วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2308 มังมหานรธายึดเมืองราชบุรี ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก

หลังจากที่เสียเมืองราชบุรีในปี พ.ศ.2302 โดยพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์แห่งพม่า ตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 4 วันก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ต้องเลิกทัพกลับไปก่อนเนื่องจากพระเจ้าอลองพญา ถูกสะเก็ดปืนใหญ่แตกบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับพม่าที่เขตแดนจังหวัดตาก (ดูรายละเอียด)

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.mono2u.com/review/content/siyama/
หลังจากพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ามังระได้เสวยราชเป็นกษัตริย์แห่งพม่าต่อมา และได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งต้องเสียเอกราชให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปีกุน พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นสงครามครั้งที่ 24 ถือเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของการรบระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า

พระเจ้ามังระเห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีกำลังอ่อนแอ จึงได้จัดกองทัพให้แยกย้ายกันเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทั้งทางเหนือและทางตะวันตก โดยมี เมขะระโบ เป็นแม่ทัพคุมพล 5,000 คน ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทางถึงเมืองกาญจนบุรี ได้สู้รบกับกองทัพของ พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจ ซึ่งมีจำนวนพลเพียง 3,000 คน ตั้งรักษาเมืองอยู่ กองทัพพระพิเรนทรเทพ มีกำลังน้อยกว่าจึงแตกหนีพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า

กองทัพพม่า ยกทัพติดตามเข้ามาตามลำน้ำราชบุรี (ลำน้ำแม่กลอง) มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแก ตำบลโคกกะออม และดงรังหนองขาว (อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบัน) ในช่วงเวลานั้นบรรดาหัวเมืองต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาไม่มีกำลังทหารรักษาอยู่ เพราะถูกเกณฑ์เข้าไปรักษาพระนครเสียหมด กองทัพพม่าจึงเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองต่างๆ ได้โดยง่ายดาย

กองทัพที่ถูกเกณฑ์ให้มารบกับพม่าที่เมืองราชบุรีนั้น จัดเกณฑ์มาจากหัวเมืองทางปักษ์ใต้ โดยจัดเป็นกองทัพเรือ 1 กองทัพ และกองทัพบก 1 กองทัพ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นแม่ทัพ
  • กองทัพบก ยกมาถึงตำบลตำหรุ เขตอำเภอเมืองราชบุรี (น่าจะเป็น ต.ตำหรุ ใน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี -ผู้จัดทำ)
  • กองทัพเรือ ยกมาถึงตำบลบางกุ้ง เขตอำเภอบางคณฑี จ.สมุทรสงคราม 
ทั้งสองกองทัพถูกทัพพม่าตีแตกพ่ายไปทั้งหมด และพม่าก็ยกทัพไล่ติดตาม เที่ยวปล้นสดมภ์ทรัพย์สมบัติ แล้วก็กลับมาปักหลักยังเมืองราชบุรี  กองทัพหน้าของพม่าที่เข้ามาเที่ยวปล้นสะดมภ์ทรัพย์และก่อกวนในพระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ณ เวลานั้น  มีเพียง 2 กองทัพเท่านั้น คือ ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี 1 กองทัพจำนวนพล 5,000 คน และตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์อีก 1 กองทัพจำนวนพลประมาณ 5,000 คน รวมพลเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความปั่นป่วนภายในพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้พม่ากำเริบได้ใจ พม่าจึงส่งกองทัพใหญ่เข้ามาสมทบ ทั้งทางเหนือและทางตะวันตกอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้


เมืองราชบุรี ถูกยึดก่อนเสียกรุงศรีฯ
ในเดือน 12 ปีระกา พ.ศ.2308 มังมหานรธา ก็ยกกองทัพมีจำนวนพล 30,000 คนจากเมืองทวายมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองราชบุรี แล้วจัดเมขะระโบ คุมกองทัพเรือยกไปทางแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน เพื่อเข้าตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี ขึ้นไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา

ส่วนตัวมังมหานรธา คุมกองทัพบกยกไปทางเมืองสุพรรณบุรี ตรงไปยังกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน เพื่อไปสมทบกับกองทัพใหญ่ของพม่าที่ยกมาแต่ทิศเหนือ การสงครามในครั้งนี้ใช้เวลาเป็นแรมปี กองทัพพม่าตีหัวเมืองทางภาคใต้ได้เกือบทั้งหมด และล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่กว่า 1 ปี จนกระทั้งสามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้เมื่อ วันอังคาร เดือนห้า ขึ้น 9 ค่ำปีกุน พ.ศ.2310


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 245-247)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น