วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

นิทานชาวกะเหรี่ยง "หนั่งแว่น"

นิทานเรื่อง "หนั่งแว่น" นี้ เป็นวรรณกรรมพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่ จ.ราชบุรี ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการสอนลูกหลาน ในบทความนี้เป็นการเล่าโดย นางไก่ ทึงลึง อายุ 67 ปี (เมื่อ พ.ศ.2543) บ้านอยู่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบรุี  ถูกบันทึกไว้ในหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี ผมได้คัดลอกมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางการศึกษาในโลกออนไลน์อีกทางหนึ่ง นิทานเรื่องนี้ ความว่า.......

ภาพจำลองประกอบบทความ
ที่มา :
http://board.postjung.com/
m/532269.html
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายคนหนึ่งนามว่า "หนั่งแว่น" ซึ่งเป็นคนขยัน  วันหนึ่งเขาขึ้นไปตัดต้นไม้ที่มีตีนเขาแล้วจุดไฟ  เขาคิดจะทำไร่ จึงได้เอาข้าวโพดไปปลูก และเมื่อข้าวโพดออกลูก เสือสมิงจึงกินหมด  หนั่งแว่นจึงโกรธมาก ได้เอากับดักมาดักเสือสมิง เมื่อดักเสร็จแล้วก็กลับบ้านไป  

เมื่อเสือสมิงมากินข้าวโพด ไม่ทันมองลงพื้นจึงโดนกับดักของหนั่งแว่น และเสือสมิงโกรธมากจึงถามต้นไม้ว่า "ใครเอากับดักมาวางดักตน" ต้นไม้จึงบอกว่า "คนที่มาดักกับดักนี้ชื่อหนั่งแว่น" เสือสมิงอาฆาตหนั่งแว่นมากจึงบอกพรรคพวกว่าตนจะคอยกินหนั่งแว่นตรงที่นี่ละ

วันต่อมา ขณะที่หนั่งแว่นเดินลงบันไดไปนั้น ได้จามออกมาระหว่างก้าวลงบันได ซึ่งโบราณถือว่า "จามขณะลงบันไดให้หยุดการเดินทางสามวันเพราะจะเกิดเรื่องร้าย" หนั่งแว่นจึงต้องอยู่บ้านสามวัน วันสุดท้ายเขาก็ไม่ถือจึงคิดจะไปที่ไร่ ขณะที่ก้าวลงบันไดนั้นยังจามอยู่ เขาก็เลยไปไม่สนใจคำถือแล้ว

เมื่อมาถึงไร่ หนั่งแว่นก็ได้ยินเสียงเสือสมิงหาวดัง ฮ้าว...และพูดขึ้นว่า เฝ้าหนั่งแว่นมาเจ็ดคืนแล้วนะแต่ไม่เห็นเขามาเลย เราควรกลับได้แล้วนะ หนั่งแว่นเมื่อได้ยินเสียงเสือสมิง และเห็นตัวเสือสมิงก็กลัวจึงรีบวิ่งกลับบ้าน พอถึงบ้านก็พูดกับตัวเองว่า "ถ้าเราไปไร่เร็วกว่านี้เราคงโดนเสือสมิงกินแน่ๆ เลย"

หลังจากนั้นหนั่งแว่นก็ไม่ไปที่ไร่ข้าวโพดอีกเพราะกลัวเสือสมิง แล้วเขาก็ไปทำไร่ที่อื่น เขาดำเนินชีวิตไปด้วยความสุขหลังจากไปทำไร่ที่อื่น


**********************************************
ที่มา :
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำหนังสือ เรื่อง "วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา". (2543). หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดราชบุรี. กรมศิลปากร : องค์การค้าของคุรุสภา.(หน้า 162). (ดูภาพหนังสือ)

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ19 มกราคม, 2557 21:54

    ได้รับรู้เพิ่มเติมในส่วนที่ไม่คิดว่าจะมีโอกาสใด้เรียนรู้ ขอบคุณจากใจจริง

    ตอบลบ
  2. ขอเอาไปส่งครูนะคะ

    ตอบลบ
  3. มีข้อคิดมั้ยคะ

    ตอบลบ