วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จารึก 3 แห่งที่พบในราชบุรี

ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่าจารึกที่พบในราชบุรีมี 3 จารึกเป็นภาษา "ปัลลวะ" ทั้งนั้น โดยมีรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละจารึก ดังนี้

จารึกถ้ำฤาษีเขางูราชบุรี
เป็นอักษร "ปัลลวะ" จารึกเอาไว้ราวปีพุทธศตวรรษ 12  ภาษาสันสกฤต  มี 1 บรรทัด จารึกบนศิลา (หิน) อยู่ใต้ฐานพระพุทธรูป ในถ้ำฤๅษีเขางู วัดเขางู ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ขนาดกว้าง 47 ซม. สูง 26 ซม. ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง 


จารึกถ้ำฤาษีเขางูราชบุรี
เขางู ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดราชบุรีห่างจากอำเภอเมืองประมาณ 8 กิโลเมตร เมื่อขึ้นเขาไปได้ครึ่งทางก็จะพบถ้ำซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำฤๅษี” บริเวณปากถ้ำมีพระพุทธรูปใหญ่จำหลักอยู่บนหน้าผาเป็นพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาท มีความสูงราว 2.50 เมตร พระหัตถ์ขวาแสดงปางปฐมเทศนา พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระเพลา ที่ฐานพระพุทธรูปมีจารึกอักษร 12 ตัว ลักษณะรูปอักษรเหมือนรูปอักษรที่ใช้อยู่ในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ ประเทศอินเดีย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11–12 

ที่เขางูนี้ พันตรี เดอ ลาช็องกีแอร์ ได้เคยสำรวจและพรรณนารายละเอียดตีพิมพ์ลงในวารสาร Bulletin de la Commission Archéologique de l’Indochine (BCAI) เมื่อ ค.ศ. 1912 หน้า 117 แต่ท่านไม่ได้สังเกตเห็นว่า ใต้ฐานของพระพุทธรูปมีตัวอักษรปัลลวะจารึกอยู่

ต่อมาในคราวที่มีการจัดพิมพ์หนังสือ “ประชุมศิลาจารึกสยาม ภาคที่ 2 : จารึกกรุงทวารวดี เมืองละโว้ แลเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงศรีวิชัย” ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้อ่านจารึกหลักนี้ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 แต่ท่านไม่ได้แปลและอธิบาย มีแต่เพียงคำอ่านเท่านั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2504  จึงมีการชำระ โดยเพิ่มเติมคำแปลและคำอธิบายเพื่อตีพิมพ์ใหม่เป็นครั้งที่ 2 ใน “ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 2 : จารึกทวารวดี ศรีวิชัย ละโว้”

ต่อมา กองหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์หนังสือชุด จารึกในประเทศไทย ขึ้นในปี พ.ศ. 2529  ในครั้งนี้ นายชะเอม แก้วคล้าย ได้ทำการอ่านและอธิบายคำในจารึกหลักนี้ใหม่อีกครั้ง  แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการอ่านของนายชะเอม แก้วคล้าย ประมาณ 10 ปี คือ ในปีพุทธศักราช 2519 ได้มีคนมาลักลอบจารึกข้อความต่อเติมคำจารึกเดิมนั้นด้วยอักษรไทยปัจจุบัน แต่ประดิษฐ์ให้พิสดาร แปลงเส้นและตัวอักษรให้ดูแปลกเหมือนเป็นจารึกโบราณ คือเพิ่มคำว่า “ชื่อ” ที่หน้าอักษรจารึกของเก่าและเพิ่มคำว่า “พุทธพัสสา 44” เป็นบรรทัดที่ 2 ต่อจากอักษรจารึกของเดิม ทำให้จารึกถ้ำฤาษีเขางูเมืองราชบุรี เปลี่ยนสภาพไป

เนื้อหาโดยสังเขป  เป็นจารึกที่อาจเป็นการบอกชื่อของผู้สร้างพระพุทธรูป ในที่นี้คือ ฤษีสมาธิคุปตะ หรือ พระศรีสมาธิคุปตะ ว่าเป็น ผู้บริสุทธิ์ ด้วยการทำบุญ

