วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ด่านเจ้าขว้าว สวนผึ้ง ราชบุรี ช่องทางเดินทัพสำคัญของพม่า

คำว่า "ด่านเจ้าขว้าว"  นี้ผู้จัดทำ เพิ่งได้ยินชื่อตอนช่วงที่เริ่มจัดทำ "ราชบุรีศึกษา" นี้เอง ตอนสมัยเรียนประถมหรือมัธยม ไม่มีครูประวัติศาสตร์ท่านใดกล่าวถึงเลย  ด่านเจ้าขว้าว นี้ บางเอกสารเขียนว่า " ด่านเจ้าเขว้า"  อาจารย์วุฒิ บุญเลิศ บอกว่า ด่านเจ้าขว้าว ตั้งอยู่บริเวณบ้านด่าน  ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งท่านก็ไม่แน่ใจว่า จะเป็นด่านเดียวกันกับด่านประตูสามบาน หรือไม่ 

อาจารย์วุฒิฯ บันทึกต่อไว้ว่า
บริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดราชบุรี -กาญจนบุรี มีช่องชายแดน หรือจะเรียกว่าด่าน ที่ผู้คนแต่ครั้งอดีตใช้เดินทางเข้าออก ระหว่าง เมือง ราชบุรี กาญจนบุรี กับ เมืองทวาย ของพม่า ซึ่งด่านชายแดนนี้มีชื่อดังนี้
  1. ด่านช่องเขาหนีบ ช่องทางไปบ้าน ห้วยน้ำขาว พุน้ำร้อน อ.เมือง กาญจนบุรี ช่องทางนี้ใช้เดินทางผ่าน บ้านเมตตา เข้าเมืองทวาย ของพม่า
  2. ช่องด่านมะขามเตี้ย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  3. ด่านหนองไผ่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  4. ด่านลำเภา อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  5. ด่านลำทราย อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
  6. ด่านโป่งสะแก อ.ด่านมะขามเตี้ย  จ.กาญจนบุรี
  7. ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี
  8. ด่านเจ้าขว้าว หรือบ้านด่าน หรือ อาจจะเป็นด่านประตูสามบ้าน (ยังไม่ชัดเจน)อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
  9. ด่านพระเจดีย์สามองค์ใต้ ปัจจุบันคือ บ้านทุ่งเจดีย์ ต.สวนผึ้ง อ.สวนผึ้งบริเวณ รร.สินแร่สยาม บ้านผาปกค้างคาว ช่องทางไปบ้านตะโกปิดทอง จ.ราชบุรี
ช่องทางชายแดนหรือด่าน ตั้งแต่ ด่านที่ 1 - 6 เป็นช่องทางที่ พม่าเคยใช้ในสมัย พระเจ้ากรุงธนบุรี ในคราวศึกบางแก้ว เขาช่องพราน เพื่อจะลงมายังราชบุรีในปี พ.ศ.2317 ถัดลงมาจะเป็นด่านที่อยู่ในเขตเมืองราชบุรี คือนับแต่ด่านทับตะโกลงมา ด่านที่สำคัญที่สุดของเมืองราชบุรีก็คือ ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน ที่ว่าสำคัญก็เพราะว่าอยู่ใกล้ราชบุรี และกรุงเทพฯมากที่สุด


