นายสละ จันทรวงศ์ ยังได้บันทึกเรื่องราวการโจมตีสะพานจุฬาลงกรณ์ครั้งที่ 2 ไว้ดังนี้

คืนนี้เป็นคืนเดือนหงาย พระจันทร์แจ่มฟ้า มองเห็นได้ตลอด เวลาที่เครื่องบินเข้าทำการ เป็นเวลา 23 น. B.24 จำนวน 6 เครื่อง เข้าโจมตีด้วยลูกระเบิดเพลิง และระเบิดชนิดกำหนดเวลา
สิ่งเสียหายปรากฏว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ สะพานชำรุดลงอีกกว่าเก่า ร.ร.ช่างเย็บ พัสดุเก็บของถูกเพลิงเผาผลาญ แสงเพลิงโชติช่วงจับท้องฟ้า เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหว สถิติการทิ้งครั้งนี้ ไม่แพ้คราวก่อน แต่ครั้งนี้ใช้ลูกระเบิดชนิด 500 ก.ก.หลายลูก ความเสียหายพอๆ กับครั้งก่อน
รายงานจำนวนลูกระเบิด
- สะพานรถไฟ 5 ลูก
- โรงสูบน้ำ 4 ลูก
- ทางรถไฟสายไปค่าย 4 ลูก
- ข้างโรงไฟฟ้า 3 ลูก
- ผิดที่หมายลงที่สระบัว 3 ลูก
- รวมทั้งลูกระเบิดเพลิง

รุ่งขึ้นวันที่ 1 ข้าพเจ้ามาราชบุรี ยังพบเหตุการณ์ยืนดูความพินาศของรถ ความย่อยยับของโรงไฟฟ้า กำแพงเรือนจำพังราบลงแถบหนึ่ง บ้านเรือนประตู หน้าต่าง เพดาน พังลงมากองอยู่ข้างทาง วันนั้นกรมช่างแสงส่งคนมาแกะชนวนลูกระเบิดที่ยังไม่ระเบิดอีก 2 ลูก เป็นชนิดเดียวกับที่ระเบิดเที่ยงคืน คือลูกละ 500 ก.ก. ซึ่งคาดว่าไม่ช้ากว่า 15 นาที ก็จะระเบิด ดีที่ถอดชนวนเสียก่อน มิฉะนั้นถ้าระเบิดขึ้น สะพานรถก็จะลอยไปทั้งสะพาน เมืองราชบุรีคงหายไปในสายตา ราชบุรีเดี๋ยวนั้น มีแต่ทหารชาวญี่ปุ่นมากมาย ร้านขายของมีเพียงสองสามร้าน เงียบเชียบ แม้แต่ใบไม้ตกก็ยังได้ยินกังวาฬ วันนั้นข้าพเจ้าต้องระวังแทบแย่ เพราะกลัวอำนาจการระเบิด และลูกปืนกลที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำมาป้อนญี่ปุ่น
ร.ร.ปิดร.ร.ได้รับความเสียหายทำการสอนไม่ได้ ต้องอพยพไปเรียนที่อื่น น้องๆ ข้าพเจ้าต้องขอใบอพยพที่ครูใหญ่ประจำอยู่วัดเหนือวน เดินทางไปตั้งวันหนึ่ง รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ข้าพเจ้าก็ให้ศึกษาธิการผู้ช่วยเซ็นใบอพยพ แล้วกลับดำเนิน นำน้องๆ ไปฝากที่ ร.ร.สายธรรมจันทร์
อ่านต่อใน ความพินาศของราชบุรี-สะพานจุฬาลงกรณ์จม
ที่มา :
สละ จันทรวงศ์. (2470-2490). บันทึกส่วนตัว. เขียนด้วยลายมือ.
สละ จันทรวงศ์. (2470-2490). บันทึกส่วนตัว. เขียนด้วยลายมือ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น