วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โอ่งลายมังกร (ตอนที่ 2 : ที่มา)


จากหนังสือราชบุรีของสำนักพิมพ์สารคดี เขาได้เอกสารข้อมูลมาว่า คนที่เข้ามาบุกเบิกอุตสาหกรรมโอ่งที่ว่านี้ชื่อนายจือเหม็ง แซ่อึ้ง จากอำเภอแต้จิ๋ว ซึ่งสนใจงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็ก และเคยเป็นนายช่างอยู่ที่เมืองจีน เดินทางมาไทยตอนอายุ 23 ปี แล้วมาทำงานที่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาเฮ็งเส็ง เชิงสะพานซังฮี้ ถนนสามเสน ทำงานดังกล่าวได้ปีเศษ ระหว่างนั้นในปี พ.ศ.2476 เดินทางมาจังหวัดราชบุรี ไปเดินลุยท้องนาและพบว่าดินที่จังหวัดนี้เหมาะที่จะทำเครื่องปั้นดินเผามาก เพราะเนื้อดินดี สีสวย ทนไฟ จึงลาออกจากโรงงานที่กรุงเทพฯ มาเข้าหุ้นกับเพื่อนเปิดโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเถ้าเซ่งหลีที่จังหวัดราชบุรี แต่กิจการล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน เพราะต้องเจอกับเรื่องใหม่ ทั้งเรื่องปั้นดินและเรื่องบริหารโรงงาน ซึ่งดูจะไม่เป็นใจให้สักอย่าง ทำให้หุ้นส่วนบางคนถอนตัวออกไปก่อน แต่แล้วภาวะเป็นใจก็มาถึง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่สินค้านำเข้าจากเมืองจีนต้องหยุดชะงักไป เครื่องเคลือบประเภทโอ่งจึงขาดแคลน ตอนนี้แหละที่โรงงานของนายจือเหม็งเริ่มหาทางผลิตสินค้าได้ลงตัว จึงเข้ามาป้อนความต้องการของตลาดตรงนี้ได้เต็มๆ โดยเฉพาะไห ได้รับใบสั่งสินค้ามากมายจากโรงงานน้ำปลาและโรงเหล้า ขณะเดียวกันบรรดาโรงงานเครื่องปั้นดินเผาในไทยเริ่มปรับความชำนาญและความเข้าใจใช้ดิน หลายโรงงานจึงหันมาผลิตโอ่ง เพื่อทดแทนโอ่งเคลือบลายมังกรและโอ่งเคลือบสีเขียวของจีน โดยทำเป็นโอ่งเคลือบยังไม่เขียนลาย ระหว่างนี้นายจือเหม็งกับสหาย ชื่อนายซ่งฮง ซึ่งร่วมกิจการกันตั้งแต่แรกจึงแยกจากหุ้นส่วนอื่นๆ มาตั้งโรงงานใหม่ชื่อเถ้าแซไถ่ ผลิตโอ่งเคลือบเขียนลาย โดยติดต่อซื้อดินขาวจากจีนมาเขียนลาย ลูกค้าจึงแห่มาซื้อของที่โรงงานนี้ ส่วนโรงงานอื่นๆ ที่ยังไม่มีดินขาวพยายามขวนขวายหากันยกใหญ่ ภายหลังพบว่าดินขาวที่บ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรงตามสเป๊ก จึงสั่งซื้อเข้ามาเป็นวัสดุ และสำคัญที่ทำให้โอ่งลายมังกรบูมขึ้นมา ขณะที่โอ่งลายมังกรจากราชบุรีขึ้นชื่อว่าคงทนด้วยเนื้อที่แกร่ง น้ำไม่รั่วซึม ไม่เกิดตะไคร่ ทำความสะอาดง่าย ขึ้นชื่อลือชามานับแต่นั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น