วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญ "ปมาสี่สี่"

นิทานคติธรรมพื้นบ้านมอญเรื่อง "ปมาสี่สี่" แปลโดยอาจารย์จวน เครือวิชฌยาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณกรรมของชาวมอญ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานคติธรรมเรื่องนี้ ความว่า.......

ในอดีตกาลสมัยพระพุทธเจ้าชื่อ "ตัณหังกร" โน้น มีป่าใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า "ป่าชัญญวนา" มีภูเขาใหญ่เทือกหนึ่งชื่อว่า "วิชฌุบรรพต" มีแม่น้ำใหญ่ชื่อว่า "ทัสสนะสาคร" ในป่าใหญ่แห่งนั้น มีสัตว์ต่างๆ ดังนี้
  • ช้างโขลงใหญ่ จำนวน 500 เชือก ณ ชายป่าแห่งนั้น
  • มีกบฝูงใหญ่  จำนวน 500 ตัว ในแม่น้ำใหญ่ทัสสนะสาคร
  • มีปูฝูงใหญ่จำนวน 500 ตัว แถบเชิงเขาแห่งนั้น
  • มีงูอาศัยอยู่อีก 500 ตัว บนยอดเขาใหญ่วิชฌุบรรพต
  • มีครุฑฝูงใหญ่พักอาศัยอยู่ 500 ตัว มีพระโพธิสัตว์เป็นพญาครุฑปกครองครุฑทั้งหลายฝูงนั้น

ต่อมาวันหนึ่ง โขลงช้างทั้ง 500 ตัว ได้พากันไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ปูทั้ง 500 ตัวซึ่งอยู่ในแม่น้ำนั้นก็จับโขลงช้างนั้นกินเสียหมด รอดชีวิตแต่นางพญาช้างเผือกเชือกเดียวซึ่งมีท้องแก่ครบกำหนดวันคลอด ที่ไม่สามารถเดินทางรวมไปกับโขลงได้ คลอดลูกออกมาเชือกหนึ่ง แม่ช้างก็ได้เลี้ยงดูกันต่อมา

เมื่อปู 500 ตัวกินช้างเสียหมดแล้ว ปูฝูงนั้นก็ไม่สามารถหาอาหารอะไรมากินได้อีก จึงพากันขึ้นจากแม่น้ำขึ้นบนฝั่งเพื่อหาอาหารกิน  ฝ่ายกบ 500 ตัวที่อยู่บนฝั่งเห็นปูขึ้นมาจากแม่น้ำ ก็จับกินเป็นอาหารหมดสิ้น  เว้นแต่นางพญาปูตัวหนึ่งไปไม่ไหวท้องแก่ครบกำหนดคลอดจึงรอดชีวิตและคลอดลูกปูออกมาตัวหนึ่ง

เมื่อกบ 500 ตัวกินปูหมดแล้วก็ไม่มีอาหารอื่นในที่แห่งนั้นกินอีก กบจึงพากันไปหาอาหารกินแถบเชิงเขาลูกนั้น งู 500 ตัว เห็นปะเหมาะอาหารมาถึงปาก จึงจับกบฝูงนั้นกินเสียหมด เหลือนางพญากบตัวหนึ่งรอดชีวิตไม่ได้ไปเพราะคลอดลูกกบออกมาตัวหนึ่ง

ครั้นเมื่องูทั้งหลายกินกบหมดแล้ว ก็ไม่มีอาหารที่จะกินต่อไป จึงหากันออกไปหาอาหารกินเชิงภูเขา  ครุฑทั้งฝูงที่อยู่บนยอดเขาแห่งนั้นเห็นงู  จึงโผบินลงมาจับงูกินเสียสิ้น เว้นนางพญางูตัวเดียวออกลูกอยู่ไม่ได้ไป จึงรอดจากความตาย

