปเรียนที่นครปฐม และสนใจในคริสตศาสนา จึงหันมานับถือมั้งสองพี่น้อง ทั้งๆ ที่พ่อไม่ได้นับถือ

"โรงเรียนดงตาล" นี้อยู่ในบริเวณเนื้อที่ของสถานประกาศบ้านนครชุมน์ เปิดสอนประถม 1-4 ไม่จำเป็นต้องเป็นคริสเตียน สอนวิชาเลข ภาษาไทย วาดเขียน และศาสนาคริสต์ ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กจากบ้านม่วงมาเรียน (ลูกชาวบ้านน้อย มักเป็นลูกชาวจีนที่อยู่ใต้วัดม่วง) รองลงมาเป็นเด้กบ้านหัวหิน บ้านหม้อ เด็กบ้านนครชุมน์มีน้อยมาก ในช่วง พ.ศ.2475-76 ประถม 1-4 มีนักเรียน 80 คน

แสดงว่าชาวบ้านระยะหลังให้ความสนใจเรียนกับสถานประกาศนี้มากกว่าสมัยคุณหมอคลาร์ก เวลาสอบ นักเรียนโรงเรียนดงตาลจะต้องมาสอบสมทบที่วัดม่วง ตามคำสั่งหรือระเบียบของอำเภอ

กิจการของบ้านฝรั่ง ดงตาล ในระยะที่คุณมาลัย ชุมศรี มาสอนหนังสือนี้ มีทั้งด้านเผยแพร่ศาสนา ให้การรักษพยาบาลแผนใหม่ และให้การศึกษา

สองหน้าที่แรกเป็นภาระหน้าที่ของครูเผ่ ส่วนการศึกษามักจ้างครูไทยสอน

คุณมาลัย เล่าถึงเรือนหรือบ้าน ในสถานประกาศนครชุมน์นี้ มี 3 หลัง ในเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ

หลังที่ 1 เป็นโรงเตี้ยๆ ชั้นเดียว ทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจากเป็นเรือนยาว ใช้เป็นโรงเรียนดงตาล
หลังที่ 2 เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น สวยงาม หลังคามุงกระเบื้องเรียกว่า "บ้านมิชชั่น" ชั้นบนเป็นห้องพักของมิชชั่นและห้องพักครู ชั้นล่างมีห้องพัก ห้องพยาบาล และห้องสวด
หลังที่ 3 เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูง เป็นบ้านพักของครูเผ่


ปัจจุบันเหลือบ้านพักครูเผ่หลังเดียวในลักษณะรกร้าง

บ้านฝรั่ง ดงตาล นี้เคยจะถูกปล้นใน พ.ศ.2475 เพราะนึกว่าร่ำรวยมาก ผู้ที่จะมาปล้นคือ "เสือธง" เป็นหนุ่มรูปหล่อ อายุประมาณ 30 ปี ก่อนที่จะเข้าปล้นได้ประกาศก่อน และได้ "เข้าพิธี" นอกรั้ว แต่พิธีล่ม จึงไม่ได้ดำเนินการปล้น

ภายหลังเสือธงไปปล้นที่อื่น ถูกยิงที่น่องบาดเจ็บมาให้ครูเผ่ทำแผลให้หลายครั้ง

ชาวมอญทั้งสองฝั่งหันมานับถือศาสนาคริสต์น้อยมาก ดังจะเห็นว่า นอกจาก ออกเปอร์ ยังโดด (เกิดประมาณ พ.ศ.2400) ที่เข้ารีตเป็นรายแรกแล้ว ต่อมาก็มีกำนันเชาวน์ เจิมประไพ (เพราะได้ภรรยาคริสเตียน ซึ่งเป็นน้องสาวศาสนาจารย์จากอยุธยามาสอนที่ดงตาลนี้) และหญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งชื่อ "รน" 

รุ่นลูกหลานก็มี คุณมาลัยและคุณทองสุก หลาน(ปู่) ออกเปอร์ ยังโดด และลูกกำนันเชาวน์

"ชาวมอญเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัดมาก ใครจะอธิบายอย่างไรก็รับฟัง แต่ไม่เอาด้วย" คุณมาลัย ชุมศรีกล่าว

เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นขึ้นที่อำเภอบ้านโป่ง บ้านโป่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ ผู้คนต่างหลบภัยทางอากาศ กิจการเผยแพร่ศาสนาและบ้านฝรั่ง ดงตาล คงจะยุติ และถูกทิ้งร้างไป เพราะคุณหมอและแหม่มคลาร์กแห่งคริสตจักรนครปฐมถูกกักตัวไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใน พ.ศ.2484 ในฐานะอยู่ฝ่ายพันธมิตร เมื่อสงครามยุติท่านได้รับการปล่อยตัวกลับมาดำเนินงานของท่านที่นครปฐมดังเดิม แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดไปฟื้นฟูบ้านฝรั่ง ดงตาล อีกเลย

"บ้านฝรั่ง ดงตาล" "หมอคลาร์ก" แหม่มคลาร์ก" โดยเฉพาะ "ครูเผ่" จึงอยู่ในความทรงจำที่ดีของชาวบ้านนครชุมน์และชาวบ้านม่วงจวบจนทุกวันนี้


แหม่มคลาร์ก และคุณหมอคลาร์ก สองในสามท่านแรก
ที่บุกเบิกตั้ง "บ้านฝรั่ง ดงตาล" บ้านนครชุมน์ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

อ่านเพิ่มเติม
บ้านฝรั่ง ดงตาล ตอนที่ 1
บ้านฝรั่ง ดงตาล ตอนที่ 2

ที่มา :
สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์. (2536). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลุ่มน้ำแม่กลอง : ศึกษากรณีชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี. ลุ่มน้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม. มหาวิทยาลัยศิลปากร : พิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์. (หน้า 101-106) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น