เขียนโดย
สุรินทร์ เหลือลมัย ที่ปรึกษาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง
ภาพถ่ายจากยอดเขาจอมพล แลเห็นท้องทุ่งจอมบึง และตัวตลาดบ้านกลางใน พ.ศ. ๒๕๐๖
บึงที่ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคกลาง ตอนนั้นยังไม่มีการทำสวนทำไร่
ท้องบึงราบเรียบเพราะชาวบ้านเพิ่งเริ่มทำนารอบๆ ขอบบึง
จอมบึงมีนิทานท้องถิ่นเรื่องเดียวที่เล่าสืบกันมาหลายชั่วคน ถึงเรื่อง
เรือสำเภาจีน ลำหนึ่ง แล่นมาชนยอดเขาลูกหนึ่งจนบิ่นไป เขาลูกนั้นเรียกว่า
เขาบิ่น ต่อมาเพี้ยนเป็น เขาบิน จนทุกวันนี้ สำเภาลำนั้นยังแล่นต่อไปได้ มันเลาะเลียบทิวเขายาวๆ ลูกหนึ่ง แล้วพุ่งเข้าชนหัวเขาจนทะลุเป็นรู เขาลูกนั้นในเวลาต่อมาเรียกว่า
เขาทะลุ ก่อนเลี้ยวขวาเข้าสู่ท้องทะเลใหญ่ ท้องเรือก็ครูดยอดเขาอีกลูก จนเขานั้นยุบลงตรงกลางสำเภายังคงแล่นต่อไปทางขวา ในที่สุดท้องเรือก็ทะลุ น้ำเข้าเต็มลำ ค่อยๆ จมดิ่ง โผล่ให้เห็นแต่ยอดเสากระโดงเรือแต่นั้นมา
จริงหรือ ที่มีคนเคยเห็นยอดเสากระโดงเรือในทุ่งจอมบึง ?
นิทานเรื่องสำเภาจีนเป็นจินตนาการที่สอดคล้องกับภูมิประเทศของภูเขาลูกโดด ภูเขาลูกโดดเหล่านั้น ดูไปก็ราวกับว่าเดิมมันเคยเป็นเกาะแก่งมาก่อนจริงๆ ผู้สูงอายุหลายท่านเคยเห็นเสาไม้แก่นเหลากลมกลึง ท่านเข้าใจว่าเป็นเสากระโดงเรือ บอกว่ามันฝังจมดินเอียงๆ อยู่ ทั้งยืนยันว่าเคยลูบคลำด้วยมือของตัวเอง ท่านหนึ่งเล่าว่า
สมัยเป็นเด็กเคยเอาวัวไปเลี้ยงในทุ่งบึง แล้วชอบไปไต่เสาไม้แก่นเล่น เพื่อนบางคนเอามีดถากไปสุมไฟเผาปลาเผาหอยก็มี จนค่อยๆ บิ่นหายไป บางท่านยังเล่าว่า
เมื่อครั้งหนุ่มสาวเคยไปหาปลาหน้าแล้งกลางทุ่งบึง ขณะที่กั้นดินโคลนวิดน้ำจับปลาบริเวณนั้น ได้พบไม้กระดานเรือเป็นชิ้นส่วนของลำเรือ และไม้พายยาวๆ สำหรับแจว
เชื่อว่าชาวบ้านกลุ่มลาวเวียงที่มาตั้งรกรากเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว น่าจะเป็นผู้ผูกเป็นนิทานเพื่อบอกแหล่งที่มาของเสาไม้แก่นต้นนั้น ดังนั้น เรื่องเสากระโดงเรือสำเภาฝังจมดินอยู่กลางทุ่ง บริเวณที่เรียกว่า
รางเจ๊ก จึงเป็นความสงสัยที่ผู้คนในท้องถิ่นหาคำตอบได้ในนิทานสำเภาจีนนั่นเอง
แต่น่าคิดว่า ถ้าสำเภาไม่ล่ม มันจะแล่นไปทางไหน
อาคารไม้กลางภาพคือที่ว่าการอำเภอจอมบึงหลังเก่า ด้านหลังเป็นท้องทุ่งจอมบึง
แลเห็นชัดว่าขอบบึงอีกด้านเป็นป่าไผ่ที่แผ่ขยายไปจนจรดเขาล้อมรั้ว และเขาทะลุ
ถ้ายืนอยู่ริมทุ่งจอมบึง บนเส้นทางที่สำเภาเลี้ยวขวาสู่ทะเลใหญ่ แล้วมองไปเบื้องหน้าแถบชายฝั่งตลาดจอมบึง เริ่มแต่ซ้ายมือจะเห็นหมู่บ้านหนองบัว (ตาขาว) ผู้คนรุ่นแรกเชื้อสายไทยพื้นถิ่นที่เคลื่อนย้ายมาจากบ้านบาง (นาง) ลี่ ริมฝั่งน้ำแม่กลอง อำเภอเมืองราชบุรี แล้วขยายครัวเรือนถัดมาที่บ้านวังมะเดื่อ ปะปนกับผู้คนเชื้อสายลาวเวียง ถัดไปคือตลาดบ้านกลาง ศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของจากชุมชนต่างๆ ถัดไปเป็นบ้านหนองบ้านเก่า ผู้คนเชื้อสายลาวเวียงขยายครัวเรือนมาจากบ้านเกาะ ติดกันก็เป็นบ้านทำเนียบ สถานที่พักค้างคืนของข้าราชการที่ออกมาตรวจท้องที่เมื่อครั้งเป็นกิ่งอำเภอจอมบึงสมัยแรกๆ
หมู่บ้านดังกล่าวเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษมาแล้ว พอค่ำลงจะแลเห็นแสงตะเกียงและแสงไต้ริบหรี่วอมแวมที่พอจะบอกได้ว่านั่นคือหมู่บ้าน ถัดไปเป็นฉากหลังเด่นตระหง่าน คือภูเขาลูกโดดที่มีชื่อมาก่อนว่าเขากลางเมือง เป็นศูนย์กลางท้องถิ่นที่ผู้คนหลายเชื้อชาติมาอยู่รวมกัน แน่นอนว่าจุดเด่นที่สำเภาจีนมองเห็นได้แต่ไกลคือเขากลางเมือง ถ้าเรือไม่จมเสียก่อน ก็คงจะแล่นไปที่ท่าหน้าเขากลางเมือง ตามนิทานที่ผู้สูงอายุคงจะเล่าตกหล่นไป ก็ขอปะติดปะต่อให้สมบูรณ์ไว้ ณ ที่นี้
คำถามคือใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของนิทานเรื่องนี้ ?
