วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ศรีศัมพูกปัฏฏนะ เมืองเก่าราชบุรีที่หายสาบสูญ

หลายท่านอาจเคยได้ยินที่หน่วยราชการได้พยายามหยิบเอาคำว่า "เมืองชยราชบุรี" ออกมาประชาสัมพันธ์แสดงให้เห็นว่าราชบุรีเป็นเมืองเก่าโบราณ ทำให้หลายคนลืม "เมืองศัมพูกปัฏฏนะ"  ไปเลยทีเดียว เมืองนี้ก็เป็นเมืองเก่าเช่นเดียวกันและปัจจุบันก็ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ จ.ราชบุรีด้วย ผมได้อ่านพบในหนังสือ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ราชบุรีและจังหวัดราชบุรี ซึ่งพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2544 เลยพยายามไปค้นหามาจาก Google  ค้นไปค้นมานานพอสมควร จึงได้ไปพบ Blog ชื่อวรนัย http://www.oknation.net/blog/voranai  ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ  โพสต์โดยคุณศุภศรุต เมื่อวันที่ 13 ส.ค.2552 พร้อมมีภาพประกอบที่หาชมได้ยาก เลยคัดลอกมาเขียนไว้ในนี้ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่คนราชบุรีต่อไป ลองอ่านดูนะครับ

“ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ
"จารึก" หลักหนึ่งพบในปราสาทร้าง ที่ตั้งอยู่สุดขอบบารายตะวันออก (East Baray) ในเขตเมืองพระนครหลวง เป็นจารึกสำคัญที่หลงรอดจากการ “ทำลาย”มาในแต่ละยุคสมัย

ปราสาทร้างหลังนั้นมีชื่อภาษาเขมรว่า “ปราสาทตอว์ (Parsat Tor)” หรือ “ปราสาทราชสีห์” เนื่องจากคำว่า “ตอว์” หรือ “ตาว” ในภาษาเขมรแปลว่า “สิงโต” ครับ

ปราสาทตอว์ เป็นปราสาทร้าง ในรูปแบบของอโรคยศาล (Arogaya-sala ,Hospital Chapel) หรือ โรงพยาบาลแห่งพระพุทธเจ้า กายสีน้ำเงิน พระนามว่า “ไภษัชยไวฑูรยประภาสุคต” แห่งนิกายพุทธศาสนา “วัชรยานบายน”

ชื่อปราสาทมากมายในประเทศกัมพูชาหรือในประเทศไทยก็ตาม ต่างก็ไม่พ้นชื่อที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ จากประสบการณ์ ความจำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ หรือความประทับใจของผู้คนที่ “ย้าย” ชุมชนเข้ามาครอบครองเหล่าพื้นที่ใกล้ปราสาทที่สาบสูญและสิ้นมนตราแห่ง “อำนาจ” ของเหล่าอาณาจักรโบราณเหล่านั้น

เช่นเดียวกับปราสาทตอว์ คงเพราะปราสาทตั้งอยู่ในที่รกร้าง ป่ารกชัฏเข้าปกคลุม รูปสลักสิงโตคู่ตรงทางเข้าคงเป็นที่มาของชื่อปราสาทแน่ ๆ
ถึงจะไม่ใช่เหตุผลนี้ ก็ใกล้เคียงล่ะครับ !!!

“จารึก” หลักสี่เหลี่ยมแบบหลักศิลาจารึก(เจ้า)ปัญหาของกรุงสุโขทัย หรือหลักกิโลเมตรเมืองไทย กล่าวถึงเรื่องราวแห่ง “ชัยชนะ” ของ “พระบรมโพธิสัตว์ชัยวรมัน - พระราชาผู้ปรารถนาความดีและประโยชน์อย่างยิ่งแก่มวลสัตว์โลก” ที่มีเหนือดินแดนตะวันตก

มันเป็นหลักฐาน “สงคราม” และชัยชนะของพระองค์เหนือเหล่า “พระราชาตะวันตก” บนแผ่นดินสุวรรณภูมิ !!!

อาณาจักรของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากพระนครหลวงได้ขยายออกไปทางทิศตะวันตก และได้ปราบปราม ครอบครองหัวเมืองดั่งเดิมตามลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ มาจนถึงลุ่มน้ำแม่กลอง หัวเมืองที่ยังเป็นวัฒนธรรมแบบ "ทวารวดี"

สอดรับกับหลักฐานจาก “จารึกปราสาทพระขรรค์” ในเมืองพระนครหลวง ที่กล่าวถึงการสร้าง “วิษัยนคร”(จังหวัด)  ขึ้นใหม่ 5 – 6 แห่ง ภายหลังชัยชนะของพระองค์ “อาณานิคม” ใหม่ของมหาอาณาจักรกัมพุเทศเกิดขึ้นแล้วที่ปลายทิศอัสดง !!!

“วิษัยนคร” ที่ถูกสถาปนานครขึ้นใหม่ 6 แห่ง มีนามเมืองตามจารึกว่า
  • เมืองศรีชัยวัชรปุระ (เพชรบุรี)
  • เมืองศรีชัยราชปุระ(ราชบุรี)
  • เมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์)
  • เมืองสุวรรณปุระ (เนินทางพระ- สุพรรณ ?)
  • เมืองสุพรรณภูมิปุระ (อโยธยา ?)
  • และเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ (สระโกสินารายณ์)
แต่ทว่า ชัยชนะของพระองค์ก็ไม่ได้ยั่งยืนนัก ปราสาทและบ้านเมืองทั้งหลายได้เสื่อมสลายลงในเวลาไม่ถึงศตวรรษ !!!



ศรีศัมพูกปัฏฏนะ คือ เมืองโบราณโกสินารายณ์
“ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” หรือชื่อใหม่ว่า ”เมืองโบราณโกสินารายณ์” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ตามถนนสายบ้านโป่ง – กาญจนบุรี ในเขตตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ครับ



จากภาพทางอากาศก่อนปี 2502 ทำให้เราได้เห็น “ผังเมือง” ของวิษัยนคร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” อย่างชัดเจน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความกว้างเกือบเท่ากับความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

ใจกลางเมืองเป็นที่ตั้งของ "จอมปราสาท" ปราสาทหินขนาดย่อม ซึ่งดูจากร่องรอยของหินทรายที่กระจัดกระจายอยู่โดยรอบ ที่ใช้เป็นวัสดสำหรับกรอบประตู หน้าต่าง ตามแบบแผนการก่อสร้างปราสาท "สุคตาลัย" (สถานบูชาพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุไวฑูรยประภา หรือ พระอวโลกิเตศวร ประจำโรงพยาบาล "อโรคยศาล" ในยุคนั้น

วิษัยนคร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” มีสระน้ำอยู่ภายในตัวเมืองรวม 4 ทิศ เรียกกันตามความนิยมในยุคหลังว่า สระนาค สระจรเข้ สระมังกร และสระแก้ว ซึ่งก็แทนความหมายของมหาสมุทรทั้ง 4 ที่รายล้อม "เขาพระสุเมรุ" ที่สถิตแห่งพระพุทธเจ้าสูงสุดบนสรวงสวรรค์

หลังจากครอบครองดินแดนตะวันตก และสถาปนาวิษัยขึ้น 6 แห่ง เมืองขนาดย่อม “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” จึงได้ถูกสร้างขึ้นตามเส้นทางน้ำแม่กลอง เพื่อการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่าง “เมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์)” เมืองหลักของอาณานิคมนี้ กับ เมืองลวปุระ (ลพบุรี) และสุพรรณภูมิปุระ (อยุธยา) หัวเมืองใหญ่ของอาณาจักร

“สงคราม” ที่ไม่มีรายละเอียด... การเข้ายึดครองแผ่นดินลุ่มน้ำแม่กลองของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คงไม่ได้ทำได้อย่างง่ายนัก จากหลักฐานที่เราพบ ทั้งที่ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ”(โกสินารายณ์) และเมืองศรีชัยสิงหปุระ(ปราสาทเมืองสิงห์) คือ การค้นพบ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี" ทั้งสองแห่งครับ

