วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน

หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน


ประวัติความเป็นมา
ตลาดริมทางรถไฟที่เคยเจริญรุ่งเรือง ในอดีตเคยเป็นอำเภอมาก่อน เรียกว่า "อำเภอเจ็ดเสมียน" ได้ย้ายไปตั้งที่ตำบลโพธาราม อำเภอโพธาราม เมื่อปี พ.ศ.2438

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประพาสต้นที่ตลาดเก่าแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2431 เมื่อครั้งที่พระองค์ ทรงเสด็จประพาสไทรโยค พระองค์ทรงตรัสว่า "วัดเจ็ดเสมียน ลานวัดกว้างใหญ่ ต้นไม้ร่มดูงามนัก เรือลูกค้า จอดอาศัยอยู่ที่นี่มาก บ้านเจ็ดเสมียน นี้เป็นที่ชอบของนักเลงกลอน พอใจจะหยากไหว้วานให้เสมียนมาจดแทบทุกฉบับ"

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อคราวศึกเก้าทัพ พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ กลอนเพลงยาวนิราศ เรื่องเรือรบพม่าที่ท่าดินแดง พระองค์ทรงแต่งกลอนนิราศ เมื่อกองทัพของพระองค์เสด็จมาถึงตำบลเจ็ดเสมียน มีใจความว่า

ถึงท่าราบที่ทาบทรวงถวิล   ยิ่งโดยดิ้นโหยหวนครวญกระสัน
ด้วยได้ทุกข์ฉุกใจมาหลายวัน   จนบรรลุเจ็ดเสมียนตำบลมา
ลำลำจะใคร่เรียกเสมียนหมาย  มารายทุกข์ทีทุกข์คะนึงหา
จึงรีบเร่งนาเวศครรไลคลา  พอทิวาเยื้องจะสายันห์

ตลาดเจ็ดเสมียน แต่เดิมมีต้นจามจุรีใหญ่สองต้นอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นหมุดหมายของตลาดเล็กๆ ให้พ่อค้าแม่ค้าทางบกเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำ มีเรือนแถวชั้นเดียวหลังคามุงจาก พอเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว  พอบ้านเมืองพัฒนาขึ้นก็โค่นต้นจามจุรีลง ปลูกห้องแถวไม้สองชั้นขึ้นมา ตัวตลาดสดขยับจากริมแม่น้ำเข้ามาใกล้ทางรถไฟมากขึ้น เรือนแถวชั้นเดียวก็ถูกรื้อร้างไป ตลาดใหม่นี้เป็นที่ซื้อขายของคนทั่วสองฝั่ง

ช่วงหนึ่งตลาดเจ็ดเสมียน เคยมีตลาดนัดทุกห้าวัน โดยนับตามข้างขึ้นข้างแรม สมัยต่อมา ตลาดเจ็ดเสมียนเริ่มแผ่วลง แต่ตลาดนัดโบราณ ทุก 3 ค่ำ 8 ค่ำ 13 ค่ำ เป็นตลาดนัดตอนเช้าก็ยังคงมีอยู่ จนถึงปัจจุบัน  หลังจากที่ตลาดเจ็ดเสมียนเงียบเหงาลง ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน สวนศิลป์บ้านดิน (ภัทราวดีเธียเตอร์) ได้ร่วมกันทำตลาดเก่าแห่งนี้ ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี มานพ มีจำรัส (ครูนาย) เป็นผู้จุดประกาย และครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) ได้ร่วมกับชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน จัดงาน All About Arts (สืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาคนของแผ่นดิน) ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ สุดท้ายของเดือน

