วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2328 การรบที่ทุ่งเขางู แม่ทัพไทยประมาท

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ครองแผ่นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 ทางฝ่ายกรุงอังวะ ประเทศพม่าก็มีพระเจ้าปดุง ขึ้นครองราชสมบัติและได้ทำศึกชนะเมืองใกล้เคียงต่างๆ จำนวนมาก จึงคิดที่จะเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อให้มีเกียรติยศดังพระเจ้าแผ่นดินของพม่าในอดีตที่ผ่านมาในครั้งเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าปดุงจึงจัดกองทัพใหญ่เป็น 9 ทัพ รวมพล 144,000 คน ยกเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์ในปีมะเส็ง พ.ศ.2328

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินทัพ
ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328
กองทัพที่สองของพม่า 
การรบที่ทุ่งเขางูนี้ เกิดจากกองทัพที่ 2 ของพม่า โดยมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ ยกทัพมาจากเมืองทวาย โดยพระยาทวายเป็นกองทัพหน้าถือพล 3,000 คน อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นกองทัพหลวงถือพล 4,000 คน และจิกสิบโบ่ เป็นกองทัพหลังถือพล 3,000 คน รวมทั้งสิ้น 10,000 คน เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้ามาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และลงไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ของพม่าที่เมืองชุมพร

ฝ่ายกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแบ่งกองทัพ เพื่อสู้กับกองทัพพม่าออกเป็น 4 กองทัพ โดยในกองทัพที่ 3 ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยมีหน้าที่หลักคือ
  • คอยรักษาเส้นทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 ของไทย ซึ่งมี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นจอมพลแม่ทัพถือพล 30,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับกองทัพหลักของพระเจ้าปดุงที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ 
  • คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกขึ้นมาจากทางใต้หรือจากเมืองทวาย ผ่านเข้ามาทางด่านบ้องตี้

เดินทัพถึงเมืองราชบุรี
การเดินทางของกองทัพที่ 2 ของ อนอกแฝกคิดวุ่น ที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้ เส้นทางค่อนข้างลำบาก ทุรกันดารมากกว่าทางด่านเจดีย์สามองค์ ช้างม้าและพาหนะเดินยาก จึงเดินทางมาถึงช้าที่สุด มีการตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี ดังนี้
  • พระยาทวาย กองทัพหน้าตั้งค่ายที่ทุ่งทางด้านตะวันตกของเมืองราชบุรี (แถวหนองบัวนอกเทือกเขางู )
  • อนอกแฝกคิดวุ่น แม่ทัพหลวงตั้งอยู่ที่ท้องชาตรี (คือบึงใหญ่ แถว อ.จอมบึง น่าจะเป็น"บึงจอมบึง")
  • จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (ด้านเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี)

แม่ทัพไทยประมาท
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช ซึ่งเป็นแม่ทัพรักษาเมืองราชบุรีอยู่ มีความประมาท ไม่ได้จัดกองลาดตระเวนออกไปสืบข่าวข้าศึก จึงไม่ทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 3 ค่าย  จนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หลังจากมีชัยชนะทัพพม่าที่ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี จึงมีรับสั่งให้ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพลงมาทางบก จึงทราบว่ามีกองทัพพม่าตั้งค่ายอยู่ที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าต้านทานกำลังไม่ไหวจึงแตกพ่าย ทั้งกองทัพหน้าและกองทัพหลวง ฝ่ายไทยจับเชลยพม่าและเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า พาหนะได้เป็นจำนวนมาก ส่วนทัพพม่าที่เหลือหนีกลับประเทศพม่ากลับออกไปทางเมืองทวาย หลังจากนั้นกองทัพของพระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร ก็เดินทางต่อไปช่วยทางเมืองชุมพรต่อไป

ประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสอง
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวงมาถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช  มีความประมาทเลินเล่อ จึงมีพระราชบัณฑูรลงพระราชอาญาแม่ทัพทั้งสอง จำขังไว้ที่ค่ายทหารเมืองราชบุรี และขอพระราชทานประหารชีวิตเข้าไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ 

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงเห็นว่าแม่ทัพทั้งสองเคยมีความดีความชอบมาก่อน จึงมีสาสน์ตอบขอชีวิตไว้ แต่โปรดให้ลงพระราชอาญาทำโทษตามกฏพระอัยการศึก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงพระราชอาญาให้โกนศีรษะแม่ทัพทั้งสอง เป็นสามแฉก แล้วแห่ประจานรอบค่าย ถอดเสียซึ่งฐานันดรศักดิ์ ส่วนนายทัพนายกองที่เหลือให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบยทั้งสิ้น


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. (หน้า 35-43)
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 266-272)

3 ความคิดเห็น: