วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ที่นี่..สถานีหนองปลาดุก


หากใครเคยอ่านนวนิยายชื่อดังเรื่อง คู่กรรม ของทมยันตี ที่หยิบยกเอาเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา มาเป็นฉากในการดำเนินเรื่อง แต่ยังกังขากับพฤติกรรมของสองตัวละครชูโรง คือตาผลกับตาบัว ที่ลอบเข้าไปขโมยของในค่ายทหารญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ ว่าเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่ เชิญพิสูจน์เรื่องราวที่คล้ายคลึงกันนี้ได้จากปากคำของลุงนิตย์ ศรีประเสริฐ หนึ่งในผู้ร่วมสถานการณ์จริง ซึ่งคลุกคลีอยู่กับค่ายทหารญี่ปุ่นที่หนองปลาดุก มาตั้งแต่การเริ่มสำรวจทางเพื่อเตรียมสร้างค่าย จนถึงวันสุดท้ายของการสิ้นสุดสงคราม

"ทีแรกพวกญี่ปุ่น นั่งรถมากับพวกเจ้านายในอำเภอ มาถึงก็สำรวจที่ทางแถวๆ นี้ หลังจากนั้นไม่นานก็ขนข้าวของมาสร้างค่ายที่นี้...ที่ดินตรงบ้านผมนี่ แต่ก่อนเป็นโรงครัว ตอนนั้นผมอายุสัก 17-18 ปี เขารับสมัครคนไปขุดดินทำทางก่อนวางราง ก็ไปทำกัน มีทั้งคนที่นี่ และมาจากที่อื่นๆ บ้าง นครปฐมก็มี เงินมันดี ได้วันละ 50 สตางค์ ก็ดีใจแล้ว ช่วงนั้นน้ำท่วมด้วย ทำอะไรได้เงินก็เอาไว้ก่อน อยู่ๆ ไปก็จับให้เราไปเรียนหนังสือญี่ปุ่น..เรียนกันหลายคน แล้วเปลี่ยนมาเป็นล่ามให้มันแทน ผมรู้จักคนเยอะ ในค่ายนี่รู้จักกันหมดแหละ พวกเชลยที่รอดไป ตอนหลังยังกลับมาที่นี่บ่อยๆ นี่ไง รูปนี้ถ่ายหน้าบ้านผม" ลุงนิตย์เล่าพลางหยิบรูปที่ถ่ายคู่กับฝรั่งร่างสูงใหญ่มาให้ดู

หากย้อนหลังกลับไปในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2485 หน้าประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า เป็นวันที่หน่วยทหารซากาโมแห่งกองพลทหารรถไฟที่ 9 ของกองทัพญี่ปุ่น ได้ลงมือปักหลักหินบอกเลขกิโลเมตรที่ 0 ของทางรถไฟสายไทย-พม่า หรือที่รู้จักกันดีในนามทางรถไฟสายมรณะ ลง ณ สถานีหนองปลาดุก ในเขตอำเภอบ้านโป่ง

แต่ก่อนหน้านั้นในราวสองเดือน ชาวหนองปลาดุกต่างมีโอกาสต้อนรับอาคันตุกะร่างเตี้ยที่เข้ามาตัดฟันต้นไม้ต้นไร่ในสวนของตนเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะมีค่ายพักและค่ายกักกันแล้ว ยังมีโรงเรือนขนาดใหญ่ เพื่อใช้เป็นโรงซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่ขนมาเตรียมไว้ใช้เป็นพาหนะลำเลียงเหล่าทหารและยุทธภัณฑ์ไปยังพม่า

เหตุที่เลือกหนองปลาดุกเป็นจุดเริ่มต้นทางรถไฟนั้น เนื่องจากเส้นทางระหว่างสถานีหนองปลาดุกไปยังสถานีบ้านโป่ง ถือว่าเป็นจุดเลี้ยวของรถไฟที่มุ่งหน้าลงใต้ หากสร้างทางรถไฟแยกจากจุดนี้ ไปทางจังหวัดกาญจนบุรี ตัดข้ามแม่น้ำแควน้อย ข้ามชายแดนไทย-พม่าไปสู่สถานีทันบิวซายัต ในเมืองมะละแหม่ง ได้สำเร็จก็จะสามารถเชื่อมเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศได้

