วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2302 เสียเมืองราชบุรี

เมื่อวันที่ 9 ก.ค.2554 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้นำภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า "ขุนรองปลัดชู" มาฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ผลิตโดย  บริษัท บีบี พิคเจอร์ จำกัด เป็นภาพยนตร์ที่สร้างมาจากพงศาวดารในช่วงปี  พ.ศ.2302 ในสงครามการรบระหว่างไทยกับพม่าครั้งที่ 22   เหตุการณ์ของขุนรองปลัดชูนี้ เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจนกระทั่ง เมืองราชบุรีของเราได้เสียให้แก่พม่าอยู่เป็นเวลาหลายวัน  โดยเรื่องราวสงครามครั้งนี้ ได้ถูกบันทึกไว้ในหลายแห่ง ผู้จัดทำได้พยายามรวบรวมสรุปได้พอสังเขป ดังนี้     


เมื่อสมเด็จพระพระบรมราชาที่ 3 (พระที่นั่งสุริยามรินทร์หรือเจ้าฟ้าเอกทัศน์)  ขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ยังไม่ทันถึงปี ก็มีศึกพม่ามาติดพระนคร ซึ่งแต่เดิมพม่าและไทยยังคงเป็นไมตรีกันอยู่ แต่ด้วยเหตุที่ไทยไม่ให้ความร่วมมือในการจับขุนนางมอญที่พาพวกไปปล้นทรัพย์เมืองสิเรียมของพม่าแล้วหนีไปทางอินเดีย แต่เรือถูกพายุหลงทางมาทางมะริด พม่าขอให้ไทยช่วยจับส่งพม่า แต่ไทยกลับทำเฉย เป็นเหตุให้พระเจ้าอลองพญากษัตริย์ของพม่าทรงขัดเคืองไทยยิ่งนัก

ปีพุทธศักราช 2302 พระเจ้าอลองพญา มีรับสั่งให้มังระ ราชบุตรคนที่ 2 และมังฆ้องนรธา ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองทวายซึ่งแข็งเมืองอยู่ แล้วจึงเดินทัพเลยต่อมาเข้าตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีของไทย โดยอ้างว่าไทยทำให้เสียไมตรีโดยไม่ยอมจับผู้ร้ายขุนนางมอญส่งให้

การตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีเป็นไปโดยง่ายได้ ยังความประหลาดใจให้พระเจ้าอลองพญาว่า "เหตุใดทัพไทยจึงอ่อนแอนัก" และคิดกำเริบว่ายกทัพมาแล้วก็ลองเข้าตีกรุงศรีอยุธยาด้วยเลย  จึงสั่งให้จัดทัพที่ตะนาวศรี แล้วเดินทัพผ่านลงมาทางด่านสิงขร เข้าตีลงมาเรื่อยๆ

ในตอนที่กรุงศรีอยุธยา ได้รับทราบข่าวจากพระยาตะนาวศรี ว่ามีศึกพม่ามาประชิดเมือง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีรับสั่งให้จัดกองทัพไปรักษาเมืองมะริด ดังนี้

ทัพหลัก
  • พระยาราชรองเมือง ตำแหน่งว่าที่พระยายมราช เป็นแม่ทัพถือพล 3,000 คน
  • พระยาเพชรบุรี เป็นกองหน้า
  • พระยาราชบุรี เป็นยกกระบัตร 
  • พระยาสมุทรสงคราม เป็นเกียกกาย
  • พระธนบุรี กับพระนนทบุรี เป็นกองหลัง
ทัพหนุน : พระยารัตนธิเบศ ตำแหน่งว่าที่จตุสดมภ์กรมวัง คุมกองทัพจำนวน 2,000 คน เป็นกองหนุน โดยมีขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษชัยชาญเป็น ผู้ทรงวิทยาอาคม มีชื่อเสียงเลื่องลือในการรบ และคงกระพันชาตรี เข้ามารับอาสาพร้อมกับไพร่ 400 คน ขอไปรบกับพม่า  ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นกองอาทมาต (หน่วยรบพิเศษ) ร่วมทัพมากับพระยารัตนาธิเบศ