ภูมิหลังของกลุ่มลาวโซ่งที่เคลื่อนย้ายมาอยู่ใหม่แถบบ้านหัวเขาจีน และเขาหัวจีน เดิมอยู่ที่บ้านหนองปรง อำเภอเขาย้อย เพชรบุรี แล้วเคลื่อนย้ายผ่านตำบลหนองชุมพลเหนือ และห้วยยางโทน เลยไปถึงขอบทุ่งจอมบึงบริเวณเขากลางตลาด ชัฏหนองคา และแสนกระบะ ก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านตลาดควายในปัจจุบัน กลุ่มลาวโซ่งบ้านตลาดควายจึงเป็นเครือญาติอันสนิทกับกลุ่มเขาย้อย กลุ่มลาวโซ่งเมื่อย้ายออกไปอยู่ที่อื่นจะเรียกบ้านหนองปรงถิ่นเดิมว่าบ้านเก่า ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่านิทานสำเภาจีนถ่ายทอดกันในกลุ่มลาวโซ่ง สะท้อนถึงความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นกลุ่มเดียวกันมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์
เรื่องเล่าสำนวนเขาย้อยนั้น สำเภาจีนแล่นไปชนเขาอีบิด แล้วเอียงไปล่มตรงอู่ตะเภา ถัดจากยอดเขาอีบิดซึ่งเป็นเทือกเขาบิดโค้งไปอีกหลายยอด เรียกว่าเขาคอก แล้วก็ถึงเขาสูงเด่นเป็นสัญลักษณ์ บนเขามีโขดหินรูปร่างคล้ายหญิงจีนสวมหมวกเจ๊ก ลูกน้อยนั่งอยู่ข้างหน้า เหมือนคอยกู่ตะโกนเรียกผู้ที่รอดตายจากสำเภาล่ม เขาลูกนั้นได้ชื่อต่อมาว่าเขาจีนกู่ แล้วกลายเป็นเขาหัวจีน
ส่วนที่อำเภอจอมบึง สำเภาแล่นผ่านเขาบินที่มียอดหักเป็นเหลี่ยมเห็นได้แต่ไกลในอดีต การคมนาคมจะต้องผ่านหน้าเขาบินไปจอมบึง จึงได้นำเขาบินมาเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ด้วย
ปัจจุบัน ถ้ำเขาบินเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อของภาคกลาง ถัดไป สำเภาจะผ่านเขาล้อมรั้ว ชื่อคล้ายๆ เขาคอกที่อำเภอเขาย้อย ก่อนจะชนเขาอีกลูกหนึ่งจนทะลุ แฉลบไปชนเขาอีกลูกจนแอ่นกลาง แล้วไปล่มตรงรางเจ๊ก
เช่นเดียวกับที่อู่ตะเภา อำเภอเขาย้อย ช่องเขาทะลุเป็นเส้นทางเดินทัพครั้งไทยรบพม่า พระยาทวายมาตั้งค่ายริมบึงใหญ่ในสงครามเก้าทัพสมัยรัชกาลที่ ๑ ทั้งเป็นเส้นทางขนแร่ดีบุกและไม้ซุง เขาทะลุมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำ เห็นได้แต่ไกล กลุ่มลาวโซ่งที่เคลื่อนย้ายจากเขาย้อยก็ผ่านเส้นทางนี้ จึงให้ความสำคัญไว้ในนิทาน เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตวัฒนธรรมของตน
พวกเขาเรียกชื่อเขาลูกเล็กในทุ่งจอมบึงว่าเขากลางตลาด เพราะได้พบเศษหม้อไหกระจายบนพื้นดินเชิงเขา เหมือนเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาก่อน แท้จริงแล้ว นิทานสำเภาจีนนี้กลุ่มลาวโซ่งคงได้เค้าเรื่องมาจากแถบบ้านเขายี่สาร อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม
เมื่อชาวยี่สารจะเดินทางติดต่อกับชาวบางเค็ม ต้องผ่านเขาอีโก้ เขตอำเภอเขาย้อย เพชรบุรี เข้ามาเขตอำเภอปากท่อถึงบ้านหัวเขาจีน บ้านเขาอีโก้กับบ้านหัวเขาจีนเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของลาวโซ่ง มีอาชีพหาของป่าและทำนา ชาวยี่สารนอกจากเดินทางมาแลกข้าวสาร ไข่ และของป่าต่างๆ แล้ว น่าจะนำนิทานสำเภาจีนมาแพร่กระจายด้วย แต่ว่าที่จริง จอมบึงยังมีนิทานท้องถิ่นอีกเรื่องหนึ่ง คือ
“ถ้ำถ้วยโถโอชามของชาวลับแล”
บ้านเรือนริมบึงยังไม่มากนัก และถนนสายหลักสายเดียว
ที่ผ่ากลางตลาดบ้านกลางก็ยังเป็นทางลูกรัง
ผู้สูงอายุต่างเล่าต่อๆ กันมาด้วยถ้อยคำธรรมดา ทำนองมุขปาฐะ คือจากปากต่อปาก ไม่ทราบว่าผู้เล่าดั้งเดิมเป็นใคร มักจะอ้างว่าเป็นของเก่า ฟังจากผู้เล่าที่เป็นบุคคลสำคัญยิ่งในอดีตอีกต่อหนึ่ง ทุกครั้งมักเล่าเป็นเรื่องเดียวกัน ดังนี้
“วันดีคืนดี ชาวบ้านจะได้ยินเสียงมโหรีพิณพาทย์ลาดตะโพนดังแว่วมาจากเพิงผาหน้าถ้ำ อันเป็นดินแดนลี้ลับของเขากลางตลาดที่นั่นเป็นเขตแดนของชาวเมืองลับแล สมัยก่อนนานมาแล้ว เวลาชาวบ้านจะมีงานเลี้ยงในหมู่บ้าน จะไปขอยืมถ้วยโถโอชามจากชาวเมืองลับแล โดยครั้งแรกจะบนบานไว้ก่อนว่าต้องการยืมของอะไรบ้าง รุ่งขึ้นก็จะมีสิ่งของที่ขอยืมวางไว้ให้พร้อม ชาวบ้านใช้งานเสร็จเมื่อไรก็ทำความสะอาด แล้วนำส่งคืนที่เดิมภายในถ้ำ ทุกรายจะปฏิบัติเช่นนี้เสมอ
แต่แล้วมีรายหนึ่งเล่นไม่ซื่อ เกิดความละโมบโลภมาก อยากได้บางสิ่งไว้ใช้ตลอดไป จึงส่งของคืนไม่ครบจำนวน ชาวลับแลไม่พอใจ ถือว่าทำผิดกติกาอย่างแรง ตั้งแต่นั้นมา แม้ชาวบ้านจะบนบานสักเท่าไร ก็ไม่มีสิ่งของออกมาวางไว้ให้ยืมอีก ปากถ้ำก็เลื่อนลงมาปิดสนิท เหลือเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน”
นิทานเรื่องนี้เคยแพร่หลายอยู่ในหลายอำเภอของเมืองราชบุรี ตลอดจนจังหวัดอื่นๆ ด้วย เค้าโครงเรื่องหลวมๆ เอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหารายละเอียดที่ต้องการสื่อความหมายได้ง่าย จึงถ่ายทอดจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งได้ ดังเรื่องเล่าที่หมู่บ้านเชิงเขาวังสะดึง อำเภอเมือง ตรงหน้าผาเขาวังสะดึงเดิมก็ว่ามีถ้ำของชาวลับแล แต่เดี๋ยวนี้ปิดสนิทมองไม่เห็นแล้ว
ที่หมู่บ้านเขาน้อยเทียมสวรรค์ เดิมก็ว่ามีถ้ำอยู่ใต้ฐานเจดีย์ ชาวลับแลทำให้หินงอกปิดปากถ้ำ ทางวัดกลัวเจดีย์จะทรุดลงมาจึงปิดปากถ้ำเสียเลย
ที่หมู่บ้านเขาหินกอง บนยอดเขาที่วัดหินกองมีร่องรอยหินแตกยุบตัวลงไป ก็ว่าเป็นการปิดปากถ้ำของชาวลับแล และที่หมู่บ้านเขาแง่มก็ว่ามีถ้ำของชาวลับแลเหมือนกัน
เจ้าของนิทานเรื่องนี้ที่เชิงเขาวังสะดึง เขาหินกอง เขากลางตลาด เป็นคนไทยเชื้อสายลาวเวียงจันท์ ที่เขาน้อยเทียมสวรรค์เป็นลาวยวน แต่ที่เขากลางตลาดเป็นลาวเวียงและลาวโซ่ง ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า ที่ไหนมีนิทานเรื่องนี้ สามารถทายได้เลยว่าผู้คนกลุ่มนั้นหรือชุมชนนั้นมีเชื้อสายไทย - ลาว
ถัดมาเป็นพื้นที่วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง เพิ่งจะมีอาคารสึกหลังแรกทาสีขาวสะดุดตา
แลเห็นทางขวาของภาพว่าอาณาเขตบึงกว้างไกลออกไปมาก
นโยบายของรัฐในการพัฒนาราชบุรีให้เป็น
“ศูนย์กลางความเจริญของภาคตะวันตก” ย่อมส่งผลให้จอมบึงเปลี่ยนแปลงไปในไม่ช้า จึงสมควรเก็บข้อมูลในอดีตที่กลายเป็นตำนานไปแล้วเพื่อการศึกษาต่อไป
จอมบึงเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดราชบุรี พื้นที่นี้มีความสำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี เศรษฐกิจ ตลอดจนมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์ จากการสำรวจ ค้นคว้า และขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบหลักฐานเครื่องมือหินกะเทาะของผู้คนตั้งแต่สมัยหินกลางตอนปลาย ที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า ๔,๐๐๐ ปี กระจัดกระจายอยู่โดยรอบขอบทุ่งจอมบึง
