วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ปิดตำนานเหมืองแร่ที่สวนผึ้ง

บทความนี้ ผู้จัดทำได้ไปคัดลอกมาจากบทความที่ อ.สุรินทร์ เหลือลมัย ที่ปรึกษาสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งท่านเขียนไว้ใน "วารสารเมืองโบราณ ปี 2548 ฉบับที่ 31.4"  แต่ผู้จัดทำได้ไปสืบค้นมาจากวารสารเมืองโบราณที่ออนไลน์ทางเว็บไซต์  http://www.muangboranjournal.com/ จึงขออนุญาตนำบทความที่ท่านเขียนและรูปภาพประกอบมาเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์นี้อีกทางหนึ่ง  เพื่อเผยแพร่ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบต่อไป หากท่านใดต้องการดูบทความต้นฉบับ คลิกไปได้ที่ http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=60

วิศวกรผู้เปิดตำนานเหมืองแร่
คุณวิเชียร โลหะศิริ เป็นวิศวกรเหมืองแร่ผู้เปิดตำนานยุคทองของชาวเหมืองแร่ อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี  ผู้เขียนรู้จักท่านตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๗ เมื่อมีโอกาสติดตามคุณเกษม กิตติบำรุงสุข ปลัดหัวหน้ากิ่งอำเภอสวนผึ้งคนแรก ไปตรวจราชการที่เหมืองแร่เริ่มชัย ๒ แล้วได้ไปชมลานหินบริเวณเหมืองแร่โลหะศิริเก่า ริมห้วยบ้านบ่อ (ห้วย ๕) ที่เคยเป็นบริษัทเหมืองแร่โลหะศิริ จำกัด เปิดทำการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ที่นั่นเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญที่จะกล่าวรายละเอียดต่อไป

ต่อมา วันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ มีโอกาสนำคณะโบราณคดีสมัครเล่นไปเยี่ยมคุณวิเชียร โลหะศิริ ยังที่ทำการเหมืองแร่เริ่มชัย ๑ ได้รู้จักกับคุณสุมล เจริญสุข ผู้จัดการเหมืองมโนราห์ ท่านได้มอบเครื่องมือหินที่พบบริเวณนั้นให้มาจำนวนหนึ่ง

พอปลายปี พ.ศ.๒๕๑๘ ผู้เขียนติดตามคณะอำเภอเคลื่อนที่ไปค้างคืนที่เหมืองแร่เริ่มชัย ๑

เช้าวันรุ่งขึ้น ทางคณะฯ ข้ามเข้าไปในเขตพม่า ในเขตของกะเหรี่ยงอิสระ ก่อนออกเดินทาง คุณวิเชียรยังเตือนผู้เขียนให้กินอะไรให้อิ่มท้องไว้ เพราะเดินทางไกลขึ้นเขาลงห้วยจะอ่อนเพลียง่าย  คณะฯ ข้ามเขตออกไปทางเหมืองแร่ตะโกปิดทอง (ตะโกบน) ขณะข้ามเขตยังเห็นต้นไม้บนสันเขายอดแยกห่างออกจากกัน ผ่านฝั่งห้วย ปีนป่ายตามรอยเท้าช้าง บนพื้นราบตามไหล่เขาปูลาดด้วยหญ้ามาเลเซียเขียวขจีสวยงาม แล้วผ่านแหล่งกะเหรี่ยงทำเหมืองแร่ขนาดย่อม โดยอาศัยเพียงเครื่องสูบน้ำเล็กๆ กับไม้แผ่นต่อรางแร่ให้น้ำพัดพาดินทรายทิ้งออกท้ายราง อาทิตย์หนึ่งกะเหรี่ยงจะหยุดกู้แร่ โดยขนดินปนแร่ไปร่อนด้วยเลียงไม้ แล้วนำแร่มาขายฝั่งไทย

ที่พักผู้นำกะเหรี่ยงอิสระอยู่บนเนินเขา
พันเอกจอนุ อดีตนายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพอังกฤษมีหน้าที่ควบคุมชายแดนด้านราชบุรีและกาญจนบุรี  กะเหรี่ยงที่นั่นเป็นเผ่าปกาเกอะญอ หรือที่คนไทยภาคกลางเรียกว่า กะหร่าง นับถือคริสต์ ต้อนรับชาวคณะฯ ด้วยชาร้อน ขนมเปี๊ยะ

หัวหน้าคณะฯ สนทนากับพันเอกจอนุได้ประมาณ ๒๐ นาที ก็บอกให้ทุกคนเดินทางกลับทันที ทำเอาคณะฯ ผิดหวังไปตามๆ กัน ด้วยคิดว่าจะได้นอนพักให้สบายสักคืน ตอนเดินทางกลับเมื่อยล้า บางคนถึงกับถอดเสื้อนอกปลดปืนและเข็มขัดซองลูกปืนให้ลูกน้องถือแทน  ขาไปใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ขากลับใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมงครึ่ง

หลังจากมื้อกลางวันในตอนบ่ายแล้วก็เดินทางกลับอำเภอจอมบึงทันที คืนนั้นผู้เขียนหลับสบายจริงๆ แต่ต่อมาอีก ๒ - ๓ วันคิดว่าเป็นไข้หวัด ที่แท้เป็นไข้มาลาเรีย นอนจับสั่นตอนดึกๆ เป็นอาทิตย์ มาหายขาดเพราะยาชุดของหน่วยมาลาเรียประจำอำเภอจอมบึง นี่คือผลของการนอนไม่กางมุ้งที่สำนักงานเหมืองแร่เริ่มชัย ๑ เพียงหนึ่งคืนเท่านั้น

ต่อมา ในการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านให้แก่ชาวไทยกะเหรี่ยงรุ่น ๑๒๗/๓ ที่กิ่งอำเภอสวนผึ้ง ระหว่างวันที่ ๒ - ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙ โดยผู้เขียนเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน รวมทั้งการอบรมอีก ๕ ครั้งในปีเดียวกันที่อำเภอจอมบึง นับเป็นช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้รับทราบเรื่องราวโบราณคดีแถบเทือกเขาตะนาวศรี และตำนานการทำเหมืองแร่ของคุณวิเชียร โลหะศิริ กับเพื่อนๆ ชาวเมืองกาญจนบุรี เฉพาะคุณวิเชียรได้มาปักหลักทำเหมืองแร่ดีบุกที่สวนผึ้งนานถึง ๒๕ ปีทีเดียว