ทัพของพระยายมราช เข้าปะทะกับทัพของพม่าที่เมืองแก่งตุม (ปลายแม่น้ำตะนาวศรี) ด้วยกำลังที่น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถอยร่นไม่เป็นขบวน พระยารัตนาธิเบศตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ เมืองกุยบุรี แจ้งว่าทัพพม่ายกพลมาเป็นจำนวนมาก อาจต้านทานไว้ไม่ไหว จึงสั่งการให้เกณฑ์ไพร่พล และเร่งอพยพผู้คนหลบหนีพม่า และหวังรวบรวมผู้คนเพื่อไปตั้งมั่นรับพม่าที่ชานพระนคร

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู
ที่วัดสี่ร้อย ต.สี่ร้อย
อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

ที่มา : วิกิพีเดีย
ครั้งนั้น ขุนรองปลัดชู ได้อาสาขอต้านทานทัพพม่าด้วยกำลังพลเพียงสี่ร้อยนาย เพื่อยันทัพข้าศึกและเปิดทางให้รี้พลได้หลบหนี พระยารัตนาธิเบศ จึงได้แบ่งไพร่ให้อีกห้าร้อยนายไปช่วยกองกำลังของขุนรองปลัดชู ในการต่อต้านทัพพม่า

ณ  ชายหาดหว้าขาวชายทะเล (บ้านทุ่งหมากเม่า ตำบลอ่าวน้อย) เวลาเช้าตรู่ ขุนรองปลัดชูพร้อมกับเหล่าทหาร ตั้งท่ารอทัพพม่าอยู่ด้วยจิตใจห้าวหาญ เมื่อเห็นกองทัพพม่าก็กรูกันออกโจมตีทัพหน้าของพม่ารบกันด้วยอาวุธสั้นถึงตะลุมบอนกัน แทงพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก และตัวขุนรองปลัดชูท่านถือดาบสองมือ วิ่งเข้าท่ามกลางข้าศึก ฟันพม่าล้มตายก่ายกองดั่งขอนไม้

ด้วยกำลังพลเก้าร้อยต่อทัพพม่านับหมื่นที่ยัดเยียดหนุนเนื่องกันเข้ามาต่อรบได้รบกันอยู่ตั้งแต่เข้าจนถึงเวลาเที่ยง ขุนรองปลัดชูไม่คิดถอยหนี ต่อสู้ทัพพม่าจนเหนื่อยอ่อนสิ้นกำลัง ถูกกองทัพพม่าใช้พลทัพช้างขับช้างเข้าเหยียบจนล้มตาย ต่างพากันถอยร่นลงทะเล จนจมน้ำทะเลตายเสียสิ้น กองทัพพม่าจึงมีชัยชนะ (ในบันทึกของพม่าในกาลต่อมากล่าวว่า การตีกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ได้มีการต่อสู้กองทัพของกรุงศรีอยุธยา ที่ช่องเขาแคบๆ ริมทะเลอย่างประจัญบาน ดุเดือด ก่อนเข้าเมืองกุย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี)

พระยารัตนาธิเบศจึงได้เร่งเลิกทัพหนีมากับทัพพระยายมราช กลับมาถึงพระนครขึ้นเฝ้ากราบทูลว่า ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย

ฝ่ายทัพพม่าเมื่อมีชัยชนะเหนือกองทหารเก้าร้อยคน ก็เหนื่อยอ่อนหยุดทัพพักผ่อน ก่อนเดินทัพเข้าเมืองกุย เมืองปราณ เมืองชะอำ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี โดยไม่มีหัวเมืองใดลุกขึ้นสู้รบกับทัพพม่าเลย 

พระเจ้าอลองพญา ทราบข่าวว่ากองทัพไทยรบพุ่งอ่อนแอ จึงคิดจัดทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยจัดเตรียมทัพที่เมืองตะนาวศรี ให้มังระ ราชบุตรเป็นทัพหน้า พระเจ้าอลองพญาเป็นทัพหลวง ยกเข้ามาทางด่านสิงขร