การกำหนดอายุ กำหนดตามรูปแบบอักษรปัลลวะ คือ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12  นอกจากนี้ ศ. ยอร์ช เซเดส์ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “วิสามัญนามข้างปลายว่า “คุปฺตะ” เช่น “สมาธิคุปฺตะ” นี้ เคยใช้กันในสมัยราชวงศ์คุปตะรุ่งเรืองในประเทศอินเดียเป็นอันมาก ภายหลังในสมัยตรงกับสมัยขอมมีอำนาจในประเทศนี้ นามเหล่านั้นไม่ใคร่ได้ใช้เลย ถ้าฉะนั้นแล้วพระพุทธรูปที่สลักบนฝาผนังถ้ำฤๅษี คงจะเป็นฝีมือครั้งกรุงทวารวดี คือตรงกับสมัยราชวงศ์คุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 9 - 13) ในประเทศอินเดีย หรือ ภายหลังราชวงศ์คุปตะไม่สู้นานนัก”

จารึกเขาปุมยะคิรี
เป็นอักษร "หลังปัลลวะ" ราวพุทธศตวรรษ 13 - 14  ภาษา สันสกฤต  มี 1 บรรทัด จารึกบนศิลา (หิน) เป็นส่วนหนึ่งของธรรมจักร  ขนาด กว้าง 18 ซม. ยาว 33.3 ซม. หนา 7 ซม. พบที่ ใกล้วัดโขลงสุวรรณภูมิทวาราม (เข้าใจว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกับ วัดโขลงสุวรรณคีรี) ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ไม่ทราบใครพบ ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด

จารึกเขาปุมยะคิรี
พบที่ใกล้วัดโขลงสุวรรณคิรี
ปัจจุบันไม่ทราบว่าอยูที่ใด

หอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาไว้เฉพาะสำเนาจารึก ตัวหลักจารึกนั้นยังสืบไม่ได้ว่าปัจจุบันอยู่ที่ใด  จารึกนี้กล่าวระบุว่า "ภูเขาแห่งนี้ชื่อปุมยะคีรี"  ไม่ทราบใครเป็นคนจารึก กำหนดอายุจากรูปแบบของตัวอักษรเป็นอักษรหลังปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 - 14

จารึกเยธมฺมาฯ ๘ (ราชบุรี)
อักษรที่มีในจารึก ปัลลวะ ราวพุทธศตวรรษ 12  ภาษาบาลี มี 2 บรรทัด จารึกบนศิลาสีเขียว ของพระพุทธรูปยืน ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์  ขนาดสูง 196 ซม. พบเมื่อ พุทธศักราช 2497  บริเวณวัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ผู้พบ พระธรรมเสนานี เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้จารึก  ปัจจุบันอยู่ที่ พระอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี



ประวัติ ศิลาจารึกหลักนี้ จารึกอักษรอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (ด้านหลัง) ของพระพุทธรูปยืนปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ซึ่งทำด้วยศิลาสีเขียว ศิลปะแบบทวารวดี พระธรรมเสนานีเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี พบที่วัดเพลง (ร้าง) ตำบลหลุมดิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี และได้นำมาเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ.2497 ต่อในปี พ.ศ.2508 ได้มีการอ่านและนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 3 โดยใช้ชื่อว่า หลักที่ 31 จารึกเยธมฺมาฯ บนพระพุทธรูปศิลา วัดมหาธาตุ ราชบุรี และ ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการอ่านและแปลอีกครั้งโดย ร.ต.ท. แสง มนวิทูร เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือชุดจารึกในประเทศไทย

เนื้อหาโดยสังเขป คาถา เย ธมฺมาฯ นี้ นับว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นคาถาคัดมาจากพระวินัยปิฎก มหาวรรค มหาขันธกะ ตอนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะบรรพชา โดยมีเรื่องย่อว่า

