วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รสรักว่าหวาน ยังไม่ปานเท่าข้าวหมากบ้านโป่ง

เมื่อ 20 ปีก่อน คนบ้านโป่งเมื่อจะเข้ากรุงเทพฯ มาเยี่ยมญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ของฝากจากบ้านโป่งที่ผู้ได้รับก็ยินดี ผู้ให้ก็ภูมิใจ ก็คือ ข้าวหมาก  ที่ลือชื่อว่าอร่อยนักหนา ใครแวะมาบ้านโป่งก็ต่องแสวงหามาชิม แต่ปัจจุบันข้าวหมากบ้านโป่งไร้ชื่อ ไม่มีอยู่ในทำเนียบของฝาก เว้นเสียแต่คนเก่าจะบอกเล่าและพาไปชิมข้าวหมากเจ้าเก่าดั้งเดิม อันเป็นที่มาของข้าวหมากบ้านโป่ง

บนถนนแสงชูโต หน้าห้องแถวเล็กๆ ที่เกลื่อนไปด้วยเศษใบตอง หากมองดูผ่านๆ จะไม่รู้เลยว่า ที่นี่ คือ แหล่งพำนักของยายชิด ชื่นจิต เจ้าตำรับข้างหมากบ้านโป่งอันมีชื่อในอดีต  ต่อเมื่อล่วงเข้าสู่ข้างใน กลิ่นเหล้าหอมหวานจากการหมักข้าวเหนียวจึงลอยมากระทบจมูก และยิ่งมั่นใจมากขึ้นเมื่อเห็นคุณยายวัยกว่า 80 ปี กำลังตักข้าวเหนียวในกะละมังตรงหน้า ใส่ลงบนใบตองที่วางซ้อนกันหลายชั้นอย่างขะมักเขม้น แม้เมื่อฉันยกมือไหว้ทักทาย คุณยายก็ยังไม่ยอมเงยหน้าขึ้นมอง เพียงรับคำและเชื้อเชิญให้นั่ง

ขณะที่ไต่ถามถึงจุดประสงค์การมาของฉัน คุณยายก็ยังคงทำงานตรงหน้าต่อไม่หยุดมือ คุยกันจนที่เข้าใจและพอจะคุ้นเคยมากขึึ้นแล้วนั่นแหละ คุณยายจึงเริ่มเล่าเรื่องราวของตนเองและที่มาของข้าวหมากบ้านโป่ง

"ยายเป็นพวกลาว ทางสร้อยฟ้าโพธาราม คือมีย่าเป็นลาว ปู่เป็นคนกรุงเก่า ยายทำข้าวหมากมาตั้งแต่อายุ 17-18 ทำกินกันเองในหมู่พี่ๆ น้องๆ ไม่ได้ทำขาย ใครๆ แถวนั้นก็ทำกันได้ทั้งนั้นแหละ ยายมาทำขายตอนย้ายมาอยู่แถวบ้านโป่งแล้ว"

คุณยายชิดย้ายมาอยู่บ้านโป่งกับเด็กรับใช้เพียงสองคน โดยมาอาศัยอยู่กับป้าที่บ้านตรงข้ามที่ว่าการอำเภอ (ก่อนไฟไหม้ครั้งใหญ่) แรกเริ่มก็ไม่ได้สนใจจะทำขาย เพราะเวลานั้นที่ตัวเมืองบ้านโป่งก็มีแม่ค้าจากโพธารามหาบเอาข้าวหมากมาขายกันอยู่ก่อนแล้ว จนได้รับการกระตุ้นจากผู้เป็นป้า จึงเริ่มทำและนำมาวางขายหน้าบ้าน รสข้าวหมากที่หวานหอมดึงดูดให้มีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาจึงขยับขยายเอาไปขายส่งให้แม่ค้าในตลาดและที่สถานีรถไฟ

รสชาติข้าวหมากแม่ชิด เริ่มเป็นที่ร่ำลือ ถึงกับในวันศีลวันพระ คนบ้านโป่งต้องมาสั่งซื้อข้าวหมากไปถวายพระกัน และเวลาจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงต่างถิ่น ก็ต้องมาแวะซื้อไปเป็นของฝาก วันไหนจะเดินทาง อยากได้ข้างหมากหวานมากหวานน้อย สามารถสั่งได้ตามต้องการ เพราะยายชิดจะบริการให้ตามสั่ง เป็นที่พออกพอใจของลูกค้า จนข้าวหมากบ้านโป่งกลายเป็นของฝากที่ขึ้นชื่อ และช่วงนี้เองก็เริ่มมีข้าวหมากเจ้าอื่นๆ ทยอยทำตามกันมา

"ทำไม่ยาก ใครๆ ก็ทำได้ แค่เอาข้าวเหนียวมานึ่ง ใส่ลูกแป้งลงคลุกเคล้า ก็ตักใสห่อทิ้งไว้ได้แล้ว" ยายชิดบ่ายเบี่ยงที่จะตอบ เมื่อถูกถามถึงเคล็ดลับและวิธีการทำข้าวหมากให้อร่อยเป็นที่ถูกปากนักชิมข้าวหมากทั้งหลาย แต่คุยกันนานเข้า ยายชิดจึงค่อยๆ เผยความว่า

