ที่ตั้งเมืองโบราณคูบัว
เป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ พบหลักฐานประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดีเป็นจำนวนมาก ลักษณะแผนผังของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ขนาดความกว้าง ๘๐๐ เมตร ความยาว ๒,๐๐๐ เมตร บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นเนินดินธรรมชาติอยู่บนลานตะพักชายฝั่งทะเล สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑-๒ เมตรและสูงประมาณ ๕ เมตรจากระดับน้ำทะเล มีลำน้ำไหลผ่าน ๒ สาย คือ ห้วยคูบัวและห้วยชินสีห์ พื้นที่ทางด้านทิศเหนือของเมืองเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทางด้านทิศตะวันตกเป็นเขตเนินเขาและภูเขาสูง ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบลุ่มมี “แม่น้ำอ้อม” ไหลผ่าน ซึ่งแม่น้ำอ้อมเป็นทางน้ำสายเก่าของแม่น้ำแม่กลอง ตัวเมืองคูบัวตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำอ้อมประมาณ ๒.๗ กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำแม่กลองประมาณ ๙.๑ กิโลเมตร ส่วนพื้นที่ทางทิศใต้ของเมืองเป็นที่ราบลุ่มลาดลงสู่ทะเล โดยอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันในเขตจังหวัดสมุทรสงครามประมาณ ๒๕ กิโลเมตร
โบราณสถานที่พบในเขตเมืองคูบัว
คูเมืองกำแพงเมือง ในเมืองคูบัวพบว่ามีการก่อสร้างแนวคูเมืองกำแพงเมือง อันประกอบ ด้วยคูน้ำ ๑ ชั้นอยู่ระหว่างคันดิน ๒ ชั้น ขนาดของคูน้ำ มีความ กว้างโดยเฉลี่ยประมาณ ๕๐ เมตร คันดินกว้างประมาณ ๕๐ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร ยกเว้นคูเมืองทางด้านทิศเหนือ ที่ได้มีการดัดแปลงมาจากลำห้วยธรรมชาติ คือ ห้วยคูบัว
ศาสนสถาน ปัจจุบันพบร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานมากกว่า ๖๐ แห่ง โบราณสถานที่พบส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องในพุทธศาสนาทั้งลัทธิเถรวาทและมหายาน มีการตกแต่งส่วนฐานโบราณสถานด้วยประติมากรรมดินเผาและปูนปั้นเป็นภาพเล่าเรื่องชาดกหรือศาสนนิทาน วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นอิฐขนาดใหญ่ ความกว้าง ๑๗-๑๘ เซนติเมตร ความยาว ๓๔–๓๕ เซนติเมตร และความหนา ๘–๑๐ เซนติเมตร ดินเหนียวที่ใช้เผามีส่วนผสมของแกลบข้าวซึ่งมีเมล็ดใหญ่ โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐ พบเพียงสองแห่งที่มีการใช้ศิลาแลงเป็นฐานราก คือ โบราณสถานหมายเลข ๑๘ และโบราณสถานหมายเลข ๓๑
โบราณวัตถุที่ขุดค้นพบในเขตเมืองคูบัว
ประติมากรรมปูนปั้นและดินเผาที่ใช้ประดับอาคารโบราณสถาน เช่น พระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เทวดาหรือบุคคลชั้นสูง บุคคลสามัญ อมนุษย์ จำพวกยักษ์ ครุฑ และสัตว์ต่างๆ เศษภาชนะดินเผา แวดินเผา ตะคัน ตะเกียงดินเผาที่ประทับลวดลาย ลูกกระสุน เบี้ยดินเผา นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้เครื่องประดับและอาวุธต่างๆที่ทำจากหิน แก้ว โลหะ เช่น ตุ้มหู แหวน กำไล ลูกปัด หินบด เป็นต้น โบราณวัตถุเหล่านี้มีรูปแบบที่สืบเนื่องมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ แต่มีพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่สูงขึ้นหลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานที่พบในเขตเมืองคูบัวและบริเวณใกล้เคียง ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเมืองคูบัวเจริญอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดีในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑–๑๖
การเดินทาง จากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กม.
การเดินทาง จากตัวเมืองราชบุรี ไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น