วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้บ้านโป่งครั้งเดียว


"รถดับเพลิงจากกรุงเทพฯ รุดระงับเหตุตลาดบ้านโป่งทั้งตลาดวอด" (หนังสือพิมพ์ยวันพิมพ์ไทย : 10 กันยายน 2497)

"โศกนาฎกรรมใหญ่ยิ่งรอบสัปดานี้ ได้แก่พระเพลิงผลาญตลาดบ้านโป่งราพพณาสูร ประมาณค่าเสียหายกว่า 100 ล้านบาท" (หนังสือพิมพ์รายวันสารเสรี : 11 กันยายน 2497)

"เสด็จประพาสต้นเยี่ยมราษฎรที่ประสพเพลิงไหม้อำเภอบ้านโป่ง" (หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง : 15 กันยายน 2497)

ไฟไหม้บ้านโป่งเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2497 นับเป็นไฟไหม้ใหญ่ครั้งที่ 2 หลังจากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาเมื่อ 19 ปีก่อน หนังสือพิมพ์พาดหัวเป็นข่าวใหญ่เกือบทุกฉบับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จทรงเยียมให้กำลังใจราษฎร จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ต้องรุดมาบัญชาการยังที่เกิดเหตุด้วยตนเอง เหตุการณ์ครั้งนั้น นับเป็นตำนานความวิปโยคของคนบ้านโป่งที่เล่าขานกันไม่จบสิ้น

คุณยายบ้วย แซ่โง้ว ปัจจุบันอายุกว่า 70 ปี หนึ่งในผู้สูญเสียทรัพย์สินไปกับกองเพลิง ได้เล่าเหตุการย้อนหลังเมื่อ 40 ปีมาแล้วได้อย่างละเอียด ประหนึ่งว่า เรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

"รถดับเพลิงทั้งจากกรุงเทพฯ และนครปฐม ต้องเรียกมาช่วยกัน ไหม้ตั้งแต่บ่ายสองโมงครึ่งถึงห้าโมงเย็น 12 ซอย สี่ถนน เริ่มตั้งแต่ปากซอย 6 ซึ่งเวลานี้เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ ไหม้ทั้งตลาดล่างและตลาดบน วอดวายทั้งเมือง บ้านต้นเพลิงเป็นร้านขายของโชวห่วยทั้งปลีกและส่ง มีนม เนย ไม้ขีดไฟ ฯลฯ ส่งไปขายเหมืองปิล็อกที่เมืองกาญจน์แล้วขาดทุน หรืออย่างไรไม่ทราบ ก็เลยวางเพลิง เขาลือกันว่าวางเพลิงครั้งหนึ่งแล้วในตอนกลางคืนก่อนวันเกิดเหตุ แต่มีคนเห็นก่อนจึงดับทัน ฉันนั้นไม่รู้ว่าเป็นอุบัติเหตุหรือวางเพลิงกันแน่"

"คุณเอ๋ย หนีกันจ้าละหวั่นสุดชีวิต ขวัญหนีดีฝ่อ ฉันกำลังลูกอ่อน อายุขวบเดียว ลูกอีกสี่คนไปโรงเรียนหมด ใจก็เป็นห่วงลูก ครูเขาก็ไม่ยอมให้ออกมา...ต่างคนต่างเอาตัวรอด ญาติพี่น้องที่อยู่ในกรุงเทพฯ รู้ข่าวรีบรุดมาบ้านโป่งช่วยกันขนของ คล้อยหลังมาแป๊บเดียว หันไปอีกที ไฟไหม้บ้านเมื่อไหร่ไม่รู้ ทั้งที่บ้านเราก็อยู่กันคนละฝั่งกับบ้านที่ไฟไหม้ คิดดูว่าเร็วขนาดไหน ลมแรงพัดสังกะสีมุงหลังคาบ้านหมุนติ้วขึ้นกลางอากาศ ฉันคว้ากระสอบได้ จับเสื้อผ้ายัดใส่...จะใส่กระเป๋าหรือถุงก็กลัวไม่จุ กลัวจะไม่มีเสื้อผ้าให้ลูกใส่ ตอนนั้นฐานะไม่ค่อยดี ขณะที่เราขนของวิ่งไปกองริมแม่น้ำแม่กลอง ขโมยมันฉวยโอกาสขนลงเรือพายหนีไป โอ้ เวรกรรมของฉัน"