ด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
ที่มา
http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html
บันทึกการรบไทยกับพม่า ที่เกี่ยวข้องกับด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
  • ปลายปีกุน พ.ศ.2310 พระเจ้าอังวะ กษัตริย์พม่า สั่งให้แมงกี้มารหญ่า เจ้าเมืองทวาย ยกทัพเข้ามาทางเมืองไทรโยค ผ่านเมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมื่อเดินทางมาถึงค่ายบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งมีทหารจีนของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รักษาค่ายอยู่  พระเจ้ากรุงธนบรุี ทรงนำกองทัพด้วยตนเองมาช่วยรบกับทัพพม่า ที่นี่ได้สู้รบกับกองทัพพม่าถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าสู่ไม่ได้ถอยทัพกลับไปทางด่านเจ้าขว้าว ริมลำน้ำภาชี เพื่อกลับเมืองทวาย
  • พ.ศ.2317 คือ 10 ปีถัดมา รัชสมัยพระเจ้าตากสิน ในคราวศึกบางแก้ว โพธาราม เอกสารพระราชพงศาวดาร ฉบับเจ้าพระทิพพากรวงศ์ ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร บันทึกว่า มีใบบอกแจ้งมาจากชาวด่านว่า มีทัพพม่ามาจากด่านประตูสามบาน พม่าจับชาวด่านไปหลายคน
  • ในปีพ.ศ.2328 ในคราวศึกสงครามเก้าทัพ กองทัพที่ 2 ซึ่งมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ เดินทัพเข้ามาทางด่านบ้องตี้ มาตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี โดยมี จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
  • พ.ศ.2340 พฤศจิกายน แรม 9 ค่ำ ปีที่ 16 ในรัชกาลที่ 1 ครั้งนั้นชาวด่านได้ไปพบหนังสือที่ พม่าจากเมืองทวายมาแขวนหนังสือไว้ที่ด่านชายแดนเมืองราชบุรี  รัชกาลที่ 1 จึงเกณฑ์ทัพเตรียมรับศึก แต่ไม่มีเหตุการณ์สู้รบ
  • พ.ศ.2364 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้ให้พระเจ้าลูกยาเธิกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ และพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโจน์) คุมพล 10,000 คน ไปขัดตาทัพที่ด่านชายแดนราชบุรีซึ่งก็คือด่านเจ้าขว้าว/ด่านประตูสามบาน
  • พ.ศ.2390 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  3 คนจีนเมืองสมุทรสาคร ก่อการจลาจล ถูกทางการปราบปราม ได้ถอยมาที่บ้านโพหัก บางแพ ได้วางแผนที่จะหนีออกไปยังเมืองทวายทางด่านเจ้าขว้าว

ที่ด่านเจ้าขว้าวนี้ ส่วนใหญ่ชาวไทยกะเหรี่ยงจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายด่านเจ้าขว้าว ตำแหน่ง "หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) อาจารย์วุฒิฯ ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง ยังบันทึกต่อเรื่องความสำคัญของด่านเจ้าขว้าว ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ไว้ว่า

"เมื่อย้อนเวลาหาอดีต นับแต่ปี พ.ศ.2504 สวนผึ้งเวลานั้นยังเป็นป่าดิบ ผมเดินเท้าเปลือย เปล่าจาก สวนผึ้ง ผ่านจอมบึง ไปยังราชบุรี เพื่อเรียนหนังสือ เส้นทางที่ผมเดินต้องผ่านสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า " บ้านด่าน" พอถึงบริเวณนี้ คุณพ่อจะหยุดพักทุกครั้ง ท่านจะหาก้อนหิน ใบไม้ หรือดอกไม้ป่าถ้ามี พาพวกเราไปกราบไหว้สถานที่แห่งหนึ่งที่เป็นเนินเจดีย์ ในดงต้นตะโก ผมและเพื่อนๆไม่รู้อะไรหรอกครับ ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรเราก็ทำตาม

เราทำอย่างนี้ทุกครั้งที่ผ่านสถานที่แห่งนี้ จนถึงปี พ.ศ.2511 -2512 ที่เส้นทางปรับเปลี่ยน ทางลูกรังผ่านคอเขาสน บ้านหนองขาม พุ่งตรงไปยังบ้านชัฎป่าหวาย เข้า อ.สวนผึ้ง"

ที่ตั้งของด่านเจ้าขว้าว บริเวณบ้านด่าน ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี
เป็นที่ตั้งที่ผู้จัดทำคาดคะเนขึ้นเอง อาจคลาดเคลื่อนจากที่ตั้งจริง
ที่มาแผนที่ Google
บันทึกเรื่องราวของด่านเจ้าขว้าวนี้ ผู้จัดทำคิดว่ายังมีเรื่องราวอีกมาก หากท่านใดมีความรู้ ขอได้กรุณาบันทึกเพิ่มเติมไว้ได้ที่ท้ายบความนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป


*************************************************
ที่มาข้อมูล
  • วุฒิ บุญเลิศ. (2553). บันทึกต่อท้ายบทความ "ด่านประตูสามบาน" : ภาพเก่าเล่าอดีต. [Online]. Available :http://rb-old.blogspot.com/2010/04/blog-post_1673.html. [2554 สิงหาคม 22 ].
  • สุรินทร์ เหลือลมัย . (2547). ไทยกะเหรี่ยง. 8 ชาติพันธุ์ในราชบุรี. สำนักวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรีและสภาวัฒนธรรมจังหวัดราชบุรี : ธรรมรักษ์การพิมพ์.
  • วุฒิ บุญเลิศ.(2546). " เมื่อกะเหรี่ยงสวนผึ้งลุกขึ้นพูด " : รายงานฉบับสมบูรณ์. โครงการวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นท้องถิ่นภาคกลาง 2546 .สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย.
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พ.ศ.2328 การรบที่ทุ่งเขางู แม่ทัพไทยประมาท

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษก ขึ้นเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ ครองแผ่นกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อปีขาล พ.ศ.2325 ทางฝ่ายกรุงอังวะ ประเทศพม่าก็มีพระเจ้าปดุง ขึ้นครองราชสมบัติและได้ทำศึกชนะเมืองใกล้เคียงต่างๆ จำนวนมาก จึงคิดที่จะเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์เพื่อให้มีเกียรติยศดังพระเจ้าแผ่นดินของพม่าในอดีตที่ผ่านมาในครั้งเข้าตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าปดุงจึงจัดกองทัพใหญ่เป็น 9 ทัพ รวมพล 144,000 คน ยกเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์ในปีมะเส็ง พ.ศ.2328

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินทัพ
ในสงครามเก้าทัพ พ.ศ.2328
กองทัพที่สองของพม่า 
การรบที่ทุ่งเขางูนี้ เกิดจากกองทัพที่ 2 ของพม่า โดยมี อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นแม่ทัพ ยกทัพมาจากเมืองทวาย โดยพระยาทวายเป็นกองทัพหน้าถือพล 3,000 คน อนอกแฝกคิดวุ่น เป็นกองทัพหลวงถือพล 4,000 คน และจิกสิบโบ่ เป็นกองทัพหลังถือพล 3,000 คน รวมทั้งสิ้น 10,000 คน เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้ามาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี และลงไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ของพม่าที่เมืองชุมพร

ฝ่ายกรุงรัตนโกสินทร์ จัดแบ่งกองทัพ เพื่อสู้กับกองทัพพม่าออกเป็น 4 กองทัพ โดยในกองทัพที่ 3 ให้เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ถือพล 5,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี โดยมีหน้าที่หลักคือ
  • คอยรักษาเส้นทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 ของไทย ซึ่งมี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นจอมพลแม่ทัพถือพล 30,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับกองทัพหลักของพระเจ้าปดุงที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ 
  • คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกขึ้นมาจากทางใต้หรือจากเมืองทวาย ผ่านเข้ามาทางด่านบ้องตี้

เดินทัพถึงเมืองราชบุรี
การเดินทางของกองทัพที่ 2 ของ อนอกแฝกคิดวุ่น ที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้ เส้นทางค่อนข้างลำบาก ทุรกันดารมากกว่าทางด่านเจดีย์สามองค์ ช้างม้าและพาหนะเดินยาก จึงเดินทางมาถึงช้าที่สุด มีการตั้งค่ายที่เมืองราชบุรี ดังนี้
  • พระยาทวาย กองทัพหน้าตั้งค่ายที่ทุ่งทางด้านตะวันตกของเมืองราชบุรี (แถวหนองบัวนอกเทือกเขางู )
  • อนอกแฝกคิดวุ่น แม่ทัพหลวงตั้งอยู่ที่ท้องชาตรี (คือบึงใหญ่ แถว อ.จอมบึง น่าจะเป็น"บึงจอมบึง")
  • จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (ด้านเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี)

