วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธุ์ในราชบุรี

วรรณกรรมกลุ่มชาติพันธ์ในจังหวัดราชบุรีนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
  2. กลุ่มนิทาน - วรรณกรรมศาสนา
  3. กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์

กลุ่มนิทานพื้นบ้าน ปริศนาคำทาย คำสอนการดำรงชีวิต
พบในกลุ่มชนเกือบทั้งหมดคือ ลาวเวียง ไทยโพหัก  เขมรลาวเวียง ไทยวน  กะเหรี่ยง ในเนื้อเรื่องของนิทานจะเป็นเรื่องเล่าขำขันบ้าง   เรื่องประเภทสองแง่สองง่ามบ้าง เพื่อให้ผู้เล่าและผู้ฟังได้สนุกสนานร่วมกัน  นิทานพื้นบ้านเหล่านี้มักจะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงทำให้เรื่องราวเหล่านี้สูญหายไปบ้าง 

ส่วนปริศนาคำทายมักจะฟังดูหยาบคาย หรือชวนให้คิดว่าคำตอบหยาบคาย เป็นประเภทคำถามสองแง่สองง่าม เช่น "อะไรเอ่ย  จั๊ก  กะดอย มีหมอย 2 เส้น"  คำตอบคือ "ด้ายเย็บผ้า" คำทายฟังดูหยาบคายแต่คำตอบกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคำหยาบคายแต่อย่างใด 

กลุ่มนิทานปริศนาคำทายนี้มักจะเล่าหรือทายกันในเวลาหลังอาหารเย็น เป็นการผ่อนคลายและสนุกสนาร่วมกัน

กลุ่มนิทาน-วรรณกรรมศาสนา
พบในกลุ่มชาวบ้านโพหัก  มอญ และลาวโซ่ง โดยเฉพาะมอญนั้น จะไม่พบนิทานประเภทสนุกสนานเฮฮาหรือสองแง่สองง่าม จะมีแต่นิทานอิงธรรมะหรือนิทานที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีพุทธศาสนา ในการเล่าเรื่องวรรณศาสนา ผู้เล่ามักเป็นผู้ที่มีการศึกษาและมักเล่าให้ฟังในเวลาที่มีการชุมนุมกันหลังอาหารเย็น

เรื่องที่เล่าคือเรื่องนิทานในพระไตรปิฎกที่มีการดัดแปลงให้เป็นภาษาที่ฟังง่ายแต่อิงหัวข้อธรรมมะ   ซึ่งเป็นการสอนให้กับผู้ฟังไปในตัว มีการตัดตอน ย่อเรื่อง เพื่อไม่ให้ผู้ฟังเบื่อหน่าย เพราะนิทานในพระไตรปิฎกส่วนใหญ่จะมีรายละเอียดมาก เนื้อเรื่องจึงยาว และเข้าใจยาก ฉะนั้นจึงมีการดัดแปลงกันนิดหน่อยเพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกสนุกสนาน

กลุ่มตำนาน นิทานอิงประวัติศาสตร์
พบในกลุ่มชนบ้านโพหัก เป็นตำนานเล่าเรื่องของหมู่บ้านว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด ใครเป็นผู้นำให้มีการสร้างบ้านแปลงเมืองในสถานที่นี้  ตำนานประเภทนี้มักจะไม่มีการบันทึก เพียงแต่เป็นการเล่าปากต่อปาก

ส่วนนิทานอิงประวัติศาสตร์พบในกลุ่มชาวจีน นิทานประเภทนี้ได้แก่เรื่อง สามก๊ก  เลียดก๊ก ไซอิ๋ว ฯลฯ กลุ่มคนจีนเกือบทั้งหมดจะทราบรายละเอียดเป็นอย่างดี เพราะต้องเรียนเรื่องเหล่านี้ผ่านมาตั้งแต่เด็ก หรือถ้าไม่เรียนคนสูงอายุก็มักจะเล่าให้ลูกหลานฟังเสมอ  วรรณกรรมประเภทนี้ได้ถูกบันทึกไว้  จึงไม่พบว่าคลาดเคลื่อนหรือเลือนหายไปมากนัก  จะเป็นก็แต่การดัดแปลงเพิ่มเติมให้มีเนื้อหาเข้มข้นยิ่งขึ้นเท่านั้น

สรุปในภาพรวม
วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี จะมีลักษณะที่คล้ายกันโดยโครงเรื่อง  แต่รายละเอียดอาจจะผิดแผกไปบ้าง โดยเฉพาะประเภทนิทานพื้นบ้าน และปริศนาคำทาย  เพราะไม่มีการบันทึกไว้ ส่วนวรรณกรรมศาสนาและนิทานอิงประวัติศาสตร์ มักจะไม่คลาดเคลื่อนเพราะได้รับการบันทึก  เพียงแต่อาจจะมีการตัดทอนย่อเรื่องบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งส่วนสำคัญของเรื่อง เช่นหัวข้อธรรมมะ เป็นต้น


******************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 160-161). (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น