บทความนี้ต่อจาก กักไว้ให้หิวโซ แล้วเอาข้าวล่อพม่า
งุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่นั้น ได้พิจารณาเห็นว่า ถึงแม้จะถูกล้อมด้วยกำลังที่มากกว่า แต่มีความกล้าหาญอดทนได้ แก้ไขสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา พยายามแหกค่ายปล้นค่ายทหารไทยหลายครั้งหลายหน ในท่ามกลางความอดอยากและสถานการณ์ทั่วๆ ไปเป็นฝ่ายเสียเปรียบ พอกาลเวลาผ่านไป งุยอคงหวุ่นมองเห็นอนาคตว่าสู้ไม่ไหวแล้ว แพ้นั้นต้องแพ้แน่ แต่กลับกลัวตายในชีวิตตน โดยเห็นว่าการต่อรองในการยอมแพ้และวางอาวุธหลายครั้งหลายคราว จุดมุ่งหมายก็เพียงต้องการยืนยันจากไทยว่า เมื่อยอมแพ้แล้ว ตัวงุยอคงหวุ่นเว้นการถูกฆ่า
ความกลัวตายของแม่ทัพใหญ่พม่า คงจะสำนึกในตัวเองที่กระทำไว้กับคนไทย จึงเกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกแก้แค้นจากทหารไทย คนไทยที่ฝังอยู่ในจิตใจด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก งุยอคงหวุ่นเป็นแม่ทัพมารบกับไทยเมื่อคราวไทยเสียเมืองเมื่อปี พ.ศ.2310 สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจไว้กับคนไทยไม่รู้ลืม รวมทั้งนำกำลังลงมาจับคนไทยค้นหาแย่งชิงทรัพย์สมบัติชาวบ้านจนถูฏล้อมไว้
ประการที่สอง พูดจาเย้ยหยันทหารไทยในระหว่างที่ไทยสร้างค่ายล้อมพม่าที่บ้านบางแก้ว
ข้อความในใบลานที่งุยอคงหวุ่นส่งมาให้ตละเกล็บครั้งแรกเพื่อนำมาให้ฝ่ายไทย เป็นหนังสือทำนองขอร้องในการยอมแพ้ซึ่งเขียนเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว มีข้อความหนึ่งซึ่งน่าจะทราบไว้ดังนี้
"พระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าช้างเผือก (พม่า) มีบุญญาภินิหารเป็นใหญ่ในชมพูทวีปด้วยกัน และพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่ายเป็นเวรกัน พระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะให้ข้าพเจ้ากับนายทัพนายกองทั้งปวงมาทำสงครามกับท่านผู้เป็นเสนาบดีในกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ ข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่าน ท่านล้อมไว้จะพากันหนีไปก็ไม่ได้แล้ว ถ้าท่านล้อมไว้อย่างนี้ก็มีแต่จะตายอย่างเดียว ไม่ใช่จะตายแต่พวกข้าพเจ้าที่เป็นนายทัพนายกองเท่านั้น จึงไพร่พลทั้งปวงก็จะพลอยตายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อชีวิตข้าพเจ้าทั้งหลายตายไปเสียแล้ว ใช่ว่าสงครามของพระมหากษัตราธิราชทั้งสองฝ่ายจะเป็นอันเสร็จสิ้นกันเพียงนั้นก็หามิได้ ท่านผู้เป็นเสนาบดีไทยได้ถือน้ำทำชการสนองพระเดชพระคุณตามพระราชกำหนดกฏหมายของพระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุธยาฉันใด ข้าพเจ้ามาทำสงครามก็ด้วยได้ถือน้ำทำราชการตามพระราชกำหนดกฏหมายของพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะอย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนเป็นแต่เครื่องศัสตราวุธซึ่งพระมหากษัตราธิราชทรงใช้สอยทั้งสองฝ่าย พระพุทธองค์ก็ได้โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่า อันจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละคนนี้ยากนักฉันใด ข้าพเจ้าทั้งหลายจัได้รอดชีวิต ขอบรรดาท่านผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีช่วยพิเคราะห์ดูด้วยเทอญ"
พระเจ้าตากคงจะไม่พอพระทัยที่แม่ทัพใหญ่ต่อรองผัดวันประกันพรุ่งหลายครั้งหลายหน ครั้นวันหนึ่งได้ปรึกษาบรดาแม่ทัพนายกอง แม่ทัพนายกองขอให้ทำการหนักขึ้นโดยใช้กระสุนปืนไม้ระดมยิงเข้าไปในค่าย พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยได้ดำรัสว่า
"ฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่ข้าศึกสิ้นความคิดเช่นนี้แล้วฆ่าเสียก็บาปกรรมเปล่าๆ จับเป็นเอาเถิด"