แม่ทัพไทยประมาท
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช ซึ่งเป็นแม่ทัพรักษาเมืองราชบุรีอยู่ มีความประมาท ไม่ได้จัดกองลาดตระเวนออกไปสืบข่าวข้าศึก จึงไม่ทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 3 ค่าย  จนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท หลังจากมีชัยชนะทัพพม่าที่ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี จึงมีรับสั่งให้ พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพลงมาทางบก จึงทราบว่ามีกองทัพพม่าตั้งค่ายอยู่ที่นอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพพม่าต้านทานกำลังไม่ไหวจึงแตกพ่าย ทั้งกองทัพหน้าและกองทัพหลวง ฝ่ายไทยจับเชลยพม่าและเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า พาหนะได้เป็นจำนวนมาก ส่วนทัพพม่าที่เหลือหนีกลับประเทศพม่ากลับออกไปทางเมืองทวาย หลังจากนั้นกองทัพของพระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร ก็เดินทางต่อไปช่วยทางเมืองชุมพรต่อไป

ประหารชีวิตแม่ทัพทั้งสอง
เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวงมาถึงเมืองราชบุรี ทรงทราบว่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช  มีความประมาทเลินเล่อ จึงมีพระราชบัณฑูรลงพระราชอาญาแม่ทัพทั้งสอง จำขังไว้ที่ค่ายทหารเมืองราชบุรี และขอพระราชทานประหารชีวิตเข้าไปยังกรุงรัตนโกสินทร์ 

แต่ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงเห็นว่าแม่ทัพทั้งสองเคยมีความดีความชอบมาก่อน จึงมีสาสน์ตอบขอชีวิตไว้ แต่โปรดให้ลงพระราชอาญาทำโทษตามกฏพระอัยการศึก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงพระราชอาญาให้โกนศีรษะแม่ทัพทั้งสอง เป็นสามแฉก แล้วแห่ประจานรอบค่าย ถอดเสียซึ่งฐานันดรศักดิ์ ส่วนนายทัพนายกองที่เหลือให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบยทั้งสิ้น


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • รวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์. (2544). สงครามประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน. (หน้า 35-43)
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 266-272)
อ่านต่อ >>

พ.ศ.2308 มังมหานรธายึดเมืองราชบุรี ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตก

หลังจากที่เสียเมืองราชบุรีในปี พ.ศ.2302 โดยพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์แห่งพม่า ตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองราชบุรีถึง 4 วันก่อนเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ต้องเลิกทัพกลับไปก่อนเนื่องจากพระเจ้าอลองพญา ถูกสะเก็ดปืนใหญ่แตกบาดเจ็บสาหัสและสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางกลับพม่าที่เขตแดนจังหวัดตาก (ดูรายละเอียด)

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มาของภาพ
http://www.mono2u.com/review/content/siyama/
หลังจากพระเจ้าอลองพญาสิ้นพระชนม์ พระเจ้ามังระได้เสวยราชเป็นกษัตริย์แห่งพม่าต่อมา และได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา จนกระทั่งต้องเสียเอกราชให้แก่พม่าเป็นครั้งที่ 2 ในปีกุน พ.ศ.2310 ซึ่งเป็นสงครามครั้งที่ 24 ถือเป็นสงครามครั้งสุดท้ายของการรบระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่า

พระเจ้ามังระเห็นว่ากรุงศรีอยุธยามีกำลังอ่อนแอ จึงได้จัดกองทัพให้แยกย้ายกันเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทั้งทางเหนือและทางตะวันตก โดยมี เมขะระโบ เป็นแม่ทัพคุมพล 5,000 คน ยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อเดินทางถึงเมืองกาญจนบุรี ได้สู้รบกับกองทัพของ พระพิเรนทรเทพ เจ้ากรมตำรวจ ซึ่งมีจำนวนพลเพียง 3,000 คน ตั้งรักษาเมืองอยู่ กองทัพพระพิเรนทรเทพ มีกำลังน้อยกว่าจึงแตกหนีพ่ายแพ้แก่กองทัพพม่า