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งมีการสำรวจสำมะโนเกษตร ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ผู้เขียนก็มีโอกาสติดตามขึ้นไปด้วย ได้เห็นภูมิประเทศเหมืองแร่เก่าของบริษัทเหมืองแร่เขากระโจม จำกัด ซึ่งคุณวิเชียรมีส่วนปรับปรุงเส้นทางขึ้นเขากระโจม ทำให้มีรถวิ่งขึ้นไปได้เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ก่อนหน้านั้นการขนสัมภาระขึ้นไปลำบากมาก ต้องใช้ม้า วัวต่าง และกรรมกรชาวจีน 

เขากระโจมเดิมเรียกว่าเขาลันดา เป็นภาษากะเหรี่ยงโพล่งว่า คู้หล่องหลั่งดา หมายความว่าภูเขาที่มีที่ราบ  เขาลันดาเป็นยอดเขาลูกหนึ่งของเทือกเขาตะนาวศรีชายแดนไทย - พม่า สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร  เมื่อคุณชั้น ศิริสุข มาบุกเบิกทำเหมืองแร่ใหม่อีกครั้ง ได้เปลี่ยนชื่อเขาลันดาเป็นเขากระโจม เพราะเมื่อมองจากด้านล่างขึ้นไปจะเห็นสัณฐานคล้ายกระโจมอินเดียนแดง ภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ จึงมีลำห้วยน้ำใสหลายสายไหลมารวมกันเป็นห้วยลันดา แล้วกลายเป็นน้ำตกไหลลงมา ปัจจุบันกำลังพัฒนาเส้นทางขึ้นไปชม ตั้งชื่อน้ำตกว่าน้ำตกผาแดง

ข้างบนเขากระโจมเป็นลานกว้าง มีฐานปฏิบัติการ ตชด. จากกองร้อย ๑๓๗ คอยดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะมีผู้ขับรถไปชมน้ำตกผาแดงกันเป็นปกติ แต่ก่อนขึ้นเขาต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำป้อมเกี่ยวกับคณะที่ขึ้นไปว่ามีจำนวนเท่าไร

ข้อสำคัญ จะขึ้นไปได้ก็ต้องอาศัยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น อากาศบนเขาเย็นสบาย ตอนเช้ามีน้ำค้างตกจากชายคาสังกะสีแม้จะเป็นเดือนเมษายน น้ำกินน้ำใช้เป็นน้ำอ่อนใสสะอาด ไหลผ่านท่อส่งน้ำขนาด ๘ นิ้วซึ่งเป็นท่อน้ำเก่า ป่าบนเขามีทั้งป่าดงดิบเขา เพราะได้พบไม้ก่อ (เกาลัด) และป่าดิบชื้น เพราะมีหวายขึ้นอยู่หลายชนิด ไม้มีค่าได้แก่ไม้จำปาป่า ต้นสะตอแบบภาคใต้ สูงระหง ไม่น่าเชื่อว่าไม้ผลบนเขากระโจมมีมากมาย เช่น ลิ้นจี่ กระท้อน เงาะ มะม่วง มะไฟ ละมุด และขนุน เป็นต้น แต่ก็แปลก ผลไม้ดังกล่าวมีแต่รสเปรี้ยวๆ

วันที่ขึ้นไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ นั้น ชาวคณะสำรวจได้ขอให้คุณเฉลา โลหะศิริ ผู้ควบคุมสำนักงานบนเขากระโจมนำออกไปเที่ยวเขตพม่า จำได้ว่าผ่านต้นมะเขือพวงสูงพ้นศีรษะทั้งสองข้างทาง ผ่านดงกล้วยป่ามีเครือสุกเหลือง แต่มีเมล็ดมาก กินไม่ได้ ทว่าก็ได้กินหัวปลีกล้วยถึง ๒ มื้อ โดยนำมาหั่นฝอยผสมแป้งมันและกุ้งแห้งจากพม่า ทอดแบบเต้าหู้แผ่นหรือเผือกทอดแล้วทำน้ำจิ้ม

สวนทางกับชาวกะเหรี่ยงฝั่งโน้น เดินแบกโงบรรทุกของหนักมา การเดินขึ้นๆ ลงๆ ตามไหล่เขา เห็นได้ชัดว่าเขาไม่ถนัดในการหาบหาม จึงใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกระบุงทรงสูงก้นเรียวสำหรับสะพายหลัง มีสายสำหรับคล้องไหล่แขนสองข้าง และอีกสายหนึ่งสำหรับคล้องโยงไว้กับหน้าผากพอดี  เวลาเดินขึ้นเขาลงห้วยจึงไม่ต้องใช้มือจับถือเลย

ทราบว่าชาวกะเหรี่ยงนำของป่า แร่ดีบุกที่จกร่อนได้ตามลำห้วยมาขาย โดยเฉพาะไก่ดำที่ดำทั้งเนื้อและกระดูก แล้วซื้อสิ่งของที่จำเป็นกลับไป เช่น เกลือ น้ำปลา ยาแก้ไข้ เสื้อผ้า ฯลฯ นับเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวเหมืองแร่กับชาวกะเหรี่ยงอิสระขณะนั้น

วันนั้นยังได้ผ่านทุ่งโล่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ เพราะปูลาดด้วยหญ้ามาเลเซียใบใหญ่ ผ่านดงไม้ริมห้วยที่ทำให้ชาวคณะฯ ต้องหยุดก่อน แล้วใช้น้ำยาฉุนหรือน้ำแช่ใบยาสูบหั่นฝอย ทาตามเข่า น่อง ถึงปลายเท้า เพราะต้องฝ่าเข้าดงทาก (สัตว์ที่มีรูปร่างคล้ายปลิง) ดูดเลือด แม้กระนั้นก็ยังมีโดนเกาะห้อยต่องแต่งหลายคน ไปได้ถึงริมห้วย ที่ซอกโพรงหินมีน้ำตกเล็กๆ พอให้เข้าไปยืนออถ่ายรูปเป็นที่ระลึกได้

ณ วันนี้จึงทราบว่า ช่องทางบนเขากระโจมนั้นคือเส้นทางเดินเท้าถึงบ้านกะมาปอ ฐานกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่ และเส้นทางที่ผู้เขียนเคยผ่านเข้าไปนั้นเชื่อมกับเส้นทางที่นักศึกษาพม่ายึดสถานทูตพม่าเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๒ แล้วบังคับให้เฮลิคอปเตอร์ไปส่งฝั่งตรงข้ามช่องเขาตะโกปิดทอง