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
“พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี” เป็นรูปเคารพสำคัญของลัทธิ "โลเกศวร" ซึ่งแตกออกมาจากศาสนาพุทธนิกาย “วัชรยานตันตระ” ซึ่งเป็นคติที่นิยมเฉพาะในช่วงสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เท่านั้นครับ เขาถือพระโลกเกศวรเปล่งรัศมีว่า "พระองค์เป็นประหนึ่งวิญญาณของจักรวาลที่ได้เปล่งประกายสารัตถะแห่งการช่วยเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากภาวะทั้งปวง และความรอบรู้ชั้นสูงสุดยอดที่จะเผยแผ่ให้คงอยู่ได้ยาวนานตลอดไปด้วยจำนวนมากมายที่มีอยู่ของบรรดาพระพุทธองค์ทั้งหลายอันอยู่รอบพระวรกาย" 

รูปสลัก “เปล่งรัศมี” อันแสดงถึงอานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ จะพบเฉพาะในบ้านเมืองหรือ “เขต (Areas)” ที่มีความขัดแย้งหรือสงครามที่รุนแรง

ช่นเดียวกับที่ดินแดน “ตะวันตก” แห่งนี้ !!!

เมื่อสิ้นอำนาจแห่งองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 วิษัยนครแห่งนี้ก็ยากแก่การป้องกันตัว “สงครามครั้งใหญ่” คงกลับมาเยือนอีกหลายครั้ง ทั้งเหตุการกระด้างกระเดื่องแยกตัวไม่ขึ้นกับกษัตริย์เมืองพระนครพระองค์ใหม่โดยเหล่ากมรเตงชคต (ผู้ปกครอง)เดิม

หรือจากเหตุการ "แย่งชิงอำนาจ" ในอาณานิคม รวมทั้งประเด็นการตามทำลายล้าง “สัญลักษณ์” และ“อำนาจ” อาณาจักรแห่งพระพุทธเจ้าโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ผู้ “ชิงชัง” ระบบ “ศาสนจักร”เดิม

และที่คงลืมไม่ได้ก็คือ “เหล่าพระราชาตะวันตก” อาจหวนคืนกลับมา ทวงแผ่นดินแม่กลองกลับคืนไป !!!

คร “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” จึงปรากฏร่องรอยของความขัดแย้ง รูปเคารพ “เปล่งรัศมี” ที่สลักไว้ปรามเหล่าผู้คนในอาณาจักรให้เกรงกลัวและภักดี ก็ถูกทุบทำลายอย่างย่อยยับ

“ปราสาทแห่งพระพุทธเจ้า” ก็มีร่องรอยถูกทำลายให้พังทลายลง ดั่งเพื่อถมทับอำนาจเก่าให้สาบสูญจมธรณีไป ......ตลอดกาล !!!

ซากเมืองศรีศัมพูกปัฏฏนะ-จอมปราสาทกลายเป็นศาลพระภูมิประจำโรงงาน
ซากเมืองโบราณ “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” ได้กลายมาเป็น เมืองโกสินารายณ์ มีการพัฒนามาโดยตลอด จากเมืองที่ถูกคลุมด้วยป่ารกกลายมาเป็นเมืองตามเส้นทางแห่งความเจริญ คลองชลประทานตัดผ่านเมือง กองหินที่เคยเป็นปราสาทถูกรื้อเอาหิน “ศิลาแลง” ไปใช้ประโยชน์ สระน้ำทั้งสี่ตื้นเขินและถูกไถถม คงเหลือแต่ สระโกสินารายณ์ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับกำแพงเมืองเดิม แนวกำแพงเมืองทางทิศเหนือ กลายมาเป็นคันคลองที่มีถนนอยู่ด้านบน เมื่อมีการพัฒนาและขุดลอก”สระโกสินารยณ์”

