วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ผ้าสไบคู่กายสาวมอญ

ตัวอย่างผ้าสไบของสาวมอญ
 เมื่อมีงานบุญ ไม่ว่าจะเป็นวันพระ หรือเทศกาลทำบุญใหญ่ ๆ แม่ของข้าพเจ้ามักจะนำผ้าสไบมาให้ห่มไปวัดเสมอ ก็จะสังเกตุว่า เอาไปทำอะไร ผ้าสไบก็ไม่เหมือนของคนทั่วไป สีสรรสดใส ปักด้วยมือ ซึ่งสาวชาวมอญจะใช้เวลานานมาก ในการปักแต่ละผืน แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ปักเอง เป็นของพี่สาว เวลากราบพระก็จะใช้ชายของผ้าข้างหนึ่งมารองแล้วกราบลงไปบนผ้า เมื่องานบุญมาถึง เช่น บุญสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นงานบุญที่สำคัญที่สุดของชาวมอญ เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวมอญก็ว่าได้ สาว ๆ ก็จะนำผ้าสไบที่ปักมาห่มทับเสื้ออีกที ลวดลายที่ปักก็เป็นเอกลักษณ์ของมอญ เป้นการพาดแบบสไบเฉียง

การแต่งกายของมอญ ผู้ชายจะนุ่งโสร่งแดง ตราหมากรุก เป็นเอกลักษณ์ของหนุ่มมอญเลยทีเดียว โสร่งจะต้องเป็นผ้าต่อด้วยลายขาวตรงกลาง ถึงจะเป็นของแท้ หาซื้อค่อนข้างยาก บ้านข้าพเจ้าเมื่อคราวเลี้ยงผีก็จะเปลี่ยนผ้าให้ปู่ ต้องไปซื้อที่สังขละบุรี แถววัดหลวงพ่ออุตตะมะโน่น ชายชาวมอญก็จะพาดสไบด้วยเช่นกัน

ผ้าสไบจึงเป็นของติดกายของชาวมอญทั้งหญิงและชาย แต่จะห่ม หรือพาด ก็จะขึ้นอยู่กับงานแต่ละงาน งานบุญก็จะพาดไหล่ เถ้าป็นงานรื่นเริง ก็จะพาดสไบแล้วเอาชายผ้าทั้ง 2 ชายไปไว้ด้านหลัง

ส่วนผู้หญิงจะเกล้ามวยสูง ใส่ผ้าถุงกรอมเท้า ผ้าถุงก็จะทอเอง สีสรรสดใสเช่นกัน เสื้อจะเป็นผ้าลูกไม้ หรือผ้าสีสด และจะใส่ผ้าสีตัดกัน ถ้าเป็นงานรื่นเริง ผู้หญิงจะพาดสไบแบบลอยชาย

ที่วัดคงคาราม ยังมีการทอผ้าแบบของชาวมอญ ที่บ้านของ คุณกามเทพ มิ่งสำแดง ซึ่งเป็นทายาทของมอญรุ่นที่ 6 จากการสอบถามได้ความว่า มีการสอนทอผ้านุ่ง ปักผ้าสไบ และการสืบสานตำนานผ้าทอของชาวมอญ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยังคงรักษาสืบสานลายผ้าดั้งเดิมเอาไว้ และข้าพเจ้าก็ยังมีความภูมิใจในการอนุรักษ์ผ้าทอของชาวบ้านที่วัดคงคาราม และได้มีโอกาสร่วมงานอำเภอยิ้ม ของอำเภอโพธาราม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2553 ยังชื่นชมท่านนายก อบต. ตำบลคลองตาคต ท่านสังวาลย์ แย้มเกตุ ที่ยังเห็นความสำคัญของกลุ่มชนคนมอญในท้องที่ของท่าน และจะไม่กล่าวถึงก็คงจะไม่ได้ ท่านอาจารย์โสภณ นิไชยโยคคนสำคัญที่ทำให้การเล่าขานเรื่องเล่าของชาวมอญ ของข้าพเจ้าได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และถ้าท่านได้อ่านบทความบทนี้ และอยากจะสัมผัสกลิ่นไอของชาวมอญให้มากว่านี้ ก็ขอเชิญไปเที่ยวชมงานที่วัดโพธิ์โสภารามที่อำเภอบ้านโป่ง ในวันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 เป็นงานของชาวมอญที่มาพบกันส่วนรายละเอียด ไม่ทราบแน่ชัดเหมือนกัน แต่คิดว่าไปแน่ ๆ เพราะต้องการที่จะรู้ชาติกำเนิดของตัวเอง และรู้ว่าพี่น้องของเราเขาอยู่กันที่ไหนบ้าง เป็นอย่างไร มันยากลำบากที่จะค้นคว้าเอง เพราะตอนนี้ทั้งพ่อและแม่ท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ ได้เล่าเรื่องราวของบรรพบุรุษให้ฟัง น้ำเสียงของพ่อที่เล่าเต็มไปด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นคนมอญ พ่อบอกว่า มอญสิ้นแผ่นดิน แต่ไม่สิ้นชาติ
ขอขอบคุณท่านที่ได้กรุณาให้ภาพไว้เป็นที่ระลึก

อ.โสภณ นิไชยโยค และพี่สาว
และเผยแพร่การแต่งกายที่สวยงาม ของชาวมอญ
วัดคงคาราม ท่านสังวาลย์ แย้มเกตุ นายก อบต.
ตำบลตลองตาคต ท่านอาจารย์โสภณ นิไชยโยค
และคุณกามเทพ มิ่งสำแดง ที่ได้นำผ้าสไบมาให้
รวมถึงรูปหงส์ที่ติดผ้าสไบด้วย

ของหอมไม่ทิ้งความหอม
มอญเราไม่ทิ้งบรรพบุรุษ


ภาพ นายกสังวาลย์ แย้มเกตุ นายกอบต.คลองตาคต     ในวันงานอำเภอยิ้มของ อ.โพธาราม ร่วมกับพี่ป้า น้า อา ชาวมอญของวัดคงคาราม เมื่อ 22 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา
 
ขอขอบคุณที่ให้ถ่ายภาพมา ข้อความบางตอนอาจจะไม่ชัดเจน ต้องขออภัยท่านผู้รู้ และยินดีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าท่านจะแนะนำลูกหลานคนนี้ ที่ต้องการเพียงแค่จะสืบสานมรดกของบรรพบุรุษ ให้ยังคงอยู่ บอกเล่าเรื่องราวของ ชาติกำเนิดด้วยความภาคภูมิใจต่อไป

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ11 ตุลาคม, 2553 21:08

    รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีได้ดีมากๆ ขอยกย่องคะ

    ตอบลบ