เริ่มต้นด้วยหลักฐานของผู้คนสมัยหินใหม่ตอนต้น ได้พบขวานหินกะเทาะหรือโกลนของขวานหินขัดที่เนินบ้านหนองบัว และเนินชัฏหนองคา ฝั่งตรงข้ามกับหนองบัว เครื่องมือดังกล่าวทำจากหินชนวนและหินเถ้าภูเขาไฟ มีรูปร่างลักษณะและวัตถุดิบเหมือนกับเครื่องมือที่พบที่เขตเหมืองแร่ริมห้วยบ้านบ่อ ตำบลสวนผึ้ง และแบบเดียวกับที่พบเลยลงไปถึงบ้านน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี หลักฐานนี้สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนสมัยหินใหม่ได้เคลื่อนย้ายมาจากพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตะนาวศรี เข้าหาที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ก่อนลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์สัตว์น้ำในบึงใหญ่ และนานาสัตว์จากป่ารอบขอบบึง ทำให้ได้พบขวานหินขัดหรือขวานฟ้าตั้งแต่บ้านหนองบัว บ้านวังมะเดื่อ หลังโรงเรียนบ้านจอมบึง หน้าวัดจอมบึง หนองบ้านเก่า บ้านเกาะ และบ้านปากบึง
ในถ้ำจอมพลก็มีผู้พบขวานฟ้าบนกองหินใต้ปล่องอากาศ และบริเวณสวนรุกขชาติ เฉพาะที่บ้านหนองบัว นอกจากขวานฟ้ายังพบกำไลหิน แวปั่นด้าย หินลับ และเศษภาชนะดินเผา แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานแบบถาวร ต่อมา ราว ๒,๓๐๐ - ๑,๗๐๐ ปีมาแล้ว ผู้คนสมัยหินที่บ้านหนองบัวน่าจะอาศัยอยู่ต่อเนื่องจนถึงสมัยโลหะ เพราะเมื่อชาวบ้านแถบนั้นขุดดินสร้างเล้าหมู พวกเขาพบหลักฐานการฝังศพครั้งที่สอง มีเครื่องมือเหล็กบรรจุในภาชนะดินเผา และกระดูกฝังดินเป็นกลุ่มๆ ส่วนหลักฐานบนพื้นดินที่พบหลังจากรถไถปรับดินก็มีตะกรันเหล็กหรือขี้แร่เหล็กที่เกิดจากการถลุง ตะกรันเหล็กนี้เป็นแบบเดียวกับที่พบแถบเขาปฏัก เขาพุพระ เขาหนองหญ้าปล้อง ตำบลหนองกวาง อำเภอโพธาราม
หลักฐานสมัยโลหะที่พบในแหล่งอื่นคือบ้านปากบึง ตำบลจอมบึง ได้พบเครื่องมือเหล็ก สำริด และลูกปัดเหมือนกับที่พบที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี ที่ถ้ำและเชิงเขาบ้านหนองศาลเจ้า ตำบลเบิกไพร ที่ถ้ำเขารังเสือ ตำบลปากช่อง และที่บ้านหัวทะเล ตำบลจอมบึง
สำหรับที่เนินชัฏหนองคาริมทุ่งจอมบึง ได้พบหลักฐานความเจริญที่แพร่มาจากเมืองคูบัว และถ้ำในเขตเทือกเขางู แล้วพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนสมัยต้นประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ ที่นี่ชาวไร่อ้อยพบลูกปัดแก้วสีเหลืองทึบแสงจำนวนมาก (สีอื่นๆ พบน้อย) ในภาชนะคล้ายตุ่มน้ำ ปนกับเถ้ากระดูกที่เผาไฟแล้ว เป็นหลักฐานว่าชุมชนแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมพุทธศาสนา จึงเปลี่ยนประเพณีการทำศพจากขุดแล้วฝังมาเป็นเผาแล้วฝัง
ประเพณีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ แล้วสืบเนื่องผสมผสานเป็นสมัยทวารวดี ได้แก่ชิ้นส่วนกระดูกคนที่เผาไฟแล้วจำนวนมาก หลังจากรถแทรกเตอร์ไถพรวนดินล่างขึ้นบนทั่วบริเวณแล้ว ภายหลังฝนตกหนักปรากฏเถ้ากระดูกไปกองรวมตรงชายขอบที่ยังไม่ได้ไถ
นี่คือวัฒนธรรมอินเดียที่ผ่านทางทะเลเข้ามาตามลุ่มน้ำแม่กลอง จากเมืองโบราณคูบัวและแถบถ้ำบนเทือกเขางู ผ่านเข้าไปยังพื้นที่ “ภายใน” จนถึงริมรอบขอบบึง หลักฐานที่สนับสนุน เช่น เปลือกหอยแครงฝาโตๆ แบบที่พบบริเวณเวียงทุน โคกพริก ริมแม่น้ำอ้อม และคูบัว ในเขตอำเภอเมือง แสดงถึงความสัมพันธ์กับแหล่งบริโภคอาหารทะเล จนสามารถนำสิ่งของไปแลกเปลี่ยนกับอาหารทะเลได้
ศาลาการเปรียญวัดจอมบึง สร้างเมือง พ.ศ. ๒๔๘๓
เป็นแบบศาลาวัดในภาคกลางทั่วไป มีราวลูกกรงสามด้าน อากาศถ่ายเทดี
ถึงวันพระ ชาวบ้านที่มาทำบุญพักค้างคืนได้สะดวก
แต่ต่อมาก็ถูกรื้อทิ้งไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔
หลักฐานที่แสดงว่าศาสนาพุทธเข้ามาถึงขอบทุ่งจอมบึงในสมัยทวารวดี พบที่เขาสำปะแจ ภูเขาลูกโดดติดกับเนินชัฏหนองคา สูง ๑๖๕ เมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมบึงประมาณ ๓ กิโลเมตร บนเขานี้มีถ้ำชื่อถ้ำพระพิมพ์ ได้พบพระพิมพ์สมัยทวารวดีรุ่นเก่า แบบเดียวกับที่พบแถบเขางู เขาวังสะดึง และเมืองคูบัว อายุประมาณ ๑,๒๐๐ ปีมาแล้ว เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาท แสดงปางประทานปฐมเทศนาภายใต้สถูป มีเจดีย์เล็กอยู่ข้างๆ ที่ฐานมีจารึกเป็นคาถาว่า
เย ธมฺ มา เหตุปฺ ปภวา เตสํ เหตุ ตถาคโต อาห
เต สฺจฺ โย นิโรโธ (จ) เอวํ วาที มหาสมโณฯ
แปลได้ความว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุของธรรมเหล่านั้น และความดับของธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้”
ถ้ำพระพิมพ์น่าจะเป็นเขตอรัญญวาสีในช่วงเวลาเดียวกับถ้ำฤาษี เขางู แต่บริเวณนี้ รวมถึงชุมชนชัฏหนองคาคงเป็นพื้นที่ชายขอบที่ไกลจนอำนาจรัฐจากเมืองคูบัวส่งมาถึงได้เพียงเจือจาง และคงไม่ใช่สถานที่ประกอบพิธีกรรม แต่น่าจะเป็นเพียงสถานวิเวกสำหรับจำศีลภาวนาของฤาษีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงไม่พบโบราณศิลปวัตถุเหมือนกับถ้ำต่างๆ แถบเทือกเขางู
ประมาณ ๙๐๐ ปีมาแล้ว ถ้ำพระพิมพ์ยังคงมีพระสงฆ์ ฤาษี หรือพุทธศาสนิกชนอุทิศเวลาเพื่อแสวงบุญกุศล คนเหล่านี้ได้สร้างพระพิมพ์รุ่นต่อมาที่เรียกว่าสมัยลพบุรี เป็นพระพิมพ์แบบพระแผ่นรูปพระพุทธเจ้าประทับปางมารวิชัยบนฐานปัทม์ลูกแก้ว และประทับยืนเป็นปางประทานอภัย รวม ๑๙ องค์ภายในซุ้มเรือนแก้ว พระพิมพ์แบบนี้ยังได้พบที่อยุธยา กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราชด้วย
หลักฐานที่มีอายุอยู่ในสมัยลพบุรีก็คือเศษเครื่องเคลือบจีน เช่น ตลับสีขาวสมัยซ้องเหนือและซ้องใต้ ชามเคลือบสีเขียวสมัยซ้องและสมัยหยวน เหรียญอีแปะจีนสมัยซ้อง ซึ่งตรงกับสมัยลพบุรีหรือสมัยอู่ทองของเมืองราชบุรี ถ้ำพระพิมพ์ร้างไปประมาณพุทธศตรรษที่ ๑๘ สมัยลพบุรีตอนปลาย
พ่อนาคอีกขบวนหนึ่ง แห่แหนขบวนญาติโยมมาทำพิธีบวชที่วัดจอมบึง
สมัยอยุธยา ไทยต้องทำสงครามกับพม่า เมืองราชบุรีกลายเป็นสถานที่ระดมพลป้องกันพระนคร และเป็นเมืองที่มีกองทัพประจำพร้อมร่วมทำศึก กับทัพหลวงได้ทันทีเมื่อข้าศึกยกมารุกราน ดังนั้นชายแดนเมืองราชบุรีจึงเป็นเส้นทางเดินทัพของไทย และพม่า โดยยึดแนวลำน้ำภาชี ดังปรากฏด่านสำคัญๆ เช่น ด่านเจ้าเขว้า เขตอำเภอสวนผึ้ง ด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง เลยขึ้นไปเป็นด่านมะขามเตี้ย ในเขตกาญจนบุรี ถ้าเลยขึ้นไปอีกเป็นด่านบ้องตี้ เขตกาญจนบุรีเช่นกัน
พม่าเมื่อยกเข้ามาทางเมืองทวาย เข้ามาทางด่านบ้องตี้ เทือกเขาตะนาวศรี เลียบชายเขาลงมาทางใต้เข้าเขตราชบุรี บางทีต่ำลงมาก็เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ แล้วตัดข้ามแม่น้ำภาชี ผ่านช่องเขาชนแอกลงสู่ทุ่งจอมบึง ก่อนถึงทุ่งเขางูใกล้ตัวเมืองราชบุรี
เหตุการณ์ไทยรบพม่าสมัยอยุธยาในเขตจอมบึงไม่มีการรบครั้งสำคัญๆ
ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี เขตจอมบึงเป็นหน้าด่านหรือปราการชั้นในที่เป็นสมรภูมิไทยรบพม่า พ.ศ.๒๓๑๑ ศึกบางกุ้ง พระยาทวายยกทัพเข้ามาทางไทรโยค ล่องเรือรบผ่านเมืองราชบุรีซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองร้าง จึงเคลื่อนทัพอย่างสบายจนถึงค่ายบางกุ้งที่ทหารจีนของพระเจ้ากรุงธนบุรีตั้งอยู่ ทัพพม่าเข้าล้อมค่ายทหารจีนไว้
พระมหามนตรีคุมทัพหน้าของไทยเข้าตีทัพพม่า ใช้อาวุธสั้นไล่ตะลุมบอนจนพม่าแตกหนี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงคุมทัพหลวงมาจากสมุทรสงคราม เข้าช่วยตามตีทัพพม่าจนแตกพ่ายหนีกลับไปทางหัวเขาสน ด่านเจ้าเขว้า ออกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ (บ้านทุ่งเจดีย์)