และเมื่อกะเหรี่ยงก๊อดอาร์มี่ถูกทหารพม่ารุกจนมาติดเขตไทยบนเขากระโจม ขณะเดียวกันก็ถูกทหารไทยสกัดกั้นกลัวว่าจะเข้ามาทั้งทหารพม่าและก๊อดอาร์มี่ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงมีความต้องการนำแพทย์และยาเวชภัณฑ์ไปรักษาผู้บาดเจ็บให้ได้ และตัดสินใจเข้ายึดโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรีเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๓ จนต้องพบจุดจบอย่างน่าเศร้าใจ

เมื่อแรกเริ่มทำเหมืองแร่
ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสไทรโยค พ.ศ.๒๔๓๑ นั้น มีกรรมกรเหมืองแร่ที่เป็นคนจีนจากสวนผึ้งนำแร่ดีบุกไปถวายถึงเมืองกาญจนบุรี จากนั้นเป็นต้นมา ผู้คนต่างถิ่นเริ่มหลั่งไหลเข้าไปในตำบลสวนผึ้ง โดยเฉพาะกรรมกรชาวจีนโพ้นทะเลเข้ามาเป็นกลุ่มแรก

พ.ศ.๒๔๓๘ มิสเตอร์ เอช.วาริงตัน สมิธ ชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตำแหน่งรองเจ้ากรมโลหะกิจและภูมิวิทยา ได้มาสำรวจทางธรณีวิทยาและหาสายแร่ดีบุก เขาผ่านเข้าไปที่ตำบลสวนผึ้ง ทุ่งไม้แดง ไปถึงสำนักงานใหญ่เหมืองทุ่งเจดีย์ แล้วเขียนไว้ว่า

“…พระเจดีย์เป็นพื้นที่ผืนเล็กๆ อยู่ตรงพื้นที่โล่งระหว่างหุบเขา ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านห้วยบ่อ เหมือนกับชื่อสถานที่ เจดีย์เล็กๆ หนึ่งหรือสององค์ตั้งอยู่ที่นั่นตรงตามนัยของชื่อ เจดีย์เป็นกองหินเหลืออยู่ คนยากจนบางคนซึ่งออกจากป่าแถวๆ นั้นต้องเป็นคนสร้างมันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะดีใจอย่างเหลือล้นที่ได้เห็นท้องฟ้าที่อยู่เหนือศีรษะ และพื้นที่อันกว้างใหญ่ใต้เท้าของเขา และได้ตั้งสัตย์อธิษฐานและสร้างของถวายไว้ตรงจุดนี้ …”

สมัยก่อนเป็นธรรมเนียมคนเดินป่า มอญและกะเหรี่ยงเมื่อเดินทางออกนอกพื้นที่ จะทำพิธีตั้งหินสามก้อนแทนดอกไม้ธูปเทียน บูชาเทพารักษ์ที่สถิตอยู่ในป่าเขา ขออย่าให้ตนเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีอันตรายใดๆ ต่อมา คติความเชื่อเปลี่ยนจากผีมาเป็นพุทธ หินสามกองจึงกลายเป็นเจดีย์สามองค์ 

แบบเรียนแผนที่เมื่อราว พ.ศ.๒๔๙๕ มีชื่อพระเจดีย์สามองค์ใต้ ชายแดนราชบุรี (เหมืองแร่ทุ่งเจดีย์) คู่กับพระเจดีย์สามองค์เหนือที่อำเภอสังขละบุรี  ปัจจุบันกองหินที่ทุ่งเจดีย์ได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อโรงเรียนในจังหวัดราชบุรีเปิดสอน “ราชบุรีศึกษา“ 

พ.ศ.๒๔๔๔ หรือ ๖ ปีหลังจากมิสเตอร์ เอช.วาริงตัน สมิธ มาตรวจหาสายแร่ในตำบลสวนผึ้ง รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่

พ.ศ.๒๔๕๖ บริษัทเอมากวลได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่มีอายุ ๒๕ ปี แต่ได้มอบคืนรัฐบาลภายหลัง พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจึงว่างเปล่า

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงเห็นควรให้พระศรีทิพย์โภชน์ ร่อนแร่ได้ที่ห้วยค้างคาว และเห็นควรเปิดอนุญาตให้ราษฎรร่อนแร่ได้อย่างทั่วถึงตามที่ขออนุญาต ดังรายชื่อ

วันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๗ มีการอนุญาตให้สัมปทานบัตรบริเวณพระเจดีย์สามองค์ ๒ ราย แก่นายคาล ไฮร์ เซนโฮเฟอร์ ชาวเยอรมัน ๒ แปลง และขุนไกร ๑ แปลง

รายแรกถูกรัฐบาลยึดคืนเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑   รายหลังเพราะราคาแร่ตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงคืนสัมปทานให้แก่รัฐบาล นอกจากนี้  ยังมีของขุนทิพย์มณเฑียร ๑ แปลง บริเวณพระเจดีย์สามองค์ ได้คืนสัมปทานให้แก่รัฐบาลสาเหตุเดียวกัน  นายเฉย ฉวยอุไร ๒ แปลง บริเวณห้วยค้างคาว ขุนทิพย์มณเฑียร ๑ แปลง ที่ห้วยลันดา กิจการได้ผลดี

ราว พ.ศ.๒๔๖๒ นายเล่า ยุ่นเฮง เริ่มดำเนินการผูกขาดตรวจแร่ในจังหวัดราชบุรี ขุนอนุกรมสำรวจรัฐ ๑ แปลง ที่ห้วยบ่อน้อยและบ่อคลึง และนายยอร์ช กอดอน แมคเคลาด์ ๒ แปลง ที่ท้องที่ตำบลสวนผึ้ง ได้เปิดทำการเหมืองแร่บ่อคลึง โดยมีบริษัทยิบอินซอย ได้สัมปทาน มีชาวต่างประเทศดำเนินการ ต่อมาได้เลิกกิจการไป นายประยูร โมนยะกุล ซึ่งเป็นผู้จัดการได้ดำเนินการต่อ โดยเริ่มตัดเส้นทางรถยนต์เพื่อให้สามารถขนส่งแร่เข้าเมืองราชบุรีได้สะดวก

เส้นทางนี้ตัดจากเหมืองแร่บ่อคลึง ผ่านหมู่บ้านกะเหรี่ยงไปชัฏป่าหวาย บ้านมะขามเอน ห้วยไผ่ เข้าสู่ตัวเมืองราชบุรี เป็นคนละทางกับที่ผ่านเข้าไปนาขุนแสน บ้านกล้วย บ้านด่าน ออกช่องหัวเขาสนไปอำเภอจอมบึง

สงครามโลกครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๔๖๐ ประเทศไทยประกาศตนเข้าสู่สงครามโลกร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร กิจการเหมืองแร่ดีบุกเริ่มซบเซาและหยุดชะงักลง กิจการของนายคาล ไฮร์ เซนโฮเฟอร์ถึงกับถูกรัฐบาลยึดคืนไป  แม้กระทั่งเหมืองบนเขาลันดาซึ่งกิจการได้ผลดี แต่การขึ้นลงเขาขณะนั้นก็ลำบากมาก ต้องใช้คนงาน (ส่วนใหญ่เป็นคนจีน) ม้าและวัวต่างแบกหามเสบียงอาหาร มิหนำซ้ำไข้มาลาเรียก็ชุกชุม คนงานเสียชีวิตไปหลายคน  ในที่สุดกิจการทำเหมืองหาบบนเขาลันดาก็ต้องเลิกไปในปี พ.ศ.๒๔๗๖

เหมืองแร่ฟื้นฟูใหม่อีกครั้ง
เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ เกิดวิกฤตการณ์ราคาแร่วุลแฟรมตกต่ำ ตลาดต่างประเทศหยุดรับซื้อ  คุณชั้น ศิริสุข อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การเหมืองแร่ กรมโลหะกิจ (ขณะนั้น) ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทำเหมืองแร่วุลแฟรมที่ปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นคนแรก ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๑ จำเป็นต้องหาแหล่งทำเหมืองแร่ดีบุกทดแทน เพื่อให้ลูกน้องและคนงานมีงานทำ

คุณชั้นมอบให้คุณฉันท์ ศาลิคุปต์ คุณพร บุญยวาศรี และคุณอนันต์ เพ็งธนัง ไปสำรวจแหล่งแร่เก่าบนเขาลันดา ตำบลสวนผึ้ง กิ่งอำเภอจอมบึง ซึ่งเคยเป็นเหมืองเก่าประเภทเหมืองหาบ (เหมืองเก๋าเกี๊ยะ) ของบริษัทยิบอินซอย ได้รับช่วงสัมปทานต่อจากขุนทิพย์มณเฑียร มีแร่สมบูรณ์มาก คุณชั้นวางโครงการทำเหมืองแล่น โดยใช้หัวฉีดน้ำให้เจาะระเบิดแร่ที่บริเวณเหนือน้ำตกผาแดง

คุณวิเชียร โลหะศิริ ได้ขึ้นไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในการสร้างโรงเก็บพัสดุและบ้านพักคนงาน ได้ใช้รถจิ๊ปใหญ่ช่วงสั้นขนสัมภาระขึ้นเขาลันดาได้เป็นครั้งแรก ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๐ โดยเดินทางออกจากโรงเก็บพัสดุที่เชิงเขาเวลาประมาณ ๐๘.๐๐ น. ถึงบนเขาเวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. ใช้เวลาเดินทางถึง ๑๐ ชั่วโมงทีเดียว

คุณชั้นเปลี่ยนชื่อเขาลันดาเป็นเขากระโจม แล้วตั้งชื่อเหมืองสูบขนาด ๖ นิ้ว ที่เพิ่งมีเป็นครั้งแรกในจังหวัดราชบุรีว่า “บริษัท เหมืองแร่เขากระโจม จำกัด“ ใน พ.ศ.๒๕๐๑ น่าเสียดาย คุณชั้นถึงแก่กรรมเสียก่อนจะทันเห็นความก้าวหน้าของกิจการ

คุณเติม ดิษาภิรมณ์ จากบริษัททังสะเตน จำกัด อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้พยายามลดการขาดทุนโดยเลิกกิจการเหมืองแร่วุลแฟรมที่นั่น ย้ายพนักงานและคนงานไปช่วยบนเหมืองแร่เขากระโจม แล้วทำหน้าที่เป็นผู้จัดการบริษัทเหมืองแร่เขากระโจม จำกัด เป็นคนแรก คุณวิเชียรทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ และนายการเหมืองแร่อีกตำแหน่งหนึ่งเป็นเวลาหลายปี

พ.ศ.๒๕๐๖ เมื่อปริมาณแร่ดีบุกจากเหมืองสูบบนเขากระโจมเริ่มลดน้อยลง คุณวิเชียรออกสำรวจหาแหล่งแร่ดีบุกสำรองเพิ่มเติม ในที่สุดพบแหล่งแร่ช่วงห้วยบ้านบ่อ ช่วง ๕ - ๗ ปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงติดต่อขอเช่าช่วงสัมปทานการทำเหมืองต่อกับองค์การเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณีที่กรุงเทพฯ

ในการนัดรังวัดพื้นที่ เจ้าหน้าที่ต้องมาตรวจสภาพป่า กว่าจะออกใบอนุญาตเปิดทำเหมืองได้กินเวลานานถึง ๒ ปีเศษ เริ่มเปิดทำเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว ชื่อ “บริษัท เหมืองแร่โลหะศิริ จำกัด” ใน พ.ศ.๒๕๑๐

พ.ศ.๒๕๑๑ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๐ กรป. กลาง บก. ทหารสูงสุดเข้าพัฒนาตำบลสวนผึ้ง ขณะนั้น เส้นทางสายหลักจากราชบุรีเข้าไปเป็นเพียงทางเกวียนและทางรถขนแร่ เป็นอุปสรรคในช่วงฤดูฝน เพราะกระแสน้ำในลำภาชีจะไหลเชี่ยวกรากและเอ่อล้นฝั่ง ไม่สามารถข้ามไปมาได้จนกว่าระดับน้ำจะลด

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๐ จึงปรับปรุงเส้นทางใหม่จากอำเภอจอมบึงเข้าไปกิ่งอำเภอสวนผึ้ง ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร แบ่งระยะทางออกเป็น ๔ ช่วง คือ
  • ช่วงแรก “หลับไม่ลง” จากอำเภอจอมบึงผ่านหมู่บ้านไทยวนที่บ้านรางดอกบัว หน้าแล้งฝุ่นมาก หน้าฝนเป็นหลุมบ่อดินโคลน
  • ช่วงที่ ๒ “อนงค์นาง” จากบ้านรางดอกบัวถึงบ้านหนองขาม ผ่านป่าเต็งรัง ช่องหัวเขาสน
  • ช่วงที่ ๓ “กลางพนา” จากบ้านหนองขามถึงบ้านชัฏหนองหมี เส้นทางตัดใหม่ผ่านป่ารกทึบ จนมองไม่เห็นทิวเขาตะนาวศรี
  • ช่วงสุดท้าย “ลำภาชี” สร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำภาชีสำเร็จใน พ.ศ.๒๕๑๒ ทำให้เดินทางไปสวนผึ้งได้ตลอดปี รถยนต์เข้าถึงเหมืองแร่ได้ทุกเหมือง กลุ่มผู้ทำธุรกิจเหมืองแร่จึงเริ่มมั่นใจในการลงทุน
พ.ศ.๒๕๑๒ คุณวิเชียรซื้อเหมืองแร่มโนราห์ บริเวณตอนท้ายเหมืองแร่สินสยาม (ผาปกค้างคาว) พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหินก้อนใหญ่ๆ จำเป็นต้องใช้กว้านขนหินก้อนใหญ่ออกไปก่อน เสียเวลาบุกเบิกนานหลายเดือน  ต่อมา คุณสุมล เจริญสุข รับหน้าที่เป็นผู้จัดการเหมืองแร่มโนราห์แทนคุณเติม ดิษาภิรมณ์