กองทัพพม่า ยกทัพติดตามเข้ามาตามลำน้ำราชบุรี (ลำน้ำแม่กลอง) มาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลลูกแก ตำบลโคกกะออม และดงรังหนองขาว (อยู่ในเขต จ.กาญจนบุรี ในปัจจุบัน) ในช่วงเวลานั้นบรรดาหัวเมืองต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยาไม่มีกำลังทหารรักษาอยู่ เพราะถูกเกณฑ์เข้าไปรักษาพระนครเสียหมด กองทัพพม่าจึงเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองต่างๆ ได้โดยง่ายดาย

กองทัพที่ถูกเกณฑ์ให้มารบกับพม่าที่เมืองราชบุรีนั้น จัดเกณฑ์มาจากหัวเมืองทางปักษ์ใต้ โดยจัดเป็นกองทัพเรือ 1 กองทัพ และกองทัพบก 1 กองทัพ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นแม่ทัพ
  • กองทัพบก ยกมาถึงตำบลตำหรุ เขตอำเภอเมืองราชบุรี (น่าจะเป็น ต.ตำหรุ ใน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี -ผู้จัดทำ)
  • กองทัพเรือ ยกมาถึงตำบลบางกุ้ง เขตอำเภอบางคณฑี จ.สมุทรสงคราม 
ทั้งสองกองทัพถูกทัพพม่าตีแตกพ่ายไปทั้งหมด และพม่าก็ยกทัพไล่ติดตาม เที่ยวปล้นสดมภ์ทรัพย์สมบัติ แล้วก็กลับมาปักหลักยังเมืองราชบุรี  กองทัพหน้าของพม่าที่เข้ามาเที่ยวปล้นสะดมภ์ทรัพย์และก่อกวนในพระราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ณ เวลานั้น  มีเพียง 2 กองทัพเท่านั้น คือ ตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี 1 กองทัพจำนวนพล 5,000 คน และตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองนครสวรรค์อีก 1 กองทัพจำนวนพลประมาณ 5,000 คน รวมพลเพียง 10,000 คนเท่านั้น แต่เนื่องด้วยความปั่นป่วนภายในพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้พม่ากำเริบได้ใจ พม่าจึงส่งกองทัพใหญ่เข้ามาสมทบ ทั้งทางเหนือและทางตะวันตกอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อหวังตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้


เมืองราชบุรี ถูกยึดก่อนเสียกรุงศรีฯ
ในเดือน 12 ปีระกา พ.ศ.2308 มังมหานรธา ก็ยกกองทัพมีจำนวนพล 30,000 คนจากเมืองทวายมาตั้งอยู่ในแขวงเมืองราชบุรี แล้วจัดเมขะระโบ คุมกองทัพเรือยกไปทางแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน เพื่อเข้าตีเมืองธนบุรี เมืองนนทบุรี ขึ้นไปจนถึงกรุงศรีอยุธยา

ส่วนตัวมังมหานรธา คุมกองทัพบกยกไปทางเมืองสุพรรณบุรี ตรงไปยังกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน เพื่อไปสมทบกับกองทัพใหญ่ของพม่าที่ยกมาแต่ทิศเหนือ การสงครามในครั้งนี้ใช้เวลาเป็นแรมปี กองทัพพม่าตีหัวเมืองทางภาคใต้ได้เกือบทั้งหมด และล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่กว่า 1 ปี จนกระทั้งสามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกได้เมื่อ วันอังคาร เดือนห้า ขึ้น 9 ค่ำปีกุน พ.ศ.2310


******************************************
ที่มาข้อมูล
  • มณฑลราชบุรี. (2468). สมุดราชบุรี. พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย. (หน้า 245-247)
อ่านต่อ >>