พ่อนาคจากบ้านทำเนียบ ขี่ม้ามาบวชที่วัดจอมบึง
จะเห็นว่าพ่อนาคไม่ได้แต่งองค์ทรงเครื่องหรูหราอะไร
คนร่วมงานก็ใส่แค่เสื้อผ้าลินิน กางเกงเวสปอยต์ ผ้าถุงทอจากบ้านไร่ ราชบุรี
ช่วยกันตีกลองยาว เป่าแตรวง
ด้านหลังเป็นกุฎิหอฉันหลังเก่าแบบพื้นบ้านภาคกลาง
ต่อมาถูกรื้อทิ้ง สร้างใหม่เป็นตึก
สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดศึกสงครามกับพม่าที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ พ.ศ.๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าทรงจัดกองทัพใหญ่เก้าทัพมาตีราชอาณาจักรไทย
พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ “ไทยรบพม่า” ได้กล่าวถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับราชบุรีว่า
“ฝ่ายกองทัพพม่าที่ ๒ ซึ่งอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นแม่ทัพยกมาตั้งที่เมืองทวายนั้น เมื่อรวบรวมรี้พลได้พร้อมแล้ว จึงจัดให้พระยาทวายเป็นกองหน้าถือพล ๓,๐๐๐ ตัวอนอกแฝกคิดหวุ่นเป็นกองหลวงถือพล ๔,๐๐๐ ให้จิกสิบโบ่เป็นกองหลัง ถือพล ๓,๐๐๐ ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้ แต่ทางที่ข้ามภูเขาเข้ามาเป็นทางกันดารกว่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์เหนือ ช้างม้าพาหนะเดินยาก ต้องรั้งรอมาทุกระยะ จึงเข้ามาช้า”
ในที่สุด กองหน้าพระยาทวายมาตั้งค่ายที่แถบบ้านหนองบัวค่าย นอกเขางู อนอกแฝกคิดหวุ่นแม่ทัพตั้งที่ท้องชาตรี (ทุ่งจอมบึง) จิกสิบโบ่ทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าเขว้าริมลำน้ำภาชี ไม่รู้ว่ากองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรีแตกพ่ายไปแล้ว
แม้เจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราชซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีจะมิได้ประมาท ให้กองลาดตระเวนออกไปสืบข่าว แต่ก็หาทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาถึงลำน้ำภาชีและหลังเขางูไม่
จนเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีชัยชนะที่ลาดหญ้าแล้ว มีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากรคุมกองทัพกลับมาทางบก มาทราบว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่หลังเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งจนถึงตะลุมบอน พม่าทานกำลังไม่ได้แตกหนีทั้งกองหน้าและกองหลวง ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันไปจนปะทะกองหลัง กองหลังก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับพม่าและเครื่องศาสตราวุธช้างม้าพาหนะได้เป็นอันมาก
ที่เหลือก็หนีกลับไปเมืองทวายทางด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้
ท้องทุ่งจอมบึงหลังสงครามเก้าทัพเรียกขานต่อมาว่า “ท้องชาตรี”
ถัดจากค่ายพม่าไปทางใต้ไม่ถึงกิโลเมตร ชาวบ้านเล่าต่อๆ มาว่า ครั้งนั้นพม่าถูกฆ่าตายมากมายก่ายกอง จนศพเหม็นเน่าเป็นแรมปี เรียกที่นั่นว่าบ้านหนองสาง
ต่อมาเห็นว่านามไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนเป็นสัง ชื่อต้นไม้ที่ขึ้นมากบริเวณนั้นแทน เลยเรียกเพี้ยนเป็นบ้านหนองสัง
กลางท้องชาตรีที่พม่าล่าถอยไปนั้น ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากค่ายพม่าประมาณ ๔ กิโลเมตร ศพพม่าทิ้งไว้มากมายก่ายกอง บ้างก็เล่ากันต่อมาว่าทัพพม่าที่อาศัยหนองน้ำที่นั่นถูกทหารไทยแอบใส่ยาพิษไว้ จึงเมาตายกันเป็นเบือ ฝูงแร้งกาลงจิกกินศพเป็นแรมเดือน ตามคำบอกเล่า ต่อมาเมื่อเป็นหมู่บ้าน จึงเรียกว่าบ้านหนองแร้ง
จากค่ายพม่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือริมขอบบึงประมาณ ๒ กิโลเมตร พม่าที่มาประชุมพลกันมากเหลือเกิน ชาวบ้านรับรู้และเล่ากันต่อมาว่า เวลาเลี้ยงข้าวปลาอาหารต้องใส่กระบะไม้แทนจานข้าว ซึ่งต้องใช้มากถึงแสนกระบะทีเดียว ชาวบ้านจึงเรียกที่นั่นว่าบ้านแสนกระบะ
บริเวณวัดหนองบัวค่ายปัจจุบันมีร่องรอยเนินดินค่ายเก่าของพม่า มีร่องน้ำทั้งที่เป็นแนวธรรมชาติและที่ขุดเป็นคูค่ายปรากฏอยู่ ชาวบ้านรุ่นเก่ายังเรียกว่าบ้านสันคู หรือบ้านคู ต่อมาได้เกิดกอบัวชูดอกสลอนเต็มคูค่าย ชาวบ้านจึงเปลี่ยนจากบ้านสันคูมาเป็นบ้านหนองบัวค่าย
ดังนั้น ทุ่งเขางู – อรัญญิก ไม่ใช่สมรภูมิไทยรบพม่าสมัยสงครามเก้าทัพตามที่เข้าใจผิดๆ มานานแล้ว
ขบวนแห่ต้อนรับพระครูวาปีวรคุณ (คูณ ฐิตธมโม) เจ้าอาวาสวัดจอมบึง
ยาวเหยียดตั้งแต่บ้านเกาะไปยังวัดจอมบึง
ครั้งที่ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกใน พ.ศ. ๒๕๐๘
หลวงพ่อคูณท่านมีปฏิปทาด้านการก่อสร้าง มีศิลปะในทางช่าง
เป็นที่รักและเคารพของชาวจอมบึงทุกคน
สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาล ๒ พ.ศ.๒๓๖๓ พระเจ้าจักกายแมงรัชกาลที่ ๗ ในราชวงศ์อลองพญาได้ข่าวว่าเมืองไทยเกิดอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายระส่ำระสายมาก เห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะมาตีเมืองไทยให้ปรากฏเป็นเกียรติยศ
แต่ข่าวพม่ายกมาทราบถึงทางกรุงเทพฯ เสียก่อน รัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้จัดทัพใหญ่ ๔ ทัพ โดยทัพที่ ๑ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแม่ทัพ เสด็จฯ ไปตั้งรักษาเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรก คอยต่อสู้ทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ (เหนือ)
ขณะนั้น เมืองราชบุรีกับเมืองกาญจนบุรียังรวมกัน เรียกว่าหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก
กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่ทัพคุมพล ๑๐,๐๐๐ ยกทัพผ่านเขาประทับช้าง ผ่านท้องชาตรี ออกหัวเขาสน ไปด่านเจ้าเขว้าริมแม่น้ำภาชี ขึ้นเหนือตามลำน้ำไปตั้งอยู่ตรงจุดที่แควน้อยกับแควใหญ่สบกัน เรียกว่าปากแพรก
ชาวบ้านแถวปากช่อง อำเภอจอมบึงเคยเล่าว่า สมัยก่อนมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาประทับแรมที่เชิงเขาลูกนี้ มีทหารช้างม้าพาหนะมากมาย กลางคืนมีเสียงมโหรี ชาวบ้านจึงเรียกกันต่อๆ มาว่าเขาประทับช้าง
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมืองเพชรบุรีมีเขตติดต่อกับเมืองสมุทรสงครามที่คลองตาอยู่ และเขตติดต่อกับเมืองราชบุรีที่ท้องชาตรี สมัยนั้นท้องชาตรีน่าจะเป็นท้องน้ำกว้างไกลดุจแม่น้ำ จึงได้เกิดตำนานสำเภาจีนแล่นไปล่มบริเวณนั้น ดังข้อความในสารตราท่านเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีฯ มีให้แก่หลวงเพชรบุรีปลัด หลวงเพชรบุรียกกระบัตร กรมการเมืองเพชรบุรี (พ.ศ.๒๓๙๘) ความตอนหนึ่งว่า
“เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองใหญ่อยู่ชายทะเลมีปากน้ำกว้างใหญ่ ฝ่ายบกข้างตะวันตกเฉียงเหนือต่อแดนเมืองราชบุรีถึงแม่น้ำทองชาตรี คลองตาอยู่ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจนเขาหมอนเจ้า เจ้าสิงขร คลองอีโนง ต่อแดนกับเมืองทวายมฤต มีประตูด่านลาตเวน รักษาด่านทางหลายตำบล มีเขตแดนกว้างขวาง…”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อเสด็จประพาสไทรโยคครั้งแรก พ.ศ.๒๔๑๖ เสด็จฯ จากกรุงเทพฯ ออกทางทะเลไปเข้าปากแม่น้ำแม่กลอง จากนั้นเสด็จฯ ทางสถลมารคจากเมืองราชบุรีผ่านมาทางท้องทุ่งชาตรี ดังพระราชนิพนธ์ โคลงนิราศกาญจนบุรี ที่ใช้นามแฝงว่าท้าวสุภัติการภักดี (นาก) เป็นผู้แต่ง ดังนี้
๗๖ ถึงช่องเขาทลุเลี้ยว เลยมา
แลละลิ่วเพิงผา โหว่โหว้
กระทิงถึกพยัคฆา เคยสู่ สิงแฮ
เขาทลุโล่งโต้ ตอบด้วยทรวงเรียม ฯ
๗๗ เขาทลุฤาใหญ่เหยี้ยง อกเรา
กว้างกว่าขอบเขตรเขา วากวุ้ง
ทุกแทบสัตว์ร้ายเนา ในอก
นอนแต่นอนสดุ้ง ยิ่งร้อยสัตว์เดิน ฯ
๗๘ หนองบัวค่ายเก่าตั้ง แต่เดิม
หวนฤาหายหื่นเหอม อึดอั้น
หนองบัวยิ่งมาเตอม แต่โศก
บัวว่าบัวนุชปั้น เปลี่ยนไว้ให้ชม ฯ
๘๑ ห้วยด้วนด่วนจากเจ้า จำเป็น
ห้วยก็ด้วนดุจเห็น หดห้วน
เห็นห้วยหากคิดเอ็น ดูอก ตูนา
ดึงเด็ดสวาดิ์ด้วน ทดด้วยด่วนมา ฯ
๘๕ ค่ายใหญ่อยู่ใกล้ท่า นัทที
ลำแม่ภาชีมี ชื่ออ้าง
น้ำใสสนิทดี ดูดุจ กรองนา
นึกระกำยามร้าง ถูกร้อนฤาเย็น ฯ
เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ผ่านด่านทับตะโก ใกล้บ้านกะเหรี่ยงโพล่งกลุ่มที่เรียกว่าโพล่งท่าตะเก (พวกที่แยกกลุ่มไปอยู่เมืองเพชรบุรีเรียกว่าโพล่งโด่งพริบพรี) นายท่องดิ่ง หัวหน้ากะเหรี่ยงนายกองลาดตระเวนชายแดน ซึ่งมีบ้านท่าสะแกเป็นศูนย์กลางฝั่งตรงข้ามกับด่านเจ้าเขว้าขณะนั้นนำลูกบ้านมาเฝ้ารับเสด็จฯ กราบบังคมทูลให้เสด็จฯ ไปประทับยังที่แห่งใหม่ริมฝั่งภาชี ซึ่งมีภูมิทัศน์สวยงามกว่า ปรากฏว่าทรงโปรดปรานมาก ทรงสอบถามได้ความว่ากะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าหนึ่ง บ้านเรือนสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษากันตามมีตามเกิด มีความเป็นอยู่ง่ายเสียจนนับวันเดือนปีไม่เป็น และมีผู้รู้หนังสือน้อยมาก จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายท่องดิ่งเป็นหลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ให้ปกครองลูกบ้านกันเอง
ครั้งนั้น รัชกาลที่ ๕ เมื่อได้พบชาวกะเหรี่ยงโพล่งได้พรรณนาลักษณะและการแต่งกายของชาวกะเหรี่ยงว่า
๘๖ นางเนืองกะเหรี่ยงทั้ง หญิงชาย
บ่าแบกของถวาย อยู่ซ้อง
โอ่อวดประกวดกาย ตามเพศ เขานา
เมียลูกหลานพี่น้อง บ่าวข้าหญิงชาย ฯ
๘๗ สาวสาวเหล่ากะเหรี่ยง สวยสวย
ปักปิ่นเกล้าผมมวย แช่มช้อย
เงินไพลูกปัดรวย ร้อยรอบ คอนา
ขมิ้นขัดผัดหน้าชม้อย ม่ายเหลี้ยงเอียงอาย ฯ
๘๘ ขับลำทำเล่นได้ หลายกล
เขาชิดเฉียดตำทน ส่ายอู้
เสื้อแสงที่สวมตน เต็มหยาบ คายนา
พูดอะไรไป่รู้ เรื่องเบ้อเบิ่งควาย ฯ
รถเมล์ “พิเศษ” สายจอมบึง-ราชบุรี ราว พ.ศ. ๒๔๙๗
เดิมเป็นหัวรถจิ๊ปสมัยสงครามโลก นำมาต่อตัวถังเป็นโครงไม้ให้บรรทุกของบนหลังคาได้
คิวรถเดิมอยู่หน้าโรงเรียนบ้านจอมบึง ระยะทางสามสิบกิโลเมตร
ใช้เวลาวิ่งขนผู้โดยสาร บรรทุกถ่านไม้ หน่อไม้ดอง เมล็ดละหุ่ง ฯลฯ
บนถนนลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อกว่าสองชั่วโมง
ที่ประทับแรมของรัชกาลที่ ๕ ในครั้งนั้น ชาวบ้านเรียกว่าหินแท่นที่ประทับ อยู่ในเขตหมู่ ๑ บ้านด่านมะขามเตี้ย อำเภอด่านมะขามเตี้ย กาญจนบุรี น่าแปลกที่ตำแหน่งปัจจุบันนี้กลับอยู่ห่างจากลำภาชีมาก ในช่วงร้อยกว่าปีมานี้ สายน้ำคงจะเปลี่ยนทางเดิน จึงเห็นแต่เพียงแนวหินกรวดท้องน้ำโผล่เป็นตอนๆ ครั้นต่อมาภายหลัง คำเรียกก็เรียกเพี้ยนไปตามภาษาถิ่น กลายเป็นหินแด้น หรือหินแด่น
รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี แล้วเสด็จฯ ไปประทับแรมที่ตำบลจอมบึง ดัง ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒ แผ่นที่ ๓๙ วันที่ ๒๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ หน้า ๓๖๓ ลงพิมพ์ “ข่าวเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลราชบุรี แลเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ” ว่า
“วันที่ ๑๙ ธันวาคม เวลาย่ำรุ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงม้าพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินจากค่ายหลวงไปตามทางหลวง ผ่านทุ่งเข้าป่าแดง เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๔๐ นาที ถึงที่ประทับร้อนปากช่องทุ่งพิทาบ เสด็จประทับเสวยเช้า ระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินเพียงนี้ ๓๓๕ เส้น เวลาเช้า ๔ โมงเสด็จจากที่ประทับร้อน เวลาเช้า ๕ โมงครึ่งถึงค่ายหลวงที่ประทับแรม ตำบลจอมบึง เสด็จจากม้าพระที่นั่งสู่ที่ประทับ ณ ค่ายหลวงนั้น ทางที่เสด็จพระราชดำเนินระยะนี้ ๒๘๘ เส้น รวมระยะทางแต่ค่ายหลวงหลุมดินถึงค่ายหลวงตำบลจอมบึงนี้ ๖๒๓ เส้น เวลาค่ำเสด็จออก พระยาสุรินทรฤาไชยนำพระรามบริรักษ์แลพราน แลพวกกะเหรี่ยงบ้านสวนผึ้งทางไกลจากที่นี้มาถวายของป่าต่างๆ สัตว์ต่างๆ มีพระราชดำรัสตามสมควร แล้วเสด็จขึ้น”
ตารางการเสด็จพระราชดำเนินประพาสมณฑลราชบุรี ต่อเนื่องนครไชยศรีที่ได้แจกก่อนเวลาเสด็จฯ จริง เพื่อให้ทราบวันเวลาระยะทางเป็นการล่วงหน้านั้น ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒ แผ่นที่ ๓๗ วันที่ ๑๕ ธันวาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๔ หน้า ๔๓๐ ระบุว่า “วันที่ ๑๘ เช้าเสด็จฯ แต่พลับพลาที่ประทับตำบลหลุมดิน เป็นขบวนรถม้าพระที่นั่งไปประทับร้อนตำบลเขาประทับช้าง แล้วเสด็จฯ ไปประพาสตำบลจอมบึง แลประทับแรม ณ ที่นั้น”
แต่วันเสด็จฯ จริงเลื่อนเป็นวันที่ ๑๙ และเปลี่ยนที่ประทับร้อนมาเป็นปากช่องทุ่งพิทาบ
การที่กะเหรี่ยงบ้านสวนผึ้งหรือโพล่งท่าตะเกถูกเกณฑ์มารับเสด็จฯ แสดงว่ากะเหรี่ยงที่บ้านหนองกะเหรี่ยงได้เคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ปากท่อและบ้านหนองหญ้าปล้อง กลายเป็นโพล่งโด่งพริบพรีไปแล้ว
ถ้ายังอยู่น่าจะต้องมารับเสด็จฯ ด้วย
ต่อมา บ้านหนองกะเหรี่ยงเปลี่ยนเป็นบ้านหนองนกกระเรียน เมื่อชาวไทยวนเคลื่อนย้ายมาอยู่ภายหลัง
เล่ากันว่า ข้าหลวงเทศาภิบาลเมืองราชบุรีได้สั่งเตรียมการรับเสด็จฯ เป็นแรมเดือน เจ้าหน้าที่มาถางป่าปรับสนาม สร้างพลับพลาที่ประทับ ณ บริเวณหน้าที่ทำการเทศบาลตำบลจอมบึง เล้าขุนหมูเพื่อเตรียมรับรองข้าราชบริพารผู้ตามเสด็จ
โรงครัวหุงข้าวกระทะอยู่ตรงห้องแถวบ้านพักตำรวจ
หน้าบ้านพักนายอำเภอปัจจุบันเป็นที่แขวนเป้าเคลื่อนที่ สำหรับทหารซ้อมยิงปืนยาวให้ทอดพระเนตร
“วันที่ ๒๐ ธันวาคม เวลาเช้า เสด็จพระราชดำเนินที่พักพระสงฆ์ มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นต้น ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินไปด้วย แล้วทรงม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินแต่ที่พักพระสงฆ์ไปตามทางหลวง ถึงเชิงเขากลางเมือง หยุดประทับเสวยเช้าที่เชิงเขา ทางแต่ค่ายหลวงถึงเชิงเขา ๘๔ เส้น เสวยแล้วทรงพระราชดำเนินขึ้นประพาสบนเขา แลทรงพระราชดำเนินลงประพาสในถ้ำเขากลางเมืองนั้น แล้วประทับที่ปากถ้ำ โดยทรงพระราชดำริที่จะให้มีสิ่งสำคัญ เป็นเครื่องหมายที่ระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ไว้สืบไปสิ้นกาลนาน จึ่งให้ทรงพระอักษรไว้ที่ปากถ้ำ คือ จ ป ร เป็นอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อ แลเลข ๑๑๔ หมายปีที่เสด็จประพาส แลทรงพระอักษรพระราชทานนามถ้ำว่า “ถ้ำจอมพล” โปรดเกล้าฯ ให้ช่างสลักๆ ศิลาตามตัวอักษร แล้วทรงฉายพระรูปที่ปากถ้ำนั้น แล้วเสด็จประพาสตามระยะทางแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับค่ายหลวงตำบลจอมบึง”