เพื่อเร่งวันยอมแพ้ พระเจ้าตากจึงได้ทรงให้อุตมสิงหจอจัวมีหนังสือเข้าไปในค่ายพม่าทั้งสามค่ายโดยยืนยันการไม่ฆ่า และยังขู่ไปอีกว่า ถ้าไม่ยอมแพ้เสียโดยเร็วกองทัพไทยจะเข้าตีฆ่าฟันให้ตาย มิให้เหลือเลยแม้แต่คนเดียว
ครั้งวันรุ่งขึ้น นายทัพรองๆ คงทนความอดอยากความหวาดกลัวไม่ไหว เมียนหวุ่น กับ ปกันเลชู นายทัพพม่ากับนายรองๆ อีก 21 คน ได้รวบรวมเครื่องศัสตราวุธพากันออกมาสวามิภักดิ์ อุตมสิงหจอจัว พาเข้าถวายบังคมพระเจ้าตาก นายทัพทั้งสองได้อาสาเข้าไปจะนำตัวงุยอคงหวุ่นกับพวกออกมา
ในวันนั้น งุยอคงหวุ่น แม่ทัพใหญ่พร้อมกับนายทัพรองๆ เนมโยแมงละนรธา ยุยยองโบ่อคงหวุ่นมุงโยะ และนายทัพรองๆ ทั้งหมดออกมาจากค่าย หลังจากนั้นนายทัพไทยก็นำงุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่พม่ากับพวกเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าตาก ณ กองบัญชาการกองทัพไทย
การรบครั้งนี้พระเจ้าตากทรงใช้เวลา 47 วัน (ตั้งแต่ 13 กุมภาพันธ์ 2317-31 มีนาคม 2317) เผด็จศึกได้โดยเด็ดขาด ได้เชลยทั้งตัวแม่ทัพใหญ่และนายรองตามที่กล่าวมาแล้วกับไพร่พลที่เหลือตายทั้งสามค่ายรวม 1,328 คนกับผู้หญิงอีก 2 คน พม่าตายเสียเมื่อทำการรบระหว่างถูกล้อมมีจำนวน 1,600 คน
ครั้งรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พระเจ้าตาก มีรับสั่งให้ เจ้าพระยาจักรี ยกทัพขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชงุ้ม และให้ พระยาอนุชิตราชา กับหลวงมหาเทพ ยกทัพไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรกพร้อมกับ พระยายมราชแขก
ผลที่สุดพม่าที่เขาชงุ้มและปากแพรกก็แตกหรีกระเจิง ถูกฆ่าฟันและจับได้อีกมาก มองจายิดกับตะแคงมรหน่องนายกองค่าย นำทหารเหลือตายหนีเข้าแดนพม่าไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะ กองทัพไทยไล่ติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต
ครั้นแล้วพระเจ้าตากทรงให้เลิกทัพกลับคืนพระนคร พร้อมกับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่ความชอบที่มีชัยชนะต่อพม่าข้าศึกในครั้งนี้โดยทั่วกัน
สร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ผู้เขียนรวบรวมการสงครามของพระเจ้าตากในครั้งนี้ เพื่อ
ประการแรก ให้ประชาชนชาวไทยได้ราบวีรกรรมการรบในสมรภูมิ ซึ่งมีพื้นที่อยู่ในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดกาญจนบุรี
ประการที่สอง เน้นให้ลูกหลานชาวราชบุรีและกาญจนบุรีได้อ่านได้ศึกษาการรบที่สำคัญยิ่งในดินแดนจังหวัดทั้งสองของเรา และให้ร่วมกันคิดร่วมกันพิจารณาว่า พวกเราน่าจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณต่ออดีตวีรกษัตริย์มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ของชาติ
ประการที่สาม ให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้น้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่ทรงกู้แผ่นดินให้ลูกหลานได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย มีความภาคภูมิใจในฐานะประเทศที่มีเอกราชอิสระเสรีอันยาวนาน
และวันที่ 28 ธันวาคม เป็นวันครบรอบพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ที่มาของบทความ
รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. (11-15)
ที่มาของภาพhttp://personinhistory.exteen.com/images/6.jpg
http://www.navy.mi.th/sctr/navyinfo/nvi9137/page2.3.jpg
http://xchange.teenee.com/up01/post-6409-1168583371.jpg
รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. (11-15)
ที่มาของภาพhttp://personinhistory.exteen.com/images/6.jpg
http://www.navy.mi.th/sctr/navyinfo/nvi9137/page2.3.jpg
http://xchange.teenee.com/up01/post-6409-1168583371.jpg