บริษัทเหมืองแร่โลหะศิริ จำกัด ได้มอบให้คุณเริ่ม แย้มอรุณ ประมูล ”เหมืองแร่ห้วยสุด” จากองค์การเหมืองแร่ กรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเลิกกิจการไปเนื่องจากขาดทุน ใช้ชื่อว่า “บริษัท เหมืองแร่เริ่มชัย จำกัด” โดยเอาชื่อคุณเริ่ม แย้มอรุณ และคุณชัย มฤคลักษณ์ ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีมาเป็นชื่อเหมืองแร่ ทำเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว โดยใช้แทรกเตอร์ ดี ๖ ช่วยดันชั้นกระสะ จัดทำทำนบ (เขื่อน) บริเวณด้านท้ายของรางน้ำ การดำเนินการของเหมืองแร่เป็นไปด้วยดีและมีชื่อเสียงตลอดมา

กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้แบ่งท้องที่ตำบลสวนผึ้ง ตำบลป่าหวาย และตำบลบ้านบึง ออกไปตั้งเป็นกิ่งอำเภอสวนผึ้ง เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๗ พอดีกับราคาดีบุกโลกขยับตัวสูงขึ้น กิจการเหมืองแร่จึงกลับมาฟื้นฟูใหม่อีกครั้ง

ปี พ.ศ.๒๕๑๗ - ๒๕๑๘ คุณวิเชียรซื้อเหมืองแร่บูรพาของบริษัทบูรพาที่บ้านตะโกล่าง ตรวจสอบแนวเขตตามแผนที่ประทานบัตร กว่าจะแล้วเสร็จใช้เวลานาน ๑ เดือน จากนั้นบุกเบิกป่าเตรียมรางเหมืองสูบขนาด ๘ นิ้ว ทำทำนบกักทราย กักน้ำขุ่น ขันประตูปูน ใช้ชื่อว่า “เหมืองแร่เริ่มชัย ๒“ มีคุณวิเชียรเป็นผู้จัดการบริษัท ส่วน “บริษัท เหมืองแร่โลหะศิริ จำกัด” ได้ให้คุณบุญนำ ดิษาภิรมณ์ เป็นผู้จัดการรับเหมาทำเหมืองแร่ต่อไป  เมื่อคุณเติม ดิษาภิรมณ์ ถึงแก่กรรม คุณวิเชียรจึงต้องมาเป็นผู้จัดการเหมืองแร่เริ่มชัย จำกัด

หนังสือที่ระลึกเปิดป้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอสวนผึ้ง วันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๓ ระบุว่า รัฐมีรายได้จากการเก็บค่าภาคหลวงแร่ในเขตท้องที่กิ่งอำเภอสวนผึ้ง ปีหนึ่งๆ ประมาณ ๑๐๐ ล้านบาทเศษ แต่เมื่อเริ่มสร้างอาคารที่ว่าการกิ่งอำเภอสวนผึ้งหลังแรก รัฐบาลให้งบประมาณเพียง ๑,๓๒๙,๐๐๐ บาทเท่านั้น  ประชาชนในท้องที่ต้องบริจาคเพิ่มให้อีก ๓๘๕,๙๓๐ บาท ในจำนวนเงินนั้น ผู้บริจาควงเงิน ๑๐,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป เป็นผู้ทำธุรกิจเหมืองแร่ถึง ๑๔ ราย กล่าวได้ว่า ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๒ - ๒๕๒๘ เป็นยุคทองของชาวเหมืองแร่ทีเดียว

ถึงตรงนี้ควรทราบว่า ตลาดโลกเอาดีบุก วุลแฟรมไปทำประโยชน์อะไร
แร่ดีบุกชนิดแคสสิเทอไรต์ ใช้เคลือบโลหะชนิดอื่น เช่น เหล็ก ทองแดง และทองเหลือง แผ่นเหล็กชุบดีบุกมีคุณสมบัติต้านทานการกัดกร่อนของกรดและสารละลายอื่นๆ ได้ดี ไม่เป็นสนิม ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย จึงใช้ในกระบวนการทำภาชนะบรรจุอาหารและอื่นๆ ใช้ทำตะกั่วบัดกรีซึ่งหลอมละลายได้ง่ายเมื่อเย็นตัวลง จะทำให้เกิดการยึดแน่นระหว่างผิวหน้าของโลหะ จึงใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการต่างๆ มากมาย เช่น โรงงานบรรจุอาหารกระป๋อง อุตสาหกรรมไฟฟ้าอีเล็คทรอนิค ใช้เป็นตัวหล่อลื่นแบริงสำหรับงานเครื่องกลในเครื่องเพลาทุกประเภท ตามท้องตลาดมักเรียกแบริงว่า “ตุ๊กตา”

ดีบุกในรูปสารประกอบมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น พวกสแตนนิคออกไซด์ ใช้ผลิตแก้วเนื้อหิน เครื่องปั้นดินเผา เครื่องถ้วยชามและเครื่องเคลือบ ใช้เป็นผงอุดรู และผงขัดถู สแตนนัสคลอไรด์ใช้พิมพ์ผ้าดอก ทำหมึก ฟอกน้ำตาลและสบู่ สแตนนิคคลอไรด์ใช้ทำเส้นไหมให้มีน้ำหนัก สารประกอบที่เรียก Organo Tin Compounds มีดีบุกผสมร้อยละ ๒๕ - ๕๐ ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก ยาฆ่าเห็ดรา ยารักษาเนื้อไม้และสีทาบ้านมากยิ่งขึ้น

แร่วุลแฟรมเป็นสินแร่ทังสเตนที่สำคัญอันดับหนึ่ง โลหะทังสเตนใช้ทำไส้หลอดไฟฟ้า ผสมเหล็กให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อใช้ทำอุปกรณ์เครื่องจักรกล เช่น เกราะ มีด มีดโกน หัวเจาะ ตะไบ และใบเลื่อย ถ้าผสมคาร์บอน นิกเกิล และโคบอลต์จะคมเป็นพิเศษ ใช้ทำวัตถุตัดเหล็กกล้าที่ใช้ความเร็วสูง