การเสด็จประพาสถ้ำจอมพลครั้งนี้ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถไม่ได้ตามเสด็จฯ ถ้าตามเสด็จฯ จริงต้องฉายพระรูปด้วย
เขาจอมพลที่เดิมเรียกว่าเขากลางเมือง ตามตำนานเรือสำเภาล่มนั้น ก็พากันเรียกว่าเขาจอมพลแต่นั้นมา
ตาควาย คชกาสร ช่างตีเหล็กจากบ้านโรงช้าง ราชบุรี เป็นผู้สลักหินตามตัวอักษรพระบรมนามาภิไธยย่อและถ้ำจอมพล จากจดหมายเหตุรัตนโกสินทร์ จารึกอักษรพระนาม จ.ป.ร. และ ว.ป.ร. ตอนที่ ๑ นับเป็นอักษรพระนามที่ ๒๑
“วันที่ ๒๑ ธันวาคม เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ เสด็จทรงม้าพระที่นั่งไปทอดพระเนตรบึง เวลาย่ำค่ำ เสด็จพระราชดำเนินกลับค่ายหลวงตำบลจอมบึง”
เสด็จฯ ไปทางสายเก่าบ้านวังมะเดื่อ ตรงหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เล่าว่าเจ้าหน้าที่ได้เปิดป่าพงหญ้าเป็นถนนลงไปสู่บึง พระองค์ทรงโปรดปรานความงามของบึงมาก ทรงพระราชดำรัสช้าๆ ว่า
“นี่หรือบึง สวยงามดี ต่อไปจะเจริญ ต่อไปนี้ให้เรียกว่าจอมบึง”
ท้องชาตรีที่ถูกเรียกขานภายหลังสงครามเก้าทัพ พ.ศ.๒๓๒๘ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น ชาวบ้านพากันเรียกขานใหม่ว่าจอมบึงตั้งแต่นั้นมา
“วันที่ ๒๒ ธันวาคม เวลาเช้า ๔ โมงครึ่ง ทรงม้าพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับจากค่ายหลวงตำบลจอมบึง มาตามทางเดิมประมาณชั่วโมงเศษ ถึงที่ประทับร้อนปากช่องทุ่งพิทาบ เสด็จลงจากม้าพระที่นั่งประทับ ณ ที่ประทับร้อนนั้น อยู่จนเวลาบ่าย ๒ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินจากที่ประทับร้อน เปลี่ยนทางเสด็จใหม่ ไปตามท้องทุ่งแล้วอ้อมไปตามเชิงเขางูวกมาออกทางเดิม เวลาบ่ายเกือบ ๕ โมง ถึงค่ายหลวงตำบลหลุมดิน เสด็จลงจากม้าพระที่นั่งแล้วทรงพระราชดำเนินขึ้นประทับพลับพลา ณ ค่ายหลวงตำบลหลุมดินนั้น”
เสด็จประพาสจอมบึงครั้งนี้ รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริว่า ท้องที่จอมบึงมีการทำนามากกว่าแห่งอื่น ประชาชนตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น แต่กันดาร เพราะอยู่ห่างไกลตัวเมืองราชบุรีมาก การเดินทางให้เร็วต้องขี่ม้า ถ้าเดินเท้าใช้เวลาร่วมวัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอจอมบึง ตามชื่อท้องบึงที่ทรงพระราชทานนามให้ โดยขึ้นกับอำเภอเมืองราชบุรีในปีพุทธศักราช ๒๔๓๙
ที่ทำการกิ่งอำเภอครั้งแรกตั้งอยู่ที่บ้านเกาะริมบึง คือบริเวณโรงฆ่าสัตว์เทศบาลตำบลจอมบึงในปัจจุบัน
ขบวนแห่ต้อนรับหลวงพ่อคูณใน พ.ศ. ๒๕๐๘ ถ่ายจากมุมสูง
แลเห็นครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านจอมบึง (วาปีพร้อมประชาศึกษา)
จูงจักรยานและเดินร่วมขบวน ถนนสายนี้เป็นสายเดียวกับที่
รถเมล์หัวจิ๊ปเคยวิ่งรับส่งผู้โดยสาร (แต่ใน พ.ศ. ๒๕๐๘ กลายเป็นรถสองแถวธรรมดาแล้ว)
เป็นทางลูกรังตัดผ่าพื้นที่ของบึง
ดังนั้นบางครั้งในหน้าน้ำก็มีน้ำหลากข้ามถนน
ที่แลเห็นไกลลิบๆ นั้นคือตลาดบ้านกลาง
พ.ศ.๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จนำพลเสือป่าเดินทางไกลจากพระรามราชนิเวศน์ (วังบ้านปืน) เพชรบุรี มาราชบุรี เพื่อฝึกประลองยุทธ์ประจำปี ทรงบัญชาการซ้อมรบกองเสือป่า ณ อำเภอบ้านโป่ง โดยมีพระราชปณิธานในอันที่จะปลูกฝังความรักชาติ และความพร้อมในการป้องกันประเทศชาติในหมู่ประชาชน พระองค์ได้นำกองเสือป่ามาซ้อมรบที่จอมบึงด้วย
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๔๕๗ เสด็จประทับแรมที่บ้านปากช่อง กองเสือป่าได้จัดกีฬาถวายทอดพระเนตร ตกกลางคืนมีการร้องเพลงและสวดมนต์ตามปกติ
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๕๗ เสด็จประทับแรมบ้านหนองบัวค่าย
วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๕๗ เสด็จประทับแรมบ้านด่านทับตะโก พลับพลาปลูกริมลำน้ำภาชี มีการเล่นต่างๆ ให้ทอดพระเนตร กองพลหลวงกองร้อยที่ ๑ แสดงละครเรื่องหูหนวก กองร้อยที่ ๒ เล่นเรื่องเป็นอ่าง กองร้อยที่ ๓ เล่นเป็นละครนอกหุ่นกระบอกคน เวลา ๒ ทุ่มร้องเพลงและสวดมนต์ เข้านอนเมื่อเวลายาม ๑
วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๕๗ ประทับแรมที่เดิมอีก ๑ คืน
วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๔๕๗ เสด็จฯ จากที่ประทับแรมบ้านด่านทับตะโก ผ่านบ้านห้วยท่าช้าง หนองแฟบ แล้วทรงเก้าอี้หามจนถึงจอมบึง เมื่อเวลา ๕ โมง ๒๐ พระองค์ได้เสด็จขึ้นประพาสถ้ำจอมพล ทรงตรวจแถวสมาชิกกองพลอาคเนย์ ซึ่งไปสมทบกองพลหลวง ณ ที่นั้น
วันนั้นลูกเสือป่าลงอาบน้ำที่ริมบึงบ้านวังมะเดื่อ แล้วตั้งค่ายที่โคกสนาม บ้านหนองบัวในเขตริมบึง เวลาบ่าย ๔ โมง มีการเล่นต่างๆ ถวาย
กองร้อยที่ ๑ เล่นเป็นละครพูดเรื่องกฎหมายฆ่าคนตาย
กองร้อยที่ ๒ จับระบำรามสูรย์และเมขลา และจับเรื่องไกรทอง
กองร้อยที่ ๓ เล่นเป็นการสมโภชท้าวพรหมทัต มีการเล่นในการสมโภชต่างๆ เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ด
กองร้อยที่ ๔ ก็จะเตรียมเล่นกระบี่ - กระบองเหมือนกัน แต่เวลาจวนถึง ๒ ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาเสวย จึงไม่ได้เล่น สมาชิกเสือป่าจึงได้ร้องเพลงต่อไป
ทุ่งจอมบึงเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมานี้เป็นพื้นน้ำกว้างใหญ่ มีน้ำขังตลอดปี ไม่เคยแห้งเลย มีบางตอนเท่านั้น เช่น พื้นที่ที่ยาวตลอดตั้งแต่หลังหมู่บ้านวังมะเดื่อลงไปกลางทุ่ง ที่จะตื้นเขินในหน้าแล้งจนทำนาได้ดี มีปลาปูกุ้งหอย สาหร่าย และกอบัวหลวงอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของนกตามทุ่งนาและนกเป็ดน้ำฝูงใหญ่ๆ
ในฤดูหนาว จะมีนกเป็ดน้ำบินหนีความหนาวมาจากไซบีเรีย จีนตอนใต้ ลงมาหากินรวมกันในบึงใหญ่นี้ชั่วคราว จนกว่าจะพ้นฤดูหนาว
ปีที่น้ำท่วมทุ่งเจิ่งนองเป็นทะเลสาบ ต้องลอยคอเกี่ยวข้าว ขนรวงข้าวด้วยเรือถ่อ เท่าที่จำได้มีปี พ.ศ.๒๕๐๒ ครั้งหนึ่ง แล้วในรอบประมาณ ๑๒ ปี เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๑ น้ำท่วมบึงครั้งใหญ่อีก ชาวนาต้องลอยคอเกี่ยวข้าว แล้วขนข้าวด้วยเรือถ่อ
วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๔ น้ำท่วมบึงอีกแต่ไม่ค่อยมาก ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๕๓๖ น้ำไม่ท่วมขังบึง มา พ.ศ.๒๕๔๘ น้ำไม่ท่วมบึงอีกเลย
ธรรมชาติของทุ่งจอมบึงเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หน้าแล้งเกิดหนองน้ำลึกเป็นแห่งๆ เช่น หนองลำพระยา หนองบ้านเก่า หนองวังมะเดื่อ หนองปรือ หนองยาว ริมขอบบึงตื้นเขินมีเนื้อที่ทำนาได้มากขึ้น ประชาชนจึงพากันจับจองที่ทำนาตามกำลังความสามารถแต่ละครอบครัว จึงเป็นเรื่องรับรู้กันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่นา ว่าตรงไหนเป็นของใคร ได้อาศัยทำกินกันต่อๆ มา