ตำนานเจ็ดเสมียน
หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ให้กับพม่า กองทัพทำลายปราสาทราชวังกำแพงเมืองทั้งชั้นนอกชั้นใน เผาทำลายบ้านเรือนราษฎร ฆ่าฟันลูกเด็กเล็กแดง ผู้หญิง พระภิกษุ สามเณร นำทรัพย์สินเงินทอง และกวาดต้อนผู้คนไปยังกรุงอังวะ พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสิน) ตีฝ่าวงล้อมพม่ามาได้ ต้องการรวบรวมไพร่พล มีชาวบ้านจำนวนมากอาสามารับใช้ จนทหารที่เป็นเสมียนไม่เพียงพอ พระองค์ต้องการให้รับสมัครทหารให้ทันพบค่ำโดยเป็นเคร็ดของศาสตร์โบราณ จึงประกาศให้ผู้รู้หนังสือมาช่วย มีชายไทย 7 คน สมัครเข้ามาเป็นเสมียน ทำให้การรับสมัครชายไทยไปเป็นทหารเสร็จสิ้นก่อนพลบค่ำ พระองค์ประทับใจมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "หมู่บ้านเจ็ดเสมียน"


ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม : เรื่องราวเก่าๆ ของชาวเจ็ดเสมียน
ที่มา
ข้อมูล :
-ชุมชนเจ็ดเสมียน วัดเจ็ดเสมียน และสวนศิลป์บ้านดิน. (2553). หนึ่งเดียวตลาดวัฒนธรรมเมืองราชบุรี ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน. เอกสารประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายเมื่อ 8 มิถุนายน 2553.

ภาพ :
-http://www.moohin.com/picpost/003/b/0901291233226819.jpg
-http://www.chetsamian.org/photo/galleries/oldpicture/chetsamian_351.jpg

-http://byfiles.storage.live.com/y1p7fnl_d3nPg4yH6nz38HkEWVOnEQFCgVm4A0_y3YxBinzGjS0389rrlqPeVPklbGn

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14 ตุลาคม, 2553 14:46

    เรียนคุณสุชาติ จันทรวงศ์ ที่นับถือ ขอแนะนำตัวว่าผมชื่อ นายแก้ว (เป็นผู้จัดทำ www.chetsamian.org) เป็นคนเกิดที่ตำบลเจ็ดเสมียน เมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว เมื่อตลาดแถวฝั่งตรงกันข้ามกับตลาดแถวเก่านั้นได้สร้างขึ้นโดยกำนันโกวิท วงศ์ยะรา เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ครอบครัวของผมก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่ห้แงแถวในตลาดนั้นเป็นต้นมา

    ข้อความของคุณที่เขียนว่า

    "ตลาดเจ็ดเสมียน แต่เดิมมีต้นจามจุรีใหญ่สองต้นอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง เป็นหมุดหมายของตลาดเล็กๆ ให้พ่อค้าแม่ค้าทางบกเอาสินค้ามาแลกเปลี่ยนสินค้าทางน้ำ มีเรือนแถวชั้นเดียวหลังคามุงจาก พอเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว พอบ้านเมืองพัฒนาขึ้นก็โค่นต้นจามจุรีลง ปลูกห้องแถวไม้สองชั้นขึ้นมา ตัวตลาดสดขยับจากริมแม่น้ำเข้ามาใกล้ทางรถไฟมากขึ้น เรือนแถวชั้นเดียวก็ถูกรื้อร้างไป ตลาดใหม่นี้เป็นที่ซื้อขายของคนทั่วสองฝั่ง " นั้น

    ผมมีความเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ตามที่เขียนมานี้ เอาเรื่องต้นจามจุรี (คนเจ็ดเสมียนจริงๆชอบเรียกว่าต้นก้ามปู และเรื่องต้นก้ามปูนี้ ผมเคยเขียนเล่าเอาไว้ในเวบของผม ในเรื่อง "ต้นก้ามปูตายเพราะอะไร")ก่อนก็แล้วกัน ที่จริงแล้วต้นจามจุรีนั้นมีจริง ที่กลางตลาดนั้นมีต้นจามจุรีใหญ่ ๓ ต้น แต่ตั้งแต่ผมเกิดมาเมื่อเกือบ ๗๐ ปีแล้วนั้น ผมก็ไม่เคยเห็นต้นจามจุรี ๒ ต้น อยู่ริมน้ำเลย เห็นแต่ต้นโพธ์ใหญ่มีหลายต้นที่อยู่ริมน้ำ ต่อมาได้ถูกโค่นหมด เหลือเพียงต้นเดียวที่ตรง ท่าน้ำเจ็ดเสมียนเท่านั้น