"มีอาแป๊ะคนหนึ่ง บ้านแกขายผ้าห่มผ้าขนหนู เสื้อผ้าดีๆ ทั้งนั้น เป็นร้านใหญ่สองห้องอยู่ติดกับบ้านต้นเพลิง แกเป็นประธานโรงเจ มีหน้าที่เก็บเงินทองรายได้ของโรงเจไว้เป็นจำนวนมาก ก็ไปกับไฟหมด แกไม่ยอมหนีออกมา ยอมให้ไฟคลอกตาย แกว่าหมดแล้ว..ไม่มีอะไรเหลือแล้ว อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ตอนหลังเพื่อนบ้านต้องไปอุ้มออกมา"

"ในหลวงกับพระราชินี ท่านเสด็จกลับจากหัวหินด้วยรถไฟ ท่านรู้ข่าวก็เสด็จลงเยี่ยมประชาชน ต่อมาอีกไม่กี่วัน ท่านก็มาแจกของ จำได้ว่าวันนั้นค่ำแล้ว ชาวจีนไหหลำอยู่ท่าเรือเมล์ เข้าไปกอดขาท่าน ร้องไห้พร่ำพรรณนาว่าไม่มีที่พึ่งแล้ว ในหลวงพระราชทานเงิน เขาว่าให้เป็นพัน ตอนนั้นมูลนิธิต่างๆ ก็เอาเงินเอาของมาบริจาค เพื่อนบ้านแถบที่เขาไม่โดนไฟไหม้ก็หุงข้าวปลามาให้กิน แต่มันกินไม่ลงหรอก เพราะใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คิดอย่างเดียวว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนดี ที่เราเคยอยู่ก็เช่าเขาอยู่ เจ้าของเดิมเขาก็ดี อุตส่าห์เอาสังกะสีมาทำเพิงให้อยู่ชั่วคราวไปก่อน ต่างคนต่างสร้างไม่กี่วันก็เสร็จ ไอ้ซากตอเสาไหม้ไฟก็ยังไม่ดับดี...ยังไหม้อยู่อย่างนั้น หลายวันกว่าจะดับสนิท บ้านที่ขายข้าวสาร ไฟยังไหม้ข้าวสารอยู่เลย ข้าวสารนี่ดับยากนะ เป็นสิบวันกว่าจะมอดดับหมด บางคนก็เข้าไปรื้อข้าวของเงินทอง หวังว่าจะหลงเหลืออยู่ในกองเพลิงบ้าง ความเป็นอยู่แย่ ข้าวของก็ขายไม่ดี จะซื้อของหวานของเค็ม ก็ไม่มีแหล่งจะให้ซื้อ เพราะไฟไหม้หมด..กว่าจะฟื้นตัวได้เป็นปี ไหม้หมดทุกที่ เหลือแค่ตรงสถานีรถไฟเท่านั้น"

"ที่เราดูหนังเห็นคนตื่นไฟแบกโอ่งแบกตู้หนี เหมือนกับในหนังยังไงยังงั้น บางคนแบกโอ่งออกมา โถนึกย้อนกลับไป ขำก็ขำ สมเพชก็สมเพช ที่บ้านยังมีโอ่งเหลือจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ไฟไหม้บูดเบี้ยวเก็บไว้เป็นที่ระลึก"