ยิ่งในขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกรที่เคยมีชัยชนะทุกสมรภูมิ เริ่มตกอยู่ในสถานการณ์คับขัน เพราะเรือลำเลียงในมหาสมุทรอินเดียถูกโจมตีอย่างหนัก จนไม่สามารถส่งกำลังไปบำรุงกองทัพที่ตรึงไว้ตามแนวชายแดนพม่า-อินเดียได้อย่างสะดวก จำเป็นต้องหาเส้นทางลำเลียงสายใหม่ให้ได้เร็วที่สุด

ทางรถไฟสายไทย-พม่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น เพราะมีระยะทางสั้นที่สุด คือในราว 400 กิโลเมตร ซึ่งหากอยู่ในภาวะปกติคงต้องใช้เวลาสร้างถึงแปดปี แต่ทางฝ่ายญี่ปุ่นคำนวณแล้วว่า หากระดมแรงงานอย่างเต็มที่ คงสร้างเสร็จในเวลาเพียงปีเศษเท่านั้น

ตลอดระยะเวลาที่มีการสร้างทางรถไฟ ทางกองทัพญี่ปุ่นต้องประสบปัญหานานัปการ บางปัญหาแก้ไขได้ บางปัญหาก็น่าหนักใจ แต่คงไม่มีปัญหาใดสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าได้กับยุทธภัณฑ์ชิ้นใหญ่น้อยในค่ายหายไปเป็นประจำ เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของจารชนที่ลอบเข้ามาบ่อนทำลายกองทัพ แต่เกิดจากฝีมือคนไทยและเชลยศึกในค่ายนั่นเอง

"ทำงานให้ญี่ปุ่นมั่ง ลักของมันออกมาขายมั่ง บางคนก็เอากะหรี่มาล่อ ไปเช่ามาจากนครปฐมสัก 15 บาทเห็นจะได้ แล้วเอาเข้าไนค่าย พวกญี่ปุ่นเห็นก็ชอบนะสิ ไม่ได้เจอมานานนี่ พอไอ้พวกนี้อยู่ข้างใน คนไทยข้างนอกก็ย่องมาลักยางรถ เอาไม้มาทำเป็นคานสอดแล้วห้ามไปทิ้งในคูก่อน ตอนหลังก็มาทยอยเอา พอยางหาย นายมันก็เล่นงานไอ้พวกลูกน้อง ทีนี้จะเอาผู้หญิงไปล่ออีกไม่ได้แล้ว"

"บางทีพวกเชลยฝรั่งก็แอบเอาตะปูใส่กระป๋องชามา ทำเป็นจะไปให้เพื่อนกิน แล้วแอบเอามาขายคนไทย...ประจำเลยเรื่องลักของ ไทยมั่ง ฝรั่งมั่ง บางทีมันเอาเสื้อผ้ามาแลกกล้วย แลกของกินเรา ที่มีอยู่กินกันไม่อิ่มหรอก มีอยู่ครั้งฝรั่งคนหนึ่งเอากางเกงมาขาย คนไทยก็เอาแบงก์ครึ่งใบพับแล้วส่งให้ ตอนแลกของกันมันต้องรีบๆ ทำ ชักช้าไม่ได้ เดี๋ยวญี่ปุ่นเห็นเอาตาย ตอนหลังฝรั่งนี่มันแค้นนะสิ มันเอาขี้ห่อใบตองมาอย่างดีเลยนะ ใส่กระป๋องมานี่แหละ น้ำหนักก็ได้พอๆ กับตะปู เอาไปขายตายันที่เอาแบงก์ให้ครึ่งเดียวนั่นแหละ พอแกเปิดไปเจอแต่ขี้ เขาเลยล้อกัน...ตายันซื้อขี้-ตายันซื้อขี้ ไอ้คู่นี้ตอนหลังเจอกันไม่ได้เลย"