พ.ศ.๒๕๑๒ อำเภอจอมบึงได้รับงบประมาณโครงการพัฒนาภาคตะวันตก ได้ขุดลอกดินกลางบึงเป็นคลองยาวเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรในหน้าแล้ง ก้นคลองกว้าง ๙.๕๐ เมตร แต่น่าเสียดายขุดได้ยาวเพียง ๑,๙๐๐ เมตรเท่านั้น คงเหลือเนื้อที่ติดกับคลองกลางบึงเพียง ๙๐๐ กว่าไร่ เป็นบึงสาธารณะ แล้วต่อมากลายเป็นพื้นที่ สปก. ให้ราษฎรได้อาศัยทำกิน และกำลังพิจารณาจัดสรรส่วนหนึ่งให้เป็นบึงสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ โดยได้ออกแบบจัดภูมิทัศน์อันสวยงามไว้แล้ว สามารถเข้าชมได้ ณ ที่ว่าการอำเภอจอมบึง
“รถป่า” เป็นรถจิ๊ปรุ่นหลังสงครามโลก ที่ถูกดัดแปลงมาใช้ขนส่งไม้ซุงในพื้นที่ทุรกันดาร
คนอายุสามสิบปลายๆ บางคนยังทันได้เห็น
ทุ่งจอมบึงยังเคยเป็นถิ่นอาศัยของกวางเขางามชนิดหนึ่งที่เรียกว่า
ละองละมั่ง แต่กลายเป็นตำนานที่ไม่ค่อยจะมีใครกล่าวถึงนัก ผู้ที่กล่าวยืนยันว่ามีกวางชนิดนี้จริงคือท่านพระครูวาปีวรคุณ (คูณ ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดจอมบึง
สมัยที่ท่านยังเป็นเด็กรุ่นๆ อยู่ ท่านว่าละองละมั่งตัวเล็กกว่ากวางป่าธรรมดา อาศัยอยู่ในทุ่งบึงเป็นฝูงๆ เวลาเช้าหรือบ่ายจะเห็นมันวิ่งข้ามทุ่งเป็นปกติ แหล่งที่อยู่ชุกชุมคือแถวๆ แสนกระบะ หนองสัง (สาง) และหนองบัวค่าย ซึ่งภูมิประเทศเป็นป่าโปร่ง ไม่ค่อยมีเถาวัลย์ระเกะระกะ เป็นอุปสรรคทำให้ติดพันกับกิ่งเขาเวลามันวิ่งผ่าน ที่จริงน่าจะมีกะโหลกเขาของมันหลงเหลือเป็นหลักฐานบ้าง
ได้รับคำบอกเล่าจาก
นายน้อย บัวขาว บ้านหนองบัว (ตาขาว) ตำบลจอมบึง ว่าเคยเห็นมันวิ่งเป็นฝูงข้ามทุ่ง ชอบนอนแช่น้ำเล่น หลบแดดตามกอกกกอปรือตอนกลางวัน ป่าเต็งรังเหียงพลวงแถวบ้านสันดอน (ห้วยด้วน) เป็นบ้านที่อยู่ชุกชุมของพวกมันทีเดียว
นายเต่า ทองลิ่ม อดีตพรานป่าบ้านวังมะเดื่อ ซึ่งเคยยิงกวางป่านอนแช่น้ำกลางทุ่งบึง และเขากวางคู่นั้นยังแขวนอยู่ที่วัดจอมบึง เล่าว่าละองละมั่งตัวสุดท้ายของจอมบึงถูกไล่ยิงหนีเตลิดหายไปทางเขตอำเภอปากท่อ
นายเล้ง เจริญพินิจ บ้านหนองสัง (สาง) ก็เล่าว่า เคยเห็นมันวิ่งแถวแสนกระบะ บ้านสันคูหนองบัวค่าย มีเขาคู่หนึ่งอยู่ที่บ้านด้วย เขาอีกคู่หนึ่งอยู่ที่บ้านหนองขาม ชาวบ้านพบมันนอนตายที่เนินบ้านหนองขาม ฝูงหมาไนกำลังรุมกัดกินซาก เพราะเขาที่โค้งงอเป็นตะขอของมันนี่เอง บังคับให้อยู่ป่ารกทึบด้วยเถาวัลย์ไม่ได้ เมื่อท้องทุ่งถูกบุกเบิกเป็นนาไร่ไปหมด มันจึงหมดที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร แล้วถูกล่าสูญพันธุ์ไปทุกป่าธรรมชาติ
ณ วันนี้ เราหาชมละองละมั่งเป็นๆ ได้ที่สวนสัตว์เปิดของศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เขาประทับช้าง เปิดให้ชมทุกวันเสาร์ - อาทิตย์
ถ้ำจอมพลเดิมเรียกว่าถ้ำมุจลินท์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญ ในถ้ำนอกจากมีหินงอกหินย้อยสวยงาม กับทั้งความงามของป่าเขาลำเนาไพรโดยรอบแล้ว ยังมีลายพระหัตถ์ จ ป ร ๑๑๔ เป็นโบราณวัตถุสถานที่สำคัญ ด้วยจารึกอักษรพระนามาภิไธยย่อ จ ป ร นั้นเป็นพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโปรดปรานสถานที่ใดแล้วก็จะทรงให้จารึกอักษรพระนาม พร้อมปีที่เสด็จพระราชดำเนินไว้ ณ สถานที่แห่งนั้นๆ
หลังรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ เสด็จประพาสแล้ว ผู้คนต่างถิ่นต่างพากันมาเที่ยวชมอยู่เนืองๆ
ก่อน พ.ศ.๒๔๙๕
หลวงพ่อคง วัดเขาเหลือหรือวัดขรัวเหลือ อำเภอเมืองราชบุรี ได้อัญเชิญพระพุทธรูปปางประทานพร สมัยสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ใต้ปล่องถ้ำ โดยมีลูกศิษย์คือ
ลุงติด ลุงเปล่ง ลุงหนุน ไม่ทราบนามสกุล ช่วยกันขนย้ายมาด้วยเกวียน นัยว่าท่านงดงามมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งที่มีผู้มาอัญเชิญท่านไปไว้ที่วัดมหาธาตุราชบุรีสมัยพระราชธรรมเสนานี โดยอ้างว่าประตูถ้ำไม่มี กลัวจะถูกโจรกรรมไป เมื่อใดที่มีประตูถ้ำแข็งแรงและบูรณะถ้ำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแล้ว จึงจะอัญเชิญท่านกลับไป
ปัจจุบันจึงสมควรที่ชาวจอมบึงจะอัญเชิญท่านกลับไปเป็นที่สักการะบูชาและสิริมงคลแก่ผู้มาเที่ยวชมถ้ำดังเดิม
พ.ศ.๒๔๙๕
ท่านพระครูวาปีวรคุณ (คูณ ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดจอมบึงและเจ้าคณะอำเภอจอมบึง ได้จัดสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์ขนาดกลางขึ้นชิดกับผนังใต้ปล่องอากาศ ชาวจอมบึงจัดงานปิดทองพระพุทธไสยาสน์ถ้ำจอมพลในหน้าแล้งทุกปี
วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๙๗ ฯพณฯ
จอมพลผิน ชุณหะวัณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เดินทางมาวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนวิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง (มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเมื่อแรกตั้ง) ครั้งนั้นได้เข้าชมถ้ำจอมพลด้วย เมื่อเห็นความงามของหินงอกหินย้อย และป่าไม้บริเวณหน้าถ้ำ มีดำริว่าน่าจะรีบสงวนไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และเป็นอนุสรณ์ว่าสถานที่นี้เคยเป็นที่เสด็จประพาสของรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จึงมอบให้กรมป่าไม้จัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติ ถ้ำจอมพล ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ เป็นต้นมา
ระยะแรก หน้าที่รักษาประตูเข้าถ้ำและบริการตะเกียงเจ้าพายุอยู่ในความดูแลของวิทยาลัยหมู่บ้าน เพราะตอนนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในเวลาต่อมา กองบำรุง กรมป่าไม้ ได้รังวัดแนวเขต ปลูกพันธุ์ไม้ ตัดถนน และเปิดสนามให้เป็นที่พักผ่อนของประชาชน ทางหลวงสายราชบุรี – จอมบึงถึงหน้าถ้ำจอมพล ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร เริ่มเปิดให้ยานพาหนะทั่วไปแล่นได้แล้ว มีนักท่องเที่ยว หรือที่กำลังเป็นศัพท์ใหม่ตอนนั้นว่า “นักทัศนาจร” มาเที่ยวชมถ้ำมากขึ้น
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เสด็จประพาสถ้ำจอมพล ทั้งสามพระองค์ทรงปลูกต้นสัก ต้นกัลปพฤกษ์ และต้นนนทรีไว้บริเวณหน้าถ้ำ ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภ ป ร ๑ มิ.ย. ๙๙“ ไว้ที่หน้าถ้ำ
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงวางศิลาฤกษ์ ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาจอมบึง ได้เสด็จประพาสถ้ำจอมพล ทรงจารึกอักษรพระนามย่อ “ว ม ก“ ไว้ที่หน้าถ้ำด้วย
ริมขอบบึงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ยังเป็นทุ่งบึงราบเรียบเพราะเริ่มใช้ทำนา
ไกลออกไปเป็นดงไม้ไผ่ และไม้ใหญ่น้อยแผ่ขยายจรดเชิงเขาล้อมรั้ว
และเขาทะลุ อันเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเลียงผา และสัตว์ป่านานาชนิด