เหตุการณ์ไฟไหม้บ้านโป่งครั้งใหญ่คราวนั้น จากการรายงานข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ระบุว่าเกิดจากการลอบวางเพลิง โดยเกิดขึ้นที่ห้องชั้นบนของบริษัทฮั่วเส็ง ติดต่อกับร้านเต๊กเซ้ง เพลิงได้เผาพลาญตัวเมืองบ้านโป่งกว่า 150,000 ตารางเมตร ส่วนมากเป็นที่ดินแลละบ้านเรือนของหลวงสิทธิเทพการ ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดบน และนางทองคำ วงศาโรจน์ ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดล่าง ต่างก็เป็นตระกูลเก่าและเศรษฐีที่ดินแห่งบ้านโป่ง เหตุการณ์คราวนั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสองราย สูญหายห้าคน และสูยเสียทรัพย์สินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินมหาศาล เมื่อเทียบกับข้าครองชีพย้อนหลังไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน

จากเมืองที่มีแต่อาคารบ้านเรือน ทำด้วยไม้หลังคามุงกระเบื้อง ทั้งชั้นเดียวและสองชั้น บางบ้านตัวบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะหลังคาจาก บ้านตึกยังไม่ค่อยมีให้เห็น ปัจจุบันกลับกลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์ ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม คือเป็นตึกสองชั้น ไม่เน้นการประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นอยางที่เคยเป็นมา จะมีก็แต่เพียงเส้นแนวตั้งและแนวนอนตามขอบหน้าต่างและกัสาดของอาคาร นับเป็นอาคารสมัยใหม่ในยุคนั้น

คนบ้านโป่งบางคนกล่าวว่า เมืองบ้านโป่งก่อนไฟไหม้มีตอกซอกซอยแยกย่อยคดเคี้ยว แต่พอหลังเหตุการณ์ มีซอยมีถนนตัดแบ่งแยกอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยมากระทั่งทุกวันนี้ ด้วยมีเจ้าของที่ดินรายใหญ่เพียงสองคนเท่านั้น การปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่สมัยนายกเทศมนตรีกิจ ทรัพย์เย็น จึงเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยสะดวก

ไฟไหม้ครั้งใหญ่คราวนั้น จึงนำทั้งความสูญเสียและการเปลี่ยนแปลงมาสู่บ้านโป่ง


สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม
-ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่ง 1
-ไฟไหม้ตลาดบ้านโป่ง 2-http://www.pantown.com/board.php?id=1607&area=&name=board1&topic=31&action=view
ที่มาข้อมูล :
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 432-433)

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ19 มิถุนายน, 2553 12:09

    "ถ้าวันนั้นท่านฝในหลวงไม่เสด็จนำของใช้ เงิน อาหารมาไห้ ตอนนั้นก้อมีแต่คนไม่อยากมีชีวิตอยู่ ท่านช่างมีความเมตตาขนาดนั้ เราจะไม่รักพรัองค์ได้ไงคร้า"

    ตอบลบ
  2. ลูกหลานชาวบ้านโป่ง ที่จงรักและภักดี01 กุมภาพันธ์, 2555 12:15

    ผมเป็นคนบ้านโป่ง เป็นหลาน นายกกิจ ทรัพย์เย็น และเป็นหลานของยายพัดซึ่งขายหมูอยู่ในตลาด(ยายเป็นน้องสาวของท่าน)แต่ตอนที่เกิดเหตุผมยังไม่ได้เกิด คุณยายเคยเล่าให้ฟังว่า ในหลวงเสด็จที่บ้านโป่ง ทุกคนที่ท้อแท้หมดหวัง น้ำตาไหลอาบแก้มใจจะขาด แต่อยู่ ๆ มีพ่ออยู่หัวเสด็จมา น้ำตาที่ไหลก็ยิ่งไหลออกมาอีก แต่เปลี่ยนจากความท้อแท้สิ้นหวัง เป็นความสุขที่หาเปรียบไม่ได้ ทุกคนกลับมามีชีวิตอีกครั้งเพียงเพราะพระองค์ทรงเสด็จมา..

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ30 สิงหาคม, 2556 01:17

    แม่เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นแม่ยังเด็กมาก การสัญจรไปมาก็ลำบาก รถลาก็ไม่มี แม่ทั้งเดิน ทั้งวิ่ง จากบ้านท่าผา เพื่อมาให้ทันในหลวง

    ตอบลบ