นอกจากนี้ บรอนซ์ซึ่งเป็นสารประกอบของทังสเตนก็มีสีสันสวยงาม ทำสีเขียว สีเหลือง ย้อมไหม ตกแต่งผสมแก้วและเครื่องเคลือบดินเผา

พ.ศ.๒๕๒๔ กิ่งอำเภอสวนผึ้งยกฐานะเป็นอำเภอ มีเหมืองแร่ชนิดเจาะ สูบ หาบ และอุโมงค์เพิ่มขึ้น นอกจากผลิตแร่ดีบุกและวุลแฟรมแล้ว ยังมีแร่หินสี เช่น เฟลด์สปาร์ ควอร์ตซ์ และฟลูออไรท์ รวมแล้วถึง ๔๙ เหมือง อยู่ในตำบลสวนผึ้ง ๓๖ เหมือง ตำบลบ้านบึง ๑๖ เหมือง และตำบลป่าหวาย ๔ เหมือง

คุณวิเชียรโดยตำแหน่งประธานชมรมเหมืองแร่ภาคตะวันตก ได้เรี่ยรายเงินจากผู้ประกอบการเหมืองแร่เป็นค่าน้ำมันและเบี้ยเลี้ยงพนักงานกองช่าง กรมทรัพยากรธรณี ทำทางลูกรังระยะกว่า ๑๕ กิโลเมตร จากอำเภอสวนผึ้งถึงสามแยกทุ่งเจดีย์  ทางเส้นนี้ต้องข้ามห้วยดีบอกคลุ หรือห้วยดีบุกสายเดียวกันถึง ๑๕ ครั้ง โดยนับห้วย ๑ จากตัวอำเภอสวนผึ้ง

จากเหมืองห้วยม่วง มีการตัดเส้นทางจากบ้านสวนผึ้งผ่านพื้นที่ป่าเขาด้านทิศใต้ของบ้านสวนผึ้ง เลาะไปตามแนวชายแดนไทย - พม่า ระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร

คนต่างถิ่นเริ่มอพยพเข้ามาเป็นกรรมกรชาวเหมือง ชาวมอญจากพม่าเข้ามาทางอำเภอทองผาภูมิ ชาวกะเหรี่ยงจากมะริด – ทวายก็เข้ามา คนไทยจากภาคอีสาน ภาคเหนือแถบแม่สอด ตาก ลำปาง คนจากภาคใต้แถบนครศรีธรรมราช ระนอง จะเข้ามาในฐานะนายช่างและผู้ควบคุมแรงงานในเหมืองแร่

การเพิ่มขึ้นของประชากรชาวเหมือง ทำให้เกิดชุมชนรอบๆ เหมืองแร่ เจ้าของเหมืองยังมีน้ำใจช่วยสร้างโรงเรียน เช่น โรงเรียนสินแร่สยาม (ผาปกค้างคาว) โรงเรียนรุจิรพัฒน์ (ห้วยม่วง) เด็กๆ ตามชายขอบจึงมีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ ชาวเหมืองแร่ยังบริจาคเงินบำรุงศาสนา สร้างวัด ศาลาการเปรียญ อุโบสถแก่ท้องถิ่นเสมอๆ

รัฐเลิกให้สัมปทาน
ในที่สุด คุณวิเชียร โลหะศิริ ได้ปิดตำนานเหมืองแร่ที่สวนผึ้งในช่วง ๒๕ ปีที่ผ่านมา แล้วมอบภารกิจที่เหลือให้หลานๆ ดำเนินการต่อไป  ปัจจุบัน คุณวิเชียรพักอยู่บ้านเลขที่ ๓๗ ถนนบุรการโกศล ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เขียนมีโอกาสไปเยี่ยมท่านครั้งล่าสุดที่นั่นเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคมที่ผ่านมา เพื่อขอทราบเรื่องราวต่างๆ อันเป็นข้อมูลที่จะยังประโยชน์ยิ่งต่อวงการราชบุรีศึกษาในอนาคต

นับเป็นเวลากว่า ๗๘ ปี ระหว่าง พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๕๓๔ ที่รัฐบาลให้สัมปทานเหมืองแร่ดีบุกในอำเภอสวนผึ้ง จนกระทั่งปลายทศวรรษ ๒๕๒๐ ราคาดีบุกในตลาดโลกก็เริ่มตกต่ำ

ใน พ.ศ.๒๕๒๘ ดีบุกจากกิโลกรัมละ ๑๕๐ บาท เหลือเพียงกิโลกรัมละ ๖๐ บาทเท่านั้น

เมื่อราคาแร่ตกต่ำจนไม่คุ้มทุน เจ้าของเหมืองต่างก็ทยอยกันหยุดกิจการ แล้วลมหายใจเฮือกสุดท้ายก็มาถึง เมื่อรัฐบาลได้ยกเลิกสัมปทานเหมืองแร่ในสวนผึ้งตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔

แหล่งโบราณคดีบนแหล่งแร่
แร่ดีบุกเกิดจากการผุพังของสายแร่เป๊กมาไทต์ แล้วถูกน้ำฝนพัดพาเลื่อนลงสู่ที่ลุ่ม สะสมเป็นชั้นกระสะ หลายล้านปีต่อมากลายเป็นลานแร่ แต่ละแห่งหนาไม่เท่ากัน ประกอบด้วยชั้นเปลือกดิน ชั้นทราย ชั้นดินเหนียว ชั้นกระสะ และชั้นดินดาน

เฉพาะชั้นกระสะที่มีสายแร่ประกอบด้วยหินควอร์ตซ์ หินเฟลด์สปาร์ ไมก้า ดีบุก วุลแฟรม เหล็ก และตะกั่ว เป็นต้น จากหลักฐาน ณ จุดที่มีการทำเหมืองแร่แล้วทุกแห่ง พบว่าแหล่งแร่หรือลานแร่เป็นชั้นเดียวกับที่ผู้คนสมัยหินเคยอาศัยอยู่มาก่อน

การพบเครื่องมือเครื่องใช้ตั้งแต่สมัยหินจนถึงสมัยโลหะนั้น สะท้อนให้เห็นว่าคนโบราณเหล่านั้นนอกจากดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และเกษตรกรรมแล้ว ก็น่าจะมีพื้นฐานการทำเหมืองแร่ดีบุกด้วย  ขวานหินยาวๆ ก็ดี เครื่องมือเหล็กลักษณะพิเศษหน้ากว้างด้ามยาวก็ดี น่าจะเป็นเครื่องมือขุดทำเหมืองแร่ ดังได้พบขวานหินแบบยาวมาก่อนแล้ว ผู้คนก่อนประวัติศาสตร์เคยขุดหาดีบุก ก่อนที่จะเกิดเหมืองแร่ดีบุกในปัจจุบัน