"ต้องเลือกแต่ของดีๆ มาทำข้าวเหนียวอย่างดี ลูกแป้งดี ลูกแป้งไม่ดีทำไว้สามสี่วันก็เปรี้ยวแล้ว ถ้าเป็นของดี เก็บข้างหมากไว้ได้ถึงเจ็ดวัน แต่จะหวานมาก..ที่กินข้าวกรุบก็เพราะข้าวเหนียวไม่ดี มีข้าวเจ้าปน ต้องเลือกต้องพิจารณา...อย่างข้าวเหนียวต้องรู้ว่าเป็นข้าวเก่าหรือข้าวใหม่ เพราะมีผลเวาแช่ข้าว ว่าจะแช่นานหรือไม่นาน ปกติยายแช่ข้าวเหนียวคืนเดียว พอรุ่งเช้าก็นึ่งแล้ว เวลานึ่งต้องนึ่งให้ข้าวสวยเป็นเม็ดไม่แฉะ ถ้าแฉะข้าวหมากจะเละ ทิ้งไว้จนข้าวเย็น ก็เอาลูกแป้งมาบี้ให้ละเอียด ผสมคลุกเคล้ากับข้าวเหนียว  ยายใช้ลูกแป้งหนึ่งลูกกับข้าวสี่ลิตร หากใช้ลูกแป้งน้อยจะไม่หวาน เมื่อคลุกเคล้ากันดีแล้วก็ตักใส่หอได้เลย หมักทิ้งไว้สองคืน ส่งขายได้ ตอนนี้จะยังไม่หงานมาก ถ้าอยากให้หวานจัดก็ทิ้งไว้สามคืน หากเป็นหน้าหนาวก็ต้องสามคืนเหมือนกันจึงจะดี ซื้อไปก็เก็บใส่ตู้เย็นเก็บไว้กินได้เลย แต่ถ้าข้าวหมากยังไม่ได้ที่ เอาไปเข้าตู้เย็นมันจะคืนตัว ข้าวกรุบแข็งเลย"

"ข้าวหมากยายจะห่อด้วยใบตอง แล้วใช้ใบมะพร้าวเตียว ทำอย่างนี้มากเก่าแก่ แต่ก่อนตักใส่กันบนใบตองเลย ไม่ได้มีพลาสติกรองอย่างเดียวนี้หรอก แต่คนกินเขาบอกว่ามันไม่สะอาด ยายเลยต้องใช้พลาสติกกับเขาเหมือนกัน แต่ยายว่าใส่ใบตองมันหอมนะ"

ข้าวหมากยายชิด ปัจจุบันจึงมีทั้งใส่ถุงพลาสติกและใส่ใบตองวางขาย หากใส่ถุง ขายถุงละ 5 บาท แต่ถ้าห่อใบตอง ขายเป็นพวง พวงละ 20 บาท มีห้าห่อ ทุกวันนี้นอกจากวางขายที่บ้านแล้ว ข้าวหมากยายชิดยังมีวางขายที่ร้านกาแฟบนถนนทรงพลด้วย

ก่อนลากกลับ ฉันกระซิบถามยายชิดว่า ข้าวหมากที่ดีนั้นต้องงมีคุณสมบัติอย่างไร

"ต้องหวานสนิทและข้าวไม่กรุบน่ะสิ อย่างของยายไง เคยมีคนมาถามแบบนี้ แล้วเขาเอาไปเขียนเปรียบว่า ข้าวหมาากของยาย "รสรักว่าหวาน ยังไม่ปานเท่าข้าวหมากบ้านโป่ง" "

หมายเหตุ : ขณะกำลังจัดทำต้นฉบับ ผู้เขียนได้ทราบข่าวว่า คุณยายชิดเสียชีวิตแล้ว จึงขอคารวะมา ณ ที่นี้ ปัจจุบันข้าวหมากยายชิดยังผลิตขายอยู่  โดยมีป้าน้อย อินทะแพทย์ เป็นผู้สืบทอดฝีมือต่อ

ที่มา :
ข้อมูล : สุดารา สุจฉายา. (2541). รสรักว่าหวาน ยังไม่ปานเท่าข้าวหมากบ้านโป่ง. ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 290-291)
ภาพ: http://kawmakcup.ob.tc/picture/12661/1266111577kawmakcup.jpg

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 สิงหาคม, 2553 06:45

    ข้าวหมากหวาน จริงๆยืนยัน
    แต่รูปเป็นของข้าวหมากที่ใหนกันแน่

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ17 สิงหาคม, 2553 16:40

    http://kawmakcup.ob.tc/picture/12661/1266111577kawmakcup.jpg

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ26 กันยายน, 2555 09:53

    หนูเองก็อยู่กับย่าชิดตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้ายที่ย่าจากไป ขอรับรองว่าสมัยนั้นข้าวหมากหวานอร่อยจริงๆ

    ตอบลบ