    และต้นจามจุรีทั้ง ๓ ต้นที่อยู่กลางตลาดนั้น เพิ่งจะมาโค่นเมื่อสร้างตลาดทั้ง ๒ ฝั่งแล้ว หลายสิบปี มิใช่โค่นต้นจามจุรีเพื่อสร้างตลาด และตลาดเจ็ดเสมียนนั้นในการสร้างตอนแรกๆก็จะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวเหมือนกันหมดทั้งแถวใหม่และแถวเก่า นอกจากบ้านท่านกำนันโกวิท วงศ์ยะรา ซึ่งอยู่เป็นห้องแถวแรกเพียงบ้านเดียวเท่านั้นที่เป็นห้องแถว ๒ ชั้นตั้งแต่แรก

    ส่วนห้องแถวต่างๆนั้น ต่างคนต่างต่อเป็น ๒ ชั้นขึ้นมาในภายหลัง เมื่อมีเงินพอที่จะทำได้แล้วก็ให้ช่างจำปา (เรื่องของนายจำปา ช่างไม้ชื่อดังผมได้เขียนเล่าไว้ในเรื่อง วิกเจ็ดเสมียน)ต่อขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เช่นเดียวกับบ้านของผมซึ่งเป็นห้องแถวติดกับห้องของนางน้อย นายเค่ง หยู่เอี่ยม ซึ่งเป็นผู้ผลิตผักกาดหวานตราชฎา เชลชวนชิม แห่งตลาดเจ็ดเสมียน ก็ต่อขึ้นเป็น ๒ ชั้นในภายหลัง

    ตลาดเจ็ดเสมียนไม่เคยมีตลาดสดนะครับ มีแต่ตลาดนัด ๓ - ๘ - ๑๓ ค่ำ ในตอนเช้ามืด พอใกล้ๆเพลหน่อยก็จะวายไป

    สำหรับภาพประกอบที่คุณสุชาติ นำมาลงไว้ปัจจุบันเป็นลิขสิทธิ์ของ คุณกนก คุ้มประวัติ ที่ให้ เวบ "เจ็ดเสมียน"นำมาลง เสียดายเป็นอย่างมากที่ไม่ได้มีคำบรรยายด้วย ภาพเด็กๆเจ็ดเสมียนนั่งที่บนทางรถไฟนี้ ถ่ายมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว ถ่ายโดยนายจำเนียร คุ้มประวัติ แห่งร้านถ่ายภาพจำเนียรศิลป์ ตลาดเจ็ดเสมียน

    ที่ผมได้เล่ามาอย่างคร่าวๆนี้ ก็มิได้หมายความว่าจะประท้วงขึ้นมาให้ คุณสุชาติ ต้องแก้ไขแต่อย่างใด แต่เป็นการบอกมาเพื่อให้ทราบในเรื่องที่ผมเห็นมาจริงๆเท่านั้น

    สุดท้ายนี้ก็ขอชมเชยคุณสุชาติ จันทรวงศ์ ที่ค้นคว้านำเรื่องดีๆ เรื่องน่ารู้ มาลงไว้ให้คนรุ่นหลังๆได้รับความรู้ ส่วนตัวผมเองก็เข้ามาดูมาศึกษาเสมอ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

    นายแก้ว www.chetsamian.org
    chetsamian@gmail.com

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ03 ธันวาคม, 2553 16:16

    น่าสนใจมากค่ะ ข้อมูลเก่าจากผู้ใหญ่นี่แหละที่เราต้องการ
    ขอบคุณนะคะ

    ตอบลบ
  3. ใช่ครับสมัยนั้นต้องจำเนียรศิลป์ ตลาดเก่า ถ้างานบวชต้องวัวครูประสงค์วัดตึก

    ตอบลบ
  4. ใช่ครับสมัยนั้นต้องจำเนียรศิลป์ ตลาดเก่า ถ้างานบวชต้องวัวครูประสงค์วัดตึก

    ตอบลบ