“สมัยนั้น สัญชัยปริพาชก (ปริพาชก คือ นักบวชที่ไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา) อาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ จำนวน 250 คน และสมัยนั้น สารีบุตรและโมคคัลลานะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักสัญชัยปริพาชก ต่างทำกติกากันว่า ใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่ง สารีบุตรปริพาชกได้เห็นพระอัสสชิเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต มีความเลื่อมใสในความสงบเสงี่ยมเรียบร้อยของท่าน จึงรอจนได้โอกาสก็เข้าไปถามถึงหลักธรรมในศาสนาที่ท่านบวช ท่านกล่าวหลักธรรมเพียงย่อๆ ให้ฟังว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น

สารีบุตรได้ฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วนำมาเล่าให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงพากันไปลาปริพาชก 250 คน เพื่อจะไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา แต่ปริพาชกเหล่านั้นขอไปด้วย จึงพร้อมกันไปลาสัญชัยผู้เป็นอาจารย์ สัญชัยขอให้อยู่กันบริหารหมู่คณะถึง 3 ครั้ง แต่สาริบุตรกับโมคคัลลานะไม่ยอม คงลาไป พร้อมทั้งปริพาชก อีก 250 คน สัญชัยเสียใจ ถึงอาเจียนเป็นโลหิต เมื่อปริพาชกทั้งหลาย ได้ไปเฝ้าทูลขอบวชในพระพุทธศาสนาต่อพระผู้มีพระภาคก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้เป็นภิกษุ ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา (พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ภาค 4 ความย่อแห่งพระไตรปิฎก เล่ม 4, 2539, หน้า 217)”

การกำหนดอายุ ตามรูปแบบอักษรปัลลวะ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้ ร.ต.ท. แสง มนวิทูร ได้ให้ความเห็นว่า รูปอักษรของจารึกนี้ เหมือนกันกับศิลาจารึกเยธมฺมาฯ บนแผ่นอิฐ (สพ. 4) ฉะนั้นจึงประมาณอายุให้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12

***************************

ที่มาข้อมูล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร(องค์การมหาชน) . (2554).ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. [Online]. Available :http://www2.sac.or.th/databases/jaruk/th/main.php. [2554 กุมภาพันธุ์ 16 ].

5 ความคิดเห็น:

  1. บอกว่า"ในปีพุทธศักราช 2519 ได้มีคนมาลักลอบจารึกข้อความต่อเติมคำจารึกเดิมนั้นด้วยอักษรไทยปัจจุบัน"

    แต่ทำไม ในหลวงเสด็จปี2499 ยังมีอยู่ครบ
    http://pic.free.in.th/id/6c20e6a7d930b8d103cdd245ca665b9e

    ตอบลบ
  2. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  3. ทำไมคนไทยอ่านภาษาไทยไม่ออก ทำไมสมัยนั้นต้องไปจ้างฝรั่งเศสที่เพิ่งจะยึดเมืองไทยมาหยกๆ มาอ่านให้ ยอร์ชเซเดย์ ก็ใ่ช่ว่าจะปักหลักอยู่ในไทย ยังเทียวไปเทียวมา ไทย-ฝรั่งเศส ทำงานให้ฝรั่งเศสตลอด ไม่ฉุกใจคิดบ้างหรือ

    สังเกตได้ว่าคำว่า"งู"ฝรั่งไม่ยอมอ่านทั้งๆที่ สระูอูชัดมาก

    ชื่อสถานที่นั้นก็มีมานานแล้วว่าถ้ำฤษีเขางู
    "ษ"ชัดมาก อ่านไม่ออกหรือ

    "ม" ก็ชัดอีก
    และคำว่า "บุญ"อีก

    ตอบลบ
  4. ที่บอกว่ามีคนมาต่อเติมอักษรแถวล่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙

    ดูดีๆ ตอนในหลวงเสด็จ ปี ๒๔๙๙ อักษรยังอยู่ครบทั้งสองแถว

    http://rb-old.blogspot.com/2010/03/9_08.html

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ15 มกราคม, 2565 15:30

    abc 카지노 | Thtopbet 카지노사이트 카지노사이트 クイーンカジノ クイーンカジノ 827Buy Sports Betting, Online Sportsbetting from 토토토토토토토토토

    ตอบลบ