เสียเมืองราชบุรี
ทางด้านเมืองกาญจนบุรี ทราบข่าวว่าทัพพม่าจะยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์อีกทางหนึ่ง จึงแจ้งข่าวไปยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้จัดเกณฑ์กองทัพ ดังนี้
  • พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพ ถือพล 10,000 คน ยกไปตั้งที่เมืองกาญจนบุรี
  • พระยาพระคลัง คุมกองทัพ 10,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี
ต่อมาเมืองกำแพงเพชรก็แจ้งข่าวอีกว่า พม่าจะยกทัพมาทางด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์จึงรับสั่งให้ เจ้าพระยาอภัยราชา เป็นแม่ทัพยกไปคอยตั้งรับทัพพม่าที่ด่านแม่ละเมาอีกทัพหนึ่ง

เมื่อกองทัพของมังฆ้องนรธา เดินทางมาถึงเมืองราชบุรี ได้สู้รบกับกองทัพไทยเป็นสามารถ จนฝ่ายพม่าเกือบจะแตกพ่ายแพ้อยู่แล้ว กองทัพมังระ ยกตามมาทันจึงเข้าช่วยและระดมตีกองทัพไทยที่เมืองราชบุรีจนแตกหนีพ่ายแพ้

พระเจ้าอลองพญาหยุดรวบรวมพลอยู่ที่เมืองราชบุรี 4 วัน
จึงเดินทัพต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เมื่อทราบว่า "เสียเมืองราชบุรีแก่ข้าศึกแล้ว" ก็เกิดโกลาหล สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์เกรงจะเกิดจลาจล จึงรับสั่งให้เชิญสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร  พระอนุชาให้ลาผนวช แล้วมอบราชการทั้งปวงให้ทรงบัญชาการแทนพระองค์

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้เตรียมการป้องกันพระนคร โดยโปรดให้เจ้าพระยามหาเสนา เป็นแม่ทัพ และให้พระยายมราช, พระยารัตนธิเบศ และพระยาราชรังสรรค์ เป็นนายกองคุมพล 20,000 คนออกไปตั้งรับทัพพม่าที่เขตต่อเมืองสุพรรณบุรี

ทัพพม่าและทัพเจ้าพระยามหาเสนา ปะทะกันที่ริมลำน้ำจักรราชในเขตบ้านทุ่งนาตาลาน (เขตต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองสุพรรณบุรี)  แต่ทัพพม่ามีกำลังมากกว่า กองทัพไทยต้องแตกหนีพ่ายไป เจ้าพระยามหาเสนาถูกอาวุธตายในที่รบ พระยายมราชถูกอาวุธบาดเจ็บและกลับไปตายในกรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าก็เคลื่อนทัพยกเข้าติดพระนคร

หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน อาสาพาพวกจีนจำนวน 2,000 คน ออกตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น แต่ถูกพม่าตีแตกกลับมา พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา และยิงด้วยปืนน้อยปืนใหญ่ ฝ่ายไทยเพียงตั้งรับอยู่ในพระนคร

ปรากฏว่า พระเจ้าอลองพญา ทรงบัญชาการรบและจุดปืนใหญ่เอง เผอิญปืนใหญ่แตกถูกพระองค์บาดเจ็บสาหัสประชวรหนัก กองทัพพม่าจึงต้องเลิกทัพกลับไปทางด่านแม่ละเมา ในวันขึ้น 2 ค่ำเดือนหก พ.ศ.2303

แต่พระเจ้าอลองพญาได้สิ้นพระชนม์ในเขตแดนเมืองตาก

*************************************************

ที่มาข้อมูล  :
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 241-244) (ดูภาพหนังสือ)
  • _______. (2550). ย้อนรอยสองราชธานี - กรุงสุโขทัย-กรุงศรีอยุธยา. ไม่ทราบที่พิมพ์. (หน้า 155-156)
  • ทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล .(2551).องค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย: วีรกรรมขุนรองปลัดชู. [Online]. Available :http://www.aownoi.go.th/webpage/slogan.php?sg=5. [2554 กรกฎาคม 11 ].

1 ความคิดเห็น:

  1. Casino - Bracket betting guide for your chance to win
    The Casino is ventureberg.com/ a 나비효과 unique casino that has been around for 토토 over a decade. It has managed to offer great games such as Blackjack, Roulette and Video Poker,

    ตอบลบ