"ญี่ปุ่นไม่ทันคนไทยหรอก เหลี่ยมไม่ทัน ญี่ปุ่นนั่งเฝ้ายามอยู่ บางทีก็หลับ คนไทยย่องเข้าไปเนี่ยไม่รู้เรื่องหรอก ตอนไหนมันเปลี่ยนยามเราก็รู้ เล่นเดินชักแถวร้องเย้วๆ มาแต่ไกล ได้ยินเสียงเราก็เผ่น บางทีเข้าไปซ่อนกันในค่าย เอาถังน้ำมันครอบไว้ พอปลอดคนก็ออกจากถัง ฮู้ย..วิธีการแอบมันมีหลายอย่าง ไปซ่อนบนต้นไม้ก็มี อย่างบางทีพวกที่ทำงานในค่ายจะเอาแป๊บออกมาขาย เตรียมขนเอามาวางใกล้รั้วไว้ก่อน พอดึกๆ แอบมาลากไป อย่างโรงเรือนในค่ายนี่มันปลูกติดดิน ไม่มีพื้น เราก็ขุดจากข้างนอกเข้ามา เอาของที่มันเก็บไว้ พวกลวด พวกทองแดง...อะไรเอามา ขายได้ทั้งนั้น ของใหญ่อย่างน้ำมันกลิ้งไปทั้งถังนี้แหละ ไท้งไว้ในคูน้ำก่อน แล้วแอบมาเอาทีหลัง"

ลุงนิตย์ เล่าด้วยน้ำเสียงสนุกสนาน พร้อมออกท่าออกทาง แน่นอนว่า ภาวะข้าวยากหมากแพงเพราะผลพวงจากสงครามนั้น ทำให้ชาวบ้านต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยสำคัญในการอยู่รอด แต่หากใครสักคนเกิดเพลี่ยงพล้ำจนถูกจับได้เว่า อะไรจะเกิดขึ้น...ในเมื่อทหารญี่ปุ่นนั้น ขึ้นชื่อหนักหนาในเรื่องความเข้มงวด

"กับคนไทย มันไม่ทำรุนแรง มันเล่นแปลกๆ เอาให้จำมากกว่าไปลักของมัน บางทีก็ให้ยืนกลางแดดเป็นกระต่ายขาเดียว ให้หิ้วถังน้ำด้วย ถ้าขาหย่อยเมื่อไหร่ก็ถูกฟาด แต่ที่เล่นเอาแย่ตอนที่มีคนเมาเข้าไปทำเสียงดังในค่าย มันจับกรอกน้ำสบู่เสียเลย"


ภาพความทรงจำครั้งอดีตกลายเป็นตำนานที่ถ่ายทอดสู่กันฟังอย่างไม่รู้จบ แต่ภาพโรงเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจากนับสิบหลังที่เคยเรียงรายอยู่ริมทางรถไฟถูกรื้อถอนทำลายไปจนหมดสิ้นแล้ว ทุกวันนี้หนองปลาดุก มีชื่อปรากฏอยู่บนตารางเดินรถไฟสายใต้ในฐานะ "ชุมทางหนองปลาดุก" รถไฟที่เคลื่อนผ่านมาจะแยกเป็นสามสาย สายแรกมุ่งสู่ภาคใต้ สายที่ 2 คือ ทางรถไฟสายมรณะ ที่ปัจจุบันไปสิ้นสุดที่สถานีน้ำตกของจังหวัดกาญจนบุรี ส่วนอีกสายบ่ายหน้าไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี

อาคารไม้รูปทรงเดียวกันกับอาคารสถานีทั่วไปของการรถไฟฯ ตั้งอยู่อย่างงโดดเดี่ยว
เสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ได้จารึกลง ณ ที่นี่..สถานีหนองปลาดุก

ที่มาข้อมูล
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 74-75)
ภาพ : สุชาต จันทรวงศ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น