ภาพจำลองประกอบบทความ

ลูกช้าง ลูกปู  ลูกกบ และลูกงู 
สัตว์ทั้งสี่นี้ ผู้เป็นแม่นางพญาต่างๆ ก็หมั่นพร่ำสอนลูกของตนอยู่เป็นประจำว่า

"ลูกเอย เจ้าอย่าได้ท่องเที่ยวไปในที่ภูมิประเทศนั้นๆ นะลูก เพราะมีศัตรูคอยจ้องปองร้ายจับกิน พวกพ่อแม่พี่น้องและบริวารเราทั้งหลายถูกมันจับกินไปหมดแล้ว  ขอลูกจงอย่าไปเล่น หลีกเร้นไปให้ไกลในแห่งนั้นนะลูก"

ข้อความนี้แม่ก็ไม่เว้นพร่ำสอนลูกตนตลอดเวลา ต่อมามิช้านาน ลูกสัตว์ทั้วสี่ตัวก็เจริญเติบโตขึ้น มีพละกำลังวังชามากกล้าแข็งเต็มตัว ต่างคิดกำเริบเหมือนกันว่า

 "ที่แม่ของเราห้ามเรานั้น เพราะในสถานที่นั้นมีข้าศึกศัตรูของเรา เราจึงอยากพบเห็นศัตรูตัวนั้นแท้ๆ "

จึงฝ่าฝืนคำสั่งสอนของแม่ ขัดใจแม่ออกไปท่องเที่ยวเล่นตามสถานที่แห่งนั้น

ในบรรดาลูกสัตว์ทั้งสี่ มีลูกช้างลงไปเล่นน้ำที่แม่น้ำ ลูกปูฝืนคำสั่งสอนของแม่ขึ้นไปท่องเที่ยวเล่นบนฝั่งแม่น้ำ ลูกกบฝืนคำสั่งสอนของแม่ออกจากใบไม้ กิ่งไม้ที่ซ่อนตัวอยู่ท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ ลูกงูก็เช่นกัน ฝืนคำสั่งสอนของแม่ท่องเที่ยวเลื้อยขึ้นไปบนยอดภูเขา

ลูกช้างที่ท่องเที่ยวเล่นไปในแม่น้ำถูกลูกปูเอาก้ามหนีบเอาเท้าไว้ ด้วยความแข็งแกร่งรีบลากลูกช้างขึ้นบนฝั่งทั้งที่หนีบเท้าอยู่  ครั้นลูกกบเห็นเข้าก็วิ่งไล่ตามลูกปู ลูกปูตกใจกลัวลูกกบ จึงปล่อยลูกช้าง  ลูกงูเห็นลูกกบวิ่งไล่จะจับกิน ลูกกบตกใจกลัวลูกงู  จึงปล่อยลูกปูไป ครุฑที่อยู่บนยอดเขามองลงไปเห็นลูกงู  จึงบินโฉบลงมาเฉี่ยวลูกงูกิน  ลูกงูตกใจกลัวครุฑจึงได้ปล่อยลูกกบวิ่งหนีเอาชีวิตรอดไปได้

เหตุที่เกิดนี้ เพราะลูกสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่ ไม่เชื่อฟังแม่จึงตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ถึงกระนั้นก็ยังไม่เข็ดหลาบ ลำพองใจของลูกสัตว์ทั้งสี่ตัวนั้นเลย

ลูกช้างมันกล่าวว่า "แม่น้ำที่เราลงไปเล่นปูก็หนีบเท้าเรา แต่ปูถูกกบไล่จับกิน เราก็พ้นจากอันตราย ปูคงกลัวกบจะไม่กล้ามาหนีบเท้าเราอีก"

ลูกปูกล่าวในทำนองเดียวกันว่า "ในสถานที่เราท่องเที่ยวไปนั้นมีงู กบคงไม่กล้ามาอีกแล้ว"

ลูกกบกล่าวว่า "ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น มีครูฑอยู่ งูหรือจะกล้ามาอีก"