ลานหินของเหมืองแร่โลหะศิริเก่า บริเวณห้วย ๕ - ๗ เป็นลานหินชนวน อันเป็นวัสดุเหมาะจะนำมากะเทาะเป็นเครื่องมือหินกะเทาะ ที่เรียกว่าวัฒนธรรมโหบินเนียนตอนปลาย คือจากที่เคยกะเทาะหน้าเดียวมาเป็นกะเทาะรอบก้อน แบนบาง ขอบปลายคม

คุณวิเชียร โลหะศิริ ได้เคยนำศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ผู้สนใจศึกษาเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย (ถึงแก่กรรมแล้ว) ชม ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุดมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า บริเวณเหมืองแร่โลหะศิริเก่าน่าจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตโกลนขวานหินขัด แล้วคงมีการส่งต่อจากพื้นที่ราบเขตเทือกเขาตะนาวศรีแลกเปลี่ยนออกไปสู่พื้นที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ดังได้พบขวานหินลักษณะเดียวกันนี้ในแหล่งโบราณคดีบ้านหนองบัว อำเภอจอมบึง และบ้านน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี

โบราณวัตถุสำคัญอื่นๆ ที่พบที่เหมืองนี้คือส่วนขาของหม้อสามขา เครื่องมือปั้นหม้อ ขวานหินยาว ขวานสำริด เครื่องมือเหล็ก หม้อดินเผาที่มีเม็ดแร่ดีบุกอยู่ข้างใน ส่วนตุ๊กตาดินเผารูปคน ช้าง ม้า พบร่วมกับเครื่องมือหินนั้น น่าจะเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้รักษาอาการป่วยไข้ หลังจากก่อนหน้านี้เคยใช้สัญลักษณ์เขากวางมาแล้ว รูปดินเผาเหล่านี้คงปั้นสะเดาะเคราะห์ให้ผู้ป่วย และน่าจะเป็นคตินิยมสืบเนื่องมาจนถึงเรื่องตุ๊กตาเสียกบาลในสมัยสุโขทัย

สิ่งของทั้งหมดนี้ คุณวิเชียรมอบให้พิพิธภัณฑ์และห้องปฏิบัติการเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ บางส่วนมอบให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

ขวานหินยาวๆ ทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่าที่พบบริเวณเขตเหมืองแร่ เช่น เหมืองแร่ห้วยผาก มีลักษณะเหมือนกับที่ถ้ำปากอม อำเภอบ้านตาขุน (พ.ศ.๒๕๒๕) และที่ถ้ำเบื้องแบบ อำเภอคีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานี (พ.ศ.๒๕๒๕ - ๒๕๒๖) หรือขวานหินปลายคมแบบจะงอยปากนกและแบบปลายคมโค้งมนเมลานีซอยด์ ซึ่งได้พบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย ก็มีพบมากที่เหมืองห้วยผาก และแถบห้วยคลุม บ้านนาขุนแสน ตำบลสวนผึ้ง

เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนสมัยหินเมื่อ ๔,๐๐๐ ปีก่อน ไม่ว่าคนเหล่านี้จะเคลื่อนย้ายขึ้นเหนือสู่แผ่นดินใหญ่ หรือเคลื่อนไหวลงใต้แถบหมู่เกาะ จะต้องผ่านชุมชนสมัยหินตามแนวเทือกเขาตะนาวศรีในเขตราชบุรีเสมอ

ที่เหมืองแร่เริ่มชัย ๑ (ห้วยสุด) ได้พบขวานสำริดที่มีส่วนผสมของทองคำมาก ไม่เกิดสนิมเขียว คุณวิเชียร โลหะศิริ ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนี้ ได้นำขวานหินขวานสำริดถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านที่สนามกีฬาจังหวัดราชบุรี

และนำขวานหินถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งทรงนำนักเรียนนายร้อยไปทัศนศึกษาที่ไร่ห้าเหล่าของพลโทรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ ประธานชมรมประวัติศาสตร์กาญจนบุรีด้วย

ราชบุรี ชายขอบสุวรรณภูมิ
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ ชาวบ้านโป่งกระทิงล่าง กิ่งอำเภอบ้านคา ไปขุดหาแร่ดีบุกริมห้วยสวนพลู (นายเป๊ะ) ซึ่งไหลผ่านที่ราบผืนเล็กๆ ในหุบเขาจมูก แล้วไหลไปรวมกับห้วยท่าเคย กลายเป็นแม่น้ำภาชี ไหลผ่านอำเภอจอมบึงย้อนขึ้นไปทางเหนือ ไปออกแควน้อยที่กาญจนบุรี 

ชาวบ้านกลุ่มนั้นพบชิ้นส่วนภาชนะสำริดผิวบาง หล่อด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ลักษณะแบบเดียวกับที่พบที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี (พ.ศ.๒๕๑๘ - ๒๕๑๙) ชิ้นที่พบที่บ้านดอนตาเพชรนั้นมีลายสลักรูปผู้หญิงและควาย ส่วนชิ้นที่เขาจมูกสลักรูปช้าง ม้า และผู้หญิงไว้ทรงผมใส่ต่างหูคล้ายหญิงอินเดีย

เอียน โกลฟเวอร์ นักวิชาการโลหะวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน อังกฤษ พยายามนำคณะไปสำรวจแหล่งเขาจมูก แต่เข้าไม่ถึง

เมื่อได้วิเคราะห์ด้านโลหะวิทยา พบว่าภาชนะสำริดใบนี้มีส่วนผสมดีบุกสูง ควรพบในบริเวณที่มีแร่ดีบุกมาก และแม้ลวดลายบนภาชนะจะคล้ายกับของอินเดีย แต่ก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโลหะผสมและกระบวนการทำภาชนะนี้จะเกี่ยวข้องกับอินเดีย  เพราะอินเดียไม่มีแหล่งแร่ดีบุก

ดังนั้น เป็นไปได้ที่ภาชนะสำริดนี้จะทำในเมืองไทย แล้วตกแต่งให้เหมาะสมกับตลาดในอินเดีย หรือส่งเป็นสินค้าออกในช่วงยุคเหล็กตอนปลาย เมื่อประมาณ ๒,๔๐๐ - ๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว

ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์โบราณคดีมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ภาชนะสำริดชิ้นนี้น่าจะเป็นของคนอินเดียที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน – แม่กลองเป็นคนทำขึ้น และว่าการกำหนดอายุเวลาของผู้คนและสถานที่จากหลักฐานโบราณคดีสอดคล้องกับเอกสารจากภายนอก คือคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา ที่ว่าในพุทธศตวรรษที่ ๓ - ๔ มีสมณทูตจากราชสำนักพระเจ้าอโศกมหาราช คือพระโสณะและพระอุตตระ มาขึ้นบกที่สุวรรณภูมิ ดินแดนแห่งความมั่งคั่ง มีพ่อค้าจากโพ้นทะเลไปมาค้าขาย มีความหลากหลายทางชีวภาพด้วยสัตว์ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และแร่ธาตุ เช่น ทองแดง ทองคำ ฯลฯ  แต่การ “ขึ้นบก” ของพระเถระสองรูปนั้นอยู่ตรงจุดไหนของ “สุวรรณภูมิ” ไม่ปรากฏชัด

เดิมมอญบอกว่าคณะสมณทูตขึ้นบกที่เมืองสะเทิม ฝ่ายไทยก็ว่าสุวรรณภูมิอยู่ที่พระปฐมเจดีย์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่ทั้งสองแห่งยังไม่พบโบราณสถานวัตถุที่มีอายุเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๓

จากการค้นคว้าหลักฐานโบราณคดีขณะนี้ ได้ร่องรอยแหล่งวัฒนธรรมเก่าแก่ถึงต้นพุทธกาลบริเวณลุ่มน้ำจระเข้สามพันในเขตกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี คือบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน กาญจนบุรี ซึ่งพบโบราณสถานวัตถุแบบวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสีที่มีลายแต่งสีประดับ และภาชนะสำริด

ศรีศักร วัลลิโภดมจึงเสนอข้อมูลใหม่ว่า บริเวณที่เป็นตำแหน่งสำคัญของสุวรรณภูมิ ซึ่งพระโสณะและพระอุตตระ  มาเผยแผ่พุทธศาสนานั้น น่าจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำจระเข้สามพัน ถึงแม้ไม่พบร่องรอยการนับถือพุทธศาสนา แต่ก็เป็นระยะที่คนอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้ว จนกระทั่งต่อมามีเมืองอู่ทองเป็นเมืองท่าศูนย์กลางในสมัยฟูนัน – สุวรรณภูมิ

จากอู่ทองจะเห็นความสืบเนื่องระหว่างเมืองสำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ เมืองนครปฐม หรือ เมืองนครชัยศรี กับเมืองคูบัวในเขตราชบุรี

การที่พบภาชนะขันสำริดที่เขาจมูก กิ่งอำเภอบ้านคา สะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านดอนตาเพชรกับเขาจมูก  บ้านดอนตาเพชรอาจเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงในสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและติดต่อกับต่างประเทศ เป็นชุมชนศูนย์กลาง ขณะที่กลุ่มคนที่เขาจมูกและห้วยสวนพลู ห้วยน้ำใส ผาปกค้างคาว ห้วยผาก ห้วยม่วง ฯลฯ อาศัยอยู่ในป่าหรือที่สูง เป็นชุมชนบริวารที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่ธาตุและของป่า โดยเฉพาะดีบุก ซึ่งดึงดูดให้ผู้คนจากภายนอกแถบที่ลุ่มชายทะเล และที่ราบภายในเข้ามาแสวงหาสินแร่และทรัพยากรธรรมชาติ แล้วจัดหา - ส่งต่อไปยังชุมชนศูนย์กลาง จากนั้นชุมชนก็จะปันส่วน “ของมีค่า” ที่นำเข้าจากภายนอกให้กลุ่มหัวหน้าชุมชนบริวาร ดังได้พบหลักฐานขันสำริด ลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินสี ตลอดจนเครื่องมือสำริด - เหล็กที่เชิงเขาจมูก และที่ราบริมห้วยสวนพลู

บ้านดอนตาเพชรในเวลานั้นน่าจะเป็นชุมชนศูนย์กลางของท้องถิ่น มีการติดต่อกับผู้คนภายนอกจากทางตะวันตกคืออินเดีย และทางตะวันออกคือเวียดนามและจีนตอนใต้ จากการขุดค้นได้พบเครื่องมือและอาวุธเหล็กจำนวนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ชิ้น ขณะที่ไม่พบโลหะสำริดแม้แต่ชิ้นเดียว

แต่อย่างไรก็ดี ที่ห้วยสวนพลู ห้วยม่วง ห้วยผาก ผาปกค้างคาว เริ่มชัย ห้วยน้ำใส ตะโกปิดทอง ในเขตเหมืองแร่พื้นที่ราบเทือกเขาตะนาวศรีอันอุดมด้วยสินแร่ ดูเหมือนจะดึงดูดผู้คนจากทางตะวันออก คือเวียดนามและจีนตอนใต้ได้มากกว่าชุมชนบ้านดอนตาเพชร ดังได้พบหลักฐานขวานบ้องสำริด ขวานเหล็ก และเครื่องประดับสำริดต่างๆ ซึ่งเป็นของวัฒนธรรมดองเซิน - ซาหวีน โดยยังไม่ปรากฏร่องรอยของคนจีนแต่อย่างใด

เขาจมูกและห้วยสวนพลูที่ราชบุรี คือประวัติศาสตร์ “สุวรรณภูมิ”

ดังนั้น แหล่งเหมืองแร่โบราณในเขตจังหวัดราชบุรีก็คือ “ชุมชนชายขอบ” ของดินแดน “สุวรรณภูมิ” นั่นเอง


ที่มาข้อมูลและภาพ :
สุรินทร์ เหลือลมัย . (2548). ปิดตำนานเหมืองแร่ที่สวนผึ้ง.วารสารเมืองโบราณ ปี 2548 ฉบับที่ 31.4 . [Online]. Available : http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=60. [2553 กรกฎาคม 5].

2 ความคิดเห็น:

  1. ผมมีเรื่อง ชวนคุณ สุชาติ จันทรวงศ์ ลองเข้ากูเกิ้ล แล้วก็คลิกคำว่า "พรานไพร ในภาพเก่า" ของเวบนิตยสารเมืองโบราณ ลองดูซิครับมีอะไรน่าสนใจมั้ยครับ

    บางทีอาจจะตั้งชื่อให้ชวนอ่านว่า "พรานกะเหรี่ยง แห่งเทือกเขาตะนาวศรี" ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวมผมก็ยินดี

    w_boonlert@hotmail.com

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13 สิงหาคม, 2560 21:07

    เหมืองห้วยเสืออยู่อำเภออะไรค่ะ

    ตอบลบ