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล เคยนำนักนิยมไพรทั้งไทย และเทศมาส่องกล้องชม
ความเป็นมาของอำเภอจอมบึงตั้งแต่เป็นกิ่งอำเภอ แล้วเป็นอำเภอ ต่อมาแยกตำบลออกไปเป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้ง เป็นตำนานที่ควรจะกล่าวถึงเหตุการณ์ให้ละเอียด
วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๗ วางศิลาฤกษ์สถาบันฝึกหัดครูคือ
“วิทยาลัยหมู่บ้านจอมบึง” แล้วเปิดสอนเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๙๗ นายจินต์ รัตนสินเป็นผู้อำนวยการคนแรก รับนักเรียนรุ่นแรก ๖๑ คน จากจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยจำกัดจำนวนปีละ ๖๐ ทุน ทุนละ ๒,๕๐๐ บาท ใช้เวลาเรียน ๕ ปี จบแล้วได้ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)
นักศึกษาที่จบออกไปจะมีความรู้ความชำนาญในวิชาสามัญ วิชาชีพ วิชาเกษตรกรรม วิชาการศึกษา การพัฒนาชุมชน และประสบการณ์หลายๆ ด้าน สามารถออกไปสอนนักเรียนระดับประถมศึกษาในท้องถิ่นกำลังพัฒนาโดยเฉพาะ
ต่อมาได้ยกฐานะเป็น “วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง” เมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๕๑๓ เป็น “สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง“ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘ แล้วเปลี่ยนสถานภาพไปเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง“ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ เป็นต้นมา สร้างความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากร ตลอดทั้งประชาชนชาวจอมบึงอย่างยิ่ง
พ.ศ.๒๕๐๑ กระทรวงมหาดไทยประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอจอมบึง เป็นอำเภอจอมบึง นายประกิต พิณเจริญเป็นนายอำเภอคนแรก โดยใช้อาคารที่ว่าการหลังเดิมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้ขยายต่อเติมและปรับปรุงทาสีที่ว่าการใหม่ ทำพิธีเปิดใช้อาคารในสมัย ร.ต.ปรีดี ตันติพงศ์เป็นนายอำเภอ
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๕ กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าตำบลสวนผึ้งมีพื้นที่กว้างขวาง เต็มไปด้วยภูเขาและป่าไม้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงถึง ๑๖ หมู่บ้าน การจะปกครองดูแลไม่ทั่วถึง จึงได้ประกาศแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงเขต แยกไปเป็นตำบลใหม่อีก ๒ ตำบล คือ ตำบลป่าหวายและตำบลบ้านบึง
วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้แบ่งท้องที่ตำบลสวนผึ้ง ตำบลป่าหวาย และตำบลบ้านบึง ออกไปเป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้ง ที่ว่าการกิ่งอำเภอได้ใช้อาคารที่ทำการของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๐ กรป.กลาง บก.ทหารสูงสุด
ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอสวนผึ้งคนแรก คือนายเกษม กิตติบำรุงสุข
ลำดับเหตุการณ์สำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ตลอดจนข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับประเทศ ได้เสด็จฯ และมาถึงอำเภอจอมบึง จนทำให้จอมบึงเจริญรุ่งเรืองทันตาเห็น ดังนี้
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๙ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จทรงเปิดป้ายโรงเรียนคุณอื้อบำเพ็ญ บ้านสวนผึ้ง
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จทรงเปิดป้ายโรงเรียนมหาราช ๗
วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๑๒ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯเยี่ยมราษฎรบ้านโป่งกระทิงล่าง ที่โรงเรียน ตชด. ๘ อนุเคราะห์
วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๒ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯ เยี่ยมหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๑๑ กรป.กลาง บก.ทหารสูงสุด ที่บ้านบ่อ
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร เปิดป้ายหมู่บ้านป่าหวายพัฒนา
วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯทรงเปิดป้ายโรงเรียนสมนึกวิทิศวรการ บ้านวังน้ำเขียว
วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯทรงเปิดป้ายโรงเรียนบ้านทุ่งแหลม (ธรรมศาสตร์ – จุฬา ๒)
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๔ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯเยี่ยมราษฎรที่บ้านคา ที่ทำการเก่าของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๑๑ กรป.กลาง บก.ทหารสูงสุด
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านคา ณ ที่ทำการเก่าของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ กรป.กลาง บก.ทหารสูงสุด และเสด็จฯ ฝายน้ำล้นบ้านโป่งกระทิงล่าง ตำบลบ้านบึง
วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๘ สมเด็จพระราชชนนีฯ เสด็จฯ ทรงเปิดป้ายโรงเรียนกลุ่มนักข่าวหญิง ๒ บ้านห้วยบ่อหวี
วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาจอมบึง และเสด็จประพาสถ้ำจอมพล
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรและชุดคุ้มครองหมู่บ้าน (ชคบ.) บ้านโป่งกระทิงล่าง
วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๒๑ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเปิดป้ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สาขาจอมบึง
วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ยังวัดถ้ำสิงโตทอง ทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ยกฉัตรพระประธาน ตัดลูกนิมิต ฉลองรูปเหมือนพระราชสังวราภิมณฑ์ (หลวงปู่โต๊ะ) และพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปพระพุทธสิริกิตติพิพัฒน์ และสมเด็จนางพญา สก. ณ อุโบสถวัดถ้ำสิงโตทอง โดยที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “สก.” จารึกไว้ที่หน้าบันอุโบสถด้วย
วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๗ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จทรงตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จอมบึง
นายอำเภอวรภัทร์ ตั้งตราตระกูล เป็นผู้จุดประกายปลุกเร้าให้ทุกภาคส่วนอำเภอจอมบึง รวมจิตใจเป็นหนึ่งเดียว โดยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณที่ว่าการอำเภอจอมบึง ตามฤกษ์พิธีอัญเชิญพระบรมรูปเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๖ เวลา ๑๑.๒๙ น. เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวจอมบึง ที่ทรงพระกรุณายกฐานะตำบลจอมบึงเป็นกิ่งอำเภอจอมบึงใน พ.ศ.๒๔๓๙
นำความเจริญมาสู่ท้องถิ่นอำเภอจอมบึงจวบจนปัจจุบัน
ที่มาข้อมูลและภาพ :
สุรินทร์ เหลือลมัย . (2548). ตำนานจอมบึง.วารสารเมืองโบราณ ปี 2548 ฉบับที่ 31.4 . [Online]. Available : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=58. [2553 กรกฎาคม 11].