ลูกงูกล่าวว่า " ในสถานที่ที่เราท่องเที่ยวไปนั้น ครุฑหรือจะมาได้ทุกๆ วัน"

เมื่อเป็นอย่างว่า สถานที่นั้นก็ไปได้เสมอ ลูกสัตว์ทั้งสี่ลำพองใจจึงไปสถานที่นั้นๆ อีก ครั้นลูกช้างไปถึงแม่น้ำ ก็มีความเกรงกลัวจึงเพียงแต่เอางวงแกว่งน้ำเล่นก่อน ในขณะนั้นเองลูกปูก็หนีบได้งวงลูกช้างลากจูงขึ้นไปบนฝั่ง ลูกปูก็กินลูกช้างเสียเป็นอาหารบนฝั่งนั้น เมื่อลูกช้างเข้าไปในท้อง เกิดหนักท้อง หนักตัว ลูกปูวิ่งไปได้ไม่รวดเร็ว ลูกกบเห็นลูกปูเข้าก็กระโดดมาจับลูกปูกิน  ทั้งช้างทั้งปูเข้าไปอยู่ในท้อง ลูกกบตัวหนักมากกระโดดไม่ไหว ฝ่ายลูกงูเห็นลูกกบก็จับลูกกบกินเสียอีกต่อหนึ่งอีก เมื่อทั้งช้าง ปู กบ เข้าไปอยู่ในท้องลูกงู  มีน้ำหนักมากเหลือกำลังที่จะเลื้อยต่อไปได้ ครุฑเห็นโอกาสเหมาะโฉบเฉี่ยวเอาไปกินเสียทั้งหมดเลย

จากเรื่องราวที่เล่ามาทั้งหมดนั้นเพื่อประโยชน์อะไร เพราะเหตุที่สัตว์ทั้งสี่ มีความโลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำจิตใจ  ไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ ฝ่าฝืนคำสั่งของแม่จึงตกเป็นอาหารของครุฑ 

บุคคลใดในโลกนี้
บิดามารดาก่อทุกข์ยากเสียหายให้บุตรธิดานั้น ไม่มี
ปู่ ย่า ตา ยาย สร้างความทุกข์ลำบากเสียหายให้แก่ลูกหลานเหลนนั้น ไม่มี
พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ ให้ความทุกเข็ญแก่ศิษยานุศิษย์ ไม่มี
กัลยาณมิตรหรือบัณฑิตที่แนะนำสั่งสอนเราให้ได้ดี คิดที่จะให้ทุกข์ยากและความเสียหายก็ไม่มี
มีแต่เจตนาที่มุ่งหวังให้เรามีความสุขความเจริญเท่านั้น

บุคคลใดก็ตามผู้เป็นบุตรธิดา ฝ่าฝืนจิตใจหรือไมเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา
ลูกหลานเหลนฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของปู่ ย่า ตา ยาย
ลูกศิษย์ฝ่าฝืนจิตใจหรือไม่เชื่อฟังคำสั่งของพระอุปชฌาย์ อาจารย์
มิตรสหายไม่เชื่อฟังคำแนะนำสั่งสอนของกัลยาณมิตรหรือบัณฑิต
บุคคลเหล่านี้มีแต่จะได้รับความทุกข์ยากเสียหายแน่แท้

ดังตัวอย่างสัตว์ทั้งสี่ ฝ่าฝืนและไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของแม่ก็ถึงตายในที่สุด
บิดามารดา ท่านสั่งสอนอย่างไรไม่ควรฝ่าฝืนหรือต่อต้านละเมิดคำสั่งสอนของท่าน
เราปฏิบัติตามแล้วไซร้ ความสุขสราญสดใส เราจะได้รับอย่างแน่แท้


*******************************************  
ที่มา
จวน  เครือวิชฌยาจารย์ (ผู้แปล) อ้างถึงใน คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 163-165). (ดูภาพหนังสือ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น