หลัง ปี 2519 เครือซิเมนต์ไทยได้เข้าดำเนินกิจการธุรกิจกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน อันเป็นที่ตั้งของ "จอมปราสาท" จัดสร้างเป็นโรงงานขนาดใหญ่ชื่อว่า “โรงงานสยามคราฟท์” ในเครือบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) จอมปราสาทจึงกลายไปเป็นเนินดินทำหน้าที่เป็นศาลพระภูมิประจำโรงงาน สระโกสินารายณ์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของเทศบาลตำบลท่าผา ก็ได้ดำเนินการพัฒนาปรับเปลี่ยน "โบราณสถาน" ที่เหลืออยู่ ให้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชน

หากท่านต้องการเข้าไปเยี่ยมเยือน นครตะวันตกที่สาบสูญ อย่าง “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” ที่สระโกสินารายณ์ ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ของโรงงาน เข้าไปเยี่ยมชมเนิน "จอมปราสาท" ได้เลยนะครับ วันนี้ กรมศิลปากรกับภาคธุรกิจเข้าได้เจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หุหุ


เมื่ออำนาจและเวลาผันผ่านไป
คงทิ้งไว้แต่เศษซากแห่งศักดิ์ศรี
เศษละออง กองทับ ใต้ปัฐพี
ฝังความดี ความร้าย ให้จดจำ"

คลิกดูภาพเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูลและภาพ :
ศุภศรุต. (2552).วรนัย : “ศรีศัมพูกปัฏฏนะ” วิษัยนครตะวันตก .....ที่สาบสูญ . [Online]. Available : http://www.oknation.net/blog/voranai/2009/08/13/entry-1. [2553.สิงหาคม 4].

4 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่น่าสนใจมากครับ...

    เรื่องราวอย่างนี้สมควรจะเผยแพร่ให้สาธารณะชนได้รับทราบครับ
    จึงเกิดคำถามตามมาว่า สถานศึกษา สถาบันอุดมศึกษา องค์กรทางวัฒนธรรม ภาครัฐ น่าจะให้ความใส่ใจ สนใจ
    จึงเกิดความคิดแบบเชิญชวน จะว่าท้าชวนก็ได้ คณะมนุษย์/สังคม ม.ราชภัฎจอมบึง น่าจะรับลูกรับเรื่อง ขยายเรื่องราวนี้
    และอยากสะกิด สภาวัฒนธรรม อ.บ้านโป่ง / เทศบาลท่าผา จัดเวทีย่อยๆเพื่อเปิดประเด็นเรื่องนี้ คิดว่า ท่านผู้รู้อย่างลุ่มลึกเช่น อาจารย์ ศรีศักดิ์ วัลิโภดม นักโบราณคดีมนุษวิทยา น่าจะถูกเชิญ มาให้ความกระจ่างได้ดีที่สุดครับ
    ท้ายสุด ขอบคุณ คุณ สุชาต จันทรวงศ์ ที่นำบทความนี้มาเผยแพร่ครับ

    วุฒิ บุญเลิศ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ24 ตุลาคม, 2553 23:16

    น่าจะเป็น กุสินารา ถ้าจริง พระแท่นดงรังก็เป็นที่ปรินิพานจริง
    และพุทธศาสนาพุทธก็เกิดในไทยนื่เอง ไม่ใช่อินเดีย
    ชมพูทวีปก็คือ ไทย พม่า ลาว เขมร นี่เอง

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะคะ พอดีต้องการไปทำสารคดีประวัติศาสตร์

    ตอบลบ
  4. โรงงานอุตสาหกรรมสร้างใหม่ในที่ๆเหมาะสม ที่ไหนก็สร้างได้!! แต่เมืองโบราณซึ่งเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของคนทั้งชาติ ควรนำกลับมาเป็นสมบัติของชาติ เพื่ออนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ความเป็นมาของประวัติศาสตร์ต่อไปในภายภาคหน้า (ถึงเวลาทวงคืนเมืองโบราณทั้งเมืองกลับมาเป็นสมบัติชาติได้แล้ว)

    ตอบลบ